สวัสดีค่ะ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ พี่มิ้นท์ได้แนะนำเส้นทางสอบเข้าสาขาเทคนิคการแพทย์กันไปแล้ว ซึ่งเทคนิคการแพทย์เป็นสาขาที่อยู่ในคณะเทคนิคการแพทย์หรือบางแห่งจะเรียกว่าคณะสหเวชศาสตร์ จะมีสาขาแยกย่อยออกไปอีกหลายสาขา หนึ่งในนั้นก็คือสาขาวิชากายภาพบำบัดที่น้องๆ ให้ความสนใจกันมาก เพราะเป็นหนึ่งวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่น่าสนใจ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายจากการบาดเจ็บหรือเจ็บปวด ด้วยวิธีการกายภาพนั่นเองค่ะ

"กายภาพบำบัด" ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปีเหมือนสาขาอื่นๆ โดยจะได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (กายภาพบำบัด) ค่ะ แต่บางมหาวิทยาลัย เช่น ม.แม่ฟ้าหลวง , ม.พะเยา จะได้วุฒิกายภาพบำบัดบัณฑิตค่ะ ซึ่งทั้ง 2 ปริญญานี้ หากได้รับการรับรองจากสภากายภาพบำบัดก็สามารถยื่นสอบขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้เช่นกันค่ะ เอาล่ะ เกริ่นกันมาพอสมควร ไปทำความรู้จักและเตรียมตัวสอบเข้าคณะนี้กันเลยค่ะ

แนะแนวเตรียมความพร้อม TCAS65 สู่ "กายภาพบำบัด"
แนะแนวเตรียมความพร้อม TCAS65 สู่ "กายภาพบำบัด"

คณะนี้เรียนอะไร

สาขาวิชากายภาพบำบัด ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี โดยจะเรียนรู้ในเรื่องของทักษะการประเมิน การวินิจฉัย และบำบัดอาการของร่างกาย ที่เคลื่อนไหวไม่ปกติที่อาจมีที่มาจากโรคต่างๆ หรืออุบัติเหตุ ให้สามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้ปกติ ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดด้วยมือหรือเครื่องมือทางกายภาพบำบัด

ในการเรียนช่วงปีแรกๆ จะเป็นการเรียนวิชาพื้นฐานในสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เช่น แคลคูลัส, ชีววิทยา, เคมี รวมถึงวิชาทั่วไปของมหาวิทยาลัย เช่น ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ, วิชาทั่วไป คล้ายกับคณะอื่นๆ เมื่อปีสูงขึ้นจะเข้าสู่เนื้อหาของด้านแพทย์และวิชาชีพมากขึ้น เช่น กายวิภาคศาสตร์, สรีรวิทยา, เภสัชวิทยา, วิทยาการเคลื่อนไหว, การรักษาด้วยการนวด ดัด หรือ ไฟฟ้า , การเคลื่อนย้าย, เป็นต้น ซึ่งในช่วงปีสุดท้ายก็จะฝึกงานและทำงานวิจัยด้วย

คณะนี้เหมาะกับใคร

  1. เรียนแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์
  2. มีจิตใจเมตตา ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น ให้หายจากอาการเจ็บป่วย
  3. มีความอดทน เข้าอกเข้าใจผู้อื่น เพราะผู้ที่มีปัญหามักมีอาการเจ็บปวด ซึ่งอาจไม่ให้ความร่วมมือ นักกายภาพบำบัดจะต้องอดทนและโน้มน้าวใจเพื่อให้เกิดการรักษาที่ถูกวิธี
  4. มีมนุษยสัมพันธ์ดี สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เพราะเป็นวิชาชีพที่ต้องทำงานร่วมกับสาขาวิชาชีพอื่นๆ และต้องสื่อสารกับผู้ป่วยโดยตรง

คณะกายภาพบำบัดมีสาขาอะไรบ้าง

คณะหรือสาขาวิชากายภาพบำบัด ไม่มีสาขาย่อยค่ะ ทุกคนที่ได้เรียนในสาขานี้จะได้เรียนวิชาพื้นฐานของคณะเหมือนกันทุกคน  
             ในทางกลับกัน น้องๆ อาจจะพบเห็นสาขาวิชาภายภาพบำบัด ไปสังกัดอยู่ในคณะอื่นๆ เช่น คณะสหเวชศาสตร์ หรือ คณะเทคนิคการแพทย์ ค่ะ

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน กายภาพบำบัด

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะสหเวชศาสตร์)
  • ม.ขอนแก่น (คณะเทคนิคการแพทย์)
  • ม.เชียงใหม่ (คณะเทคนิคการแพทย์)
  • ม.บูรพา (คณะสหเวชศาสตร์)
  • ม.มหิดล (คณะกายภาพบำบัด)
  • ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (คณะกายภาพบำบัด)
  • ม.วลัยลักษณ์ (สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์)
  • ม.แม่ฟ้าหลวง (สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ)
  • ม.พะเยา (คณะสหเวชศาสตร์)
  • ม.นเรศวร (คณะสหเวชศาสตร์)
  • ม.สงขลานครินทร์ (คณะแพทยศาสตร์)
  • ม.ธรรมศาสตร์ (คณะสหเวชศาสตร์)
  • วิทยาลัยนครราชสีมา  (คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์)
  • ม.เอกชน ได้แก่ ม.รังสิต, ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, วิทยาลัยเซ็นหลุยส์, ม.คริสเตียน

ตัวอย่างค่าเทอม

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 21,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 31,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • ม.แม่ฟ้าหลวง 33,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • ม.สงขลาฯ 18,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • ม.เชียงใหม่ 20,000 บาท / ภาคการศึกษา

ตัวอย่างโครงการที่เปิดรับแต่ละรอบ (อ้างอิง TCAS2564)

รอบมหาวิทยาลัยเกณฑ์คัดเลือกคะแนนต่ำสุดปี 64
รอบ 1 Portfolioม.ศรีนครินทรวิโรฒ
โครงการเด็กดีมีที่เรียน
Portfolio + สอบสัมภาษณ์-
ม.เชียงใหม่
โควตานักกีฬาที่มีความสามารถดีเด่นระดับนานาชาติ/ระดับชาติ
GPAX 2.75 + Portfolio + ผลงานด้านกีฬา-
ม.วลัยลักษณ์
โครงการรอบ Portfolio
GPAX 3.00 + Portfolio-
ม.พะเยา
โควตาผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ
GPAX 5 เทอม-
    
รอบ 2 โควตาม.บูรพา
โควตา 12 จังหวัดภาคตะวันออก
GPAX 20% + GAT 20% + PAT2 60%-
ม.นเรศวร
โควตาภาคเหนือ
GPAX 20% + GAT 30% + PAT2 50%-
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โครงการจุฬาฯ-ชนบท
GAT 30% + PAT1 20% + PAT2 50%-
ม.สงขลานครินทร์
 โควตา 14 จังหวัดภาคใต้
วิชาสามัญ วิชาภาษาไทย, สังคมฯ, อังกฤษ, คณิตคลิก
    
รอบ 3 Admissionม.มหิดลGPAX + GPA + วิชาสามัญ 7 วิชา42.9625
ม.ขอนแก่นวิชาสามัญ 7 วิชา35.30
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยGPAX 2.75 +  GAT 30% + PAT1 20% + PAT2 50%52.6167
ม.ธรรมศาสตร์GPAX 3.00 + O-NET 5 วิชา + GAT + PAT2
(TCAS65 ยกเลิกการใช้ O-NET รอติดตามเกณฑ์ปีนี้)
58.2100

อาชีพหลังจบการศึกษา

เมื่อน้องๆ สำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถไปสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดได้ที่สภากายภาพบำบัด แต่ผู้ที่จะสอบได้ ต้องจบจากสถาบันที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น  โดยสามารถเป็นนักกายภาพบำบัดได้ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน คลินิกกายภาพบำบัด สมาคมหรือศูนย์ส่งเสริมสุขภาพต่างๆ  หรือ เป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ไปจนถึงงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น ตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์  หรือ การดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น 

สำหรับน้องๆ ที่ต้องการตรวจสอบการรับรองว่าสถาบันและหลักสูตรนั้นๆ ผ่านการรับรองในปีนั้นๆ แล้วหรือยัง สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของสภากายภาพบำบัดเลยค่ะ  คลิก

มีคนจำนวนมากเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาขากายภาพบำบัดว่าไปเรียนนวด แต่ความจริงแล้วสาขาวิชานี้มีความน่าสนใจมาก เพราะเป็นการรักษาและบำบัดที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง  และนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์มาใช้อย่างเต็มที่เลยค่ะ น้องๆ ที่สนใจสาขานี้อยู่ อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้มากๆ เพื่อค้นหาตัวเองว่า คณะนี้เหมาะกับเราหรือเปล่า ถ้าคำตอบคือ "ใช่" ก็เตรียมตัวลุย โดยเฉพาะการเตรียมตัวในวิชา PAT2 วิทยาศาสตร์ ที่ใช้ในแทบทุกรอบเลยค่ะ พี่มิ้นท์ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนนะคะ :D

ขอขอบคุณรูปภาพจากDesigned by pch.vector / Freepik
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด