อันดับสูงกว่า vs คะแนนสูงกว่า ใครมีโอกาสติดมากกว่ากัน

สวัสดีค่ะ คะแนน GAT/PAT และวิชาสามัญออกแล้ว หลังคะแนนออก ก็เริ่มมีน้องๆ ส่งคำถามเข้ามาเกี่ยวกับการจัด 10 อันดับแอดมิชชั่น ว่าต้องจัดอันดับยังไง ต้องเรียงคะแนนจากมากไปน้อยมั้ย แล้วถ้าอันดับเราวางท้ายๆ จะสอบติดหรือเปล่า!

วันนี้เราจะมาเคลียร์กันค่ะว่าระหว่าง "อันดับ" และ "คะแนน" ในแอดมิชชั่น แต่ละอย่างมีความสำคัญยังไง และคนที่วางไว้อันดับสูงกว่า กับ คนที่ได้คะแนนสูงกว่า หากเลือกคณะเดียวกัน ใครจะสอบติด!

อันดับสูงกว่า vs คะแนนสูงกว่า ใครมีโอกาสติดมากกว่า
อันดับสูงกว่า vs คะแนนสูงกว่า ใครมีโอกาสติดมากกว่า

อันดับสูงกว่า vs คะแนนสูงกว่า ใครมีโอกาสติดมากกว่ากัน

ความสำคัญของ อันดับ vs คะแนน

  • อันดับ ทปอ. ได้บอกแต่แรกแล้วว่า การจัด 10 อันดับแอดมิชชั่น จะต้องเรียงแบบจัดอันดับ เพราะในการประมวลผล ระบบจะพิจารณาไล่ตามลำดับ 1 2 3 4 ...... โดยจะเริ่มพิจารณาคะแนนของอันดับ 1 ก่อน หากเทียบคะแนนทั่วประเทศแล้ว เราไม่ติดในอันดับที่ 1 ก็จะไปพิจารณาอันดับที่ 2 ต่อ และทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ 10 อันดับค่ะ หากติดอันดับไหนก็ต้องเรียนอันดับนั้น ดังนั้นหากน้องๆ วางคณะมั่วๆ โดยไม่สนใจอันดับ หากติดในคณะที่ไม่ต้องการจะเปลี่ยนหรือไปเลือกคณะอื่นไม่ได้นะ
     
  • คะแนน คือ หัวใจสำคัญของการคัดเลือก เหมือนกับการประมูลค่ะ คนที่ให้มูลค่าสูงกว่าก็ต้องได้รับสิ่งนั้นไป ในกรณีของการคัดเลือกคนเข้าไปเรียน ถ้ายื่นคณะเดียวกันมา 100 คน ก็จะต้องทำการเรียงลำดับคนที่ได้คะแนนสูงสุดไปหาคนที่ได้คะแนนน้อยสุด เช่น ถ้าคณะนั้นรับ 10 คน คนที่ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก ก็จะเป็นผู้ผ่านการคัดเลือก คนที่ไม่ผ่านการคัดเลือกก็จะต้องไปทำขั้นตอนเดียวกันในอันดับอื่นๆ ค่ะ

คะแนนแบบนี้ ใครมีสิทธิ์ติดมากกว่ากัน!

หากน้องๆ ได้อ่านข้อมูลด้านบนก็น่าจะพอได้คำตอบแล้วว่าคนที่ได้คะแนนสูงกว่า หรือ อันดับสูงกว่า ที่จะมีสิทธิ์สอบติดคณะนั้นไป แต่ถ้าพี่มิ้นท์เฉลยตรงๆ ก็ดูจะง่ายไปหน่อย เพราะแอดมิชชั่นของจริง อาจมีเคสเกิดขึ้นได้ถึง 4 แบบด้วยกัน ให้น้องๆ ลองดูตัวอย่างด้านล่างนี้ค่ะ โดยจะเป็นตัวอย่างคะแนนสมมติของ A และ B ในลักษณะของคะแนนและการวางในอันดับต่างๆ  ที่น่าจะช่วยให้น้องๆ เข้าใจมากขึ้น ไปดูกันเลยค่ะ

  • เคสที่  1 คะแนนต่างกัน ลำดับต่างกัน
คะแนนต่างกัน ลำดับต่างกัน
คะแนนต่างกัน ลำดับต่างกัน

ในเคสนี้ การประมวลผลนั้นง่ายมาก หาก A ไม่ติดอันดับ 1 จนไล่มาที่อันดับ 2 ซึ่งเป็นคณะ/สาขาเดียวกับ B ที่วางไว้อันดับ 1 แบบนี้  A จะมีโอกาสติดก่อน เพราะคะแนนมากกว่าค่ะ และถ้าเหลือเพียง 1 ที่นั่ง  แปลว่า B จะไม่ติดในคณะนี้ และต้องไปพิจารณาอันดับ 2 ต่อค่ะ

  • เคสที่ 2 คะแนนต่างกัน ลำดับเท่ากัน
คะแนนต่างกัน ลำดับเท่ากัน
คะแนนต่างกัน ลำดับเท่ากัน

ในเคสนี้ ไม่แตกต่างจากเคสแรกค่ะ  เมื่อนำคะแนนทุกคนที่ยื่นคณะนี้มาเรียงกัน คะแนนของ A สูงกว่า ก็จะมีโอกาสติดก่อน และถ้าคณะนี้เหลือเพียง 1 ที่นั่ง  B ก็จะไม่ติดคณะนี้ ต้องพิจารณาอันดับที่ 3 ต่อไป

  • เคสที่ 3 คะแนนเท่ากัน ลำดับต่างกัน
คะแนนเท่ากัน ลำดับต่างกัน
คะแนนเท่ากัน ลำดับต่างกัน

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อคน 2 คนคะแนนเท่ากัน แต่วางไว้อันดับต่างกัน? หลายคนคิดว่ากรณีนี้มหาวิทยาลัยจะให้คนที่ไว้อันดับสูงกว่าติดก่อนหรือเปล่า จริงๆ ไม่ใช่ค่ะ หากเป็นมหาวิทยาลัยทั่วไปที่ดูคะแนนเป็นสำคัญ เมื่อมีคน 2 คนคะเแนนเท่ากันและเหลือที่นั่งสุดท้าย ทปอ. จะติดต่อไปที่มหาวิทยาลัยเพื่อแจ้งว่ามีนักเรียนคะแนนเท่ากัน จะรับหรือไม่ หากมหาวิทยาลัยตอบตกลงก็จะรับทั้ง 2 คน แต่ถ้าไม่ตกลง ก็จะไม่รับทั้ง 2 คนเพื่อความเท่าเทียมค่ะ

  • เคสที่ 4 คะแนนเท่ากัน ลำดับเท่ากัน

ในกรณีนี้ก็เหมือนกับเคสที่ 3 ค่ะ เมื่อเหลือที่นั่งสุดท้ายของคณะ และมีคนคะแนนเท่ากันมากกว่า 1 คน ทปอ. จะติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยว่าสะดวกรับทั้งคู่หรือไม่ ถ้ารับได้ก็จะรับทั้ง 2 คน ถ้าไม่ได้ก็จะไม่รับทั้ง 2 คนและให้ไปพิจารณาคณะในอันดับถัดไปค่ะ

สรุปแล้ว ในการแอดมิชชั่น "คะแนน" สำคัญกว่า "อันดับ"  ใครที่คะแนนสูงกว่าก็มีโอกาสสอบติดคณะนั้นก่อน ส่วนอันดับ จะสำคัญในกรณีที่ไม่ผ่านการคัดเลือก ก็จะพิจารณาอันดับถัดไป ดังนั้นน้องๆ จึงควรจัดอันดับแบบเรียงลำดับ เพราะสอบติดคณะไหนก็จะต้องเรียนคณะนั้นนั่นเองค่ะ
 

อย่างไรก็ตามในปีนี้ ก็มีบางคณะ/มหาวิทยาลัยที่เอาอันดับเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกด้วย  ใครวางไว้อันดับสูงกว่ามีโอกาสติดก่อน หรือ กำหนดให้ผู้สมัครวางไว้แค่อันดับ 1 2 3 4 เท่านั้น เป็นต้น แต่จะมีมหาวิทยาลัยไหนบ้าง ติดตามบทความวันพรุ่งนี้นะคะ^^

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น