Make Your Choice! แชร์ทางเลือก #Dek65 กับ TCAS โค้งสุดท้าย ไปต่อทางไหนได้อีก

สวัสดีค่ะ Dek65 ทุกคน ผลการคัดเลือกที่ได้เป็นอย่างไรกันบ้างคะ แต่ชีวิตเราก็ยังต้องดำเนินต่อไป เพราะชีวิตเราก็มีเรื่องที่ต้องตัดสินใจกันทุกวัน เช่น วันนี้เราจะกินอะไรดี? การสมัครเข้าศึกษาต่อก็เช่นกัน ยิ่งเข้าสู่โค้งสุดท้ายแบบนี้ยิ่งกดดันมากขึ้นไปอีก  เพราะไม่รู้ว่าถ้าตัดสินใจไปแล้ว มันจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเราจริงไหม

TCAS65  โค้งสุดท้าย  ควรไปต่อหรือพอแค่นี้
TCAS65  โค้งสุดท้าย  ควรไปต่อหรือพอแค่นี้

Make Your Choice by Your Heart ว่าด้วยเรื่อง “ใจ” กับเส้นทางที่ต้องเลือกเอง

ถ้าให้พูดถึงภายใน “ใจ” เราไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าคนๆ นั้นผ่านอะไรมาบ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะกำหนดเส้นทางที่เลือกเดินในวันนี้ต้องเป็นใจของเราค่ะ ไม่ใช่ใจของใครที่ไหน 

หลังจากการประกาศผลออกมาแล้ว ก็ย่อมมีทั้งคนที่สมหวังและผิดหวัง แต่การผิดหวังก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสอะไรเหลืออยู่เลย บนเส้นทางแอดมิชชั่นยังมีทางเลือกอีกหลายอย่างเพื่อให้น้องๆ ยังไปสู่เป้าหมายของตัวเองได้ เพื่อ "การไม่รู้สึกเสียใจหรือเสียดายในภายหลัง” และวันนี้พี่โบว์ก็มีทางเลือกหรือแผนสำรองมาฝากน้องๆ ค่ะ

ทางเลือกที่ 1 ไปต่อในรอบ 4!

ข้อควรรู้ในรอบที่ 4 Direct Admission (รับตรงอิสระ)

  • บางคณะหรือบางสาขาอาจไม่เปิดรับในรอบนี้
  • สมัครที่เว็บมหาวิทยาลัยเหมือนรอบที่ 1 Portfolio และรอบที่ 2 โควตา
  • ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดวันรับสมัคร
  • วันรับสมัครจะอยู่ระหว่าง 25 พ.ค. - 5 มิ.ย. 2565
  • ประกาศผลครั้งที่ 1 : 8 มิ.ย. 2565, ประกาศผลครั้งที่ 2 : 18 มิ.ย. 2565
  • ยืนยันสิทธิ์ครั้งที่ 1 : 8-9 มิ.ย. 2565, ยืนยันสิทธิ์ครั้งที่ 2 : 18-19 มิ.ย. 2565
  • ยื่นสมัครได้หลายที่ แต่ยืนยันสิทธิ์ได้เพียง 1 ที่เท่านั้น
  • เมื่อยืนยันสิทธิ์แล้วจะไม่อนุญาตให้สละสิทธิ์เช่นเดียวกับรอบที่ 3 Admission

ในกรณีที่น้องไม่ผ่านการคัดเลือกรอบ 3 หรือยังได้คณะที่ไม่ถูกใจ ก็สามารถเลือกไม่ยืนยันสิทธิ์เพื่อมาต่อในรอบ 4 Direct Admission ได้ หากคณะที่ใช่สาขาที่ชอบของน้องๆ เปิดในรอบนี้ ก็ไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะไม่ลองสมัครดู 

น้องๆ หลายคนอาจจะกังวลใจว่า “เราจะมีโอกาสติดกี่เปอร์เซ็นต์” ก็ยังเป็นเรื่องที่ตอบยาก ขึ้นอยู่กับจำนวนรับและจำนวนคนสมัครด้วยค่ะ แต่จากสถิติในแต่ละปี รอบ 4 ถือว่าเป็นรอบที่ "ใจดี" กับน้องๆ ดังนั้นก็ขอให้น้องๆ มีความหวังไว้ก่อนนะคะ ^^ อย่างไรก็ตาม ก็ยังจำเป็นต้องมีแผนสำรองให้ตัวเองด้วยเช่นกัน เช่น เข้ามหาวิทยาลัยตลาดวิชา/มหาวิทยาลัยเปิด แล้วรอสมัครในปีถัดไป ส่วนพี่ก็เป็นคนหนึ่งที่ไปจนถึงรอบสุดท้ายค่ะ อยากจะบอกเลยว่าตอนนั้นลุ้นเวอร์!

ทางเลือกที่ 2 เรียนไปก่อน โดยเลือกเรียนวิชาโทที่สนใจ

เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างกับคำว่า “วิชาเอก” และ “วิชาโท” 

มาอธิบายแบบง่ายๆ กันก่อนว่า วิชาเอก หรือ Major เป็นวิชาของภาคหรือสาขาที่เราได้เข้าไปเรียน แบ่งออกเป็น วิชาบังคับ (เป็นวิชาที่ต้องผ่านให้ได้ตามหลักสูตรกำหนด) และวิชาเฉพาะเลือก (เป็นวิชาที่เลือกได้เอง แต่ต้องลงกี่ตัวก็ตามที่หลักสูตรกำหนด) ส่วน วิชาโท หรือ Minor เป็นวิชาที่นอกเหนือจากวิชาในภาคหรือสาขาของเรา โดยต้องลงให้ครบตามจำนวนที่หลักสูตรกำหนด เช่น หลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย กำหนดให้ลงวิชาโทอย่างน้อย 15 หน่วยกิต หากเลือกลงโทนิเทศศาสตร์วิชาละ 3 หน่วยกิต ก็หมายความว่าเราต้องลงวิชาโทนิเทศศาสตร์ทั้งหมด 5 ตัว  วิชาโทจึงเหมาะสำหรับกรณีที่เรามีที่เรียน แต่ยังไม่ใช่ที่ถูกใจที่สุดหรือไม่รู้ว่าชอบจริงไหม  จึงตัดสินใจลองเรียนไปก่อน รวมถึงกรณีที่ได้คณะที่ใช่มหา'ลัยที่ชอบ แต่มีความสนใจในคณะหรือสาขาอื่นๆ  ด้วยค่ะ

  • ถ้าอยากรู้จักกับคำว่า "หน่วยกิต" ให้มากขึ้น คลิกที่นี่ ได้เลย!

ทางเลือกที่ 3 เข้ามหาวิทยาลัยตลาดวิชา / มหาวิทยาลัยเปิด  / มหาวิทยาลัยเอกชน

มหาวิทยาลัยตลาดวิชามีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง  (ม.ร.) ค่ะ และมหาวิทยาลัยเปิดในประเทศไทยมีเพียงแห่งเดียวอีกเช่นกัน คือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราส (มสธ.) เรียกได้ว่าเป็นอีกทางเลือกให้กับคนที่อยากเข้าศึกษาต่อ ไม่ว่าจะเลือกเรียนที่นี่เป็นหลักเลย หรือเรียนควบคู่ไปกับอีกมหาวิทยาลัย หรือเรียนที่นี่แล้วแบ่งเวลาไปเตรียมความพร้อมสำหรับการสมัครเข้าศึกษาต่อในปีหน้า นอกจากนี้ความดีงามอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือค่าเล่าเรียนที่ค่อนข้างถูกกว่ามหาวิทยาลัยอื่นค่ะ

หมายเหตุ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีบางคณะบางสาขาไม่เปิดรับสมัครแบบปกติ เนื่องจากเข้าร่วมกับระบบ TCAS65  (คลิกเพื่อดูคณะหรือสาขาที่อยู่ในระบบ TCAS65)

รายละเอียดเพิ่มเติมของทั้งสองมหาวิทยาลัย
รายละเอียดมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราส
ค่าใช้จ่ายคลิกคลิก
การจัดการเรียนการสอน มีชั้นเรียนและมีการกำหนดเวลาเรียน แต่ไม่บังคับเข้าเรียนระบบการเรียนการสอนทางไกล ไม่มีชั้นเรียน และใช้วิธีการเรียนด้วยตนเองในเวลาและสถานที่ที่สะดวก
คณะที่เปิดสอนทั้งหมดคลิกคลิก
กำหนดการรับสมัครนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษาที่ 1/2565 
มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ช่องทางการสมัครระยะเวลารับสมัคร
สมัครทาง Internet2 พ.ค. - 3 ก.ค. 2565 
สมัครที่มหาวิทยาลัยรอบที่ 1 : 27-30 พ.ค. 2565
รอบที่ 2 : 30 มิ.ย. - 3 ก.ค. 2565
สมัครทางไปรษณีย์ 2 พ.ค. - 20 มิ.ย. 2565 
รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก 
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราส
ช่องทางการสมัครระยะเวลารับสมัคร
สมัครทาง Internet 1 เม.ย. - 20 มิ.ย. 2565 (สมัคร)
สมัครทางไปรษณีย์1 เม.ย. - 20 มิ.ย. 2565 
รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก

ส่วนน้องๆ คนไหนที่มีกำลังจ่ายและมีความมุ่งมั่นในการตามหาความฝัน แบบมั่นใจว่าตัวเองอยากเรียนหรืออยากประกอบอาชีพนั้นแน่ๆ ในอนาคต นอกจากมหาวิทยาลัยรัฐแล้ว พี่ขอแนะนำให้เข้ามหาวิทยาลัยเอกชนเลยค่ะ บางแห่งมีหลักสูตรและการเรียนการสอนที่ดี อีกทั้งมีเครื่องมือครบครันและทันสมัยมากกว่ามหาวิทยาลัยรัฐบางแห่งอีก ถ้าค่าใช้จ่ายไหว พี่ว่านี่ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีค่ะ

ทางเลือกที่ 4  เตรียมตัวสมัครใหม่ในปีถัดไป

ในกรณีที่ยังไม่มีที่เรียนแต่คณะในฝันไม่เปิดในรอบ 4  หรือมีที่เรียนแล้วแต่คิดว่ายังไม่เหมาะกับเรา การตัดสินใจไม่ไปต่อในรอบสุดท้ายก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ไม่ดีนะคะ เพราะในเมื่อเราก็รู้ตัวเองดีอยู่แล้ว ทำไมเราจะต้องเสียเงินเสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่อยากได้มา  ถ้าเป็นอย่างนี้น้องๆ สามารถหยุด 1 ปี เพื่อที่จะได้มีเวลาเตรียมตัวทั้งปีสำหรับการสอบใหม่ให้ได้คะแนนปังกว่าเดิมดีกว่า  อีกทั้งยังมีเวลาค้นหาตัวเองมากขึ้นด้วยค่ะ

ส่วนอีกกรณีหนึ่ง ถ้าให้สมมติว่าเรามีที่เรียน และตัดสินใจไม่ไปต่อในรอบสุดท้าย แต่พอได้เรียนจริงแล้วรู้สึกไม่โอเคกับสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ หรือรู้สึกว่ามันไม่ใช่ในแบบที่เราคิดไว้เลย การสมัครใหม่ในปีถัดไป หรือ "ซิ่ว" ก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่ดีเหมือนกันค่ะ ถ้าซิ่วแล้วยังรู้สึกว่าไม่ใช่สำหรับเราอีก! หรือยังไม่ติดคณะที่ใช่ที่สุดสักทีก็ซิ่วต่อค่ะ การซิ่วไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนไม่เก่งนะ ตรงกันข้าม การซิ่วเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความกล้าประมาณหนึ่งเลย แต่สิ่งหนึ่งที่จะไม่คำนึงถึงไม่ได้ก็คือเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งค่าสมัครสอบ ค่าสมัครเข้า และค่าเทอมของแต่ละคณะหรือสาขาที่เราเข้าไปเรียนแล้วซิ่วออกมาค่ะ 

ในทุกๆ การตัดสินใจถ้าเราเต็มที่ที่สุดแล้ว ทุกคนก็เก่งแล้วนะคะ การที่เราต้องตัดสินใจ ทุ่มเท หรือพยายามทำอะไรบางอย่าง มันไม่ได้เป็นสิ่งที่ง่ายเลย สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะเลือกด้วยเหตุผลอะไร ขอให้ทุกคนเลือกเพื่อตัวเองด้วยใจของตัวเองนะคะ

ขอขอบคุณรูปภาพจากhttps://www.freepik.com/storieshttps://www.freepik.com/osaba
พี่โบว์
พี่โบว์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น