เจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ : นักนิติวิทยาศาสตร์

ถ้าพูดถึงอาชีพที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกฎหมายจะนึกถึงอาชีพอะไรกันบ้างคะ อัยการ? ทนาย? ตำรวจ? แต่ยังมีอีกอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญในปัจจุบันและคนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นคือ “นักนิติวิทยาศาสตร์” เป็นการนำความรู้ทางวิทย์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรม โดยพิสูจน์หลักฐานในแต่ละคดีซึ่งจะขาดไปไม่ได้เลย เรามักเห็นตัวละครหลักในละคร/ซีรีส์แนวสืบสวนของต่างประเทศหลายเรื่องประกอบอาชีพนี้กัน แต่ยังไม่ค่อยแมสในไทยสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามเด็กสายวิทย์ที่อยากทำงานด้านกฎหมายควรรู้ไว้!

บทความ “เจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ” ในวันนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวของ นักนิติวิทยาศาสตร์ ถ้าอยากรู้ว่าอาชีพนี้จะมีความน่าสนใจยังไง และมีที่ไหนเปิดสอนบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

เจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ  "นักนิติวิทยาศาสตร์"
เจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ  "นักนิติวิทยาศาสตร์"

เจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ 
"นักนิติวิทยาศาสตร์"

แนะนำอาชีพ "นักนิติวิทยาศาสตร์"

การพิสูจน์หลักฐานในประเทศไทย คนมักรู้จักและมุ่งความสนใจไปที่ “แพทย์นิติเวช” มากกว่า “นิติวิทยาศาสตร์” แต่จริงๆ ทั้ง 2 อาชีพนี้มีหน้าที่ที่แตกต่างและมีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยแพทย์นิติเวชจะเน้นทำหน้าที่ตรวจสภาพศพเพื่อพิสูจน์คดีความ ซึ่งต้องนำความรู้ทางการแพทย์มาใช้ ในขณะที่นักนิติวิทยาศาสตร์ที่เราจะมาพูดถึงในวันนี้ทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ทั้งตรวจสถานที่เกิดเหตุและรวบรวมวัตถุพยาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องศึกษาในคณะแพทยศาสตร์

นักนิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Sciencist) เป็นอาชีพที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ มาประยุกต์ใช้ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคดีความ โดยตรวจสอบ บันทึก ถ่ายภาพ และรวบรวมวัตถุพยาน เช่น ศพ พันธุกรรม (DNA) ลายนิ้วมือ คราบเลือด ขนสัตว์ กลิ่นสารเคมี อาวุธปืน เอกสาร ภาพถ่าย และสิ่งของอื่นๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและเสื่อมสภาพ จากนั้นจึงนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการว่ามีหลักฐานชิ้นไหนเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดได้บ้าง เพื่อตรวจพิสูจน์ยืนยันการกระทำความผิด สุดท้ายต้องจัดทำรายงาน และนำผลการตรวจพิสูจน์ส่งให้พนักงานสอบสวนนำไปใช้เป็นสำนวนคดีขึ้นสู่ชั้นศาล ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ในเบื้องต้นว่ามีสาเหตุการเสียชีวิตมาจากอะไร 

แม้จะไม่ค่อยแมสสักเท่าไหร่ แต่บุคลากรที่มีความสามารถทางนิติวิทยาศาสตร์ก็ยังเป็นที่ขาดแคลน หลายสถานศึกษายังคงมุ่งผลักดัน พัฒนาทักษะความรู้ และผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้โดยตรง เพื่อเพิ่มศักยภาพและความเสถียรภาพทางกระบวนการยุติธรรมให้มั่นคงสืบไป

คุณสมบัติของคนที่จะทำอาชีพนี้

  • มีความละเอียดถี่ถ้วน  เพราะการวิเคราะห์และพิสูจน์หลักฐานต้องใช้ความรอบคอบมากเป็นพิเศษ มิฉะนั้นผลการพิสูจน์อาจคาดเคลื่อนและส่งผลต่อรูปคดีได้
  • มีความถูกต้องแม่นยำ เพราะถ้าผู้ประกอบอาชีพนี้ไม่มีความรู้และความแม่นยำในการพิสูจน์หลักฐาน จะทำให้รูปคดีเกิดความเสียหายได้
  • มีความเที่ยงธรรม  หากกระบวนการพิสูจน์หลักฐานก่อนเข้าชั้นศาลไม่มีความเที่ยงธรรม มาพร้อมกับความอคติ ลำเอียง หรือไม่เที่ยงตรง จะทำให้กระบวนยุติธรรมกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือและไม่โปร่งใสอีกต่อไป

ต้องจบคณะ/สาขาอะไร?

ในปัจจุบัน ป.ตรี ยังเปิดสอนเพียงไม่กี่แห่ง ได้วุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) แต่ส่วนใหญ่จะเปิดให้เรียนด้านนี้โดยตรงในระดับ ป.โท ขึ้นไปเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)  หากสนใจทางด้านนี้จริงๆ อาจต่อ ป.ตรี โดยตรงเลย หรือเรียนต่อ ป.ตรี ในสาขาที่เกี่ยวข้อง จากนั้นค่อยไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งในกรณีหลังพี่ขอแนะนำให้เรียนใน 4 หลักสูตรนี้ เพราะจะได้มีพื้นฐานนำไปต่อยอดได้ โดยเฉพาะสาขาด้านวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้มากเป็นพิเศษ ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ รวมถึงสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างสาขาด้านกฎหมาย

  1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)
  2. หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (ส.บ.)
  3. หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.)
  4. หลักสูตรรัฐศาสตร์บัณฑิต (ร.บ.)

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

ระดับปริญญาตรี - หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต 

  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏสวนสุนันทา
  • คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต

ระดับปริญญาโท - หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต

  • คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
  • คณะสหเวชศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
  • คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล
  • บัณฑิตวิทยาลัย ม.เชียงใหม่
  • คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร
  • คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
  • คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ค่าเทอมของหลักสูตรนี้

ระดับปริญญาตรี - หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต 

  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏสวนสุนันทา : 21,050 บาท / เทอม
  • คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต : 53,500 บาท / เทอม

ระดับปริญญาโท - หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต

  • คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน คลิก
  • คณะสหเวชศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ คลิก (หน้า 8)
  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล คลิก
  • คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล คลิก
  • บัณฑิตวิทยาลัย ม.เชียงใหม่ คลิก
  • คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร คลิก
  • คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ คลิก
  • คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ คลิก

วิชาที่น่าจะเกี่ยวข้อง (อ้างอิงจากปี 2565)

ระดับปริญญาตรี

  • TGAT แทน GAT
  • A-Level แทน 7 วิชาสามัญ (คณิตศาสตร์ 1, ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, สังคมศึกษา, ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ)
  • TPAT3 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ แทน PAT2

แม้ว่าอาชีพนี้จะไม่ค่อยแมสในไทยสักเท่าไหร่ แต่ถ้าสนใจอาชีพนี้ลองศึกษาต่อดูก็ไม่เสียหาย ไม่ว่าจะเรียนในระดับ ป.ตรี หรือค่อยมาเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไป โดยเงินเดือนของอาชีพนี้มักจะสตาร์ทอยู่ที่ 15,000 บาทค่ะ

ขอขอบคุณรูปภาพจากhttps://www.freepik.com/author/freepikhttps://www.freepik.com/author/rochakshuklahttps://www.freepik.com/author/alvaro-cabrera
พี่โบว์
พี่โบว์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

YingSuHua Member 4 ก.ค. 66 15:22 น. 1

จบปตรี วศ.บ. สามารถต่อโท นิติวิทยาศาสตร์ ได้หรือไม่ หรือต้องเรียนตรี ด้านวิทยาศาสตร์ก่อนเพื่อต่ยอด อย่างเดียวคะ ?

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด