หาตัวเองให้เจอแล้วลุย! คุยกับ "พี่สมาย จิตวิทยา จุฬาฯ" เจาะลึกวิชาเรียนและเทคนิคการเตรียมตัวใน TCAS

สวัสดีค่ะ สัปดาห์นีี้พี่มิ้นท์มีรุ่นพี่จากคณะที่มีน้องๆ สนใจจำนวนมาก แต่นานๆ จะหาตัวรุ่นพี่มานั่งเล่าประสบการณ์ให้ฟังยาก นั่นคือ คณะจิตวิทยา ค่ะ 

คณะจิตวิทยา มีความน่าสนใจตั้งแต่ตัวหลักสูตรแล้วค่ะ  เพราะบางทีก็เป็นวิทยาศาสตรบัณฑิต บางที่เป็นศิลปศาสตรบัณฑิต และยังสามารถนำความรู้ไปทำงานได้หลากหลายมากๆ วันนี้ "พี่สมาย" จาะคณะจิตวิทยา จุฬาฯ จะมาเล่าถึงการเตรียมตัวสอบ วิชาเรียนคณะ ไปจนถึงแนวทางการทำงานเลย อยากอ่านเรื่องราวแบบเต็มๆ ไปดูกันเลยย มีประโยชน์มาก!

หาตัวเองให้เจอแล้วลุย! คุยกับ "พี่สมาย จิตวิทยา จุฬาฯ" เจาะลึกวิชาเรียนและเทคนิคการเตรียมตัวใน TCAS

เริ่มต้นอยากเรียน “จิตวิทยา” เพราะชอบ “ฟัง”

          สวัสดีค่ะ พี่ชื่อ “พิมพ์ชนก แก้วเกตุ” มีชื่อเล่นว่า “สมาย” หรือชื่อที่ครอบครัวและเพื่อนๆ เรียกคือ “มาย” ปัจจุบันกำลังขึ้นปีที่ 2 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมายจบมัธยมปลายด้วยแผนการเรียน “ศิลป์-คำนวณ” ค่ะ

          จริงๆ กว่าจะรู้ตัวว่าอยากเรียนจิตวิทยาถือว่าค่อนข้างช้าเลยค่ะ เริ่มแรกเลยเดิมทีเป็นคนชอบรับฟังคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือพ่อของมายเอง ซึ่งระหว่างที่ฟัง มายก็อยากเข้าใจผู้พูดมากขึ้นว่าอะไรทำให้เค้าคิดหรือเกิดพฤติกรรมบางอย่าง และอยากเข้าใจผู้อื่นและทำความรู้จักตนเอง รวมไปถึึงตระหนักถึงจุดพัฒนาของตนเองให้มากขึ้นด้วย เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มองหาคณะจิตวิทยาไว้ในใจค่ะ แล้วก็ได้อ่านหลักสูตรและเนื้อหาการเรียนที่มีรุ่นพี่จิตวิทยาให้ข้อมูลไว้ ยิ่งรู้สึกว่าเป็นศาสตร์ที่น่าเรียนรู้ บวกกับมายเป็นคนชอบอ่านอะไรที่เปิดโลกทัศน์ และรู้ว่าเรียนจิตวิทยานั้นมีโอกาสได้อ่านงานวิจัยต่างประเทศอยู่เสมอ เพราะจิตวิทยาเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม จึงต้องศึกษาจากงานวิจัยที่ถูกต้องตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อนำมาพิสูจน์ให้เห็นเชิงประจักษ์นั่นเอง ตั้งแต่นั้นมา มายก็เก็บคณะจิตวิทยาไว้เป็นอันดับหนึ่งในใจเลย

ยิ่งรู้จักยิ่งอึ้ง! จบจิตวิทยาทำอะไรได้มากกว่าที่คิด

          และเมื่อหาข้อมูลต่อก็ได้รู้ว่าเป็นคณะที่มีเส้นทางอาชีพหลากหลายมาก ทั้งนำความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้โดยตรง เช่น นักจิตวิทยาการปรึกษาหรือนักจิตวิทยาคลินิก หรือแม้กระทั่งการนำไปประยุกต์ใช้กับสายอาชีพอื่นๆ ที่ตนเองถนัดและสนใจ เช่น งานด้านธุรกิจหรือที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ ถือว่าเป็นคณะที่มีตัวเลือกให้ค้นหาตัวเองมากพอสมควรเลย

คิดว่าคนที่เหมาะจะเรียนคณะนี้ ต้องเป็นคนยังไง

สำหรับมาย อาจไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางจิตวิทยามาก่อน เพราะคณะจะมีการปูพื้นฐานความรู้ทางจิตวิทยาทั้งหมดในแขนงต่างๆ ตั้งแต่แรกเลย สิ่งสำคัญคือ แค่พร้อมเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ คณะจิตวิทยา ถือเป็นทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เราได้ค้นคว้าหาความรู้สำหรับคนที่สนใจจิตวิทยาได้อย่างดีเลย

การเตรียมตัวเข้าคณะ “จิตวิทยา” และเทคนิคเตรียมตัววิชาภาษาอังกฤษ

 มายเข้ามาปี TCAS65 รอบ Admission โดยยื่นคะแนนรูปแบบที่ 3 Gat 100 % ซี่ง TCAS66 จะเปลี่ยนเป็น TGAT100 % แล้ว

สำหรับวิธีการเตรียมตัว จะเริ่มดูว่าจิตวิทยาเปิดสอนที่ไหนบ้าง ดูระเบียบการ เกณฑ์การรับเข้า วุฒิการศึกษา แผนการเรียน GPAX ขั้นต่ำ เพราะเราจบสายศิลป์มาจึงต้องเช็กคุณสมบัติด้วย และเลือกรูปแบบเกณฑ์ที่คิดว่าถนัดและเหมาะกับตัวเอง

จากนั้นก็เริ่มวางแผนการอ่านหนังสือในแต่ละวิชาเลยค่ะ  วิชาที่ต้องเน้น วิชาไหนควรใช้เวลาเตรียมตัวกี่เดือน ซึ่งสำหรับวิธีการวางแพลนของมายคือ เรียนเนื้อหาให้จบก่อนสอบสัก 1-2 เดือนอย่างต่ำ ทำโจทย์ท้ายบทหรือแบบฝึกหัดของเนื้อหาแต่ละบทจากนั้นเน้นตะลุยโจทย์จากข้อสอบเก่า เก็บจุดที่ผิดพลาด เช่น สำหรับมายจะเน้นภาษาอังกฤษเป็นพิิเศษเลยตัดสินใจลงเรียนพิเศษเพิ่มเติมและแพลนไว้ว่าต้องอ่าน Gat ภาษาอังกฤษทุกวัน

ซึ่งวิชานี้มายเริ่มเรียนพิเศษมาตั้งแต่ ม.4 แต่ไม่ได้ทบทวน เลยลงเรียนพิเศษเพื่อปูพื้นฐานใหม่อีกครั้งช่วง ม.6  จากนั้นเรียนรู้เนื้อหาบทนึงเสร็จก็ไปทำโจทย์บทนั้น ควบคู่ไปกับการท่องศัพท์ทุกวันยามว่างและนั่งทายศัพท์กับเพื่อนบ่อยๆ ซึ่งเป็นศัพท์ที่ได้มาจากการนั่งอ่านบทความภาษาอังกฤษ, ข้อสอบเก่า, เว็บข่าวต่างประเทศ เช่น BBC คำไหนไม่รู้ก็จดใส่สมุดหรือแอปพลิเคชัน Quizlet ค่ะ ซึ่งช่วยในพาร์ท Vocabulary พอสมควรเลย

ส่วนการฝึกในแต่ละพาร์ท เช่น Conversation มายเลือกทำแบบฝึกหัดในหนังสือ ดูหนัง และลองเอามาพูด และใช้เทคนิคจากที่เรียนเลย ต่อมาพาร์ท Reading ก็จะฝึกทำบ่อยๆ โดยมายลองเริ่มจากการฝึกว่าถนัดอ่านคำถามก่อนหรืออ่าน Passage ก่อน พอรู้ว่าถนัดคำถามก่อน ก็ใช้วิธีนี้มาตลอดที่ฝึกเลย สุดท้ายพาร์ท Structure and Writing  ก็จะเน้นทำโจทย์ Error และ Cloze test และเรียนรู้จากเฉลยอีกทีนะคะ

หาวิธีการอ่านของตัวเองให้เจอ

มายขอแชร์เพิ่มเติมนิดนึงน้า เริ่มแรกอาจจะต้องทำความรู้จักตัวเองสักนิดว่าเราถนัดที่จะเรียนรู้แบบไหนกันนะ สำหรับมายใช้เวลาลองผิดลองถูกในการอ่านหนังสือประมาณ 1-2 เดือนว่าตัวเองถนัดเรียนแบบไหนและแต่ละวิชาก็อาจจะมีวิธีการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน

ซึ่งช่วงแรกมายลองจากอ่านหนังสือแล้วเขียนสรุป อ่านแล้วพูดจากนั้นอัดเสียงตัวเองไว้และมาฟังอีกที หรือเรียนจากที่เรียนพิเศษและทบทวน สุดท้ายก็ค้นพบว่าเป็นคนที่สามารถเรียนรู้และจำได้ดีจากการฟัง จดลงไปด้วยภาษาของตัวเอง ทบทวนและทำโจทย์ จดสิ่งที่พลาดและเรียนรู้จากเฉลยอีกที เช่น

  • ภาษาอังกฤษมายเน้นไปที่การทำโจทย์จากนั้นเรียนรู้จากเฉลย
  • วิชาที่เน้นจำ เช่น สังคม มายจะฟังจากที่เรียน นำมาจดเป็นภาษาของตัวเอง ทบทวน จากนั้นไปทำโจทย์เลย

ซึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับการเตรียมตัวอ่านหนังสือก็คือ การทำโจทย์ทั้งจากแบบฝึกหัดในหนังสือและข้อสอบเก่าเลยน้า เรียนรู้ว่ามีเนื้อหาตรงไหนที่เรายังไม่แม่นก็กลับไปทบทวนอีกรอบ เพราะ เรามีการนำข้อมูลเข้าในความทรงจำของเรา ดังนั้น หนึ่งในวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพคือการนำสิ่งที่เราเรียนรู้ออกมาใช้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม วิธีข้างต้นอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดและคนที่สมหวังหรือได้คะแนนสูงอาจไม่ได้ใช้วิธีนี้ทุกคนน้า แต่ละคนสามารถนำไปปรับใช้ตามความถนัดและเหมาะสมกับตัวเองได้เลย

จัดอันดับแบบเลือกไม่ครบ 10 อันดับ แต่อยากเรียน+มั่นใจในสิ่งที่เลือก

          มายเลือกไปทั้งหมด 7 อันดับ อันดับที่ 1-5 คือคณะที่อยากเรียนที่สุด ไม่ได้สนใจคะแนนเลย อันดับที่ 6-7 คือคณะที่เราอยากเรียนรองลงมาและมั่นใจว่าปลอดภัยแน่ ๆ ว่ามีโอกาส 90 %

          ขอแชร์ว่าช่วงที่เปิดจัดอันดับ ให้เราเข้าไปลองจัดอันดับตั้งแต่ช่วงแรกๆ เลย ตอนแรกมายคิดว่าการจัดอันดับคงใช้เวลาไม่นานเพราะมีในใจเรียบร้อยแล้ว แต่ถึงเวลาจริงๆ ใช้เวลานานพอสมควร เพราะต้องคิดหลายอย่าง เช่น วิทยาเขต ภาคปกติ ภาคพิเศษ ค่าเทอม (ลองถาม budget ผู้ปกครองไว้คร่าวๆ ก่อนเลือกน้า) ส่วนตัวจัดเสร็จวันสุดท้ายที่ให้ยื่นเลยเพราะ 2 อันดับสุดท้ายลังเลยันวันสุดท้ายเลยค่ะ

          และต้องระวัง การเปรียบเทียบคะแนนสูงต่ำของปีก่อนๆ ลองเช็กว่าเกณฑ์ปีนี้เหมือนหรือแตกต่างจากปีที่แล้ว ปีก่อนหน้าและปีเราวิชาไหนคะแนนเฉลี่ยลดลงหรือเพิ่มขึ้น ภาพรวมคณะที่เราจะเข้าคะแนนฝืดหรือเฟ้อ

พอได้เข้ามาเรียนจริง ๆ แล้ว รู้สึกแตกต่างจากที่คิดไว้มั้ย

          ส่วนตัวไม่รู้สึกแตกต่างเท่าไหร่ เพราะได้อ่านหลักสูตร สอบถามรุ่นพี่บ้างแล้ว และเราเข้ามาเพราะสนใจและเปิดใจที่อยากจะเรียนรู้จิตวิทยาจริงๆ 

สิ่งสำคัญคือพอได้มาเรียนจริงๆ รู้สึกประทับใจอาจารย์ที่มีความใส่ใจนิสิต เช่น วิชา stat ของรุ่นพี่ที่ได้เรียนโปรแกรม R มี feedback ว่ายากเกินไป อาจารย์เลยเปลี่ยนมาเป็นโปรแกรม Jamovi ให้นิสิตปีต่อมาเลย อาจารย์เปิดใจและพยายามที่จะเข้าใจนิสิตมากๆ รวมไปถึงเพื่อนๆ และรุ่นพี่ในคณะที่คอยช่วยเหลือและส่งสรุปให้เสมอ ถ้าย้อนเวลากลับไปก็ยังจะเลือกเข้าคณะจิตวิทยาเหมือนเดิมเลย

ยกตัวอย่างวิชาเรียนให้น้องๆ ชาว Dek-d รู้จักหน่อยค่ะ

เทอม 1 

1. Paragraph writing เรียนเกี่ยวกับการเขียนย่อหน้าในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การตั้งชื่อหัวข้อ ไปจนถึงการเลือกใช้ภาษาที่เหมาะสมในการเขียน วิชานี้เด็กจิตวิทยาเราเรียนเพื่อนำไปต่อยอดในการเขียนรายงานเวลาทำวิจัยนั่นเอง

2. General Biology  ปูพื้นความรู้ทางชีววิทยาทั่วไป ตั้งแต่เซลล์ ไปจนถึงความหลากหลายทางชีวภาพ มีเรียนทั้ง lecture และ lab ซึ่งจะเป็นการทำปฏิบัติการ เช่น ผ่ากบ หรือส่องกล้องจุลทรรศน์ 

3. General Psychology ปูพื้นฐานความรู้จิตวิทยาทั่วไปของแต่ละแขนงที่เปิดสอนในคณะ เช่น ความเป็นมาของจิตวิทยา อารมณ์ การเรียนรู้ความจำ บุคลิกภาพ วิชานี้จะมีทั้งเรียนแบบ lecture และ lab (แอบกระซิบว่าสำหรับเรา lab สนุกมาก) 

lab จะได้ทำการทดลองเกี่ยวกับจิตวิทยาที่เนื้อหาสอดคล้องกับ lecture  เช่น เราจะได้ลองวาดรูปดาวโดยจำเป็นต้องวาดผ่านการมองกระจก และคิดค่าออกมาได้เป็นดัชนีวัดอัตราเร็วของการเรียนรู้แต่ละคน ทำให้ค้นพบว่าคนเราบางคนเรียนได้เร็วและบางคนเรียนได้ช้ากว่า หรือให้เราอ่านเรื่องสั้นและประเมินการกระทำของบุคคลในเรื่อง จากนั้นทำมาตรประเมินค่าและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ ซึ่งเราก็จะได้เรียนรู้ว่า ถึงแม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน บุคคลสามารถตัดสินเชิงจริยธรรมว่าถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร แตกต่างกันไปตามปัจจัยต่างๆ ทั้งระดับบุคคล เช่น การรับรู้ การตีความ ประสบการณ์ หรือระดับสังคม เช่น ยุคสมัย วัฒนธรรม 

4. Computer Skills for Psychology  ทักษะคอมพิวเตอร์พื้นฐานในจิตวิทยา เช่น การเขียนอ้างอิงตามหลัก APA การเขียนรายงานที่ดี การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล รวมไปถึงการเขียนโค้ดจากโปรแกรม R และใช้ Microsoft Excel ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ อีกทั้งใช้โปรแกรม Qualtrics เป็นเครื่องมือในทำแบบสอบถามสำหรับการทำวิจัย

5. Experiential English I เป็นวิชาภาษาอังกฤษ เรียนเกี่ยวกับโครงสร้างภาษาอังกฤษ คำศัพท์ การเขียนพารากราฟในรูปแบบต่าง ๆ เช่น Opinion paragraph และมีงานนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ

เทอม 2

1. Physiology พื้นฐานทางสรีรวิทยาของเซลล์และระบบต่างๆ ทั้งหมดของร่างกาย เช่น สมอง ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ซึ่งหลายคนอาจสงสัยเกี่ยวกับจิตวิทยายังไง ความคิดเห็นของมายคิดว่าเพราะสุขภาพจิตและสุขภาพกาย มีความสัมพันธ์กันและส่งผลต่อกันตลอดเวลานั่นเอง

2. Research Methods and Statistics in Psychology ระเบียบวิธีวิจัยและสถิติทางจิตวิทยา เช่น หลักการทางวิทยาศาสตร์ จริยธรรมในการวิจัยทางจิตวิทยา เครื่องมือวัดทางจิตวิทยา ความน่าจะเป็นและการทดสอบสมมติฐาน การอนุมานทางสถิติ การออกแบบการทดลองและการวิเคราะห์ รูปแบบการเรียนจะมีทั้ง lecture และ lab ที่ห้องคอม โดยใช้โปรแกรม Microsoft Excel และ Jamovi เพื่อเป็นเครื่องมือในการคำนวณทางสถิติ

3. Careers in Psychology จะมีการเชิญวิทยากรที่เป็นรุ่นพี่จากหลายอาชีพในแต่ละสาขาของจิตวิทยามาบรรยายให้เราฟังเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพของจิตวิทยาค่ะ ว่าแต่ละสาขาสามารถประกอบอาชีพในอนาคตอะไรได้บ้าง ทักษะที่จำเป็น การนำจิตวิทยาไปประยุกต์ในการทำงานยังไง จนกระทั่งการศึกษาต่อ  

4. Cognitive Psychology พื้นฐานทางปริชานของมนุษย์ ว่ามนุษย์เรามีการรับรู้ ความจำ การตัดสินใจอย่างไร เช่น เรื่องที่เราอยากลืมทำไมบางครั้งกลับคงอยู่ในความจำเราแม่นยำ ในขณะที่เรื่องที่เราอยากจำกลับชอบลืม รูปแบบการเรียนจะมีทั้ง lecture และ lab ซึ่งอาจารย์จะทำเป็น flipped classroom โดยเราจะเรียนทางวิดีโอและทำ lab จากเว็บ Cengage มาก่อน จากนั้นมาทบทวนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในห้อง และทำ worksheet ส่งค่ะ

5. Developmental Psychology เรียนเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนถึงวาระสุดท้ายเลย รูปแบบการเรียนจะมีทั้ง lecture และ lab ซึ่ง lab เราจะได้ทำการทดลองเกี่ยวกับคนในแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกัน จากนั้นทำรายงานและนำเสนอหน้าชั้นเรียน

6. Experiential English II  เรียนเกี่ยวกับการเขียนพารากราฟในรูปแบบต่าง ๆ เหมือนเทอมที่แล้วเลยนะคะ เช่น cause-effect paragraph และมีงานนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษเกี่ยวกับข่าวภาษาอังกฤษ และมีสอบพูดกับคู่ของเราจาก topic ต่าง ๆ

วิชาเรียนปีอื่นที่น่าสนใจของคณะ (ที่อาจจะเคยได้ยินจากรุ่นพี่ หรือ พอรู้มาบ้าง)

          ที่พอรู้มาคงจะเป็น จิตวิทยาการปรึกษาค่ะ เรียนพื้นฐานวิชาชีพจิตวิทยาการปรึกษา เช่น ทฤษฎีและการปฏิบัติในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา มาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณ กฎหมาย และมีกิจกรรมให้เรามีโอกาสได้ลองคุยกับนักจิตวิทยา จากนั้นก็เขียน reflection เกี่ยวกับตัวของเราว่าถ้าเราเป็นนักจิตวิทยา จะมีคำแนะนำอย่างไรสำหรับตัวเอง

จบมาสามารถทำงานอะไรได้บ้าง

          หลายคนอาจจะได้ยินมาว่า “ที่ไหนมีคน ที่นั่นมีจิตวิทยา” นั่นหมายความว่า งานที่เราสามารถทำได้นั้นมีความหลากหลายมากขึ้นอยู่กับความถนัดและความสนใจ โดยสามารถแบ่งเบื้องต้นเป็นอาชีพที่ใช้จิตวิทยาโดยตรง เช่น นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก นักวิจัยสาขาจิตวิทยา  และอาชีพที่สามารถนำจิตวิทยาไปประยุกต์ เช่น นักวิจัยการตลาด (market researcher) นักวิเคราะห์ข้อมูล (data analyst) นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน (UX UI designer) ที่ปรึกษา (consultant) เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล (human resource)      

อย่างไรก็ตามบางอาชีพจำเป็นต้องมีการต่อปริญญาโทหรือจบปริญญาตรีสาขาเฉพาะ จากนั้นฝึกงานเพิ่มเติม เช่น นักจิตวิทยาคลินิกที่ต้องจบปริญญาตรีหรือปริญญาโทสาขาจิตวิทยาคลินิก จากนั้นฝึกงาน และสอบใบประกอบโรคศิลป์ ถึงจะสามารถเป็นนักจิตวิทยาคลินิกในโรงพยาบาลได้นะคะ

ฝากอะไรถึงน้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้าคณะนี้

         สำหรับน้องๆ ที่กำลังเตรียมสอบ สิ่งสำคัญคือการวางแผนที่ดี มีความสม่ำเสมอในการฝึกฝน ควบคู่ไปกับการบาลานซ์ทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ไม่หักโหมจนเกินไป แบ่งเวลาให้เราได้พักผ่อนและสามารถทำตามแผนได้เรื่อย ๆ แม้ว่าช่วงเตรียมสอบมันอาจจะยากนิดนึงที่จะไม่มีความกังวลเลย ดังนั้นถ้ารู้สึกเครียดลองใช้วิธีต่าง ๆ ที่ตัวเราคิดว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราผ่อนคลายกันน้า สุดท้ายขอให้ผลลัพธ์เป็นดังใจหวัง และเป็นกำลังใจให้ทุกคนเลยนะ !

หวังว่าน้องๆ ที่ได้เข้ามาอ่านเรื่องราวของพี่สมาย คงจะได้รับคำแนะนำการเตรียมตัวสอบไปเยอะเลย พร้อมกับยังมีการให้ข้อมูลวิชาเรียนในคณะ น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับน้องๆ ที่กำลังตัดสินใจเลือกคณะนี้อยู่นะคะ  โอกาสหน้าจะเป็นรุ่นพี่คนไหน จากคณะอะไร รอติดตามได้เลย

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น