คุยกับ "พี่โอ๊ป-เจษฎาพร" นศ.พิการ ไล่ตามฝัน ติด Portfolio วิทยาการคอมพิวเตอร์ มธ.

สวัสดีค่ะน้องๆ พี่แนนนี่มีโอกาสได้ไปร่วมงาน “เด็กพิการเรียนไหนดี 67 กรุงเทพฯ” เลยได้มีโอกาสพูดคุยกับนักศึกษาพิการคนเก่ง จากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่าง “พี่โอ๊ป - เจษฎาพร” ผู้ผ่านการคัดเลือกจาก TCAS65 รอบ Portfolio ที่ไม่ใช่โครงการรับนักเรียนพิการด้วย 

วันนี้พี่แนนนี่ก็เลยพาพี่โอ๊ปมาเล่าประสบการณ์การเรียนตั้งแต่ระดับมัธยม จนถึงปริญญาตรีกันเลย พร้อมแชร์เทคนิตการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย การทำ Portfolio รวมไปถึงส่งต่อแรงบันดาลใจดีๆ ในการใช้ชีวิตมาฝากน้องๆ กันด้วย

พี่โอ๊ป-เจษฎาพร นศ.พิการ ไล่ตามฝัน ติด Portfolio วิทยาการคอมพิวเตอร์ มธ.
พี่โอ๊ป-เจษฎาพร นศ.พิการ ไล่ตามฝัน ติด Portfolio วิทยาการคอมพิวเตอร์ มธ.

คุยกับ "พี่โอ๊ป-เจษฎาพร" นศ.พิการ ไล่ตามฝัน ติด Portfolio วิทยาการคอมพิวเตอร์ มธ.

Q1 : แนะนำตัวคร่าวๆ ให้ชาว Dek-D รู้จักกันหน่อย

A : สวัสดีครับ ผมชื่อโอ๊ป เจษฎาพร สิงห์ชานะครับ จบม.ปลาย จากโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย แผนการเรียนวิทย์-คณิต (เกรด 3.2) ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครับ

Q2 : เล่าการใช้ชีวิต การเรียนม.ปลายอย่างไรบ้าง

A : ผมเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ปกติ ตัดเกรดปกติเลยครับ แต่ในฐานะนักเรียนสายวิทย์-คณิต และพิการทางสายตา ต้องบอกก่อนว่าในโรงเรียนเคยมีรุ่นพี่ที่มองไม่เห็นเรียนสายวิทย์-คณิตมาก่อน 1 คน ผ่านไปประมาณ 3 ปีผมก็ตามมาเรียนวิทย์-คณิตเหมือนกัน คือการเรียนสายนี้ไม่ได้ราบรื่นครับ หมายถึงว่าอุปสรรคด้านสื่อ อย่างเรียนฟิสิกส์ การที่จะมองพวกกราฟเวกเตอร์ได้ ค่อนข้างยาก เราอาจจะต้องให้เพื่อนข้างๆ ไม่ก็หลังเลิกเรียนไปหาอาจารย์ ให้อาจารย์ช่วยอธิบายว่าคาบนี้อาจารย์กำลังสอนอะไรอยู่นะ ก็จะมีทั้งอาจารย์ที่เข้าใจ และอาจารย์ที่ไม่เข้าใจ รวมถึงถ้าเพื่อน support ดี ก็โอเค แต่ก็ต้องยอมรับครับเพื่อนห้องผม support ค่อนข้างใช้ได้เลยครับ

Q3 : ถ้าอาจารย์ไม่เข้าใจ ไม่อธิบายเพิ่มเติมให้ โอ๊ปมีวิธีทำความเข้าใจเนื้อหาตรงนั้นยังไง

A : ผมใช้บทเรียนจาก Youtube เป็นส่วนใหญ่ เราอาจจะฟังไม่เข้าใจบ้าง หรือบางทีเขาอาจจะวาดภาพ หรือวาดอะไร อธิบายตามสไลด์ หรือสงสัยอะไร ก็หาอาสาเพิ่มเติมว่าเขากำลังอธิบายอะไรอยู่ คือฟังให้ได้โครงไปก่อน นอกนั้นก็ถามเขาอีกที

Q4 : ถ้าเป็นการสอบต่างๆ ในโรงเรียน มีวิธีการอย่างไรบ้าง

A : ถ้าเป็นการสอบของนักเรียนพิการด้านการมองเห็น โรงเรียนจะมีห้อง คล้ายๆ ศูนย์บริการของมหาวิทยาลัย จะคอยดูแล อำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนอยู่ คือก็จะมีครู ส่วนใหญ่จะเป็นครูนิสิต และครูประจำอยู่ในห้อง ช่วยกันอ่านข้อสอบให้ ถ้ามีวิชาไหนเฉพาะ โรงเรียนก็จัดครูด้านนั้นมาช่วย อย่างผมสอบฟิสิกส์ ก็จะมีครูด้านวิทยาศาสตร์ หรือจบฟิสิกส์มาอ่านให้ และครูก็จะกาลงกระดาษคำตอบให้ แต่ถ้าสอบหลายคน เราจะใช้แบบยกนิ้วเพื่อตอบ ถ้าเป็นปรนัย แต่ถ้าเป็นอัตนัยเขาจะแยกมุมให้เลย

Q5 : เริ่มวางแผน เตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง

A : โรงเรียนเก่า (สันติราษฎร์วิทยาลัย) ของผม เป็นโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ เขาก็จะมีระบบหาอาสาสมัครมาสอนหนังสือ มาติวหนังสือให้กับนักเรียนที่ไปเรียนร่วมข้างนอก โรงเรียนเลยจะมีบอร์ดให้เราไปจองอาสา ว่าต้องการติววิชานี้ๆ ผมก็ไปจองเพื่อหาอาสาไปติว ยุคนั้นเป็น GATPAT บางทีก็ได้อาสา บางทีก็ไม่ได้ ถ้าไม่ได้ผมก็ใช้วิธีเดิมเลยครับ ไปดู Youtube หาเว็บซื้อคอร์สเรียนวิดีโอ เอามาฟังไกด์เนื้อหา แล้วก็มีตะลุยโจทย์ ผมทำได้แน่ๆ คือ GAT เชื่อมโยง GAT ภาษาอังกฤษ เพราะเป็น text แต่ถ้าเป็นคณิตศาสตร์ จะค่อนข้างเสียเปรียบ เพราะมีกราฟอะไรแบบนี้ เลยจะหาคนติวได้ยาก

Q6 : ยกตัวอย่างวิธีการอธิบายของอาสา ในการอธิบายกราฟ หรือรูปภาพหน่อย

A : มันไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้อยู่แล้วครับ วิธีแก้ของผมคือ ให้เขาพยายามวาดบนมือ หรือให้เขาจับนิ้วผม ลากตามรูปเลย ว่ามันจะเป็นลักษณะแบบนี้ หรือให้เขาผลิตสื่อเป็นภาพนูนล่วงหน้า แต่แบบปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อมาก็คือ อย่างคนตาบอดก็จะมีหลากหลายรูปแบบ บางคนก็เคยมองเห็นมาก่อน ก็จะสามารถจินตนาการได้ แต่อย่างผม ตาบอดตั้งแต่กำเนิด ก็จะไม่สามารถจินตนาการภาพชัดเจนขนาดนั้นได้ ดังนั้นสิ่งที่มันได้ก็คือ จะพอมโนคร่าวๆ ได้แค่นั้น อาจจะไม่สามารถเข้าใจภาพได้จริงๆ ว่าเป็นแบบไหน

Q7 : กราฟ/รูปภาพ อุปสรรคใหญ่ในการเรียนของนักเรียนตาบอด

A : ค่อนข้างใหญ่มาก ต้องบอกว่าผมใจสู้มากกว่า คือตอนม.4 โรงเรียนจะให้ลองเรียน แล้วย้ายสายได้ เขาจะกำหนดลูปเวลาไว้ 2 อาทิตย์ ผมก็เรียนๆ จนคิดว่าตัวเองเรียนได้ พอผ่านไปเรื่อยๆ จนถึงม.5 เนื้อหามันเริ่มซับซ้อนขึ้นมาก จนขนาดที่เราไม่สามารถจินตนาการได้เพียวๆ ในห้องแล้ว ผมก็วางแผนไว้จะไปคุยกับวิชาการ จะย้ายไปเรียนศิลป์ภาษา แต่สุดท้ายแล้วผมก็ไม่ได้ย้ายไป ถามตัวเองว่ายังชอบสายนี้อยู่ไหม ก็ได้ตอบแบบนั้นอยู่ ตอนนั้นเป้าหมายตัวเองแอบชัดด้วยครับ ว่าจะไปเข้าสายคอม สายวิศวะ อะไรแบบนี้ ผมก็เลยยังอยู่ตรงนี้ต่อ แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือ เกรดเฉลี่ย หรืออะไรแบบนี้ที่เราไม่สามารถสู้เพื่อนปกติได้

Q8 : อะไรคือแรงบันดาลใจในการเรียนสาขาวิชานี้

A : ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนชอบเล่นคอมมาก ตอนประถม โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ก็จะมีให้เด็กไปเรียนรู้ตั้งแต่การพิมพ์ การวางมือ การวางแป้นเหย้า ฟหกด ่าสว เขาจะฝึกให้ตั้งแต่แบบแป้นพิมพ์ที่ไม่สามารถแสดงผลบนหน้าจอได้เลย แค่กดลงแล้วมีเสียงแป้นพิมพ์เท่านั้น ไล่มาเรื่อยๆ จนได้แตะคอมจริงๆ คือผมชอบมาก ตอนนั้นเป็นเด็ก ก็เล่นเกม ดู Youtube อ่านนิยาย อะไรแบบนี้ครับ เด็กๆ เลย จนถึงตอนม.ต้น ผมเจอรุ่นพี่ที่ผมเล่าให้ฟังตอนแรก ที่เคยเรียนวิทย์-คณิตมาก่อน เขามองไม่เห็นเหมือนกัน แต่เก่งคอมมากๆ ในสายตาผม สอนผมเขียนโปรแกรมอะไรแบบนี้ ผมขลุกอยู่กับพี่เขาทั้งวัน จนเหมือนยึดพี่เขาเป็น Idol แล้วเราก็เดินทางเส้นนี้มาเรื่อยๆ จนถึงผมม.3 ผมมีโอกาสไปแข่งคอม ชื่อว่า Global IT Challenge เป็นการแข่งคอมของคนพิการ ตอนนั้นผมไปคัด ติด 1 ใน 8 จากร้อยกว่าคน เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งที่อินเดีย ปีนั้นประเทศไทยก็ได้เหรียญกลับมา ก็เฮฮาดีครับ ถือเป็นเส้นทางคอมพิวเตอร์ของผม แล้วพอม.ปลายก็เลยเข้าวิทย์-คณิต

ก่อนที่จะเข้าวิทย์-คณิตได้ ทางโรงเรียนเขาก็ไม่ได้โอเคกับการที่ให้เด็กพิการเข้าวิทย์-คณิตเท่าไหร่ เขาสนับสนุนให้ไปเรียนแบบศิลป์-คำนวณ ศิลป์-ภาษา จนสุดท้ายผมต้องสอบ เหมือนคนที่จะเข้าม.4 ใหม่ เพื่อเข้าวิทย์-คณิต แล้วผมก็ติดวิทย์-คณิตมา แล้วก็เดินไปเรื่อยๆ

Q9 : เข้าห้องสอบ GATPAT มาเป็นไงบ้าง

A : เฮฮามากครับ ผมไปสอบที่โรงเรียนศรีอยุธยา คือทางโรงเรียนเขาเคยรับคนตาบอดไปเรียนอยู่แล้ว เขาก็จะมีการจัดการว่า ถ้าเจอนักเรียนพิการทางสายตาต้องรับมือยังไง เขาก็แยกห้องให้สอบ หาคนอ่านมาประกบเราแต่ละวิชา ให้คนถนัดแขนงนั้นๆ มาอ่านให้ฟัง ก็สอบไปตาม step มียากบ้างง่ายบ้าง (ข้อสอบ GAT เชื่อมโยง ยาวมาก อ่านกี่รอบ ย้ำได้ไหม) บอกให้ย้ำได้ครับ ครูเขาจะเตรียมอักษรเบรลล์มาให้คนตาบอดที่อ่านเบลล์ได้อยู่แล้ว ผมก็สามารถอ่านประกอบกับที่ครูอ่านให้ฟังได้ แต่ว่าต้องยอมรับว่าการอ่านอักษรเบรลล์ อาจจะเป็นเพราะตัวผมด้วย มันไม่สามารถอ่านได้เร็วเท่าที่คนปกติเขาอ่านอยู่แล้วครับ ก็จะต้องใช้ครู และอ่านเบลล์ทวนตามไปด้วย ส่วนใหญ่อ่านก็หาใจความสำคัญแหละครับ (แล้วสอบวิชาอื่นบ้างไหม) สอบมั่วไปหมด ไปสอบ PAT1 PAT2 PAT5 คณิตศาสตร์ ศิลปะ-ดนตรี  คือต้องย้อนไปก่อนหน้านั้น เพราะผมไม่ได้คาดหวังว่าจะยื่นสมัครวิทย์คอมฯ ของม.ธรรมศาสตร์ ได้อยู่แล้ว หมายถึงว่าด้วยความที่เขาเขียนว่า ไม่รับคนพิการทางด้านการเห็น แล้วก็รับแค่ 10 ที่นั่ง จากคนทั้งประเทศ ผมก็ไม่รู้ว่า Port ตัวเองจะระดับนั้นไหม แค่คำที่เขียนว่าไม่รับคนพิการ มันก็เหมือนตัดสิทธิ์ออกไปครึ่งนึงแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าโชคดีที่เขาให้โอกาสเรา เลย

Q10 : เตรียมผลงานลง Portfolio อย่างไรบ้าง

A : ผมเอากิจกรรมที่ผมไปแข่งคอมพิวเตอร์ แล้วผมมีโอกาสไปออกรายการทีวีของ ThaiPBS เกี่ยวกับการจำลองการเรียนเคมี เรียนดาราศาสตร์ เรียนสังคม-ภูมิศาสตร์ แล้วก็มีกิจกรรมในโรงเรียน เช่น การเล่นดนตรี คือโรงเรียนสันติราษฎร์เขาจะมีให้นักเรียน จะเรียกว่า นักเรียนเรียนรวม ไปแสดงความสามารถร้องเพลง เล่นดนตรีอะไรแบบนี้ครับ ผมก็ใส่ไป แล้วก็มีเกียรติบัตรออนไลน์ จากเว็บ Dek-D ThaiMooc หลายเว็บเลยครับ แล้วก็เลือกมายื่นๆ เอา ส่วน statement ผมเขียนชัดเจนเลยว่าเป็นนักเรียนที่พิการทางการมองเห็น ระบุเลยว่า มีข้อจำกัดตรงไหน

Q11 : ลงมือทำ Portfolio อย่างไร

A : มีทีมอาสาช่วยครับ ไปได้เพื่อนจากโครงการเด็กพิการเรียนไหนดี เขาสมัครมาเป็นอาสา แล้วเขาเสนอว่าถ้าอยากทำ Port เดี๋ยวเพื่อนช่วยได้นะ แล้วก็ทีมเด็กพิการเรียนไหนดีก็ช่วยด้วย รวมถึงทีมอาสาฝ่ายอื่นๆ ด้วย แต่ผมก็เป็นคนบอกว่าอยากได้แบบนี้ๆ บอกให้เขาช่วยจัดเรียง ตกแต่งอะไรแบบนี้

ตัวอย่าง Portfolio ของพี่โอ๊ป
ตัวอย่าง Portfolio ของพี่โอ๊ป

Q12 : ตอนที่เลือกมหาวิทยาลัยยื่นสมัครในรอบ Portfolio ยากไหม

A : ผมทั้งสมัครตามปกติ แล้วก็โทรไปหลายมหาวิทยาลัยเลย เอาจริงๆ ตอนม.6 ผมถอดใจกับการเรียนสายวิทย์ มาพอสมควร ทั้งเรื่องการเรียนของเราที่ยากมากๆ และแบบการที่จะมาเรียนโค้ด เรียนคอมก็ยิ่งบั่นทอนกำลังใจผมขึ้นไปอีก แล้วคือปกติหลายๆ มหาวิทยาลัยก็มีโควตาคนพิการ จะมีคณะให้เลือกเข้าไปสอบ ไปสัมภาษณ์ อย่าง รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ก็แอบเล็งไปทางนั้นแล้ว เพราะคณะด้านสายวิทย์มีน้อยมาก คือผมติดต่อไปหลายที่ แบบบอกเขาอยากเข้าวิศวะ คอมครับ หลายม.ก็บอกว่าไม่มั่นใจว่าจะสอนเราได้ขนาดนั้นไหม แต่วิทย์คอม ธรรมศาสตร์ ที่เขารับ ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งคือเขาอาจจะเคยมีประสบการณ์รับรุ่นพี่มาแล้ว เมื่อ 10 กว่าปี พี่เขาอยู่โครงการเด็กพิการที่เรียนวิทยาศาสตร์ ของสมเด็จพระเทพฯ แต่ผมก็เข้ามาโครงการ Portfolio ตามปกติ

Q13 : จำขั้นตอนการสมัคร การสัมภาษณ์ได้อยู่ไหม

A : ผมก็ลงทะเบียน mytcas ก่อน แล้วก็ส่ง Portfolio ไปตามขั้นตอนปกติเลย แล้วเขาก็โทรมาว่าได้สัมภาษณ์ เขาสัมภาษณ์ผ่าน Zoom ตามปกติเลยครับ ตอนแรกเขาก็ให้ผมแนะนำตัว ชื่อ โรงเรียนที่สังกัด แล้วก็บอกตั้งแต่แรกแบบ พอดีผมเป็นนักเรียนที่พิการทางการเห็นตั้งแต่กำเนิด เขาก็ดูตกใจนิดหน่อยครับ จากนั้นก็ถามปกติครับ ทำไมถึงอยากเรียนที่นี่ ต้องเตรียมตัวกับการเรียนยังไงบ้าง อุปสรรคที่คิดว่าจะต้องเจอ ผมก็บอกไปครับมีปัญหาเรื่องการมองกราฟ ภาพที่ฉายบนเจ็คเตอร์ บนสไลด์ แล้วก็มีถามวิธีการเรียน ถามเล่นคอมยังไง ก็อธิบายไปว่ามีโปรแกรม screen reader ช่วยอ่านอยู่

Q14 : รีวิวการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย

A : ตอนนี้เริ่มลงเรียนวิชาทางวิชาชีพเพิ่มขึ้น ส่วนตัวผมคิดว่ายังยากอยู่ อาจจะเพราะว่าผมไม่ใช่คนที่มีพื้นฐานคณิตศาสตร์สูงเท่าไหร่ คือคอมมันจะต้องจำเป็นเก่งพื้นฐานคณิตศาสตร์นิดนึง ดังนั้นการเรียนโค้ด การเรียนคณิตศาสตร์ ผมเลยอาจจะต้องใช้เวลา และความพยายามของตัวผมค่อนข้างสูง ซึ่งผลที่ตามมาคือมันเหนื่อย และบีบคั้นผมพอสมควร แต่ก็ยังดีที่มีงาน มีกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเป็นยาฮีล เช่น นักดนตรี (เล่นเปียโน) ของ TU Folksong ด้วย

พี่โอ๊ป ขณะแสดงดนตรี
พี่โอ๊ป ขณะแสดงดนตรี

Q15 : รีวิวการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

A : ที่ธรรมศาสตร์ จะมีเส้นสีเหลืองๆ หรือเบรลล์บล็อก ที่เป็นไกด์ไลน์ให้กับคนพิการทางด้านสายตา นอกเหนือจากนั้นก็มีเพื่อนๆ ผมมีเพื่อนดีครับ ให้พาไปนู้นไปนี่ แต่ถ้าเดินทางไกลๆ หน่อยก็จะเรียกวินมอเตอร์ไซค์ไปส่งได้ ส่วนรถ EV มันแอบยาก เพราะถ้าไม่มีคนยืนอยู่ก็จะไม่รู้ว่าสายไหนมา

Q16 : มหาวิทยาลัยอำนวยความสะดวกในการเรียนของนักเรียนพิการอย่างไรบ้าง

A : มหาวิทยาลัยจะมีศูนย์บริการคอยช่วยเหลือนักศึกษาพิการ อย่างเช่น ถ้าไฟล์ที่เรียนมาเป็น PDF ผมก็ต้องเอาไปแปลงเป็น word ก่อนถึงจะอ่านได้ เอาไฟล์นี้ไปให้ศูนย์บริการนักศึกษาพิการแปลงให้ บางครั้งก็มีอาสา มีคนมาช่วยติวให้ด้วย

Q17 : ในความคิดเห็นของโอ๊ป คิดว่าแต่ละมหาวิทยาลัย เปิดกว้างและให้โอกาสในการรับสมัครนักเรียนพิการแค่ไหน

A : โอกาสเริ่มเข้ามาเรื่อยๆ ครับ แต่การเปิดกว้างในภาพรวม ไม่ว่าจะพิการประเภทไหนก็ตาม ผมว่ายังน้อยอยู่ ส่วนใหญ่ก็จะมีมหาวิทยาลัยที่เจาะจงเปิดรับนักเรียนพิการ อันนั้นก็จะเห็นได้ช้ด แต่ก็จะมีมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เปิดรับ ไม่เคยมีคนพิการเข้าไปเรียน ก็จะมีความยาก ทั้งที่เขาจะต้องปรับตัวเองด้วย และเราที่จะต้องไปติดต่อไปศึกษา เขายังไม่เคยรับมือกับคนพิการอะไรแบบนี้ ผมก็เข้าใจนะ แต่ก็..ยังไม่มีโอกาส ไม่มีตัวเลือกให้กับคนพิการขนาดนั้น

Q18 : คาดหวังอะไรในการเรียนมหาวิทยาลัยอีกบ้าง

A : คาดหวังให้ทั้งผม ทั้งสาขา เข้าใจ แล้วก็ support ส่งเสริมกันได้ ในแง่มุมของความเข้าใจ สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างอื่น การเรียนให้ทันเพื่อน ให้เข้าเนื้อหาไปพร้อมๆ กัน มันยังต้องปรับกันอีกเยอะ ทั้งผมเองด้วย อยากให้ตัวเองเก่งด้วย

Q19 : ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนๆ น้องๆ รุ่นต่อไป

A : มองในภาพรวมของน้องๆ ไม่ได้ขีดเส้นว่าจะเป็นคนพิการ หรือคนปกติทั่วไป ผมว่าคนแต่คนจะมีความสามารถเป็นของตัวเองอยู่แล้วครับ แค่น้องๆ พยายามหาเป้าหมายให้เจอ และมุ่งมั่นตั้งใจไปกับมัน ผมว่ายังไงทุกคนเจอเส้นทางที่ใช่ แล้วตัวเองชอบ ก็จะสามารถผ่านไปสิ่งที่กำลังเจอได้ ทั้งการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย หรืออะไรต่างๆ นานา ที่กำลังเจอ หรือเป็นอุปสรรคอยู่ ถ้าเกิดใครท้อ ก็พยายามคิดบวกให้เยอะ หา podcast อะไรที่สามารถส่งเสริม mindset ตัวเองให้ fresh ตลอดเวลา และที่สำคัญเลย คือความตั้งใจ และความอดทนกับเป้าหมายของเรา

 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะน้องๆ ได้รับเทคนิค และแรงบันดาลใจกลับไปประยุกต์ใช้เยอะเลยใช่ไหมล่ะคะ แล้วคราวหน้าพี่แนนนี่จะพารุ่นพี่คนไหน มาแชร์เทคนิคการเตรียมตัวสอบ หรือส่งต่อแรงบันดาลใจดีๆ ให้กับน้องๆ รอติดตามกันได้เลยค่ะ

พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น