สวัสดีค่ะน้องๆ ปัจจุบันแต่ละมหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรที่ผสมผสานการเรียนรู้หลากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน และหนึ่งในหลักสูตรที่หลายคนจับตามอง นั่นก็คือ “แพทย์ 2 ปริญญา 6 ปี” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่าง “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต + วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิศวกรรมชีวเวช” ซึ่งล่าสุด! ก็เตรียมฉลองให้กับบัณฑิตรุ่นแรกได้แล้ว
วันนี้ TCAS Idol ได้โอกาส คว้าตัว 2 ว่าที่บัณฑิตป้ายแดง จากหลักสูตรแพทย์ - วิศวกรรมชีวเวช มาพูดคุยเทคนิคการเตรียมตัวสอบเข้า “แพทย์ จุฬาฯ” พร้อมแชร์ประสบการณ์การเรียนควบ 2 ปริญญา 6 ปี จะหนักแค่ไหน มีวิธีการรับมืออย่างไร ตามไปดูกันเลย
พี่อู๋ - พี่ลิลลี่ 2 นิสิตแพทย์-วิศวะชีวเวช จุฬาฯ รุ่นแรก! จับมือแชร์เทคนิคสอบเข้า-เรียนหลักสูตร 2 ปริญญา
Q1 : แนะนำตัวคร่าวๆ ให้ชาว Dek-D รู้จักกันหน่อย
อู๋ - นศ.พ.สุวินัย จิระบุญศรี จบ ม.ปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนการเรียนวิทย์-คณิต-ภาษาเยอรมัน ปัจจุบันเรียนจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต-วิศวกรรมมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช เข้าแพทย์รอบ กสพท คะแนน 80.33
ลิลลี่ - นศ.พ.วีรยา พฤกคณากุล จบ ม.ปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนการเรียนวิทย์-คณิต ปัจจุบันเรียนจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต-วิศวกรรมมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช เข้าแพทย์ด้วยรอบ Portfolio
Q2 : ย้อนกลับไป อะไรคือแรงบันดาลใจในการเรียนแพทย์
อู๋ - จริงๆ มีหลายข้อเลยครับ ข้อแรกคือ ชอบเกี่ยวกับพวกชีววิทยา วิทยาศาสตร์การแพทย์อะไรแบบนี้ เหมือนมีความสงสัยว่า ทำไมร่างกายมนุษย์ซับซ้อนมากเลย ทำไมถึงเกิดโรคได้ มันมีกลไกอะไรในการเกิดโรคบ้าง ก็เลยอยากเรียนส่วนนี้ และอีกอันนึงก็คือ เห็นคุณพ่อคุณแม่เป็นแพทย์คู่ เห็นทำงานมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เห็นว่า เป็นงานที่เปลี่ยนชีวิตคนไข้ได้ ช่วยให้คุณภาพชีวิตคนคนนึงดีขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ครับเลยสนใจ
ลิลลี่ - เดิมทีหนูค่อนข้างชอบวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว จริงๆ ไม่ได้ชอบชีววิทยามากที่สุด ชอบเคมี-ฟิสิกส์มากกว่า แต่ตอนนั้นมีคนที่บ้านป่วยเยอะ หนูก็เลยมีความคิดว่า อยากเป็นคนที่รักษาได้ เข้าใจตัวโรค เลยตัดสินใจมาเรียนแพทย์
Q3 : เริ่มเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง
อู๋ - เริ่มเตรียมตัวอ่านหนังสือ เรียนพิเศษมาอยู่แล้วเรื่อยๆ แต่เริ่มติวเข้มๆ ตอน ม.5 เทอม 2 ปลายๆ จะขึ้น ม.6 ครับ ผมก็เริ่มแพลนจากคะแนนปีก่อนๆ หน้าว่า แพทย์ จุฬา ตัดที่เท่าไหร่ แล้วก็มาคำนวณแยกรายวิชาว่าวิชาไหนถนัด วิชาไหนไม่ถนัด แล้วก็กำหนดเป้าหมายคะแนนว่าแต่ละวิชาเท่าไหร่ ตามความสามารถของเราในวิชานั้นๆ แล้วเราก็เน้นฝึกทำโจทย์ไปเรื่อยๆ อันไหนที่ไม่รู้ ก็ไปเรียนเพิ่ม อันไหนที่ไม่เข้าเป้า ก็เน้นอ่านอันนั้นเยอะหน่อยครับ (แล้วมีเน้นวิชาไหนก่อนไหม?) ผมเตรียมทุกอันไปพร้อมๆ กันครับ แต่ก็บางอันที่ผมถนัด เช่น ชีวะ กับอังกฤษ ผมก็ skip เนื้อหาไป เริ่มทำโจทย์เร็วกว่าวิชาอื่น เป็นต้นครับ จริงๆ การที่เอาโจทย์ของวิชาที่เราทำได้แน่ๆ ขึ้นมาทำก่อน ก็เป็นเหมือนวิธีสร้างเสริมกำลังใจอย่างหนึ่ง อันนี้เรารู้สึกเซฟละ จะได้ไม่ไปพะวักพะวนกับวิชาอื่นๆ ด้วยครับ
พอช่วงโค้งสุดท้าย 2-3 เดือนก่อนสอบ ก็เป็นตะลุยโจทย์อย่างเดียวเลยครับ กลับไปทวนเนื้อหานิดๆ หน่อยๆ เองครับ ผมก็หาโจทย์จากทุกที่เลยครับ หาจากที่ไหนได้ก็เอามาฝึกหมดเลยครับ
ลิลลี่ - ช่วงแรกๆ หนูก็เรียนพิเศษ ตามสถาบันกวดวิชาปกติ ไม่ค่อยได้เรียนเยอะมาก ส่วนใหญ่ก็คือเรียนคอร์สติวสอบเข้าเลย ไม่ได้เรียนคอร์สที่ต้องเก็บทุกปีๆ แต่พอใกล้ๆ ช่วงจะสมัครสอบ เห็นเปิดรอบ Portfolio ก็ไปเตรียมตัวอ่านพวกที่ต้องใช้ยื่น BMAT กับ IELTS เตรียมตัวเพิ่มขึ้นมาค่ะ เท่าที่จำได้เตรียม BMAT ประมาณช่วงปิดเทอมเดือนนึง วันละครึ่งวันไปเรื่อยๆ ซื้อหนังสือโจทย์มานั่งทำ จับเวลาเอาเอง ส่วน IELTS ก็เตรียมประมาณ 2 สัปดาห์ เหมือนตอนสมัคร จะมีให้ซื้อ simulation (ตัวทดลอง) ให้นิดหน่อย ก็ซื้อมาฝึกเอง ไม่ได้กวดวิชาเลยค่ะ แต่ตอนเด็กๆ หนูเรียน English Program มา ก็เลยพอมีพื้นฐานภาษาอังกฤษอยู่บ้างค่ะ
หนูเตรียม Portfolio ตอนใกล้สมัครมากแล้ว เลยไม่ได้ทำกิจกรรมเพิ่ม ก็ยื่นเท่าที่มีค่ะ แต่ที่โรงเรียนก็มีทำกิจกรรม พวกจิตอาสา การแข่งขันบ้างอยู่แล้ว อย่างห้องหนูเป็นห้องเด็กวิทย์ ทุกปีก็มีจัดค่ายสอนวิทยาศาสตร์ให้เด็กต่างจังหวัด เป็นกิจกรรมต่อเนื่อง 3 ปีด้วย ก็ใส่ตรงนี้ สำหรับการแข่งขัน ของหนูเป็นแข่งสอวน. สาขาวิชาเคมีมา ไม่ค่อยตรงสายเท่าไหร่ค่ะ
Q4 : เทคนิคเตรียมตัวสอบ กสพท
อู๋ - มันจะกลับไปที่รากฐานตอนแรกที่เราดูคะแนนของปีก่อนๆ แล้วเราคำนวณ ผมก็มีคะแนน margin เอาไว้ เช่น ปีก่อนหน้าผม จุฬาฯ ตัดที่ 74 ผมก็จะคิด worst case scenario ว่า เขาอาจจะคะแนนเฟ้อ เป็น 76 เราก็ควรมี save zone ไว้ที่ 78 ก็เผื่อเหลือเผื่อขาด เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น วันนั้นป่วย ทำคะแนนได้ไม่ดี ผมก็จะเล็งไว้ที่ 80-82 มาตลอด พอถึงวันเข้าห้องสอบจริง อาจจะมีปัจจัยอื่นที่ควบคุมไม่ได้อีก คะแนนจะร่วงมาก ร่วงน้อยยังไง ก็จะ save อยู่ แล้วตอนฝึกทำข้อสอบ ผมก็จับเวลาจริง บางทีก็มีไปนั่งทำกับเพื่อน จับเวลาด้วยกัน แล้วพอทำเสร็จก็มา discuss กันว่าทำไมข้อนี้ตอบไม่ตรงกัน
Q5 : ทำไมถึงเลือกเรียนหลักสูตรควบสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช
อู๋ - โครงการนี้มาประมาณปี 2 ปี 3 ครับ ตอนแรกที่เข้าแพทย์ จุฬาฯ มา ยังไม่มีเลยครับ อธิบายหลักสูตรคร่าวๆ ก่อนครับ คือตัวหลักสูตรนี้ จะรับเราตอนอยู่ปี 5 จบตอน ปี 6 ก็คือเราจะเรียน ป.โท ควบไปด้วย 2 ปี แต่ก่อนหน้าปี 5 ก็จะมีอะไรให้ทำ เช่น ปี 3 เราก็ต้องลงเรียนวิชาเลือกที่เป็นของวิศวะ เพื่อปูพื้นฐานไปก่อนว่า วิศวะมีวิธีคิดยังไง แล้วช่วงปี 4 อาจจะใช้เวลาช่วงวิชาเลือก หรือนอกเวลาเรียนปกติ ประสานงานกับอาจารย์ฝั่งวิศวะ ว่าโปรเจควิจัยเราจะทำอะไร จะทดสอบอะไรบ้าง จะทำ lab อะไรบ้าง แล้วจะต้องเรียนอะไรเพิ่มบ้าง ก็คือต้องเตรียมมาตลอด ไม่ใช่มาเริ่มตอนปี 5
จริงๆ ตัวผมเองตัดสินใจเข้าโครงการนี้ตั้งแต่แรกเลยครับ แต่มา 100% เลยตอนปี 4 ครับ เพราะพอได้ยินตัวหลักสูตร ก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างว้าวนะครับ เราเป็นหมอ ปกติเราก็จะเรียนว่า เจอคนไข้มา รักษายังไง แต่อันนี้มันเหมือนเปิดมุมมองให้เรา มีอีกบทบาทนึงก็คือ ไม่ใช่แค่รักษายังไง แต่ทำยังไงให้การรักษามันดีขึ้น แล้วหัวข้อที่ทางวิศวะมีให้ ก็เป็นนวัตกรรมล้ำๆ ทั้งนั้นเลย เช่นอย่างของผม เลือกเรียนเป็น “การพัฒนาระบบนำส่งยา” หลักสูตรของผมก็จะมี bioinformatics เหมือนเป็นอะไรที่เคยเห็นใน text book แต่ไม่เคยได้เข้าไป involve ก็เลยเป็นเรื่องใหม่มา เป็นสิ่งที่น่าสนใจและดึงดูดครับ
ตัวงานวิจัยของผมที่ทำ คือ การพัฒนา hydrogel ฉีดข้อเข่า หลักการคิดของมันคือ คนไข้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อม ก็จะปวดมาก เดินไม่ไหว ข้อติด ข้อยึด ซึ่งตอนนี้ข้อเข่าเสื่อมไม่มีวิธีรักษา จะมีวิธีบรรเทาได้ ด้วยการฉีดยา ฉีดเกล็ดเลือดพลาสมาเข้าไป เพื่อให้กระดูกอ่อนซ่อมแซม แต่ทีนี้ตัวเกล็ดเลือด ออกฤทธิ์ได้ไม่นาน พอฉีดไปได้ไม่นานก็โดนร่างกายเขี่ยทิ้งแล้ว โจทย์ของผมก็คือ พัฒนาระบบส่งยายังไงที่ส่งเกร็ดพลาสมายังไง ให้ออกฤทธิ์นานๆ 2 - 3 อาทิตย์ ไม่ใช่ 2 - 3 ชั่วโมงอะไรแบบนี้ครับ
หลักคิดพื้นฐานของวิศวะ ก็คือ เรามองที่ปัญหา แล้วหาวิธีมาแก้ไขมัน ซึ่งปัญหานี้เป็นได้หลายอย่างเลย ในเชิงเครื่องกล หรือเชิงชีวเวชศาสตร์ก็ได้ เช่นบอกว่า ยาตัวออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเลย จะทำยังไงให้ออกฤทธิ์นานขึ้น เพราะฉะนั้นวิศวกรรมชีวเวช ต่างจากวิศวะอื่นๆ ที่เรากลับมาดูว่าโจทย์อะไรที่เกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์ แล้วมีเทคโนโลยีอะไรเราพอจะเอามาแก้ได้ อย่างเช่น ระบบนำส่งยา, การออกแบบยา หรือถ้าใกล้พวกเครื่องกลเข้ามาหน่อย ก็จะเป็นแขนกล เพื่อให้คนไข้อ่อนแรง เดินไม่ได้ หรือเส้นเลือดในสมองแตก ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายมากขึ้น หรือถ้าเป็นสาย data ก็เอาข้อมูลโปรตีน DNA RNA มาวิเคราะห์ว่าตัวไหนที่ทำให้เกิดโรค แบบนี้ก็เป็นสายวิศวะเหมือนกัน
ลิลลี่ - ตอนปี 1 ก็เรียนแพทย์ปกติ ประมาณปี 2 - 3 ตอนนั้นอาจารย์มาเล่าให้ฟังว่ามีโครงการที่ co กับคณะวิศวกรรม เกี่ยวกับ Biomedical Engineering แล้วก็เปิดให้ลองเรียน elective (วิชาเลือก) ก่อนว่าชอบหรือเปล่า หนูลองเรียนเทอมนึง เป็นวิชาที่ให้ลองทำ proposal คิด project ขึ้นมาและนำเสนอค่ะ พอประมาณปี 5 ก็จะสมัครเข้าโครงการนี้อีกทีนึง โดยเอา proposal วิจัย มายื่นแล้วก็สัมภาษณ์ค่ะ
หลังจากนั้นก็เลือกเข้ามาอยู่ในโครงการนี้ หนูรู้สึกว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจ เพราะว่าเป็นการ co ระหว่างแพทย์ แล้วก็ฟิสิกส์-วิศวกรรม มีการเน้นคิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ นวัตกรรม และงานวิจัย โดยส่วนตัวก็ชอบฟิสิกส์อยู่แ ล้วด้วย แล้วก็คิดว่ามันเป็นโอกาสที่จะหาไม่ได้อีกแล้ว ในแง่ที่ว่าเราสามารถนำความรู้ทางการแพทย์และวิศวกรรมมาต่อยอดกัน เพื่อคิดทำสิ่งใหม่ๆ และยังเป็นโอกาสในการต่อปริญญาโทอีกด้วย แล้วก็การที่อยู่โครงการนี้จะได้เรียนรู้วิธีคิดแบบวิศวะ ที่ในทางการแพทย์อาจไม่ได้ถนัดเท่า อีกเหตุผลนึงคือ หนูก็เริ่มทำ proposal ไประดับนึงแล้ว อยากต่อยอดให้มันสำเร็จ (เป็นยังไงเล่าให้ฟังหน่อย) ของหนูทำเป็น drug delivery system เป็นระบบนำส่งยาของยาแก้ปวด จะใช้เป็นโปรตีนของไหมมาช่วยนำส่งยา ให้ค่อยๆ ปล่อยยาช้าๆ สามารถฉีดครั้งเดียวแก้ปวดได้นานขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วย Chronic pain ค่ะ
Q6 : แบ่งเวลากับการเรียนควบฯ อย่างไร
อู๋ - การแบ่งเวลา มองอีกมุมคือเป็นข้อดีที่ทำให้เราได้ฝึก เพราะฝั่งวิศวะ เราต้องทำ Lab เราต้องมีการวางแผนว่า Lab อันนี้ต้องทำวันไหน ห่างกันกี่ชั่วโมง แล้วต้องเอาไปลงช่วงเดือนไหนที่ไม่ตรงกับตารางฝั่งคณะแพทย์ ซึ่งจริงๆ ตรงนี้คณะแพทย์ ก็มีตารางเอื้ออำนวยให้เรา มีช่วงวิชาเลือกที่เราว่างๆ สามารถเอาไปลงวิชาอะไรก็ได้ ก็เอาไปลงงานวิจัยของฝั่งวิศวะ ก็ทำให้เราจัดการเวลาได้ ช่วงที่ไปต่างจัดหวัดเรารู้แล้วว่า กลับมาทำ Lab ไม่ได้แน่ๆ เราก็สลับไปทำเรื่องทฤษฎี อ่านงานวิจัยของคนอื่น เพื่อสรุปมาเป็น literature review หรืองานอันไหนที่เป็น remote ได้ ก็ย้ายไปทำในช่วงนั้น
ลิลลี่ - หลักๆ หนูจะทำ Lab ที่ต้องเข้าห้อง Lab ตอนช่วงที่มีวันหยุด และในวิชา elective ที่ลงไว้ตอนปี 5 เอามาทำวิจัย แล้วก็ตอนที่ทำวิจัยมีอาจารย์ หรือพี่ๆ ที่ Lab มาสนับสนุนให้คำแนะนำ ก็คิดว่าช่วยร่นระยะเวลาในการทำไปได้
จริงๆ หนูไม่ได้มีวิธีที่แบ่งเวลาที่พิเศษมาก อย่างช่วงที่ขึ้นวอร์ด อยู่ในโรงพยาบาลก็จะทำงานกับคนไข้ให้เต็มที่ กลางคืนพยายามปั่นวิจัย หรือถ้าขึ้นวอร์ดไม่ได้ยุ่งมาก หลังเลิกก็เข้า Lab ทำวิจัย แต่โดยรวมก็แบ่งเวลาว่างไปทำ Lab พอสมควร
Q7 : ต้องเรียน 2 อย่างไปด้วยกัน หนักไหม เครียดไหม รับมือยังไง
อู๋ - หลักสูตรนี้เรียนหนักขึ้นเป็นธรรมดา เครียดมากขึ้นเป็นธรรมดา แต่เวลาที่เราสละไปเพิ่มมากขึ้น เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะเวลาเราเรียนหมอต้องลองนึกภาพว่า เราเห็นคนไข้ป่วย คนไข้เสียชีวิต เป็นเรื่องปกติทุกวัน ซึ่งเห็นแล้วก็รู้สึกเศร้า แต่การที่เราได้มาเรียนฝั่งวิศวะด้วย ผ่านการวิจัย ได้พัฒนาองค์ความรู้ พัฒนานวัตกรรมใหม่ที่ช่วยคนไข้ได้ ก็ทำให้การเรียนแพทย์ มี motivation มากขึ้น เรียนสนุกขึ้น เราไม่หมดหวังนะ โรคๆ นี้วันนึงเราจะรักษาได้ อะไรที่ยังรักษาไม่ได้ อนาคตเราอาจพัฒนาได้ และเป็นเราที่ได้พัฒนา ในทางกลับกันการเรียนหมอก็ช่วยการเรียนวิศวะให้สนุกขึ้น เพราะว่าเราเข้าไปนั่งทำ Lab ก็ไม่ได้รู้สึกว่า เอ้ย เราทำอะไรอยู่ ทำแบบนี้จะเป็นประโยชน์กับใครหรือเปล่า แต่จะเห็นว่าคนไข้เป็นโรคนี้ วันนึงเราอาจจะสามารถช่วยเขาได้
ลิลลี่ - ตอนทำงานในโรงพยาบาล แค่เกี่ยวกับการแพทย์อย่างเดียวก็แทบแย่แล้วค่ะ (หัวเราะ) แต่หนูรู้สึกว่าถ้าเราตั้งใจจะทำแล้ว เราก็ทำให้เต็มที่ ถ้าเครียดระหว่างที่เราทำ ก็อย่างน้อยมีเพื่อนๆ ที่อยู่ในโครงการนี้เหมือนกัน ก็สามารถพูดคุยกันได้ มีเพื่อนๆ คนอื่นในคณะที่ต้องทำวิจัยเหมือนกัน ก็คล้ายๆ กัน ประสบอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน หรือว่าสอบถาม ปรึกษาอาจารย์ หรือพี่ๆ ใน Lab คือทุกคนก็ใจดี ยินดีให้ความช่วยเหลือค่ะ
Q8 : รีวิวหลักสูตรเรียนควบฯ หน่อย
ลิลลี่ - หลักสูตรนี้ค่อนข้างตอบโจทย์สำหรับคนที่ชอบอะไรที่เป็นแนวๆ ฟิสิกส์ แนวๆ วัสดุศาสตร์ อย่างส่วนตัวหนูคิดว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่ เหมือนได้ทำสิ่งประดิษฐ์ เพราะวิจัยหลายๆ แบบ ก็คือ เก็บข้อมูลมา analyze หรือว่าทำในสัตว์ เหมือนอันนี้ได้ลองคิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่สนุก แล้วก็ได้เรียนวิธีการของทั้งในแนวการแพทย์ ทั้งของวิศวะ
ตอนเรียนป.โท วิศวะ ตอนที่ได้ลองคิดว่า เราอยากทำอะไรขึ้นมา วางแผนจะทำยังไง แล้วพอได้เห็นสิ่งที่เราอยากทำขึ้นมาแล้วเป็นรูปเป็นร่าง ก็คิดว่าเป็นตอนที่สนุกที่สุด อย่างตอนที่เครียดก็มีบ้างเวลาทำ Lab เพราะก็จะมีตอนที่สำเร็จ แล้วบางอันก็ไม่สำเร็จ ก็ต้องทำใหม่อะไรแบบนี้ โดยรวมก็เป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ได้คิดนอกกรอบ ลองทำวิจัยพิสูจน์สิ่งที่คิดให้สำเร็จ
(ถ้ารุ่นน้องกำลังตัดสินใจเลือกโครงการนี้มาขอคำแนะนำ) คิดว่าถ้าเป็นคนที่ชอบคิดสิ่งประดิษฐ์ หรืออะไรที่เป็นฟิสิกส์ หรือชอบทำงานวิจัยอะไรแบบนี้ น่าจะสนใจโครงการนี้และสามารถทำได้ แต่ว่าถ้ายังไม่แน่ใจ หรือกังวลว่าจะทำได้ไหม ก็ลองลง elective สักเทอมดูว่า สามารถเข้ากับสิ่งนี้ได้หรือเปล่า ลองทำ proposal แล้วคิดว่าทำไหวหรือเปล่า ยังชอบอยู่หรือเปล่า เพราะคิดว่าถ้ามีความชอบ และมีความมุ่งมั่นก็สามารถแบ่งเวลาและจัดหาเวลาได้ค่ะ
Q9 : เรียนหลักสูตรแพทย์ควบป.โท แบบนี้ ต้องใช้ทุนไหม
อู๋ - ส่วนของป.โท เป็นรุ่นแรก เขาก็มีทุนสนับสนุนเป็นพิเศษ ยกเว้นค่าเทอม และมีให้ทุนสำหรับวิจัย เป็นทุนให้เปล่า ไม่ต้องใช้ทุน แต่ของหลักสูตรแพทย์ ก็ใช้ทุนตามปกติเลยครับ แต่ผมได้รับอีกทุนพระราชทานฯ ให้ไปทำงานวิจัยต่อที่อเมริกา 1 ปี ซึ่งการไปตรงนั้นก็นับเป็นการใช้ทุนแพทย์ไปในตัวครับ
แต่ถ้าพูดถึงทุนการศึกษา ทางคณะแพทย์ ก็มีทุนที่สนับสนุนให้รายปีเหมือน แล้วก็ช่วงที่เราต้องไปฝึกงาน คณะก็มีทุนสนับสนุนให้เราไปฝึกงานต่างประเทศได้เหมือนกัน ไปที่ไหนก็ได้บนโลก ประมาณ 1 - 2 เดือน เช่น เยอรมัน สก็อตแลนด์ สวีเดน อเมริกา เป็นต้น แล้วก็นำเกรดมาคิดหน่วยกิต
ลิลลี่ - เหมือนของหนู เขาจะมีเปิดให้สมัครมาขอทุนเรียนต่อป.โท หนูกับเพื่อนๆ ในโครงการ ได้ทุนเรียนต่อป.โท ครอบคลุมจบปี 6 พอดี แล้วก็มีทุนวิจัย ที่ขอจากคณะแพทย์ เพื่อมาทำงานวิจัย ทั้งหมดเป็นทุนให้เปล่า มีเงื่อนไขแค่ว่าต้องตีพิมพ์ และจบภายในเวลาที่กำหนด
Q10 : เห็นว่ามีแผนต่อแพทย์เฉพาะทาง แบบนี้หลักสูตรนี้ มีส่วนช่วยอย่างไรบ้าง
ลิลลี่ - Biomedical Engineering สามารถ integrate กับไม่ว่าจะเฉพาะทางด้านไหนทางการแพทย์ก็สามารถทำได้ การที่เรามีความรู้ด้านวิศวกรรมชีวเวช สามารถนำแนวความคิดที่ค่อนข้างเปิดกว้าง และเป็นระบบของวิศวะ ไปประยุกต์กับการเรียนอื่นๆ หรือการต่อเฉพาะทางได้ แล้วก็การที่เราเคยฝึกแบ่งเวลามาอย่างยิ่งยวด ตอนเรียน 2 ปริญญา ก็น่าจะช่วยในการต่อในอนาคตได้
Q11 : ฝากถึงน้องๆ ชาว Dek-D ที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย
อู๋ - จริงๆ แล้วเดี๋ยวนี้เราเห็นอยู่ว่าโลกเปลี่ยนเร็ว มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มา มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน น้องๆ อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องเลือกเส้นทางชีวิต ก็อยากให้หูตากว้างไกล ดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นในโลกบ้าง แล้วก็อย่าจำกัดตัวเอง แบบเราสอบเข้าแพทย์ต้องเป็นแพทย์ที่ตรวจคนไข้เท่านั้น จริงๆ เราสามารถทำอย่างอื่นได้อีกเยอะมาก ลองเข้าเรียนรั้วโรงเรียนแพทย์ จะเห็นว่า เราไปเป็นแพทย์วิศวะก็ได้ แพทย์วิจัยก็ได้ แพทย์ที่ทำเรื่องสาธารณสุขก็ได้ มีหลายอย่างที่ทำได้มาก จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่แพทย์ คิดว่าเป็นทุกสาขาแหละครับ มันทำอะไรได้มากกว่า traditional career path ปกติแน่นอนครับ
ลิลลี่ - อยากให้เรียนอะไรที่ตัวเองชอบจริงๆ แบบไม่ต้องเป็นตาม norm ของสังคม อยากให้ทำในสิ่งที่ชอบ เพราะสุดท้ายตอนเราเรียนต้องอาศัยความมุ่งมั่น และความตั้งใจของเราเอง
โอ้โห ขอเสียงปรบมือให้พี่ๆ เลย สำหรับใครที่สนใจหลักสูตร 2 ปริญญา ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากโครงการนี้แล้ว ยังมีอีกหลายสาขาวิชาที่เปิดหลักสูตรควบกับคณะแพทย์ แต่จะมีอะไรบ้างต้องรอติดตามกันนะคะ
0 ความคิดเห็น