ชวนส่อง 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ศิลปศาสตร์ มธ.” มีเกือบ 20 สาขา และไม่ได้มีแค่ภาษา!

สวัสดีน้อง ๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ  เชื่อว่า  “คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” คงเป็นคณะในฝันของใครหลายคน และยังเป็นคณะยอดฮิตของน้อง ๆ สายศิลป์อีกด้วย วันนี้พี่ ๆ ชาว Dek-D เลยถือโอกาสแชร์เรื่องจริงจากพี่ ๆ ชาวสินสาด (ศิลปศาสตร์) มธ.  ว่าที่นี่เรียนอะไรบ้าง  มีกิจกรรมอะไรบ้าง สภาพแวดล้อมเป็นยังไง ไปทำความรู้จักกับคณะนี้พร้อม ๆ กันค่ะ

ชวนส่อง 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ศิลปศาสตร์ มธ.” มีเกือบ 20 สาขา และไม่ได้มีแค่ภาษา!
ชวนส่อง 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ศิลปศาสตร์ มธ.” มีเกือบ 20 สาขา และไม่ได้มีแค่ภาษา!

ชวนส่อง 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ศิลปศาสตร์ มธ.” มีเกือบ 20 สาขา และไม่ได้มีแค่ภาษา!

1.  “ศิลปศาสตร์” ไม่ได้เรียนวาดรูป และไม่ได้เรียนแค่ภาษา

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ศิลปศาสตร์” ถึงจะมีคำว่า “ศิลปะ” ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเรียนวาดรูประบายสี  (ถ้าเป็นคณะศิลปกรรมก็อีกเรื่องหนึ่ง) 

จริง ๆ แล้วคณะศิลปศาสตร์เป็นคณะที่มีความหลากหลายและครอบคลุมหลายด้านมาก  ไม่ได้เรียนแค่ภาษาอย่างเดียว แต่ยังเรียนเกี่ยวกับมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วรรณกรรม วัฒนธรรม ฯลฯ อีกด้วย

ศิลปศาสตร์ มธ. มีสาขาอะไรบ้าง? บอกเลยว่าไม่ได้มีแค่ภาษา

หลักสูตรภาคปกติ  (ศึกษาที่ มธ.รังสิต)

  1. สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
  2. สาขาวิชาประวัติศาสตร์
  3. สาขาวิชาปรัชญา
  4. สาขาวิชาภาษาศาสตร์
  5. สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ
  6. สาขาวิชาสเปนและลาตินอเมริกันศึกษา
  7. สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส
  8. สาขาวิชาภาษาเยอรมัน
  9. สาขาวิชาภาษารัสเซีย
  10. สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมจีน
  11. สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น
  12. สาขาวิชาภาษาไทย
  13. สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
  14. สาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ
  15. สาขาวิชาจิตวิทยา

โครงการพิเศษ (ศึกษาที่ มธ.ท่าพระจันทร์)

  1. สาขาวิชาการแปลและล่ามในยุคดิจิทัล (หลักสูตรภาษาไทย)
  2. สาขาวิชาอาณาบริเวณศึกษา (หลักสูตรภาษาไทย)
    • วิชาเอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
    • วิชาเอกรัสเซียและยูเรเชียศึกษา
    • วิชาเอกเกาหลีศึกษา
  3. สาขาวิชาอังกฤษ–อเมริกันศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ)
  4. สาขาวิชาการสื่อสารเชิงธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ)
    • วิชาเอกภาษาอังกฤษเชิงธุรกิจ
    • วิชาเอกภาษาจีนเชิงธุรกิจ
    • วิชาเอกภาษาญี่ปุ่นเชิงธุรกิจ
    • วิชาเอกภาษาเกาหลีเชิงธุรกิจ

หมายเหตุ  อ้างอิงจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี (หลักสูตรปรับปรุง 2566) คลิก

2. เปิดรับรอบไหนบ้าง

2.1 ข้อมูลการรับเข้า TCAS67 สำหรับโครงการปกติและโครงการพิเศษ หลักสูตรภาษาไทย

สาขารอบ 1รอบ 2รอบ 3รอบ 4
1. บรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์--30-
2. ประวัติศาสตร์15-20-
3. ปรัชญา--35-
4. ภาษาศาสตร์--30-
5. ภาษาและวรรณคดีอังกฤษ--35-
6. สเปนและลาตินอเมริกันศึกษา5-20-
7. ภาษาฝรั่งเศส20-20-
8. ภาษาเยอรมัน15-10-
9. ภาษารัสเซีย--25-
10. ภาษาและวัฒนธรรมจีน--40-
11. ภาษาญี่ปุ่น--50-
12. ภาษาไทย25-15-
13. ภาษาอังกฤษ10-60-
14. ภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ30-30-
15. จิตวิทยา--60-
16. การแปลและล่ามในยุคดิจิทัล30-10-
17. อาณาบริเวณศึกษา
17.1 เอกรัสเซียและยูเรเชียศึกษา55-20-
17.2 เอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา70-30
17.3 เอกเกาหลีศึกษา30-10-

2.2 ข้อมูลการรับเข้า Inter Admission สำหรับโครงการพิเศษ หลักสูตรนานาชาติ (International Program)

สาขาInter Port 1Inter Port 2Inter Program Admission 1
1. วิชาอังกฤษ–อเมริกันศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ)302010
2. วิชาการสื่อสารเชิงธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ)
2.1 เอกภาษาอังกฤษเชิงธุรกิจ204030
2.2 เอกภาษาญี่ปุ่นเชิงธุรกิจ1082
2.3 เอกภาษาจีนเชิงธุรกิจ1082
2.4 เอกภาษาเกาหลีเชิงธุรกิจ1082

หมายเหตุ  อ้างอิงจากข้อมูลรับเข้า TCAS67 คลิก

3.  เรียนกี่ปี แล้วค่าเทอมเท่าไหร่

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทุกสาขาจะเรียนทั้งหมด 4 ปี ส่วนค่าเทอมจะแตกต่างกันไปตามแต่ละหลักสูตร

หลักสูตรภาคปกติ (ศึกษาที่ มธ.รังสิต)

  • 15,300 บาทต่อเทอม

โครงการพิเศษ (ศึกษาที่ มธ.ท่าพระจันทร์)

  1. สาขาวิชาการแปลและล่ามในยุคดิจิทัล (หลักสูตรภาษาไทย)
    • ประมาณ 82,500 บาทต่อปี
  2. สาขาวิชาอาณาบริเวณศึกษา (หลักสูตรภาษาไทย)
    • ประมาณ 82,500 บาทต่อปี
  3. สาขาวิชาอังกฤษ–อเมริกันศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ)
    • ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร  480,000 บาท
  4. สาขาวิชาการสื่อสารเชิงธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ)
    • ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 480,000 บาท

4. ปี 1-4 เรียนอะไรบ้าง

ต้องเรียนอะไรบ้าง 

ทุกสาขาจะมีแผนการเรียนเหมือนกัน คือ ต้องเรียนทั้งวิชาศึกษาทั่วไป (วิชาบังคับของ มธ.) วิชาเฉพาะ (วิชาแกนและวิชาเอก)  และวิชาเสรี

แต่สาขาที่อยู่ในหลักสูตรภาคปกติ  (ศึกษาที่ มธ.รังสิต) จะต้องเรียนวิชาโทเพิ่มด้วย ซึ่งจะเป็นวิชาในคณะหรือนอกคณะก็ได้   โดยวิชาทั้งหมดนี้เราสามารถจัดตารางเรียนเองได้ตั้งแต่ปี 1-4 

วิชาแกนที่หลักสูตรภาษาไทยทุกสาขาต้องเรียน

  • วิชาภาษาไทย
    • ท.291 การพัฒนาสมรรถภาพการเขียน
  • วิชาภาษาอังกฤษ
    • อ.211 การฟัง-พูด
    • อ.214 ทักษะการนำเสนอ
    • อ.221 การอ่านและการเขียนเชิงบูรณาการ

แผนการเรียนปี 1-4 แบบคร่่าว ๆ

  • ปี 1  วิชาศึกษาทั่วไปเป็นส่วนใหญ่ มีวิชาเฉพาะบ้าง
  • ปี 2 วิชาเฉพาะ (ทั้งวิชาแกนและวิชาเอกตัวพื้นฐาน) วิชาโทตัวพื้นฐาน
  • ปี 3  วิชาเฉพาะ (วิชาแกนภาษาอังกฤษและวิชาเอกตัวสูง ๆ) วิชาโทตัวสูง ๆ
  • ปี 4 วิชาเฉพาะ (วิชาเอกตัวสูง ๆ) วิชาโทตัวสูง ๆ วิชาเสรี
    • ตารางเรียนอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแผนการเรียนของแต่ละสาขา

หมายเหตุ  อ้างอิงจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี (หลักสูตรปรับปรุง 2566) 

  • หลักสูตรภาคปกติ (ศึกษาที่ มธ.รังสิต)  คลิก
  • โครงการพิเศษ (ศึกษาที่ มธ.ท่าพระจันทร์) คลิก

5. สภาพแวดล้อมการเรียนเป็นยังไง แล้วคณะนี้เรียนหนักไหม

บรรยากาศ 

  • วิชาของคณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคลาสเล็ก ๆ บางวิชาก็เรียนรวมกันทั้งเอก บางวิชาก็แบ่งเซคย่อยไปอีก บางทีก็มีเด็กโทมานั่งเรียนด้วย
  • ด้วยความที่เป็นคลาสเล็ก ๆ มีแต่เด็กเอกด้วยกันเอง บวกกับอาจารย์ (ส่วนใหญ่) เข้าถึงง่าย  ทำให้บรรยากาศค่อนข้างเป็นกันเอง ไม่ตึงเครียดมาก  (จะเครียดอีกทีก็ช่วงสอบเลย) 
  • แต่บางสาขาอย่างจิตวิทยา ก็จะมีรายวิชาที่เปิดเป็นเซคใหญ่พันคน  บรรยากาศก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง

รูปแบบการเรียนการสอน 

  • ขึ้นอยู่กับสไตล์การสอนของอาจารย์แต่ละคน
  • บางวิชาก็ไปนั่งฟังบรรยายชิล ๆ บางวิชาก็มีวิทยากรรับเชิญ บางวิชาก็มีงานในคลาส บางวิชาก็ต้องทำรายงานส่งท้ายเทอม เป็นต้น
  • ส่วนงานกลุ่มก็พอมีบ้าง แต่ไม่ได้มีบ่อยถึงขั้นมีทุกวีค  งานเดี่ยวกับงานกลุ่มมีพอ ๆ กันค่ะ

เรียนหนักมากไหม จริง ๆ แล้วไม่ว่าคณะไหนก็เรียนหนักหมดค่ะ แค่สไตล์การเรียนต่างกันเท่านั้นเอง แต่ชาวสินสาดสามารถจัดสรรเวลาว่าง/วันพักผ่อนเองได้หมดค่ะ 

ทุกวิชาไม่ว่าจะเป็นวิชาศึกษาทั่วไป วิชาแกน วิชาเสรี รวมถึงวิชาโท อยากเรียนวิชาไหน วันไหน เวลาไหน เราสามารถเลือกเองได้หมด ขอแค่ไม่ชนกับวิชาเอกค่ะ ดังนั้น ๆ น้องจะรีบเก็บหน่วยกิตวิชาอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 1 (เพราะเนื้อหาวิชาเอกของปี 1 ยังไม่เครียดมาก) แล้วค่อยไปสบายตอนปี 4  (เรียนแค่ 2 วันชิล ๆ ยังได้เลย) หรือจะแบ่งวิชาไปเรียนช่วงซัมเมอร์ก็ยังได้ 

6. มีกิจกรรมอะไรสนุก ๆ บ้าง

คณะศิลปศาสตร์ มธ. มีกิจกรรมมากมายให้นศ.ทุกคนได้เข้าร่วม เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และความสามารถด้านต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ตัวอย่างกิจกรรมเด่น ๆ ของคณะ เช่น

6.1  L'arts Crazy Week เป็นกิจกรรม Highlight  ที่ชาวสินสาดตั้งตารอคอยกันทุกปี

  • จัดช่วงไหน วีคที่ 3-4 (แล้วแต่ปี) หลังเปิดเทอม 1 เป็นประจำทุก ๆ ปี  โดยจะจัดเป็นเวลา 3 วัน
  • การแต่งกาย แต่ละวันจะมีธีมการแต่งกายไม่ซ้ำกัน ตัวอย่างจากปีก่อน ๆ เช่น ธีมอดีต, Back to school,  Sport day,  Status day (เสื้อดำ=โสด / เสื้อขาว=มีแฟนแล้ว / เสื้อสีอื่น=คลุมเครือ) เป็นต้น
  • กิจกรรมภายในงาน ตัวอย่างจากปีก่อน ๆ
    • ร้านขายน้ำ ร้านขายขนม ฯลฯ
    • ซุ้มเกม ซุ้มระบายสี  ซุ้มดูดวง  ฯลฯ
    • Photo booth  โซนถ่ายภาพที่ระลึก
    • คอนเสิร์ตจากชุมนุม L'arts band, TU BAND (ปี 2022 มีวง “No One Else” เป็นศิลปินรับเชิญด้วย)
ตัวอย่างภาพ “L'arts Crazy Week 2023” Credit: https://www.instagram.com/p/Cw-GN9CpS6R/?img_index=10
ตัวอย่างภาพ “L'arts Crazy Week 2023” Credit: https://www.instagram.com/p/Cw-GN9CpS6R/?img_index=10

6.2 L’Arts Games  กีฬาสีของคณะศิลปศาสตร์

  • จัดช่วงไหน ต้นเดือนเมษายนของทุกปี
  • กิจกรรมภายในงาน ตัวอย่างจากปีก่อน ๆ
    • แข่งกีฬา เช่น ชักเย่อ แชร์บอล กินวิบาก กระโดดเชือกหมู่ ฯลฯ
    • กิจกรรมจากนักเต้นสันทนาการของคณะ

6.3 สานอักษรสัมพันธ์ศิลป์ (The Twin Arts) กิจกรรมกระชับมิตรระหว่างศิลปศาสตร์ มธ. (L’arts TU)  กับ อักษร จุฬาฯ (Arts CU)

  • กิจกรรมภายในงาน ตัวอย่างปี 2023
    • แข่งกีฬา เช่น บาสเก็ตบอล วอลเลย์บอล ฯลฯ
    • การแข่งขันโต้วาที หมากกระดาน (Scrabble)  E-sport (RoV)
    • กิจกรรมสันทนาการ Ice-breaking

7. แล้วกิจกรรมรับน้องเป็นยังไง มีเล่นสายรหัสรึเปล่า

นอกจากจะมีกิจกรรมรับน้องของมหา'ลัยอย่าง “รับเพื่อนใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว” แล้ว ยังมีกิจกรรมรับน้องของคณะอย่าง “รับเพื่อนใหม่ คณะศิลปศาสตร์” อีกด้วย  เรียกได้ว่ารับน้องกันสองต่อเลยทีเดียว

  • จัดช่วงไหน ช่วงต้นเดือนสิงหาคม (ก่อนเปิดเทอมวันแรกไม่กี่วัน)
  • กิจกรรมภายในงาน ตัวอย่างจากปีก่อน ๆ
    • กิจกรรมสันทนาการ
    • กิจกรรม Ice-breaking
    • กิจกรรมฐานในห้องย่อย
    • การแสดงของ L'arts band
  • ต้องเข้าร่วมทุกคนไหม ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมทุกคน เพราะไม่ใช่กิจกรรมบังคับ ส่วนใครอยากเข้าร่วมก็แค่ลงทะเบียนล่วงหน้ากับทางคณะกรรมการนักศึกษา คณะศิลปศาสตร์
ตัวอย่างภาพ “รับเพื่อนใหม่ คณะศิลปศาสตร์ 2566” Credit: https://www.instagram.com/p/Cv4y0dsp6SM/?img_index=1
ตัวอย่างภาพ “รับเพื่อนใหม่ คณะศิลปศาสตร์ 2566” Credit: https://www.instagram.com/p/Cv4y0dsp6SM/?img_index=1

ปัจจุบันยกเลิก “ระบบโต๊ะ-ตระกูล” แล้ว น้อง ๆ บางคนอาจเคยได้ยินเรื่องการเล่นสายรหัสแบบ “ระบบโต๊ะ-ตระกูล” ของมธ.  ซึ่งคณะศิลปศาสตร์เองก็เคยมีระบบนี้ 

“ระบบโต๊ะ-ตระกูล” คือ อะไร  

เป็นกิจกรรมที่ทาง กน. (คณะกรรมการนักศึกษา) จะจัดหากลุ่มเพื่อนในคณะ (โต๊ะ) ให้กับน้องใหม่ด้วย “การจับฉลาก”  ใครได้โต๊ะดีก็ดีไป ส่วนใครได้โต๊ะแย่ก็ลำบากหน่อย นอกจากนี้ยังมีการเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายในโต๊ะทุกเดือนเพื่อจัดกิจกรรมอีกด้วย ภายหลังได้กลายเป็นข้อถกเถียงกันว่า “ระบบโต๊ะ” จำเป็นหรือไม่ 

ในวันที่ 20 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการนักศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มธ. ได้ข้อสรุปว่า “ระบบโต๊ะ-ตระกูลของคณะศิลปศาสตร์จะถูกยุบ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง”

สรุปได้ว่า ปัจจุบันคณะศิลปศาสตร์ “ไม่มีระบบโต๊ะ-ตระกูลแล้ว” แต่บางสาขาอาจยังมีการเล่นระบบสายรหัสแบบทั่วไปอยู่ โดยทุกคนจะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้  ซึ่งน้อง ๆ จะไม่ถูกบีบบังคับจากเงื่อนไขทางสังคมแบบระบบโต๊ะ จะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของน้อง ๆ มากกว่า

8. ค่ายอาสาพัฒนาชุมชนก็มา

ค่ายอาสาของคณะศิลปศาสตร์ มธ. จะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี (ยกเว้นช่วงโควิดที่ผ่านมา) ถึงจะเป็นค่ายของคณะ แต่ก็ยินดีต้อนรับเด็กคณะอื่นที่มีจิตอาสาเหมือนกัน เป็นค่ายที่เปิดโอกาสให้ทั้งเด็กในคณะและนอกคณะได้ร่วมกันพัฒนาชุมชนค่ะ

ตัวอย่างค่ายปีก่อน ๆ

  • ค่าย “หนาวนี้กอดใคร หนาวไหมกอดกาญ” ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่น้ำน้อย  จ.กาญจนบุรี (24-27 ธันวาคม 2566)
  • ค่าย “เผอิญรัก บังเอิญเลย” ค่ายอาสา ณ จ.เลย (23-29 ธันวาคม 2565)

9.  ดาราดังประจำคณะก็มี

ดาราดังประจำสินสาด มธ. ไม่ใช่ใครที่ไหนเลย แต่เป็นสัตว์เคียงคู่ มธ. ศูนย์รังสิต นั่นก็คือ “น้องจีจี้” (ตัวเงินตัวทอง) ที่จริงแล้วเราสามารถพบน้องจีจี้ได้ทั่วมธ.รังสิตเลยค่ะ แต่แถวตึกคณะศิลปศาสตร์จะเจอบ่อยกว่าที่อื่น เพราะบ้านน้อง (บ่อน้ำ) อยู่ตรงหน้าคณะนั่นเอง

ตอนแรก ๆ อาจจะไม่ชินที่น้องจีจี้และครอบครัวเดินผ่านไปผ่านมาหน้าคณะ  พอผ่านไปสักพักก็จะชินเอง ปกติจะต่างคนต่างอยู่ น้องไม่เคยทำร้ายใคร ชินกับมนุษย์อย่างเรา ๆ แล้ว  ฟังภาษาคนรู้เรื่องด้วย

เรื่องเล่าจากพี่ ๆ ชาวสินสาด คุณป้าร้านเหลือง (ร้านขายขนมใต้คณะ) คุมน้องจีจี้ได้อย่างอยู่หมัด  เรียกให้มาก็มา  ไล่ให้ไปก็ไป บางวันน้องจีจี้นอนแผ่บนโต๊ะม้านั่งแถวร้านเหลืองก็มี  แถมคุณป้ายังหาอะไรมาให้กินอีก  อย่างกับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงเลย!

ดังขนาดเคยเป็นกระแสโลกโซเชียลจนออกข่าวมาแล้ว  Credit:  https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7369442
ดังขนาดเคยเป็นกระแสโลกโซเชียลจนออกข่าวมาแล้ว  Credit:  https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7369442

10. จบไปทำได้หลายอาชีพกว่าที่คิด

ใครบอกว่าจบศิลปศาสตร์เอกภาษาจะเป็นได้แค่ล่าม นักแปลหรืออาจารย์สอนภาษา  หรือจบมาต้องทำงานตรงสาย อย่างจบจิตวิทยา ต้องเป็นได้แค่นักจิตวิทยา จบบรรณารักษศาสตร์ฯ  ต้องเป็นได้แค่บรรณารักษ์ จริง ๆ แล้วอาชีพพวกนี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น

อย่างที่เห็นว่าศิลปศาสตร์ มธ. มีสาขาวิชาที่หลากหลาย  อีกทั้งหลักสูตรภาคปกติยังเปิดโอกาสให้ศึกษาวิชาโทนอกคณะด้วย ดังนั้นเราจึงได้เห็นรุ่นพี่ศิษย์เก่าเป็นทั้งบรรณาธิการ นักเขียน นักวิชาการ นักสารสนเทศ  นักการทูต มัคคุเทศก์ ผู้สื่อข่าว  นักประชาสัมพันธ์ นักโฆษณา พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานโรงแรม  เจ้าหน้าที่/พนักงานภาครัฐและเอกชน  และอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน

จะเห็นได้ว่า  มีทั้งคนที่ทำงานตรงสายและไม่ตรงสาย ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก เพราะชาวศิลปศาสตร์ มธ. สามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็นค่ะ

 

  • อยากรู้เรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับชาวศิลปศาสตร์ มธ. ในรั้วมหาวิทยาลัย คลิก
  • รีวิวรายวิชาในคณะศิลปศาสตร์ คลิก

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับ 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ศิลปศาสตร์ มธ.” หวังว่าน้อง ๆ จะได้เห็นภาพรวมของคณะนี้มากขึ้น  หากน้อง ๆ อยากรู้จักมากกว่านี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดหลักสูตรของแต่ละสาขาเพื่อประกอบการตัดสินใจเรียนต่อได้ค่ะ 

หลักสูตรป.ตรี ศิลปศาสตร์ มธ.ขอบคุณข้อมูลจากhttps://arts.tu.ac.th/undergraduatehttps://www.instagram.com/lasctuofficial/

 

 

Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด