‘แหม่ม คัทลียา’ กับบทบาทของแม่ในชีวิตจริง และผลงานล่าสุดอย่าง ‘เส้นลองจิจูดที่ 180 องศาลากผ่านเรา’

Spoil

  • การส่งลูกไปเรียนต่างประเทศไม่ได้ทำให้ ‘การเลี้ยงลูกแบบใกล้ชิด’ ของพี่แหม่มมีปัญหา
  • ‘คุณแม่ Gen X’ กับ ‘ลูก Gen Z’ ต้องปรับตัวเข้าหากันทั้งสองฝ่าย
  • ในความคิดของพี่แหม่ม ‘พ่อแม่ต้องไม่เป็นเพื่อนลูกแบบ 100%’
  • ‘เส้นลองจิจูดที่ 180 องศาลากผ่านเรา’ คือซีรีส์ที่จะทำให้คนเข้าใจความรักในอีกรูปแบบ

สวัสดีทุกคนค่ะ น้อง ๆ ที่ชอบดูละครไทย ซีรีส์ไทย รวมถึงหนังไทยคงรู้จักและคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอยู่แล้ว สำหรับเจ้าหญิงแห่งวงการบันเทิง และนักแสดงมืออาชีพที่มีรางวัลเป็นเครื่องการันตีมานับไม่ถ้วนอย่าง ‘พี่แหม่ม คัทลียา แมคอินทอช’

    ใครที่เคยเห็นพี่แหม่มผ่านบทบาทแม่ในละครมาแล้ว คงสงสัยกันใช่ไหมล่ะคะ ว่าในชีวิตจริงพี่แหม่มเป็นคุณแม่แบบไหน วันนี้พี่พิ้งค์จะพาทุกคนมาเปิดมุมมองและแนวคิดจากพี่แหม่มต่อการเลี้ยงลูกทั้ง 3 คนอย่าง น้องแมค น้องคิน และน้องเนซซี่ รวมถึงผลงานซีรีส์เรื่องล่าสุดของพี่แหม่มที่ชื่อว่า ‘เส้นลองจิจูดที่ 180 องศาลากผ่านเรา’ กันค่ะ

เห็นว่าตอนนี้น้องแมคและน้องคินเรียนอยู่ที่อังกฤษ อยากทราบเหตุผลที่ตัดสินใจส่งลูกไปเรียน

    เริ่มแรกมาจากสามีค่ะ ด้วยความที่เขาเป็นนักเรียนอังกฤษมาก่อน และได้ไปเรียนที่นู่นตั้งแต่อายุ 8 ปี เขาก็คิดว่า เขาได้ประโยชน์จากการที่พ่อแม่ส่งเขาไปเรียนต่างประเทศมาก ในแง่ที่เขาได้ช่วยเหลือตัวเอง และได้ใช้ชีวิตแบบที่เด็กทั่วไปควรจะเป็น ที่นั่นนักเรียนทุกคนจะมีความเท่าเทียมกันหมด ไม่มีใครได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนอื่น ทุกคนได้เรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคม ฝึกระเบียบวินัยในตัวเอง เขาเลยอยากส่งลูกไปเรียนแบบที่เขาเคยเรียน 

ส่วนตัวพี่คิดว่า ทุกโรงเรียนในทุกประเทศก็พยายามทำให้ระบบการศึกษาดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเรารักลูกและทุกอย่างมันเอื้ออำนวย บวกกับความที่พี่เป็นลูกครึ่งอังกฤษ และชอบประเทศนี้อยู่แล้วด้วย พี่ก็อยากให้ลูกได้มีโอกาสไปเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตด้วยตัวเอง 

ส่งลูกไปเรียนไกลขนาดนี้ มีแอบเป็นห่วงหรือคิดถึงลูกบ้างหรือเปล่า?

   ความรู้สึกคิดถึงลูกมันก็คงเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่คงไม่ได้เป็นห่วงหรือพะวงตลอดเวลาว่า ‘ลูกเราจะอดอยากหรือเปล่า?’ หรือ ‘ลูกเราจะนอนหลับสบายไหม?’ เพราะพี่เชื่อว่ายังไงโรงเรียนก็ดูแลลูกเป็นอย่างดี จะมีก็แต่ความคิดถึงในฐานะคนเป็นแม่เสียมากกว่า พี่อยากให้เขาปรับตัวให้ได้เร็วที่สุด เพื่อความสะดวกสบายและความสุขในการใช้ชีวิตของเขาเอง ยิ่งเขาสามารถปรับตัวได้เร็ว เขาก็จะยิ่งสนุกกับเพื่อนและโรงเรียนได้ดีมากขึ้น

ถ้าน้องเนซซี่อยากไปเรียนบ้าง จะมีแพลนย้ายไปอยู่อังกฤษทั้งครอบครัวไหม?

   น้องเนซซี่พร้อมมาก อยากไปเรียนเหมือนพี่ ๆ มาก ซึ่งถ้าลูกไป พี่ก็คงต้องไปด้วยอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้ก็เหมือนไป ๆ มา ๆ เป็นปกติ ด้วยความที่ระยะทางมันไม่ได้ไกลกันมากด้วย หลับบนเครื่องบินหนึ่งตื่นก็ถึงอังกฤษแล้ว ยิ่งช่วงก่อนเกิดโควิดคือพี่ก็ไปทุกเดือน เพราะมันจะมีช่วงที่เด็กนักเรียนทุกคนต้องออกจากโรงเรียนเป็นเวลา 3-4 วัน เด็กบางคนอาจจะต้องไปอาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมป์ (Host Family) แต่พี่อยากรับลูกออกมาอยู่ด้วยกัน และหลังจากส่งลูกเข้าโรงเรียน พี่ก็เดินทางกลับไทย

   ถ้าถึงเวลาที่ลูกทั้งสามคนไปเรียนที่อังกฤษกันหมด ก็คงไม่ถึงขนาดที่พี่ต้องหายตัวไป หรือย้ายไปอยู่ที่นู่นถาวร พี่ยังสามารถรับงานในวงการได้เหมือนเดิม เรื่องนี้ ‘ครม.’ หรือคนรักแหม่มไม่ต้องเป็นกังวลเลยค่ะ

การที่ลูกต้องไปเรียนเมืองนอกทำให้ความพยายามที่จะเลี้ยงลูกแบบใกล้ชิดมีปัญหาไหม?

   ไม่มีเลยนะ พี่เข้าใจว่าทุกคนก็คงกังวลว่า ‘ส่งลูกไปเรียนแบบนี้ จะทำให้เขาไม่สนิทกับเราหรือเปล่า?’ ซึ่งความจริงคือมันไม่เป็นอย่างนั้นเลย พี่ว่ามันอยู่ที่การเลี้ยงดูของเรามากกว่า การที่ลูกเรียนอยู่ห่างตัวแม่ไม่ได้ทำให้ลูกใกล้ชิดแม่น้อยลง ถึงแม้ไม่ได้เจอกันหนึ่งเดือนเต็ม แต่พอกลับมาเจอกัน เราก็สนิทกับลูกเหมือนเดิม เรายังติดต่อพูดคุยกันตลอดเวลา เลยทำให้ไม่ได้รู้สึกห่างไกลกันเลย

   สมมุติช่วงที่พี่ต้องถ่ายละครเวลาบ่าย 2 โมงที่ประเทศไทย ก็เป็นช่วงที่เขาโทรมาจากที่นู่นตอน 7 โมงเช้า พี่จะขออนุญาตกองถ่ายเพื่อรับสายลูกก่อนสัก 2 นาที แต่ถ้าอย่างน้องแมคที่ภาระหน้าที่เขาเริ่มเยอะขึ้นตามอายุ เราก็จะใช้วิธีส่งข้อความหากันแทน พี่ว่าการที่ลูกยังสามารถโทรหา หรือติดต่อแม่ได้อยู่ มันทำให้เขาอุ่นใจ และไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ห่างกับแม่มากขนาดนั้น

‘คุณแม่ Gen X’ กับ ‘ลูก Gen Z’ คุยยังไงให้เข้าใจกันทุกเรื่อง?

   สำหรับพี่คิดว่า ‘การพูดออกไปเลย’ ดีที่สุด และพี่ไม่คิดว่าเราจะต้องไปโทษเด็กฝ่ายเดียว ว่าเขาจะต้องเชื่อฟังพ่อแม่ หรือเขาจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราเองก็ต้องเป็นฝ่ายปรับ เราต้องเอนหาเขาด้วย ว่าคนรุ่นใหม่เขาทำอะไรกัน รวมถึงต้องทำความเข้าใจวัยรุ่นให้มากขึ้น

พี่ว่ามันเหมือนปิงปองหรือเทนนิสที่เราโต้ไปและต้องรอให้เขาโต้กลับมา เพราะในขณะเดียวกัน เขาก็ต้องเป็นฝ่ายปรับเข้าหาเรา อย่างคำโบราณที่ว่า ‘ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน’ อะไรที่เราเคยลองผิด ลองถูกมาแล้ว และอะไรที่เรารู้ว่ามันไม่ดี เราก็จะเอามาเตือนเขาให้ระมัดระวัง เพื่อให้เขาเติบโตได้อย่างแข็งแรง ไม่เป็นภาระต่อตัวเองและสังคม

พ่อแม่ต้องไม่เป็นเพื่อนลูกแบบ 100%

   บางเวลาเราเป็นเพื่อนกับลูกได้ แต่บางเวลาเราก็ต้องเป็นแม่ให้เขา ถ้าเราเป็นเพื่อนลูกแบบ 24 ชั่วโมง เขาอาจจะไม่มีความเกรงใจ ด้วยความที่ลูกกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งตัวเราเองก็เคยผ่านมาแล้ว บางครั้งเขาอาจคิดว่าตัวเองเจ๋ง ทำได้หมดทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่ความจริงเขายังตัวเล็กนิดเดียว โลกใบนี้มันกว้างใหญ่มาก เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ต้องดูแลเขาให้เดินอยู่ในรางรถไฟ และส่งเขาไปให้ถึงจุดมุ่งหมาย แม้บางครั้งอาจจะมีตกรางบ้าง หรือสะดุดหินบ้างก็ตาม

น้องแมคที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นแล้ว มาปรึกษาแม่แม่เรื่องอะไรบ้าง?

   ตอนนี้น้องแมคกำลังอยู่ในช่วงที่เรียนหนักมาก สอบเยอะมาก แถมยังต้องตัดสินใจว่า จะเรียนต่อสาขาไหน จะเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์หรือศิลปะ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องมาคิดว่าตัวเองถนัดด้านอะไร อีกทั้งคะแนนสอบก็ยังมีผลต่อการเข้ามหาวิทยาลัยในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย 

‘เรื่องการเรียน’ จึงเป็นเรื่องที่เขามักจะเข้ามาขอคำปรึกษา ซึ่งส่วนตัวพี่คิดว่า เขาน่าจะเก่งทางด้านคณิตศาสตร์นะ อาจจะยังไม่ถึงเวลาที่เขาสามารถตอบได้ว่า ตัวเองอยากทำงานอะไร เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่เขามีหน้าที่เรียนหนังสือ แต่เรื่องอาชีพก็เป็นอีกเรื่องที่เขาต้องเริ่มถามตัวเองด้วยเหมือนกัน

“พี่ว่าลูกพี่ยังเล็กเกินไป ที่จะสามารถตอบได้ว่า ‘ตัวเองอยากทำงานอะไร?’ ขนาดตัวของพี่เอง ก็เพิ่งมาค้นพบเอาตอนเรียนจบมหาวิทยาลัย ตอนเข้าวงการเป็นนักแสดงว่า จริง ๆ แล้วตัวเองอยากเป็นคุณครูสอนเด็กอนุบาล ทั้ง ๆ ที่เรียนจบมาคนละด้านโดยสิ้นเชิง มันจึงเป็นเรื่องที่ยากมากกับการตอบคำถามว่า เด็กจะรู้ว่าตัวเองอยากทำงานอะไร ตอนอายุเท่าไหร่” พี่แหม่มกล่าว

แล้วมีเรื่องอะไรที่สามพี่น้องคุยกัน แต่แม่อย่างพี่แหม่มไม่เข้าใจบ้างไหม?

   ไม่มีเลยค่ะ พี่เข้าใจได้หมดทุกเรื่องเลย พี่เป็นแม่ที่มีความเป็นวัยรุ่นมาก บางทีที่เขาคุยกัน พี่ก็จะชอบเข้าไปจอยน์ อยากเข้าไปฟัง อยากเข้าไปรู้เรื่องด้วย พี่คิดว่าสิ่งที่สำคัญคือเราต้องพยายามใกล้ชิดกับเขา

พี่แหม่มเลี้ยงลูกยังไง? ในยุคที่กระแสวัตถุนิยมมาแรงขนาดนี้

มันอาจจะไม่ได้มีสูตรสำเร็จขนาดนั้น เพราะพี่ก็เลี้ยงเขาตามสัญชาตญาณ เลี้ยงแบบที่พ่อกับแม่เคยเลี้ยงเรามา ถ้าเป็นเมื่อก่อน เขาก็มีอยากได้ของเล่น อยากได้เลโก้บ้างตามประสาเด็ก แต่ก็ไม่เคยมาอ้อนขอซื้ออะไรที่มีราคาแพงมากจนเกินไป ซึ่งพี่คิดว่า ก่อนที่พี่จะซื้ออะไรให้เขา เราต้องมีข้อแลกเปลี่ยนกันก่อน เช่น ถ้าสอบได้คะแนนดีเขาถึงจะได้ของชิ้นนั้น เพราะพี่คิดว่า ถ้าเขาขออะไรแล้วได้ทุกอย่างที่ตัวเองอยากได้ เขาจะไม่รู้จักความอดทน ไม่รู้จักการรอคอย และไม่รู้จักคุณค่าของเงิน ด้วยความที่บ้านของเราจะคุยกันตลอด เขาเลยเข้าใจและเห็นจากประสบการณ์ของครอบครัวว่า กว่าที่เราจะได้เงินมาแต่ละบาทมันไม่ใช่เรื่องง่าย

งานในวงการบันเทิงเยอะขนาดนี้ พี่แหม่มแบ่งเวลาให้ลูกยังไง?

   ช่วงเวลานี้คืออีกช่วงเวลาของชีวิต ที่พี่ยังได้ทำงานที่รักอยู่ ซึ่งจุดมุ่งหมายมันไม่ใช่แค่เรื่องชื่อเสียงหรือเงินทอง พี่ทำงานเพราะพี่มีความสุขที่ได้ทำ แถมช่วงเวลาที่พี่ออกไปทำงานในแต่ละวันก็เป็นช่วงเดียวกับที่ลูกไปเรียน เรามีการพูดคุยกันตลอดเวลาอยู่แล้ว พี่ว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของการจัดสรรเวลาให้ดี เรื่องการทำงานของพี่ไม่มีปัญหาต่อการแบ่งเวลาให้ลูกเลยค่ะ

คำว่า ‘แม่แม่’ ให้เวลาอธิบายกี่ชั่วโมงก็คงไม่พอ

   เพราะสำหรับพี่แล้ว คำว่า ‘แม่’ มันยิ่งใหญ่มากจริง ๆ ให้เวลานิยามคำนี้ 5 ชั่วโมงยังไม่พอเลย ใครที่เป็นแม่ก็คงจะเข้าใจ ว่าความรักที่มีให้ลูกนั้นมากมายไม่รู้จบ เพราะแม่พร้อมเสียสละอย่างเต็มที่ และทำทุกอย่างเพื่อลูกและครอบครัวได้เสมอ

‘เส้นลองจิจูดที่ 180 องศาลากผ่านเรา’ ผลงานล่าสุดที่เป็นมากกว่าแค่ซีรีส์วาย

   ซีรีส์เรื่องนี้เป็นซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับยุคสมัยปัจจุบัน ชื่อที่ยาวแบบนี้มีความหมายของมันซ่อนอยู่ และพี่เชื่อว่านี่น่าจะเป็นซีรีส์ที่ทำให้คนเข้าใจความรักในอีกรูปแบบหนึ่งได้อย่างชัดเจนและกว้างขวางขึ้น 

ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นมีความลึกซึ้งมากกว่าความเป็นซีรีส์วายจ๋า หรือฉากหวือหวาตามความเข้าใจของใครหลาย ๆ คน พี่อยากให้ทุกคนได้ลองดู เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจถึงจิตใจของแต่ละตัวแสดง ที่น่าจะมีอยู่ในชีวิตจริงและโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น

   ในเรื่องนี้พี่แหม่มแสดงเป็น ‘ศศิวิมล’ ซึ่งเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่สนิทกับลูกอย่าง ‘แวง’ มากราวกับว่าเป็นเพื่อนรักกัน อยากใกล้ชิดลูกและอยากทำทุกอย่างเพื่อลูก บทเรื่องนี้เป็นบทที่ดีมาก ซึ่งคำว่าบทในที่นี้ไม่ใช่แค่บทของตัวศศิวิมลเท่านั้น แต่หมายถึงบททั้งเรื่องของทุกตัวละครและเรื่องโดยรวมด้วย

ตอนแรกพี่คิดว่าซีรีส์เรื่องนี้ก็คงเป็นแค่ซีรีส์วายทั่วไป ที่มีเรื่องราวของความรักเพศเดียวกัน แอบคิดว่าตัวพี่เองจะเล่นเป็นมือที่สามหรือเปล่า หรือเรื่องราวจะเป็นยังไงต่อ เมื่อลูกชายเกิดรักผู้ชายด้วยกันเองขึ้นมา พี่อยากบอกว่า มันมีอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่านั้นอีก อยากให้ทุกคนได้ลองดูจริง ๆ

ศศิวิมล VS คัทลียา

   จริง ๆ เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยค่ะ ว่าระหว่างพี่กับศศิวิมล ใครสนิทกับลูกมากกว่ากัน หรือทั้งสองคนมีวิธีการเลี้ยงลูกแตกต่างกันยังไง เพราะบริบทในชีวิตของเราสองคนไม่เหมือนกันเลย พี่ไม่ได้เป็นผู้กำกับหญิงที่มีความมั่นใจสูงเหมือนศศิวิมล ไม่ได้เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่มาที่ไปหรือภูมิหลังของเรามันคนละแบบ

   อีกทั้งทัศนคติในการเลี้ยงลูกของเราก็แตกต่างกันด้วย ลูกของพี่ยังไม่ได้โตถึงขั้นเป็นหนุ่มขนาดนั้น ขณะที่ศศิวิมลมีลูกชายอายุ 20 ปี แถมศศิวิมลก็เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่หย่าร้างกับสามีด้วย ครอบครัวของพี่ยังครบ แต่ครอบครัวของศศิวิมลเขาไม่ครบ

ซีรีส์เรื่องนี้และตัวละคร ‘ศศิวิมล’ ให้อะไรกับพี่แหม่มบ้าง?

   พี่คิดว่าทุกอย่างที่เราเจอตอนออกไปพบผู้คน ก็กลับมาสะท้อนให้เราดึงสิ่งที่ดีมาปรับใช้ตลอดอยู่แล้ว แต่แน่นอนว่าเราสามารถเรียนรู้ได้จากบทละครด้วยเหมือนกัน ยิ่งเราได้เล่นในบทบาทที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดอีกต่อไปว่าต้องเป็นพระเอก - นางเอก หรือผู้ชาย - ผู้หญิง ความที่โลกกว้างขึ้นก็ทำให้เราเข้าใจในตัวตนของแต่ละเพศ แต่ละวัย และแต่ละมุมมองมากขึ้นด้วย เมื่อเราเปิดรับและเข้าอกเข้าใจเขา เราก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและมีความสุข

อยากให้พี่แหม่มฝากซีรีส์เรื่อง ‘เส้นลองจิจูดที่ 180 องศาลากผ่านเรา’ สักหน่อย

   อยากให้ทุกคนได้ดูค่ะ ไม่ใช่แค่เพราะว่าพี่เป็นคนเล่น แต่เป็นเพราะบทและเนื้อเรื่องที่ดีมาก มันเป็นสิ่งที่เราสามารถเห็นได้ในชีวิตจริงอยู่แล้ว ซึ่งประโยคเดิมที่ใช้ได้เสมอก็คือ ‘ดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง’ พี่คิดว่า หลังจากที่ได้ลองดูแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้น่าจะให้แง่คิดที่ดีกับใครหลาย ๆ คน และหลาย ๆ ครอบครัวเลยค่ะ

มีอะไรอยากบอกน้อง ๆ ที่ยังเป็นวัยรุ่นและอยู่ในวัยเรียนไหมคะ?

   อยากเป็นกำลังใจให้วัยรุ่นทุกคนนะคะ ที่สำคัญคืออยากให้พูดคุยกับพ่อแม่ ไม่อยากให้เปรียบเทียบว่า ‘ทำไมพ่อแม่เราไม่ดีเหมือนพ่อแม่คนนั้น’ หรือ ‘ทำไมพ่อแม่เราไม่ใจดี พูดเพราะแบบนี้’ พี่มั่นใจว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่วิธีการแสดงออกของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้ามีอะไรก็อยากให้ปรึกษา พูดคุยกัน เพราะยังไงพ่อแม่ก็คือคนที่หวังดีกับเราที่สุด

   รวมถึงอยากให้จำไว้เลยว่า ‘สิ่งที่จะไม่มีใครมาพรากจากเราไปได้ คือความรู้และการศึกษา’ เราต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง ในเมื่อเราอยู่ในวัยเรียน หน้าที่ของเราก็คือการเรียนหนังสือ ตั้งใจเรียนและทำให้เต็มที่ที่สุด อย่าให้คำว่า ‘รู้อย่างนี้เราน่าจะ…’ เกิดขึ้นกับเราในภายหลัง และกลายเป็นสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจของเราไปตลอดชีวิต

 ‘พี่แหม่ม - คัทลียา แมคอินทอช’

ช่องทางการติดตามซีรีส์ ‘เส้นลองจิจูดที่ 180 องศาลากผ่านเรา’

  • ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา  23.15 น. ทางช่องวัน  31 (เริ่ม 14 สิงหาคม)
  • Instagram : mitiartmedia
  • Twitter : Mitiartmedia
  • Facebook :  Miti Art Media
พี่พิ้งค์
พี่พิ้งค์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น