เชื่อว่าชาว Dek-D หลายคนที่ชอบอ่านนิยาย บทความ คำกลอน หรือแม้แต่ฟังเพลง มักจะได้ความรู้สึกบางอย่างจากการเสพสิ่งเหล่านั้น อาจจะเป็นความรู้เศร้า เสียใจ มีความสุข หรือโกรธ ความรู้สึกเหล่านี้นี่แหละค่ะที่เราเรียกกันว่า ‘รสวรรณคดี’
หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราได้เรียนเรื่อง กลวิธีวรรณศิลป์การสรรคำ 5 แบบ และภาพพจน์ 9 ชนิด ไปแล้ว ในคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่ออกสอบ’ วิชาภาษาไทย พาร์ทวรรณคดีไทย วันนี้หัวข้อที่พี่จะมาสรุปให้น้อง ๆ ได้เคาะความรู้มัธยมไปพร้อม ๆ กัน คือ เรื่องรสวรรณคดี นอกจากนี้ยังเรื่องจินตภาพในวรรณคดีไทยที่ควรรู้ด้วยนะ ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยค่ะ!
รสวรรณคดี
รสวรรณคดี หรือ ลีลาวรรณคดี หมายถึง กลวิธีการถ่ายทอดอารมณ์ที่สะเทือนใจ ผ่านการเลือกสรรถ้อยคำของกวี แบ่งออกเป็น 4 รส ดังนี้
1.เสาวรจนี (บทชมโฉม) คือ การเล่าชมความงามของธรรมชาติหรือตัวละครในเรื่อง ซึ่งอาจเป็นตัวละครที่เป็นมนุษย์ อมนุษย์ หรือสัตว์ ซึ่งการชมนี้อาจจะเป็นการชมความเก่งกล้าของกษัตริย์ ความงามของปราสาทราชวัง หรือความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง
ตัวอย่างเช่น
พักตร์น้องละอองนวลปลั่งเปล่ง ดังดวงจันทร์วันเพ็งประไพศรี
อรชรอ้อนแอ้นทั้งอินทรีย์ ดังกินรีลงสรงคงคาลัย
งามจริงพริ้งพร้องทั้งสารพางค์ ไม่ขัดขวางเสียทรงที่ตรงไหน
พิศพลางปฏิพัทธ์กำหนัดใน จะใคร่ไปโอบอุ้มองค์มา
(อิเหนา - รัชกาลที่ ๒)
บทกษัติริย์ทัศนานางเงือกน้อย ดูแช่มช้อยโฉมลาทั้งเผ้าผม
ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนขำคม ทั้งเนื้อนวลเปลปงออกเต่งทรวง
ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด ดังสุรางค์นางนาฏในวังหลวง
พระเพลินพิศคิดหมายเสียดายดวง แล้วหนักหน่วงนึกที่จะหนีไป
(พระอภัยมณี - สุนทรภู่)
2.นารีปราโมทย์ (บทเกี้ยว โอ้โลม) คือ การกล่าวข้อความแสดงความรัก การจีบหรือการเกี้ยวพาราสี
ตัวอย่างเช่น
แม้นเนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา เชยผลาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่ เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
(พระอภัยมณี - สุนทรภู่)
ถึงจะสิ้นวิญญาณกี่ครั้ง ฉันก็ยังรักเธอฝังใจ
แม้จะสิ้นดวงจันทร์ไฉไลไม่เป็นไรเพราะยังมีเธอ
ฟ้าจะมืดจะมัวช่างฟ้า ขอให้มีสายตาหวานละเมอ
ถึงจะสิ้นแผ่นดินนะเธอ ให้ได้เจอยิ้มเธอชื่นใจ
(รักไม่รู้ดับ - สุนทราภรณ์)
3.พิโรธวาทัง (บทตัดพ้อ) คือ การกล่าวข้อความอารมณ์ไม่พอใจ ตั้งแต่น้อยไปจนมาก จึงเริ่มตั้งแต่ไม่พอใจ โกรธ ตัดพ้อ ประชดประชัน กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เสียดสี และด่าว่าอย่างรุนแรง
ตัวอย่างเช่น
พระโยคีชี้หน้าว่าอุเหม่ ยังโว้เว้วุ่นวายอีตายโหง
เพราะหวงผัวมัวเมาเฝ้าตะโกรง ว่ากูโกงก็ตกนรกเอง
อียักษาตาโตโมโหมาก รูปก็กากปากก็เปราะไม่เหมาะเหมง
นมสองข้างอย่างกระโปรงดูโตงเตง ผัวของเองเขาระอาไม่น่าชม
(พระอภัยมณี - สุนทรภู่)
เมื่อนั้น อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษา
ได้ฟังวานรเจรจา โกรธาดั่งบรรลัยกัลป์
ขบเขี้ยวเคี้ยวกรามกระทืบบาท ร้องตวาดผาดเสียงดั่งฟ้าลั่น
เหม่อ้ายลิงไพรใจฉกรรจ์ กูจะหั่นให้ยับลงกับกร
(บทละครเรื่องรามเกียรติ์)
แค้น…เมื่อรักของฉันได้ถูกแย่งไป
ความแค้นของฉันต้องได้สมใจ
คนทรยศต้องตาย มิเชล จำไว้
(แค้น OST.ฟ้าจรดทราย)
4.สัลลาปังคพิสัย (บทโศก) คือ การกล่าวข้อความแสดงอารมณ์โศกเศร้า
ตัวอย่างเช่น
ยังลูกอ่อนก็อ้อนแต่อาหาร น่ารำคาญคิดมาน้ำตาไหล
ทั้งผัวเมียแสนอนาถเพียงขาดใจ สุดอาลัยก็กอดแล้วโศกา
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์
(นิราศภูเขาทอง)
แต่ละคืนที่มองไม่เห็นใคร อดทนไว้ หัวใจยังสั่น
แต่ละวันเดือนปีที่หมุนไป เธอรู้ไหมว่าใครคิดถึงเธอ
ตรงนี้ไม่มีเธอแล้ว แต่ย้ำ ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ฉันคิดถึงเธอเหลือเกิน
(คิดถึง - ปาล์มมี่)
สูตรลับจำรสวรรณคดี
ความงามรจนี นารีไว้จีบหญิง โกรธจริงต้องพิโรธ แสนจะโศกสัลลาปัง
ทดสอบความรู้เรื่องรสวรรณคดี
ข้อใดคือรสวรรณคดีของบทประพันธ์ต่อไปนี้
มันร่ำรวยด้วยภาษีจากพี่น้อง ความจนของชาติไทยจึงไม่สิ้น
ขอสาปแช่งประณามหนามแผ่นดิน สัตว์ร้อยลิ้นประเภทนี้อัปรีย์เอย
๑.เสาวรจนี
๒.นารีปราโมทย์
๓.พิโรธวาทัง
๔.สัลลาปังคพิไสย
จินตภาพ
จินตภาพ คือ ภาพที่เกิดขึ้นในใจ ในการสร้างจินตภาพให้เกิดขึ้นกับผู้อ่านหรือผู้ฟังนั้น กวีหรือผู้แต่งอาจจะกล่าวอย่างตรงไปมาหรือใช้โวหารภาพพจน์ก็ได้
จินตภาพในวรรณกรรมไทยสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
1.จินตภาพด้านเสียง
ตัวอย่างเช่น
เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง เริงร้องซ้องเสีย
สำเนียงน่าฟังวังเวงดับ
2.จินตภาพด้านการเคลื่อนไหว (นาฏการ)
ตัวอย่างเช่น
เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน เหมือนอย่างนางเชิญ
พระแสงสำอางข้างเคียง
3.จินตภาพด้านสัมผัส (ร้อน หนาว แข็ง นุ่ม)
ตัวอย่างเช่น
มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
ชายใดได้กลืนแกง แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา
4.จินตภาพด้านกลิ่น (หอม ฉุน ฯลฯ)
ตัวอย่างเช่น
พิกุลบุนนาคบาน กลิ่นหอมหวานซ่านขจร
แม้นนุชสุดสายสมร เห็นจะวอนอ้อนพี่ชาย
5.จินตภาพด้านสี
ตัวอย่างเช่น
จำปาหนาแน่นเนือง คลี่กลีบเหลืองเรืองอร่าม
คิดคะนึงถึงนงราม ผิวเหลืองกว่าจำปาทอง
6.จินตภาพด้านแสง
ตัวอย่างเช่น
สมรรถไชยไกรกาบแก้ว แสงแวววับจับสาคร
เรียบเรียงเคียงคู่จร ดั่งร่อนฟ้ามาแดนดิน
7.จินตภาพด้านรส (หวาน เปรี้ยว เผ็ด ฯลฯ)
ตัวอย่างเช่น
ผลชิดแช่อิ่มอบ หอมตรลบล้ำเหลือหวาน
รสไหนไม่เปรียบปาน หวานเหลือแล้วแก้วกลอยใจ
ทดสอบความรู้เรื่องจินตภาพ
ข้อใดมิได้มุ่งให้เกิดจินตภาพแก่ผู้อ่าน
๑.ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 5.55 นาฬิกา ฟ้าหลัว ลมอ่อนถึงปานกลาง
๒.ทั่วบริเวณนั้นเงียบสงัด ดวงตะวันยามบ่ายแผดแสงระอุ
๓.พระพิรุณโปรยปรายตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น และตกติดต่อกันไปจนค่ำ
๔.เย็น…พระอาทิตย์คล้องดวงต่ำลง ยอแสงสุดท้าย
ข้อใดไม่ปรากฏในคำประพันธ์ต่อไปนี้
ฝนเป็นสายปรายโปรยเมื่อใกล้ค่ำ ฟ้าร่ำคำรนอยู่เลื่อนลั่น
แปลบประกายปลายคุ้งทุ่งสุพรรณ ลมกระชั้นกระโชกกระชากแรง
๑.สี
๒.แสง
๓.เสียง
๔.การเคลื่อนไหว
น้อง ๆ ชาว Dek-D คิดว่าคำตอบข้อไหนถูกต้องคะ ลองคอมเมนต์คำตอบไว้ด้านล่างได้เลยค่ะ!
สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ ถ้าน้อง ๆ มีประเด็นที่น่าสนใจ หรือความรู้จากวิชาอะไรที่อยากให้นำมาเล่า สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย
ที่มาhttps://curadio.chula.ac.th/Images/Class-Onair/th/2015/th-2015-11-05.pdfhttp://www.digitalschool.club/digitalschool/m2/th2_1/lesson3/content1/full_pdf.pdf
0 ความคิดเห็น