ข้อถกเถียงปมเพิกถอน ‘ทับลาน’! อีกด้านของทับลานที่สังคมต้องรับฟัง

สืบเนื่องจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่งจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จนทำให้ #Saveทับลาน กำลังเป็นประเด็นใหญ่ที่หลายคนจับตามอง และในขณะเดียวกันก็เกิด #Saveชาวบ้านทับลาน ตามมาใน X (Twitter) ที่มีการพูดถึงมุมมองอีกด้านนึงของป่าทับลาน 

สามารถอ่านบทความ สรุป Timeline ‘เพิกถอนพื้นที่ทับลาน 265,000 ไร่ ออกจากการเป็นป่าอนุรักษ์’ ได้ที่นี่ คลิก และบทความ พารู้จัก ‘ป่าอนุรักษ์’ ในไทย มีอะไรบ้าง! พร้อมสถานการณ์ป่าไม้ และปมส.ป.ก.กับป่าไทย  ได้ที่นี่ คลิก

หลายคนอาจจะยังเกิดความสับสนเกี่ยวกับปมปัญหาดังกล่าว วันนี้เราจะมาสรุปข้อถกเถียงเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาป่าทับลานที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายปีและกำลังเป็นที่พูดถึงอย่างหลากหลายมุมมองในสังคมตอนนี้ให้ทุกคนได้อ่านและพิจารณากันค่ะ

ภาพจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ภาพจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กระแสสังคมกับ #Saveทับลาน

วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566 มีมติจากคณะรัฐมนตรี (รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในการกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระบุรี โดยใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) เพื่อออกโฉนดที่ดินในพื้นที่เขตของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) 

16 มิถุนายน พ.ศ. 2558 - พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการพิจารณาแนวเขตป่าไม้ใหม่ โดยจัดทำแผนที่ดิจิทัล มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) เพื่อใช้ตรวจสอบแนวเขตป่าไม้ 

 

มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) คือ หลักการแผนที่หนึ่งแผนที่ซึ่งหน่วยงานของรัฐใช้ร่วมกันเป็นแผนที่เดียว มาตราส่วนเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดเป็นข้อถกเถียงเรื่องแนวเขตของแต่ละหน่วยงาน 

ในเอกสารข้อมูลประกอบการรับฟังความเห็นในการกำหนดอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้แนบไว้ในแบบสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ 

หน้าที่ 6 ระบุว่า “หากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่จะมีผลให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ ถึงแม้จะมีการเสนอผนวกพื้นที่ทางตอนเหนือในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เพิ่มเข้าอีกประมาณ 80,000 ไร่ ก็ยังไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่าจะผนวกเพิ่มได้หรือไม่ เนื่องจากพบว่ามีราษฎรถือครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังอยู่ในขั้นตอนการหาข้อยุติกับกรมป่าไม้” 

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดเป็นวาทกรรม “เฉือนป่าถึง 2.6 แสนไร่” ที่ได้สร้างความไม่พอใจและทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมไม่เห็นด้วยต่อการเพิกถอนพื้นที่ป่าทับลานจากการเป็นป่าอนุรักษ์ จนทำให้ #Saveทับลาน ขึ้นเทรนด์ X (Twitter) เป็นวันที่ 3 (10 ก.ค. 2567) 

อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านออกมาพูดถึงประเด็นที่ยังไม่ได้ถูกสื่อสารเกี่ยวกับปัญหาในป่าทับลาน โดยมองว่ายังมีประเด็นที่ภาครัฐไม่ได้ออกมาชี้แจงให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนและรอบด้าน ทำให้เกิดความสับสน 

เมื่อเปิดตัวเลขออกมาในคราวเดียวเป็นจำนวน 2.6 แสนไร่ โดยไม่แบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ทำให้สังคมรู้สึกว่าเป็นการสูญเสียพื้นที่สีเขียวไปเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศของป่าทับลาน การเอื้อประโยชน์ให้นายทุนเข้ามาหาประโยชน์จากการเพิกถอนการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และเป็นปัญหาต่อการทำความเข้าใจประเด็นสิทธิชุมชนที่อยู่กับป่าทับลานมาช้านานก่อนที่จะประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอุทยาน

ความซับซ้อนของพื้นที่อทช.ทับลานและข้อเสนอการแก้ไขปัญหา

ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินในอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 (สีเหลือง): พื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 60,000 ไร่ (อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี และ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา)

ข้อเสนอ

  • แนวทางที่ 1 : อช. เสนอเพิกถอนพื้นที่ เพื่อให้ ส.ป.ก. มีอำนาจหน้าที่ตามเขตปฏิรูปที่ดิน
  • แนวทางที่ 2 : อช. ดำเนินการตาม มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562
  • แนวทางที่ 3 : อช. และ ส.ป.ก. ร่วมกันตรวจสอบ และจัดการพื้นที่ ให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขที่กำหนด

กลุ่มที่ 2 (สีน้ำเงิน): พื้นที่จัดที่ดินทำกิน ตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฏรผู้ยากไร้ (คจก.) เนื้อที่ประมาณ 80,000 ไร่ (อ.เสิงสาง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี)

ข้อเสนอ

  • แนวทาง : อช. ดำเนินการตาม มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ 2562 มาตรา 64 ระบุว่า

          “มาตรา 64 ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

           เมื่อพ้นระยะเวลาตามวรรคหน่ึง และรัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติที่มีการประกาศกำหนดมาก่อนวันท่ีพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้สิทธิในท่ีดินนั้น เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

           พระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ…”

กลุ่มที่ 3: พื้นที่ที่ไม่ใช่กลุ่ม 1 และ กลุ่ม 2 เนื้อที่ประมาณ 125,000 ไร่ (อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี)

ข้อเสนอ

1. มีกลุ่มทุนที่เข้ามาครอบครองเพื่อก่อสร้างรีสอร์ท หรือบ้านพักตากอากาศ จึงต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ครอบครองกลุ่มนี้ก่อน

2. พื้นที่ที่มีราษฏรถือครองที่ดินโดยปกติทั่วไป เห็นควรดำเนินการตาม มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562

ภาพจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2567 ที่รัฐสภา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ว่า ในการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน ต้องมองแต่ละบริบทให้แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งประชาชนออกเป็น 3 กลุ่มในเขตพื้นที่ทับลาน ดังนี้ 

กลุ่มที่ 1: ประชาชนที่อยู่มาก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ในปีพุทธศักราช 2524

กลุ่มที่ 2: ประชาชนที่ได้รับ ส.ป.ก. และอนุญาตให้ทำกินในพื้นที่ ส.ปก

กลุ่มที่ 3: ประชาชนที่เข้ามาหลังการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ และทำให้เกิดคดีความการบุกรุกพื้นที่กว่า 400 คดี

โดยไม่ควรแก้ปัญหาแบบเหมาเข่ง รวมทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน แต่ควรแก้ปัญหาและพิจารณาบริบทของแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน 

นอกจากนี้ นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชมท้องถิ่น ได้เห็นความเห็นประเด็นป่าทับลานกับ The Active ว่า นอกจากประชาชนที่เป็นเจ้าของสิทธิ์ที่ดินดั้งเดิมยังมีกลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมโครงการจัดที่ดินของรัฐในหลายรูปแบบที่ต้องพิจารณากันออกให้ชัดเจน ที่ดินที่ถูกดำเนินคดีซึ่งมีข้อมูลก่อนหน้านี้ ว่ามีถึง 1.5 แสนไร่ ตรงนี้ก็ต้องระบุให้ชัดเจน เพราะสังคมจะมองว่าเหมือนเป็นการฟอกให้กลุ่มทุนที่มีคดีอยู่หรือไม่ นี่คือประเด็นที่เป็นจุดอ่อนที่สุดของการรับฟังความเห็นรอบนี้

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2567 และต้องใช้ระยะเวลาในการสรุปผลและดำเนินการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างน้อย 1 เดือน 

สถานการณ์อุทยานฯ ทับลานจะเป็นอย่างไรต่อไปยังเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยและพิจารณาในอีกหลายมุมมองให้ละเอียดถี่ถ้วนเพื่อเป็นการรักษาทั้งสิทธิ์ของมนุษย์ สิทธิ์ของสัตว์ป่าและผืนป่าต่อไป

ที่มา https://drive.google.com/file/d/1-2KFhTMMbPkXii1qYcuIAOR1Jfz1bHty/view?usp=sharinghttps://www.facebook.com/100076560903722/posts/pfbid02s9YVJYyvuLzJfq7hmdGzF6z5x2M2jNdXoFm5NV5NRowho9EttSyGFP35s51PXUSHl/?https://theactive.net/news/agriculture-20240709/
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

Raccboi 10 ก.ค. 67 19:20 น. 1

อธิบายได้กระจ่างมากๆครับ เป็นประโยชน์ต่อคนที่ไม่เคยทราบข้อมูลมาก่อนมาก ซึ่งนี่ถือว่ายังดีที่มีการคำนึงถึบความเห็นของประชาชน

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด