คลินิกนักเขียน : Exclusive 04 นิยายที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดี
 
สวัสดีจ้า น้องๆ ชาวเด็กดีทุกคน กลเม็ดเคล็ดลับฉบับ Exclusive กลับมาแล้ว ครั้งนี้ พบกันเป็นครั้งที่ 4  ในครั้งที่แล้ว เราได้ชวน 5 นักเขียนมาสอนเขียนฉากเลิฟซีน ซึ่งทั้ง 5 คน ลิซ คีตา นู๋ผักบุ้ง ฮิเดโกะ ซันชายน์ และแสตมป์เบอรี่ ต่างก็นำเสนอความเห็นที่น่าสนใจมากๆ แวะไปอ่านได้ที่ กลเม็ดเคล็ดลับ : Exclusive 03 เขียนฉากเลิฟซีนอย่างมีชั้นเชิง  
 
สำหรับครั้งที่ 4 เห็นหัวข้อโปรยแล้ว น้องๆ หลายคนอาจงง ใช่แล้ว มันคือหัวข้อ “นิยายที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดี” เอ้า ยังไม่เห็นภาพ งั้นอธิบายเพิ่ม การเขียนแนวนี้ คือการที่เรานำเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย อาจจะใช้แค่ตัวละครต่างๆ หรือว่าฉากบางฉากก็ได้ แต่บางคน ก็อาจจะใช้โครงเรื่องของวรรณคดีเรื่องนั้นทั้งเรื่องเลย สำหรับนักเขียนต่างประเทศ เราก็เห็นวิธีการนี้อยู่บ้างเหมือนกัน หลายคนก็นำเค้าโครงเรื่องจากเทพนิยายต่างๆ เช่น ซินเดอเรลล่า เจ้าหญิงนิทรา หรือว่า สโนไวท์ มาเป็นแรงบันดาลใจให้กับผลงานของตัวเองเช่นกัน 
 
ถ้าอธิบายแล้วยังสับสน ไม่เห็นภาพอีก เรามาดูนักเขียนทั้ง 5 ของเราในวันนี้เลยดีกว่า น่าจะพอเห็นภาพมากขึ้น คนแรก เจ้าของนามปากกา ริญจน์ธร ที่มีชื่อเสียงมากเรื่องผลงานหวานๆ นิยายที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดีของริญจน์ธร คือ เพียง (ภพ) รัก เจ้าตัวบอกว่า มาจากวรรณคดี พระสุธน – มโนราห์ ส่วนคนต่อมาคือ อุมาริการ์ เจ้าของผลงาน เพลิงฉิมพลี (ที่เคยทำเป็นละครมาแล้ว พระเอกคืออั้ม อธิชาติ และนางเอกคือ เบลล่า ราณี และแรงบันดาลใจของเรื่องนี้ ก็มาจากวรรณคดี กากี ที่ได้ชื่อว่าอื้อฉาวมากที่สุดเรื่องหนึ่ง มากันที่ คนที่สาม คนดังของเว็บเด็กดีเรา สุชาคริยา หรือ อ้อย ผู้มีผลงานสุดฮอต ได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดี แก้วหน้าม้า ในชื่อเก๋ๆ ว่า พักตร์อสูร (สมชื่อแก้วหน้าม้าเลยนะ)
 
คนต่อมา พูดถึงทุกคนต้องรู้จักแน่นอน อีกหนึ่งนักเขียนผู้แจ้งเกิดจากเว็บเด็กดี ปัจจุบันกลายเป็นไอดอลในดวงใจใครหลายคนไปเสียแล้ว รอมแพง หรือ จอมนาง ที่มีผลงานเกี่ยวกับวรรณคดีหลายเรื่อง โดยเน้นไปที่เรื่องของนาคและครุฑเป็นหลัก ผลงานของรอมแพง ได้แก่ ปักษานาคา ยมธิดา โภคีธรา ฯลฯ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งนักเขียนที่นำวรรณคดีมาประยุกต์เข้ากับผลงานได้อย่างกลมกลืน และปิดท้ายกันที่นักเขียนรุ่นกลางที่มาแรงที่สุดคนหนึ่ง เจ้าของผลงานดังๆ มากมาย เอ่ยชื่อแล้ว เชื่อว่าน้องๆ ในเว็บเด็กดีทุกคนจะต้องรู้จักแน่ๆ พี่ปุ้ย กิ่งฉัตร นั่นเอง ผลงานของพี่ปุ้ยที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดีก็คือ ตรีเนตรทิพย์ ซึ่งใช้นามปากกาว่า “อลินา” ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ชื่อน่ารักอย่าง ลูกองุ่น พี่ตินก็ต้องขอขอบพระคุณพี่ปุ้ยมา ณ ที่นี้ ที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์กับเว็บเด็กดีของเรานะค้าบบ (อีก 4 คนข้างบนก็ขอบคุณเหมือนกันน้า จุ๊บๆๆ)     
 
เอาหละ แนะนำตัวกันมาอย่างยาว ได้เวลามาฟังเคล็ดลับและข้อควรระวังในการเขียนนิยายที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดี จากห้านักเขียนของเรากันแล้ว ขอเริ่มต้นจากริญจน์ธร นักเขียนแฟนตาซีสายหวาน กับผลงาน เพียง (ภพ) รัก ที่ได้แรงบันดาลใจจาก พระสุธน-มโนราห์ ก่อนเลยจ้า

“ข้อควรระวังในการเขียนนิยายที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากในวรรณคดีมีด้วยกันสองข้อค่ะ หนึ่งคือ ควรเคารพในวรรณคดีเรื่องที่เราหยิบยกมาเขียน สองคือ การสร้างพล็อตและตัวละครที่บ่งบอกความเป็นตัวผู้เขียนให้มากที่สุด เพราะนั่นคือนิยายที่เรากำลังเขียนอยู่ ควรใส่ตัวตนของเราลงสู่ผลงานค่ะ เคล็ดลับสำคัญสุดสำหรับการนำเค้าโครงวรรณคดีมาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนก็คือ การ ‘คิดนอกกรอบ’ เพราะจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีนิยายหลายเรื่องได้รับแรงบันดาลใจมาจากเทพนิยายบ้าง วรรณคดีบ้าง แล้วถ้านิยายสองเรื่องซึ่งบังเอิญได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องเดียวกัน วางแผงพร้อมกัน อะไรจะทำให้คนอ่านเลือกนิยายของเรา...ถ้าไม่ใช่ความแปลกใหม่ ขอยกตัวอย่างเรื่อง เพียง (ภพ) รัก ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากวรรณคดีเรื่องพระสุธนมโนราห์ ริญจน์ธรกล่าวถึงวรรณคดีเรื่องนี้ใหม่ในแง่มุมความรักของหุ่นกระบอกคู่หนึ่ง...พระสุธน-มโนราห์ พวกเขาพลัดพรากจากกัน โดยพระนางของเรื่องต่างเก็บหุ่นกระบอกไว้คนละตัว แต่ทั้งคู่จะพบกันได้อย่างไร ในเมื่อต่างมีชีวิตอยู่ห่างกันถึงเจ็ดปี อุปสรรคความรักและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์จึงถูกนำมาเสริม แต่งเติมนิยายเรื่องนี้ให้แปลกใหม่จากเดิม”
 
ตามมาต่อกันที่ พี่มด อุมาริการ์ อีกหนึ่งนักเขียนมือคุณภาพ เจ้าของผลงาน เพลิงฉิมพลี (แค่ฟังชื่อก็แซ่บแล้ว) ที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดีอมตะ เรื่องของผู้หญิงมากชู้หลายสามี อย่าง กากี

การนำวรรณคดีมาเป็นแรงบันดาลใจหรือตีความใหม่นั้น สำหรับตัวเองนั้น ขอแนะนำว่าก่อนจะลงมือเขียน ผู้เขียนต้องรู้จุดมุ่งหมายของตัวเองก่อนว่าต้องการนำเรื่องที่สนใจมาตีความใหม่หรือต่อยอดไปในลักษณะใด เช่นเพลิงฉิมพลี นำ กากี มาตีความใหม่ ในแง่ที่ผู้เขียนไม่เชื่อว่านางกากีจะเป็นชู้กับคนธรรพ์ และต้องการกลับมาทวงความยุติธรรมให้ตนเองที่วิมานฉิมพลี ซึ่งในส่วนนี้ไม่มีปรากฏในวรรณคดีจึงแจ้งผู้อ่านไว้ในคำนำ เพื่อเป็นการปูทางให้ผู้อ่านได้ทราบล่วงหน้า เพราะไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นว่านำวรรณคดีมาบิดเบือน ส่วนเคล็ดลับ สำหรับคนอื่นๆ อาจจะฟังแล้วงมงายอยู่บ้าง แต่ผู้เขียนมีความเชื่อในเรื่องเทวะ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว ดังนั้น ก่อนเขียนเรื่องเพลิงฉิมพลี ผู้เขียนได้สวดบูชาพญาครุฑก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล และความราบรื่นในการทำงาน นอกจากนี้ยังไปไหว้พระอัฐิของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ที่วัดไชยวัฒนารามเพื่อเป็นการขออนุญาตด้วย เนื่องจาก กากี ฉบับที่เป็นแรงบันดาลใจนั้น เป็นกากีที่ท่านทรงนิพนธ์เอาไว้”
 
คนที่สาม พี่อ้อย สุชาคริยา เจ้าของผลงานชื่อดังที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายต่อหลายครั้ง และเป็นผลงานที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเล่มหนึ่ง นั่นคือ พักตร์อสูร นวนิยายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณคดี แก้วหน้าม้า เรื่องราวของผู้หญิงที่แม้หน้าตาไม่สวย แต่จิตใจเข้มแข็งและมีน้ำใจ ไปฟังกันว่าพี่อ้อยนำวรรณคดีเรื่องนี้มาร้อยเรียงใหม่อย่างไรบ้าง

การเขียนนวนิยายที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดี เปรียบเสมือนการสร้างของสิ่งหนึ่งจากสิ่งที่มีอยู่เดิมแล้ว ให้ดียิ่งขึ้น โดย ‘ไม่นำ’ เอาสิ่งที่เคยสร้างไว้เดิมนั้นมาใช้ทั้งหมด ต้องทำให้แตกต่าง ทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมให้ได้ ในรูปแบบที่เราเป็น และเชื่อมั่นในสิ่งที่เราเขียน นักเขียนคือนักเล่าเรื่อง เรื่องเดียวกัน แต่เล่าเหตุการณ์สลับกัน ทำให้ตื่นเต้นมากน้อยไม่เท่ากัน เลือกตอนจบมาเล่าก่อน แล้วค่อยตลบเข้าเรื่องทั้งหมด หรือเลือกตอนกลางเรื่องมาเล่าก่อน แล้วเล่าสลับกัน ปิดท้ายด้วยคำตอบของเรื่อง อย่างนี้ก็แตกต่างได้ เป็นการนำแรงบันดาลใจมาใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม ให้เกียรติเรื่องเดิม
 
แรงบันดาลใจ สามารถนำมาใช้ได้กับการเขียนทุกรูปแบบ เพราะพล็อตหรือโครงเรื่องในโลกนี้มีเพียงไม่กี่อย่าง อยู่ที่ประมาณ 8-12 พล็อต ซึ่งที่เหลือ ตัวนักเขียนต้องเขียนและเลือกสร้างสรรค์ผลงานของตนเองให้มีความแตกต่างออกไป นำสิ่งที่ชอบมาปรับเปลี่ยนให้แตกต่าง เป็นไปในอีกรูปหนึ่ง สร้างสรรค์ให้เป็นของใหม่ นำเสนอในรูปแบบใหม่ สำคัญที่สุดคือต้องลงมือเขียน เพราะเราเขียนแล้ว เราจึงจะรู้ว่าควรวางเหตุการณ์ของเนื้อเรื่องไว้ตรงไหน นำเนื้อหาส่วนใดวางลงในจังหวะใด จึงดีที่สุดสำหรับเรื่องนั้นๆ แล้วการเขียนงานจากพล็อตที่มีอยู่เดิมก็จะสนุกขึ้น เป็นการต่อยอด เคารพตนเองและงานต้นทาง โดยไม่ทำให้ใครเสียหาย นี่จึงเรียกว่าแรงบันดาลใจ”
 
ต่อกันไวๆ ที่ พี่อุ้ย รอมแพง อีกหนึ่งนักเขียนที่มีชื่อเสียงเรื่องการนำแรงบันดาลใจจาก ตัวละครในวรรณคดี เช่น นาค หรือครุฑ มาสร้างสรรค์เป็นเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ นิยายของรอมแพง ออกแนวแฟนตาซี แต่ก็มีความรักเข้ามาเกี่ยวข้อง และที่สำคัญ อ่านสนุก อ่านเพลินด้วย

รอมแพงและผลงานปักษานาคา 
 
ปักษานาคา ยมธิดา และโภคีธรา ได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณคดีในเรื่องของความเป็นจักรๆ วงศ์ๆ แต่ไม่ถึงกับเป็นวรรณคดีชัดเจน อิเหนา หรือขุนช้างขุนแผนอย่างนี้ไม่ใช่ ในส่วนที่มีความเป็นจักรๆ วงศ์ๆ สิ่งที่ควรระวังคือการดำเนินเรื่องที่อาจจะต้องติดอยู่ในกรอบของเรื่องราวที่มีการกล่าวขานถึงมาแล้ว เช่นตำนานครุฑนาค หรือตำนานเกี่ยวกับไตรภูมิที่กล่าวถึงนรก และในส่วนของการกล่าวถึงเทพฮินดูต่างๆ ที่จะต้องค้นข้อมูลพอสมควร เนื่องจากแต่ละตำนานอาจจะมีเรื่องราวที่แตกต่างกันไปแล้วแต่การกล่าวถึงในลักษณะความเชื่อที่แตกต่างกัน ในส่วนของเคล็ดลับก็คือ พยายามจินตนาการให้แหวกล้ำเข้าไว้ แต่ยังคงสมจริง กล่าวคือควรมีเหตุมีผลในเนื้อเรื่อง ถึงแม้ว่าเรื่องราวจะเหลือเชื่อแต่ถ้าผูกพล็อตด้วยเหตุและผลก็จะทำให้ผู้อ่านคล้อยตามได้ง่ายขึ้นค่ะ
 
ปิดท้ายกันที่นักเขียนคนสุดท้ายของเรา พี่ปุ้ย กิ่งฉัตร นักเขียนผู้โด่งดังจากผลงานแนวรักโรแมนติก (ผสมผสานแนวสืบสวนสอบสวนบ้างเป็นระยะ) ยกตัวอย่างผลงานของพี่ปุ้ยที่ถูกนำไปทำเป็นละคร ได้แก่ พรพรหมอลเวง แสงดาวฝั่งทะเล ด้วยแรงอธิษฐาน บ่วงหงส์ ลีลาวดีเพลิง ชุดสามทหารเสือ มายาตวัน มนต์จันทรา และ ฟ้ากระจ่างดาว ล่าสุด พี่ปุ้ยได้หันมาลองเขียนแนวแฟนตาซีดูบ้าง กับผลงาน ตรีเนตรทิพย์ (ใช้นามปากกาว่า อลินา) ผลงานเรื่องนี้ มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับป่าหิมพานต์เป็นหลัก มาฟังกันว่าพี่ปุ้ยมีเคล็ดลับอย่างไรในการสร้างสรรค์นิยายที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดี

พี่ปุ้ย กิ่งฉัตรและผลงานตรีเนตรทิพย์ 
 
นวนิยายที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณคดีหรือเรื่องเล่าขานสืบๆ ต่อมานั้น ผู้เขียนต้องระวังในเรื่องความถูกต้องของข้อมูล เพราะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่รับรู้ถึงเนื้อหาหรือเรื่องราวอยู่แล้ว และถ้าจะเขียนต่อเติมหรือจินตนาการโดยอิงจากเรื่องราวนี้ ต้องทำให้ผู้อ่านเชื่อได้จริงๆ มีความสมจริงสมจัง ต้องนำเสนอให้ผู้อ่านยอมรับให้ได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ และกลัวจะมีการติติงจากนักอ่านหรือผู้รู้ในเรื่องราวในวรรณคดีนั้น ก็ต้องหาทางเลี่ยงค่ะ อาจจะสร้างเมืองสมมติใหม่ หรือสร้างโลกคู่ขนานขึ้นมาเลย โดยแค่อิงเนื้อหาบางส่วนจากวรรณคดีเท่านั้น อย่างเรื่องในชุดนวหิมพานต์ที่เขียน ตอนก่อนจะลงมือค้นข้อมูลแล้วเห็นว่ารายละเอีอดเกี่ยวกับหิมพานต์มีเยอะมาก และบางครั้งข้อมูลจากหลายแหล่งก็ไม่ได้ตรงกันเสียทีเดียว โอกาสที่จะพลาดมีค่อนข้างสูง เลยตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการโยงเรื่องการทำนายเกี่ยวกับโลกแตกเข้ามา แล้วทำลายป่าหิมพานต์เก่าเสีย ตั้งต้นหิมพานต์ใหม่ในยุคที่เหมือนกับปัจจุบัน ทิ้งรายละเอียดยิบย่อยเดิมเอาแต่โครงสร้างพื้นฐานมาสร้างใหม่ บอกให้คนอ่านรู้ตั้งแต่แรกว่านี่ไม่ใช่ป่าหิมพานต์ที่พวกคุณเคยรู้จักนะคะ แต่เป็นเมืองใหม่ที่สิ่งมีชีวิตหลุดรอดมาจากป่าหิมพานต์เท่านั้น เท่านี้ก็จะบรรเทาปัญหาของการนำวรรณคดีมาใช้ได้ในระดับหนึ่งแล้วค่ะ”

คำแนะนำปิดท้ายของพี่ปุ้ย ถือว่าเป็นทางแก้ไขปัญหาที่ดีอีกทางหนึ่ง เพราะการนำวรรณคดีมาใส่ในเนื้อเรื่อง ย่อมได้รับความคาดหวังจากผู้อ่าน ถ้าหากเกิดความลังเลหรือไม่แน่ใจในเนื้อหาส่วนไหน บางที นักเขียนอาจแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาใหม่ และปรับให้เข้ากับสไตล์การเขียนของเรา ก็จะช่วยลบคำวิจารณ์ได้ส่วนหนึ่ง   
 
สำหรับน้องๆ คนไหน ยังไม่แน่ใจเรื่องพล็อต หรือว่ากำลังคิดอยากเขียนงานใหม่สักเรื่อง ลองหาวรรณคดีน่าสนใจมาอ่านสักเรื่อง แล้วลองประยุกต์เข้ากับผลงานของเราดู พี่ตินบอกได้เลยว่า วรรณคดีให้แรงบันดาลใจกับเราได้ดีจริงๆ และแม้ว่าอ่านแล้ว เราอาจจะยังนึกไม่ออกว่าจะโยงเรื่องราวทั้งหมดให้เข้ากันได้อย่างไร แต่ก็ถือว่าได้ประโยชน์และคุณค่าทางวรรณศิลป์ แถมยังได้ศึกษาภาษาเพราะๆ อีกด้วย
 
ยังไงก็ลองหาวรรณคดีมาอ่านกันนะจ๊ะ 
 
อตินเอง  
ป.ล. ติดตามเพจไรท์เตอร์ด้วยนะจ๊ะ

พี่อติน
พี่อติน - Writer Editor ผู้ดูแลหมวดนักเขียนที่หลงใหลการอ่านแบบสุดๆ และไม่เคยพลาดทุกข่าวสารในวงการวรรณกรรม!

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Chanyanuch Member 20 มี.ค. 58 16:49 น. 1

ตอนนี้กำลังจะเขียนอยู่ค่ะ  ปัจจุบันยังอยู่ในไหดอง เสียใจ

คิดว่าจะไปสอยตรีเนตรทิพย์กับหนังสือออกใหม่เรื่อง "ทุติยอสูร" ในงานสัปดาห์หนังสือค่ะ

แล้วก็เพลิงฉิมพลีด้วย 

ไม่ได้ดูละคร  แต่ยังติดตาภาพเนื้อนาง  (เบลล่า  ราณี)  รำฟ้อนแง้น 

นึกถึงเรแกนตอนที่ถูกปีศาจพาซูซูสิงร่างทำท่าสะพานโค้งในเรื่อง  The  Exorcist  ภาคแรก

2
กำลังโหลด

5 ความคิดเห็น

Chanyanuch Member 20 มี.ค. 58 16:49 น. 1

ตอนนี้กำลังจะเขียนอยู่ค่ะ  ปัจจุบันยังอยู่ในไหดอง เสียใจ

คิดว่าจะไปสอยตรีเนตรทิพย์กับหนังสือออกใหม่เรื่อง "ทุติยอสูร" ในงานสัปดาห์หนังสือค่ะ

แล้วก็เพลิงฉิมพลีด้วย 

ไม่ได้ดูละคร  แต่ยังติดตาภาพเนื้อนาง  (เบลล่า  ราณี)  รำฟ้อนแง้น 

นึกถึงเรแกนตอนที่ถูกปีศาจพาซูซูสิงร่างทำท่าสะพานโค้งในเรื่อง  The  Exorcist  ภาคแรก

2
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Chanyanuch Member 24 มี.ค. 58 22:00 น. 3

นวนิยายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณคดีไทยกับนิทานพื้นบ้านไทยมีอยู่หลายเรื่องมาก

ส่วนมากจะเป็นนวนิยายที่เกี่ยวข้องกับนาคและครุฑจะเยอะแยะมาก

(ขออนุญาตไปนับว่ามีกี่เรื่อง)  มักจะเป็นแนวรักโรแมนติก  แฟนตาซี  ลึกลับ  สยองขวัญ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด