จำกันได้ไหม 10 วรรคทองนี้ จากวรรณคดีไทยเรื่องไหนบ้าง!



รู้จักวรรณคดีจาก 10 วรรคทองที่คุ้นตา!
 


สวัสดีค่ะ น้องเด็กดีไรท์เตอร์ทุกคน...  พี่หวานและคอลัมน์ “สาระวรรณกรรม” กลับมาทักทายกันอีกแล้ว ก่อนจะเข้าสู่บทความ พี่หวานมีคำถามค่ะ ' ^')? ปกติเวลาที่อ่านหนังสือน้องๆ จะจดจำรายละเอียดของเรื่องนั้นๆ จากอะไรกันบ้างคะ? เเล้วเคยมั้ยที่อ่านเจอประโยคที่โดนใจจนต้องจดไว้มาเป็นเเคปชั่นหรือสเตตัสในเฟสบุ๊ก? พี่หวานเป็นแบบนี้บ่อยมากเลยล่ะค่ะ หลายครั้งที่อ่านเจอประโยคโดนใจในหนังสือหรือวรรณคดีพี่หวานก็จะจำไว้ เเละประโยคเหล่านั้นก็ช่วยให้พี่หวานจำเรื่องราวในหนังสือได้ด้วย ถือเป็นวิธีที่ไม่เลวเลยใช่มั้ยคะ ฮ่าๆ...

วันนี้พี่หวานก็เลยตัดสินใจรวบรวมและคัดเลือก ‘วรรคทอง’ เกี่ยวกับความรักในวรรณคดีที่หลายคนน่าจะคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นการได้ยินผ่านหู หรือดูผ่านตาบ่อยๆ มาฝากค่ะ ใครเคยเป็นแบบพี่หวานบ้างว่า ประโยคนี้ๆๆ… ก็พูดกันมานาน ได้ยินมานานแล้วแหละ แต่ไม่รู้ว่าที่มาจริงๆ มาจากที่ไหนกันแน่ วันนี้หลายคนอาจจะได้คำตอบนั้นก็ได้นะคะ ถ้าพร้อมเเล้วก็เลื่อนลงมาดูได้เลยย ^___^



 


         “      ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก       สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
         ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป                  แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน ”

 


เริ่มกันที่วรรคทองแรกที่พี่หวานมั่นใจว่าหลายคนต้องเคยได้ยินบ่อยมากแน่นอน เพื่อนพี่หวานก็เคยพูดเล่นกันว่า ถ้าจะคิดจะเมา ก็ขอให้เมาเหล้าเถอะ มันดีกว่าเมารักแน่ๆ ตอนแรกพี่หวานก็ไม่เข้าใจหรอกค่ะแต่พอเจอกับตัวนี่ก็ร้อง อ๋อ เลย…ฮาาาา

สำหรับวรรคทองที่ยกมานี้มาจากเรื่อง นิราศภูเขาทอง ซึ่งแต่งโดยสุนทรภู่ค่ะ เป็นวรรณคดีนิราศที่จะต้องบรรยายถึงการเดินทาง พลัดพรากจากนางเป็นที่รัก และก็คร่ำครวญหาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในที่นี้สุนทรภู่กำลังเดินทางจะไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทองที่พระนครศรีอยุธยาค่ะ ความหมายก็ตามตัวเลย ในอดีตน้องๆ คงจะรู้ใช่มั้ยคะว่าท่านกวีเอกคนนี้เคยติดสุราจนเสียงานเสียการ ขาดสติ ถือเป็นช่วงตกต่ำของชีวิตท่านเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นเวลาท่านเมาเช้ามาก็สร่าง แต่ ณ ตอนนี้ที่กำลังเมาในรสชาติของความรัก เพราะต้องจากนางอันเป็นที่รักนั้นมันทรมาน ทำให้คนมีแต่ถลำลึก แล้วก็ยากที่จะหายจากอาการนี้ได้ จึงเป็นที่มาว่าทำไมเมาเหล้าถึงดีกว่าเมารักนั่นเองค่ะ

 


        “     ความเอยความรัก                   เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน
        เริ่มเพาะเหมาะกลางหว่างหัวใจ            หรือเริ่มในสมองตรองจงดี
       แรกจะเกิดเป็นไฉนใครรู้บ้าง                อย่าอำพรางตอบสำนวนให้ควรที่
       ใครถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรตี            ผู้ใดมีคำตอบขอบใจเอย ”



(รูปภาพจาก : http://www.oknation.net/blog/BookSuparak/2013/06/18/entry-1)

แค่ขึ้นต้นมาพี่หวานก็เชื่อว่าทุกคนต้องรู้สึกคุ้นหูก่อนคุ้นตา เพราะมีเพลงชื่อ ความรัก ออกมาให้ฟังหลายเวอร์ชั่นเลยค่ะ พี่หวานว่าหลายคนคงจะคุ้นเคยเพราะได้ยินมาจากเพลงมากกว่าจะรู้ว่าจริงๆ แล้ววรรคทองนี้ปรากฏในผลงานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง บทละครพูดคำกลอน เวนิสวาณิช มาก่อนแล้ว ถ้าเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดรู้สึกจะเป็นคุณแนน สาธิดานำมาขับร้องใหม่ประกอบละครเรื่องคุณชายรัชชานนท์ด้วยนะคะ(แต่ส่วนตัวพี่หวานชอบเพลงความรักเวอร์ชั่นที่คุณชรินทร์ร้องคู่กับคุณสวลีมากกว่า > ///<) ในส่วนความหมายที่ถอดได้จากวรรคทองที่ยกมานี้นะคะ จะเป็นในตอนที่ บัสสานิโยและนางปอร์เซีย ร้องถามโต้ตอบกันเกี่ยวกับความรักที่เกิดขึ้นว่า ความรักแท้จริงแล้วเริ่มเกิดจากอะไร สมองหรือหัวใจ? มีสิ่งใดเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงความรักได้ ถ้าใครมีคำตอบก็จะขอบคุณ ซึ่งถ้าน้องๆ มีเวลาพี่หวานก็อยากแนะนำให้ลองไปหาตัวบทมาอ่านดูนะคะ เพราะบทถัดไปได้มีคำตอบไว้ว่า ความรักก็เริ่มต้นจากเมื่อได้พบและสบตากับนางนั่นเอง ถือว่าเป็นบทประพันธ์บทหนึ่งที่มีความหมายลึกซึ้งมากทีเดียวค่ะ

 


         “     ความรักเหมือนโรคา              บันดาลตาให้มืดมน
         ไม่ยินและไม่ยล                           อุปะสัคคะใดใด
               ความรักเหมือนโคถึก              กำลังคึกผิขังไว้
         ก็โลดจากคอกไป                        บยอมอยู่ ณ ที่ขัง
               ถึงหากจะผูกไว้                    ก็ดึงไปด้วยกำลัง
         ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง                         บหวนคิดถึงเจ็บกาย ”



(รูปภาพจาก : https://sites.google.com/a/mengrai.ac.th/krukingkran/reuxng-yx)

มาต่อกันที่วรรคทองอันที่สามที่พี่หวานยกมา รู้สึกว่าประโยคแรกก็คงจะไม่มีใครไม่เคยได้ยินใช่มั้ยคะ คุ้นตามากๆ เลย>< ถ้าน้องๆ สังเกตดูจะพบว่าในวรรณคดีมักเปรียบคนที่ลุ่มหลงในรักหรือตกอยู่ในภวังค์แห่งรักเหมือนคนกำลังหลงทางในเขาวงกต หรือเหมือนคนป่วย(ซึ่งในที่นี้ก็คือป่วยใจ) นั่นก็เพราะความรักมักจะเข้ามามีผลต่อใจคนโดยไร้เหตุผล จากวรรคทองนี้เป็นตอนที่พระฤาษีกาละทรรศิน จากเรื่อง มัทนะพาธา ได้พูดกับศุภางค์ว่า ความรักของมัทนากับพระชัยเสนนั้นยากที่จะห้ามได้ ตอนนี้ทั้งสองคนกำลังป่วยใจ เพราะได้รับเชื้อจากความรักจนทำให้ตาบอด ถ้าจะพูดถึงพลังแห่งรักที่ทำให้เรามีแรงต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้มันก็ดีค่ะ แต่ถ้ารักมากเกินไปจนไม่อยู่บนความเป็นจริงก็จะถูกเปรียบให้เหมือนคนตาบอดนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้นการจะห้ามความรู้สึกของพระชัยเสนก็เหมือนเราเอาเชือกไปผูกดึงโคถึกที่กำลังอาละวาด ถึงเราจะผูกเขาไว้แต่สุดท้ายเขาก็จะดันทุรังหนีออกไปจากคอกอยู่ดี พระฤาษีกาละทรรศินจึงไม่ห้ามความสัมพันธ์ระหว่างนางมัทนากับพระชัยเสน เพราะรู้ว่าพิษรักนี่แหละค่ะที่อันตรายกว่าสิ่งใด ถ้าใครเคยฟังเพลง บุพเพสันนิวาส ที่ประกอบละครเรื่องวนิดา คงจะคุ้นกันมากขึ้นเพราะในเพลงมีท่อนหนึ่งจากวรรคทองนี้ด้วยค่ะ ลองไปหาฟังกันดูนะคะ

 


      “     ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร        ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
      แม้อยู่ในใต้หล้าสุธาธาร                    ขอพบพานพิสวาทมิคลาดคลา  ”


ในส่วนของวรรคทองบทต่อมาที่พี่หวานจะพูดถึงมาจากเรื่อง พระอภัยมณี ค่ะ น้องๆ ก็น่าจะพอคุ้นกันบ้าง แต่ถ้าถามว่ามาจากที่ไหนคงจะต้องใช้เวลานึกนานทีเดียว แต่พี่หวานมีคำตอบให้แล้วค่ะ วรรคทองนี้เป็นตอนที่พระอภัยมณีสื่อความรู้สึกและให้คำมั่นต่อนางละเวงวัณฬา โดยตอนนั้นเป็นตอนที่ทั้งสองคนกำลังทำศึกกันอยู่ ด้วยความเจ้าชู้ของพระอภัยมณีก็ได้เกี้ยวนางละเวงด้วยวรรคทองนี้นี่เอง ซึ่งเมื่ออ่านแล้วจะต้องยกนิ้วให้กับความสวยงามทั้งทางความหมายและการเลือกใช้คำของท่านสุนทรภู่เลยล่ะค่ะ เพราะท่านได้เปรียบความรู้สึกของพระอภัยมณีที่มีต่อนางละเวงว่า แม้แผ่นฟ้า ผืนดิน และมหาสมุทรจะล่มสลายไป แต่ความเสน่หา และความรักที่มีจะไม่ล่มสลายไปด้วย ต่อให้ต้องตายไปก็จะขอตามไปเจอกันอีกครั้ง และจะรักนางไปทุกๆ ชาติ โดยท่านสุนทรภู่ยังแต่งโดยมีการเปรียบอีกว่าถ้านางละเวงเป็นน้ำ พระอภัยมณีก็จะขอเป็นปลา ถ้านางละเวงเป็นดอกบัวพระองค์ก็จะตามไปเกิดเป็นบรรดาผึ้งคอยชมอยู่รอบๆ หรือสุดทายถ้านางละเวงไปเกิดเป็นถ้ำ ตัวพระอภัยมณีก็จะขอเป็นราชสีห์ที่อาศัยอยู่ในถ้ำนั้นจะได้อยู่ใกล้กับนางตลอดไปนั่นเองค่ะ

 

     “     เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก     แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
     ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน                  แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”


และเราก็ยังคงอยู่กับวรรคทองจากเรื่อง พระอภัยมณี ผลงานเรื่องเยี่ยมของสุนทรภู่นะคะ ในส่วนของบทนี้จะเป็นตอนที่พระอภัยมณีได้นางละเวงวัณฬาเป็นชายาอีกคนแล้วนางละเวงก็ได้ใช้จริตผู้หญิงในการตัดพ้อว่าพระอภัยมณีก็คงจะแค่พูดคำหวานให้นางฟังแค่ตอนนี้ พอหมดรักนางก็คงจะหนีกลับไป และไม่สนใจนางอีกแน่นอน พี่หวานยกวรรคทองนี้มาเพราะคิดว่าเป็นการสอนให้รู้จักความรักได้อย่างแท้จริง เพราะว่าตอนที่เรามีความรักมาบังตา อะไรๆ ที่เขาว่าดีเราก็ว่าดีไปหมด โดยปกติแล้วน้ำต้มผักนั้นออกจะมีรสชาติขม แต่คนที่มีความรักนั้นอาจจะไม่รับรู้ได้ถึงความขมนั้นเพราะความหวานมันล้นใจไปหมด แต่เมื่อไหร่ที่ห่างเหินกันไปจนความรู้สึกรักที่เคยมีลดลง อะไรที่เคยว่าดีก็อาจกลับกัน ขนาดน้ำตาลที่รสชาติของมันคือความหวาน ในวันที่ความรักหมดไปจากหัวใจ เมื่อได้ชิมน้ำตาลนี้อาจจะรู้สึกว่ามันเปรี้ยวขึ้นมาก็ได้... พี่หวานคิดว่าวรรคทองบทนี้แสดงให้เห็นความสามารถในการใช้ความเปรียบให้ข้อคิดและทำให้คนอ่านเห็นภาพได้อย่างชัดเจนของท่านสุนทรภู่ได้ดีมากๆ เลยค่ะ
 


          “    แล้วว่าอนิจจาความรัก        พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
          ตั้งแต่จะไหลเชี่ยวเป็นเกลียวไป      ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา”



วรรคทองนี้พี่หวานเองก็ได้ยินมาบ่อยค่ะ แต่ว่านึกไม่ออกเลยว่าได้ยินมาจากวรรณคดีเรื่องไหน พอได้หาข้อมูลก็เลยรู้ว่ามาจากเรื่อง อิเหนา นั่นเอง(ซึ่งตอนนี้ก็จำได้ขึ้นใจเลยค่ะ55555)  และบทนี้ก็มาจากตอนที่อิเหนาลานางจินตะหราเพื่อจะกลับไปช่วยรบในศึกชิงตัวบุษบา ซึ่งนางจินตะหรารู้ดีแล้วว่าถ้าอิเหนาไปครั้งนี้คงจะไม่กลับมาหานางอีกแน่นอน ก็เลยตัดพ้อว่า นางเพิ่งจะรู้เดี๋ยวนี้ว่าความรักก็เหมือนสายน้ำที่เมื่อไหลผ่านไปแล้ว คงจะยากที่ไหลย้อนกลับมา ซึ่งคงไม่มีผู้หญิงคนไหนจะน่าเวทนาเท่านางอีกแล้วที่ไปหลงรักคนที่สูงส่งกว่าตนเองอย่างอิเหนา พี่หวานเคยได้ยินวรรคทองนี้มาบ่อยนะคะแต่ไม่คิดเลยว่าความหมายของมันจะลึกซึ้งขนาดนี้ รู้ทั้งรู้ว่าถ้าเขาไปครั้งนี้คงจะไม่กลับมา แต่เราก็ไม่มีสิทธิ์จะห้ามไม่ให้เขาไปด้วยซ้ำ ชีวิตรักของนางจินตะหรานี่น่าสงสารจริงๆ เลยนะคะT^T

 


       “     เป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก       เป็นผู้ชายยิ่งยากกว่าหลายเท่า
       หญิงต้องเจียมกายามาแต่เยาว์           ชายต้องเฝ้าวิงวอนให้หล่อนรัก
       หญิงถึงรักต้องแกล้งแสร้งทำเฉย        หวังให้ชายอยากเชยยิ่งขึ้นหนัก
       ต่างคนต่างซัดกันน่าขันนัก               ที่แท้ต่างสมัครจะรักกัน”


เรามักจะได้ยินประโยคที่ว่า ‘เป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก….’ แล้วก็จะตามด้วยประโยคอื่นๆ มากมายเพื่อมาขยายความว่าเป็นผู้หญิงลำบากยังไง แต่น้องๆ รู้มั้ยคะว่าในวรรณคดีก็มีประโยคนี้มานานแล้วเหมือนกัน ซึ่งวรรคทองนี้พี่หวานยกมาจากเรื่อง วิวาหะพระสมุท ผู้แต่งคือศรีอยุธยา(นามแฝงนี้ยังเป็นนามแฝงอีกอย่างของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าจ้าอยู่หัวด้วยนะคะ^^) โดยบทนี้เป็นตอนที่ตัวละครในเรื่องชื่อ แมรี รับรักนายทหารเอกเอ็ดเวิร์ด และยังมีสาวใช้อีกสองคนที่รับรักนายทหารอีกสองนาย คนทั้งสามคู่จึงร้องเพลงตอบโต้กันค่ะ แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ล้วนแต่มีเรื่องที่ได้เปรียบและเสียเปรียบต่างกันค่ะ ในแง่ของความรักนี่ยิ่งซับซ้อนไปใหญ่ กว่าที่คนสองคนจะได้รักกัน  ผู้หญิงก็บอกว่าต้องรักนวลสงวนตัว เผยความรู้สึกมากก็ไม่ได้ ถ้าออกตัวก่อนก็คงจะดูไม่ดี ส่วนฝ่ายผู้ชายก็โต้กลับมาว่าเป็นผู้ชายก็ลำบากเหมือนกันนะ เพราะก็ต้องมาอ้อนวอนความรักจากผู้หญิง โดยเฉพาะถ้าผู้หญิงไม่แสดงออกก็ยิ่งเป็นการยากที่จะเริ่มความสัมพันธ์ได้ เรื่องราวทุกอย่างก็เลยยิ่งยากขึ้นไปเพราะต่างฝ่ายต่างทำให้มันยากนั่นเอง ทั้งๆ ที่จริงแล้วก็มีใจให้กันทั้งคู่ เห็นมั้ยคะว่าข้อคิดที่แฝงมากับวรรณคดียังใช้ได้ในยุคปัจจุบันอยู่น้าา รักใครชอบใครก็รีบบอก สงสัยก็รีบถามนะคะ ชีวิตคนเราไม่ได้มีวันพรุ่งนี้กันตลอดไปหรอกเนอะ น้องๆ ว่าจริงมั้ยคะ ^^?
 


            “    จะหักอื่นขืนหักก็จักได้         หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
           สารพัดตัดขาดประหลาดนัก        แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ…”


และวรรคทองต่อมานี้ก็ได้มีการเปรียบเทียบการห้ามใจไม่ให้รักว่าเป็นการยากยิ่ง ในตอนนี้พี่หวานยกมาจากเรื่อง นิราศอิเหนา อีกหนึ่งผลงานของท่านสุนทรภู่ โดยเป็นเรื่องราวในตอนที่อิเหนาออกตามหานางบุษบาหลังจากที่นางโดนลมหอบหายไป ระหว่างทางก็มีการรำพันถึงนางอยู่เสมอ จนสุดท้ายเป็นเวลาเกือบเจ็ดเดือนก็ยังไม่เจอ อิเหนาก็เลยคิดขึ้นมาว่า การจะหัก จะตัดเรื่องอื่นทำไมถึงทำได้ง่ายนัก แต่ถ้าเป็นเรื่องรักจะให้เลิกรัก เลิกคิดถึงนางนี่มันยากเหลือเกิน ไม่ว่าจะทำยังไงก็ตัดไม่ขาดสักที พี่หวานอ่านบทประพันธ์ตอนนี้แล้วก็คิดตามไป พี่หวานว่าคำถามนี้คงจะไม่มีใครตอบแทนใครได้หรอกค่ะ ว่าทำไมตัดใจจากความรู้สึกรักถึงตัดยากกว่าอย่างอื่น ของอย่างนี้ถ้ามันจะตัดได้ก็อยู่ที่ตัวเราเองนี่แหละค่ะ ลองถามตัวเองดูว่าที่มันตัดไม่ขาดเป็นเพราะเราไม่ยอมตัดเองรึเปล่า…?


 

" ที่ใดมีความรัก  ที่นั่นมีความทุกข์ "


(รูปภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=PW7K0fLEICQ)


วรรคทองนี้ที่พี่หวานจะพูดถึงพี่หวานมั่นใจมากๆ ว่าเกือบทุกคนต้องเคยได้ยินมาแล้ว ซึ่งพี่หวานได้หยิบมาจากเรื่อง กามนิต – วาสิฏฐี ค่ะ เหตุการณ์ในเรื่องนี้เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าได้ให้โอวาทแก่นางวาสิฏฐีที่เกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งนางได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าตามคำชี้แนะขององคุลิมาลผู้ซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธองค์จนตัดสินใจออกบวช ในตอนนั้นนางเองก็ตรอมใจเพราะพิษรักที่ไม่ได้ครองคู่กับกามนิต แต่เมื่อตัดสินใจบวชเป็นภิกษุณีและได้ใช้ธรรมมะเป็นที่พึ่ง นางก็เหมือนได้รับชีวิตใหม่ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จจาริกไปที่แคว้นอื่นก็ได้ให้โอวาทที่มีความว่า “ที่ใดมีความรัก ที่นั่นมีความทุกข์” แก่นางวาสิฏฐีนั่นเองค่ะ พี่หวานคิดว่าประโยคนี้ก็มีความหมายในตัวมันเองอยู่แล้ว เมื่อไหร่ที่เราวางใจเรื่องรักได้ เราก็จะไม่ทุกข์และไม่ร้อนค่ะ ความรักที่ไม่มีความทุกข์ใจนั้นแทบจะไม่มีหรอกค่ะ มีแต่ทุกข์มากหรือทุกข์น้อยและเราจะจัดการควบคุมความรู้สึกทุกข์ในใจได้หรือไม่มากกว่า พี่หวานรู้สึกว่าเวลาคนเรามีความรัก หัวใจของเราจะเปราะบางมากขึ้น อะไรเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดจากคนที่เรารัก แน่นอนว่ายิ่งกระทบใจเราง่ายกว่าเรื่องอื่นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้จักปล่อยให้มากขึ้น หัวใจของเราก็จะทุกข์น้อยลงนั่นเองค่ะ


 

            “   อันของสูงแม้ปองต้องจิต         ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้ฤๅ
           มิใช่ของตลาดที่อาจซื้อ                 ฤๅแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม”
 


(รูปภาพจาก : http://www.bookpoint.co.th/bookpoint/pictures/product/9786167279251.GIF)


มาถึงวรรคทองบทสุดท้ายที่พี่หวานจะยกมาพูดแล้วค่ะ น้องๆ เคยฟังเพลง นิทาน ของวง MUSKETEERS มั้ยคะ? ในเพลงนั้นมีท่อนหนึ่งคล้ายกับวรรคทองบทนี้เลยค่ะ ถ้าใครไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วประโยคที่ได้ยินมาบ่อยๆ นี้มาจากไหน พี่หวานก็หาคำตอบมาฝากแล้วค่ะว่ามาจากเรื่อง ท้าวแสนปม ผลงานประพันธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพี่หวานอ่านแล้วก็คิดตามว่าประโยคข้างต้นนี้มีความหมายใกล้เคียงกับสุภาษิตที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น เลยนะคะ เพราะการที่เราอยากได้อะไรสักอย่างถ้าไม่พยายาม มัวแต่รอโอกาสก็คงจะไม่ทันการแล้วค่ะ เราต้องกล้าที่จะเอื้อมมือคว้าสิ่งที่เราต้องการนะคะน้องๆ เช่นกันกับในเรื่องท้าวแสนปม ตอนนี้เป็นการโต้ตอบสาส์นรักผ่านลูกฟักระหว่างพระชินเสนกับนางอุษาค่ะ ซึ่งนางอุษาเป็นผู้ตอบกลับวรรคทองนี้แก่พระชินเสนที่มีความมุ่งหวังในตัวนางแต่ก็ไม่กล้า นางได้บอกกลับมาว่า ถ้าเห็นแก้วแวววาวอยากได้แต่ไม่คิดคว้าคงจะไม่มีโอกาสที่มันลอยเข้าไปอยู่ในมือได้เองหรอกนะ ยิ่งเป็นของสูงค่า ถ้าไม่คิดที่จะปีนขึ้นมาคว้าก็คงไม่มีทางได้ เป็นการตอบสาส์นในเชิงที่นางอุษาเองก็มีใจอยู่แล้วและไม่อยากให้พระชินเสนมัวแต่คิดไม่กล้าเดินหน้าต่อยังไงล่ะคะ เพราะสุดท้ายพี่หวานเชื่อว่าความพยายามจะไม่มีวันทรยศเราค่ะ สู้ๆ! ฮาาา


 

เป็นยังไงกันบ้างคะกับวรรคทองในวรรณคดีที่พี่หวานยกมาพูดถึงในวันนี้ ไม่รู้ว่าจะพอช่วยให้น้องๆ คลายความสงสัยถึงที่มาของประโยคฮอตฮิตเหล่านั้นได้บ้างรึเปล่า แต่พี่หวานคิดว่าคงจะทำให้หลายคนเข้าใจความหมายในตัวบทนั้นๆ ได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นแน่นอน 

ความรักนี่ยิ่งทำความเข้าใจก็ยิ่งไม่เข้าใจเลยนะคะ โดยส่วนตัวพี่หวานชอบวรรคทองจากทุกๆ เรื่องเลย เพราะพี่หวานรู้สึกว่ามันจริงทุกอันเลยค่ะ แล้วน้องๆ ชอบวรรคทองอันไหนเป็นพิเศษกันบ้างคะ หรือถ้าใครมีวรรคทองจากวรรณคดีเรื่องอื่นนอกเหนือจากนี้ก็แสดงความคิดเห็นกันเข้ามาได้นะคะ เพราะวรรณคดีนั้นมีมากมายหลายเรื่องเลยล่ะ วรรคทองที่พี่หวานเลือกมาก็อาจจะไม่ใช่วรรคทองที่โดนใจ เพราะฉะนั้นถ้ามีวรรคทองอื่นเพิ่มเติมอย่าลืมบอกกันด้วยน้าา แล้วเจอกันใหม่บทความหน้าค่ะ ^___^

 


พี่หวาน


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

คุณ Benz
หนังสือกวีวัจน์วรรณนา : ราชบัณฑิตยสถาน, 2557
หนังสือสารานุกรมวรรณคดี : ประพัฒน์ ตรีณรงค์และสงวน อั้นคง, 2516


 




 

พี่หวาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด
FAiiiRY Member 20 ต.ค. 59 20:20 น. 5

'ที่ใดมีความรัก ที่นั่นมีความทุกข์'
ที่ทุกข์ก็เพราะเกิดจากการต้องพลักพรากจากสิ่งที่รัก เนื่องจากมัวเมายึดติดกับความรัก (กิเลส) หากวางอุเบกขา (วางเฉย) เสียได้ ก็จะคลายทุกข์ได้ ต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่าอารมณ์ความรู้สึกเป็นเพียงสิ่งปรุงแต่งจิตใจ

0
กำลังโหลด

9 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
FAiiiRY Member 20 ต.ค. 59 20:20 น. 5

'ที่ใดมีความรัก ที่นั่นมีความทุกข์'
ที่ทุกข์ก็เพราะเกิดจากการต้องพลักพรากจากสิ่งที่รัก เนื่องจากมัวเมายึดติดกับความรัก (กิเลส) หากวางอุเบกขา (วางเฉย) เสียได้ ก็จะคลายทุกข์ได้ ต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่าอารมณ์ความรู้สึกเป็นเพียงสิ่งปรุงแต่งจิตใจ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด