ติวเข้ม! 20 เทคนิคเขียนนิยายเรื่องแรกให้จบ!


ติวเข้ม! 20 เทคนิคเขียนนิยายเรื่องแรกให้จบ!  
 
สวัสดีเช่นเคยชาวนักเขียนและนักอ่านเด็กดีของเรา เหตุผลที่แอดมินเลือกทำบทความนี้ ก็เพราะนึกถึงคำว่า “นิยายเรื่องแรก” ค่ะ จำได้ว่าตอนตัวเองเขียนนิยายเรื่องแรกนั้นก็หินเอาการอยู่ไม่น้อย แต่เพราะความเป็นคนอดทน (บวกถึก) ทำให้แอดมินไม่ย่อท้อ เขียนต่อไปเรื่อยๆ และเรื่อยๆ สุดท้ายก็จบในที่สุด แต่... กว่าจะจบได้นั้น บอกเลยว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ อุปสรรคมากมายนักหนาเลยล่ะค่ะ  
และเพราะงั้น วันนี้แอดมินก็เลยตัดสินใจว่า ต้องทำบทความที่ให้ความสำคัญกับการเขียนนิยายเรื่องแรกสักหน่อย เผื่อใครกำลังเจอประสบการณ์นี้อยู่ จะได้นำเคล็ดลับจากบรรดานักเขียนดังๆ เหล่านี้ ไปใช้ช่วยให้ตัวเองได้พัฒนา สามารถเขียนนิยายจนจบเรื่อง 
 
มาเลย เคล็ดลับดีๆ เพียบ 
 

 
1 เขียนให้เร็วไว้ก่อน 
ลอเรน จีบาลดี้ เจ้าของผลงาน The Night We Said Yes
ยังๆ อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะนักเขียนเขาไม่ได้หมายความว่าเขียนเร็วมากๆ แล้วจะดีนะ แต่นักเขียนคนนี้บอกว่า ให้เขียนนิยายให้จบโดยเร็วที่สุด แต่ให้อีดิต หรือแก้ไขให้ช้าที่สุด สำหรับลอเรน เวลาเขียน เธอจะเขียนไปเรื่อยๆ จ้ำๆๆๆๆ จนจบเรื่องนั่นแหละ แล้วค่อยกลับมาอ่านทวนใหม่ แน่นอน ลอเรนบอกว่า คุณจะเจอข้อผิดพลาดมากมาย และเจอเรื่องแย่ๆ เพียบ ซึ่งนั่นแหละ จุดที่ยากเป็นลำดับต่อมา “การอีดิต” หรือ “รีไรท์” ลอเรนบอกว่า ให้ใช้เวลาไปเลยเต็มที่ คราวนี้ห้ามทำเร็วๆ เด็ดขาด
  
2 กล้าเสี่ยง
นอร่า ราเลห์ บาสกิ้น เจ้าของผลงาน Ruby on the Outside
“การเปิดเผยตัวตนของตัวเอง และแสดงความชัดเจนในผลงานเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ฉันประสบความสำเร็จและได้เป็นนักเขียนนิยาย” นอร่าคอนเฟิร์ม เวลาเขียนอย่ากลัวที่จะเป็นตัวของตัวเอง สร้างตัวละครที่ชัดเจน จะเป็นแบบไหนก็ได้ สุดโต่งทางไหนก็ได้ ตัวละครอาจดีที่สุดหรือเลวที่สุดก็ได้ ขอแค่ชัดเจนและเต็มไปด้วยพลัง เมื่อเรากล้าที่จะเขียน คนอ่านจะสัมผัสถึงพลังของเรา
 
3 เขียนจากความรู้สึกจริงๆ 
อี. ล็อกฮาร์ต จากผลงานเรื่อง  We Were Liars
สำหรับนักเขียนคนนี้ เจ้าตัวบอกว่า เชื่อในคำแนะนำที่ว่า “เขียนในสิ่งที่รู้สึก” และทำมาตลอด แต่อี. ขอขยายความเพิ่มเติมว่า “เขียนในสิ่งที่รู้สึก” นี้ ไม่ได้หมายความว่า เขียนเรื่องของนางเอกที่อยากเป็นนักเขียน เขียนถึงโรงเรียน เขียนถึงเพื่อนบ้าน แต่หมายถึง เขียนในสิ่งที่เรารู้สึก เขียนในสิ่งที่เราคิด เขียนจากการวิเคราะห์และความเชื่อของเรา จะเขียนเรื่องดาวอังคาร หมาป่า หรืออัศวินยุคกลางก็ได้ แต่นั่นต้องเป็นความรู้สึกของเราจริงๆ เมื่อเราใส่อารมณ์และความรู้สึกลงในผลงาน คนอ่านจะสัมผัสได้ และชอบ 
 
4 รู้ทิศทางการเขียนเสมอ
ซาร่าห์ เดสเซ่น จากผลงานเรื่อง Saint Anything and The Moon and More
ซาร่าห์เป็นหนึ่งในนักเขียนที่ “ไม่วางพล็อตไว้ก่อน” เธอไม่ชอบเขียนตามแผน ไม่ชอบวางระเบียบ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่านิยายของเธอขาดทิศทาง ตรงกันข้าม เธอเชื่อว่านิยายทุกเรื่องต้องมีทิศทางที่ชัดเจน และเธอจะไม่เขียนถ้าไม่รู้คำตอบชัดๆ ว่า งานนี้เขียนเพื่ออะไร การจะประสบความสำเร็จในการเขียน คุณต้องมีทิศทางการเขียนเสียก่อน 
 
5 หาอะไรสนุกๆ ทำบ้าง อย่าเครียดกับการเขียนมากเกินไป  
ลินน์ เวยน์การ์เต็น จากผลงานเรื่อง Suicide Notes from Beautiful Girls
ลินน์แนะนำว่า จะเขียนให้สนุกก็ต้องใช้ชีวิตให้สนุก เช่น หาทางวางแผนทำอะไรสนุกๆ กับการเขียน เช่น ตั้งเวลาไว้ 15 นาที แล้วดูว่าเขียนได้กี่คำ ถ้าถึง 500 คำ ก็อาจจะให้รางวัลกับตัวเองด้วยไอศกรีมสักแท่ง เล่นเกมสักตา หรืออะไรก็ได้ การทำอะไรแบบนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนได้ชัยชนะ และฮึกเหิม ช่วยให้เราอยากเขียนต่อและต่อๆๆๆ ลินน์ทำสิ่งนี้กับผลงานเรื่องแรกของเธอด้วย และเธอบอกว่าสนุกมากจริงๆ ที่พยายามจะเอาชนะตัวเองในแต่ละวัน วันแรกเขียนได้ 500 วันต่อมา 600 และวันต่อมา ก็อยากให้ได้ถึง 800 
 
6 จัดแบ่งเวลาอย่างลงตัว  
เกว็นด้า บอนด์ จากผลงานเรื่อง Lois Lane: Fallout
การเขียนนิยายหนึ่งเรื่อง ไม่ใช่เรื่องง่ายและใช้เวลามากกว่าที่คิดไว้ และยิ่งเป็นนิยายเรื่องแรก มันจะยิ่งยากมาก คุณควรเรียนรู้ที่จะสร้างวินัยให้ตัวเอง จัดสรรเวลาอย่างลงตัว กำหนดเดดไลน์ และให้เวลาตัวเองเผื่อๆ ไว้สำหรับการปรับแก้ไข หรือเขียนงานเพิ่มเติม อย่าทำอะไรฉุกละหุกหรือรีบๆ ต้องแบ่งเวลาให้ลงตัว 
 
7 เขียนไม่ออกก็ต้องเขียน 
คอร์ทนี่ย์ ซัมเมอร์ส จากผลงานเรื่อง All the Rage 
วินัยการเขียนนั้นสำคัญที่สุด เราเข้าใจดีว่าบางวัน คุณก็แทบไม่อยากเปิดคอม ไม่อยากเขียนจริงๆ แต่... ไม่ว่ายังไง เขียนสักหน่อยดีไหม จะไม่กี่ประโยคก็อยากให้เขียน ทำยังไงก็ได้ให้งานคืบหน้า จะแค่เขียนคาแร็คเตอร์ตัวละครก็ยังได้ สำหรับคนอยากเป็นนักเขียน การเขียนทุกวันก็เหมือนแบบฝึกหัดชั้นดี ที่จะทำให้ความสามารถของคุณพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่ว่ายังไงก็ตาม จะเขียนออกหรือไม่ออก จะอยากหรือไม่อยาก จะมีเดดไลน์หรือไม่มี ก็ต้องเขียนทุกวันนะ
 
8 ตั้งเป้าหมายเล็กๆ และไปทีละขั้น 
ซาร่าห์ ไมนาวสกี้ จากผลงานเรื่อง Don’t Even Think About It
เวลาเขียนนิยาย เราอยากให้สร้างเป้าหมายทีละนิด วันละนิด อย่าวางแผนจะนั่งลงแล้วเขียนให้จบเล่มภายในหนึ่งวัน อันนั้นเป็นไปไม่ได้ ลองวางแผนง่ายๆ เช่น วันนี้จะเขียนสักสองหน้า วันนี้ขอเขียนให้ได้ 500 คำ แล้วพอทำเสร็จ ก็สร้างเป้าหมายใหม่ไปเรื่อยๆ ทีละนิดทีละขั้นตอน ในที่สุด คุณก็จะเขียนงานได้จบกลายเป็นเล่ม 
 
9 อ่านออกเสียงดังๆ 
แคโรลิน มาร์คเลอร์ จากผลงานเรื่อง Infinite in Between
“สิ่งสำคัญสำหรับฉันคือบทสนทนา และวิธีการที่ฉันใช้เป็นประจำ ก็คือ การอ่านบทสนทนาออกเสียงดังๆ แกล้งสวมรอยเป็นตัวละครนั้นๆ เพื่อจะได้รู้ว่า... บทสนทนานั้นแนบเนียนหรือยัง เป็นธรรมชาติพอไหม” และนี่คือวิธีที่แคโรลิน นักเขียนผู้หลงใหลในบทสนทนาใช้ โดยเจ้าตัวบอกว่า มักจะอ่านออกเสียงไปด้วยเขียนไปด้วย แต่ก็จะทำเฉพาะเวลาเขียนที่บ้านเท่านั้นนะ ถ้าออกไปข้างนอก เธอจะเก็บเอาไว้ก่อน แล้วมาอ่านออกเสียงตอนถึงบ้านแล้ว 
 
10 อย่ากลัวที่จะเขียนงานห่วยๆ
แบร์รี่ ไลก้า จากผลงานเรื่อง After the Red Rain
นักเขียนใหม่ๆ ต่างก็กังวลและกลัวว่างานเขียนของตัวเองจะไม่มีคุณภาพหรือไม่ดีพอ แบร์รี่แนะนำเลยว่า ไม่ต้องไปกลัว เพราะมันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ถ้าเขียนแล้วยังพบจุดบกพร่องหรือเรื่องไม่ดี ไม่ได้แปลว่ามันไม่ดี สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือ การที่เรามองว่างานตัวเองสมบูรณ์แบบแล้ว ดีที่สุดแล้ว ถ้าหากว่าเป็นแบบนั้น งานของเราจะย่ำอยู่กับที่และไม่มีวันพัฒนา คนเราต่างเติบโตจากความผิดพลาดและความล้มเหลวทั้งสิ้น  
 
11 ดราฟท์แรก เขียนตามสัญชาตญาณ 
อเล็กซ์ ฟินน์ จากผลงานเรื่อง Mirrored
คำแนะนำจากอเล็กซ์คือ ถ้าคิดพล็อตหรือฉากอะไรได้ ให้นั่งลงและเขียนออกมาทันที ไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปแก้ไขหรือรีไรท์ และไม่ต้องกลัวด้วยว่างานที่เขียนจะเลวร้ายหรือไม่ดี สิ่งสำคัญคือ เขียนออกมาให้ได้ และเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเองอย่างเต็มที่ เขียนอย่างที่คิด เขียนอย่างที่รู้สึก แล้วถ้าพบว่าไม่ดี ก็กลับมาแก้ไขในภายหลังได้ 
 
12 ฉากแปลกๆ มีบ้างก็ได้ 
คอเรย์ แอน เฮย์ดู จากผลงานเรื่อง Making Pretty 
ปกติเวลาอ่านนิยายเรื่องต่างๆ เราจะพบว่าฉากขายคือฉากรัก ฉากโรแมนติกสวยๆ งามๆ แต่นิยายของคอเรย์ จะเน้นฉากแปลกๆ ที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกว่า เฮ้ย ยังงี้ก็ได้เหรอ เวลาเขียน คอเรย์บอกว่า เธอจะเน้นไปที่ฉากโมเมนต์แปลกๆ สร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนให้ตัวละคร เธอมองว่าฉากแบบนี้จะทำให้คนอ่านได้เห็นมุมมองแปลกๆ ใหม่ๆ ของตัวละคร และยังสร้างความแตกต่างให้กับผลงานของเธอด้วย 
 
13 จริงใจและเป็นตัวเอง 
นานา บรูว์ แฮมมอนด์ จากผลงานเรื่อง Powder Necklace
เวลาเขียน นานาบอกว่าไม่ต้องไปกังวล อย่าไปกลัวว่าพ่อแม่จะว่ายังไงถ้าได้อ่าน เพื่อนๆ จะนินทาไหม หรือคนอื่นๆ จะวิจารณ์อย่างไรบ้าง เขียนอย่างเป็นตัวของตัวเอง เขียนในสิ่งที่คิด และเขียนให้เต็มที่ แม้ว่างานเขียนนั้นอาจไม่โด่งดังหรือได้รับความนิยมอย่างสูงสุด แต่ก็ต้องมีคนอ่านที่รสนิยมตรงกับคนเขียนอย่างคุณผ่านมาอ่านบ้างแหละ สิ่งสำคัญและคุณสมบัติที่นักเขียนควรจะมีก็คือ ความเป็นตัวของตัวเอง และความจริงใจ กล้าที่จะเขียนในสิ่งที่อยากเขียนอยากนำเสนอจริงๆ 
 
14 ร้ายกับตัวละครบ้างก็ได้ 
เคที่ ซิส จากผลงานเรื่อง  The Pretty App
เคที่บอกว่าส่วนใหญ่แล้วนักเขียนมักจะหลงรักตัวละครที่ตัวเองสร้างขึ้นมา แต่... เธอไม่อยากให้เราใจดีหรือใจอ่อน แต่อยากให้ใจร้ายบ้างก็ได้ เคที่อธิบายเพิ่มว่า ตัวละครควรจะเป็นเหมือนมนุษย์จริงๆ ไม่มีใครสมหวังตลอด รักใครก็ได้ไปหมด หรือหล่อสุดๆ สาวๆ กรี๊ดตลอด ทุกคนล้วนแต่มีแบ็คกราวด์เบื้องหลังทั้งนั้นแหละ การที่เราปล่อยให้ตัวละครแบนเกินไป กล่าวคือ ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย เดินเป็นเส้นตรง เริ่มง่ายจบง่าย จะทำให้ตัวละครไม่มีพัฒนาการ และทำให้ผลงานของเราตื้น ไม่น่าอ่าน ควรใส่จุดเปลี่ยนหรือใส่เรื่องร้ายๆ ให้ตัวละครบ้าง เพื่อความสมจริง 
 
15 เขียนไปเรื่อยๆ อย่าหยุด 
อเล็กซ์ ลอนดอน จากผลงานเรื่อง Proxy 
การเขียนไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการเขียนเรื่องแรกนั้นยากกว่าปกติมากนัก บนโลกนี้ไม่มีเทคนิคการเขียนที่สอนเราได้ตรงๆ หรอกว่า เขียนแบบนี้สิ ประสบความสำเร็จแน่ๆ เขียนแบบนั้นสิ นิยายได้ตีพิมพ์แน่ๆ เพราะฉะนั้น เราอยากให้คุณเป็นคนค้นหาด้วยตัวเอง และวิธีเดียวที่จะทำได้ก็คือ เขียนไปเรื่อยๆ อย่าหยุด เขียนจนกว่าจะได้พบวิธีที่ใช่ เทคนิคที่เป็นของคุณจริงๆ คนอื่นๆ เขาจะพูดอย่างไร ทำอย่างไร เราอ่านได้ เก็บมาได้ แต่เราก็ต้องเลือกที่จะปรับใช้กับตัวเราด้วย ไม่ใช่ทำตามทุกอย่าง ไม่งั้นคงไม่มีวันค้นพบตัวเองได้เลย
 
16 หาทางของตัวเองให้พบ
เอเมอรี่ ลอร์ด จากผลงานเรื่อง The Start of Me and You
คำแนะนำในการเขียนเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่า... ทุกคนต่างมีทิศทางของตัวเอง เอเมอรี่เชื่อว่า นักเขียนทุกคนต้องหาหนทางของตัวเองให้พบ เราจะเขียนได้ ก็ในแนวของเรา ในแบบของเรา และนั่นแหละสิ่งที่ถูกต้องที่สุด จะตื่นมาเขียนตอนตีสี่หรือเขียนตอนสี่ทุ่มก็แล้วแต่ ขอให้ได้เขียน แค่นั้นแหละ พอแล้ว
 
17 รู้จักตัวละครเป็นอย่างดี 
เอลิซาเบ็ธ อูลเบิร์ก จากผลงานเรื่อง We Can Work It Out
ก่อนจะเริ่มเขียนนิยาย ต้องรู้จักตัวละครอย่างทะลุปรุโปร่ง ลองถามคำถามหลายๆ แบบกับตัวเอง เช่น ความหวัง ความกลัว ความชอบ ความลับ ความสัมพันธ์ พวกนี้สำคัญมาก รวมไปถึงแผนผังเพื่อนๆ และครอบครัวด้วย เอลิซาเบ็ธบอกว่า สำหรับเธอแล้ว ตัวละครเหมือนเป็นคนหนึ่งในครอบครับ เวลาเขียน เธอมองพวกเขาในฐานะมนุษย์จริงๆ และเธออยากรู้จักพวกเขาจริงๆ 
 
18 เขียนในสิ่งที่เราอยากอ่าน
เจ็น คาโลนิต้า จากผลงานเรื่อง VIP: I’m With the Band
อย่าไปคิดว่าเขียนให้คนอื่นๆ อ่าน เบื้องต้นคิดแค่ว่า เขียนให้ตัวเองอ่านก็พอแล้ว ไม่แนะนำให้เขียนตามเทรนด์ หรือตามแนวที่กำลังนิยม แต่ให้เขียนสิ่งที่ตัวเองอยากเขียนจริงๆ แบบนั้นเวิร์กกว่ามากจริงๆ และเมื่องานเขียนประสบความสำเร็จ คุณจะภูมิใจในตัวเองมากว่าเราได้ให้บางสิ่งที่มีคุณค่าต่อวงการวรรณกรรม
 
19 เขียนให้จบ
แอนนา คาเรย์ จากผลงานเรื่อง Blackbird
หนึ่งในเรื่องที่นักเขียนบอกว่า ทำได้ยากมากที่สุดก็คือ เขียนให้จบ ตัวแอนนาเอง กว่าจะเขียนจบก็ใช้เวลานานมาก เธอบอกว่าถ้าเขียนไม่จบ ก็คงไม่มีวันได้เป็นนักเขียนแน่นอน ต่อให้นิยายจะไอเดียดีแค่ไหน หรือเขียนได้สนุกแค่ไหน ถ้าไม่จบ ทุกอย่างก็หมดความหมาย เพราะงั้นถ้าใครมีไอเดียหรือมีพล็อตดี ให้รีบเขียนให้จบโดยเร็ว 
 
20 อ่าน
ซูซานน์ กอลาซานติ จากผลงานเรื่อง City Love 
อ่านให้เยอะที่สุด ซูซานน์เป็นหนึ่งในนักเขียนที่หลงใหลการอ่าน เธอบอกว่าจะอ่านทุกวันก่อนนอน และให้เวลากับการอ่านอย่างจริงจัง สำหรับเธอแล้ว การอ่านทำให้เธอได้สิ่งดีๆ หลายอย่าง ทั้งการดำเนินเรื่อง พล็อตเรื่อง ภาษา ฯลฯ ยิ่งอ่านมากเท่าไหร่ ซูซานน์เชื่อว่านักเขียนคนนั้นจะเขียนได้ดีขึ้นเท่านั้น 
 
นี่อ่านมาจบ 20 ข้อนี้ แอดมินสารภาพเลยว่าได้ประโยชน์และข้อมูลดีๆ เยอะมากจริงๆ ค่ะ จะลองเอาไปใช้กับผลงานต่อๆ ไปของตัวเองดู คนอื่นๆ ก็เหมือนกันนะ เอาไปใช้กับผลงานของตัวเองเลย แอดมินเชื่อว่า ถ้าทำได้ตามที่ 20 คนนี้ว่ามา เราต้องเขียนจบได้แน่ๆ
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี 
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
ผมโสดโปรดฮิว Member 23 ม.ค. 60 07:08 น. 3

รู้สึกจี้กับข้อนี้มากๆ เขียนให้จบ มันจี้ใจสุดๆ แต่เราเขียนให้จบให้ได้สักเรื่องนะน่ะ

0
กำลังโหลด
ขอบคุณค่ะ 3 เม.ย. 62 00:14 น. 5

นี่ปี 2562 นะคะ เราประสบปัญหาพวกนี้บ่อยมากคือ เขียนไม่จบค่ะ พอได้ข้อมูลตรงนี้แล้ว มีกำลังใจมากขึ้นค่ะ รอบนี้ต้องทำให้ได้ 5555 'เขียนจบ' เป้าหมายหลักเลยค่ะ และแน่นอน เอาไว้อ่านเองอยู่แล้ว แต่ก็ถือว่าแชร์ให้คนอื่นอ่านด้วย ดังนั้น ต้องบังคับตัวเองให้ได้ค่ะ [[ตะโกนกรอกหูตัวเองในใจ]]

0
กำลังโหลด
Darknovelmaybe Member 30 ส.ค. 63 17:36 น. 6

ผมก็กำลังอยากลองเขียนพอดี

เพราะตอนแรกลองเขียนมังงะแล้วประมาณ6-7แผ่นแล้วโครตเหนื่อยเลยเลยอยากลองเปลี่ยวแนวดูบ้าง(หรือฝีมือไม่ถึงวะ)555

1
กำลังโหลด

6 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
ผมโสดโปรดฮิว Member 23 ม.ค. 60 07:08 น. 3

รู้สึกจี้กับข้อนี้มากๆ เขียนให้จบ มันจี้ใจสุดๆ แต่เราเขียนให้จบให้ได้สักเรื่องนะน่ะ

0
กำลังโหลด
KNRS Member 1 ส.ค. 61 00:45 น. 4

ขอบคุณบทความดีๆ นะคะ รู้สึกถึงความไม่เป็นตัวของตัวเองยังไงไม่รู้ อยากจะปรับปรุงแต่ยังหาจุดให้ตัวเองไม่ได้ รู้สึกแปลกๆในความคิดของตัวเอง ดูเวิ่นเว้อ เพ้อเจ้อมากๆ 555555

0
กำลังโหลด
ขอบคุณค่ะ 3 เม.ย. 62 00:14 น. 5

นี่ปี 2562 นะคะ เราประสบปัญหาพวกนี้บ่อยมากคือ เขียนไม่จบค่ะ พอได้ข้อมูลตรงนี้แล้ว มีกำลังใจมากขึ้นค่ะ รอบนี้ต้องทำให้ได้ 5555 'เขียนจบ' เป้าหมายหลักเลยค่ะ และแน่นอน เอาไว้อ่านเองอยู่แล้ว แต่ก็ถือว่าแชร์ให้คนอื่นอ่านด้วย ดังนั้น ต้องบังคับตัวเองให้ได้ค่ะ [[ตะโกนกรอกหูตัวเองในใจ]]

0
กำลังโหลด
Darknovelmaybe Member 30 ส.ค. 63 17:36 น. 6

ผมก็กำลังอยากลองเขียนพอดี

เพราะตอนแรกลองเขียนมังงะแล้วประมาณ6-7แผ่นแล้วโครตเหนื่อยเลยเลยอยากลองเปลี่ยวแนวดูบ้าง(หรือฝีมือไม่ถึงวะ)555

1
กำลังโหลด
กำลังโหลด