11 เทคนิคน่าทึ่งจาก 'ปรมาจารย์' ที่จะเปลี่ยนคุณให้กลายเป็นนักเขียนมือฉมัง!

 11 เทคนิคน่าทึ่งจาก ปรมาจารย์
ที่จะเปลี่ยนคุณให้กลายเป็นนักเขียนมือฉมัง!

 

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาวนักเขียนเด็กดีทุกคน เคยรู้สึกว่าการเขียนนิยายเป็นเรื่องยากบ้างหรือเปล่า? เคยรู้สึกว่าเรานั่งหน้าคอมพ์เป็นชั่วโมงแต่คิดอะไรไม่ออกบ้างมั้ย? ความรู้สึกนั้นมันเป็นอะไรที่แย่เนอะ อยากเขียนแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากจุดไหน ถ้าหากใครที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ล่ะก็ บอกเลยว่าโชคดีมากๆ ที่ได้อ่านบทความนี้ เพราะพี่ได้นำเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ของน้องๆ ได้ ซึ่งพี่ได้รวบรวม 11 เทคนิคเขียนหนังสือจากนักเขียนติด Top 5 ขายดีตลอดกาลในนิวยอร์กอย่าง “แอนน์ ลาม็อตต์ (Anne Lamott)” มาฝากน้องๆ ค่ะ กระซิบก่อนว่าเธอมีดีกรีเป็นถึงครูสอนการเป็นนักเขียนชาวอเมริกันเลยด้วย โอ้โห... เป็นถึงระดับอาจารย์อย่างนี้ พี่ขอรับรองเลยว่าเทคนิค 11 ประการนี้จะช่วยให้เราเติบโตเป็นนักเขียนที่ไหลลื่นและมีคุณภาพมากขึ้นค่ะ!

 
แอนน์ ลาม็อตต์บนเวที TED Talk
(via: blog.ted.com)

 

#1 มองภาพเล็กๆ

แผ่นกระดาษเปล่าก็เปรียบเหมือนแผ่นน้ำแข็งที่ยังไม่ถูกทำลาย ไม่ว่าเราจะเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงหรือเป็นแค่นักเขียนมือใหม่ พวกเราล้วนแล้วแต่ประสบปัญหาในการเริ่มต้นเขียนอะไรสักอย่างลงบนกระดาษนั้น ลาม็อตต์เล่าว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยสอนหลานชายวัยป.2 ให้เริ่มต้น “เขียนอะไรสักอย่างโดยเริ่มจาก 0” ด้วยการวางรูปถ่ายลงบนโต๊ะของเขาทุกวัน และเด็กชายต้องเขียนอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับรูปถ่ายออกมา ฟังดูยากใช่มั้นล่ะ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเด็กป.2 ทำได้!

เทคนิคง่ายๆ ที่เธอบอกหลานชายก็คือ “เธอไม่จำเป็นต้องเขียนหนังสือเกี่ยวกับนกทุกตัวบนโลก (ภาพถ่ายนั้นเป็นภาพนก) แต่ให้เลือกนกมาแค่หนึ่งชนิดที่สนใจ จากนั้นค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับมันและเขียน... เขียนในแบบของเธอ” จากคำพูดของลาม็อตต์สามารถสรุปได้ว่า “ให้เริ่มต้นเขียนจากสิ่งเล็กๆ อย่าเพิ่งคิดยิ่งใหญ่ เราจะได้รู้สึกว่าการเขียนเป็นเรื่องง่าย”
 

#2 คิดว่างานเขียนเป็นสวน ทีนี้ก็เล่นซะ!

ผลงานของลาม็อตต์นั้นมีหลายแนว ทั้งนิยายและ Nonfiction เช่นงานเขียนความเรียง งานเขียนเชิงศาสนา ดังนั้นเวลาเขียนหนังสือประเภท Nonfiction ความสนุกของเรามักจะลดลงไปฮวบฮาบเพราะมันเป็นเรื่องที่พูดถึงความจริง หลักทางวิทยาศาสตร์ หลักทางศาสนา (มีหนังสือของเธอหลายเล่มที่เป็นแนวศาสนา) ซึ่งการจะเขียนเรื่องของความจริงให้สนุกเนี่ยมันยากกว่าการเขียนนิยายให้สนุกอีกนะ ลาม็อตต์จึงมักจะใช้วิธีมองว่ามันเป็นสวนดอกลิลี่ จากนั้นเธอก็ลงไปวิ่งเล่นอยู่ในสวน จินตนาการว่ากลีบดอกลิลี่เป็นตัวละครในเรื่อง แล้วก็คิดต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกลีบดอกนั้นถ้าเธอลงมือเขียนบางอย่างลงไป

เช่นกันค่ะ เมื่อน้องๆ เขียนนิยาย ให้จินตนาการว่างานเขียนของเราเป็นอะไรสักอย่างที่เรารู้สึกสนุกไปกับมัน อาจจะเป็นสวนสนุก สวนดอกไม้ สระว่ายน้ำ แล้วจากนั้นก็พาตัวเองไปอยู่ในสวนของเราแล้วสนุกไปกับการสร้างสรรค์เรื่องราวและตัวละคร แค่นี้เราก็จะไม่รู้สึกเบื่อเมื่อเขียนนิยายแล้ว


(via: istockphoto.com)

 

#3 อย่ารู้สึกผิดที่จะกดปุ่ม “Delete

เชื่อว่านักเขียนหลายคนคงเป็นเหมือนกัน เขียนไปแล้วรู้สึกไม่เวิร์คแต่ก็ไม่กล้าลบเพราะรู้สึกเสียดายที่เขียนมา แถมยังดั้งด้นเขียนต่อไป ผลก็คืองานเขียนออกมาพังไม่เป็นถ้า ซึ่งลาม็อตต์ได้บอกว่า “ถ้าคุณเขียนบางสิ่งบางอย่างและพบว่ามันไม่เข้าท่า อย่าต่อว่าตัวเองและอย่าลังเลที่จะลบมัน นั่นไม่ได้หมายความว่างานเขียนของคุณแย่หรือคุณกำลังทำผิด มันแค่หมายถึงโอกาสที่คุณจะได้ทำใหม่ให้มันดีขึ้น รู้มั้ยว่าฉันมียางลบเยอะมากเลยนะ แล้วก็ชอบกดปุ่ม delete ด้วย” ดังนั้นน้องๆ ไม่ต้องกลัวที่จะลบแล้วเขียนใหม่หรอกนะคะ ยิ่งแก้ งานยิ่งพัฒนาค่ะ

 

#4 ไม่เป็นไรหรอกถ้าจะรู้สึกว่าต้นฉบับมันไม่โอเค

หลายคนคงมีปัญหากับต้นฉบับ (1st Draft) ของเรา แล้วก็อาจจะเคยรู้สึกประมาณว่า ทำไมมันห่วยอย่างนี้? หรือไม่ก็ นี่ฉันเขียนอะไรมานะ! ไม่ต้องประหลาดใจถ้าเราจะรู้สึกแบบนั้นค่ะ เพราะมันเป็นเรื่องปกติมากที่เราจะรู้สึกว่าต้นฉบับของเรามันไม่โอเค แต่เราก็ต้องปรับปรุงมัน!

ลาม็อตต์บอกว่า “การมีต้นฉบับแย่ๆ ถือว่าเป็นความลับในชีวิต ต้นฉบับนิยายของคุณอาจจะมี 450 หน้า แต่ความจริงแล้วมันอาจจะควรมีแค่ 310 หน้า คุณอาจจะใส่อะไรลงไปในงานเขียนของคุณมากเกินไป ที่ต้องทำก็แค่เอาอะไรบางอย่างออก บางอย่างที่คุณรู้สึกรักมาก เหมือนกับนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งบอกว่า คุณต้องฆ่าตัวละครที่รักมันหมายถึงว่า คุณจำเป็นต้องเอาบรรทัดที่เราชอบ คำบรรยายที่เรารู้สึกว่าใช่ออกไป มันเป็นเรื่องยากก็จริง แต่คุณต้องทำ”

 

#5 ตามหานักวิจารณ์สองคนที่คุณรัก

ไม่มีใครชอบคำวิจารณ์ โดยเฉพาะกับคำวิจารณ์ที่ไม่ได้มีประโยชน์ใดๆ แต่จริงๆ แล้วคำวิจารณ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเขียน มันเปรียบเสมือนกับยาขมที่เรารู้สึกแย่เมื่อต้องกิน แต่มันสามารถช่วยรักษาเราได้ คำวิจารณ์ก็เช่นกันค่ะ แม้เราจะรู้สึกไม่โอเค รับไม่ได้ รู้สึกแย่ที่ได้รับ แต่เชื่อเถอะว่าคำวิจารณ์เหล่านั้นจะช่วยให้เราพัฒนาไปได้ไกล

ลาม็อตต์เล่าให้ฟังว่า เธอเคยได้รับคำวิจารณ์เกี่ยวกับงานเขียนของเธอจากเพื่อนคนหนึ่ง ตอนนั้นเธอเกลียดคำวิจารณ์มาก เธอไม่ชอบทุกคนที่วิจารณ์งานเขียนของเธอจนถึงขั้นอยากตัดความสัมพันธ์เลยทีเดียว แต่สุดท้ายเธอก็เปลี่ยนความคิดใหม่ เธอตระหนักว่าเธอควรยอมรับคำวิจารณ์แล้วนำมาปรับปรุง และเพราะคำวิจารณ์นั้นเองมันถึงทำให้งานเขียนของเธอขายดิบขายดี เพราะงั้นทุกครั้งที่ลาม็อตต์ได้รับคำติเตียน เธอจะขอบคุณและนำมาพัฒนาค่ะ

ดังนั้นลาม็อตต์จึงอยากฝากบอกนักเขียนรุ่นใหม่ว่า “มองหาคน 2 คนที่รักและเคารพในงานเขียนของคุณ เพราะพวกเขาจะมอบความซื่อสัตย์และความช่วยเหลือให้เรา” ใช่ค่ะ น้องๆ ต้องหาใครสักคนที่ชื่นชอบงานเขียนของเรามากๆ เพราะพวกเขาพร้อมจะสนับสนุนและให้คำแนะนำเราในการพัฒนางานเขียนให้ดียิ่งขึ้น


แอนน์ ลาม็อตต์
(via: blog.ted.com)

 

#6 จินตนาการถึงหนังสือในฝันที่คุณตามหา แล้วนำมันเข้ามาในชีวิต

ลาม็อตต์มักจะบอกนักเรียนของเธอเสมอว่า “เขียนในสิ่งที่ฝัน คุณอยากเห็นหนังสือแบบไหนโลดแล่นให้เขียนมัน เพราะว่ามันจะได้กลายเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นบันทึกประจำวัน คำสารภาพบาป บทละคร อะไรก็ได้ แค่เขียนมันออกมาเป็นเล่ม” ดังนั้นก่อนจะเขียนหนังสือ หากเราไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากอะไรดี ก็ให้เริ่มจากสิ่งที่เราอยากเห็นเป็นรูปเล่ม แล้วมันจะเป็นพลังคอยผลักดันให้เราเขียนจนเสร็จสมบูรณ์ ดีต่อใจไปอีก

 

#7 เขียนหนังสือให้อะไรมากกว่าที่คิด

หากว่าเรารู้สึกขี้เกียจ ไม่อยากเขียนอะไรแล้ว ขอให้ระลึกไว้เสมอว่าการเขียนหนังสือให้อะไรมากกว่า แค่เขียนลงบนแผ่นกระดาษเฉยๆ ลาม็อตต์บอกว่า “การเขียนนั้นสอนเรามากมาย สอนให้เราตระหนักถึงคุณค่าบางอย่าง สอนให้เรารู้จักให้ความสนใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันสอนให้เรารู้จักมีความสุขไปกับช่วงเวลานั้นๆ นอกจากนี้การเขียนยังเปลี่ยนให้เราเป็นคนจริงจังและใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท

เมื่อเห็นข้อดีของงานเขียนเยอะขนาดนี้แล้ว ลาม็อตต์จึงได้แนะนำเทคนิคเขียนง่ายๆ นั่นก็คือ จงลงมือเขียนทันทีที่อะไรก็ตามแวบเข้ามาในหัว เธอบอกว่า “เขียนทุกที่แม้ว่าคุณจะไปอินเดียหรืออยู่บนสถานีรถไฟ เมื่อไหร่ก็ตามที่คิดได้ให้ลงมือเขียน” นี่คือเคล็ดลับความสำเร็จของเธอ

 

#8 ลองผิดลองถูกจนกว่าพบแนวการเขียนที่ใช่

ไม่มีใครเกิดมาแล้วรู้ว่าเราเหมาะกับงานเขียนแบบไหน เหมาะกับสำนวน ภาษาและลักษณะบรรยายแบบใด สิ่งที่ต้องทำก็คือลองผิดลองถูกจนกว่าจะค้นพบสิ่งที่ใช่ และเมื่อพบแล้วก็ให้พัฒนาฝึกฝนมันบ่อยๆ และในฐานะนักเขียน เราต้องจำไว้เสมอว่า “การเล่าเรื่องในแบบของเรานั้นมีเสน่ห์ที่สุดแล้ว เพราะมันบ่งบอกถึงตัวตนของเรา”

ลาม็อตต์แนะนำวิธีค้นหาตัวตนของเราแบบง่ายๆ ก็คือ “เขียนไปเรื่อยๆ แล้วถ้ารู้สึกว่ามันไม่ใช่ก็ลบมัน เมื่อคุณพบว่ามันไม่ใช่คุณ แปลว่าคุณกำลังเข้าใกล้ตัวตนของคุณแล้ว” เธอยังได้แชร์ประสบการณ์ค้นหาตัวตนของเธอว่า “ตอนที่ฉันเขียนหนังสือเล่มแรกเรื่อง ‘Hard Laughter’ ฉันเขียนเรื่องเกี่ยวกับมะเร็งในสมองของพ่อฉัน ฉันว่ามันค่อนข้างเป็นนิยายที่ตลกนะ แต่มันก็สอดแทรกวิธีการเอาตัวรอดในสภาวะที่ไม่น่ารอดตายได้ ฉันพยายามเขียนมันให้ตลกและเกินความจริงเล็กน้อยเพราะไม่อยากให้คนคิดว่าฉันเป็นตัวทำลายความสนุกสนานหรือเป็นโรคซึมเศร้า แล้วก็นั่นแหละ มันโผล่ออกมา!

ลาม็อตต์ลองผิดลองถูกจนพบตัวตนของเธอว่าเหมาะกับงานเขียนแนวตลก แล้วน้องๆ ล่ะคะค้นพบตัวตนของตัวเองหรือยัง?

 
หนังสือเล่มแรกของแอนน์ ลาม็อตต์
(via: amazon.com)

 

#9 อย่ารอให้ “มีอารมณ์” ไม่งั้นก็ต้องรอตลอดไป

ข้ออ้างเด็ดประจำตัวนักเขียนที่เราเป็นกันก็คือ “ไม่มีอารมณ์ งั้นไม่เขียนละกัน” ลาม็อตต์รู้ทันพวกเราค่ะ เธอจึงรีบเตือนนักเขียนมือใหม่เลยว่า “การเขียนก็เหมือนการเล่นเปียโนหรือเรียนเทนนิส ถ้าทำมันทุกวัน เราก็จะเก่งขึ้นและเก่งขึ้น มันไม่ใช่เรื่องของการลงมือเขียนเมื่อเรารู้สึกอยากเขียน ฉันพูดด้วยความสัตย์จริงเลยว่าฉันไม่เคยรู้สึกว่าฉันกำลังเขียนหนังสือ ฉันรู้สึกเหมือนกับว่าฉันพาหมาไปเดินเล่น รู้สึกเหมือนกำลังจับตาดูชาวนิวยอร์ก ตอนที่ฉันสอนหนังสือ นักเรียนทุกคนพร้อมใจกันบอกว่าพวกเขาจะลงมือเขียน เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้แล้วพวกเขาก็ลืมมันไปเพราะมัวแต่รอให้มีอารมณ์ แล้วก็นั่นแหละ ฉันเลยต้องบอกพวกเขาว่า เธอต้องเขียนคืนนี้ตอนสี่ทุ่ม ไม่งั้นเธอก็จะไม่ได้เขียนมันตลอดไป

จริงอย่างที่ลาม็อตต์บอกค่ะ ถ้าเรามัวแต่รอให้มีอารมณ์เขียน ชาตินี้เราก็คงไม่มีนิยายออกเป็นเล่ม เพราะงั้นคว้าปากกาแล้วลงมือเขียนเป็นกิจวัตรประจำวันเลยจ้า

 

#10 ลองพยายามเป็นโค้ช

นอกจากจะเขียนนิยายแล้ว การช่วยพัฒนางานเขียนคนอื่นก็เป็นเรื่องที่นักเขียนควรทำเพราะมันก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้สกิลด้านการเขียนพัฒนา ลาม็อตต์บอกว่า “ให้มองหาคน 2 คนที่สามารถช่วยคุณและคุณก็สามารถช่วยเขาได้ จากนั้นคุณจะต้องทำในสิ่งที่น่ากลัวมากๆ ด้วยการบอกว่างานเขียนของอีกฝ่ายเป็นอย่างไร แล้วคุณก็จะต้องถามเขาเกี่ยวกับงานเขียนของคุณบ้าง” ซึ่งการผลัดกันเป็นโค้ชนี่แหละค่ะเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้งานเขียนของเราพัฒนา ทำให้เราเห็นข้อดี-ข้อเสียของงานเขียนตัวเอง (และคนอื่นด้วย) 

 

#11 คิดว่างานเขียนของคุณเป็นของขวัญแด่โลกใบนี้

บางคนอายที่จะเผยแพร่งานเขียนของตัวเองลงสู่สาธารณะเพราะกลัวฟีดแบ็คออกมาไม่ดี หรือไม่มั่นใจกับงานเขียนของตัวเอง แต่น้องๆ รู้มั้ยคะว่านั่นเป็นความคิดที่ผิดมหันต์เลยล่ะ!! ลาม็อตต์บอกว่าเราต้องมั่นใจในผลงานของตัวเองเข้าไว้และเชื่อมั่นว่างานเขียนของเราเป็นของขวัญแก่โลกใบนี้ มันจะเปลี่ยนแปลงผู้คนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นน้องๆ ต้องมั่นใจในตัวเองเข้าไว้นะคะ

 
 

เป็นอย่างไรบ้างคะกับเคล็ดลับ 11 ข้อจากแอนน์ ลาม็อตต์ นักเขียนเบสท์เซลเลอร์แห่งนิวยอร์ก พี่น้ำผึ้งเชื่อว่าน้องๆ ต้องได้อะไรดีๆ กลับไปพัฒนางานเขียนของตัวเองแน่นอน และถ้าหากว่าใครอยากฟังคลิปฉบับเต็มๆ ก็สามารถฟังได้ผ่านทาง Facebook Fanpage ของ TED ในหัวข้อ Anne Lamott Talk About the Creative Process เลยจ้า ส่วนกลเม็ดเคล็ดลับฉบับหน้าจะเป็นเรื่องอะไรนั้น รอติดตามนะคะ ^o^


 

พี่น้ำผึ้ง :)


 

ขอบคุณข้อมูลจาก
TED Talk : Anne Lamott Talk About the Creative Process

 

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

10 ความคิดเห็น

วาดนิชา Member 27 ม.ค. 61 20:38 น. 1

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ นะคะ

พยายามรื้อหาข้อมูล อยากอ่านหนังสือของเธอจังเลยค่ะ

ไม่เห็นมีใครเอามาแปล หรือมีแล้วแต่หาไม่เจอก็ไม่รู้ค่ะ


ขอบคุณอีกครั้งนะคะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด