รู้สึกตันงั้นเหรอ? ลอง 4 แบบฝึกหัดนี้สิ รับรองหายเป็นปลิดทิ้ง!

รู้สึกตันงั้นเหรอ? ลอง 4 แบบฝึกหัดนี้สิ รับรองหายเป็นปลิดทิ้ง!

 

สวัสดีค่ะชาวนักเขียนเด็กดีทุกคน สตีฟ จ็อบส์ผู้ก่อตั้ง Apple ที่มีชื่อเสียงกล่าวว่าCreativity is just connecting things (ความคิดสร้างสรรค์เป็นเพียงการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน)” แต่สำหรับนักเขียนอย่างเรา ทุกคนรู้ว่าการเผชิญหน้ากับอาการตันเนี่ยยากกว่าการพยายามควานหาไอเดียในอากาศซะอีก!

วามคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน มันไม่มี “ยีนความคิดสร้างสรรค์” หรือไม่มีส่วนใดในสมองเราที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ เราไม่สามารถออกคำสั่งกับความคิดสร้างสรรค์ได้ว่า “จงออกมานะ” หรือ “จงหายไปเดี๋ยวนี้” จากเว็บไซต์ The Atlantic รายงานว่า งานวิจัยหลายตัวพบว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นเพราะจิตใต้สำนึกของเราและอยู่เหนือการควบคุมของเรา

ฟังดูแล้วอาจเข้าใจยากนิดนึง แต่ความคิดสร้างสรรค์กลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของเรามากขึ้น โดยเฉพาะชีวิตของนักเขียนอย่างเราๆ ที่ต้องใช้มันอยู่ตลอดเวลา แล้วยิ่งทุกวันนี้ในเว็บของเราก็มีนิยายเรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา นักเขียนอย่างเราจะมานั่งเฉยๆ ไม่เขียนนิยายก็ไม่ได้ ดังนั้นความสามารถในการคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ถือเป็นทักษะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราแล้ว!

เอาล่ะค่ะน้องๆ ถ้าเรารู้สึกว้าวุ่นใจ หมดไอเดียในการเขียนนิยาย หรือรู้สึกว่ากำลังเผชิญหน้ากับอาการตัน แบบฝึกหัดต่อไปนี้จะช่วยให้เรามีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ มากขึ้นค่ะ

 


(via: SlidePlayer)
 

ไม่มีสมาธิและไม่สามารถโฟกัสที่การเขียนนิยายได้ใช่มั้ย? 
ลองทำอะไรบางอย่างที่ทำให้เรามีความสุขสิ

หนึ่งในสัญญาณชัดเจนที่บอกให้เรารู้ว่า “เรากำลังเผชิญหน้าอยู่กับอาการตันอยู่นะ” คือการที่เราไม่สามารถโฟกัสได้ อารมณ์ประมาณว่าทุกสิ่งทุกอย่างดูสำคัญไปซะหมด อันนั้นก็ต้องทำ อันนี้ก็ต้องทำ นิยายก็ต้องเขียน ทุกอย่างสำคัญมากๆ โดยเฉพาะการทำอาหารหรือการทำความสะอาดห้องน้ำ! ซึ่งมันทำให้เราไม่สามารถโฟกัสที่สิ่งๆ เดียวได้เลย

แต่อย่าเพิ่งเครียดไป เพราะมันมีวิธีดึงความสนใจของเรากลับมาเพื่อให้โฟกัสที่ความคิดสร้างสรรค์นะ แล้วก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานต่างๆ ที่เราต้องเคลียร์ด้วย

มาลินดา แม็คพรีสัน นักศึกษาระดับชั้นปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ทำงานวิจัยที่ว่า  “สถานะทางอารมณ์ของเราส่งผลต่อความสามารถในการสร้างสรรค์ของเราอย่างไร” ไว้ในปี 2015 ก่อนจะพบว่าขณะที่เราดูหนังเศร้า ฟังเพลงเศร้าหรือเล่าเรื่องเศร้าๆ การนึกถึงอารมณ์บวกหรือรู้สึกบวกจะช่วยทำให้เราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ไหลลื่นมากขึ้น และนี่นำมาสู่แบบฝึกหัดแรกที่น้องๆ ควรทำค่ะ
 

Creativity Exercise: ใช้อารมณ์ความรู้สึกของเราเพื่อประโยชน์ของเรา

ใช้เวลา 1 ชั่วโมงจากการเขียนนิยายเรื่องล่าสุดของเราแล้วลองไปดูหนังดีๆ สักเรื่อง ถ้าการดูหนังไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ อาจจะลองพาหมาไปเดินเล่นหรือโทรหาเพื่อนเก่า ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ให้ตามหาสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขและสามารถพาเราออกจากความหงุดหงิดและเซ็งจากการตันที่เกิดจากการเขียนนิยายค่ะ

 


(via: pixabay)
 

คำติมันเจ็บเหลือเกิน!
ลองตั้งเป้าเล็กๆ พร้อมกับเดดไลน์ที่เข้มงวดสิ

ทุกครั้งที่เราตัน มักจะมีเสียงในหัวค่อยๆ ดังขึ้น ประมาณว่า “ตันอีกแล้วเหรอ? ห่วยมาก แย่มาก ไม่มีใครเป็นเหมือนแกหรอก ทำไมแกถึงตันแบบนี้!?” และอื่นๆ อีกร้อยแปดพันเก้าที่แล่นเข้ามา

เอาจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องปกติที่เราจะตำหนิตัวเองนะ แต่เคยรู้บ้างมั้ยว่าในบางครั้งเสียงเล็กๆ ในหัวนี่แหละที่เป็นปัจจัยให้เราท้อและไม่อยากเขียนนิยาย ซึ่งเราก็มีวิธีแก้ง่ายๆ นั่นคือปิดโหมดด่าตัวเองซะ (หรืออย่างน้อยก็ให้มันเบาลงเพียงพอที่จะทำให้เรามีกำลังใจในการเขียนนิยายต่อ)

หลังจากที่แอนโทนี่ ทรอลลัพ นักเขียนชาวอังกฤษในยุควิคตอเรียเขียนนิยายเรื่องแรกจบในปี 1847 เขาก็มีผลงานนิยายออกมาเรื่อยๆ ถึง 47 เล่ม มีงานเขียน Non-Fiction อีก 18 ชิ้น เรื่องสั้น 12 เรื่องและบทละครอีก 2 ตอนตลอดช่วงชีวิตของเรา ความลับของทรอลลัพคือ เขาไม่เคยตันง่ายๆ เพราะเขายึดติดกับตารางเวลาที่เข้มงวดของตัวเอง พูดง่ายๆ ก็คือ เขาเขียน 250 คำทุกๆ 15 นาที และใช้นาฬิกาคอยจับเวลาเพื่อแสดงความซื่อสัตย์กับตัวเอง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการกำหนดเวลาที่ชัดเจนแบบสั้นๆ จะช่วยกระตุ้นให้เราเกิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ยิ่งเราเขียนนิยายหรือทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ให้เสร็จเร็วเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เรามีทัศนคติและแรงจูงใจที่ดีในการผลิตผลงานที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังช่วยให้เราเข้าใกล้ความสำเร็จมากยิ่งขึ้นค่ะ
 

Creativity Exercise: ตั้งเดดไลน์สั้นๆ พอ

แบ่งการเขียนนิยายของเราในแต่ละวันให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และกำหนดเดดไลน์ให้เสร็จภายในระยะเวลาอันสั้น ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะเขียนนิยายอย่างน้อย 250 คำทุกๆ 15 นาที หรือเขียนทุกๆ 10 นาทีเป็นเวลา 1 ชั่วโมงก็ได้ค่ะ ลองนำมาปรับดูตามความเหมาะสมของตัวเอง

 


(via: YouTube)
 

รู้สึกว่ามันมากเกินไป?
ลองใช้เทคนิคของ Dr. Seuss ดูสิ

อีกหนึ่งอาการตันที่น่าสนใจไม่ได้เกิดจากการที่เราคิดอะไรไม่ออกเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการที่ไอเดียหลายอย่างเข้ามาหาเราพร้อมๆ กัน แล้วเราก็สรุปไม่ได้สักทีว่าตกลงมันอะไรยังไงเพราะไอเดียเข้ามามากเกินไปแล้ว ดังนั้นถ้าหากเรารู้สึกว่าทุกอย่างมันล้นไปหมด ลองทำตามเทคนิคของ Dr. Seuss นักเขียนหนังสือเด็กชื่อดังระดับโลกดูดีกว่าค่ะ

น้องๆ รู้มั้ย ก่อนที่ Dr. Seuss จะเขียนนิทานเด็กเรื่อง “Green Eggs and Ham” ที่มียอดขายมากกว่า 200 ล้านเล่มทั่วโลก! ธีโอ ไกเซล (ชื่อจริงๆ ของ Dr. Seuss) เคยโดนเจ้าของสำนักพิมพ์อย่าง “เบ็นเน็ต เซิร์ฟ” บอกว่า ไกเซลไม่มีทางเขียนหนังสือเด็กให้สนุกได้โดยใช้คำแค่ 50 คำที่แตกต่างกันหรอก! ซึ่งไกเซลยอมไม่ได้ ขอพิสูจน์ให้ดูว่าเขาสามารถทำได้โดยมีเงินเพียงแค่ 50 ดอลล่าห์ที่มาเดิมพันเท่านั้น!

แล้วพวกเราก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หนังสือเด็กของเขาขายดีมาก แต่ทำไมล่ะ?

จริงๆ ก็มีเหตุผลเพียงแค่ไม่กี่อย่างเท่านั้นที่ทำให้ Dr. Seuss มีไอเดียที่สร้างสรรค์ที่มากขึ้น หลักๆ เลยก็คือ มันบังคับให้เขาใช้แนวทางใหม่ เปรียบเทียบเลยง่ายๆ หากเราเป็นช่างภาพและไม่มีแสง เราก็ต้องคิดหาวิธีใหม่ๆ เพื่อให้ได้ภาพที่เราต้องการ

สำหรับเรื่องนี้ Dr. Seuss ไม่ได้ตื่นตระหนกหรือรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกบีบด้วยตัวเลือกอันน้อยนิด เพราะสิ่งที่เขาทำคือตั้งสติและตระหนักว่าเมื่อตัวเลือกของเรามีจำกัด เราต้องเลิกกระวนกระวายหรือวิตกกังวล จากนั้นจึงควรโฟกัสไปที่การทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ Dr. Seuss หยิบเครื่องมือที่มีอยู่ (ในที่นี้คือเงื่อนไขในการเขียนนิทานโดยใช้คำเพียงแค่ 50 คำที่แตกต่างกัน) มาคิดใหม่ เปลี่ยนความคิดจาก “ฉันควรทำอย่างไร?” เป็น “ฉันสามารถทำอะไรกับสิ่งที่ฉันมีได้?”
 

Creativity Exercise: โยนไอเดียทิ้งไปซะ

เช่นเดียวกับแบบฝึกหัดด้านบน ลองตั้งเดดไลน์ที่ชัดเจนดู หรือไม่ก็เลือกตัดไอเดียบางอย่างที่เข้ามา บางทีมันอาจไม่เหมาะกับนิยายบทนี้ ก็ให้ลองนำไปใส่บทใหม่ซะ หรือไม่อย่างนั้นอาจลองเขียนนิยายบทใหม่ด้วยมุมมองของตัวละครที่แตกต่างกันดูค่ะ

 


Oblique Strategies
(via: Lifehacker)

 

คิดไอเดียใหม่ๆ ไม่ออกเลยจริงๆ
ลองใช้เทคนิค “Thought Prompt

เมื่อเราไม่สามารถคิดอะไรใหม่ๆ ได้ มันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยถ้าเราจะเกิดอาการตัน! แล้วยิ่งเรานั่งคิดอยู่อย่างนั้น ไอเดียใหม่ๆ ก็ไม่เข้ามา น่าเสียดายที่ยิ่งเราพยายามมากเท่าไหร่ มันยิ่งนำเราไปสู่ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพน้อยลง ง่ายๆ ก็คือยิ่งคิด ยิ่งเค้น ยิ่งตันค่ะ นั่นเป็นเพราะความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นจาก “ความคิดที่แตกต่างกัน (Divergent Thinking)” นำมาเชื่อมโยงกันค่ะ

ระหว่างขั้นตอนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ สมองของเราจะรวบรวมแรงบันดาลใจและเนื้อหาก่อนที่จะตกผลึกและเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า “การบ่มเพาะ” เมื่อถึงจุดนี้ความคิดของเราจะเปลี่ยนไปอยู่ใต้จิตสำนึกก่อนจะเด้งกลับเหมือนกับการเล่นบิงโกบอล เมื่อความคิดที่ใช่เด้งเข้ามาพร้อมกัน เราก็จะเข้าสู่สภาวะที่ประสบความสำเร็จอย่าง “อะฮ่า!” โมเมนต์

ตอนนี้อาจฟังดูเหมือนว่ากระบวนการใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่นะ เราเพียงแค่ต้องหาวิธีที่บังคับความคิดเหล่านั้นให้เชื่อมต่อกัน

คนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์หลายคนได้คิดค้นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยเพิ่มความเร็วในกระบวนการบ่มเพาะความคิด ไม่ว่าจะเป็นการใช้แผ่นการ์ด Oblique Strategies ของ Brian Eno นักทดลองดนตรี ที่จะมีข้อความชวนคิดประมาณว่า

  • ใช้แค่ 1 องค์ประกอบ สำหรับแต่ละอย่าง
  • ใช้ไอเดียเก่าสิ
  • ทำอย่างที่เพื่อนสนิทคุณชอบทำสิ
  • ลองเรียบเรียงปัญหาออกมาเป็นคำพูดให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้


หรือแม้กระทั่งแอป “Creative Whack Pack” ของปรมาจารย์ด้านความคิดสร้างสรรค์ระดับโลกอย่างโรเตอร์ ฟอน เอ็ค (Roger Von Oech) เองก็ช่วยได้ ในนั้นจะมีแผ่นการ์ดที่เป็นแนวคิดให้เราช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งแผ่นการ์ดต่างๆ เหล่านี้แหละที่เราเรียกว่า “Thought Prompt” ค่ะ โดยแต่ละ prompts นั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้เราเปลี่ยนแนวคิดการแก้ปัญหาแบบปกติ (ใช้เหตุผลและตรรกะ) เป็นการคิดนอกกรอบเพื่อให้ได้สิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าค่ะ
 

Creativity Exercise: แหกคอกนิยายเราซะ

ลองใช้การคิดนอกกรอบเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ในนิยายของเราเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า ในบางครั้งเราอาจจะยึดติดกับพล็อตหรือทรีตเมนต์มากเกินไปจนไม่กล้าเริ่มต้นใหม่ ดังนั้นคำแนะนำของแบบฝึกหัดนี้ก็คือ ให้เราลืมเรื่องพล็อตทั้งหมดไปซะ จากนั้นเขียนในสิ่งที่อยากจะเขียน มันอาจจะช่วยลดอาการตันของเราได้ เนื่องจากในบางครั้งการมีข้อจำกัดมากเกินไปก็มีส่วนลดทอนความคิดสร้างสรรค์ได้ค่ะ
 

ความคิดสร้างสรรค์ถือว่าสำคัญสำหรับนักเขียนมากๆ ดังนั้นถ้าอยากเขียนนิยายให้ลื่นไหลและมีผลงานแปลกใหม่ออกสู่สายตานักอ่านเรื่อยๆ เราก็ควรหมั่นฝึกฝนสมองจากแบบฝึกหัดเหล่านี้เยอะๆ เพื่อช่วยให้เราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นธรรมชาตินะคะ
 


พี่น้ำผึ้ง :) 

 

 ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.theatlantic.com/science/archive/2016/03/the-driving-principles-behind-creativity/474621/
https://www.nature.com/articles/srep18460
https://blog.rescuetime.com/finding-focus/
https://blog.rescuetime.com/productivity-in-the-workplace/
http://www.pnas.org/content/early/2018/01/09/1713532115
https://blog.rescuetime.com/meaningful-work-guide/


 

Deep Sound แสดงความรู้สึก

 

 
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด