ปัญหาโลกแตก! 
สร้างตัวละครหรือสร้างพล็อตก่อนดี? 


สวัสดีน้องๆ นักเขียนชาวเด็กดีทุกคนค่ะ อยู่ๆ พี่แนนนี่เพนก็คิดถึงช่วงที่เริ่มเขียนนิยายใหม่ๆ แล้วเกิดคำถามกับตัวเองว่าควรเริ่มจากอะไรก่อนดี คำว่า ‘เริ่ม’ ของพี่คือ ‘จุดเริ่มต้น’ เลยค่ะ ตอนนั้นใจรักอย่างเดียวเลยจ้า มีความรู้นิดๆ หน่อยๆ เลยอยากจะลองเขียนดูบ้าง แล้วปัญหาโลกแตกสำหรับพี่ตอนนั้นก็คือ ‘สร้างตัวละครหรือสร้างพล็อตก่อนดีน้า’ โอ้โฮ มันเป็นคำถามง่ายๆ แต่ได้คำตอบที่ยากมาก เหมือนมีคนมาถามว่า ‘ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน’ เลยจ้า ณ ตอนนั้นพี่เลยลองหาคำตอบให้ตัวเองดูด้วยการอ่านหนังสือบ้างหาเทคนิคจากนักเขียนบ้าง สุดท้ายพี่ก็พบว่ามีเคล็ดลับหลักเกณฑ์มากมายที่จะทำให้เราเขียนนิยายได้ แต่ไม่มีกฏไหนเลยที่จะตอบคำถามเราได้ว่าควรเริ่มจากอะไรก่อนดี เพราะฉะนั้น พี่จึงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนมาให้น้องๆ แน่นอนกับปัญหานี้ แต่พี่จะขอนำสิ่งที่พี่ได้เรียนรู้มาเล่าสู่กันฟังให้น้องๆ ได้คิดและตัดสินใจด้วยตัวเองกันค่ะ
 

 

ไม่มีแม่ไก่ที่ไม่มีไข่ และไม่มีไข่ไก่ที่ไม่มีลูกไก่

อย่าเพิ่งงงกัน.. นี่ถือเป็นคำตอบของปัญหาโลกแตกทั้งหมดเลยค่ะ บางสิ่งบางอย่างไม่อาจเกิดขึ้นหรือดำเนินไปได้เพียงลำพัง ถือเป็นสัจธรรมชีวิตรึเปล่า (ยิ้มแห้ง) การเขียนนิยายก็เช่นกันค่ะ พล็อตเป็นส่วนหนึ่งของตัวละครและตัวละครก็เป็นส่วนหนึ่งของพล็อต ดังนั้น พี่จะขอขยายความเพิ่มเติมจากคำถามนะคะว่าจริงๆ แล้ว เราควรเริ่มจากอะไรก่อนดี.. 

‘ขับเคลื่อนเรื่องราวของเราด้วยตัวละคร’ หรือ ‘ขับเคลื่อนเรื่องราวด้วยพล็อต’ 
 
นี่เป็นคำถามที่พี่ขยายความให้น้องๆ ได้เข้าใจกันมากขึ้นค่ะ มันเป็นจุดเริ่มต้นของการเล่าเรื่องเลยว่าเราอยากจะเล่าเรื่องของเราไปในรูปแบบไหน ซึ่งสุดท้ายทั้งตัวละครและพล็อตก็จะขับเคลื่อนเรื่องราวไปพร้อมๆ กันแน่นอน แล้วเราควรเริ่มจากอะไรก่อนดีล่ะ สำหรับพี่แล้วพี่คิดว่า “เราควรเริ่มจากสิ่งที่เรามั่นใจที่สุดค่ะ” มาดูกันว่าน้องๆ จะเลือกกาข้อไหน!
 

 

ข้อ ก. ถ้าสร้างพล็อตก่อน “พล็อตต้องแข็งแรง!”

น้องๆ สังเกตกันบ้างไหมเอ่ยว่าพล็อตส่วนใหญ่ของเรานั้น เกิดจากไอเดียหรือแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวเรา มันเป็นประกายความคิดที่เกิดขึ้นมาเพียงไม่นาน แต่ทำให้เราเห็นเรื่องราวที่เราอยากขียนลงไปในนิยายได้ โดยปกติแล้วนิยามของพล็อตที่เราเข้าใจกัน ก็คือ โครงเรื่องที่มีเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งนักเขียนส่วนใหญ่ก็นิยมวางพล็อตไว้ก่อน เพื่อให้นิยายมีเค้าโครงที่สมบูรณ์และเป็นการการันตีว่านิยายเรื่องนี้ (น่าจะ) เขียนจบแน่นอน ตัวอย่างของการสร้างพล็อตไว้ก่อนก็เช่น..
 
  • คิดเหตุการณ์หรือคิดฉากไว้ก่อนว่าอยากเล่าแบบไหน เกิดขึ้นที่ใด มีความขัดแย้งยังไงแล้วจะแก้ไขปมด้วยวิธีไหน สุดท้ายค่อยสร้างตัวละครเข้ามาในฉากทีหลัง 
  • กำหนดธีมของพล็อตด้วยเพลงที่ฟัง หรือเรื่องราวที่ชวนสงสัย เป็นการตั้งคำถามหรือวางปมปัญหาไว้ก่อน แล้วให้ตัวละครมาช่วยดำเนินเรื่องและคลี่คลายเรื่องราว 

ซึ่งสำหรับนักเขียนบางคน คือ ต้องรู้ก่อนว่าจะเล่าเรื่องในสถานการณ์แบบไหนแล้วค่อยสร้างตัวละคร เพราะถ้าพล็อตเรื่องเป็นเรื่องราวของนางเอกกำลังตามหาพ่อ ตัวละครนางเอกจะต้องไม่มีอารมณ์ขันมาก จะต้องสงบนิ่งและมีเรื่องราวให้คิดตลอดเวลา เป็นต้น นอกจากนี้ ส่วนใหญ่แล้วเรามักคิดพล็อตกันด้วยรูปแบบมาตรฐานคือ สร้างพล็อตที่มีต้นเรื่อง กลางเรื่อง และท้ายเรื่อง โดยมีใจความสำคำญ ได้แก่ 
 
  • ต้นเรื่อง - สร้างเหตุการณ์ให้ตัวละครเผชิญกับปัญหาที่นำไปสู่การตัดสินใจ และค้นพบเป้าหมายว่าควรทำอะไรต่อจากนี้ 
  • กลางเรื่อง - สร้างสถานการณ์ต่างๆ ให้ตัวละครมีอุปสรรค และเปิดเผยปมไปเรื่อยๆ 
  • ท้ายเรื่อง - สร้างเหตุการณ์ที่เปิดเผยเรื่องราวทั้งหมด เพื่อเฉลยแก่นเรื่อง 

ซึ่งการสร้างเรื่องจากพล็อตก่อนนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสียปะปนกันไป ในส่วนของข้อดีนั้น ถือเป็นการวางแผนของนักเขียนที่รัดกุม มั่นใจได้เลยว่าจะไม่เขียนออกนอกทะเลแน่นอน เพราะมีพล็อตเป็นหลักประกันอยู่ และที่สำคัญนักเขียนสามารถเข้าไปแก้ไขพล็อตเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา จะโยนตัวละครเข้าไปในเรื่องยังไงก็ได้ ขอเพียงแค่เรื่องราวยังดำเนินต่อไปตามแก่นเรื่อง โดยนักเขียนที่สามารถทำแบบนี้ได้ มาจากการที่นักเขียนเห็นภาพรวมทั้งหมดของเรื่อง และเกิดจากการ ‘วางพล็อตได้แข็งแรง’ นั่นเอง ไม่ว่าจะแทรกเรื่องราวหักมุม หรือเพิ่มเติมตัวละครเข้าไป เนื้อเรื่องก็ยังจะสมบูรณ์และไม่ออกนอกทะเลแน่นอน  
 
ส่วนปัญหาของการสร้างพล็อตก่อนนั้น มักเกิดจากการที่เราสูญเสียไอเดียหรือแรงบันดาลใจระหว่างทางนั่นเอง เคยไหมที่วางพล็อตไว้แล้ว แต่อยู่ๆ ก็รู้สึกตัน ไปต่อไม่ได้เฉยเลย บางทีไอเดียหรือแรงบันดาลใจที่เคยคิดได้ก็เผลอหลงลืมความรู้สึกนั้นไปแล้วทั้งๆ ที่จดบันทึกไว้.. ซึ่งพี่คิดว่านี่เป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะยังนึกไม่ถึง เพราะเราคิดแค่ว่าเราหมดแรงบันดาลใจเลยไปต่อไม่ได้ ทั้งที่จริงแล้ว ‘เราวางพล็อตได้ไม่แข็งแรงพอ’ ที่จะดำเนินเรื่องต่อไปนั่นเอง 
 

 

ข้อ ข. ถ้าสร้างตัวละครก่อน “ตัวละครต้องปัง!”

ในส่วนของข้อ ข. นี้ พี่เชื่อว่าน้องๆ หลายๆ คนน่าจะเกิดแรงบันดาลใจจากตัวละครกันมาก โดยเฉพาะน้องๆ ที่ชื่นชอบศิลปินหรือมีไอดอลในดวงใจ ส่วนใหญ่แล้วการสร้างตัวละครก่อนพล็อตมักเกิดขึ้นมาจากการที่เราชื่นชอบคาแรคเตอร์ของคนๆ หนึ่งมาก ทั้งจากในจินตนาการและจากชีวิตจริง ทำให้เรารู้สึกรักและเข้าใจตัวละครเหล่านี้อย่างดี ไม่ว่าตัวละครของเราจะตกอยู่ในสถานการณ์ไหน เราสามารถให้คำอธิบายและหาเหตุผลเพื่อสนับสนุนตัวละครของเราได้เสมอ ซึ่งนี่ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของการสร้างตัวละครให้คนอ่านอินไปกับเรื่องราวของเรานั่นเอง ตัวอย่างของการสร้างตัวละครก่อนพล็อต เช่น
 
  • สร้างตัวละครจากพื้นฐานอาชีพ การเล่าเรื่องต่อจากนี้คือการใช้คารแรคเตอร์ทั้งหมดของตัวละครขับเคลื่อนเรื่องราวทั้งหมด ให้เราได้เห็นความสามารถหรือการแก้ไขปมปัญหาของตัวละครไปพร้อมๆ กัน เรียกได้ว่าเราเติบโตและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับตัวละครนั่นเอง 
  • การสร้างตัวละครมักมาพร้อมกันกับการสร้างบทสนทนาเสมอ สมมติเรามีตัวละครที่เราพึงพอใจแล้ว เราก็อยากสร้างคาแรคเตอร์ให้ตัวละครของเราผ่านบทสนทนา เช่น เหล่าแฟนคลับที่ชื่นชอบคู่จิ้นมักจะสร้างบทสนทนาในจินตนาการขึ้นมาผ่านรูปภาพ และวิดิโอ จนกลายเป็นเรื่องราวขึ้นมา แล้วค่อยเติมแต่งคำบรรยายเหตุการณ์สอดแทรกเข้าไป

ซึ่งในส่วนของการสร้างตัวละครก่อนนั้น มีความคาบเกี่ยวกับการสร้างพล็อตอยู่มากแตกต่างกันตรงที่เราสร้างโจทย์ปัญหาให้ตัวละครเข้าไปแก้ไขเหตุการณ์ ไม่ใช่การใช้เหตุการณ์นำเรื่อง ซึ่งเหตุการณ์ที่เราสร้างขึ้นมานั้น เราสร้างขึ้นเพื่อท้าทายตัวละครของเรา และพัฒนาตัวละครของเราให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง โดยการสร้างตัวละครก่อนพล็อตนั้นส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้น ดังนี้
 
  • เริ่มต้นเรื่องราวด้วยภูมิหลังหรือชีวิตที่ปกติของตัวละคร
  • ตัวละครพบเจอเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต และความเป็นอยู่
  • ตัวละครตัดสินใจทำบางอย่างด้วยความคิดและความสามารถของตัวเอง 

ในส่วนนี้ หลายๆ คนอาจจะยังเริ่มต้นไม่ถูก ดังนั้น พี่จะขอยกตัวอย่างตัวละครที่ขับเคลื่อนเรื่องราวทั้งหมดให้น้องๆ ได้เข้าใจกันมากขึ้นนะคะ ตัวอย่างเช่น
 
  • เชอร์ล็อก โฮมส์ จะเป็นนักสืบที่เก่งไม่ได้เลย หากเขาไม่มีตัวละครอื่นๆ คอยอยู่ข้างๆ ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก โฮมส์มีความลึกลับและมีนิสัยที่แปลกประหลาดจนเราไม่สามารถคาดเดาความคิดของเขาได้ เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ยากลำบาก คนรอบข้างช่วยส่งเสริมความสามารถของโฮมส์ในการไขคดีต่างๆ และตัวโฮมส์เองนั้น มีลักษณะคล้ายโคนันคือไปที่ไหนก็มีคนตายที่นั่น แสดงให้เห็นว่าโฮมส์คือคนดำเนินเรื่องที่เข้าไปแก้ไขปมปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เราเห็นเรื่องราวคดีต่างๆ มากขึ้นนั่นเอง 
  • และ แฮร์รี่ พอตเตอร์, เชร็ค, แคตนิส, เจมส์ บอนด์ ตัวละครเหล่านี้เป็นตัวละครที่ขับเคลื่อนพล็อตของเรื่องให้ดำเนินต่อไป โดยมีพวกเขาเป็นจุดเด่นที่เกี่ยวข้องกับพล็อตและไขปมปัญหาความขัดแย้งต่างๆ 

มีสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “putting the cart before the horse” ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่าเป็นการเอาเกวียนหรือรถลากมาอยู่ข้างหน้าม้า โดยสำนวนจริงๆ นั้น หมายถึง การทำผิดขั้นตอนหรือการสลับขั้นตอนนั่นเอง (to do things in the wrong order) ซึ่งจากสำนวนนี้มีนักเขียนท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “putting the cart (plot) before the horse (character) เป็นการสนับสนุนการสร้างตัวละครก่อนการสร้างพล็อต เพราะเขาเชื่อว่าตัวละครสามารถดำเนินเรื่องได้ดีกว่าแรงบันดาลใจ เพราะตัวละครมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนและสามารถเปลี่ยนไปได้ตามพัฒนาการ
 
สำหรับข้อเสียของการสร้างตัวละครก่อนนั้น คือการที่นิยายของเราอาจจะออกนอกทะเลได้นั่นเอง เพราะยิ่งเราพาตัวละครไปผจญภัยในเหตุการณ์ต่างๆ มากเท่าไหร่ เราอาจจะหาจุดจบหรือแก่นของเรื่องได้ยากมากขึ้น เพราะเราขาดการวางพล็อตควบคู่กันไปนั่นเอง 
 

ข้อ ค. เลือกข้อใดข้อหนึ่งที่เรามั่นใจ

มาถึงข้อ ค. กันแล้ว พี่คงไม่แนะนำอะไรมาก นอกจากจะให้น้องๆ ได้เลือกแนวทางที่น้องๆ ชื่นชอบด้วยตัวเอง เพราะจริงๆ แล้วไม่มีวิธีไหนที่ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด มีเพียงวิธีที่เรามั่นใจและถนัดที่จะนำมาใช้มากกว่า และไม่ว่าน้องๆ จะเลือกทำอะไรก่อนหลังสุดท้ายผลลัพธ์ของมันก็คือการผสมผสานกันอยู่ดี ซึ่งพี่ขอย้ำคำเดิมค่ะว่า “เราควรเริ่มจากสิ่งที่เรามั่นใจที่สุด”
 

 
เป็นยังไงกันบ้างเอ่ย กับปัญหาชวนสงสัยของพี่ มันอาจจะไม่ได้โลกแตกสำหรับทุกคน แต่พี่เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะมีความคิดสงสัยแบบนี้อยู่บ้างเหมือนกัน พี่ขอสรุปว่า การมีพล็อตก่อนก็คือการบังคับให้ทุกตัวละครดำเนินเรื่องไปอย่างมีทิศทาง และระหว่างทางต้องคอยเติมสิ่งต่างๆ เข้ามาในฉากเพื่อให้เรื่องราวดำเนินต่อไปได้ ขณะที่หากเริ่มจากตัวละคร เราจะสามารถดำเนินเรื่องราวในสถานการณ์ต่างๆ ได้ด้วยคาแรคเตอร์ ทั้งสองวิธีเป็นเพียงวิธีการเท่านั้น สิ่งสำคัญคือจินตนาการของน้องๆ มากกว่าค่ะ พี่แนนนี่เพนหวังว่าบทความนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการแต่งนิยายให้น้องๆ ได้นะคะ แล้วเจอกันใหม่ค่า ^^
 
พี่แนนนี่เพน
 
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก.. 
https://www.novel-writing-help.com/plotting-the-beginning.html
https://authorkristenlamb.com/2010/02/writing-a-novel-plot-or-character-which-comes-first/ 
https://writingcooperative.com/3-types-of-characters-that-could-lead-your-story-to-greatness-d1d913340b12 
 
Deep Sound แสดงความรู้สึก
พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Member 10 ธ.ค. 61 00:29 น. 2

ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรมาก่อนมาหลัง ฮ่าๆ รวมๆ ก็มีทั้งสองแบบ แบบตัวละครมาก่อน พล็อตค่อยมาก็มี (อันนี้ส่วนมากเป็นเรื่องที่ปูอิมเมจตัวละครไว้ก่อนว่าอยากได้ตัวละครแบบนั้นแบบนี้ พระเอกร้ายๆ หรือตัวละครที่ยืมอิมเมจคนจริงๆ มา) หรือแบบพล็อตมาก่อน (แต่ส่วนมากเหมือนเราได้พล็อตก่อนนะ)

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด