6 เทคนิคทรงพลังที่ช่วยให้คุณเอาชนะความคิดมากแล้วลงมือเขียนนิยายซะ!


 

6 เทคนิคทรงพลังที่ช่วยให้คุณ
เอาชนะความคิดมาก แล้วลงมือเขียนนิยายซะ!

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาวนักเขียนเด็กดีทุกคน รู้มั้ยคะว่าความคิดคือสิ่งต่างๆ สำหรับคนที่มีความทะเยอทะยาน ความปรารถนามักนำไปสู่ความคิดมากมาย ในกรณีส่วนใหญ่เรามักคิดหนักเมื่อต้องวางแผนอะไรบางอย่าง และสำหรับนักเขียน เรามักคิดเยอะสุดๆ เมื่อต้องลงมือเขียนนิยาย เรามักจะกลัวว่าเขียนแล้วจะสนุกไหม? ถ้าใส่ฉากนี้ไปจะเป็นยังไง? จะมีคนอ่านนิยายของเราหรือเปล่า? มีแต่ความกลัวเต็มไปหมด 

น้องๆ รู้มั้ยคะว่าศัตรูตัวฉกาจที่สุดของเราคืออะไร? มา พี่น้ำผึ้งจะบอกให้ มันคือ “ความคิดมาก (Overthinking)” นี่แหละ! เคยสังเกตมั้ยว่าก่อนเราจะเริ่มต้นเขียนนิยาย เรามักใช้เวลามากเกินไปในการวางแผนซ้ำไปซ้ำมา ส่วนมากแล้วเรามักหาข้อผิดพลาดของตัวเอง

จริงๆ การวางแผนอย่างรอบคอบมันก็ดี แต่ในบางครั้งการคิดมากเกินไปสามารถเปลี่ยนความคิดที่ดีหรือกลางไปสู่สิ่งที่เป็นลบ เช่น จากอยู่ๆ ต้องการจะอัปนิยายลงเว็บ คิดนู่นนั่นนี่ คิดไปคิดมาก็เลยไม่อัปเลยเพราะคิดว่านิยายตัวเองไม่ดี ดังนั้นนี่จึงเป็นหนึ่งในฆาตกรที่ลอบฆ่าเราแบบไม่รู้ตัว โชคดีที่เราสามารถออกจากกับดักนี้ได้ ซึ่ง 6 เทคนิคต่อไปนี้จะเปนวิธีทรงพลังที่ช่วยให้เราหยุดอาการคิดมาแล้วลงมือเขียนนิยายต่อค่ะ

 


(via: gettyimages)
 

เข้าใจว่าคิดเยอะไปก็ไม่ช่วยอะไร

เราคิดเพื่อที่จะพยายามดูว่าการตัดสินใจของเราสามารถนำเราไปสู่อะไรได้บ้าง นี่เป็นเหมือนการค้นหาเชิงลึก เรามักพยายามคาดเดาก่อนลงมือทำว่าถ้าทำแบบนี้ลงไป จะเกิดอะไรขึ้น อย่างไรก็ตาม ปรัชญาลัทธิปฏิบัตินิยม (Pragmatism) กลับมองว่านี่เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ วิธีเดียวที่จะรู้ผลลัพธ์ที่แท้จริงของการตัดสินใจนี้ไม่ใช่การคิด แต่เป็นการลงมือทำเลย! พูดจริงๆ นะ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างจนกว่าจะได้ทำมัน

ตัวอย่างเช่น น้องๆ คิดจะเขียนนิยายที่แหวกแนวไม่ตามเทรนด์ แต่น้องๆ ก็ไม่ยอมลงมือเขียนสักทีเพราะกลัวว่าจะไม่มีคนอ่าน งานจะไม่ปัง เขียนแล้วจะไม่สนุก เขียนแล้วจะขายไม่ได้ เขียนแล้วจะไม่ได้ตีพิมพ์ แต่จริงๆ แล้วพี่น้ำผึ้งอยากบอกว่า บางทีเราอาจคิดเยอะไปมากๆ ก็ได้นะ ตราบเท่าที่เรายังคิดมากอยู่อย่างนี้ เราจะไม่มีวันได้รู้เลยว่าแท้จริงแล้วผลลัพธ์จะเป็นยังไงจนกว่าเราจะทำมัน ไม่แน่นะ งานเขียนนอกกระแสของเราอาจดังเป็นพลุเเตกก็ได้ เพราะงั้นการคิดเยอะไม่ได้ช่วยอะไร แต่การกระทำต่างหากที่จะช่วยเรา หยุดคิดเยอะแล้วลงมือเขียนนิยายได้แล้ว

 

กล้ามากพอที่จะศรัทธา

การคิดมากมักมีสาเหตุมาจากความกังวลว่าแอ็คชั่นบางอย่างของเราอาจผิดพลาด พูดจริงๆ นะ เราสามารถยึดติดกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ หรือแผนบางอย่างของเราเพื่อให้มันเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจและเมคชัวร์ว่าเราจะเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่รู้มั้ยว่านี่มันเสียเวลาชัดๆ มันไม่ช่วยอะไรเลยนอกจากทำให้เรากลัวและสร้างความเครียดให้เรา! ใช้แค่การประเมินคร่าวๆ ว่ามันดีกับเราหรือไม่ ถ้ามันแย่ ก็ไม่ต้องทำ แต่ถ้ามันดีก็ลุยเลย แค่ศรัทธาและเชื่อมั่นว่ามันต้องไปในทิศทางที่ดีก็พอ หรือถ้ามันดูเหมือนจะดีแต่ผลลัพธ์ดันออกมาแย่ งั้นก็แค่เรียนรู้จากความผิดพลาดและก้าวต่อไป การไม่รู้อนาคตควรสร้างแรงบันดาลใจให้เราค้นหาวิธีที่เหมาะสมสำหรับเรา ไม่ใช่กระตุ้นให้เราคิดมากเกินไป

ตัวอย่างเช่น นักเขียนส่วนมากมักวางพล็อตหรือทรีตเมนท์ไว้ละเอียดยิบ การทำแบบนี้ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่บางทีการวางพล็อตซะแน่นก็เป็นการปิดกั้นจินตนาการของตัวเอง แล้วยิ่งถ้าเราไม่สามารถเขียนให้เป็นไปตามแพลนแล้วล่ะก็ มันจะยิ่งสร้างความเครียดให้เรามากขึ้น ดีที่สุดที่เราควรปลดปล่อยจินตนาการของตัวเอง หยุดคิดมากหรือใส่รายละเอียดกับบางสิ่งบางอย่างเกินความจำเป็น มันจะช่วยทำให้เราเขียนนิยายจบได้อย่างง่ายดาย และที่สำคัญต้องเชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้ ถ้าปราศจากความศรัทธา เราจะไม่สามารถเขียนนิยายจบได้เลย

 

การตัดสินใจครั้งสุดท้ายไม่มีอยู่จริง

เรามักคิดมากเกินไปเมื่อต้องตัดสินใจในเหตุการณ์สำคัญๆ เพราะเราต้องการความถูกต้อง แน่นอนเรามองแล้วเเหละว่านี่เป็นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายของเรื่องนี้ แต่ถ้าให้มองตามความเป็นจริง การตัดสินใจครั้งสุดท้ายจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ จำไว้เลย ไม่มีการตัดสินใจไหนที่เป็นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายหรอก เพราะถ้าเงื่อนไขต่างๆ เปลี่ยนไป มุมมองของเราก็ควรจะปรับตามนั้นด้วย มันเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่จะต้องคิดอย่างมีวิจารณญาณก่อนที่จะตัดสินใจ แต่อย่าปล่อยให้มันรั่วไหลและกลายเป็นความคิดมาก พึงพอใจกับความเป็นไปได้ว่าการตัดสินใจของเราอาจผิดพลาด ยิ่งไปกว่านั้น เราควรเข้าใจว่าชีวิตเป็นกระบวนการเรียนรู้จากความผิดพลาดด้วย

ยกตัวอย่างเช่น พี่เคยตัดสินใจที่จะส่งนิยายไปสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง พี่คิดอยู่นานว่าจะส่งดีมั้ย คิดแล้วคิดอีก คิดเยอะมาก เพราะอย่างที่รู้ เวลาเราส่งนิยายไปแต่ละเเห่ง เราควรรอให้ได้รับผลการพิจารณาก่อนที่จะส่งไปยังที่ถัดไป แต่สุดท้ายพี่ก็เลือกตัดสินใจส่งไปแม้ว่านิยายของพี่จะไปใช่แนวสำนักพิมพ์นั้นเลย พี่แค่เลือกฟังเสียงหัวใจตัวเองเพราะมันคือความฝัน แล้วผลเป็นไงรู้มั้ย? แม้ว่ามันจะไม่ผ่าน แต่พี่ก็ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดนี้เพื่อนำไปปรับปรุงผลงานตัวเองให้ดีขึ้น

 

คิดมากนักก็เขียนนิยายเยอะๆ เข้าไว้

รู้มั้ย หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เราคิดมากคือ “ความขี้เกียจ” เมื่อไม่มีอะไรมาดึงความสนใจของเรา จิตของเราก็จะเริ่มออกเดินทาง คิดๆๆๆ คิดเยอะมาก คิดแล้วคิดอีก เรามักวิตกกังวลถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งนั่นนำเราไปสู่การคิดมาก

เช่น หลังจากอัปนิยายลงเว็บใหม่ๆ เรามักนั่งอยู่หน้าจอเพื่อรีเฟรชว่าจะมีคนมาคอมเมนต์เราไหม? ดูว่าฟีดแบ็คนิยายจะเป็นยังไง? เราทำแบบนี้วนไปโดยไม่รู้ตัว พอรู้ตัวอีกทีเวลา 3 - 4 ชั่วโมงที่ควรหมดไปกับการเขียนนิยายหรืออ่านหนังสือก็เสียไปกับการรีเฟรชหน้าจอคอมพ์แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น หากบางคนยังไม่มีใครเมนต์ก็อาจจะเริ่มมีความคิดในหัวประมาณว่า  เอะ...นิยายของเราไม่สนุกเหรอ? ทำไมไม่มีคนมาอ่านนิยายเราเลย? นั่นก็จะยิ่งทวีความกังวลให้เราเป็นเท่าตัว

ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ นักเขียนควรทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ เราควรเอาเวลาที่เสียไปเพื่อเขียนนิยายต่อ การหมกมุ่นอยู่กับการเขียนนิยายจะช่วยให้จิตของเราไม่วิตกกังวล ผ่อนคลายและป้องกันไม่ให้เกิดการคิดมาก 

 


(
via: pixabay)
 

เริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมายเล็กๆ เพื่อความฝัน

ความฝัน เป้าหมายและแรงบันดาลใจของเราอาจเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนั่นเป็นฝันที่ยิ่งใหญ่และและดูเหมือนจะแทบจะเป็นไปไม่ได้ ดูเหมือนว่าเราต้องกลายเป็นยักษ์ใหญ่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ ดังนั้นเราจึงมักใช้เวลามากเกินไปในการพัฒนาหรือปรับปรุงความสามารถของเราเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น หลายคนติดอยู่ในสเตจนี้และกลายเป็นว่าไม่สามารถเดินต่อไปหรือลงมือทำอะไรได้เลย

อย่างไรก็ตาม เราสามารถออกมาจากกระบวนการคิดมากนี้ได้ง่ายๆ นะ ขอเพียงแค่เราตั้งเป้าหมายเล็กๆ ในทุกๆ วันเพื่อเป้าหมายของเรา เราไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบหรือมีสกิลรอบด้านในครั้งเดียว แต่เราสามารถค่อยๆ พัฒนาความสามารถเหล่านี้ไปทีละขั้น เลือกก้าวอย่างเป็นจังหวะและทำมันทีละขั้น หากทำแบบนี้ต่อไป ในที่สุดเราก็จะเติบโตกลายเป็นยักษ์ที่สามารถบรรลุเป้าหมายหรือความทะเยอทะยานของเรา

สำหรับนักเขียนอย่างเรา คำแนะนำที่ดีที่สุดเลยคือตั้งเป้าหมายด้วยการเขียนวันละหน้า หรือถ้าใครขยันหน่อยอาจจะเป็น 2 หน้าต่อวันก็ได้ หากเราเขียนวันละหน้าทุกวัน ลองคิดดูสิว่าผ่านไปหนึ่งปี นิยายของเราก็จะมี 365 หน้าแล้ว! เห็นมั้ยว่าเป้าหมายเล็กๆ นำไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้

 

หยุดรอความสมบูรณ์แบบได้เเล้ว

นี่เป็นสิ่งสำคัญมาก พวกเราส่วนใหญ่มักรอความสมบูรณ์แบบ จริงๆ แล้วความกระตือรือร้นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมแต่การมุ่งมั่นเพื่อความสมบูรณ์แบบเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ปฏิบัติไม่ได้และทำให้อ่อนล้า ลองคิดดูนะ ถ้าเรามัวแต่คิดว่า “ฉันต้องการพล็อตที่สมบูรณ์แบบถึงจะเริ่มเขียนได้” หรือ “ฉันต้องการให้บทนี้สมบูรณ์แบบก่อน ฉันถึงจะเขียนบทถัดไป” หากมัวแต่ยึดติดอยู่อย่างนี้ บอกเลยว่าเราจะไม่มีวันได้เขียนนิยายหรือไม่มีวันเขียนบทถัดไป แล้วอย่างนี้เมื่อไหร่เราจะมีงานเขียนที่เป็นของเราสักที ดังนั้นถ้าความคิดที่ว่า “ฉันต้องการให้มันเพอร์เฟคท์” เข้ามาในหัวเมื่อไหร่ ขอให้โยนมันทิ้งไปด้วยการเตือนตัวเองว่า “การรอคอยความสมบูรณ์แบบไม่ใช่วิธีฉลาด รีบลงมือทำซะ”

 

อยู่กับปัจจุบันได้แล้ว

เป็นอย่างไรบ้างคะน้องๆ กับ 6 เทคนิคทรงพลังที่ช่วยหยุดความคิดมากของเรา ก่อนจากกันวันนี้พี่น้ำผึ้งขอให้เทคนิคที่ 7 ในการเอาชนะความคิดมาก แม้เทคนิคข้อนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการเขียนนิยายโดยตรง แต่พี่เชื่อว่ามันมีประโยชน์ต่อทุกคนไม่มากก็น้อย

พี่รู้นะว่าพวกเราทุกคนล้วนเคยเจอเหตุการณ์ที่สำคัญในชีวิตของเราทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นการสอบ การสัมภาษณ์หรือการแข่งขัน เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้ เรามักจะเตรียมตัวให้พร้อมมากที่สุดเท่าที่จะพร้อมได้ ซึ่งสิ่งนี้นำไปสู่การคิด การเตรียมการและการประเมินตนเอง มันดีค่ะที่เราจะทำเช่นนี้ อย่างไรก็ตามมันอาจนำน้องๆ ไปสู่การเตรียมตัวมากเกินไปจนทำให้เครียดและบั่นทอนสุขภาพจิตของเราได้ แน่นอน มันสามารถกลายเป็นความคิดมาก แล้วไม่ต้องพูดถึงหน้างานเลยนะ...การันตีเลยว่าน้องๆ จะแพนิควิตกกังวลหนักมาก ผลสุดท้ายก็ทำให้เราสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไปเลย 

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ เริ่มฝึกฝนตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ต้องคิดอะไรในวันที่เหตุกาณ์สำคัญเกิดขึ้น เพราะถือว่าเราเตรียมตัวมาแล้ว ทำใจสบายๆ การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราสามารถโฟกัสอยู่กับปัจจุบันและปรับตัวได้ ถ้าหากทำแบบนี้ บอกเลยว่าประสบความสำเร็จแน่นอน ^ ^

 

การคิดมากเป็นสาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้เกิดความคิดลบ อารมณ์เสียหรือนำมาสู่อาการซึมเศร้า แถมยังเป็นศัตรูตัวฉกาจที่ทำให้ชีวิตเราก้าวไปไม่ถึงไหน มันเป็นฆาตกรที่ฆ่าความฝันของเรา ถ้าหากน้องๆ รู้จักจัดการกับมันตาม 6 วิธีที่พี่นำมาฝาก รับรองได้ว่าอาการคิดมากเกินไปของเราจะต้องหายไปแน่นอน แล้วเราจะกลายเป็นนักเขียนที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพเพื่อสังคมค่ะ


 

พี่น้ำผึ้ง :)

 

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กระต่ายเริงระบำ Member 4 มี.ค. 62 14:53 น. 2

ชอบบทความนี้มาก ทำให้กลับไปคิดเลยว่าบางครั้งเราก็คิดมากจนเกินไป อาจจะติดอยู่ความสมบูรณ์แบบที่ไม่มีอยู่จริงไปหน่อย บทความนี้ทำให้ได้คิดหลายอย่างเลย

0
กำลังโหลด
Jgango Member 10 มี.ค. 62 22:38 น. 3

1. นอนให้พอ

2. กินให้มีแรง

3. เที่ยวบ้างผ่อนคลาย

4. ฟังเพลงตอนพิมพ์เพื่อบิ้ว

5. พิมพ์ไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็คิดออกเอง

6. ออกกำลังกายไม่งั้นจะเครียดเรื่องน้ำหนักแทน5555ประมาณนี้ละครับของผม


0
กำลังโหลด
~AMSA Meaw~ Member 6 พ.ค. 62 17:20 น. 4

ขอบคุณบทความดีๆ แบบนี้นะคะ อ่านแล้วเหมือนเห็นตัวเองในนั้น คือ หนูพักงานเขียนมาเกือบ 3 เดือนแล้วค่ะ กลัวการกลับไปเขียนงานมากๆ แต่พอมาอ่านบทความนี้แล้ว ความคิดเปลี่ยนเลยค่ะ ขอบคุณมากๆ นะคะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด