Tsundoku (ซึนโดะขุ) : ศิลปะของการซื้อหนังสือมาดองไว้


 

Tsundoku (ซึนโดะขุ) ศิลปะของการซื้อหนังสือมาดอง


 

สวัสดีค่ะชาวเด็กดีทุกคน เอ. เอ็ดเวิร์ด นิวตัน นักเขียน เจ้าของสำนักพิมพ์และนักสะสมหนังสือ 10,000 เล่มเคยกล่าวว่า “แม้จะไม่ได้อ่านหนังสือเหล่านั้น แต่การมีอยู่ของหนังสือที่ได้มาก็สร้างความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง” น้องๆ เคยรู้สึกเหมือนอย่างที่นิวตันบอกมั้ยคะ? ชอบซื้อหนังสือมาดองไว้เยอะๆ แล้วไม่ยอมอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงงานหนังสือที่ขึ้นชื่อว่าลดแหลกแจกแถมกันกระหน่ำ บรรดาหนอนหนังสืออย่างเราไม่พลาด ขอซื้อๆๆ ยกใหญ่ สุดท้ายพอกลับถึงบ้านก็ไม่อ่าน หนังสือเหล่านั้นจึงกลายเป็น “กองดอง” โดยปริยาย แต่ถามว่าเราทุกข์มั้ย? ก็ไม่นะ แฮปปี้กับการมีหนังสือไว้ในครอบครองแม้ว่าเราจะไม่ได้อ่านมันก็ตาม

เอาล่ะ ถ้าน้องๆ รู้สึกว่าพฤติกรรมข้างต้นคล้ายกับเรามาก บอกเลยว่าน่าจะเข้าข่ายอาการ “ซึนโดะขุ” แล้วจ้า

 


ซึนโดะขุ
(via: perpetual work in progress - WordPress.com)


 

ซึนโดะขุ (Tsundoku) คืออะไร? มันเป็นศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ใช้อธิบายบุคคลที่เป็นเจ้าของหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านจำนวนมาก ศาสตราจารย์แอนดรูว์ เกิร์สเซิล อาจารย์ประจำวิชาภาษาญี่ปุ่นยุคก่อนสมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนอธิบายกับสำนักงานข่าว BBC ว่า “ซึนโดะขุ” อาจเป็นคำศัพท์ที่เก่ากว่าที่คิด เราพบคำนี้ปรากฎตั้งแต่ช่วงปี 1879 นั่นหมายความว่ามันอาจถูกใช้ก่อนหน้านี้ด้วย

คำว่า “โดะขุ (doku)” หมายถึงอ่าน อ้างอิงจากศาสตราจารย์เกิร์สเซิล คำว่า “ซึน (tsun)” ใน “ซึนโดะขุ (tsundoku)” มาจากคำว่า “ซึมุ (tsumu)” ที่แปลว่า “กอง, สุม, เก็บ” ดังนั้นเมื่อจับมันมารวมกัน “ซึนโดะขุ (tsundoku)” จึงหมายถึงการซื้อหนังสือมาและเก็บมันไว้

ส่วนที่มาของ “ซึนโดะขุ” น่ะเหรอ? ศาสตราจารย์เกิร์สเซิลบอกว่ามาจากนักเขียนที่ชื่อว่าโมริ เซ็นโซ ไว้ใช้เสียดสีคุณครูที่มีหนังสือเยอะแยะมากมายแต่ไม่ยอมอ่านมัน อย่างไรก็ตาม แม้จะฟังดูเหมือนเป็นการเสียดสี แต่ทุกวันนี้คำนี้ก็ไม่ได้ถูกใช้ในแง่นั้นแล้ว

 


(via: Flickr)
 

อย่าสับสนกับ “Bibliomania”

เวลาพูดถึงซึนโดะขุ หลายคนอาจสับสนกับคำว่า “Bibliomania” ที่แปลว่าโรคคลั่งไคล้การสะสมหนังสือ ทั้งที่ความจริงแล้วสองคำนี้มีความหมายต่างกันมาก ซึนโดะขุเป็นแค่พวกชอบดองหนังสือเฉยๆ ประมาณว่าเจอหนังสือที่ชอบก็ซื้อเลย ไม่จำเป็นต้องอยู่ในลิสต์ฉันก็ซื้อ อ่านไม่อ่านก็ต้องซื้อ เห็นปุ๊บซื้อปั๊บโดยไม่ได้ตั้งใจ อารมณ์เหมือนว่าตังค์หมดเราถึงหยุด (ล้อเล่น) นั่นแหละ จากนั้นเราขนมันไปไว้ที่บ้าน...นอนฟินอยู่ท่ามกลางกองหนังสือโดยไม่อ่านมัน

ขณะที่ Bibliomania เป็นอาการทางจิตในกลุ่มย้ำคิดย้ำทำ ถึงเเม้คนกลุ่มนี้จะชอบสะสมหนังสือก็จริง แต่เลเวลความปรารถนาในหนังสือนั้นแรงกล้ากว่า คนเหล่านี้ถึงขั้นทุกข์ทรมานใจมากๆ เมื่อไม่ได้ครอบครองหนังสือ พวกเขาจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้หนังสือมา ต่อให้ไม่มีเงินก็จะต้องได้หนังสือนั้นให้ได้ ให้ฉันอดกินข้าวดื่มน้ำก็ยอม บางคนอาการหนักถึงขั้นขโมยหนังสือเลยทีเดียว

ในศตวรรษที่ 19 Thomas Frognall Dibdin อธิบายว่า “Bibliomania” เป็นอาการของคนบ้าหนังสือที่ไม่สามารถหยุดสะสมหนังสือได้ โดยหนังสือเหล่านั้นมักเป็นหนังสือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่น ตีพิมพ์ครั้งแรก หรือมีสำเนาภาพประกอบ เป็นต้น ต่อมาทาง Oxford University Press เปลี่ยนคำนิยามใหม่ให้กลายเป็น “พวกมีแพชชั่นในการสะสมหนังสือ”

แม้ว่าสองคำนี้จะมีความหมายที่คล้ายกันมาก แต่ Bibliomania คือการตั้งใจสะสมหนังสือโดยเฉพาะ พวกเขาจะเสาะแสวงหาหนังสือแม้บางครั้งจะก่อให้เกิดปัญหา ต่างจากซึนโดะขุที่เป็นพวกรักการอ่าน พวกเขาตั้งใจซื้อหนังสือมาเพื่ออ่าน เพียงแต่ไม่มีเวลาอ่านแค่นั้น ดังนั้นถ้าเราไม่ใช่พวกต้องขโมยหนังสือหรือซื้อหนังสือจนทำให้การเงินของเราขัดสน ก็ไม่ต้องห่วงว่าเราเป็น Bibliomania หรอก เราอาจเป็นแค่ซึนโดะขุเฉยๆ ก็ได้ ค่อยๆ หาเวลาอ่านไปนะ

 


ซื้อหนังสือเล่มใหม่ทั้งที่เล่มเก่ายังดองอยู่เยอะแยะในบ้าน
เหมือนเดินเล่นกับแฟนแล้วหันไปเหล่ผู้หญิงที่สวยกว่านั่นแหละ

(via: bbc.com)

 

5 สัญญาณที่บอกว่าเราเสพติดการซื้อหนังสือ

#1 เป็นเจ้าของหนังสือมาหลายปีแล้วแต่ยังไม่ได้อ่าน

ก่อนจะไปงานหนังสือหรือเดินเข้าร้านหนังสือ เช็กสต็อกหนังสือในบ้านของเราดูดีๆ ก่อนว่าที่เรามีอยู่ในบ้านเนี่ย อ่านครบหมดหรือยัง? ลองหาเวลาตรวจสอบชั้นวางหนังสือของเราแล้วดูว่ามีหนังสือกี่เล่ม? ซื้อที่ไหน? ซื้อมานานยัง? ทำไมไม่อ่านมัน? ยังคงตั้งใจอ่านมันอยู่มั้ย? ถึงจุดนี้แล้วเราต้องจัดระเบียบชั้นวางของเราให้เป็นส่วน “อ่านแล้ว” และ “ยังไม่อ่าน” เพื่อที่จะได้เตือนสติก่อนเราจ่ายเงินซื้อหนังสือ

#2 มีหนังสือเรื่องเดียวกันหลายๆ เล่ม

อันนี้พีคหนักมาก โดยเฉพาะหนังสือภาคต่อที่มีหลายๆ เล่มเช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือ Game of Thrones เป็นต้น จริงอยู่ที่เราตามเก็บเมื่อหนังสือออกมาใหม่ แต่ถ้าหนังสือออกครบแถมมี boxset ตามมาทีหลัง หรือมีการเปลี่ยนปกเป็นรูปแบบต่างๆ เมื่อไหร่แล้วเราซื้อมันซ้ำ บอกเลยว่าเราเข้าข่ายเสพติดการซื้อหนังสือแล้วจ้า  

#3 มีลิสต์หนังสือที่อยากได้ในอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นการเปิด amazon ดูรายชื่อหนังสือใหม่ หรือจดโน้ตรายชื่อหนังสือที่อยากได้ แล้วพอถึงเวลาไปงานหนังสือหรือเข้าร้านหนังสือจริงๆ เราไม่ได้ซื้อแค่สิ่งที่อยู่ในลิสต์เท่านั้น แต่เรายังได้อะไรมาเพิ่มด้วย! เอ๊ะ...หนังสือเหล่านั้นมาจากไหน? ไม่ได้อยู่ในลิสต์ของเรานี่นา รู้ตัวอีกทีก็ซื้อหนังสือที่อยู่นอกเหนือลิสต์แล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ล่ะก็ พึงรู้ไว้เลยว่าเรากำลังเสพติดการซื้อหนังสือจ้ะ

#4 มีหนังสือมากมายจนชั้นวางหนังสือไม่พอแล้ว

ตอนแรกชั้นวางหนังสือก็พออยู่นะ แต่ไปๆ มาๆ มันไม่ใช่อย่างที่คิดซะแล้วสิ อยู่ดีๆ ก็ไม่พอซะอย่างนั้น งานนี้เลยต้องหาที่ชั่วคราวให้หนังสือของเรา ไม่ว่าจะเป็นการยัดลงกล่องหรือวางบนพื้น นาทีนี้ได้หมด จากนั้นก็ไปสอยหนังสือที่อยากอ่านมาเพิ่ม ถ้าหากเรากำลังเจอเหตุการณ์อย่างนี้อยู่ล่ะก็ โปรดรู้ไว้เลยว่าเราเริ่มเป็นซึนโดะขุแล้วจ้า

#5 พยายามหาเหตุผลในการซื้อหนังสือ

แม้ว่าเราจะมีหนังสือที่อ่านไม่จบดองอยู่เต็มบ้าน แต่ถ้าเราเจอหนังสือถูกใจเราก็แทบจะซื้อมันทันที หรือบางคนเจอหนังสือลดราคา เราก็ไม่ลังเลที่จะซื้อมัน สังเกตดูสิ เรามักมีเหตุผลให้กับทุกการซื้อหนังสือของเรา ขอแค่ได้ซื้อมา (ดอง) ไว้อ่านเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว!

 


(via: INLIFE Healthcare)

 

5 วิธีหยุดซื้อหนังสือแล้วอ่านมันซะ!

#1 สร้างลิสต์หนังสือที่ “ต้องอ่าน”

เมื่อมีคนแนะนำหนังสือน่าอ่านให้เรา อย่าเพิ่งรีบร้อนไปร้านหนังสือแล้วซื้อมัน หรือสั่งในเว็บขายหนังสือออนไลน์ ตรงกันข้าม เราควรจดมันลงในลิสต์หนังสือต้องอ่านของเรา และใส่ไปว่านี่คือหนังสือแนะนำ การทำแบบนี้จะทำให้เรามีสติก่อนซื้อหนังสือ เมื่อเราต้องการซื้อหนังสือเล่มใหม่ อย่าลืมสูดลมหายใจลึกๆ และสแกนลิสต์หนังสือที่ต้องอ่านเทียบกับหนังสือแนะนำ วิธีนี้จะทำให้เราได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนว่าเราต้องการอ่านหนังสือเล่มนี้จริงๆ หรือไม่ 

#2 ซื้อเฉพาะหนังสือที่คิดจะอ่านในสัปดาห์หน้า

ต่อจากข้อแรก หลังจากที่เรามีลิสต์หนังสือที่ต้องอ่านแล้ว เราไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือเล่มนั้นจนกว่าเราจะพร้อมอ่านมันจริงๆ ในบางครั้งเราก็ซื้อหนังสือไปตุนไว้และบอกตัวเองว่าพร้อมเมื่อไหร่ค่อยอ่าน แล้วสุดก็จบลงด้วยหนังสือ 20 เล่มที่รอให้เราอ่านวางเรียงอยู่บนชั้นวางหนังสือ บอกเลยว่ามันจะวนลูปเป็นวัฏจักรแบบนี้เรื่อยๆ ตราบใดที่เราไม่หนักแน่นกับตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ควรทำก็คือ ถ้านี่ไม่ใช่หนังสือที่เราอยากอ่านใน 7 วันต่อจากนี้ อย่าซื้อมัน ให้รอจนกว่าเราจะอ่านหนังสือเล่มปัจจุบันให้จบ จากนั้นค่อยซื้อมันจ้า มีวินัยวนไปนะ

#3 อ่านหนังสือแค่ 1 เล่มต่อครั้งเท่านั้น

อันนี้ยาก พี่รู้ มันเหมือนแรงดึงดูดอย่างหนึ่งที่ทำให้เราซื้อหนังสือทุกเล่มที่ฟังดูน่าสนใจและเริ่มอ่านมันทันที และทั้งหมดด้วย! แต่รู้อะไรมั้ย นี่เป็นเรื่องเสี่ยงมากที่เราจะอ่านหนังสือไม่จบ แถมเราอาจจะพลาดความรู้สึกสุดอินในหนังสือแต่ละเล่มด้วย ลองนึกดูนะ เราอ่านเล่มนี้ไปจนถึงหน้า 297 แล้ว แต่เราก็หยุดแล้วไปอ่านหน้า 56 ของหนังสืออีกเล่ม การทำแบบนี้อาจทำให้เราลืมไปว่าเรายังอ่านหนังสือเล่มแรกไม่จบ ดังนั้นเราควรอ่านหนังสือแค่ 1 เล่มเท่านั้น เเล้วค่อยอ่านเล่มอื่นต่อเมื่อเราอ่านเล่มแรกจบ 

หรือไม่อย่างนั้นถ้าเราอยากอ่านหนังสือ 2 เล่มในเวลาเดียวกัน เราก็ควรจะอ่านสลับแนว เช่น เล่มแรกเป็นแฮร์รี่ พอตเตอร์ (นิยายแฟนตาซี) สลับกับ A Brief History of Time โดย Stephen Hawking (หนังสือ non-fiction) เมื่อเรามีอารมณ์อยากเป็นพ่อมดที่สร้างทุกอย่างด้วยการโบกไม้กายสิทธิ์ ก็ไปอ่านแฮร์รี่ซะ แต่เมื่อเรารู้สึกอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจจักรวาลนี้ก็ย้ายไปอ่านของฮอว์คกิ้งซะ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ การอ่านหนังสือจบแค่หนึ่งเล่มต่อครั้งจะทำให้เราลดอาการอยากซื้อหนังสือและไม่ซื้อหนังสือเกินความจำเป็นค่ะ (ประมาณว่าหนังสือเล่มแรกยังอ่านไม่จบเลย งั้นไม่ซื้อใหม่นะ)

#4 จดโน้ตลงไป

ถ้าอยากบังคับตัวเองให้อ่านหนังสือให้จบ ให้ใช้กระดาษพับครึ่งเป็นที่คั่นหนังสือของหนังสือแต่ละเล่ม ขณะที่เราอ่านมันให้เราจดความคิดและความคิดที่สำคัญลงบนกระดาษ การลงมือเขียนแม้เพียงเล็กน้อยสามารถช่วยให้เราจดจำและเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น นั่นยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้กับหนังสือที่เราอ่าน แถมยังช่วยกระตุ้นให้เราตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือต่อไปจนจบด้วย อ่านเพลินลืมช็อปหนังสือเล่มใหม่ไปอีก

#5 ทำลิสต์ “หนังสืออ่านแล้ว”

มีลิสต์หนังสือต้องอ่านไม่พอ ต้องมีลิสต์หนังสืออ่านแล้วด้วย หลังจากเราอ่านหนังสือจบเล่มและสรุปเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมทำลิสต์หนังสือต้องอ่านเพราะเราอาจลืมว่าเคยอ่านหนังสือเล่มไหนแล้ว จะได้ไม่ต้องหยิบมาอ่านซ้ำทีหลัง ทีนี้ถ้าเราอยากได้หนังสือเล่มใหม่ ลองดูหนังสือบนชั้นวางแล้วนำมาเทียบกับลิสต์หนังสืออ่านแล้วของเรา ถ้ามันเริ่มใกล้เคียง ยินดีด้วยค่ะ นี่เป็นสัญญาณดีที่บ่งบอกว่า “สามารถซื้อหนังสือเล่มใหม่ได้แล้ว!”
 

เป็นอย่างไรบ้างคะกับพฤติกรรมซึนโดะขุหรือการดองหนังสือ น้องๆ ชาวเด็กดีเป็นกันบ้างหรือเปล่า? ส่วนพี่น้ำผึ้งบอกเลยว่าเป็นหนักมาก โดยเฉพาะช่วงงานหนังสือ หลังๆ พี่เลยต้องทำลิสต์และอดใจซื้อเท่าที่เราลิสต์ไว้ พกเงินสดไปให้พอดีกับที่คำนวณจะได้ไม่ต้องเปย์เยอะ สำคัญที่สุดคือเราต้องมีวินัยกับตัวเองและซื้อหนังสือเท่าที่จำเป็น จริงๆ ย้ำกับตัวเองบ่อยๆ ว่า “หนังสือที่บ้านยังอ่านไม่จบ อย่าเพิ่งซื้อ” หรือ "ขอบคุณที่ไม่ซื้อหนังสือเล่มใหม่" ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำแล้วได้ผลเช่นกันนะคะ แล้วน้องๆ ล่ะ มีวิธีจัดการกับพฤติกรรมซึนโดะขุของตัวเองยังไง อย่าลืมแชร์ให้น้ำผึ้งและเพื่อนๆ ได้อ่านด้วยนะคะ เผื่อจะลองนำไปใช้บ้าง จะได้หยุดเสพติดการเปย์หนังสือสักที!

พี่น้ำผึ้ง :)

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.treehugger.com/cleaning-organizing/tsundoku-practice-buying-more-books-you-can-read.html
 https://austinkleon.com/2018/11/16/tsundoku-books-piled-everywhere/
https://www.quickanddirtytips.com/productivity/organization/how-to-stop-buying-books-and-start-reading-them?page=1
https://en.wikipedia.org/wiki/Bibliomania
 

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

ปีศาจหัวโต Member 9 ม.ค. 62 17:25 น. 1

List หนังสือซื้อมาละยังไม่ได้อ่าน สรุปรวมว่าได้กี่เล่ม (เยอะทั้งจำนวนเล่มทั้งเงินที่จ่ายไป)

ก็เป็นลมแล้วก็ลุกขึ้นมาดูใหม่ เป็นลมแล้วก็ฟื้นใหม่ 3-4รอบได้ 5555 ล้อเล่นๆนะฮะ


List มาแล้วก็บ่นตัวเองว่าควรมั้ยเนี่ย ควรซื้อเพิ่มมั้ย เยอะมาก อ่านไม่ทันแล้ว อ่านให้หมดก่อนเลยนะ

รู้ตัวอีกทีก็ยืนอยู่ในร้านนายอินทร์ ซีเอ็ด B2S ไม่ก็ไปหิ้วถุงอยู่ในงานหนังสือทุกวันที่ไปได้เลยฮะ #ร้องไห้

0
กำลังโหลด
เรโกะ จิทาคุ Member 12 ม.ค. 62 13:11 น. 2

1.ไม่ ซื้อปุ๊บอ่านปั๊บจนแม่บอก-แม่ไม่ใช่เครื่องผลิตเงินนะจะหาเงินให้ได้ภายในวันเดียวน่ะ

2.รอเล่มจบ ขี้เกียจตามเก็บ ยกเว้นสารานุกรมสีดำ

3.ปกติต้องมีอยู่แล้วนี่ ลิสต์น่ะ แต่เมื่อก่อนเป็นอีกแบบ ตอนนี้รู้แล้วว่าเอียนนิยายผู้ใหญ่ เลยไม่ซื้อมาอ่าน แนวเกลือๆล้นตลาด บาย...ฉันไม่ซื้อ

4.เมื่อก่อนสองตู้ ตอนนี้เหลือตู้เดียว เพราะเอาไปบริจาคห้องสมุดร.ร.

5.ไม่ แค่ดูแนว-เรื่องย่อ แล้วก็ไม่ดองด้วย ถ้าแนวเดิมๆก็ไม่ซื้อ


1.ไม่

2.ซื้อมาปุ๊บอ่านจบปั๊บ เช่น ซื้อสารานุกรมสีดำมา อ่านจบภายในวันนั้น ถ้าเล่มหนาประมาณ400หน้าก็สองวัน

3.มันควรจะทำแบบนั้นอยู่แล้ว

4.ใช้สมองจำเอา

5.อ่านหมดแล้ว

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด