มอง ‘แพรว เพทาย’ ผ่านตัวละครหญิงที่
ใช่หรือไม่ใช่เฟมินิสต์!? 


สวัสดีค่ะชาวเด็กดีทุกคน นิยายที่มีตัวละครหญิงโดดเด่น มักจะถูกมองว่าเป็นนิยายที่เข้าข่ายความเป็นเฟมินิสต์ และนิยายของ แพรว เพทาย จิรคงพิพัฒน์ ก็มีตัวละครหญิงที่โดดเด่นแทบทุกเรื่อง เพราะนิยายในนามปากกา ภาพิมล,พิมลภา ล้วนเป็นนิยายรักดราม่าที่ว่าด้วยชีวิตอันขมขื่นของลูกผู้หญิง ผ่านกระทำที่ถูกละเมิด และถูกจำกัดจากครอบครัว และคนอื่นๆ อยู่เสมอ จนบางครั้งเราก็นึกสงสัยขึ้นมาว่าชีวิตคนเรามันจะยากลำบากจนต้องอดทนต่อสู้ขนาดนี้เลยเหรอ? นี่เป็นคำถามที่พี่แนนนี่เพนแอบถามตัวเองอยู่บ่อยๆ เมื่ออ่านนิยายเรื่อง 'น้ำค้างเปื้อนสี' จนกระทั่งได้มาพบปะพูดคุยกับพี่แพรวถึงเรื่องราวอันสงสัยที่เกิดจากนิยายเรื่องนี้ รวมถึงนิยายรักดราม่าเรื่องอื่นๆ ด้วยว่าที่สงสัยมันจริงไหม? นิยายพี่แพรวกำลังสื่อเรื่องเฟมินิสต์อยู่รึเปล่า? เรามาตามดูคำตอบจากพี่แพรวกันเลยค่ะ 
 

สามารถติดตามรับชมคลิปสัมภาษณ์ผ่าน Youtube ช่อง DEK-D Writer ได้นะคะ

Clip

‘แพรว เพทาย’ กับนิยายที่เต็มไปด้วยความหวัง


 

เริ่มต้นปี 2019 ด้วยนิยายรักแนวอบอุ่นเรื่อง “รอเวลารัก”

จริงๆ แพรวก็เขียนเรื่องใหม่เรื่อยๆ ในเด็กดีนะคะ ตอนนี้ก็เขียนเรื่อง “รอเวลารัก” อยู่ค่ะ เป็นเรื่องแนวพระเอกเคยเป็นเด็กเกเรเป็นนักเรียนนักเลง เคยถูกจับเพราะติดยาบ่อยจนเข้าสถานพินิจ แล้วนางเอกก็เป็นพี่สาวของเพื่อนพระเอกคือมีความผิดพลาดเหมือนกัน มีลูกไว แล้วผู้ชายก็ไม่ได้รับผิดชอบ ไม่ได้มาสร้างครอบครัวด้วยกัน แล้วตัวเอกสองคนนี้ก็มาเจอกันอีกครั้ง เพราะว่าต้องไปงานแต่งงานของน้องชายนางเอก ก็เหมือนกับคนที่มีชีวิตสะดุดพลิกนิดหนึ่ง แล้วมาเจอกัน การเจอกันครั้งนี้อาจจะเป็นเหมือนการมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน 
 

ทุกคนสมควรได้รับโอกาสแม้จะเคยทำผิดพลาดมาก่อน 

ปีนี้จริงๆ แพลนไว้ 2 เรื่องเป็นอย่างน้อยค่ะ ก็มีเรื่องหนึ่งที่กำลังเขียนอยู่ปัจจุบันชื่อว่า “กะรัตดาว” ก็จะเป็นแนวที่ชูตัวละครผู้หญิงอีกแล้ว คือนางเอกจะเป็นคนที่มีชีวิตที่ผิดพลาดอีกแล้วในวัยเรียน คือท้องในวัยเรียน เราเลยอยากจะนำเสนอว่าความผิดพลาดเนี่ย มันไม่ใช่สิ่งที่น่าประนาม เขายังสมควรที่จะได้รับโอกาส เขาไม่ควรจะถูกมองถูกลดคุณค่า คือเราก็ไม่ได้สนับสนุนนะ แต่ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นมาคือความไม่ตั้งใจเพียงครั้งเดียว แล้วชีวิตเขาจะเบนเส้นทาง หรือมีอะไรเปลี่ยนไปตลอดไป มันก็ไม่ยุติธรรมนะ สมมติอย่างในเรื่องนี้ นางเอกก็ต้องหยุดเรียนไม่สามารถเข้ามหาลัยในปีต่อไปได้ ในขณะที่พระเอกไปเรียนได้ ก็เลยอยากจะชูว่าผู้หญิงก็ควรจะมีเส้นทางที่เดินต่อไปได้ค่ะ
 

ความรักคือการสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน 

จริงๆ แพรวไม่ได้มีจุดประสงค์ หรือว่ารู้สึกถึงความเป็นเฟมินิสต์ในตัวเรานะ คือเราไม่ได้สตรีนิยมขนาดนั้น แต่ในความคิดแพรวคือเท่าเทียมนิยมค่ะ คือหมายถึงความเท่าเทียมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงอะไรแบบนี้ สำหรับผู้ชายถ้ามีความฝัน ได้เดินตามฝัน ในมุมผู้หญิงถ้ามีความฝันก็ต้องเดินตามฝันได้เหมือนกัน แล้วเรารู้สึกว่ามันสำคัญตรงที่ตัวละครผู้ชายของเรา จะต้องเคารพในความฝันของผู้หญิง ต้องให้ความสำคัญ ไม่ได้รู้สึกว่าคู่กันแล้วแฮปปี้เอนดิ้ง ผู้หญิงอยู่บ้าน ผู้ชายไปทำตามความฝันอะไรแบบนี้ อยากให้สนับสนุนซึ่งกันและกันมากกว่า 
 

เพราะความเศร้ามันกระทบใจเรามากกว่าความสุข นิยายของแพรวจึงเป็นนิยายรักปนดราม่า 

สำหรับแพรวคือเป็นคนที่ชอบอ่านนิยายแนวนี้อยู่แล้ว เรารู้สึกว่าเวลาที่เราอ่านเรื่องดราม่า ความเศร้ามันกระทบใจเรามากกว่าความสุข แต่เราไม่ได้แอนตี้ฉากฟินหรือจิ้นอะไรแบบนี้นะก็อยากจะมี แต่คือความรู้สึกฟินเป็นความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีคนเขียนอยู่แล้ว และอาจจะเขียนได้ดีกว่าเราด้วยซ้ำ แล้วเราถนัดเขียนฉากเศร้า เขียนพล็อตที่มันบีบคั้น หรือว่ากระทบใจมากกว่า แล้วเรารู้สึกว่าเวลาที่เราเขียนอะไรแบบนี้มันมีคนอ่านอินกับเรา มาคอมเมนต์มาพูดคุย มันสนุกดี เหมือนมีคนรู้จักมาเม้าด้วย 

อีกเหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าแพรวอาจจะคิดฉากฟิน ฉากรัก ฉากมุ้งมิ้งไม่เก่งด้วย นิยายรักโรแมนติก เราก็เขียนนะ แต่ผลตอบรับจากคนอ่านมันจำกัดไม่เท่านิยายรักดราม่า พอมีคนชอบแนวที่เราเขียน หรือมีคนอ่านมาบอกทีหลังว่าขอดราม่าอีก อยากให้เขียนอีก เราก็เลยเขียนอีกเพราะว่าเขาชอบ เรารู้ว่าเขาชอบเราก็เลยอยากจะเขียนที่เขาชอบด้วย 
 

น้ำค้างเปื้อนสี คือ พล็อตที่อยากให้บทเรียนกับพระเอกนิสัยเลว 

จริงๆ แต่ละเรื่องไอเดียมันก็ต่างกันนะคะ ถ้าเกิดเป็นน้ำค้างจุดเริ่มต้นมันเล็กมากเลย มันเริ่มจากที่ช่วงหนึ่ง มีกระแสที่เขาชอบแชร์กันเฟซบุ๊กว่า ทำไมพระเอกละครหรือพระเอกนิยายที่ข่มขืนหรือปล้ำนางเอก ทำไมคนแบบนี้ถึงได้เป็นพระเอก คือน้ำค้างก็เริ่มมาจากความรู้สึกแค่นั้นเลยค่ะ ในเรื่องก็คือ ‘รัน’ พระเอกได้ไปลวนลาม หรือว่าทำอะไรที่มันรุนแรงกระทบจิตใจนางเอก มันก็เลยกลายเป็นประเด็นยืดยาวภายในเรื่อง เหมือนตัวละครแล้วก็เหตุผลแวดล้อมมันชักนำให้เรื่องดำเนินไปแบบนั้น ไอเดียเราก็เลยมาจากที่เราเห็นคนตั้งคำถามหรือแชร์กัน แล้วมาจุดประกายว่า ถ้าพระเอกเราทำแบบนั้นบ้างล่ะ เขาควรจะได้รับบทเรียนยังไงกับเรื่องนี้
 

จุดจบของความผิดพลาดคือ จุดเริ่มต้นของ ‘ความสุขและความหวัง’

อันนี้พูดได้ไหมนะ กลัวมันจะสปอยล์เกินไป (หัวเราะ) ตอนเขียนน้ำค้างเปื้อนสี แพรวคิดตอนจบเอาไว้ว่านางเอกจะฆ่าตัวตายนะ แล้วเราก็รู้สึกว่า ถ้ามันจบแบบนั้นคนอ่านจะได้อะไร คนที่เหนื่อยกับนางเอก คนที่เหนื่อยมากับทุกตัวละครของเรา เขาจะได้อะไรนอกจากความเศร้า ความผิดหวัง เราก็เลยเปลี่ยนใหม่ ให้นางเอกมีชีวิตต่อไป ทำเพื่อคนอื่น มีชีวิตอยู่เพื่อเก็บเกี่ยวความสุขอะไรในชีวิตบ้าง หรือมองโลกในแบบที่ดีขึ้นบ้าง คนอ่านเขาจะได้รู้สึกว่าการเดินทางของเรา การเดินทางของเนื้อเรื่องเนี่ย สุดท้ายแล้วปลายทางมันก็มีแสงสว่าง มันไม่ได้มืดดับไปเลย ถ้าเกิดนางเอกตายคือทุกอย่าง ทุกความพยายามคือมันจบเลยนะ มันเหมือนเป็นการตัดความหวังคนอ่าน หรือใครก็ตามที่อาจจะอยู่ในจุดนั้นของชีวิตอยู่ แล้วเราไม่อยากให้มันเป็นตัวกระตุ้นหรือเป็นอะไรที่ทำให้เขารู้สึกว่ามันจะเป็นทางออก
 

แม้แพรวจะชูตัวละครผู้หญิงเด่นมาตลอด แต่เชื่อเถอะไม่มีใครอยากสิงนางเอกของแพรวแน่ๆ 

คนอ่านเขาไม่น่าคิดว่าตัวละครผู้หญิงเป็นลูกรักนะ เพราะชีวิตผู้หญิงในนิยายมันก็หนักนะ น่าจะเป็นลูกไม่รักมากกว่า (หัวเราะ) เราไม่ได้คิดว่ารักตัวละครชายหรือหญิงมากกว่ากันนะ แต่เราแค่รู้สึกว่าเราเขียนผู้หญิงแล้วเราเขียนได้คล่องมากกว่า อาจจะเพราะเราเป็นผู้หญิงด้วย แล้วเราก็ชอบเขียนบรรยายความรู้สึกของผู้หญิง มันถนัดกว่าของผู้ชายนิดหนึ่ง 

จริงๆ แพรวอ่านนิยายแพรวก็กรี้ดพระเอกนะ แต่ว่าบางทีเราอ่านเราก็รู้สึกว่าเราหงุดหงิดกับบางอย่างของนางเอก เราก็เลยรู้สึกไม่คอมพลีท ไม่สมบูรณ์ ก็เลยคิดว่าถ้ามีผู้หญิงเป็นตัวละครเด่นของเรื่อง ผู้หญิงก็สามารถมีบทบาท หรือว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอ่านได้เหมือนกัน คนอ่านที่ไปอ่านนิยายของนักเขียนคนอื่นเขาจะคอมเมนต์ประมาณว่าอยากสิงนางเอกจังเลย แต่นิยายแพรวไม่มีใครอยากสิงนางเอกเลย (หัวเราะ) ทุกคนจะออกแนวปลุกปลอบ ปลอบประโลมนางเอก ซึ่งเรารู้สึกว่าการที่คนอ่านเอาใจช่วยนางเอกของเรา มันก็น่ารักนะ แพรวชอบ 
 

อุปสรรคเป็นสิ่งที่ต้องฝ่าฟัน ทุกตัวละครของแพรวต้องไม่ยอมแพ้ 

แพรวเป็นคนที่ชอบการฝ่าฟัน เรารู้สึกว่าคนที่ฝ่าฟันเป็นคนที่ไม่ว่าเขาจะอยู่จุดสูงสุดหรือจุดกึ่งกลางของชีวิต แต่ถ้าเขาฝ่าฟันมาจากจุดที่ต่ำกว่านั้นได้เราว่ามันน่าชื่นชม และเราต้องการให้ความรู้สึกแบบนี้เกิดกับคนอ่านของเราด้วย ซึ่งบางคนเขาอาจจะเริ่มต้นจากติดลบแต่ถ้าเขาฝ่าฟันขึ้นมาจนได้ถึง 1, 2, 3 อย่างนี้มันก็น่าชื่นชมแล้ว แต่บางคนมีร้อยพอตอนจบก็มีร้อย แพรวรู้สึกว่ามันเฉยๆ ตรงนี้คือเป็นความชอบส่วนตัวด้วย ถือเป็นความเฉพาะตัวของนิยายเรา เขาต้องฝ่าฟันจาก 0 ถึง 100 และเป็นกำลังใจให้กับนักอ่านด้วย 
 

แพรวอยากจะสนับสนุนผู้หญิงให้มีชีวิตของตัวเองได้ และผู้ชายก็ให้ความสำคัญ

ต้องบอกว่างานช่วงหลังของแพรว แพรวชอบตัวละครหญิงทุกตัวเลยเพราะว่า 2-3 ปีหลังมานี้ เราโตขึ้นมากน่าจะอยู่ในวัยที่เรียกว่าผู้ใหญ่ก็ได้ล่ะมั้ง แล้วความคิดเราต่อผู้หญิงก็จะเป็นความคิดที่อยากจะสนับสนุนผู้หญิงให้ได้ทำอะไรตามที่เขาต้องการ โดยนำเสนอผ่านตัวละครเรา นิยายแพรวช่วงแรก ผู้หญิงแต่งงาน อยู่บ้าน เลี้ยงลูก แต่ว่าช่วงหลังเราเขียนผู้หญิงจบแบบทำงาน ผู้หญิงก็ยังมีทางเดินของตัวเองต่อไป ผู้ชายก็มีทางของเขา สุดท้ายแล้วมันก็จะมีทางร่วมกันก็คือความรัก หรืออะไรก็ตามแต่ที่เขามีร่วมกัน แต่คือทุกคนมีทางเดินที่ชอบ ตัวละครผู้หญิงของเรามีชีวิตของตัวเองได้ และผู้ชายก็ให้ความสำคัญ แล้วแพรวก็ไม่คิดว่านิยายตัวเองสะท้อนสังคมด้วยนะ เราแค่เรียกมันว่านิยายดราม่าอะไรก็ตามแต่ ส่วนจะสะท้อนไม่สะท้อน มันอยู่ที่มุมมองคนอ่านมากกว่า ถ้าเขามองว่ามันสะท้อน ก็คือเหมือนเขาให้เกียรตินิยายเรา ซึ่งเราก็จะรู้สึกดีมาก 
 

แค่เปลี่ยนมุมมองก็จะเข้าใจว่าไม่มีใครมีบทบาทเด่นกว่าใคร

สิ่งที่ทำให้เราเปลี่ยนไป น่าจะเป็นวัยด้วย ยุคสมัยด้วย จริงๆ เราชอบดูเรื่องราวชีวิตคนนะ เวลาเราเจอผู้หญิงเก่ง เราจะชอบมาก จำได้ว่ามีช่วงหนึ่งเราตามไอจีของดาราผู้หญิงต่างประเทศคนหนึ่ง เราเห็นว่าสามีเขาเคารพเส้นทางชีวิตของภรรยาเขา มันทำให้เราคิดได้ เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าเบื้องหลังของผู้ชายที่ประสบความสำเร็จคือผู้หญิง แต่ในมุมกลับกัน เบื้องหลังของผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จก็อาจจะเป็นเพราะมีผู้ชายคอยสนับสนุนอยู่เคียงข้างเหมือนกัน เพียงแค่สลับตำแหน่งกันเฉยๆ ก็เหมือนกับเรื่องน้ำค้างเปื้อนสี ถ้าเกิดนางเอกต้องการเลือกเส้นทางของตัวเอง แล้วพระเอกไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน พี่ว่ามันไม่แฟร์กับการที่ผู้หญิงจะต้องยุติเส้นทางของตัวเองเพื่อคนรัก ไม่เห็นด้วยกับอะไรอย่างนี้ 
 

เขียนนิยายรักดราม่าเพราะมีเรื่องอยากเล่า แม้โอกาสผ่านสำนักพิมพ์จะน้อยก็ตาม 

ก็ต้องยอมรับว่านิยายดราม่า โอกาสที่จะผ่านสำนักพิมพ์ก็จะยากกว่านิยายรักหวานซึ้ง เราเขียนหลายแนวแต่ว่าทุกครั้งที่เขียนดราม่ามันจะได้กระแสตอบรับที่ดีกว่าแนวรักโรแมนติก แต่กว่าที่เราจะเขียนดราม่าจบก็นานนะ ก็ไม่ใช่ว่าเราเขียนดราม่าจบแล้วเรื่องต่อไปก็จะเป็นดราม่าอีก บางทีแพรวก็เว้นเป็นปี ดราม่าเนี่ยแพรวคิดว่าความสำคัญของพล็อตมันต้องหนักแน่นกว่าแนวพาฝัน เราต้องหาวัตถุดิบ หาเหตุผลมารองรับในการกระทำของตัวละคร แล้วก็เหตุการณ์ มันใช้เวลาในการตกผลึกนานกว่า แต่ไม่ได้เหนื่อยขนาดนั้นนะ ถ้าเรารู้สึกว่าเราเขียนไปเพราะต้องเขียน กับเขียนไปเพราะมีเรื่องจะเล่ามันต่างกันเลยนะ 
 

ออกหนังสือกับหลายสำนักพิมพ์เพราะเขียนนิยายหลายแนว 

เคยมีคนอ่านถามว่าทำไมไม่ออกกับที่เดียวเลย ให้เป็นที่ประจำที่คนอ่านเขาจะจดจำเราได้ แต่บางทีแพรวเขียนนิยายต่างแนวกัน บางทีก็โรแมนติกมันก็เป็นทางของที่หนึ่ง ดราม่ามันก็เป็นทางอีกที่หนึ่ง แนวสงครามก็เป็นอีกที่หนึ่ง แพรวก็ต้องไปตามที่ๆ มันเหมาะสมกับแต่ละงานของเรา จริงๆ ก็ทำงานให้กับทุกที่นะ ยิ่งยุคนี้ถ้าผ่านก็บุญหัวแล้ว
 

หนังสือทำมือ = ใกล้ชิดกับคนอ่าน 

จริงๆ การทำมือมันก็สนุกอีกแบบนะ ต่างจากสำนักพิมพ์เลย เรารับจองเอง คนอ่านบางคนก็มาจองในเพจ บางคนจองปุ๊บก็จะเม้าต่อ เราก็เลยได้คุยกัน เป็นความใกล้ชิดกับคนอ่าน แต่มันก็จะไปเหนื่อยตรงการจัดส่งอะไรแบบนี้ ซึ่งบางทีก็ต้องพึ่งคนอื่น แพรวทำทุกเรื่องไม่ไหวค่ะ เพราะบางทีเรารับยอดจองแล้วเราก็ไม่มีเวลาไปเขียนเรื่องใหม่เลย ต้องจัดหน้าต้องทำอะไรแบบนี้ คือมันยากกว่าสำนักพิมพ์ แต่ความสุขคือเราได้ใกล้ชิดกับคนอ่าน
 

แพรวชอบอ่านคอมเมนต์ เพราะฉะนั้นถามแพรวได้ตลอดเวลาเลย 

แพรวชอบแอปฯ นักเขียนนะ มันเหมือนหลังบ้านที่เอาไว้ดูว่าวันนี้มีคนอ่านนิยายเรากี่คน แล้วมันก็จะแจ้งเตือนทุกครั้งที่มีคอมเมนต์เข้ามา เรารู้สึกว่ามันเรียลไทม์ เราสามารถพิมพ์ตอบในแอปได้โดยที่เราไม่ต้องเปิดคอมฯ แล้วมันก็สะดวกดี สำหรับนักอ่าน แพรวขอบคุณทุกคนที่ติดตามนิยายเรา ก็ฝากติดตามต่อไปนะคะ มีอะไรก็พูดคุยติชมได้เต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจ คุยได้ แพรวก็พยายามจะตอบทุกคอมเมนต์ให้มากที่สุด มาคุยกันเยอะๆ นะคะ 
 

ถ้าใครเคยอ่านน้ำค้างเปื้อนสีจะต้องอินมากแน่ๆ พี่แนนนี่เพนถึงกับร้องไห้ตอนกำลังสัมภาษณ์เลยค่ะ ไม่รู้เหมือนกันว่าเราเป็นคนเซนซิทีฟ หรือความคิดของพี่แพรวมันทำให้เรามองเห็นภาพสิ่งที่พี่แพรวกำลังจะสื่อชัดเจนมากยิ่งขึ้น พอมันโดนใจเรามันก็เลยจี้จุดให้เราปล่อยโฮออกมาได้ง่ายๆ เลย นี่แหละ คือ เจ้าหญิงแห่งวงการนิยายรักดราม่า (พี่ยกให้เอง ฮ่าๆ) ส่วนเรื่องที่ว่านิยายพี่แพรวเป็นแนวเฟมินิสต์ไหม ก็อยากให้ลองอ่านและคิดทบทวนกันดูว่าเรามีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไง ที่แน่ๆ พี่คนหนึ่งล่ะที่ไม่อยากเป็นนางเอกของพี่แพรว แต่พี่อยากมีคนที่คอยสนับสนุนความฝันของพี่เหมือนที่พี่แพรวบอกเอาไว้เลย ท้ายที่สุดแล้ว พี่เชื่อว่าความคิดและวิธีการสื่อสารของพี่แพรวในวันนี้ จะทำให้นักอยากเขียนหลายคนมีแรงบันดาลใจมากขึ้น รวมถึงแฟนๆ นักอ่านของพี่แพรว คงได้คำตอบให้หายคิดถึงกันแล้วนะ ปีนี้มาแน่ๆ อย่างน้อยสองเล่ม!!! 

แล้วเจอกันใหม่ค่ะ ^^ 

พี่แนนนี่เพน 


หน่วยกล้าวาย นักเขียนที่กล้าเริ่มต้นจากศูนย์อีกครั้ง! เพราะอยากให้คนรู้จัก 'เกม'

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด