​1984 หนังสือเสียดสีการเมืองที่นักเขียนตายหลังตีพิมพ์เพียง 7 เดือน


1984 หนังสือเสียดสีการเมืองที่
นักเขียนตายหลังตีพิมพ์เพียง 7 เดือน 

 
สวัสดีค่ะ นักอ่านนักเขียนชาวเด็กดีทุกคน 1984 เป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมและถูกยกย่องให้เป็นผลงานเรื่องเยี่ยมในช่วงศตวรรษที่ 20 ควบคู่กับแอนิมอล ฟาร์ม หรือชื่อไทยว่ารัฐสัตว์ ทั้งสองเรื่องเป็นผลงานของ จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนที่มีชื่อเสียงด้านการเขียนนิยายแนวการเมืองและสะท้อนสังคมคนดัง ว่ากันว่าออร์เวลล์เขียนงานเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ผลงานของเขาไม่มีการประนีประนอม และโจมตีระบบการปกครองแบบเผด็จการอย่างชัดเจน สำหรับ 1984 เป็นผลงานที่มีความหลากหลาย แต่หลักๆ น่าจะอยู่ในกลุ่มนิยายดิสโทเปีย ตอนที่เขียน เป็นช่วงการเมืองไม่ปกติ จึงนับว่าออร์เวลล์เสียสละตัวเองอย่างสูง เพราะงานเขียนของเขากระทบกับระบบการเมืองในขณะนั้น ทำให้เขาต้องลำบากและโดนโจมตี ทว่าสุดท้าย ผลงานเรื่องนี้ก็กลายเป็นผลงานอมตะจนกลายเป็นหนึ่งในงานเขียนที่ถูกยกย่องว่าดีที่สุดในโลก เนื่องจากมันตีแผ่และบอกเล่าความจริงของมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น จนทำให้คนอ่านสะอึกในหลายๆ ตอน แต่ก็ต้องยอมรับว่า... มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง 
 
เรามารู้จัก 1984 ให้ลึกซึ้งกว่านี้อีกสักนิดด้วย 10 ข้อที่แอดมินหยิบมาฝากกันในบทความนี้ค่ะ  
 

ภาพดวงตาบนปกหนังสือสื่อว่ารัฐกำลังจับตาดูเราอยู่ 
 
ออร์เวลล์เข้าใจเรื่องการใช้อำนาจเป็นอย่างดีจากประสบการณ์ตรง และเพราะเหตุนี้เขาจึงเขียน 1984 ได้อย่างน่าสนใจ  
สมัยยังเป็นหนุ่มน้อย ออร์เวลล์หรือชื่อจริงว่าเอริค แบลร์ เคยทำอาชีพตำรวจอยู่ 4 ปีครึ่ง ด้วยหน้าที่การงานทำให้เขาต้องคอยช่วยเหลือ ดูแลบุคคลที่อายุยังน้อย ในฐานะตำรวจเขาได้เห็นอะไรมากมายหลายอย่าง และเจ้าตัวก็ได้เขียนนิยายที่เล่าถึงประสบการณ์ด้านนี้ด้วย นั่นคือ ‘The Hanging’ ออร์เวลล์เขียนถึงการฆ่าคนอย่างเลือดเย็น เขาพาดพิงว่า... เมื่อคนเราได้อำนาจมาไว้ในมือ มันง่ายมากที่เราจะทำร้ายทำลายคนอื่น ออร์เวลล์ยังเขียนถึงเรื่องนักโทษที่ต้องทนอยู่ในกรงขังสภาพพังๆ จนทำให้เขารู้สึกว่า... อำนาจที่อยู่ในมือนี้ ช่างเป็นเรื่องเลวร้าย เขาเริ่มเกลียดและไม่ชอบสิ่งที่ตัวเองเป็น แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ สุดท้าย ออร์เวลล์ถึงกับพูดว่า “ผมเคยเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่เลวร้าย มันปลูกฝังสิ่งเลวๆ ให้กับผมและทำให้ผมรู้สึกผิดที่ต้องทำแบบนั้น” และคงเพราะแบบนี้เอง ความโหดร้ายใน 1984 ถึงได้สมจริงถึงขนาดนั้น เพราะว่ามันมาจากประสบการณ์ตรงของนักเขียนนั่นเอง 
 
1984 เป็นความพยายามของออร์เวลล์ ที่จะจุดประเด็นที่ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอไป และไม่ควรจะมีการหยุดนิ่ง ทุกอย่างต้องเปลี่ยนได้ตลอดเวลา  
หนังสือเล่มนี้ ได้พูดถึงจุดจบและการกดขี่ของระบบเผด็จการ หลังกลับจากสเปน ออร์เวลล์ได้พยายามเตือนผู้คนหลายคนเรื่องอันตรายของระบบนี้ แต่ผลคือ ไม่มีใครเชื่อเขา ตอนนี้กลายเป็นว่าทุกคนเชื่อว่าซ้ายดี ขวาเลว ซึ่งสำหรับออร์เวลล์แล้ว ไม่มีระบบการเมืองไหนดีหรือเลวที่สุด และนี่คือเหตุผลที่ทำให้เขาสร้างผลงานยอดนิยมทั้งสองเรื่อง อย่าง 1984 และแอนิมอลฟาร์มขึ้น ก็เพื่อเตือนให้ผู้คนเห็นถึงอันตรายของระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ออร์เวลล์เล็งเห็นว่า ระบบการปกครองแบบอังกฤษไม่น่ารอด เขาเชื่อว่าไม่ฟาสซิสต์ก็ต้องสังคมนิยมเข้ามายึดครอง ออร์เวลล์มองว่า... เมื่อมีสงคราม ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลง เขาพยายามให้ความรู้และนำเสนอข้อมูลว่า... หากเปลี่ยนเป็นปกครองแบบเผด็จการ จะกลายเป็นฝันร้าย และสุดท้ายทุกคนจะถูกหักหลัง และเหตุการณ์ที่เขาพูดก็เกิดขึ้นจริงๆ หลังสงครามโลก    
 
1984 เป็นหนังสือที่มีคนรักและเกลียดมากที่สุดในโลก (บางทีอาจจะเท่าๆ กัน) 
1984 ได้รับความนิยมในกลุ่มนักอ่านทั่วโลก เป็นหนังสือที่อยู่ในรายชื่อ ‘ต้องอ่าน’ ได้รับโหวตให้เป็นหนังสือที่ดีที่สุดในโลกในเกือบทุกงานประกวด ทว่า... ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบหนังสือเล่มนี้ พ่อแม่หลายคนบอกว่ามันมีฉากเลิฟซีนที่น่าเป็นห่วง โซเวียตแบนหนังสือเล่มนี้ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาเสียดสีสตาลิน และยังเล่าถึงประวัติศาสตร์สหภาพโซเวียตในทางที่ผิด สหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ได้ประทับใจหนังสือเล่มนี้ เพราะเนื้อหาบางส่วนกล่าวเสียดสีถึงกระทรวงเพนตากอนและเอฟบีไอ รวมถึงบุคลิกของบิ๊กบราเธอร์ ที่คล้ายคลึงกับประธานเหมาจากจีน เรียกว่าผลกระทบโดนหลายชิ่งหลายดอกหลายประเทศ จนทำให้หลายๆ คนไม่พอใจไปตามๆ กัน 
 
1984 เป็นต้นแบบของหนังสือแนว ดิสโทเปีย ทั่วโลก 
ไม่ว่าจะ We หรือ Brave New World หรือแม้แต่ Handmaid’s Tales รวมไปถึงนิยายแนวดิสโทเปีย YA อย่างฮังเกอร์เกม ล้วนได้แรงบันดาลใจจาก 1984 เนื้อหามีการพูดถึงชนชั้นที่แตกต่าง การบังคับให้ทำตามรัฐบาล การกดขี่จนสังคมทนไม่ไหวและต้องมีการปฎิวัติ การพูดถึงความเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจ ไม่ได้แค่เย็นชาหรือทำอะไรไปตามกฎเพื่อประโยชน์ของคนอื่น นี่แหละเนื้อหาหลักๆ ของหนังสือแนวดิสโทเปีย ซึ่งเกือบทุกเรื่องได้แรงบันดาลใจจาก 1984 ทั้งสิ้น 
 
ชื่อเดิมของ 1984 คือ ชายคนสุดท้ายในยุโรป 
ในตอนแรก จอร์จ ออร์เวลล์ ตั้งชื่อหนังสือเรื่องนี้ว่า The Last Man in Europe หรือ ชายคนสุดท้ายในยุโรป ทว่าหลังจากหารือกับบรรณาธิการส่วนตัวแล้ว ในตอนแรก เขาเกือบจะใช้ชื่อ 1980 เนื่องจากฉากในหนังสือเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1980 แต่ก็มาลงตัวที่ 1984 เพราะออร์เวลล์เขียนหนังสือเล่มนี้ในปี ค.ศ. 1948 เขาเลยใช้เทคนิคสลับตัวเลขด้านหลัง เพื่อให้เนื้อเรื่องเป็นการบอกเล่าโลกในอนาคตด้วย และเพื่อให้มันมีความหมายกับเขาด้วย   
 
ระหว่างที่เขียน 1984 ออร์เวลล์โดนจับตาและควบคุมโดยรัฐบาล และตายหลังหนังสือตีพิมพ์เพียง 7 เดือน  
12 ปีก่อน 1984 จะตีพิมพ์ ออร์เวลล์ได้เขียนบทความ The Road to Wigan Pier ที่นำเสนอเรื่องความยากจนและการต่อสู้ทางชนชั้นของประชาชนในอังกฤษ งานเขียนชิ้นนี้ กลายมาเป็นสารคดีเกี่ยวกับแรงงานในเหมืองถ่ายหิน และแน่นอนว่าชื่อของออร์เวลล์ขึ้นบัญชีดำ ได้รับการจับตามองโดยรัฐบาลนานเกินสิบปี ด้วยเหตุผลคือ เขามีมุมมองแบบคอมมิวนิสต์ และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบโบฮีเมียน จุดพีคคือ นอกจากโดนจับตาแล้ว ระหว่างที่เขียนหนังสือเรื่องนี้ ออร์เวลล์ป่วยเป็นวัณโรคเรื้อรัง แต่เขาก็กัดฟันเขียนจนจบถึงได้ยอมเข้ารับการรักษา ซึ่งระยะเวลานั้นนานถึงสองปี ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1950 เขาเสียชีวิตจากวัณโรค นับรวมแล้วหนังสือเพิ่งจะตีพิมพ์ได้แค่ 7 เดือนเท่านั้น   
 
ห้อง 101 มีต้นแบบจากความจริง  
ในหนังสือมีห้องชื่อว่า ห้อง 101 เป็นห้องทรมานในกระทรวงแห่งความรัก เหยื่อจะถูกบังคับให้เจอกับ “สิ่งที่เลวร้ายที่สุดในโลก” ซึ่งแต่ละคนก็แตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าใครกลัวอะไร อย่างวินสตัน ตัวละครเอกของเรื่องโดนจับหัวยัดเข้าไปในกรงที่เต็มไปด้วยหนู เป้าหมายของห้องนี้คือ ให้เหยื่อทรยศทุกคนที่รักด้วยวิธีจับเผชิญหน้ากับสิ่งที่เหยื่อกลัวที่สุด วินสตันกลัวหนูจนทนไม่ไหว จนร้องขอให้เอาคนรักมาทรมานแทนที่เขา และนั่นก็เท่ากับว่าเขาทรยศหักหลังคนรักของตัวเอง ห้อง 101 เป็นห้องหมายเลขเดียวกันกับห้องที่ออร์เวลล์ทำงานในช่วงสงครามโลก และออฟฟิศของเขาก็ไม่ใช่ที่ไหน แต่เป็นบีบีซีนั่นเอง ห้องต้นแบบมีชื่อว่า ห้องถ่ายทอดสด 101 ประสบการณ์ที่ออร์เวลล์พบเจอคือ ไม่ว่าจะเขียนหรือให้ข้อมูลอะไร ก็จะต้องผ่านการอนุมัติจากกระทรวงสารสนเทศ หรือ Ministry of Information ก่อน เขาบอกว่าห้องนี้เหมือนฝันร้ายของเขาเลยทีเดียว... การที่คนเราไม่อาจพูดความจริงทั้งที่รู้ว่ามันอยู่ตรงหน้า แต่ต้องทำเป็นเชื่อสิ่งที่ถูกสั่งให้เชื่อ มันเลวร้ายขนาดไหนก็คิดเอาเอง 
 
1984 มีเหตุการณ์หลายอย่างที่เขียนจากความจริง มันเป็นหนังสือที่บรรยายและบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเผด็จการได้เที่ยงตรงที่สุดเล่มหนึ่ง 
ในหนังสือได้มีการพูดเรื่องการแสวงหาอำนาจและคอนเซ็ปท์ของการได้อำนาจมาครอบครอง ออร์เวลล์บรรยายถึงสังคมที่น่าเศร้า เมื่อผู้คนต่างต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว และโดนบังคับให้เชื่อในสิ่งที่ไม่ได้เชื่อ เหยื่อไม่อาจมีความรักให้ผู้ใดนอกจากรักที่มีให้กับพรรค ความรักความสัมพันธ์ทางเพศเป็นเรื่องต้องห้าม ทุกคนต้องอยู่คนเดียวและต้องซื่อสัตย์ต่อพรรคเท่านั้น นี่คือชีวิตที่ถูกหลอกหลอนด้วยเผด็จการของจริง นักอ่านจากรัสเซียจำนวนมากออกปากเป็นเสียงเดียวกันว่า ออร์เวลล์ล่วงรู้ได้อย่างไรว่าพวกเขาถูกบังคับให้ใช้ชีวิตแบบนั้น ทั้งที่เจ้าตัวเองก็ไม่เคยมาอยู่ที่รัสเซียเลย ออร์เวลล์ยังได้แรงบันดาลใจจากเคมเพไท ตำรวจลับของญี่ปุ่นที่ทรมานผู้คนอย่างโหดร้ายในช่วงสงคราม และนำมาสร้างเป็นฉากในเรื่อง  เมื่อวินสตันโดนจับไปทรมาน เขาต้องพูดซ้ำๆ ว่า 2+2=5 นั่นคือสโลแกนของสหภาพโซเวียต ที่กระตุ้นให้คนงานทำงานอย่างหนัก จนแผนระยะห้าปี สามารถประสบความสำเร็จได้ภายในเวลาแค่สองปี นาซีเองก็มีแผนแบบนี้ ระบบเผด็จการเข้าควบคุมความคิด และทำให้ผู้อยู่ภายใต้การปกครองต้องทำงานอย่างหนัก และโดนชุดความคิดล้างสมอง ออร์เวลล์หวาดกลัวสิ่งนี้มากที่สุด เขายังได้นำประสบการณ์อื่นๆ มาประยุกต์เขียนในหนังสือ เช่น ช่วง ‘เกลียด 2 นาที’ และ ‘สัปดาห์แห่งความเกลียดชัง’ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนทบทวนตัวเอง ด้วยการแสดงความเกลียดออกมาให้มากที่สุด เหตุการณ์นี้สอดคล้องกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ในช่วงแรกๆ รัสเซียเป็นพันธมิตรกับเยอรมัน แต่แล้วกลับถูกเยอรมันทรยศและบุกรุก สหภาพโซเวียตจึงเกลียดชังเยอรมันมาก และด้วยลักษณะการปกครองแบบเผด็จการ ผู้ปกครองจำต้องปลูกฝังความเกลียดให้กับประชาชน ซึ่งความน่ากลัวของเรื่องนี้อยู่ที่ประชาชนต้องยอมรับโดยห้ามแสดงการต่อต้านใดๆ นอกจากฉากที่กล่าวมา ยังมีฉากที่ตรงกับประวัติศาสตร์รัสเซียในช่วงที่สตาลินปกครองประเทศ ในช่วงเวลานั้น อาจมีชนชั้นปกครองบางคนทำเรื่องไม่ถูกใจ ถ้าหากสตาลินไม่พอใจมากๆ ก็จะกำจัดคนคนนั้นทันที มีการลบรูปลบประวัติและปรับเปลี่ยนทุกอย่าง หน้าที่ของวินสตันในเรื่องก็คือสิ่งนี้ เขาต้องทำการเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามที่ท่านผู้นำพอใจ 
 
วินสตัน สมิธ เป็นแค่ตัวละครธรรมดาๆ ออร์เวลล์อยากให้เขาเป็นตัวแทนของทุกคนในสังคม 
ตัวละครเอกใน 1984 มีชื่อว่าวินสตัน สมิธ เขาคือตัวละครที่ธรรมดามากๆ และมีลักษณะของผู้คนทั่วไป วินสตันทำงานอยู่ที่กระทรวงแห่งความจริง และมีหน้าที่คือ เขียนประวัติศาสตร์ใหม่ให้สอดคล้องกับความเชื่อในแต่ละวัน วินสตันเคยลองกบฎอยู่เหมือนกัน แต่มันจบลงในระยะเวลาอันสั้น เขาต้องเผชิญหน้ากับความกลัวอันเลวร้ายสูงสุด และทรยศต่อวิญญาณของตัวเอง เพื่อเอาตัวรอด หลังได้รับการปล่อยตัว วินสตันได้พบจูเลีย อดีตคนรัก ซึ่งต่างก็ยอมรับว่าไม่เชื่อใจในกันและกันมากพอ และทรยศกันและกันเมื่อโดนทรมานในห้อง 101 วินสตันตะโกนเรียกชื่อจูเลียมารับการทรมานแทน ส่วนจูเลียก็ตะโกนเรียกชื่อวินสตันเช่นกัน นั่นแหละคือการทำลายจิตวิญญาณของทุกคน ในระบบเผด็จการ เราห้ามรักใคร นอกจากรัฐ เราต้องจงรักภักดีต่อสิ่งที่ไม่มีตัวตน แต่ไม่อาจมีน้ำใจหรือเชื่อใจผู้อื่น วินสตันและจูเลียคือตัวแทนของมนุษย์ธรรมดาทั่วๆ ไป ที่เมื่อเจอกับการทำร้ายก็ต้องเอาตัวรอด เราทุกคนเองก็คงเหมือนเขานี่แหละ ถ้าเจอแบบเดียวกันก็คงทนไม่ไหว ยิ่งเมื่อมีระบอบการปกครองแบบเผด็จการ จำพวก 2+2 คือ 5 ก็ยิ่งทำให้เราต้องเผชิญกับปัญหาที่แม้จะไม่เชื่อชุดความคิดจากรัฐ แต่การถูกบังคับและกดดัน ก็ทำให้เราจำใจต้องทำเป็นเชื่อ และเมื่อเราจำใจเชื่อมากๆ สุดท้ายมันก็กลายเป็นความจริงในใจไปโดยไม่รู้ตัว   
 
ตัวละคร ‘จูเลีย’ น่าจะมีต้นแบบมาจากภรรยาคนที่สองของออร์เวลล์
จูเลีย เป็นตัวละครหญิงที่โดดเด่นมากใน 1984 เธอคือคนรักของวินสตัน ตัวละครเอกของเรื่อง เชื่อกันว่าต้นแบบของเธอมาจากภรรยาคนที่สองของออร์เวลล์ ซอนย่า บราวเนลล์ น่าเสียดายต้นแบบในที่นี้ไม่ใช่เรื่องดี เพราะจูเลียถูกคนรักทรยศ เพื่อเอาตัวรอด 
 
หลังจากทำความรู้จักหนังสือเล่มนี้มากขึ้นแล้ว แอดมินพบว่าหนึ่งในเหตุผลที่ 1984 ยังคงได้รับความนิยมแม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานพอสมควร ก็คงเป็นเพราะเผด็จการไม่เคยหายไปจากชีวิตของพวกเรา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ประเทศอะไร เราต่างต้องเผชิญหน้ากับเรื่องแบบนี้ แม้แต่ตัวออร์เวลล์ เมื่อเขียนหนังสือเล่มนี้จบ ก็ต้องโดนบีบบังคับกดดัน และนั่นเองคือเหตุผลที่เขาอยากนำประสบการณ์ตรงมาถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่า เมื่อใดที่คนได้อำนาจ พวกเขามักจะถูกอำนาจครอบครอง หนังสือเรื่องนี้เหมือนข้อเตือนใจทำให้เราเข้าใจมนุษย์ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ออร์เวลล์เองยอมรับความจริงพอจะเขียนระบุไว้ว่า... เราต่างอยู่ในโลกที่ต้องพึ่งพากันและกัน ทุกอย่างเกี่ยวพันกันไปหมด ดังนั้นแม้อาจมีความขัดแย้งทางอำนาจหรือปัญหาทางการเมือง เราต่างต้องรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ เพื่อถ่วงดุลกันและกัน
 
บางทีความน่าเป็นห่วงอาจไม่ได้อยู่ที่ผู้ปกครอง แต่อยู่ที่คนธรรมดาอย่างเราๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับตัวละครวินสตัน นั่นคือคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า วินสตันโดนบิ๊กบราเธอร์และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ควบคุมทุกอย่าง จนไม่อาจขยับตัวไปทำอะไรได้ จะเสพอะไรก็ได้แค่สื่อที่ผู้ปกครองยัดเยียดให้ เช่นหนังโป๊ห่วยๆ หรือสื่อบันเทิงไร้สาระ เมื่อลองสังเกตดูเราพบว่าคนเราทุกวันนี้ ต่างก็ฆ่าเวลาไปกับการดูรายการทีวีซ้ำๆ ซากๆ และเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลจริงบ้างเท็จบ้าง ถ้าใครชอบปรัชญา น่าจะจำได้ว่า นิทซ์เช่นักปรัชญาคนดังได้เคยเขียนเอาไว้ว่า... เราทุกคนอยู่ภายใต้การควบคุมหรืออยู่ในสายตาของใครบางคนเสมอ หลายคนว่านิทซ์เช่หมายถึงพระเจ้า แต่เมื่อลองอ่าน 1984 บางที คนที่จับตาดูเราอาจไม่ใช่พระเจ้า แต่เป็นผู้ปกครองหรือคนมีอำนาจก็เป็นไปได้ พวกเขาอาจจะกำลังเฝ้ามองและหาทางกดให้เราอยู่ในกรอบแบบที่เขาต้องการเพื่อการปกครองที่ราบรื่น และเพื่ออำนาจในมือของพวกเขาเอง... และนั่นคือสิ่งที่วรรณกรรมเรื่องนี้อยากบอกเรา จงเป็นวินสตันที่มีความสุขที่สุดไม่ว่าคุณจะใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบบการปกครองใดก็ตาม 
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก 
http://mentalfloss.com/article/64195/14-things-you-might-not-know-about-nineteen-eighty-four 
https://fee.org/articles/ten-things-you-never-knew-about-orwells-nineteen-eighty-four/ 
https://www.listland.com/top-10-facts-about-george-orwells-1984/  
  
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น