เจาะลึกพัฒนาการตัวละคร : “จางมันวอล” จากมนุษย์ป้าสู่วิญญาณที่ได้รับการปลดปล่อย (ซีรีส์ Hotel Del Luna)

  เจาะลึกพัฒนาการตัวละคร : “จางมันวอล”
จากมนุษย์ป้าสู่วิญญาณที่ได้รับการปลดปล่อย
(ซีรีส์ Hotel Del Luna)

 

สวัสดีค่ะชาวเด็กดีทุกคน ถ้าพูดถึงซีรีส์ที่กระแสแรงและเป็นที่พูดถึงกันสุดๆ ในช่วงที่ผ่านมาคงไม่พ้น ‘Hotel Del Luna’ ซีรีส์เรื่องดังจากช่อง tvN ซึ่งได้ออกอากาศตอนแรกไปเมื่อคืนวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่พอฉายปุ๊บก็เรียกว่าเป็นที่พูดถึงในวงกว้างเลยล่ะ ‘Hotel Del Luna’ เป็นซีรีส์แฟนตาซี-ลึกลับ-โรแมนซ์ ที่ยังคงทำเรตติ้งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเนื้อเรื่องที่แปลกใหม่น่าติดตาม เคมีที่เข้ากันของนักแสดง คอสตูมแน่น CG ที่เวอร์วังอลังการ และเพลงประกอบซีรีส์อันไพเราะ จึงทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีนั่นเอง และประเด็นที่พี่จะมาพูดถึงในวันนี้ไม่ใช่การมาอวยซีรีส์แต่อย่างใด แต่จะพูดถึงตัวละคร “จางมันวอล” นางเอกของเรื่องที่มี ลักษณะนิสัยเหมือนมนุษย์ป้า แต่ผู้กำกับและคนเขียนบทกลับทำให้เราเข้าใจและรักในตัวตนของเธอได้ในตอนจบ แต่ก่อนที่เราจะไปพูดถึงจางมันวอล พี่ขอชวนทุกคนไปทำความรู้จักซีรี่ส์นี้ก่อนดีกว่า 
 


 

Hotel Del Luna ซีรี่ส์พล็อตข้ามเวลาที่เล่าเรื่องได้ไม่ซ้ำแบบใคร!

หากใครยังไม่เคยดูซีรีส์เรื่องนี้ พี่ขอเล่าให้ฟังย่อๆ ก่อนเลยว่า ‘Hotel Del Luna’ เป็นเรื่องราวลี้ลับในโรงแรมที่มีไว้ต้อนรับแขกที่เป็นเหล่าภูตผีและดวงวิญญาณ ให้เข้ามารับบริการสุดพิเศษแบบที่ไม่สามารถพบได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งโรงแรมนี้สำหรับคนทั่วไปแล้วมันเป็นเพียงอาคารเก่า ดูรกร้าง ทรุดโทรม ที่ตั้งอยู่กลางใจเมืองอันคึกคักของกรุงโซลเท่านั้น โดยมี “จางมันวอล” เป็นผู้ดูแล เธอถูกพันธนาการไว้ในโรงแรมแห่งนี้มานานกว่าพันปี เพราะการกระทำอันร้ายแรงที่เคยทำไว้ในอดีต ไม่สามารถหนีไปไหนได้ เอาแต่เฝ้ารอ “เขาคนนั้น” ที่หักหลังเธอให้วนกลับมาเจอกันด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยความแค้น และมีทางเดียวที่มันวอลจะสามารถออกไปจากที่นี่ได้ คือจะต้องมีคนเข้ามาช่วยปลดปล่อย และ “กูชานซอง” ผู้จัดการโรงแรมคนใหม่ก็คือคนที่จะมาช่วยเธอในครั้งนี้…
 

แต่การเข้ามาช่วยปลดปล่อยไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ด้วยความที่มันวอลนั้นถูกจองจำมานาน เธอจึงมีนิสัยที่เหมือนมนุษย์ป้า ทั้งอารมณ์ร้าย ขี้เหวี่ยงขี้วีน เอาแต่ใจตัวเอง ยึดตัวเองเป็นหลัก การจะเข้าถึงเธอจึงไม่ใช่ง่ายๆ และก่อนอื่นพี่ต้องขออธิบายก่อนว่ามนุษย์ป้านั้นมีลักษณะอย่างไร มนุษย์ป้า เป็นคำนิยามที่ชาวสังคมออนไลน์ตั้งขึ้นมาเพื่อนิยามคนประเภทหนึ่งที่พบเจอในสังคม โดยมีคำจำกัดความของมนุษย์ป้าไว้ว่า

มนุษย์ป้า (น.) คือ ผู้หญิงรุ่นวัยกลางคน ยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกและสังคม เห็นแก่ตัวและไม่สนใจคนรอบข้างว่าจะรู้สึกอย่างไร มนุษย์ป้าจะใช้ความอาวุโสและวัยวุฒิเป็นข้ออ้างในการแหกกฎระเบียบของสังคมเพื่อให้ตัวเองได้ความสะดวกสบายสูงสุด เพราะมนุษย์ป้าจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นคือการทำผิดกฎของสังคม จะเชื่อว่าตัวเองถูกต้องเสมอ และหากโดนเอาเปรียบก็จะโวยวายทันที ทั้งนี้ความเป็นมนุษย์ป้าสามารถพบเจอในคนทุกเพศ ทุกวัย คนวัยรุ่นบางคนก็ติดเอานิสัยมนุษย์ป้ามาใช้ คือ การทำตามใจตนเอง เอาแต่ตัวเองสบายโดยไม่สนใจว่าเขามีกฎหรือธรรมเนียมปฏิบัติอย่างไร เพราะยึดเอาตัวเองเป็นหลักนั่นเอง
 


 

มนุษย์ป้า ฉบับจางมันวอล มีที่มาที่ไป…

1. เพราะตัวคนเดียวไม่มีเพื่อนให้ระบาย จึงเหวี่ยงวีน เอาแต่ใจ โมโหร้าย

จากเหตุการณ์ในอดีตที่มันวอลถูกคนที่รักและไว้ใจทรยศหักหลัง (ถึงจะไม่ตั้งใจก็ตาม) ทำให้เธอกลายเป็นคนที่ไม่เชื่อใจใครอีก มองโลกในแง่ร้าย ไม่เปิดใจให้ใครเข้าถึง เพราะกลัวที่จะต้องเสียใจอีก หากมองแค่ภายนอกมันวอลก็ดูเหมือนหญิงสาวทั่วๆ ไปที่มีอารมณ์เหวี่ยงวีนเท่านั้น แต่ถ้ามองตามความเป็นจริงแล้วมันวอลก็คือหญิงแก่ที่อายุมากกว่าพันปี ที่ผ่านเรื่องราวต่างๆ มามากมายด้วยตัวคนเดียว ตลอดเวลาที่มันวอลถูกพันธนาการไว้กับโรงแรมแห่งนี้ทำให้เธอทุกข์ใจ ได้แต่เฝ้าดูคนอื่นจากไปในขณะที่เธอไม่สามารถไปไหนได้ ไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม เพราะมันวอลไม่มีเพื่อนหรือครอบครัวให้ได้ระบายหรือปรึกษา การระบายความทุกข์ของเธอจึงมาในรูปแบบของการแสดงออกนิสัยที่ขี้เหวี่ยง ขี้วีน โมโหร้าย เพื่อปกปิดความอ่อนแอในใจเอาไว้
 


 

2. เพราะเคยจนมาก่อน จึงต้องเห็นแก่ตัวและโลภมากเข้าไว้

เมื่อก่อนนั้นโรงแรมแทบจะไม่มีแขกเข้าพักไม่มีเงินเข้ามา ทำให้ช่วงนั้นมันวอลต้องลำบากยากจนมาก ไม่มีเงินให้ได้ใช้ เธอจึงเกลียดและกลัวที่จะกลับไปจนเหมือนตอนนั้นอีก จึงทำให้มันวอลต้องหาวิธีทำเงินให้ได้เยอะๆ กว่าเดิม ถึงจะอยู่มานานมากกว่าพันปีแต่มันวอลก็ไม่สามารถละทิ้งกิเลสต่างๆ ได้ยังคงมีความโลภอยู่และยิ่งเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ ด้วยการเป็นเจ้าของโรงแรมที่หน้าเลือด ชอบเอาเปรียบหลอกล่อเอาเงินหรือทรัพย์สิน จากบรรดาแขกที่เข้ามาพักในโรงแรม และหากรู้ว่าแขกคนไหนที่มีทรัพย์สินมาก มันวอลก็จะเรียกเก็บค่าบริการมากเป็นพิเศษ หรือให้บริการพิเศษตามความต้องการของแขก แลกกับค่าตอบแทนเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าโกยได้เท่าไรโกยหมด เพื่อเอาเงินมาปรนเปรอตัวเอง โดยไม่สนว่าใครจะเดือดร้อนหรือรู้สึกอย่างไรกับการกระทำของเธอ ถึงแม้ว่านั่นจะเป็นการกระทำที่ผิดก็ตาม เพราะเธอสนแค่จะทำยังไงไม่ให้กลับไปจนอีกแค่นั้น
 


 

3. เพราะอยู่มานานและผ่านประสบการณ์มาเยอะ จึงเชื่อว่าความคิดตัวเองถูกต้องเสมอ

เพราะการอยู่มายาวนานกว่าพันปี ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาเยอะจนมีประสบการณ์มากมาย มันวอลจึงเชื่อมั่นว่าความคิดของตัวเองนั้นถูกต้องเสมอและยึดถือเอาตัวเองเป็นหลัก คนอื่นจะต้องเชื่อและทำตาม ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงสิ่งที่เธอคิดหรือกระทำจะไม่ถูกต้องก็ตาม มันวอลจะไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด เพราะมั่นใจว่าตัวเองถูกและทำแบบนั้นมาตลอด และด้วยความทะนงตัวอย่างแข็งกล้า เมื่อมีใครแย้งก็จะเกิดความไม่พอใจเพราะเหมือนเป็นการดูถูกความคิดของเธอนั่นเอง
 


 

กูชานซอง คือกุญแจที่เข้ามาปลดล็อก

กูชานซอง คือผู้ที่ถูกเลือกให้มาเป็นคนช่วยปลดปล่อยจางมันวอล ในฐานะผู้จัดการโรงแรมคนใหม่ ชานซองมีนิสัยที่เจ้าระเบียบ รอบคอบ ย้ำคิดย้ำทำ มีอารมณ์อ่อนไหว เห็นอกเห็นใจคนอื่น (รวมทั้งผี) ถึงแม้เขาจะไม่เต็มใจที่จะมาทำงานที่นี่เพราะต้องเจอกับผีตลอด แต่ในเมื่อไม่มีทางเลือกเขาจึงต้องยอมรับและพยายามทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ และทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ตั้งแต่มีชานซองเข้ามา หลายๆ สิ่งรอบตัวมันวอลก็เริ่มเปลี่ยนแปลง รวมทั้งตัวมันวอลเอง ด้วยความที่ชานซองเป็นคนเห็นอกเห็นใจคนอื่นเสมอ จึงเกิดสงสารและอยากช่วยปลดปล่อยมันวอล เขาจึงคอยเตือนสติชี้แนะในทางที่ดีให้เธอ เพราะไม่อยากให้เธอสร้างบาปไปมากกว่านี้

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมันวอลนั้นไม่ยอมเปิดใจให้ใครได้เข้าถึง เธอมักจะหงุดหงิดไม่พอใจทุกครั้งที่ชานซองพยายามแนะนำให้ทำตาม เพราะที่ผ่านมาเธอทำตามใจตัวเองมาตลอด ไม่เคยมีใครกล้าที่จะยุ่งหรือขัดใจเธอ แต่ชานซองก็ยังไม่ยอมแพ้ เขากล้าที่เตือนมันวอลด้วยความจริงใจและหวังดีอย่างแท้จริง จึงทำให้มันวอลค่อยๆ เปิดใจยอมรับฟัง ชานซองจะชี้แนะในทางที่ดี ที่ถูกต้องให้เธอเสมอ หากสิ่งไหนที่มันวอลทำแล้วผิดเขาก็จะคอยขัดขวาง อย่างเช่น เรื่องการใช้เงินฟุ่มเฟือยเกินตัวอย่างไร้ประโยชน์ของมันวอล ชานซองก็ขู่ว่าถ้าเธอยังใช้เงินแบบนี้คงได้ล้มละลายแน่ เพราะมันวอลเคยจนมาก่อนและไม่อยากกลับไปจนแบบนั้นอีก จึงยอมเชื่อที่ชานซองแนะนำ จากที่ผ่านมามันวอลไม่เคยมีเพื่อนให้ได้ปรึกษาหรือระบาย พอได้เจอกับชานซองที่เข้าใจและสามารถรับฟังเธอได้ จึงเหมือนเป็นการปลดล็อกให้มันวอลกล้าที่จะเปิดใจให้คนอื่นเข้าถึง จากที่เคยนิสัยแย่ อารมณ์ร้าย ก็เริ่มมีเหตุผลมากขึ้น เมื่อก่อนที่โลภมากเห็นแก่ตัวก็รู้จักเห็นใจคนอื่น ยอมรับฟังความคิดที่แตกต่างไม่ยึดตัวเองเป็นหลักเหมือนแต่ก่อน และใส่ใจคนรอบข้างมากกว่าเดิม ซึ่งก็ถือว่าชานซองนั้นทำได้ดีเลยทีเดียว
 




 

จางมันวอล : จากมนุษย์ป้าสู่วิญญาณที่ได้รับการปลดปล่อย

จากที่พี่ได้ติดตามดูซีรีส์เรื่องนี้จนจบ ก็ทำให้ได้เข้าใจตัวละคร “จางมันวอล” มากขึ้น และพบว่าจริงๆ แล้วลักษณะนิสัยที่ชอบเอาแต่ใจ ขี้เหวี่ยง โลภมากเห็นแก่ตัว เหมือนมนุษย์ป้าที่เธอแสดงออกมานั้น ก็เป็นเพียงแค่การแสดงออกเพื่อปกปิดความอ่อนแอในใจจากการที่ต้องทนทุกข์คนเดียวมายาวนาน พอได้เจอคนที่เข้าใจ คนที่สามารถรับฟังเธอได้ อย่าง “กูชานซอง” ก็ทำให้เธอกล้าที่จะเปิดเผยนิสัยที่แท้จริงออกมาให้คนอื่นได้เห็นและได้เข้าใจในตัวเธอมากขึ้นนั่นเอง...

หนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้ซีรี่ส์หรือนิยายแต่ละเรื่องมีเสน่ห์น่าสนใจ ก็คือการสร้างตัวละครที่ชัดเจน น่าจดจำ และทำให้คนอ่านรู้สึกสัมผัสถึงตัวตนของพวกเขาได้ ราวกับเป็นคนในชีวิตประจำวัน มีเลือดมีเนื้อมีน้ำตา มีรอยยิ้มมีเสียงหัวเราะ มีทุกอย่างที่คนธรรมดาทั่วไปมี และนอกจากการสร้างตัวละครที่มีชีวิตชีวา มีตัวตนจริงๆ แล้ว การสร้าง “พัฒนาการตัวละคร” ทำให้นักอ่านได้สัมผัสถึงการเปลี่ยนแปลง การเจริญเติบโต หรือการสลัดตัวตนเก่าแล้วก้าวไปสู่ตัวตนใหม่ๆ ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากๆ เช่นกัน สำหรับพี่น้ำ จางมันวอลคือตัวละครแบบนั้นค่ะ ตอนเริ่มเรื่อง นิสัยของเธอมีความเป็นมนุษย์ป้า มีความเห็นแก่ตัว ไม่นึกถึงคนอื่น จนทำให้คนดูเกิดความสงสัยว่าเพราะอะไรนางเอกของเรื่องถึงมีนิสัยแบบนี้ได้นะ ซึ่งดูเหมือนมันจะเป็นความจงใจของคนเขียนบท ที่สร้างนิสัยแปลกๆ ให้กับนางเอก เพื่อให้เราเกิดความสงสัยอยากรู้ และสุดท้าย คนเขียนบทก็ได้สร้างสถานการณ์ต่างๆ ทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเธอ และทำให้เธอกลายเป็นใครคนใหม่ เพื่อที่เธอจะได้หลุดจาก “ห่วง” เดิมๆ และไปจากโรงแรมได้เสียที โดยกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เธอก้าวข้ามผ่านจุดนี้ได้ ก็คือพระเอกของเรานั่นเอง
 
นักเขียนทั้งหลายคะ พี่ไม่อยากให้เสียโอกาสดีๆ นี้ไปค่ะ อยากให้ทุกคนใช้สิ่งที่ได้จากซีรี่ส์ให้เป็นประโยชน์ เพราะมันสามารถนำมาปรับใช้กับการสร้างพัฒนาการตัวละครของเราได้ การจะสร้างพัฒนาการตัวละครให้ได้ดี เราต้องมีความเข้าใจในตัวละครของเราเองเสียก่อน การสร้างพัฒนาการให้กับตัวละครคือ การสร้างตัวตนให้กับตัวละคร และสร้างสถานการณ์ให้ตัวละครตัวนั้นเผชิญ เมื่อได้เจอกับสถานการณ์นั้นๆ เขาหรือเธอก็จะเปลี่ยนไป และนำไปสู่ตอนจบของเรื่องได้ ซึ่งในการสร้างพัฒนาการตัวละครนั้น ไม่จำเป็นต้องเลือกใช้แค่ พระเอกหรือนางเอก แต่เป็นตัวร้ายหรือตัวประกอบอื่นๆ ก็ได้ สิ่งสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงของตัวละครตัวนั้น ควรจะสนับสนุนหรือส่งผลต่อเนื้อหาในนิยายของเรา 
 
มาค่ะ พี่ขอชวนทุกคนทำความเข้าใจกับการสร้างพัฒนาการตัวละครเพิ่มเติม เพื่อให้ตัวละครของเราน่าสนใจและมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้นด้วย 5 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ 
 
ขั้นตอนที่ 1 สร้างตัวตนและบทบาทให้กับตัวละครของเรา
ขั้นตอนแรกนี้ดูง่ายแต่ว่าสำคัญมากๆ คุณต้องรู้ก่อนว่าตัวละครหลักของนิยายคืออะไร และนิสัยของพวกเขาเป็นอย่างไร จะได้สามารถสร้างพัฒนาการให้พวกเขาได้ถูก นอกจากลักษณะนิสัยที่ชัดเจนแล้ว เราจำเป็นต้องรู้ด้วยว่าตัวละครนั้นมีบทบาทอย่างไรต่อนิยายของเรา ยกตัวอย่างเช่น ตัวละครปีเตอร์ แรบบิท เป็นกระต่ายชื่อว่าปีเตอร์ มีนิสัยชอบสร้างปัญหา และเป็นตัวป่วนโดยไม่ได้ตั้งใจ บทบาทสำคัญคือตัวเอกของเรื่อง เป็นกระต่ายวัยเด็ก ลูกชายของแม่กระต่าย มีพี่ชาย มีพี่สาว ฟลอพซี่, มอพซี่ และคอตต้อนเทล เราสามารถเพิ่มเติมเรื่องพัฒนาการตัวละครได้ว่า เมื่อเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ แม่ของปีเตอร์กังวลว่าปีเตอร์จะไม่เหมือนกับพี่ๆ ทั้งหลาย เราจะเห็นได้ว่าความขัดแย้งในเรื่องก็คือ แม่เปรียบเทียบลูกๆ แต่ละตัวเข้าด้วยกันทำให้ปีเตอร์ที่เป็นน้องเล็กรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจ เพราะกลัวจะสู้พี่ๆ ไม่ได้ ความสัมพันธ์ของตัวละครจึงมีหลากหลาย ความสัมพันธ์ของปีเตอร์กับแม่, ปีเตอร์กับพี่ชาย, ปีเตอร์กับพี่สาว ก็แตกต่างกันไปแล้วแต่ตัวละคร มีทั้งดีและไม่ดี แต่ทั้งหมดนี้ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้ปีเตอร์พัฒนาและไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จางมันวอลก็เหมือนกันค่ะ เริ่มแรกมาเธอแสดงนิสัยร้ายๆ มากมาย แต่แล้วในที่สุด เมื่อได้พบกับพระเอกของเรื่อง เราได้เห็นว่าเธอค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละนิด และในตอนท้ายของเรื่อง เธอก็สามารถปลดปล่อยตัวเองได้เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ 
 
ก่อนเขียนตัวละคร ลองตั้งคำถามให้กับตัวเองดังนี้
- ตัวละครของเราเป็นใคร
- รับบทบาทอะไร
- ความสัมพันธ์กับตัวละครอื่นๆ เป็นอย่างไร
- ความสัมพันธ์ของแต่ละตัวละครเป็นอย่างไรบ้าง 
- ตัวละครนั้นเหมือนนิยายเรื่องอื่นบ้างไหม มีนิสัยอะไรที่ซ้ำๆ แบบเดิมๆ บ้างไหม 
 
ขั้นตอนที่ 2 ลองคิดแทนตัวละครตัวนั้นดู 
หลังจากเราได้ตัวตนและบทบาทที่ชัดเจนของตัวละครแล้ว ต่อไปก็ต้องขุดให้ลึกขึ้น ทำความเข้าใจลักษณะเด่นของตัวละคร ความแตกต่างที่ไม่เหมือนกัน แรงกระตุ้นที่ทำให้เขาหรือเธอกลายเป็นคนแบบนี้ อาจไม่ต้องใส่รายละเอียดทุกอย่างลงในเรื่อง แต่ภาพในหัวของเราต้องชัดเจน ถ้าใครมาถามว่าเพราะอะไรตัวละครถึงทำแบบนั้นแบบนี้ เราเองต้องตอบให้ได้ และต้องรู้ด้วยว่าเมื่อเดินมาถึงฉากที่เกิดความขัดแย้ง ตัวละครของเราจะเลือกทำอย่างไร โดยอ้างอิงจากนิสัยที่เราสร้างขึ้นมา อย่าไปยึดติดแต่นิสัยเดิมๆ ว่า... นิสัยตอนต้นเรื่องเป็นอย่างไร สิ่งที่สำคัญกว่าคือ นิสัยที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดการพัฒนาแล้ว เขาหรือเธอจะเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นคนแบบไหน การเติบโตและเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในช่วงต้นถึงกลางเรื่อง เมื่อถึงตอนจบของเรื่อง จะเหมือนเราได้ตัวละครอีกคนไปเลย คนที่ทำให้คนอ่านหลงรักและรู้สึกว่ามีเสน่ห์น่าสนใจ อย่างเช่น จางมันวอลเอง เราก็จะเห็นว่าเมื่อเธอเปลี่ยนไป ก็กลายเป็นคนน่ารักและเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น สุดท้าย เรื่องก็ดำเนินถึงตอนจบคือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เธอได้ไปเกิดตามทางของเธอในที่สุด 
 
ขั้นตอนที่ 3 ค้นหาข้อมูล 
การค้นหาข้อมูลอาจเป็นฝันร้ายของนักเขียนได้เลย ยิ่งอยากให้ตัวละครของเราสมจริงมากเท่าไหร่ ก็ต้องยิ่งค้นหาข้อมูลประกอบเยอะขึ้นมากเท่านั้น ควรจะค้นหาให้ละเอียดมากที่สุด รู้ให้มากที่สุด ข้อมูลต้องแน่น จะได้สามารถเขียนได้อย่างถูกต้อง อย่างในเรื่องที่จางมันวอล เป็นวิญญาณประจำโรงแรมที่อยู่มานานนับพันปี ถ้าจะเขียนแบบนี้ คุณก็ต้องค้นหาข้อมูลเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด หาข้อมูลมาสนับสนุนการเขียนของตน ซึ่งเนื่องจากเป็นซีรี่ส์เกาหลี ดังนั้น เวลาเขียนบท นักเขียนก็ต้องอ้างอิงจากการเวียนว่ายตายเกิดของเกาหลีเอง เพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมในประเทศของตน ควรกระทั่งหาที่ตั้งของโรงแรม การไปถึง ลักษณะห้องต่างๆ มีอะไรบ้าง ค่าเช่าควรห้องละเท่าไหร่ การตกแต่งเป็นแบบไหนอย่างไร ทุกอย่างต้องชัดเจน อย่างไรก็ตาม ข้อดีคือ ซีรี่ส์เรื่องนี้มีลักษณะเป็นแฟนตาซี จึงสามารถใช้จินตนาการได้เต็มที่ โดยอาจจะมีอ้างอิงความจริงบ้างก็เพียงบางส่วน 
 
นิยายที่เขียนยากมากๆ เลยคือแนวประวัติศาสตร์ต่างๆ ยิ่งถ้าเฉพาะเจาะจงลงไปว่าเป็นยุคนั้นยุคนี้ เราต้องหาคำตอบให้ชัดเจนว่า... ในแต่ละยุคมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และถ้าตัวละครของเราไปอยู่ในช่วงเวลานั้น เขาหรือเธอจะเผชิญกับอะไร และจะรับมือกับมันได้อย่างไร หรือจะไปทำอะไรเพื่อคงสิ่งที่เกิดขึ้นให้เหมือนเดิมมากที่สุด เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะเขียนให้สมจริงและไม่ขัดต่อความรู้สึกคนอ่าน อย่างเช่นเรื่อง เจาะเวลาหาจิ๋นซี หรือแม้แต่บุพเพสันนิวาสของไทยนั่นเองค่ะ 
 
ขั้นตอนที่ 4 บทสนทนาที่ดี = พัฒนาการตัวละครที่ดี 
บทสนทนาเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเขียนนิยาย วิธีการพูดคุย การสื่อสารกับผู้อื่นสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าสนใจ และส่งผลต่อนักอ่านด้วย เมื่อคุณเขียนบทสนทนา คุณไม่ได้เขียนแค่ให้ตัวละครคุยกัน แต่ต้องคำนึงถึงนักอ่านที่แอบอ่านอยู่ด้วย พวกเขาเองก็ควรต้องเข้าใจเหมือนกับคุณ ตัวละครควรจะมีความสม่ำเสมอ ไม่ใช่จู่ๆ ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา นักเขียนควรต้องเป็นคนจดจำลักษณะของตัวละครและสร้างบทสนทนาที่ไม่ได้กระโดดไปกระโดดมาจนเกินไป โจทย์หลักของคุณคือ ถ้าเอาชื่อตัวละครออกไป นักอ่านควรจะรู้ว่าคำพูดนี้เป็นของใคร ไม่ใช่จำสลับไปสลับมา ถ้าหากเป็นแบบนั้น เท่ากับว่าคุณล้มเหลวในเรื่องการสร้างบทสนทนา 
 
เวลาเขียนบทสนทนา ลองเช็กลิสต์ดังนี้ 
- บทสนทนาเข้ากับบุคลิกและพฤติกรรมของตัวละครไหม
- บทสนทนาของตัวละครแต่ละตัวโดดเด่นพอไหม คนอ่านจะแยกแยะได้ไหมว่าใครชอบพูดแบบไหน / บทสนทนาที่มีคำพูดแบบนี้เป็นของใคร
- บทสนทนาสมจริงไหม หรือเป็นคำพูดลอยๆ ที่ไม่น่าเชื่อว่าคนจริงๆ จะพูดได้ 
 
ขั้นตอนที่ 5 ไม่ต้องเล่าหมด แต่ต้องบอกผ่านการกระทำและฉากต่างๆ 
เราไม่ควรจะเขียนตัวละครออกมาแบบตรงไปตรงมาจนเกินไป เช่น เขียนว่าเขาหน้าตาหล่อ ชอบบ่น ขี้หงุดหงิด แต่เราควรแสดงลักษณะนิสัยของตัวละครผ่านสถานการณ์ต่างๆ หรือการกระทำอะไรก็ได้ เช่น ฉากที่ทะเลาะกัน นางเอกอาจจะไม่โต้แย้ง แค่มองเงียบๆ แล้วเดินออกมา แต่เมื่อพระเอกเดินจากไป เธอก็ร้องไห้ การเขียนแบบนี้ทำให้นักอ่านรู้ว่านางเอกเป็นคนที่เก็บความทุกข์ไว้กับตัว ไม่ยอมพูด ปากแข็ง เป็นต้น ถ้าเราบอกทุกอย่างที่เป็นตัวละครโต้งๆ ไม่ให้นักอ่านได้ทำความรู้จักเอง เรื่องของเราจะขาดเสน่ห์ เราควรทำให้นักอ่านได้สัมผัสพัฒนาการของตัวละครผ่านสถานการณ์ต่างๆ ด้วย เช่น ตอนแรกๆ เวลาเจอเรื่องไม่ดี พระเอกอาจจะด่าๆๆๆ โวยวายๆ แต่เมื่อเขาได้เจอสถานการณ์บางอย่าง มันส่งผลกระทบต่อใจ ทำให้ต่อมา เขากลายเป็นคนสุขุมมากขึ้น คิดก่อนพูดมากขึ้น เป็นต้น อย่างในซีรี่ส์เรื่องนี้ จางมันวอลก็ได้เจอสถานการณ์หลายอย่างมากกว่าจะยอมเปลี่ยนตัวตน เปลี่ยนนิสัย การเขียนแบบนี้ไม่ง่ายเลย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ลองฝึกฝนดู 
 
- เขียนฉากที่บรรยายทุกอย่างอย่างละเอียด 
- เขียนแค่บางคำเท่านั้น แต่เขียนบรรยายอารมณ์, ความรู้สึก และให้รายละเอียดน้อยๆ 
- เขียนแค่บทสนทนาของตัวละครดู 

เอาล่ะค่ะ พี่หวังว่าจบบทความนี้ไป น้องๆ จะสามารถเข้าใจและสร้างพัฒนาการตัวละครให้น่าสนใจและมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้นนะคะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับน้องๆ นักเขียนทุกคน ไม่มากก็น้อยค่ะ 
 

พี่น้ำ ^^
 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพบางส่วนจาก
https://www.soompi.com
https://www.viu.com/ott/th/
https://news.mthai.com/webmaster-talk/341012.html
 

พี่น้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

น้ำค้างแสงดาว Member 10 ก.ย. 62 22:10 น. 1

ฉันก็ติดตามซีรี่ส์เรื่องนี้เช่นกันค่ะ สนุกมากเลย ขอบคุณสำหรับบทความดีๆนี้นะคะ ฉันชอบคุณพ่อบ้าน

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด