นักเขียนจะเอาตัวรอดอย่างไร!? เมื่อเพื่อนและครอบครัวอ่านนิยายของคุณ!

นักเขียนจะเอาตัวรอดอย่างไร!?
เมื่อเพื่อนและครอบครัวอ่านนิยายของคุณ! 

สวัสดีค่ะชาวเด็กดีทุกคน มีนักเขียนจำนวนไม่น้อยเลยค่ะที่ไม่ได้เปิดเผยตัวตน และไม่ได้บอกคนรอบข้างว่าฉันมีอีกอาชีพหนึ่งคือการเป็น “นักเขียนนิยาย” หากถามว่าทำไมพวกเขาต้องปิดบังตัวตนที่แท้จริง? อายที่เป็นนักเขียนรึเปล่า? คำตอบของคำถาม ในมุมมองของพี่คิดว่าเราทุกคนต่างมีโลกหลายใบค่ะ บางคนที่เปิดเผยตัวตนได้ อาจเพราะสังคมรอบข้างเปิดใจและยอมรับ ขณะเดียวกันคนที่ไม่ได้เปิดเผยตัวตนก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมของเขาไม่ยอมรับนะคะ แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ ด้าน เช่น การทำงาน หรือตัวตนในชีวิตจริง อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางใดทางหนึ่งได้ การปกปิดตัวตนจึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่นักเขียนหลายๆ คนทำกัน เช่นเดียวกับการใช้นามปากกาลับเพื่อสร้างโลกขึ้นมาอีกใบนั่นเอง 

เกริ่นมายาวขนาดนี้ จริงๆ อยากเล่าในมุมของนักเขียนที่เปิดเผยตัวตน และมีเพื่อนหรือครอบครัวมาอ่านนิยายที่เขียนดูค่ะ พี่บังเอิญไปอ่านเจอเรื่องราวของนักเขียนคนหนึ่งที่ตีพิมพ์หนังสือ และเธอตื่นเต้นมากที่รู้ว่าเพื่อนและครอบครัวกำลังจะอ่านเรื่องราวที่เธอเขียน แน่นอนว่าเราต้องภูมิใจในงานเขียนของเราอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันคนรอบข้างอาจจะไม่เห็นด้วยในสิ่งที่เราเขียน หรือไม่ได้ใส่ใจในสิ่งที่เราเขียนมากพอ จนทำให้เราเสียใจ พี่จึงอยากนำเรื่องราวของเธอมาเล่าสู่กันฟัง ถือเป็นประสบการณ์อีกด้านหนึ่งที่นักเขียนหลายคนคิด แต่ไม่เคยสังเกตจริงๆ จังๆ และเธอมีเคล็ดลับการเอาตัวรอดจากเพื่อนและครอบครัวมาฝากเราทุกคนด้วยนะ มาดูกันว่าเมื่อเจอสถานการณ์เหล่านี้ เราจะเอาตัวรอดอย่างไรได้บ้าง
 

1. เตรียมใจไว้ก่อนว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้อินกับสิ่งเราเขียน

เธอบอกว่าปฏิกิริยาของคนใกล้ชิดอาจจะมีน้อยมาก เมื่อรู้ว่าเราเป็นนักเขียน และเขียนนิยายเรื่องหนึ่งอยู่ เมื่อเพื่อนหรือครอบครัวรู้ว่าเราเป็นคนเขียนหนังสือเล่มนี้ หรือเขียนนิยายออนไลน์เรื่องนี้อยู่ พวกเขาอาจจะหยิบมาอ่าน หรือซื้อมาเก็บไว้ นั่นอาจเป็นเพราะพวกเขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเรา ไม่ใช่เพราะเรื่องราวที่เราเขียนนั้นน่าสนใจ โดยสิ่งที่เราสังเกตเองได้คือ คนใกล้ชิดเรารักการอ่านไหม แล้วพวกเขาชอบอ่านหนังสือแนวไหน สำหรับคนที่รักและภูมิใจในการเขียนมากๆ ก็อาจจะมีความรู้สึกเสียใจปะปนมาบ้าง เพราะเราตั้งใจเขียน และภูมิใจนำเสนอมากๆ แต่อีกนัยหนึ่งก็มีความประทับใจต่อคนใกล้ชิดที่ช่วยสนับสนุนงานเขียนของเรา ซึ่งในข้อนี้ พี่คิดว่านักเขียนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเจ็บปวดเท่าไหร่ และรู้สึกยินดีมากๆ ที่คนรอบข้างให้การสนับสนุนในสิ่งที่รัก แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้คะ?
 

2. ยอมรับว่าเพื่อนและครอบครัวไม่ใช่แฟนนักอ่านของคุณ

บางครั้ง ด้วยอายุและวัยที่แตกต่างกัน ทำให้ภาษา เรื่องราว ตลอดจนแนวเรื่องไม่สามารถถูกใจทุกคนที่อ่านงานเขียนของเราได้ เป็นเรื่องทั่วไปที่แม้จะไม่ใช่เพื่อนและครอบครัวของเราก็เกิดขึ้นได้เป็นปกติ นักเขียนทุกคนไม่สามารถเขียนนิยายให้ตรงใจนักอ่านทุกคนได้ เช่นเดียวกับนักอ่านที่มีสไตล์การอ่านที่ชอบเฉพาะบุคคลแตกต่างกันไป ดังนั้น เมื่อข้อ 1 บอกว่าเพื่อนและครอบครัวไม่ได้สนใจเรื่องราวของหนังสือเลย ก็อาจจะไม่ใช่เพราะหนังสือเราไม่น่าสนใจ แต่เป็นเพราะพวกเขามีสไตล์การอ่านที่แตกต่างกันนั่นเอง 
 

3. อย่าให้พวกเขามีผลกระทบต่อการเขียนเรื่องต่อไป

แม้จะบอกว่าอย่าไปสนใจเลย แต่นักเขียนบางคนไม่สามารถปล่อยวางคำติชมจากเพื่อนและครอบครัวได้ ทุกคนย่อมหวังให้เพื่อนและครอบครัวสนับสนุน และรักในสิ่งที่เราทำ เมื่อต้องเขียนนิยายเรื่องต่อไปจึงคาดหวังว่าจะต้องเขียนออกมาให้ดี และมองว่านักอ่านที่เราจะต้องเอาชนะใจให้ได้คือ เพื่อนและครอบครัว เพราะพวกเขาใกล้ชิด และเป็นกำลังใจที่มีอิทธิพลต่อตัวเรามากๆ การเขียนนิยายหนึ่งเรื่องจึงเหมือนการเรียนให้ได้เกรดที่ดี หรือประสบความสำเร็จในการทำงาน พวกเขาจึงจะภาคภูมิใจ นี่จึงกลายเป็นความกดดันที่นักเขียนหลายๆ คนนำมาชี้วัด จนลืมจุดมุ่งหมายในการเขียนนิยายไป ดังนั้น จงมีสติและทำในสิ่งที่เรารักและภูมิใจอย่างมีความสุขเถอะค่ะ
 

4. เมื่อมีคนบอกว่า “ฉันอ่านหนังสือของคุณด้วย!” อย่าถามกลับว่า “คุณคิดอย่างไรกับมัน” 

เธอเอาประสบการณ์จริงมาเล่าแบบตรงๆ ว่า คำถามและคำตอบเหล่านี้ นักเขียนไม่ควรเอ่ยถามกลับไปหากคนพูดไม่ใช่แฟนนิยายของคุณจริงๆ  เพราะหากคนพูดชื่นชอบงานเขียนของเรา ส่วนใหญ่พวกเขาจะบอกทุกอย่างกับเราเอง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องถามเลยค่ะ และการถามกลับว่า “คิดอย่างไร” กับผลงานของเรา หากพวกเขาไม่ได้ชื่นชอบเป็นพิเศษ หรือเป็นเพียงประโยคบอกเล่าเท่านั้น คำตอบที่เราได้รับอาจจะทำให้เราเสียความมั่นใจได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่การหนีปัญหานะคะ แต่เป็นการปกป้องตัวเรา และผู้พูดให้ยังคงความสัมพันธ์อันดีไว้ ไม่ว่าพวกเขาจะชอบ หรือไม่ชอบในสิ่งที่เราเขียนก็ตาม เพราะในกรณีเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นกับเพื่อนและครอบครัวของเรา เมื่อมีคนบอกว่า “อ่านหนังสือของคุณด้วย” การเอาตัวรอดจากสถานการณ์นี้แนะนำให้เรา “ขอบคุณ” ที่อ่านหนังสือของเรา เพื่อเบี่ยงเบนจากบทสนทนา และเป็นการดูท่าทีว่าพวกเขาจะต่อบทสนทนาเพื่อไปยังทิศทางไหน แม้จะดูเป็นวิธีที่โหดร้าย แต่เป็นการรักษาความสัมพันธ์ได้อย่างดีแน่นอน เพราะก็มีกรณีที่บางคนไม่ได้อ่านงานของเรา หรืออ่านเพียงน้อยนิด แต่ทราบมาว่าเราทำผลงานขึ้นมา พวกเขาเพียงอยากแสดงตัวว่าติดตามคุณอยู่นะ และเป็นกำลังใจให้เสมอ.. 
 

5. หลีกเลี่ยงการพูดคุยเกี่ยวกับผลงานของเราตลอดเวลา 

คำแนะนำที่เธอพบบ่อยที่สุดคือการไม่พูดคุยกับพวกเขา แต่เธอพบว่าการทำแบบนั้นอาจทำให้เธอพลาดบางสิ่งบางอย่างไป แม้การหลีกเลี่ยงบทสนทนาจะช่วยรักษาความสัมพันธ์ไว้ได้ แต่การได้สนทนากับเพื่อนและครอบครัวที่พร้อมจะพูดคุยกันอย่างเปิดใจ เธอเชื่อว่าจะมีเรื่องดีๆ มากกว่าเรื่องแย่ๆ ซึ่งเธอได้พิสูจน์แล้วว่า บทสนทนาที่ดีที่สุดที่เธอเคยมีคือการได้พูดคุยกันอย่างเปิดเผยและจริงใจ ไม่เจาะจงเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะผลงานของเรา เพราะมีหลายครั้งที่เพื่อนและครอบครัวรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ และอยากจะมีส่วนร่วมในโลกของเรา ทำให้พวกเขากระตือรือร้น และใส่ใจสอบถามในสิ่งที่เราทำ โดยอาจถามเป็นความเห็นว่าคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำไมถึงเขียนให้เกิดเรื่องราวแบบนั้น ซึ่งบางครั้ง เหมือนถามตามมารยาทของคนใกล้ชิด ทำให้นักเขียนบางคนรู้สึกอึดอัดใจที่จะตอบ และอยากเลี่ยงบทสนทนา โดยคำแนะนำในสถานการณ์นี้คือ ควรมีเรื่องของเวลา สถานที่ และผู้คนที่พูดคุยเป็นองค์ประกอบที่เหมาะสม รวมถึงการพูดคุยกันต้องไม่ใช่การพูดถึงผลงานเราฝ่ายเดียวด้วยนะคะ 
 

6. ระลึกไว้เสมอว่าเพื่อนและครอบครัวคือส่วนหนึ่งของความสุข

แม้เราจะมีหลากหลายความรู้สึกต่อปฏิกิริยาของคนใกล้ชิดที่มีต่อผลงานของเรา แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพวกเขาคือแรงสนับสนุนที่ดีที่สุดรองจากแฟนนิยายของเรา หลายคนอาจจะน้อยใจที่พวกเขาสนใจสนับสนุนผลงานของเราโดยไม่สนใจเนื้อหาว่าน่าสนใจมากแค่ไหน หรือบางคนอาจคิดว่าพวกเขาร่วมยินดีกับงานเขียนของเราก็เพียงพอแล้ว หลากหลายความรู้สึกเหล่านี้ อยากให้ทุกคนได้คิดย้อนกลับว่า กำลังใจจากคนใกล้ชิดนั้นมีค่ามากแค่ไหน แม้พวกเขาอาจจะเห็นเราในวันที่ประสบความสำเร็จแล้ว หรือกำลังจะมุ่งสู่ความสำเร็จ แต่ระหว่างทางที่ผ่านมา พวกเขาทำให้เรายืนหยัด และแข็งแกร่งขึ้นได้ ด้วยการมอบกำลังใจ และความสุขในด้านอื่นๆ ให้เราเสมอ หากงานเขียนของเราคือผลงานชิ้นโบว์แดง ผู้ที่มีส่วนร่วมเติมเต็มคือคนที่อยู่กับเราในช่วงเวลาเหล่านั้น ทั้งที่รู้ว่าเรากำลังทำอะไร และไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ดังนั้น เพื่อนและครอบครัว รวมถึงแฟนนิยายต่างเป็นคนที่เราควรระลึกถึง และควรรักษาความสัมพันธ์อันมีค่านี้ไว้ค่ะ 
 

………………

คงรู้กันแล้วนะคะว่าจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่างๆ ไปได้อย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำแนะนำบางส่วนเท่านั้น เหตุการณ์บางอย่างอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนเสมอไป เราสามารถนำคำแนะนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามแต่สถานการณ์เลยค่ะ พี่หวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นโลกอีกด้านของคนเป็นนักเขียนมากขึ้นนะคะ หากใครมีเรื่องราวคล้ายๆ กันนี้เกี่ยวกับเพื่อนและครอบครัวเมื่อได้อ่านนิยายของเรา อยากจะแชร์ให้นักอ่านทุกคนได้อ่านกัน สามารถคอมเมนต์ได้เลยนะคะ จะตามอ่านแน่นอนค่ะ แล้วเจอกันใหม่ค่ะ ^^ 

พี่แนนนี่เพน

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
www.unsplash.com
https://www.writingasasecondcareer.com/friendsread/
http://www.publishingcrawl.com/2015/01/26/guest-post-when-friends-family-read-your-book-survival-tips/

https://shannonbarczakbooks.com/2019/06/06/author-musings-when-your-family-friends-dont-read-your-book/

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Hameii Member 8 พ.ย. 62 19:07 น. 1

มีนักเขียนท่านหนึ่ง เขียนในหนังสือของเขาว่า "แด่แม่... ที่ทำให้ผมอิ่มท้องในทุกวัน" เราชอบมากๆ เพราะเราเชื่อว่ากว่าจะเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง นักเขียนเเต่ละคนต้องอาศัยเเรงสนับสนุนของคนรอบข้าง ทั้งทางใจเเละทางกระเพาะ 555

.

สำหรับเราเพื่อนกับครอบครัวเป็นปัจจยสำคัญจริงๆ ค่ะ แต่เราจะพยายามพูดเรื่องนิยายกับพวกเขาน้อยมาก แอบเกรงใจ เขิน และอยากสร้างความทรงจำรูปแบบอื่นๆ กับพวกเขามากกว่า อะไรในนิยายก็ให้มันอยู่ในนิยายของเราต่อไป นานๆ ที่จะหยิบออกมาคุย เเต่ถ้าได้ลองได้คุยเเล้ว... ก็หยุดไม่อยู่เหมือนกันนะ 555555

.

แม่ชอบอ่านนิยายของเรามากค่ะ เป็นนักอ่านที่อ่านช้าเเละอวยเราที่สุดในโลกแล้ว 5555 แต่บางครั้งก็แอบเขินนิดๆ เพราะเราเขียนนิยายรักวัยรุ่น รู้สึกเหมือนโดนแม่แอบอ่านไดอารี่ยังไงก็ไม่รู้ >//////<

.

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ (อีกแล้ว)ค่ะ

0
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

Hameii Member 8 พ.ย. 62 19:07 น. 1

มีนักเขียนท่านหนึ่ง เขียนในหนังสือของเขาว่า "แด่แม่... ที่ทำให้ผมอิ่มท้องในทุกวัน" เราชอบมากๆ เพราะเราเชื่อว่ากว่าจะเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง นักเขียนเเต่ละคนต้องอาศัยเเรงสนับสนุนของคนรอบข้าง ทั้งทางใจเเละทางกระเพาะ 555

.

สำหรับเราเพื่อนกับครอบครัวเป็นปัจจยสำคัญจริงๆ ค่ะ แต่เราจะพยายามพูดเรื่องนิยายกับพวกเขาน้อยมาก แอบเกรงใจ เขิน และอยากสร้างความทรงจำรูปแบบอื่นๆ กับพวกเขามากกว่า อะไรในนิยายก็ให้มันอยู่ในนิยายของเราต่อไป นานๆ ที่จะหยิบออกมาคุย เเต่ถ้าได้ลองได้คุยเเล้ว... ก็หยุดไม่อยู่เหมือนกันนะ 555555

.

แม่ชอบอ่านนิยายของเรามากค่ะ เป็นนักอ่านที่อ่านช้าเเละอวยเราที่สุดในโลกแล้ว 5555 แต่บางครั้งก็แอบเขินนิดๆ เพราะเราเขียนนิยายรักวัยรุ่น รู้สึกเหมือนโดนแม่แอบอ่านไดอารี่ยังไงก็ไม่รู้ >//////<

.

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ (อีกแล้ว)ค่ะ

0
กำลังโหลด
มัณทนา[ชิปกับเดลขายของในคลอง] Member 9 พ.ย. 62 16:59 น. 2

ไม่ต้องบอกดีที่สุด

เอาไว้บอกตอนที่ประสบความสำเร็จและออกเป็นรูปเล่มวางขายไปแล้วดีกว่าค่ะ

0
กำลังโหลด
Member 1 ก.พ. 63 17:00 น. 3

พ่อแม่< รู้ว่าเขียน แต่เอาให้อ่าน บอกไม่ใช่แนว

เพื่อน< บังคับให้มันอ่านดราฟ แล้วบอกให้คอมเม้นต์กัับพิสูจน์อักษรให้ที ส่วนใครที่มีแนวโน้มว่าอ่านนิยายแนวนี้ได้ ก็จะยัดเยียดให้ไป อ่านไม่อ่านก็แล้วแต่เขา...

https://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/bb-07.png

ไม่เคยประสบความสำเร็จ คนอ่านก็ไม่ค่อยมี แต่ไม่มีอายเล้ย มีคนมาอ่านมาคุยด้วยเกี่ยวกับโลกในจินตนาการของเราก็รู้สึกดีนะ เขียนแนวแอคชั่นสืบสวนแฟนซี เวลาดิสคัสกับเพื่อนที่บังคับให้มันอ่าน มันก็ได้อะไรเยอะ เพราะโดนถามเยอะ เช่นทำไมคนนั้นถึงทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ตัดสินใจแบบนี้ คนเขียนมีเหตุผลไหม ความสามารถนั้นออกมาแล้วทำไมใช้อีกไม่ได้ สถานการณ์นี้ทำไมคนนี้ช่วยคนนั้นไม่ได้ คือเยอะมาก หลาย ๆ อย่างที่มองข้ามไป เวลาได้คุยก็จะได้คิด ได้วางแผน ได้อ้างอิงที่คนอื่นแนะนำให้ไปหาอ่าน/ดูเป็นตัวอย่าง แล้วเวลาเปคนที่อ่านให้เรา ด้วยตัวละครที่เขาชอบ ก็จะเห็นรีแอคชั่นบางอย่าง มันก็ทำให้คนเขียนรู้สึกดี แล้วก็พัฒนาสมองได้ตลอดเวลาด้วยนะ สนุกดี


ไม่ได้คิดว่าอยากจะมีนักอ่านเป็นแสน ๆ เลย

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด