5 เคล็ดลับจาก April Fools' Day สร้างกับดักในนิยายด้วยกลอุบายที่ยอดเยี่ยมที่สุด!

5 เคล็ดลับจาก April Fools' Day
สร้างกับดักในนิยายด้วยกลอุบายที่ยอดเยี่ยมที่สุด! 

สวัสดีค่ะนักเขียนชาวเด็กดีทุกคน ใครที่เคยอ่านเคล็ดลับเรื่อง 8 วิธีสร้าง PLOT TWIST หลอกคนอ่านให้เชื่อใจผ่านการเล่าเรื่อง ที่พี่แนนนี่เพนเคยเขียนมาก่อนหน้านี้ วันนี้พี่มีอีก 5 เคล็ดลับจากวันเอพริลฟูลเดย์ (April Fools' Day) มาฝากกันค่ะ แต่เอ๊ะ..วันเอพริลฟูลเดย์กับนักเขียนมันมาเชื่อมโยงกันได้ยังไงละเนี่ย มาค่ะ ถ้าพร้อมแล้วพี่จะเล่าเรื่องราวดีๆ ให้ฟังกัน

ก่อนอื่นต้องขอเล่าย้อนไปถึงศตวรรษที่ 16 นู่นเลยค่ะ ตอนนั้นชาวฝรั่งเศสมีวันปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี เหมือนที่ไทยเรามีวันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่นั่นแหละค่ะ แล้วอยู่ๆ วันหนึ่ง สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 (Pope Gregory I) ก็ได้กำหนดให้วันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันเฉลิมฉลองวันปีใหม่ของชาวคริสต์ทั่วโลก ซึ่งเรื่องราวมันก็ดูธรรมดามาก แค่เปลี่ยนวันปีใหม่เอง แต่ในยุคสมัยนั้นข่าวสารไม่ได้รวดเร็วหมือนยุคที่เราอยู่ไงคะ ก็เลยทำให้คนฝรั่งเศสที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงมากๆ ไม่เชื่อว่ามีการเปลี่ยนวันปีใหม่จริงๆ พอถึงวันที่ 1 เมษายนก็เลยฉลองปีใหม่กันเหมือนเดิม คราวนี้คนที่รู้ข่าวนี้เข้าก็มองว่าพวกเขาดูโง่ แถมยังหาเรื่องมาแกล้งหลอกเพื่อความสนุกสนานอีกด้วย จากนั้นในวันที่ 1 เมษายนของทุกปีจึงเป็นวันเทศกาลโกหกหลอกลวง ที่ใครจะแต่งเรื่องอะไรก็ได้มาแกล้งหลอกกัน แล้วค่อยเฉลยกันทีหลังเอาฮา ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่โกรธคนแกล้งหลอกเรา และคนที่แกล้งหลอกต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน หรือได้รับบาดเจ็บด้วยนะคะ ซึ่งนี่ก็เป็นเพียงตำนานหนึ่งเท่านั้นที่นำมาเล่าสู่กันฟัง ยังมีอีกหลายทฤษฏีที่เป็นที่มาที่ไปของวันเอพริลฟูลเดย์อยู่อีกมาก ซึ่งใครสนใจก็ลองไปหาข้อมูลอ่านกันได้นะคะ 
 

กลับมาที่เรื่องการเขียนนิยายกับวันเอพริลฟูลเดย์กันดีกว่าค่ะ จากเรื่องราวที่นำมาเล่าให้ฟัง ใจความสำคัญที่เป็นหัวใจหลักของวันเอพริลฟูลเดย์เลยก็คือ การหลอกลวงที่สร้างเสียงหัวเราะ นั่นเอง การโกหกผู้คนในวันที่ 1 เมษายนไม่ได้มีเจตนาเพื่อทำให้โกรธเคืองกันแต่อย่างใดนะคะ กลับกันตรงที่คนแกล้ง ต้องสรรหาวิธีต่างๆ มากมายมาทำให้คนที่ถูกแกล้งเชื่อในคำโกหกให้ได้ และเฉลยทุกอย่างในตอนท้าย ที่สำคัญคนที่ถูกแกล้งต้องได้รับความสุขกลับไปด้วย ในวันนี้พี่แนนนี่เพนจึงขอเอากลอุบายที่ผู้คนนิยมใช้กันในวันเอพริลฟูลเดย์ มาเป็นหนึ่งในเคล็ดลับการเขียนนิยาย ให้ชาวเด็กดีได้เอาไปทดลองใช้ในนิยายของเราดูค่ะ 

5 กลอุบายสร้างกับดักในนิยายที่ยอดเยี่ยมที่สุด!

1. กับดักเหรียญสองด้าน

มีประโยคหนึ่งของ คาร์ล กุสตาฟ จุง (Carl Gustav Jung) นักจิตวิเคราะห์ชื่อดังได้กล่าวไว้ว่า “Wholeness for Human Depends on the Ability to own Their Own Shadow” คุณจะเป็นคนเต็มคนก็ต่อเมื่อคุณสามารถยอมรับด้านมืดของตัวเองได้ ซึ่งคนที่ไม่สามารถยอมรับอีกด้านของตัวเองได้นั้น ส่วนใหญ่ล้วนโกหกเพื่อปกป้องตัวเอง และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความจริงอยู่เสมอ กลอุบายในข้อแรกจึงเป็นการสร้างตัวละครที่มีมิตินั่นเองค่ะ เราต้องไม่พยายามกำหนดว่าใครดีหรือชั่วโดยสันดาน เพราะทุกคนล้วนมีเหตุผลของตัวเองกันทั้งนั้น การสร้างกับดักให้คนอ่านเชื่อด้วยการแกล้งสร้างคาแรกเตอร์แบบหนึ่ง และค่อยๆ เผยคาแรกเตอร์อีกด้านหนึ่งในภายหลัง ก็เป็นการหลอกนักอ่านได้แนบเนียนอีกวิธีหนึ่งเลยค่ะ 

โดยสิ่งที่น่าสนใจของกับดักข้อนี้ คือ คุณจะทำให้คนอ่านเชื่อและรู้สึกว่าตัวละครสมจริงได้อย่างไรต่างหาก ซึ่งหากใช้กลอุบายของวันเอพริลฟูลเดย์มาช่วย ทริคในข้อนี้ก็คือ “ความเชื่อใจ” นี่แหละค่ะ เราจะเห็นว่าลิสต์การแกล้งหลอกของคนส่วนใหญ่นั้น เน้นไปที่การแกล้งคนรู้จัก หรือคนที่สนิทสนมกันพอสมควร เพราะเมื่อการแกล้งจบลง คนที่แกล้งมักจะคาดหวังเสียงหัวเราะ หรือการให้อภัยจากบุคคลเหล่านั้นเสมอ ทั้งนี้การแกล้งกันในวันเอพริลฟูลเดย์ มักจะเป็นการการแกล้งหลอกที่มีการวางแผนกันอยู่แล้ว คนแกล้งจึงมีการคาดเดาเหตุการณ์ไว้ล่วงหน้า และคิดถึงผลดีผลเสียของการโกหกที่จะเกิดขึ้นไว้แล้วแน่นอน ดังนั้น เราจะใช้กับดักเหรียญสองด้านในนิยายของเราได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในกลุ่มตัวละครของเราได้เสียก่อน จากนั้นค่อยเฉลยด้านที่ไม่คาดคิดของตัวละครออกมาแบบไม่ต้องกังวลเรื่องความสมเหตุสมผลเลยก็ได้ แล้วค่อยไปพลิกปมเฉลยในภายหลังก็ยังไม่สาย 

2. กับดักโชคชะตา

อุบายข้อนี้ถูกนำไปใช้ในนิยายค่อนข้างบ่อยเลยค่ะ หลายครั้งนักอ่านชอบคิดว่ามันคือการหักมุมอย่างหนึ่ง ทว่าที่จริงแล้วมันคือทริคของการเปิดปิดปมในนิยายมากกว่าค่ะ ไม่ว่าเรื่องราวจะดำเนินมาอย่างเรียบง่ายมีความสุขในตอนแรก หรือเริ่มต้นด้วยความโชคร้ายของใครสักคน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการเปลี่ยนสถานการณ์ด้วยเรื่องของโชคชะตา และความไม่แน่นอนนั่นเอง ซึ่งในชีวิตจริงเรามักจะโทษเรื่องราวผิดหวังว่าเป็นความซวย และยกให้เรื่องบังเอิญกลายเป็นโชคดีที่ไม่คาดคิดมาก่อน ทั้งที่บางครั้งหลายอย่างๆ เกิดจากการกระทำของเรา และเกิดจากการกระทำของคนอื่นๆ ที่ตอบสนองกันเป็นลูกโซ่เท่านั้น 

ด้วยเหตุนี้ อุบายในนิยายว่าด้วยเรื่องของโชคชะตา เมื่อนำมาเกี่ยวโยงกับวันเอพริลฟูลเดย์ เช่น การแกล้งหลอกว่าถูกล็อตเตอรี่ หรือการแกล้งหลอกว่าเงินหาย ล้วนเป็นการแกล้งหลอกทางอารมณ์ความรู้สึก ทริคในข้อนี้จึงเป็นเรื่องราวของฟ้าหลังฝนเสียมากกว่า การทำให้เรื่องราวอยู่ในจุดสูงสุด และกลับสู่ต่ำสุดได้ในทันทีนั้น โชคชะตาจึงเป็นตัวแปรที่ก่อให้เกิดความรู้สึกทางอารมณ์ต่อนักอ่านได้มากที่สุด แม้จะไม่มีเหตุผลรองรับ แต่คนส่วนใหญ่มักจะมีอารมณ์ร่วมต่อเหตุการณ์นั้นๆ ได้ง่าย ราวกับเคยเกิดขึ้นในชีวิต หรือคนใกล้เคียงมาก่อน ดังนั้น กับดักในข้อนี้ จึงเป็นการสร้างสถานการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นจริง ให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกร่วมไปด้วยนั่นเอง

3. กับดักความสูญเสีย

ในวันเอพริลฟูลเดย์นั้น อีกหนึ่งกลอุบายที่คนแกล้งส่วนใหญ่นิยมใช้กันก็คือการทำให้ผู้แกล้งรู้สึกสูญเสียสิ่งสำคัญไป แม้จะบอกว่าห้ามแกล้งกันจนเลือดตกยางออกนะ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีการเสียของรักของหวงเกิดขึ้น ถึงในภายหลังจะนำสิ่งของนั้นๆ กลับคืนมา แต่คงเทียบไม่ได้กับวินาทีที่ได้รู้ว่าสิ่งสำคัญได้หายไปแล้ว อุบายในข้อนี้จึงเป็นการวางกับดักในนิยายด้วยความสูญเสียนั่นเอง การที่ตัวละครบอบช้ำ จนนำไปสู่กับดักเหรียญสองด้านได้ นั่นเพราะพวกเขาล้วนเคยเกิดความรู้สึกสูญเสียสิ่งสำคัญไป จนส่งผลต่อความเชื่อและความไว้ใจต่อผู้อื่น แต่ในอีกด้านนั้น ไม่ว่าตัวละครจะสวมบทตัวเอก หรือตัวร้าย พวกเขาล้วนมีพัฒนาการจากความสูญเสียในทางใดทางหนึ่งเสมอค่ะ ดังนั้น การสร้างความสูญเสียให้ตัวละครก็เหมือนการเพิ่มเรื่องราวให้นิยายดูสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้นนั่นเอง 

4. กับดักความเชื่อ

ในส่วนนี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับวันเอพริลฟูลเดย์มากเท่าไหร่ แต่จะเล่าให้ฟังว่า “ความเชื่อ” เป็นบ่อเกิดของการกระทำที่ไม่คาดคิดมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อในเรื่องใดๆ ก็ตาม เราสามารถนำมาผูกโยงเป็นกับดักที่ยอดเยี่ยมได้ ยิ่งผู้คนในนิยายมีความเชื่อที่แตกต่างกัน ความสามารถในการเล่าเรื่องของเราก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เพราะความเชื่อในแต่ละด้านมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตเสมอค่ะ ดังนั้น เราในฐานะคนเขียนจงใช้ความเชื่อที่เรารู้จัก มาเปิดมุมมองนักอ่านให้มากขึ้นกันค่ะ พยายามหลีกเลี่ยงความเชื่อที่ชี้นำมากเกินไป และจงใช้ความเชื่อเพื่อแสดงให้เห็นว่าความเชื่อของแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล ที่เราไม่ควรไปตัดสินเพียงเพราะเราไม่ได้เชื่อในสิ่งนั้น แล้วคุณและนักอ่านจะรู้ว่าความเชื่อพาตัวละครในนิยายไปได้ไกลกว่าที่คิดเอาไว้มากๆ 

5. กับดักความเห็นแก่ตัว

เอาล่ะ ในข้อสุดท้ายนี้ เป็นความเห็นของคนแกล้งที่มีต่อวันเอพริลฟูลเดย์ว่า คนส่วนใหญ่เขาก็ทำกัน ความคิดเห็นนี้เป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการแกล้งโกหกที่ร้ายแรง และลุกลามสู่ผู้คนในสาธารณะอย่างรวดเร็ว อุบายในข้อนี้ จึงเป็นความเห็นแก่ตัวของผู้คนค่ะ แน่นอนว่าทุกคนเข้าใจดีแต่คงสงสัยกันว่าจะนำไปใช้ในนิยายได้อย่างไร คำแนะนำกลอุบายในข้อนี้เหมาะกับการสร้างตัวละครที่ไม่ดี และเหตุการณ์แนวฮีโร่มากๆ เลยค่ะ หลายครั้งที่เหตุการณ์สร้างวีรบุรุษ และแม้แต่ตัวละครที่แย่ที่สุดก็ยังหลุดพ้นจากความเห็นแก่ตัวออกมาได้ในสถานการณ์บังคับ ทริคในข้อนี้จึงจำเป็นต้องใช้คนส่วนใหญ่มากดดันเรื่องราวต่างๆ ให้ดำเนินต่อไปได้ หากเราต้องการเพิ่มหรือลดบทบาทตัวละครในนิยาย ทริคข้อนี้ก็น่าสนใจเอาไปลองใช้ดูนะคะ 

พี่แนนนี่เพนไม่ได้เจอกับเหตุการณ์วันเอพริลฟูลเดย์มานานมากๆ ตั้งแต่สมัยมัธยมแล้วค่ะ แต่จำได้ดีทั้งในฐานะคนแกล้ง และคนถูกแกล้งว่ามันสนุกมากๆ โดยเฉพาะเมื่อเราได้เล่นกับเพื่อนสนิทที่รู้ใจกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อยากแนะนำว่าอย่าไปแกล้งคนที่ไม่รู้จัก หรือไม่ได้สนิทสนมกันมากพอนะคะ เพราะการแกล้งกันเล่นๆ ของเราอาจจะไปสร้างการบูลลี่ให้ใครโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ และในท้ายที่สุดนี้ พี่หวังว่าทริคการสร้างกับดักในนิยายที่นำมาฝากกันในวันนี้ จะทำให้นักเขียนเด็กดีได้ไอเดีย หรือแรงบันดาลใจไปเขียนเพิ่มเติมแต่งในนิยายของเรากันได้นะคะ แล้วเจอกันใหม่ค่ะ ^^

พี่แนนนี่เพน
 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก 
https://www.rd.com/culture/origin-of-april-fools-day/
https://www.infoplease.com/calendar-holidays/major-holidays/april-fools-day-origin-and-history

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Hameii Member 28 มี.ค. 63 07:00 น. 1

ชอบมากๆ ทุกข้อเลยค่ะ ใช้บ่อยสุดน่าจะข้อแรก ขอบคุณมากนะคะ อ่านบทความแล้วช่วยให้หายเหงาหายเครียดในสถานการณ์โควิด ㅠ ㅠ

0
กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

Hameii Member 28 มี.ค. 63 07:00 น. 1

ชอบมากๆ ทุกข้อเลยค่ะ ใช้บ่อยสุดน่าจะข้อแรก ขอบคุณมากนะคะ อ่านบทความแล้วช่วยให้หายเหงาหายเครียดในสถานการณ์โควิด ㅠ ㅠ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด