8 ทริคเด็ด! เขียนนิยายแบบเรียบง่าย
ก็เป็นจุดแข็งของคุณได้



สวัสดีค่ะนักเขียนชาวเด็กดีทุกคน เคยได้ยินกันบ้างไหมคะว่าการเขียนที่ดีคือการใช้ภาษาที่สั้น กระชับ และได้ใจความ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนในรูปแบบไหน การเขียนด้วยความเรียบง่ายถือเป็นจุดแข็งที่ดีที่สุดสำหรับการเขียนในทุกรูปแบบเลยค่ะ ซึ่งพี่แนนนี่เพนขอสารภาพตามตรงว่าบางครั้งก็เลือกใช้คำที่เยอะเกินไป พยายามเขียนให้สวย เรียบเรียงออกมาให้ดี แต่พอกลับไปอ่านดันไม่เข้าใจว่าอยากสื่ออะไรออกมาซะงั้น วันนี้พี่เลยขอพาทุกคนกลับไปทบทวนการเขียนในขั้นเริ่มต้นอีกครั้ง หวังว่าทริคทั้ง 8 ข้อนี้จะมีประโยชน์กับนักเขียนทุกคนนะคะ ^^
 

ทริค 8 ข้อ สำหรับเขียนนิยายแบบเรียบง่าย

 จากที่พี่ได้ทำบทความถึงนักเขียนชื่อดังหลายคน ทั้งเออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ และมาร์ก ทเวน นักเขียนชาวอเมริกันที่มีผลงานมาแล้วมากมาย พวกเขาต่างสนับสนุนวิธีการเขียนอย่างง่ายให้กับทุกคน ซึ่งพี่เห็นด้วย และคิดว่าการเริ่มต้นด้วยการเขียนอย่างง่าย คือ การสื่อสารที่เข้าถึงนักอ่านได้มีประสิทธิภาพที่สุด 

 

1. จัดการไอเดียแบบง่ายๆ

ก่อนอื่นเราต้องมีไอเดียที่เป็นรูปเป็นร่างก่อนค่ะ สรุปแนวคิดของเราก่อนที่จะเริ่มเขียน เช่น การเขียนพล็อตแบบง่ายๆ วางโครงเรื่องแบบหยาบ ไม่ต้องพิถีพิถันเรื่องภาษาหรือการใช้คำ นี่คือขั้นระดมสมองและแจกแจงไอเดียออกมา เชื่อไหมว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ถ้าหากเราเขียนตอนที่สมองเกิดแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะฟังเพลงอยู่ อ่านหนังสือ หรือดูหนัง แล้วเกิดเรื่องราวขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง รีบจดเก็บไว้ และเขียนเรื่องราวออกมาให้หมดจนกว่าจะนึกไม่ออก เพียงเท่านี้การเขียนของเราก็จะไม่หลงทาง และมีเส้นเรื่องที่ชัดเจนแล้วค่ะ 
 

via GIPHY
 

2. เลือกคำง่ายๆ ที่ตรงประเด็นที่สุด

การเขียนของเราต้องเปิดประตูให้นักอ่านเข้ามาอย่างราบรื่นค่ะ ในขั้นตอนการเขียนนี้จะไม่พูดถึงทักษะการเขียนของแต่ละคนนะคะ แต่จะมาแนะนำทริคง่ายๆ เวลาเขียนนิยายว่า เราควรเลือกใช้คำในการเขียนอย่างรอบคอบ ระมัดระวังการใช้คำ และเลือกคำที่ตรงประเด็นที่สุดในการเขียนค่ะ ถึงแม้ว่าการเขียนนิยายควรร้อยเรียงด้วยภาษาที่สละสลวย แต่ในอีกด้านหนึ่ง นักอ่านแต่ละคนนั้นมีประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน การเลือกใช้คำให้เหมาะสมกับแนวงานที่เขียน ไม่ซับซ้อน และเข้าใจได้ง่าย ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้นักอ่านเข้าใจเรื่องราว และอยากติดตามนิยายของเราต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ 
 

3. เขียนง่ายๆ ให้ตรงกับเป้าหมาย

ลองคิดดูว่า หนังสือสำหรับเด็กก็เขียนด้วยระดับภาษาหนึ่ง หนังสือสำหรับผู้ใหญ่ก็มีระดับภาษาที่ใช้เขียนอยู่หลากหลาย แล้วแบบนี้ ในฐานะนักเขียนนิยาย เราได้มองเห็นกลุ่มเป้าหมายของตัวเองบ้างหรือยังคะ หากเราทราบว่านักอ่านของเราอยู่ในวัยไหน หรือต้องการสื่อสารถึงนักอ่านกลุ่มใด การเขียนนิยายของราจะง่ายขึ้นอีกขั้นหนึ่งเลยค่ะ เพราะเรามีระดับภาษา มีถ้อยคำที่สามารถสื่อสารถึงนักอ่านในแต่ละวัยได้ทันทีเลยค่ะ 

 

via GIPHY
 

4. หลีกเลี่ยงการใช้คำที่ไม่จำเป็น 

หลีกเลี่ยงการใช้คำที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะคำคุณศัพท์และคำวิเศษณ์ บอกตรงๆ ว่าข้อนี้แอบยาก แต่จะพยายามทำให้ได้ และหวังว่าทุกคนจะทำได้เช่นกัน การอธิบายด้วยคำขยายอาจทำให้เนื้อหาหลักของเราไม่โดดเด่น และมีคำิธิบายอยู่ในตัว ดังนั้น มาหลีกเลี่ยงคำไม่จำเป็นกันค่ะ (ยากมากๆๆๆๆๆๆ)
 

via GIPHY
 

5. เขียนประโยคสั้นๆ 

เขียนสั้นๆ ในที่นี้หมายถึงประโยคที่เราใช้ในการบรรยายค่ะ ทริคข้อนี้ไม่เหมาะกับการเขียนบทสนทนาแน่นอน ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีประโยคยาวๆ อยู่ในหัว หรือลองเขียนออกมาแล้วมันยาวมากๆ ให้เราหยุดไว้แค่นั้นก่อน แล้วลองสร้างประโยคสั้นๆ สักหนึ่งหรือสองประโยคขึ้นมา การแบ่งประโยคยาวๆ ให้เหลือสั้นๆ จะทำให้นักอ่านย่อยข้อมูลได้ง่ายๆ และเข้าใจได้ทันทีค่ะ
 

6. ใช้คำที่พูดง่ายๆ 

ทริคข้อนี้สำหรับบทสนทนาเลยค่ะ การเขียนที่เข้าถึงอารมณ์มากที่สุดคือการเขียนที่เป็นชีวิตจริงค่ะ บทสนทนาที่เราสร้างควรเป็นคำพูดที่ตรงกับแแนวนิยาย และสามารถเปล่งเสียงหรืออารมณ์ออกมาได้ราวกับตัวละครนั้นมีชีวิตจริงๆ เวลาที่เขียนบทสนทนาให้เราสวมบทบาทใส่น้ำเสียง และอารมณ์ลงไปให้เข้ากับฉากนั้นๆ แล้วเราจะพบว่าการสร้างตัวละครให้คนอ่านอิน ทำได้ง่ายว่าที่เราคิดอีกค่ะ แค่ต้องลองพูดออกมา
 

via GIPHY

7. สร้างประโยคเด็ดในแต่ละตอน

ถึงแม้ว่านิยายของเราจะดำเนินเรื่องอยู่ในโลกจินตนาการ แต่อย่าลืมว่าคนอ่านคือคนบนโลกเดียวกับเรา การเขียนด้วยความเรียบง่าย สั้น กระชับ อ่านแล้วเข้าใจ เป็นเพียงพื้นฐานเบื้องต้นในการเล่าเรื่องเท่านั้นค่ะ สิ่งสำคัญที่จะทำให้การเขียนแบบง่ายๆ มีพลังขึ้นมาได้ก็คือการเลือกสื่อสารด้วยคำหรือประโยคเด็ดที่สื่อสารได้ทั้งเรื่องราว เราอาจหยิบยกถ้อยคำในปัจจุบันที่นิยมใช้กันนำมาใช้ในนิยายของเราได้ (เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง) เพื่อให้เข้าถึงผู้คนมากที่สุด แต่ก็ต้องคำนึงถึงแนวนิยายที่เราเขียนด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ 

 

8. รีไรต์ง่ายๆ แค่เราเข้าใจ 

การรีไรต์ คือสิ่งที่นักเขียนทุกคนต้องกลับมาทำเมื่อเขียนนิยายเสร็จค่ะ ไม่ว่านิยายของเราจะเขียนจบแล้วหรือยังเขียนไม่จบ เราควรย้อนกลับมารีไรต์อยู่เสมอ เพื่อตรวจสอบเนื้อเรื่อง และการใช้คำ ซึ่งทริคการรีไรต์ที่ง่ายที่สุด คือ เราอ่านแล้วเข้าใจค่ะ หากมีตรงไหนที่เราอ่านแล้วสะดุด เราสามารถลงมือแก้ไขได้ทันที ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการทำลายต้นฉบับ ให้ระลึกไว้เสมอว่านี่คือ การรีไรต์ เพื่อให้ต้นฉบับของเรากระชับ และสมบูรณ์มากขึ้นค่ะ 

 

พอได้เขียนไปด้วย ทบทวนไปด้วย ก็ทำให้รู้ว่าการเขียนอย่างง่าย ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลยค่ะ เผลอๆ อาจจะยากกว่าการเขียนในรูปแบบอื่นด้วยซ้ำ เพราะนอกจากเราจะต้องเขียนให้กระชับและได้ใจความ เรายังต้องเลือกใช้ถ้อยคำให้เข้าถึงนักอ่านอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้นพี่ก็คิดว่าการเขียนด้วยความเรียบง่ายมีเสน่ห์ในการเล่าเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้การเล่าในรูปแบบอื่นๆ เลยค่ะ ถึงจะไม่ซับซ้อน แต่เขียนให้อ่านแล้วเข้าใจก็เป็นจุดแข็งที่ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ เลยนะคะ คิดเหมือนกันไหมคะทุกคน ^^

พี่แนนนี่เพน

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Rock Member 22 ก.ค. 63 17:06 น. 2

เราเป็นอีกคน ที่ชอบเขียนแบบเรียบง่าย อันที่จริงคิดคำบรรยายไม่ค่อยถูก 5555 เน้นสั้นๆ บทสนทนาเยอะๆ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด