พูดคุยและเดินทางไปกับ “เนวิกา” : ให้การเดินทางครั้งนี้มีแต่ความอบอุ่นและการเยียวยาหัวใจ

พูดคุยและเดินทางไปกับ “เนวิกา” :
ให้การเดินทางครั้งนี้มีแต่ความอบอุ่นและการเยียวยาหัวใจ
 

“ตัวเองให้คำนิยามของ ‘เนวิกา’ ว่าเป็นผู้นำทางนักอ่านไปยังช่วงเวลาของความสุขและอบอุ่นราวกับช่วงเทศกาลปลายปีผ่านงานเขียนค่ะ”

“นุ้ย” หรือที่นักอ่านนิยายรักหลายๆ คนรู้จักกันดีในนามปากกา “เนวิกา” เจ้าของผลงานนิยายรักอบอุ่นหัวใจสุดฮิต ที่มีผลงานต่อเนื่องกันถึงเจ็ดเรื่อง ภายในสิบปี! โดยเฉพาะผลงานล่าสุดอย่าง "จันทร์จารใจ" เธอบอกกับผมแบบนั้น ทันทีที่ผมถามเธอถึงที่มาของชื่อเนวิกา ทำไมถึงใช้ชื่อนี้ และทำไมถึงเลือกเปรียบตัวเองเป็นนักเดินทาง

ย้อนไปเมื่อหลายวันก่อน ในวันที่ผมอ่อนแอเกินกว่าจะเรียกว่าอ่อนแอ ในวันที่ผมบอบช้ำกลับมาที่บ้านด้วยบาดแผลแห่งความล้มเหลว ในวันที่รู้สึกว่าโลกนี้ไม่มีที่ยืนสำหรับคนอย่างเราเลย ในวันที่ไม่มีอะไรสักอย่าง แม้แต่สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “ความสุข” ผมกลับหันไปเห็นน้องสาวที่กำลังอมยิ้มอย่างอิ่มอกอิ่มใจ ในทันทีที่อ่านหนังสือเล่มหนึ่งไปถึงหน้าสุดท้าย

หนังสือเล่มนั้นเป็นนิยายหน้าปกสีน้ำเงิน ให้บรรยากาศลอนดอนตอนหิมะตก ในชื่อเรื่องว่า “จันทร์จารใจ” ของนักเขียน “เนวิกา” อะไรกัน...นิยายเล่มหนาเรื่องหนึ่ง จะทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกมีความสุข รู้สึกเต็มตื้นอยู่ในใจได้ขนาดนี้เลยหรือ

โดยไม่รู้ตัว สองมือผมเอื้อมไปหยิบหนังสือเล่มนั้นมาอ่าน รู้ตัวอีกที คล้ายราวกับว่าผมหลุดเข้าไปในโลกนิยายเรื่องนั้น หลุดเข้าไปซึมซาบเรื่องราวความรัก ความอบอุ่น ความสัมพันธ์อันงดงาม ผ่านการร่วมเดินทางไปยังลอนดอน ท่ามกลางฤดูหนาว

ไม่หรอก...ผมไม่ได้หลุดเข้าไปพบตัวละคร แต่โลกแห่งหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้พบพาน และพูดคุยกับเจ้าของทริปการเดินทาง หรือนักเขียน เจ้าของเรื่อง ผู้สร้างสรรค์นิยายเรื่องนี้ต่างหาก
 

“เพราะตัวเองเกิดในฤดูหนาว เลยทำให้ชอบเทศกาลช่วงปลายปี ชอบหิมะ ชอบความหนาวเย็น จึงเป็นที่มาของนามปากกาว่าเนวิกา “Nevica” ซึ่งเป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่าหิมะตกค่ะ และนอกจากนี้แล้ว เนวิกา ยังมีเสียงที่ใกล้เคียงกับคำว่า Nevigate ที่แปลว่านำทาง...”

ด้วยที่มาของรากศัพท์ ความหมายคำว่าเนวิกา จึงกลายเป็นนิยามความหมายของนามปากกานี้ ตามถ้อยคำที่ผมเลือกเปิดเรื่องนั้นเอง

นี่เป็นเพียงแค่คำถามแรก

ยังมีอีกหลายคำถามที่หลั่งไหลเข้ามาตลอดการเดินทางในโลกแห่งจินตนาการครั้งนี้

คำถามที่ทำให้สัมผัสได้ว่า...ในทุกตัวอักษร ในทุกถ้อยคำของเนวิกา เพียงแค่คุณได้อ่านมัน ก็จะรู้สึกเหมือนว่าความสุขเล็กๆ ความอบอุ่น และการเยียวยาหัวใจนั้นควรค่าแก่การเป็นของขวัญของคนทุกคน

01
การเดินทางแบบเนวิกา
 

          นับจนถึงปัจจุบัน (พฤศจิกายน 2564) เนวิกามีงานเขียนครบสิบเรื่องพอดี เอกลักษณ์ของนักเขียนคนนี้คือความเป็น “ไพรัชนิยาย” หรือนิยายที่ว่าด้วยการเดินทาง การท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ (โดยมากมักจะเป็นต่างประเทศ) ผมเลยนึกสนุกอยากเปรียบเทียบนิยายของเนวิกาเป็นการเดินทางสักที่ สักแห่งหน โดยมีเจ้าตัวเป็นผู้นำทาง

         อยากรู้ว่าเนวิกามองว่าทริปของตนมีเสน่ห์ตรงไหน อย่างไร

         “จริงๆ ขึ้นอยู่กับแนวที่เขียนเลยค่ะว่าเป็นแนวไหน ถ้าเป็นแนวสืบสวน ก็คงจะเป็นการเดินทางไปยังสถานที่ที่มีความตื่นเต้น มีเรื่องราวให้ลุ้น...

         แนวสืบสวนที่ว่า ผู้เขียนคงหมายถึง “เอื้อมอโณทัย” สืบสวน ฆาตกรรม ท่ามกลางการโจรกรรมโบราณวัตถุที่สาธารณรัฐเช็ก หรือ “แว่วเสียงประกาย” สืบสวนท่ามกลางบรรยากาศภูตผีวิญญาณที่ไม่น่ากลัว พ่วงด้วยความรุ่มรวยในเสียงดนตรี ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ล้วนมีตัวอย่างให้อ่านกันทาง Dek-D

         “แต่ถ้าเป็นแนว Slice of Life คงเป็นการเดินทางผ่านชีวิตประจำวันที่มีทั้งความสุข และความทุกข์ และหลายๆ ครั้งที่ทริปเหล่านั้นจะเป็นการพาไปเยือนประเทศต่างๆ

         แนวนี้ที่เนวิกาว่า ถือเป็นสไตล์ เป็นเอกลักษณ์ของผู้เขียน ที่ทำให้นักอ่านติดตามงาน และหลงรักการเดินทางที่มีเธอเป็นคนจัดทริปเลยละ ดังเช่นเรื่อง “เคียงข้างขวัญ” Slice of Life ของหนุ่มสาวออฟฟิศในกทม. หรือ “จันทร์จารใจ” ผลงานเรื่องล่าสุดที่เป็น Slice of Life ของนักเรียนนอกที่กรุงลอนดอน

         ยิ่งไปกว่านั้น เนวิกายังย้ำจุดยืนในงานเขียนของตนเอง ย้ำความตั้งมั่น ความตั้งใจที่จะมอบสิ่งหนึ่งเป็นของขวัญให้คนอ่านผ่านงานเขียนทุกเรื่อง ไม่ว่าจะแนวใดก็ตาม

         “และไม่ว่าจะเป็นแนวไหน ไม่ว่าจะพาไปที่ใด หนึ่งสิ่งที่จะได้พบในทริปแน่นอน ก็คือความอบอุ่นและการเยียวยาหัวใจค่ะ : )”

         โดยไม่รู้ตัว...ผมรู้สึกอบอุ่นขึ้นในใจ ราวกลับได้รับการเยียวยาอย่างที่ไม่คิดว่าจะได้รับ

         “คุณเนวิกาผ่านการเดินทางมามาก ทั้งการท่องเที่ยวและการพำนักในหลายๆ ประเทศ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อมุมมอง การมองโลก หรือประสบการณ์ชีวิตยังไงบ้างมั้ย แล้วมุมมองเหล่านั้นมันถูกสื่อสารหรือสะท้อนผ่านงานเขียนของคุณบ้างหรือเปล่า”

         หลายคำถามที่หลั่งไหลมาราวกับสายน้ำ ท่ามกลางหิมะตกกลางกรุงลอนดอน เพราะผมอยากเก็บเกี่ยวทุกเรื่องราว เก็บเกี่ยวประสบการณ์การเดินทางจากเธอคนนี้ให้ได้มากที่สุด

         “การเดินทางนั้นช่วยเปิดโลกและทำให้เรายอมรับความแตกต่าง รวมถึงการหวังให้เมืองไทยมีการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกระดับค่ะ

ซึ่งผลกระทบของการเดินทางที่มีต่องานเขียนมีสองช่วงค่ะ

ช่วงแรก ช่วงที่ยังเป็นนักท่องเที่ยว เราจะเขียนเน้นในเชิงนำเที่ยว เขียนบิวด์บรรยากาศ แต่อาจไม่ได้ลงถึงวิถีชีวิตของผู้คนเท่าไร (เช่นเรื่องหวานลับเล่ห์หรือเอื้อมอโณทัย ที่เป็นเรื่องสืบสวนเลยทำให้เจาะไปที่การสืบสวนและนำเที่ยวเป็นหลัก) 

ต่อมาช่วงที่สอง พอเราได้ไปเรียนที่สกอตแลนด์ ได้สัมผัสกับโครงสร้าง สวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ได้คลุกคลีกับวิถีชีวิตของผู้คน งานเขียนในยุคหลังจากนั้นจึงเปลี่ยนไป

หลายๆ ท่านอาจพอเห็นว่าในงานยุคหลังของเนวิกาที่มีเซ็ตติ้งต่างประเทศ ตัวละครจะมีกิจกรรมให้ทำตามสถานที่ต่างๆ เช่น ไปเจอกันที่สวนสาธารณะ ไปนั่งคุยกันบนเขา คุยกันริมทะเล คุยกันระหว่างนั่งรถไฟเข้าเมือง  แต่ถ้าเป็นที่ไทย พื้นที่ในการทำกิจกรรมเหล่านั้นจะจำกัด ด้วยความที่ชีวิตเราเองมีแค่บ้าน ขับรถไปทำงาน กลับบ้าน เจอเพื่อนก็เจอที่ห้างหรือร้านอาหาร ความคุ้นชินเรามีอยู่แค่นั้น ยิ่งช่วงหลังๆ เองเราเน้นเขียนเรื่องชีวิตประจำวันมากขึ้น มันเลยไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเท่าไร

อย่างเรื่องเคียงข้างขวัญเอง ถ้าสมมติพระเอกนางเอกไม่มาบังเอิญอยู่ข้างบ้านกัน ก็คงไม่มีโอกาสได้เรียนรู้กัน เพราะปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นกันแค่ในที่ทำงานเท่านั้น เป็นเรื่องที่เซ็ตติ้งน้อยมาก มีแค่สองที่หลักๆ คือที่ทำงานกับบ้าน

นอกจากนี้แล้ว เคยอยากเขียนเรื่องของคนทำงาน นั่งรถเมล์ ทำโอทีถึงทุ่มสองทุ่ม แต่โหย...เส้นเรื่องน่าจะไปต่อยากมาก คิดภาพพบว่าพระเอกอาจจะพบรักนางเอกตอนรอพี่วิน หรือถ้าเดินกันบทฟุตบาทคุยกันไป พระเอกอาจช่วยนางเอกจากน้ำกระเซ็นบนถนนงี้ ซึ่งในจุดนี้แหละ ที่พอเราออกไปเห็นโลกแล้วเรารู้สึกว่าคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกระดับควรจะดีกว่านี้

ไม่ใช่เพราะเป็นการอวยว่าต่างประเทศดีกว่าไปหมด แต่เราอยากให้บ้านเราเป็นบ้านเมืองที่น่าอยู่ และก็หวังว่าจะได้เห็นโครงสร้างที่เอื้อให้คนในชาติได้ออกมาทำกิจกรรมข้างนอกมากขึ้น และสามารถเดินบนฟุตบาทที่เรียบ มีสะพานลอยที่ปลอดภัยจริงๆ ไว้ข้าม”

         เป็นคำตอบที่ยาวและทำให้เห็นภาพชัดเจนมาก นี่ถ้าเนวิกาเปิดสไลด์พาวเวอร์พอยต์ตอนตอบผมไปด้วย คงเหมือนอาจารย์กำลังเลคเชอร์นิสิตนักศึกษายังไงอย่างงั้น แน่ละ...เพราะอีกบทบาทหนึ่ง นอกเหนือจากนักเขียน เนวิกาคืออาจารย์มหาวิทยาลัยนี่นา และปัจจุบันก็กำลังตั้งหน้าตั้งตา ตั้งใจกับการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก คาดว่าจะได้คำนำหน้าว่าดอกเตอร์ในเร็ววัน

         สำหรับผม เนวิกาคืออาจารย์ที่เข้าใจคนที่กำลังพูดคุยด้วย รู้ว่าควรจะสื่อสารอย่างไร เลือกใช้ถ้อยคำอย่างไรจึงจะสื่อสารได้สัมฤทธิ์ผล เห็นได้จากงานเขียนของเธอ ที่ทำให้ผมอยากเปิดต่อไปเรื่อยๆ รวมทั้งการได้พูดคุยกับเธอแบบนี้ ที่ก็ทำให้ผมอยากถามเธอต่อไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ...

         “เท่าที่สังเกต เนวิกาจะชอบเล่าเรื่องที่มีเซตติ้งเป็นยุโรปมากกว่าโซนอื่นๆ ทำไมถึงชอบยุโรปล่ะ ที่นั่นมีเสน่ห์ หรือมีมนตร์ขลังให้เขียนถึงยังไง”

         “จริงๆ คิดว่าทุกทวีปมีเอกลักษณ์และความงดงามเป็นของตัวเองค่ะ

แต่ส่วนตัวจะผูกพันกับยุโรปเป็นพิเศษ เพราะพี่สาวอยู่ที่สวีเดนมาได้สิบหกปีแล้ว ดังนั้นจะได้มีโอกาสไปเยี่ยมอยู่หลายครั้ง ก็เลยผูกพันไปด้วยค่ะ

ทีนี้พอพูดคำว่ายุโรป ภาพจำของหลายๆ ท่านคือความสวยงามของธรรมชาติ ความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมอันงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ไปตามแต่ละประเทศ

ส่วนเสน่ห์ของของยุโรปนั้นก็ต่างกันไปแต่ละโซนเช่นกัน เช่น สแกนดิเนเวียจะค่อนข้างเงียบสงบไม่วุ่นวาย  ยุโรปกลางจะดูน่าตื่นตาตื่นใจและน่าค้นหา ซึ่งสำหรับส่วนตัวแล้ว สิ่งที่ทำให้หลงใหลยุโรปในองค์รวมคือสถาปัตยกรรม คือตึกรามบ้านช่อง ธรรมชาติที่สวยงามมากๆ (อย่างสกอตแลนด์จะเป็นภูเขาที่ดูขึงขังยิ่งใหญ่ โซนออสเตรีย/สวิสจะเหมือนเทพนิยาย ส่วนนอร์เวย์จะเป็นฟยอร์ดที่สุดลูกหูลูกตามากๆ)

แล้วก็เรื่องที่คิดว่าดีมากๆ ของยุโรปคือโครงสร้างพื้นฐาน และการวางผังเมืองซึ่งสะท้อนแนวคิดของคนในชาตินั้นๆ ว่าให้ความสำคัญกับสิ่งใด ยกตัวอย่างการมีพื้นที่สีเขียวให้พักผ่อนหย่อนใจ ทางเดินเท้าที่เป็นระเบียบ ไม่ต้องกลัวสะดุด การให้ความสำคัญกับพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดประชาชน รวมถึงการให้สถานที่ท่องเที่ยวเป็นแหล่งการเรียนรู้ค่ะ

กับหนึ่งเรื่องที่ทำให้รู้สึกว่ายุโรปน่าสนใจมากๆ คือ ในหลายๆ ประเทศ สถานที่ที่ดูไม่น่าจะตั้งใกล้กันกลับอยู่ไม่ห่างจากกันเท่าไร คือการไม่มีการเซ็ตขอบเขต หรือ boundaries ยกตัวอย่างเช่น ในนครอัมสเตอร์ดัม พื้นที่เรดไลต์ดิสตริกต์นั้นอยู่ติดกับโบสถ์เก่าของเมือง (ตอนไปยังคุยกับเพื่อนเลยว่า เหมือนจะบอกใบ้ว่าไม่ว่าจะอาชีพไหนก็สามารถเข้าถึงความสงบทางใจหรือศาสนาได้จริงๆ ขณะที่ถ้าเป็นบางประเทศหากตั้งสถานที่ใกล้กันแบบนี้คงโดนวิพากษ์เรื่องศีลธรรมและความเหมาะสมแน่นอน) ซึ่งในความคอนแทรสต์นี้เองที่ทำให้ยุโรปมีเสน่ห์มากๆ ในสายตาตัวเองค่ะ”

         ด้วยมนตร์ขลังแห่งยุโรปที่มีเสน่ห์แตกต่างกันไปตามแต่ละที่ ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างความอบอุ่นและเยียวยาหัวใจนักอ่านในตลอดการเดินทาง นี่จึงกลายเป็นเสน่ห์ในงานเขียนของเนวิกา จนนำมาซึ่งผลงานเรื่องล่าสุดของเธออย่าง “จันทร์จารใจ” ที่ทำให้เห็นกว่าสุดท้ายแล้ว คำว่า “การเดินทาง” อาจมีความหมายที่ลึกซึ้งมากไปกว่าการเดินทางไปยังที่ใดที่หนึ่ง

         บางที...อาจหมายรวมไปถึงการฝ่าฟันอุปสรรค 
ฝ่าฟันชะตาชีวิต เดินทางให้พ้นหุบเหวแห่งฝันร้าย 
เพื่อได้พบแสงสว่างเมื่อปลายทางเสียด้วยซ้ำ

 02
เมื่อการเรียนรู้ ครอบครัว และการแอบรัก
หลอมรวมเป็นการเดินทางในผลงานล่าสุดอย่าง “จันทร์จารใจ”
 

  “จันทร์จารใจ” ยังคงเป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยการเดินทางไปยังต่างแดน และการมาลอนดอนของพระนางในเรื่อง ก็ไม่ใช่การมาเที่ยวหรือมาเยี่ยมเยือนใครสักคน หากแต่เป็นการเดินทางเพื่อมาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ว่าด้วยความรักของนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์กับภาษาศาสตร์ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการที่ฝ่ายหนึ่งแอบรักอีกฝ่าย

         สิ่งแรกที่ผมอยากรู้เกี่ยวกับจันทร์จารใจ คือทำไมเนวิกาถึงเลือกให้ตัวละครเป็นนักเรียนที่อังกฤษ ตัวนักเขียนมีประสบการณ์หรือความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับที่นั่น แล้วได้นำมาใส่ในนิยายบ้างไหม

         “เพราะเคยเรียนโทแค่ที่ยูเคค่ะ ไม่เคยเป็นนักเรียนชาติอื่น (หัวเราะ)

เลยเอาอะไรที่ใกล้ตัวสุดนี่แหละ สำหรับเรื่องจากชีวิตตัวเองที่ใส่ลงไปเต็มๆ คือความรู้สึกระหว่างการเรียนค่ะ ความหดหู่ ความตึงเครียดระหว่างที่เรียน บรรยากาศเหงาๆ อากาศหนาวๆ ชื้นๆ แล้วก็พวกกิจกรรมที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นการไปห้องสมุด ไปมหา’ลัย ไปกินข้าวแฟลตเพื่อน เอาจริงๆ เป็นช่วงที่ซัฟเฟอร์มากเลยนะตอนเรียน แต่พอมามองย้อนกลับไป มันกลายเป็นประสบการณ์ที่ดีงามและความทรงจำที่ล้ำค่ามากจริงๆ ค่ะ

         อ้อ อีกเรื่องที่เหมือนก็คือ...ได้แฟนกลับมาค่ะ #โดนคนอ่านมองบนใส่แน่เลย (หัวเราะ)

เพียงแต่ความรักของเราเองมันเรียบง่ายกว่าในเรื่องเยอะมาก แค่ไปกินข้าวด้วยกัน แค่ไปเดินขึ้นเขาด้วยกัน แค่ไปห้องสมุดด้วยกัน เรียนรู้กันผ่านชีวิตประจำวันแบบเพิร์ลกับพี่เจตน์ นั่นละค่ะคือความสัมพันธ์ของตัวเองที่ใส่ลงไปในเรื่อง และปัจจุบันคนที่ไปห้องสมุดด้วยกันสมัยเรียนก็คือคนเดียวกับที่คอยคิดบทตลกให้ในเคียงข้างขวัญและจันทร์จารใจนี่แหละค่ะ”

เนวิกาออกตัวว่าเป็นความเรียบง่าย แต่ผมเชื่อว่ามันคือ “ความเรียบง่ายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข” ไม่แปลกเลยที่เธอจะถ่ายทอด และส่งต่อความสุขนั้นผ่านเรื่องราวในนิยายรักจนจับใจใครหลายคนได้

“จุดเริ่มต้นของจันทร์จารใจมาจากพี่เจตน์ค่ะ”

พี่เจตน์ที่เนวิกาเอ่ยถึง คือพระเอกจากเรื่องนี้นี่เอง หรืออีกนัยหนึ่ง เขาคือพระรองแสนดีจากเรื่องก่อนหน้าอย่าง “เคียงข้างขวัญ”

“ต้องขอขอบคุณที่ผู้อ่านหลายท่านถามถึงพี่เจตน์หลังจากอ่านเคียงข้างขวัญจบ ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ตั้งใจให้พี่เจตน์เป็นพระรองในเรื่องนั้นด้วยซ้ำ (เพราะเรื่องนั้นไม่มีดราม่าชิงพระนางเลย) แต่ก็ดีใจที่กระแสตอบรับดีค่ะ เลยตัดสินใจเขียนจันทร์จารใจขึ้นมา”

“เพราะเคียงข้างขวัญว่าด้วยเรื่องครอบครัวคือของขวัญอันมีค่า พอมาเขียนจันทร์จารใจที่เป็นเหมือนภาคต่อ คุณนุ้ยเลยตั้งใจเขียนประเด็นครอบครัวที่ตรงกันข้ามใช่ไหมครับ” 

ผมเอ่ยถามอีกครั้ง เมื่อนึกเชื่อมโยงทั้งสองเรื่องนี้

“ใช่ค่ะ ด้วยความที่เคียงข้างขวัญเล่นประเด็นครอบครัวอันแสนอบอุ่นไปแล้ว ดังนั้น...จันทร์จารใจเลยต้องมาเล่นในแง่ตรงกันข้ามกันแทนค่ะ”

นอกจากนี้ เนวิกายังปิดท้ายคำถามนี้ด้วยเสียงหัวเราะและนึกขออภัยทางสำนักพิมพ์ เพราะตอนแรกสัญญาไว้ดิบดีว่าจะเขียนให้เป็นรอมคอม (โรแมนติก-คอเมดี้) เหมือนเคียงข้างขวัญ แต่ที่ไหนได้ จันทร์จารใจกลายเป็นดราม่าที่จบลงด้วยการฮีลใจนักอ่านเสียอย่างนั้น!

จันทร์จารใจจึงเป็นการเดินทาง...ที่มากไปกว่าการเดินทางเพื่อไปท่องเที่ยวหรือเรียนต่อยังต่างแดน สำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เกิดและเติบโตมาด้วยความรู้สึกว่าบ้านหรือครอบครัวไม่ใช่เซฟโซนสำหรับทุกคน (อย่างน้อยก็สำหรับเธอ) บ้านเป็นเหมือนกล่องกักเก็บความทรงจำที่เต็มไปด้วยบาดแผลเหวอะหวะ และฝันร้ายที่ตามราวีตั้งแต่เล็กจนโต

“จันทร์พิจิก” นางเอกของเรื่องจึงปรารถนาที่จะเดินทางไปให้ไกลที่สุด

ไกลแสนไกล...เพื่อหนีให้พ้นจากครอบครัวตนเองอันเป็นเสมือนฝันร้ายนั้น

นี่จึงเป็นเรื่องราวอันว่าด้วยการเดินทางของชีวิตผู้หญิงคนหนึ่ง ครั้นมาถึงลอนดอน โลกก็หยิบยื่นเส้นทางสายใหม่ให้กับจันทร์พิจิก เส้นทางแห่งความรักที่มีจุดเริ่มต้นจากการ “แอบรัก”

 “คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของการแอบรักใครสักคน ทำไมถึงเลือกเล่าจันทร์จารใจด้วยพล็อตแอบรัก”

“ส่วนตัวคิดว่าความรักในโลกนี้ประมาณเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เริ่มต้นจากการแอบรักทั้งนั้น

มันจะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มมองก่อนอยู่แล้ว ซึ่งความสัมพันธ์มันมาถึงจุดคบกันก็เพราะแอบรักตรงกันนั่นแหละค่ะ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าเสน่ห์ของการแอบรักมันก็ต่างไปตามช่วงวัยเหมือนกัน

อย่างสมัยเด็กๆ ความรักของเราจะค่อนข้างเรียบง่าย แค่ได้มองได้ปลื้ม ได้คุยสองสามประโยคก็ฟินละ ใจเต้นไปในแต่ละวัน เราอาจตกหลุมรักเขาแค่เพราะเห็นหน้า หรือแค่เพราะเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น

แต่พอโตมาได้เรียนรู้ว่าการแอบรักมันไม่ได้เกิดง่ายแบบในวันวาน มันเกิดจากการเรียนรู้นิสัยกันไปพักหนึ่ง

และการแอบรักมันก็เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่าการแอบรักคือการต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้กับอีกฝ่ายด้วย มองความเป็นไปได้ว่าจะไปต่อด้วยกันในอนาคตได้ไหม

แนวคิดของการแอบรักในวัยที่ต่างกันเลยถูกถ่ายออกมาเป็นเรื่องราวความรักของจันทร์พิจิก

จันทร์พิจิกในวันวานตกหลุมรักพี่เจตน์เพราะใจดี เพราะเป็นคนอบอุ่นแบบที่ครอบครัวไม่เคยเป็นให้

พอสิบสี่ปีผ่านไป ทั้งสองกลับมาเจอกันอีกครั้ง การแอบรักกันในรอบนี้เลยเกิดขึ้นจากการเรียนรู้กันอีกครั้ง ในวันวัยที่เติบโตกว่าครั้งแรกมากค่ะ”

ด้วยความที่เรื่องนี้บอกเล่าผ่านตัวละครหลักของเรื่องคือนางเอก ดร.จันทร์พิจิก สีตลารัศมิ์ ผู้มีความเป็นเด็กเนิร์ดจ๋ามากๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอีกมุมที่ดูต่างจากภาคปกติที่เห็นราวกับเป็นคนละคน (มุมที่เป็นแมงป่องประจำราศีพิจิกน่ะ) เลยทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าเนวิกามีมุมที่เหมือนจันทร์พิจิกบ้างไหม

“เหมือนมากค่ะ”

เนวิกาไม่ปล่อยให้ผมสงสัยนานกว่าห้าวินาที เพราะหลังจากนั้นเธอก็บอกเล่าเบื้องหลังการสร้างตัวละครจันทร์พิจิกอย่างละเอียด

“หนึ่งสิ่งที่จะเห็นได้ชัดจากจันทร์พิจิกคือความเป็นเหมือนข้างขึ้นข้างแรม

โดยดีไซน์ตัวละครจันทร์พิจิกจากแนวคิดว่าชีวิตคนเรามีหลายแง่มุม และนิสัยของเราจะผันไปตามบทบาทและความสัมพันธ์กับคนในบริบทนั้นๆ เชี่อว่าใครหลายๆ คนเป็นแบบนี้ค่ะ อย่างตอนเป็นอาจารย์เราจะมีมุมนึง ตอนเป็นลูก เราก็จะนิสัยแบบนึง เป็นแฟนเราก็จะเป็นแบบนึง

ซึ่งในแง่มุมที่เหมือนมากๆ เลยคือความเนิร์ดเวลาอยู่ในวงวิชาการ เวลาคุยเรื่องเนิร์ดๆ นี่คือบทสนทนาจะเป็นแบบเวลาจันทร์พิจิกพูดเป๊ะเลยค่ะ เพียงแต่เราจะไม่ได้เนิร์ดกับทุกคน เราจะคุยเรื่องวิชาการแค่กับเพื่อนสนิทป.เอกหรือเฉพาะเวลาสอนหนังสือ

 

หรือสำหรับนิสัยในองค์รวมก็เหมือนกันค่ะ นุ้ยจะมีความหน้ายิ้ม ขี้เกรงใจ คุยง่าย (อันนี้น่าจะเป็นมิตรกว่าจันทร์จ๋านิดนึง) กับอีกอย่างที่เหมือนจันทร์จ๋ามากคือ แต่ก่อนจะเป็นคนที่อะไรก็ยอมๆ ไปหมด แต่พอผ่านชีวิตมาประมาณหนึ่งก็รู้ว่าเราจะยอมทุกเรื่องไม่ได้ ก็เหมือนกับการที่จันทร์พิจิกเองก็มีพัฒนาการในตัวเอง เรียนรู้ที่จะสู้เช่นเดียวกัน”

การเรียนของจันทร์พิจิกในจันทร์จารใจ จึงหมายรวมถึง “การเล่าเรียน” ที่ลอนดอน และ “การเรียนรู้” ผ่านปัญหาต่างๆ ที่เผชิญในเรื่อง เรียนรู้การเดินทางให้หลุดพ้นจากครอบครัวอันไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย เรียนรู้เส้นทางแห่งความรักที่มีจุดเริ่มต้นจากการที่เรารักเขาข้างเดียว

ผมว่าไม่ใช่แค่จันทร์พิจิกหรอกที่กำลังมุ่งหน้าเดินทางตามหาสักทาง สักคน สักที่ที่จะหยิบยื่นความสุข ความอบอุ่น ความปลอดภัยให้กับตนเอง อย่างน้อยผมก็กำลังตามหามันอยู่ เพียงแต่จันทร์พิจิกโชคดีที่ตามหาจนเจอแล้ว

แต่ผมก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น บางทีผมอาจโชคดีพอๆ กับจันทร์พิจิกด้วยซ้ำ ที่การอ่านจันทร์จารใจนำทางให้ผมได้พบกับเนวิกา เพราะในช่วงสุดท้ายของการพูดคุยในประเด็นเรื่องจันทร์จารใจ เนวิกายังตั้งใจส่งต่อความอบอุ่น และเยียวยาหัวใจคนอ่าน ผ่านถ้อยคำให้กำลังใจทุกคน ผู้กำลังเผชิญปัญหาไม่ต่างจากจันทร์พิจิก แล้วยังหาทางออกหรือหาเซฟโซนของตนเองไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เนวิกาอยากบอกกับพวกคุณ...

“เร็วๆ นี้เพิ่งได้อ่านหนังสือเรื่อง How to Fix a Broken Heart โดย Guy Winch หนึ่งในคำแนะนำที่ได้รับจากหนังสือ คือการหาพื้นที่ที่จะ validate our grief หรือพื้นที่ที่จะยืนยันว่าความเสียใจ ความโศกเศร้าของเราเป็นเรื่องจริง แล้วมันจะทำให้หัวใจเราได้รับการเยียวยาและฟื้นตัวได้ไวขึ้นกว่าการเก็บงำไว้

 

บางที ในเวลาที่เราเจอเรื่องราวเลวร้ายมา คนรอบตัวอาจบอกว่าก็ต้องเข้มแข็งสิ อย่าอ่อนแอ จริงๆ เป็นคำพูดที่มาจากความปรารถนาดีแหละ แต่มันอาจทำให้เรารู้สึกว่าแล้วเรายังพยายามเข้มแข็งไม่พอเหรอ เลยอยากบอกทุกคนที่อาจจะกำลังเจอเรื่องราวเลวร้ายว่าถ้ารู้สึกแย่ รู้สึกเศร้า อยู่กับมันให้เต็มที่ ให้ตัวเองเห็นการเกิดขึ้น และตั้งดับของความรู้สึกนั้น แล้วเวลาจะเป็นเครื่องเยียวยาหัวใจให้ดีขึ้น หาคนที่พร้อมรับฟังเรื่องราวเหล่านั้น หรือหากหนักหนาจนเกินการจัดการของตัวเอง การพบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด จะสามารถช่วยได้จริงๆ

คุณเก่งมาก และเข้มแข็งมากแล้วจริงๆ ค่ะ ขอให้ฟ้าหลังฝนงดงามนะคะ”

03
เทคนิคการนำทางสไตล์เนวิกา
 

         การเขียนนิยายให้ต่อเนื่องกันถึงสิบเรื่อง ในระยะเวลาเจ็ดปีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะอันที่จริง การเขียนนิยายนั้นยากตั้งแต่การหาไอเดีย แรงบันดาลใจ หรือสารตั้งต้นแล้ว เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับเนวิกา ผมจึงไม่ลังเลที่จะถามถึงเทคนิคการนำทาง (การเขียนนิยาย) ตามสไตล์ของเธอ เริ่มตั้งแต่เรื่องของแรงบันดาลใจ

         “มาจากหลากหลายแหล่งเลยค่ะ ถ้าเอาแบบแรกเริ่มเดิมที เริ่มต้นเขียนนิยายเพราะสมัยเรียนอักษรฯ ต้องเรียนวรรณกรรมดิสโทเปียเยอะแล้วหดหู่มาก เลยตัดสินใจเขียนนิยายเพื่อหนีความโหดร้ายนั้น แต่ต่อมา สารตั้งต้นของนิยายคือการบันทึกเรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆ ความทรงจำ และความสนใจของตัวเอง ซึ่งหลายครั้งก็มาจากหลายที่มามาก

อย่างรักในรอยลม ซึ่งเป็น slice of life ตามหาความฝัน เกิดขึ้นช่วงเราเรียนจบใหม่ๆ แล้วพยายามค้นหาตัวเอง

แต่พอโตขึ้น ในวัยที่เจออาชีพการงานของตัวเองแล้ว และตระหนักว่าการที่ทุกคนในครอบครัวยังอยู่ครบเป็นของขวัญอันล้ำค่า ก็เลยเกิด slice of life ที่บอกเล่าเรื่องราววันธรรมดาอันอบอุ่นของการมีคนเคียงข้าง อย่างเคียงข้างขวัญ

ส่วนจันทร์จารใจที่นอกจากจะเกิดขึ้นแบบไม่คาดฝันจากพี่เจตน์แล้ว ก็ยังเป็นบันทึกความสนใจช่วงการเรียนป.เอกอย่าง English linguistics และความทรงจำสมัยเรียนป.โทด้วยค่ะ”

ฟังแล้วอดคิดไม่ได้ ถ้าผมได้อ่านงานเขียนของเนวิกาต่อเนื่องกันทุกเรื่อง รียงตามไทม์ไลน์ที่เธอเขียน คงได้เห็นพัฒนาการ เห็นการเติบโต เห็นความสนใจ และมุมมองที่มีต่อโลกใบนี้ตามช่วงเวลาและวัยที่เติบโตขึ้นมากๆ บางทีอาจจะทำความรู้จักเธอได้มากยิ่งกว่าการมาพูดคุยกันในระยะเวลาอันสั้นเช่นนี้เสียอีก

“แล้วเทคนิคการเขียนนิยาย สไตล์การเขียนนิยายแบบเนวิกาล่ะครับ พอจะเล่าให้ฟังได้ไหม”

“โห...เอาจริงไม่กล้าแนะนำเลย ตัดคำถามนี้ออกได้ไหมคะ (หัวเราะ)”

“ไม่ได้ครับ” ผมตอบทั้งที่ยังยิ้มให้เธอ ทว่าน้ำเสียงหนักแน่นแฝงความจริงจัง ผมเชื่อว่าคำตอบที่เธออาจจะไม่มั่นใจ แต่แท้จริงมันมีประโยชน์ต่อคนที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้แน่นอน

“จริงๆ ตัวเองเป็นคนทำงานเขียนแบบไร้ระบบมากค่ะ วางพล็อตบางทีวางไม่จบเรื่องก็เขียนแล้ว เขียนไปเปลี่ยนรายละเอียดกลางคันก็มี

แต่สิ่งที่เราจะพยายามทำมากๆ ตั้งแต่แรกคือการหาข้อมูลจนครบ รวมถึงวางว่าเรื่องนี้จะมีสัญลักษณ์อะไรบ้าง เพราะมันจะเกี่ยวข้องกับ theme ของเรื่องโดยตรง ส่วนเรื่องทรีตเมนต์ ส่วนใหญ่จดไอเดียลงไปประมาณทีละห้าบทเพื่อกำหนดทิศทางเรื่องค่ะ แล้วก็จะกำหนดว่าวันนี้จะเขียนถึงกี่คำ หรือเขียนถึงเหตุการณ์ไหน พยายามบังคับให้สม่ำเสมอค่ะ

แต่เพราะความที่วางพล็อตค่อนข้างไร้ระบบนั่นแหละเลยทำให้บางทีเขวๆ บ้างช่วงเริ่มต้น (หัวเราะ)”

สิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษจากคำตอบนี้ของเนวิกาคือเรื่องการคิดสัญลักษณ์ให้สัมพันธ์ของธีมของเรื่องโดยตรง เพราะผู้เขียนเรียนจบจากสายอักษรศาสตร์โดยตรงตั้งแต่ระดับปริญญาตรี เรียกได้ว่าอยู่กับเรื่องของภาษาและวรรณกรรมมาแทบทั้งชีวิต การหาสัญลักษณ์ให้เข้ากับธีมจึงถือเป็นเสน่ห์อย่างยิ่งในงานเขียนของเธอ เห็นได้จากจันทร์จารใจ ที่ใช้ “พระจันทร์” เป็นสัญลักษณ์แทนตัวตนนางเอก เพื่อให้เห็นว่าชีวิตของคนเรานั้นไม่ต่างจากดวงจันทร์ ที่ต้องผันผ่านทั้งข้างขึ้นและข้างแรมนั่นเอง

 

หลายคนคงรู้แล้วว่าจันทร์จารใจไม่ได้บอกเล่าด้วยโทนเรื่องอารมณ์ดี ฟีลกู๊ด หรือรอมคอมแบบเคียงข้างขวัญ แต่ความน่าสนใจของนิยายเรื่องนี้คือ...

“คุณทำยังไงให้เรื่องดราม่าครอบครัวหนักหน่วงแบบนี้ สามารถอบอุ่นหรือเยียวยาหัวใจนักอ่านได้ ทำยังไงให้เรื่องมันไม่หน่วงจนเกินไป อย่างน้อยปลายทางก็ยังมีความสุขให้กับนักอ่าน”

“เวลาที่เราเขียนเรื่องมืดมน พอพ้นความดราม่าทั้งหมดทั้งมวลแล้ว เป็นหน้าที่ของนักเขียนที่ต้องคอยไล่สีกลับมาให้สว่าง เราจะไม่ปรับอารมณ์ทันที แต่เราจะค่อยๆ แทรกซึมแสงสว่างเหล่านั้นผ่านการบรรยายบรรยากาศ หรือความคิดที่ผุดขึ้นในใจ

สำหรับเรื่องจันทร์จารใจเอง โชคดีที่เรายังมีตัวละครอย่างแห้ว นกปากแจ๋วซึ่งมาช่วยเบรกอารมณ์ดราม่าได้เป็นอย่างดีเลย”

สุดท้ายนี้ นักเขียนผู้มีผลงานต่อเนื่องสิบเรื่องในเจ็ดปี ผลงานที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทาง อบอุ่นและเยียวยาหัวใจนักอ่าน ผลงานที่เป็นดั่งบันทึกเส้นทางชีวิต การเติบโต และการเรียนรู้ของเธอ ยังได้ให้คำแนะนำสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ หรือคนที่กำลังหัดเขียน เป็นเหมือนกำลังใจ พลังใจที่จะชุบชูให้นักหัดเขียนทุกคนลุกขึ้นมาสร้างสรรค์งานเขียนของตนเองให้สำเร็จอย่างสวยงาม

“ทุกคนเริ่มต้นจากศูนย์ค่ะ นุ้ยเองก็เช่นกัน ซึ่งคำแนะนำอย่างอ่านให้เยอะ เขียนให้เยอะ อยากบอกว่ามันไม่คลิเช่เลยนะ เพราะตอนตัวเองเริ่มต้นเขียนนิยาย เอาจริงแทบไม่ได้อ่านนิยายบ่อยด้วยซ้ำ แต่โชคดีที่เราได้พื้นฐานของวรรณกรรมมาเมื่อสมัยเรียนป.ตรี แต่สิ่งที่ขาดไปมากๆ คือการใช้ภาษา คลังคำ พอเริ่มเขียนก็ต้องมาอ่านนิยายไทยเพื่อเพิ่มคลังความรู้ตรงนี้

และสำหรับคำว่าเขียนให้เยอะ หมายความว่ามันจะช่วยฝึกให้เรารู้จักจังหวะค่ะ ส่วนตัวเองเมื่อไปอ่านงานเล่มสองเล่มแรก พบว่าติดปัญหาการบอกความคิดแทบหมด แทบจะเป็น tell ไม่ show แล้ว หรือการใช้ POV (มุมมองการเล่าเรื่อง) ที่ไม่ consistent (สม่ำเสมอ) กับบทพูด หรือการเค้นคำมาเขียนโดยที่อาจไม่จำเป็นกับบริบท ซึ่งต่อมา พอประสบการณ์การเขียนเรามากขึ้น มันจะสอนให้เรารู้เองว่าจังหวะนี้ควรผ่อนหรือเพิ่ม ไดอาล็อกนี้ข้ามได้ บรรยายแบบนี้เพียงพอแล้ว

แล้วก็สำหรับท่านที่เริ่มต้นใหม่ การจบเรื่องแรกอาจจะยาก 
แต่เชื่อว่าถ้าจบได้แล้ว เราจะภูมิใจในตัวเองมากๆ 
จนมีเรื่องสองเรื่องสามตามมาแน่นอนค่ะ :)”

 04
ตราบเท่าที่ยังมีหัวใจ...การเดินทางจะไม่มีวันสิ้นสุด
 

        “คุณดูเศร้าๆ นะคะ ช่วงนี้ไม่ค่อยมีความสุขใช่ไหม”

         เหมือนเราสองคนสลับบทบาทกัน จู่ๆ เนวิกาก็เป็นฝ่ายตั้งคำถามกับผมบ้าง ทั้งยังเป็นคำถามที่ดูท่าไม่น่าจะเกี่ยวกับประเด็นสนทนาในครั้งนี้ด้วยซ้ำ

         ไม่รู้ว่าเธอต้องการอะไรจากการถามคำถามนี้ แต่ผมก็เลือกที่จะตอบตามเสียงหัวใจตัวเอง

         “ก่อนหน้านี้...อยากเรียกว่า ‘ไม่ค่อย’ เลยครับ ต้องบอกว่าผม ‘ไม่มีความสุข’ นั่นแหละ ถูกต้องที่สุดแล้ว”

         ...ต่อเมื่อได้อ่านหนังสือที่คุณเขียน ได้เข้ามาในโลกที่คุณสร้าง เข้ามาร่วมเดินทางพูดคุยไปกับคุณ แม้จะเป็นช่วงเวลาอันแสนสั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสุขเริ่มคืบคลานเข้ามาในใจผม...ทีละนิด

         ผมนึกในใจแต่ไม่ได้พูดออกไป

         “ถ้ายังไม่เบื่อกับการเดินทางไปด้วยกัน นุ้ยขอเชิญชวนให้คุณรอติดตามผลงานเรื่องต่อไปของนุ้ยนะคะ”

         “ครับ?”

“ใช่ค่ะ...ผลงานชิ้นต่อไป การเดินทางครั้งต่อไปของเนวิกาจะว่าด้วยความสุข

ในโลกที่ความสุขถูกนิยามในหลายปรัชญาชีวิต ไม่ว่าจะอิคิไค วาบิซาบิ ฮุกกะ ต่างๆ นานา เราได้พบกับความพยายามของผู้คนที่จะแสวงหาความสุขผ่านไกด์ไลน์ในการใช้ชีวิต และคอยฟังเสียงโลกภายนอกที่มาบอกว่าเราควรทำเช่นไรในวันพบปัญหาจนใจจมจ่อมทุกข์

ในการเดินทางครั้งต่อไป เนวิกาจึงจะพาไปยังร้านกาแฟอย่างร้านนับแต่นี้ ที่มีเจ้าของเป็นชายหนุ่มหน้าตาอมทุกข์จากเรื่องราวที่ไม่มีใครรู้ กับหญิงสาวผู้เพิ่งโดนแฟนทิ้งมาหมาดๆ แต่กลับโดนทักมาว่าหากไม่แต่งงานภายในหนึ่งปีจะมีอันเป็นไป”

นี่ไง ตราบเท่าที่ยังมีหัวใจ ตราบเท่าที่ยังรักในการนำทาง โลกของเนวิกาก็จะมีการเดินทางก่อเกิดมากมาย อย่างไม่มีวันสิ้นสุด ผมเชื่อว่าหลายคนคงตั้งหน้าตั้งตารอเรื่องใหม่ของเธอ...ไม่ต่างจากผม

“แล้วมาสำรวจหัวใจตัวเอง และเสริมสร้างกำลังใจ
เพื่อผ่านความทุกข์และความสุขไปด้วยหัวใจอันมั่นคง ไปกับเรื่อง ‘นับแต่นี้เป็นต้นไป’ 
เร็วๆ นี้นะคะ ขอบคุณจากใจจริงๆ ค่ะ :)”

ถึงตอนนี้ ผมเริ่มหันซ้ายแลขวา อีกไม่นานดวงอาทิตย์ก็จะย่ำรุ่งแล้ว ผมพูดคุยกับเนวิกานานมากๆ และนี่คือค่ำคืนที่แสนวิเศษ ค่ำคืนที่เปี่ยมไปด้วยความสุขที่ผมจะไม่มีวันลืมเลือน

“ทุกคนควรค่าแก่การได้รับความสุขเสมอค่ะ 
ขอให้คุณหาความสุขของตัวเองให้เจอนะคะ 
ไม่ว่าจะในโลกความจริงหรือในนิยาย 
ทั้งในยามหลับใหล และ...ยามตื่น

พริบตานั้น เนวิกาก็หายไปโดยที่ผมไม่ทันตั้งตัว!

จู่ๆ น้องสาวก็สะกิดเรียกผมพร้อมหยิบหนังสือ “จันทร์จารใจ” ของตนเองกลับคืน แทบยังแซวอย่างสนุกสนาน ค่าที่ผมนอนฟุบโดยมีหนังสือเล่มนี้อยู่ข้างกายทั้งคืน...

         อา...ในโลกแห่งความฝัน ในโลกแห่งการเล่าเรื่อง ในโลกแห่งการเดินทาง ในงานเขียนของเนวิกา มันให้ความอบอุ่นและการเยียวยาหัวใจ ที่หลอมรวมเป็นความสุขได้จริงๆ

สำหรับใครที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้
แล้วเกิดแรงบันดาลใจอยากจะเริ่มจากศูนย์
แล้วค่อยๆ ขยับเป็นหนึ่ง สอง จนถึงสิบ ถึงร้อย
ผ่านการเขียนนิยายจากปลายปากกาตัวเองบ้าง
ก็อย่ารอช้านะ 

มาเขียนนิยายกัน

สุดท้ายนี้ หวังว่าคุณจะตามหาความสุขของตัวเองจนเจอ
หวังว่านิยายรักของเนวิกา
จะเป็นการเดินทางที่ให้ทั้งความสุข ความอบอุ่น
และเยียวยาหัวใจให้กับทุกคนได้นะ : )
พี่บาส

อ่านนิยายของ "เนวิกา"

พี่บาส
พี่บาส - Columnist นักอ่าน นักฝัน นักเล่าเรื่อง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด