‘อ.ทราย’ อดีตเด็กขี้อายที่ชอบโคนัน สู่การเป็นอาจารย์กฎหมายสายเอนเตอร์เทนตั้งแต่ 22



        สวัสดีค่ะชาว Dek-D พบกับคอลัมน์ “เด็กพลังบวก” ที่จะพาน้องๆ ไปค้นหาแรงบันดาลใจจากวัยรุ่นเจ๋งๆ ที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และทำกิจกรรมเพื่อตัวเองและสังคมกันค่ะ
      
        ใครเริ่มต้นเดินตามฝันเพราะสิ่งรอบตัวบ้างเอ่ย? บางคนอาจชื่นชอบศิลปินแดนกิมจิจนบินไปเรียนนิเทศถึงเกาหลี บางคนชอบดูการ์ตูนนีโม่แล้วฝันอยากเป็นนักพากย์การ์ตูน หรืออย่างสาวคนหนึ่งที่เราจะพาไปรู้จักกันวันนี้ เธอเองชอบดู “โคนัน” จนจุดประกายให้เลือกเส้นทางเรียนสายกฎหมาย ซึ่งความน่าสนใจคือเธอเคยเป็นนักเรียนที่กลัวการพูดหน้าห้องมากๆ (หลายคนน่าจะเป็น...รวมถึงพี่ด้วย 5555) แต่สุดท้ายเธอได้เป็นอาจารย์สายเอนเตอร์เทนจนชนะใจนักศึกษาไปเต็มๆ! ถ้าอยากอ่านเรื่องราวชีวิตของเธอแต่ละพาร์ต รวมถึงวิธีเรียนและสอนกฎหมายสไตล์ อ.ทราย ที่ปรับใช้ได้กับทุกสายวิชา ตามมาเลยด่วนๆ เลยค่า > <


 
โปรไฟล์นี้อาจารย์ได้แต่ใดมา?
 
        “สวัสดีค่ะ ‘อาจารย์กิตติยา พฤกษารุ่งเรือง’ (อ.ทราย) ปัจจุบันอายุ 24 ปี เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงค่ะ” ...สำหรับโปรไฟล์การศึกษาของอาจารย์ท่านนี้ก็ถือว่าแน่นเวอร์ เพราะนอกจากจบสูงแล้ว ยังใช้เวลาเรียนน้อยมากๆ 
 
        - ม.ปลายเรียนสายวิทย์-คณิต ควบกับการเรียนหลักสูตรพีดีกรี (Pre-Degree) ของคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง จบตอนอายุ 18 ปี แถมคว้าเกียรตินิยม
        - เรียนต่อเนติบัณฑิตและจบใน 1 ปี พร้อมกับสอบใบอนุญาตว่าความ (ตั๋วทนาย) ได้ในปีเดียวกัน ตอนอายุ 19 ปี
        - จบปปริญญาโท 2 สาขาจาก Queen Mary University of London
                1. สาขาภาษีอากร (Tax Law) เกียรตินิยมอันดับ 1 จบตอนอายุ 20 ปี
                2. สาขาทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Law) เกียรตินิยมอันดับ 1 จบตอนอายุ 21 ปี


Photo Credit: อ.กิตติยา พฤกษารุ่งเรือง (อ.ทราย)

 
จุดเริ่มต้นจากการ์ตูนเรื่อง “โคนัน” 
 
        ใครจะรู้ว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้อาจารย์มุ่งเรียนกฎหมายมาสายตรงขนาดนี้ จะมาจาก “โคนัน” การ์ตูนยอดฮิตของคนทั่วโลก เราชอบเล่นเกมสืบสวนหรือดูการ์ตูนที่มีอะไรให้คิดอยู่แล้วค่ะ ^^ ตอนดูโคนันรอบแรกอาจารย์ไม่เคยสงสัยในตัวคนหรือตัววัตถุเลย แต่พอโคนันเฉลยเสร็จเราย้อนไปดูอีกรอบถึงรู้ว่า อ๋อออ จริงๆ มันมีการวางทริควางวัตถุที่แปลกไปนะ แต่เรามองไม่เห็นเอง ทำไมเราไม่ช่างสังเกตเหมือนเขาเนี่ย? 5555 จากนั้นเราก็สังเกตมากขึ้น และรู้สึกสนุกไปกับเค้าด้วย จนตอนนี้ดูมา 20 กว่าปีแล้ว เริ่มจับไต๋คนร้ายได้ แล้วเชื่อมั้ยว่าโคนันทำให้อาจารย์ชอบเรียนเคมีด้วย เพราะมันมีทฤษฎีวิทยาศาสตร์มาแทรก อย่างพวกไซยาไนด์”
 
        นอกจากนี้ก็ตัวละครในเรื่องอีกนั่นแหละที่ทำให้เธออยากฝึกงานเป็น “ทนาย” พร้อมกับเรียนเนติบัณฑิต “แรงบันดาลใจมาจากแม่ของรันที่เป็นทนายว่าความในศาลค่ะ เรารู้สึกว่าเค้าเท่มากก สามารถสู้จนพลิกมาชนะคดีได้ ทั้งที่มันเป็นไปได้ยากมาก ทำให้เราอยากลองเป็นทนายเลย”


Photo Credit: DetectiveConanWorld

 
วิธีอ่านหนังสือแบบฉบับอาจารย์ทราย (วินัยต้องเป๊ะ!)
 
        เส้นทางการเรียนกฎหมายของอาจารย์จึงเริ่มต้นตั้งแต่สมัครเรียนหลักสูตรพรีดีกรีของ ม.ราม ตอนนั้นจัดการเวลาชีวิตยังไงบ้าง? ตอนเรียน ม.ปลายจะเน้นจดเลกเชอร์และตั้งใจฟังอาจารย์ พอเลิกเรียนเสร็จไปเล่นกีฬาต่อ แล้ว 2-3 ทุ่มก็มานั่งอ่านกฎหมายสักชั่วโมงนึงทุกวันค่ะ หลักสูตรพรีดีกรีจะเรียนเหมือนกับ ป.ตรี ปกติเลย โดยอาจารย์จะเลือกเรียนวิชาที่เป็นส่วนหนึ่งของ สี่เสาหลักของกฎหมายก่อน ซึ่งก็คือกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วจึงเรียนกฎหมายวิชาเฉพาะด้าน เช่น กฎหมายการคลัง กฎหมายภาษีอากร ฯลฯ จากนั้นค่อยไปลงเรียนวิชาเลือกที่มีให้เลือกหลากหลายมาก”
 
        “วันสอบ ม.ปลายกับ ม.ราม จะอยู่ช่วงๆ เดียวกัน อาจารย์ใช้วิธีลงทะเบียนเรียนเต็มจำนวนหน่วยกิตที่สามารถลงได้ บางเทอมก็ 7 วิชา บางเทอมก็ 8 วิชา แต่อาจเลือกลงสนามสอบแค่ครึ่งเดียว ทำให้มีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้น ช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนสอบ เราจะนั่งทำข้อสอบเก่า ดูว่าประเด็นไหนสำคัญและออกบ่อยๆ พออ่านเสร็จนั่งทำ Mind Mapping เขียนเป็นโครงสร้างตามที่เราเข้าใจ”
 
        “ส่วนการเรียนเนติบัณฑิต เค้าจะรวมเนื้อหาหลายๆ วิชาที่เราเคยเจอตอน ป.ตรี ให้มาอยู่ใน 4 กลุ่มวิชา แบ่งเป็นกลุ่มวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กลุ่มวิชากฎหมายอาญา กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยในแต่ละปีการศึกษาจะมีการสอบเพียงแค่ 1 ครั้งต่อกลุ่มวิชา รวมทั้งหมดแค่ 4 ครั้ง ตัวอาจารย์เองไม่เคยเข้าเรียน แต่จะเน้นอ่านหนังสือทุกวันโดยจะเน้นไปที่หนังสือรวมคำบรรยายซึ่งมีทั้งหมด 16 เล่มและหนังสือที่ท่านอาจารย์เขียน  ช่วงที่ยากหน่อยคือช่วงสอบทั้ง 4 ครั้งนี่แหละ เพราะถ้าเกิดตกต้องรอสอบในสมัยหน้าอีก 1 ปีเลยค่ะ” 


Photo Credit: อ.กิตติยา พฤกษารุ่งเรือง (อ.ทราย)

 
เรียนเนติบัณฑิต พร้อมกับฝึกงานเป็น “ทนาย”
 
        ระหว่างที่เรียนเนติบัณฑิต อาจารย์ก็ฝึกงานเป็นทนายและสอบผ่านได้รับใบอนุญาตว่าความในปีเดียวกันด้วย!กฎเกณฑ์ของการสอบใบอนุญาตว่าความ(ตั๋วทนาย) คือ ถ้าผ่านภาคทฤษฎีแล้วต้องสอบภาคปฏิบัติ ซึ่งคนที่จะสอบภาคปฏิบัติได้ต้องฝึกงานอย่างน้อย 6 เดือน เราเลยไปฝึกงานที่สำนักงานทนาย หน้าที่หลักๆ คือ เขียนหนังสือทวงถาม ร่างสัญญาเช่า ร่างสัญญาค้ำประกัน ร่างสัญญาซื้อขาย  ร่างและตรวจคำฟ้องคดีแพ่ง (คำฟ้องสำคัญมาก ถ้าเขียนไม่ดีอาจแพ้ได้เลย) โดยทุกครั้งที่มีการร่างสัญญาหรือคำฟ้อง เราจะต้องคำนึงถึงข้อได้เปรียบและเสียเปรียบทางกฎหมายของฝ่ายลูกความเสมอ ซึ่งหลังจากได้รับใบอนุญาตว่าความแล้ว อาจารย์ก็เคยนำสืบพยานในชั้นศาลด้วย”
 
        สิ่งที่เราเรียนมาทั้งหมด กับสิ่งที่เรามาเจอตอนทำงานจริง แตกต่างกันยังไงบ้าง? ในมุมมองของเนื้อหาสาระในตัวบทกฎหมายก็มีความสัมพันธ์และคล้ายคลึงกับสิ่งที่ได้เรียนมาในหลายๆ มุมมอง แต่ก็มีบางสิ่งที่แตกต่างกันกับตอนเรียน ซึ่งในตอนทำงานดูเหมือนมีข้อกฎหมายอีกมากมายที่เราไม่รู้ และยังมีทริคในเชิงปฏิบัติอีกมากที่ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนในตัวบทในกฎหมาย เช่น การจัดเรียงพยานหลักฐานเพื่อใช้ในสืบพยานในศาล จัดเรียงอย่างไรให้ดูน่าเชื่อถือในชั้นศาล เพราะบางทีหลักฐานเยอะแต่จัดเรียงไม่ดี น้ำหนักก็หายไปเลย รวมถึงวิธีการนำสืบพยานบุคคลในศาลซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคดี อีกอย่างคือตอนทำงานเพิ่งรู้ว่าว่ากฎหมายทุกมาตรามีความสำคัญ บางทีกฎหมายบางมาตราไม่เคยนำมาออกข้อสอบเลย แต่มาเจอตอนทำงานเยอะมาก”


Photo Credit: อ.กิตติยา พฤกษารุ่งเรือง (อ.ทราย)
 
        “สรุปภาพรวมง่ายๆ คือ ป.ตรีเหมือนเรียนให้เข้าใจกฎหมาย ส่วนการทำงานเหมือนสอนให้ใช้กฎหมายเป็น เพราะพอเรามาเป็นทนายแล้ว เนื้อหาต้องเป๊ะ หลักต้องแม่น แล้วเอาหลักนั้นมาพลิกแพลงค่ะ ตอนทำงานมีโอกาสเจอได้ทุกเรื่อง เราปฏิเสธไม่ได้ ปัญหาที่เราเจอคือบางเรื่องเราไม่ถนัดเลย อย่างพวกสัญญาซื้อขายหรือสัญญาจ้างแรงงาน ทำให้ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมความรู้เยอะเลย 5555"

 
เทคนิคการเรียนสไตล์ อ.ทราย ที่ใช้ได้กับทุกสายการเรียน
 
        จริงๆ อาจารย์เป็นคนที่จำอะไรได้เร็วอยู่แล้ว อ่านรอบเดียวก็จำได้ แต่เค้ามีเทคนิคส่วนตัวเข้ามาช่วยเหมือนกัน และพี่เชื่อว่าน้องๆ ทุกสายสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ค่ะ “อย่างแรกคืออาจารย์จะอ่านสารบัญก่อน เพราะเค้าจะรวบรวมโครงสร้างและที่มาที่ไปอย่างเป็นระบบ เวลาอ่านเราจะไม่กำหนดว่าวันนี้ต้องอ่านให้ได้ 50 หน้า 100 หน้านะ เดี๋ยวจะเครียดและกดดันเกินไป เราจะแบ่งอ่านเป็นบท เช่น เล่มนี้มี 5 บท แต่ละบทมีบทย่อย 5 ส่วน เราจะบอกตัวเองว่า ต้องอ่าน 2 บทย่อยของบทแรกให้จบ ไม่ว่าจะใช้เวลากี่ชั่วโมงก็ตาม กลายเป็นว่าถ้าบางวันเจอบทง่าย อ่านแค่ 2 ชม. จบ จะถือเป็นกำไรชีวิตค่ะ”
 
        “อีกอย่างที่ช่วยอาจารย์ในห้องสอบได้คือ การเขียนไดอารี่ เราเริ่มเขียนตอน ม.ต้น และเขียนเป็นภาษาอังกฤษด้วย ทำให้ตอนสอบวัดระดับเพื่อไปเรียนต่อนอกไม่ยากมาก แล้วการที่เราได้เขียนเรื่องราวที่พบเจอทุกวันตอนดึกๆ ทำให้ได้รวบรวมความคิดว่าวันนี้ไปเจออะไรมาบ้าง เวลาอยู่ในห้องสอบแล้วนึกไม่ออก เราจะมีทักษะการปิ๊งในหัวได้เร็ว เพราะทำอยู่ทุกวัน 55555”
 
        แอบเล่าเพิ่มว่า ตอนอาจารย์อายุ 19 ปี ระหว่างที่เรียนเนติบัณฑิต อาจารย์ได้แบ่งเวลาในการศึกษาภาษาอังกฤษ และสอบ IELTS ได้ 6.5 แล้วไปเรียนปรับพื้นฐานเพิ่มตอนไปเรียนต่างประเทศ ก่อนจะเรียน ป.โท ต่อเนื่อง 2 สาขา คือ สาขาภาษีอากร และสาขาทรัพย์สินทางปัญญา เกริ่นไว้ก่อนว่าเดี๋ยวจะมีบทสัมภาษณ์ อ.ทราย เรื่องประสบการณ์เรียนกฎหมาย 2 ใบซ้อนที่ Queen Mary University of London ด้วยนะคะ ถ้าใครสนใจด้านนี้ ปักธงรอติดตามได้เลย :)


Photo Credit: อ.กิตติยา พฤกษารุ่งเรือง (อ.ทราย)

 
จากเด็กที่ตัวสั่นตอนพูดหน้าห้อง  สู่การเป็นอาจารย์สายเอนเตอร์เทนเนอร์!
 
        “สมัยเรียนอนุบาล 3 เคยตอบคนอื่นว่าถ้าโตขึ้นอยากครู แต่สิ่งที่ทำให้ความฝันดูไม่เป็นจริงไม่ได้คือ เรากลัวการพูดหน้าห้องมากกก! ถ้าทำรายงานกลุ่มคือจะยอมทำรายงานทุกอย่างแลกกับการไม่ต้องพูดหน้าห้อง โดยเราจะเป็นคนทำรายงานและให้เพื่อนเป็นคนขึ้นพรีเซนต์”
 
        “เหตุการณ์พูดหน้าห้องครั้งแรกคือ ตอน ม.3 เพื่อนที่ต้องพรีเซนต์ดันป่วย เพื่อนในกลุ่มเลยบอกว่า ‘ทรายพูดเถอะ’ เพราะเราทำรายงาน น่าจะรู้เนื้อหาเยอะสุดแล้ว งานเข้าเลยสิคะ วันนั้นเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำมาก เราตัวสั่น ขาอยู่ไม่สุข เหมือนเต้นขยับซ้ายขวาตลอดเวลา จนเพื่อนถามว่าเราติดเกม Audition เหรอ? (ตอนนั้นเกมนี้กำลังฮิต) เรามาพัฒนาเรื่องการพูดตอนเรียนที่อังกฤษ เพราะต้องพรีเซนต์หน้าห้องและ discuss กับเพื่อนบ่อยมากๆ ค่ะ" 
 
        จนปัจจุบันเธอจะได้มาเป็นอาจารย์ ม.ราม ที่รับผิดชอบสอน 6 วิชา ได้แก่ วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด วิชากฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร วิชากฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และวิชาวางแผนภาษีเบื้องต้นสำหรับธุรกิจ 


Photo Credit: อ.กิตติยา พฤกษารุ่งเรือง (อ.ทราย)
 
        “คาบแรกอาจารย์สอนวิธีการเขียนข้อสอบกฎหมาย (ตอนนี้ยังมีคลิปสอนในยูทูบอยู่เลย) ตอนนั้นมีเด็กมาฟังพันกว่าคน ก่อนขึ้นพูดอาจารย์เหมือนเพิ่งวิ่งมาราธอนมาเลยค่ะ หัวใจเต้นเร็วมากกก แต่พอขึ้นเวทีแล้วความตื่นเต้นหายไป ทริคคือคิดว่าตัวเองเป็นผู้ให้ คนที่มาฟังต้องได้อะไรกลับไปจากคลาสนี้ไม่มากก็น้อย จะทำให้จิตใจเราสงบขึ้นและสามารถโฟกัสกับการสอนในขณะนั้นได้ดีขึ้นค่ะ" 
 
        และเนื่องจากเราได้ยินรีวิวจากนักศึกษารามหลายเสียงเลยว่า อาจารย์สอนกฎหมายสนุกและเข้าใจง่าย เลยขอถามอาจารย์หน่อยว่าเราต้องเตรียมการสอนแต่ละครั้งยังไงบ้าง? “อาจารย์ไม่มีปัญหาเรื่องเนื้อหาเลย เพราะสอนมาวิชานึงไม่ต่ำกว่า 10 รอบจนแน่นพอสมควร แต่สิ่งที่เครียดคือวันนี้จะทำให้นักศึกษาสนุกไปกับการเรียนในเนื้อหานั้นๆ อย่างไรดี? จะเล่นมุกอะไรดี? เราอยากเล่นมุกใหม่ๆ ตลอด ถ้าให้เด็กนั่งเรียนอย่างเดียวหลายๆ ชั่วโมงคงปวดหัว ต้องสอนแล้วแทรกมุกไปด้วย” 
 
        “เวลาเราไปเจอข้อมูลต่างๆ ในเฟซบุ๊ก หรือคำคมสวยๆ จะเก็บมาสอนเด็กในห้อง แล้วจะชอบแทรกจิตวิทยา คำคม นิยาย การ์ตูน บทความเล็กๆ ที่อ่านเจอ แล้วเด็กจะอินค่ะ ถ้าเราทำตัวให้เข้าถึงยาก เค้าจะไม่อยากเรียนกับเรา สู้ทำตัวเป็นเด็กน้อยเนียนไปกับนักศึกษาดีกว่า”
 
        “ปีแรกๆ เราเคยเล่าเรื่องเครื่องสำอาง แล้วนักศึกษาชายไม่เก็ต เราเลยไปหาสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ เช่น ในวิชาละเมิดฯ ถ้าเกิดความเสียหาย เราจะฟ้องเรียกค่าเสียหายยังไง ตอนนั้นมีข่าวหมากัดเด็กเข้ามาตราที่สอนพอดี หรือตอนเรียนเรื่องภาษี ก็เอาเคส ‘เลือดข้นคนจาง’ มาเล่าว่าถ้าประเสริฐตายใครจะได้มรดกบ้าง โยงกับเรื่องภาษีมรดก ภาษีการให้”


Photo Credit: (ซ้าย) Marvel / (ขวา) One31
 
        “ถ้าเรียนกับอาจารย์ต้องดูหนังเยอะๆ ด้วยนะคะ 55555 เรื่องที่ยกมาบ่อยมากคือ ‘อเวนเจอร์ส’ (Avengers) เช่น สมมติเราครองแอสการ์ด แล้วจ้างฮัล์ค (Hulk) มาคุ้มครอง แต่แอสการ์ดดันล่มก่อนฮัล์คจะมาคุ้มครอง แบบนี้ใครต้องรับผิดชอบ สัญญาจะเป็นโมฆะมั้ย?”
 
        “บางทีในวิชาทรัพย์สินทางปัญญา  ช่วงที่รายการ ‘The Mask Singer’ กำลังฮิต อาจารย์ก็ยกมาถามว่า ถ้าสมมุติว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่อนุญาตให้ใช้เพลง แล้วคนที่แปลงเพลงมาร้องในรายการเป็นลักษณะเพลง Cover จะผิดกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่ อย่างไร มาตราไหน มีข้อยกเว้นไหม? บางทีอาจารย์ก็แร็ปให้เด็กฟังตามกระแส ‘The Rapper’ ด้วยนะ เด็กก็ฮากัน 5555”
 

ภาพตัวอย่างจากรายการ The Mask Singer Thailand
Photo Credit:
WorkpointOfficial / Youtube
 
        “เวลาเห็นเด็กหัวเราะเราจะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์คนนึง เราไม่เคยคิดว่าตัวเองมาเพื่อให้ความรู้ แต่คิดว่าเรามาเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่รู้มาเฉยๆ ถ้าเด็กรู้อะไรมากกว่าก็บอกอาจารย์ได้เหมือนกัน ถือเป็นการเพิ่มเติมความรู้และได้สื่อสารกับเด็กไปในตัว”
 
        แต่ตอนแรกที่เริ่มสอน อาจารย์เพิ่งอายุ 22 เอง เด็กแทบจะอายุมากกว่าอาจารย์หมดเลย อยากรู้ว่าเรื่องอายุเป็นปัญหารึเปล่าคะ? “ตอนแรกเรากลัวว่าเค้าจะไม่ฟังเรา เลยเตรียมความรู้มาเยอะๆ ค่ะ เคยมีเด็กมาถามคำถามยากๆ  พอเราตอบได้ ความน่าเชื่อถือก็มาเลย อีกอย่างคือเด็กรามน่ารัก ตั้งใจเรียนตลอดค่ะ ^^ ทุกวันนี้อาจารย์ได้เดินทางเกือบทุกอาทิตย์เลย เพราะรามมีสาขาวิทยบริการอยู่หลายจังหวัดมากค่ะ เราเดินทางไปสอนเด็กรามในต่างจังหวัดบ้าง กลายเป็นว่าได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และได้ท่องเที่ยวไปในตัว”


Photo Credit: อ.กิตติยา พฤกษารุ่งเรือง (อ.ทราย)

 
กฎหมายไม่ใช่สิ่งที่ไว้ฟาดฟัน แต่ไว้ป้องกันตัวเอง
 
        “อาจารย์คิดว่ากฎหมายเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าเรียนไปได้ใช้แน่นอน มันไม่ใช่สิ่งที่จะเอาไปฟาดฟันไว้ทำร้ายผู้อื่น แต่ไว้ใช้ป้องกันตัวเราไม่ให้ใครเอาเปรียบ ก่อนเรียนกฎหมาย เราอาจไม่เคยอ่านก่อนเซ็นสัญญาเลย แต่พอเรียนกฎหมายแล้วจะตรวจเช็กอย่างละเอียดขึ้น ฯลฯ”
 
        “สำหรับเราแล้วกฎหมายเป็นสิ่งที่ยิ่งรู้ยิ่งตื่นเต้น เพราะมีสิ่งที่เรายังไม่รู้อีกเยอะมาก ซึ่งหากศึกษาแล้ว จะรู้ได้เลยว่าทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเรา เช่น การซื้อของออนไลน์ การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้งสิ้น ทำให้เราเข้าใจและปรับตัวกับโลกยุคปัจจุบันได้ตลอดเวลา  และที่สำคัญคือ ความรู้กฎหมายนำไปใช้ประกอบอาชีพได้หลากหลายมาก เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ทหาร นิติกร ที่ปรึกษาทางกฎหมาย อาจารย์ ฯลฯ”
 
       อาจารย์ทรายฝากทิ้งท้ายไว้อีกว่า "ตอนนี้มหาวิทยาลัยรามคำแหง กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 นะ อาจารย์ก็ขอเชิญชวนมาเป็นครอบครัวนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วยกันนะจ๊ะ" (อ่านรายละเอียดได้ที่ลิงก์นี้)
 

        เชื่อว่าชาว Dek-D ที่อ่านมาถึงตรงนี้ ต้องเริ่มมีไฟในการเรียนกฎหมายมากกว่าเดิมแน่นอน หรือถ้าใครฝันอยากเป็นครูอาจารย์ ก็คงได้เก็บทริคดีๆ ไว้เพื่อเตรียมสอนลูกศิษย์ในอนาคต (ส่วนพี่เองนั้น...อยากไปนั่งเรียนด้วยคนเลยค่ะ แต่ตอนนี้ได้แต่เป็น FC อยู่ห่างๆ > <) ถ้าใครเคยเรียนกับอาจารย์ท่านนี้ อย่าลืมมาแชร์ให้ฟังบ้างนะคะว่า อ.ทรายสอนสนุกแค่ไหน แล้วเราเจอมุกเด็ดๆ มุกไหนมาบ้าง! 
 
อย่าลืมย้อนอ่านเด็กพลังบวกคนก่อนนะคะ ><

‘แพร’ เน็ตไอดอลสายการ์ตูน
กับช่วงชีวิตที่ต้องพิสูจน์ตัวเองเมื่อถูก Bully และปิดกั้นโซเชียล!
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด