'ปรม' ยูทูบเบอร์ดีกรี นศ.แพทย์ กับการตีแผ่ชีวิตสุดเครียดให้เป็นเรื่องขำๆ

“แก๊งนางฟ้าบ้านนา” ผู้ปลุกเสน่ห์แดนชนบทด้วยแฟชั่นสไตล์ท้องถิ่น (คลิป 5 ล้านวิวการันตีความแซ่บ!)
 
        สวัสดีค่ะชาว Dek-D พบกับคอลัมน์ "เด็กพลังบวก" ที่จะพาน้องๆ ไปค้นหาแรงบันดาลใจจากวัยรุ่นเจ๋งๆ ที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และทำกิจกรรมเพื่อตัวเองและสังคมกันค่ะ
 
         แค่ได้ยินชื่อ “คณะแพทย์” คนน่าจะเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นสายที่เรียนหนัก เรียนยาก แทบไม่มีวันหยุด และคนที่เรียนคงต้องมาแนวเนิร์ดๆ วันๆ ขลุกกับหนังสือจนไม่มีเวลาทำอย่างอื่น (และพูดไม่รู้เรื่องด้วย) แต่วันนี้ขอให้ลบภาพเหล่านั้นไปก่อน เพราะเรามีโอกาสได้พูดคุยกับนักศึกษาแพทย์ดีกรีที่ 1 คณะแพทย์ มข. รอบโควตา เขาไม่ใช่แค่เรียนเก่งนะคะ แต่ยังเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง และยังใช้เวลาว่าง(อันน้อยนิด) จากการเรียนหมอ มาทำคลิปที่ทั้งฮาและได้สาระ ซึ่งยอดผู้ติดตามก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าพร้อมแล้ว ไปรํู้จักกันเลยค่า ^^



 
แนะนำตัว

        “สวัสดีครับ ชื่อ ‘ปรม (อ่านว่า ปะ-ระ-มะ) บุตรมะลา’ ชื่อเล่น 'ปาล์ม' อายุ 22 ปี กำลังเรียนปี 4 คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่นครับ” คณะนี้ขึ้นชื่อว่าเข้ายากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เราก็แอบรู้มาอีกว่าเขาคือผู้คว้าที่ 1 คณะแพทย์ มข. (รอบโควตา) เมื่อปี 2558 ด้วยนะคะ สุดยอด!
 
        ว่าแต่อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ปรมอยากเรียนหมอ? “จริงๆ ไม่ได้คิดอยากเป็นหมอมาก่อนนะ แต่ด้วยสังคมสมัยเรียนมัธยม แทบทุกคนมีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากเป็นหมอ เลยอารมณ์เหมือนโดนป้ายยา 55555 จริงๆ มีเหตุผลอื่นด้วย เรามองว่าหมอเป็นคณะที่ท้าทาย เป็นวิชาที่ใช้เหตุและผลเยอะมาก ซึ่งเราชอบการที่ต้องมีเหตุผลรองรับทุกสิ่งอย่าง ชอบความชัดเจน ฟันธงได้ ไม่ขาวก็ดำไปเลย หลังจากเรียนมา 4 ปีก็รู้สึกยิ่งชอบขึ้นมาเรื่อยๆ ครับ”



 
รีวิวชีวิต นศ.แพทย์ ที่กิจกรรมไม่ขาดตกบกพร่อง!
 
        เขารีวิวชีวิต นศ.แพทย์ 4 ปีแบบย่อๆ ให้ฟังว่า “ตอนเรียน Pre-clinic (ปี 1-3) ก็เรียนกับกระดาษ อ่านเรื่อยๆ ท่องจำๆๆ แต่พอปี 4 ก็เริ่มแยกไปตามโรงพยาบาล เริ่มมีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกเข้ามา เพราะเรากำลังทำเพื่อคนไข้ที่เรากำลังนั่งซักประวัติอยู่ข้างเตียง ตลอดชีวิตการเรียนหมอที่ผ่านมา เราต้องก้าวกระโดดในทุกๆ วัน เมื่อไหร่ที่เราทำพลาด วันต่อมาเราต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นอีกคนให้ได้ ไม่พลาดซ้ำเรื่องเดิม นั่นทำให้บางทีเราอาจรู้สึกเหนื่อยมาก เราว่าสิ่งที่ยากคือการบาลานซ์กิจกรรมกับการเรียน เพราะเราทำชอบทำกิจกรรมมากกกก”
 
        “สำหรับ มข. แล้ว กิจกรรมไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับการเรียน แต่มันเป็นวิชาเลือกนึงที่ทำให้เราได้ทักษะบางอย่างกลับไป เช่น รับน้อง ได้ทักษะ Creative Thinking + มีระบบวัดและตัดเกรดด้วย ดังนั้นการทำกิจกรรมจึงไม่ใช่การเสียสละตัวเองในการทำเพื่อคนอื่น แต่เป็นส่วนช่วยให้ประสบความสำเร็จในชีวิต จริงๆ มีคำพูดนึงของคุณหมอท่านนึงใน มข. (ศ.นพ.วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม) ที่บอกว่า ‘การเรียน 6 ปีนี้ ยังไงจบออกมาก็ต้องเป็นหมอเหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้หมอประสบผลสำเร็จต่างกันคือกิจกรรมที่ทำตอนเรียน'"


 
        และกิจกรรมระหว่างเรียนของปรมก็หลากหลายและจัดหนักจัดเต็มมากกกค่ะ เขายกตัวอย่างให้ฟังว่า “เคยเป็นทั้งสตาฟสอนเพื่อนตอนประชุมเชียร์ปี 1 ทำค่ายอาสา เป็นพิธีกร เป็นประธานโครงการแนะแนวรุ่นน้อง เป็นเฮดสันทนาการ ฯลฯ ปกติแล้วจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทำกิจกรรมทุกอย่างในคณะ ถ้างานใหญ่สุดเลยคือเป็นเฮดพิธีเปิดกีฬาสีเข็มสัมพันธ์ครั้งที่ 29 ของปี 3 เราต้องพา 200 กว่าคนไปเต้นกลางสนาม วิ่ง จุดพลุ ฯลฯ (มีคลิป) ทำให้รู้สึกเหมือนเราออกจาก safe zone ได้”
 


 
เคยดังในเน็ต แต่ค่อยๆ fade เพราะเจอนักเลงคีย์บอร์ด
 
        นอกจากการเรียนและทำกิจกรรมอย่างเข้มข้นแล้ว เขายังใช้เวลานอกเหนือจากนั้นมาทำคลิปลงยูทูบด้วย “จริงๆ เมื่อสมัย ม.ปลายเราเคยเป็นเซเลบโซเชียลแคม 555 ตอนนั้นคอนเทนต์เน้นตลกอย่างเดียว แล้วต่อมาก็หันมาทำเพจบนเฟซบุ๊ก ช่วงที่ดังๆ เราลงคอนเทนต์เรื่องการเรียนการสอนในไทย คะแนน O-NET การแอดมิดชั่น การทำกิจกรรม ฯลฯ เป้าหมายคือให้นักเรียน ม.ปลาย ร่วมวิเคราะห์ปัญหา”

        แต่ก็มาเจอวิกฤตชีวิต พอเจอนักเลงคีย์บอร์ดนานๆ เข้าก็รู้สึกว่า ทำไมเราต้องเอาตัวเองไปอยู่ในความเสี่ยงตรงนั้น ทำไมถึงมาเป็นบุคคลสาธารณะให้คนสามารถวิพากษ์วิจารณ์เราได้ ก็เลย fade ตัวออกมา พอขึ้นปี 2-3 ก็กลับมาทำคลิปลงยูทูบอีกครั้ง จุดประสงค์ไม่ใช่อยากดัง แต่อยากทำเพราะรุ่นน้องมาปรึกษาเรื่องการเรียนบ่อยๆ เราอยากทำเหมือนไดอารี่เพื่อเล่าว่าเราเคยเจออะไรมาบ้าง ซึ่งบางทีก็มีรุ่นน้อง ม.ปลายเข้ามาดูด้วยครับ




 
        “พอเริ่มมีคนดูมากขึ้น ก็มีเพื่อนอีกคนบิ๊วให้ทำช่องเถอะ ตอนนั้นทำด้วยกัน 4-5 คน ว่างตอนไหนก็ทำ เมื่อก่อนไม่เขิน แต่พอกลับมาทำคราวนี้ดันเขิน อีกอย่างคือในใจลึกๆ เรารู้สึกกังวลว่าถ้าพูดคำนั้นคำนี้ออกไปมันจะกลายเป็นประเด็นมั้ย แล้วยังมีเรื่องข้อจำกัดอีก (เช่น เรื่องเพศที่สาม) ทำให้เราไม่เป็นตัวของตัวเองเท่าที่ควร แต่หลังๆ พยายามนำเสนอให้เป็นตัวเองมากขึ้น เพราะคิดว่าถ้าทำตัวซ่อนเร้นเรื่อยๆ คงไม่มีคนเข้าใจเราสักที”

 
“Parama” ไดอารี่ชีวิต นศ.แพทย์ ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องการเรียน!
 
        เนื้อหาแนวไหนที่ปรมตั้งใจนำเสนอลงในช่องยูทูบของตัวเอง? “หลักๆ คือชีวิตนักศึกษาแพทย์ เช่น ชีวิต 1 วันของหมอแต่ละแผนก ไลฟ์สไตล์ การแบ่งเวลา การอ่านหนังสือ นอกจากนี้จะพูดเรื่องอื่นที่ไม่ใช่การเรียนบ้าง เช่น เบาหวาน, PM2.5, สกินแคร์ ฯลฯ”
 
        “สิ่งที่ทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยมาได้ 4 ปีคือความตลก เราอยากดึงความเป็นตัวเองออกมา ทุกคลิปต้องสนุก ดึงดูดคนมาดูให้ได้ เราชอบเอาเรื่องเครียดๆ เอาเรื่องทุกข์ใจในวอร์ดมาเล่า พยายามบอกว่าทุกอย่างมันตลกกก ถ้าตลกแล้วความกังวลจะลดลงไปเอง”
 





 
        แนวโน้มของผู้ที่ติดตามหรือดูคลิปเราเป็นยังไงบ้าง? “คิดว่ามีคนรู้จักเรามากขึ้นแน่นอน แต่บอกไม่ได้ว่ามีกี่คนที่อยู่กับเราตลอด เช่น คลิปนี้ยอดพุ่ง คลิปนี้ยอดลด แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีคนใหม่มาเพิ่มเรื่อยๆ ก็ได้ ถ้าช่วงแรกๆ เลยมีคนดูหลักร้อย ราวๆ 200 - 300 แต่ปัจจุบันนี้หลักหมื่นแล้ว”
 
        “กลุ่มคนดูส่วนใหญ่ก็คือนักศึกษาแพทย์ด้วยกัน อย่างเวลาไปงานเข็มฯ ก็มีคนจำได้แล้วมา discuss กับเราว่า เรื่อง….ในคลิปเหมือนมหาลัยหนูเลย ส่วนน้อง ม.ปลาย จะชอบคอนเทนต์แนวอารมณ์ เช่น ทำยังไงถึงติดหมอ? แต่บอกตรงๆ เราไม่อยากทำแนวนี้ ไม่อยากแนะนำว่าต้องทำยังไงอ่านหนังสือเล่มไหนถึงสอบติด เพราะวิธีการไปถึงเป้าหมายของแต่ละคนมันต่างกัน"

        "และในขณะเดียวกันเราเห็นว่าระบบแนะแนวใน รร. ค่อนข้างอ่อนแอ คนที่จะสอบติดแต่ละคณะแทบไม่มีใครเคยสัมผัสกับวิชาชีพนั้นจริงๆ มาก่อน ปรมเลยอยากทำคอนเทนต์นำเสนอว่า ‘หมอคืออะไร?’ เพื่อให้น้องค้นพบตัวเอง และไม่ต้องเสียเวลาเริ่มต้นใหม่ตอนที่รู้ว่ามันไม่ใช่ทางของน้องๆ”



 
ขั้นตอนถ่ายทำสุดกระชับและ No Script
 
        ปรมเล่ากระบวนการกว่าจะมาเป็น 1 คลิปให้ฟังว่า “เริ่มจากตากล้องเดินมาชวนถ่าย ให้เวลาเตรียม 5 นาที พอเราคิดชื่อคลิปได้ปุ๊บพูดเลย ใช้เวลาถ่ายทำไม่ต่ำกว่า 30 นาที เพราะเดี๋ยวเมาท์มอยบ้างกล้องดับบ้าง จากนั้นเพื่อนก็เอาไปตัดต่อ แล้วคนที่ตัดต่อคือเรียนเก่งมาก มีความเป็นเฮดสูง เลยไม่มีเวลาว่างเท่าไหร่ คลิปเลยดูทื่อๆ ตัดหัวตัดท้าย แล้วลงเลย เรารู้ตัวอีกทีคือมีคนทักแชทมาชมว่าคลิปสนุก 555555” ความถี่ในการลงคลิป? “ตอนนี้อยากให้ได้ลงทุกอาทิตย์ วันศุกร์เวลาประมาณ 18.00 - 18.30 น. ครับ”

        นอกจากนี้เขายังบอกว่าทีมจะพยายามเพิ่มคุณภาพของคลิป เช่น จะวางแผนเขียนสคริปต์อย่างจริงจัง แทนการเล่าสดอย่างที่ทำมาตลอด





 
เทคนิคการบาลานซ์ชีวิต
 
        “เรามองว่าในช่วงเวลานึง เราสามารถทำอะไรได้แค่ 1 อย่าง ถ้าทำหลายอย่างสุดท้ายจะไม่ได้อะไรเลย อย่างเช่นใน 1 วันของปรมจะแบ่งเวลาเรียน : อ่านหนังสือ : พักผ่อน : พัฒนาตัวเอง นอกนั้นคือเวลาสำหรับทำสิ่งที่เป็น routine เช่น กินข้าว สังสรรค์กับเพื่อน ฯลฯ เราจะตั้งโจทย์ว่าวันนึงต้องทำครบ 4 อย่าง แบ่งสัดส่วนเวลาให้เหมาะสม ในวันนั้นอะไรสำคัญสุดจะให้เวลาเยอะหน่อย”
 
        เทคนิคการเรียน? “ที่ผ่านมาเราไม่เคยทิ้งการเรียนเลย พยายามทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์แต่ละบท เรียนให้เข้าใจ แล้วพอ ม.6 ก็เอาโจทย์มาทบทวนครับ”




 
        เรียกว่าเป็นหนึ่งในไอดอลที่เริ่ดทั้งเรื่องเรียนและทำกิจกรรมเลยค่ะ ถ้าชาว Dek-D คนไหนฟังเรื่องเล่าจากนักศึกษาแพทย์ในหลายๆ มุมมอง รวมถึงไลฟ์สไตล์ฉบับปรม อย่าลืม Subscribe ยูทูบแชนเนล Parama และติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจ Para’ma นะคะ รับรองเขาคนนี้จะเสิร์ฟความสนุกและสาระให้น้องๆ แน่นอน น่ารักมากค่ะบอกเลยย!
 
อย่าลืมย้อนอ่านเด็กพลังบวกคนก่อนนะคะ ><
เปิดใจฮีโร่ 'ก้อง' นิสิตแพทย์ มศว
กับการทำ CPR ครั้งแรกเพื่อช่วยคุณพ่อ 'ก็อต-อิทธิพัทธ์'
 
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด