'Manager Mom' เพราะการศึกษาของลูก คือตัววัดความสำเร็จของแม่ชาวเกาหลี!

 

อันยองน้องๆ Dek-D ทุกคนค่ะ~หลายคนคงพอทราบเกี่ยวกับวัฒนธรรมการเรียนหนักแบบสุดๆ ของนักเรียนชาวเกาหลีใต้กันใช่มั้ยคะ บอกเลยว่าบางคนเรียนพิเศษกันอย่างหนักหน่วงจนถึงเที่ยงคืนเลยก็มีนะคะ! ที่ผ่านมาเราอาจรู้แค่ในมุมมองของนักเรียน สงสัยเหมือนกันมั้ยว่าในฝั่งของผู้ปกครองเขาคิดอย่างไรบ้างนะ? ทำไมพวกเขาถึงต้องเข้มงวดกับผลการเรียนของลูกๆ กันขนาดนั้น วันนี้พี่ชีตาร์เลยจะพามาดูในอีกมุมมอง ซึ่งเป็นด้านของคุณแม่ชาวเกาหลีผู้อยู่เบื้องหลังการศึกษาของลูกๆ กันบ้างค่ะ :-) 

ภาพบรรยากาศการสอบซูนึงปี 2020 
ภาพบรรยากาศการสอบซูนึงปี 2020 
Photo Credit: Korea Times

 โดยทั่วไปแล้ว การแต่งงานในครอบครัวชาวเกาหลีนั้นจะอนุญาตให้สำหรับเพศตรงข้ามอย่าง ชายและหญิงเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการเพิ่มจำนวนของประชากรผ่านการแบ่งงานตามเพศนั่นเองค่ะ ระบบนี้คือการแบ่งงานตามบทบาททางเพศที่ผู้ชายมีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว ในขณะที่ผู้หญิงมีหน้าที่เป็นแม่บ้าน การแบ่งงานตามเพศแบบนี้ช่วยให้แต่ละครอบครัวสามารถสะสมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพเลยทีเดียว เพราะการทำงานบ้านและการดูแลลูกของผู้หญิงไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างน่ะสิ…

จะเห็นว่าการแต่งงานและการตั้งครรภ์ไม่ใช่การตัดสินใจส่วนบุคคลสำหรับผู้หญิงเกาหลีสักเท่าไหร่ การผลิตซ้ำทางสังคมเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงต้องสละซึ่งอำนาจในการต่อรองทางสังคมของพวกเธอ แต่อย่างไรก็ตาม บทบาทของสตรีเกาหลีในฐานะแม่ไม่ได้เรียบง่ายแบบนั้น บทบาทของพวกเธอก็มีความสำคัญอยู่มากเลยทีเดียว เพราะบ่อยครั้งที่การเป็น ‘แม่’ ของผู้หญิงเกาหลีสามารถช่วยเลื่อนฐานะทางสังคมให้พวกเธอได้  

แม่ๆ ชาวเกาหลีจะถูกเรียกในหลายๆ ชื่อ และหนึ่งในชื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ "Manager Moms (คุณแม่เมเนเจอร์)” คุณแม่เหล่านี้มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับงานโรงเรียนของลูกๆ เกรดเฉลี่ย และกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้ลูกสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ และความสามารถของพวกเธอก็จะถูกพิจารณาจากข้อมูลที่พวกเธอสามารถเข้าถึงเพื่อให้ลูกๆ ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่โด่งดังในที่สุด

ภาพจากเพลง '엄마가 딸에게 ของ 양희은 (Yang Hee Eun)
ภาพจากเพลง '엄마가 딸에게 ของ 양희은 (Yang Hee Eun)
Photo Credit:  www.isnews.co.kr

ขั้นตอนเหล่านี้เริ่มตั้งแต่วัยอนุบาลของลูกๆ และเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกสามารถเข้าเรียนและจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ โอกาสในการจ้างงานของพวกเขาก็จะเพิ่มมากขึ้น พูดง่ายๆ ว่าหน้าที่ของคุณแม่เมเนเจอร์คือการมองหาอนาคตเพื่อความสำเร็จของลูก แล้วที่นี้ความสำเร็จของเด็กๆ ก็จะกลายมาเป็นโอกาสและเครื่องมือสำหรับทั้งครอบครัว ความสำเร็จของพวกเขาจะส่งเสริมให้ทั้งครอบครัวสามารถรักษาหรือเพิ่มฐานะทางสังคมได้ ทำให้เห็นว่าความเป็นไปของครอบครัวขึ้นอยู่กับผู้หญิงในบทบาทของความเป็น ‘แม่’ นั่นเองค่ะ

การลงแรงเลี้ยงลูกของพวกเธอถูกเข้าใจว่าคือบทบาทหน้าที่ของคนเป็นแม่ตามธรรมชาติ พวกเธอถูกคาดหวังให้เป็นเลิศในการจัดการ เพราะถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีหน้าที่ดูแลลูกตามธรรมชาติอยู่แล้ว และเพราะพวกเธอต้องรับผิดชอบต่อความสำเร็จของลูกๆ ผลงานของพวกเธอเหล่านั้นจึงถูกตัดสินตามผลงานของเด็กๆ แต่กลับกันที่ผลงานและความสำเร็จในฐานะแม่ของพวกเธอได้รับรางวัลเป็นเพียง 'คำชม' เท่านั้น 

เพราะเหล่าแม่เมเนเจอร์ต้องทำให้มั่นใจว่าลูกๆ ของพวกเธอจะประสบความสำเร็จในการศึกษา ความเครียด และความพยายามในการศึกษาจึงตกมาสู่เด็กๆ ชาวเกาหลีใต้โดยอัตโนมัติ เพราะระบบการสอบของเกาหลีเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดชะตาชีวิตและอนาคตของเด็ก (และครอบครัว) ทุกอย่างในประเทศจึงถูกอำนวยไว้เพื่อบรรยากาศในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือที่เรียกกันว่า ‘수능 (ซูนึง) เลยทีเดียว 

Photo Credit: Yonhap News
Photo Credit: Yonhap News

 ในวันนั้นถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างอำนวยความสะดวกเพื่อให้เด็กๆ มาเข้าสอบทันเวลา และในขณะสอบก็ปราศจากเสียงรบกวนทั้งจากรถ เครื่องบิน การก่อสร้าง เป็นต้น และถ้าหากมองมาที่บริเวณหน้าโรงเรียน เราจะเห็นบรรยากาศของเหล่าคุณแม่เมเนเจอร์ที่นั่งสวดอ้อนวอน บนบานศาลเก่า ขอพรให้กับลูกของพวกเธอในการสอบ จึงเป็นเหตุผลที่ทราบกันดีว่าทำไมเด็กๆ ชาวเกาหลีใต้ถึงมีความกดดันเพื่อให้ได้ผลการเรียนที่ดีที่สุด พวกเขาต้องแบกรับความเครียด เพื่อรักษาและทำให้แน่ใจว่าสภาพความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวจะดีขึ้นนั่นเองค่ะ 

Photo Credit: Ed Jones/AFP/Getty Images & 천지일보
Photo Credit: Ed Jones/AFP/Getty Images & 천지일보

เราจะเห็นภาพตัวอย่างสังคมการแข่งขันของผู้ปกครองเพื่อความสำเร็จทางการศึกษาของลูก และบาดแผลทางใจของเด็กๆ จากระบบการศึกษาเกาหลีอยู่เรื่อยๆ จากทั้งซีรีส์ ภาพยนตร์ และบทเพลงเลยค่ะ อย่างในการแสดงสดระหว่างคุณ 양희은 (ยังฮีอึน) และ AKMU ในเพลง '엄마가 딸에게 (จากแม่ถึงลูกสาว)' เป็นการตอบโต้ระหว่างแม่ลูกถึงความคาดหวังต่างๆ ที่ทั้งสังคมและตัวครอบครัวคาดหวังต่อตัวลูกๆ 

"공부해라! (ตั้งใจเรียนนะ!)" 

...

เพราะ 'แม่ที่ดี' คือแม่ที่ทำให้ลูกประสบความสำเร็จได้

สำหรับเหล่าแม่เมเนเจอร์แล้ว การศึกษาของลูกมีความหมายอย่างมาก เพราะนั่นคือการเติมเต็มบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการรักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล พร้อมระบุตัวตนของผู้หญิงคนหนึ่งในฐานะ ‘แม่ที่ดี’ ของครอบครัวและสังคม ซึ่งแนวคิดเรื่อง ‘การประสบความสำเร็จผ่านทางการศึกษา’ นั้นผูกติดมาจากคำสอนของขงจื๊อที่หล่อหลอมสังคมเกาหลีใต้มาอย่างยาวนานแล้วค่ะ ดังนั้น การดูแลความสำเร็จจากการศึกษาของลูกจึงถือเป็นงานหลักของคนเป็นแม่ในประเทศเกาหลีใต้เลยก็ว่าได้

อย่างใน 'Sky Castle' ซีรีส์ที่ได้รับความนิยมจากฐานแฟนคลับจำนวนมากจนเป็นปรากฏการณ์ระดับชาติเกาหลีในปี 2018 การศึกษาภายในเรื่องถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุความมั่งคั่งทางการเงินและอำนาจในสังคมเกาหลี หน้าตาทางสังคมก็กลายมาเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของครอบครัว และท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันเพื่อความสำเร็จทางการศึกษาของลูก กลับสร้างบาดแผลจากการทำลายล้างตัวเอง ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางด้านจิตใจ ทิ้งไว้ซึ่งร่องรอยของการฆ่าตัวตาย ความรุนแรง และบุคลิกที่แตกสลายของตัวละคร 

Photo Credit: Netflix Thailand
Photo Credit: Netflix Thailand

เรื่องราวมุ่งเน้นไปที่ความพยายามของแต่ละครอบครัวที่ส่งลูกๆ ให้สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศ ว่ากันว่าเสียดสี SKY 3 มหาวิทยาลัยระดับท็อปที่คนเกาหลีอยากเรียนต่อมากที่สุดค่ะ! และเพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมาย แม่ๆ ของแต่ละบ้านจึงต้องสวมบทบาท 'แม่เมเนเจอร์' เพื่อให้ได้มาซึ่งโค้ช (ติวเตอร์ส่วนตัว) ที่ดีที่สุดกันเลยทีเดียว และตัวโค้ชนั้นไม่ได้ทำหน้าที่เพียงติวหนังสือเพียงอย่างเดียวนะคะ แต่ทำทุกอย่างที่เป็นไปได้ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กในสังกัดที่รับเพียงปีละ 1 คนจะสามารถสอบเข้าตามที่ได้ตกลงไว้กับผู้ปกครองเพื่อแลกกับค่าตอบแทนมหาศาลนั่นเอง!  

Photo Credit: Netflix Thailand
Photo Credit: Netflix Thailand

ความพยายามที่จะให้ลูกประสบความสำเร็จทางการศึกษา จนบางครั้งก็ได้สร้างบาดแผลทางใจให้ลูกในประเทศเกาหลีใต้นั้นถูกเสนอแทรกอยู่ในสื่อเกาหลีเสมอ แม้ว่าภาพยนตร์หรือซีรีส์เรื่องนั้นจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องครอบครัวหรือการแข่งขันในระบบการศึกษาโดยตรง อย่างเช่น ในซีรีส์เรื่อง 'Start-up' ที่เนื้อเรื่องหลักพูดถึงเรื่องราวของคนหนุ่มสาวที่ใฝ่ฝันจะประสบความสำเร็จในการเริ่มทำธุรกิจสตาร์ทอัพในซิลิคอนวัลเลย์ของเกาหลี แต่ภายในเรื่องเราก็ยังเห็นภาพของบาดแผลจากระบบการศึกษาอยู่ดี 

Photo Credit: Netflix Thailand
Photo Credit: Netflix Thailand

หรือจะเป็นเรื่อง 'Mine' ซีรีส์เกาหลีที่กำลังฉายอยู่ตอนนี้ค่ะ ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ทราบเนื้อเรื่องมากนัก แต่ก็จะเห็นถึงบทบาทของแม่ที่มีต่อการศึกษาของลูกๆ อย่างชัดเจนเลยทีเดียวค่ะ 

Photo Credit: Netflix
Photo Credit: Netflix

...

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาเหล่านี้ล้วนมีรากฐานมาจากระบบสังคมที่ทำให้ประชาชนต้องดิ้นรน แข่งขัน เพื่อผลักตัวเองให้มีชีวิตที่ดีกว่า และปลูกฝังให้ค่านิยม ‘ความสำเร็จ’ อันยึดโยงกับใบปริญญาเท่านั้น และจะเห็นได้ว่าระบบการศึกษาของเกาหลีไม่ได้ส่งผลแค่กับตัวนักเรียน แต่ยังรวมไปถึงครอบครัวในวงกว้าง มากไปกว่านั้น ความสำเร็จทางการศึกษาของลูกยังถูกใช้เพื่อเป็นตัววัดความสำเร็จของคนเป็นแม่อีกด้วย 

จะว่าไปในสังคมไทยเองก็มีค่านิยมที่คล้ายๆ ของเกาหลีเหมือนกันนะคะ เพราะในเอเชียก็จะมีวิธีการและค่านิยมการเลี้ยงลูกที่คล้ายๆ กัน โดยเราจะเรียกเหล่าแม่ๆ ว่า 'Tiger Mom' ซึ่งก็คือแม่ชาวเอเชียนที่มีวิธีการเลี้ยงลูกแบบกำหนดเป้าหมายให้ลูกไว้สูงมากๆ และโดยส่วนมากจะเป็นเรื่องการเรียนซะด้วย หลังจากนั้นก็จะผลักดันลูกอย่างเต็มกำลังเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นๆ กันเลยทีเดียว!   

 

Sources: “Gender, Family, and Social Change in Contemporary South Korea” by Yonsei University https://www.korea.net/TalkTalkKorea/Spanish/community/community/CMN0000004547https://youth-time.eu/south-korean-educational-system-a-culture-of-being-the-best/https://www.goodhousekeeping.com/life/parenting/a27197790/tiger-mom-parenting/https://www.koreatimes.co.kr/www/opinion/2019/01/723_262487.htmlhttps://beautytap.com/2019/02/sky-castle/https://www.npr.org/sections/parallels/2015/04/15/393939759/the-all-work-no-play-culture-of-south-korean-educationhttp://www.newscj.com/news/articleView.html?idxno=572844https://www.facebook.com/NetflixTHhttps://www.youtube.com/watch?v=8rWuQI9ljsYhttp://mw.genie.co.kr/detail/albumInfo?axnm=80572991Chung, Ji Hye Jaime / J. J. (2016) A Critical Examination of South Korean Manager Moms: English Language Education Practices in a Context of Truncated Lifelong Learning. PhD thesis, University of Sheffield.https://nishableblog.wordpress.com/2019/04/26/korean-drama-sky-castle/https://www.kpopmap.com/sandbox-2020-drama-cast-summary/https://www.netflix.com/search?q=mine&jbv=81403973https://www.goodhousekeeping.com/life/parenting/a27197790/tiger-mom-parenting/https://img.koreatimes.co.kr/upload/newsV2/images/201911/e0e07f4f186f4704a0b0f590b4fbf30e.jpghttp://www.isnews.co.kr/news/photo/201504/59438_43257_539.jpg   

 

พี่ชีตาร์
พี่ชีตาร์ - Columnist Once a Literature Student, Always a Literature Student

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น