ใครว่ามีแค่ดีไซเนอร์! ส่อง 10 สาขา ‘สายแฟชั่น’ เปิดสอนในต่างประเทศ (+แนะนำอาชีพ)

สวัสดีค่า น้องๆ Dek-D ทุกคน > < ใครเคยมีปัญหาตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเรียนต่ออะไรดีน้า เราสนใจหลายอย่างจังเลย พี่เองก็เคยอยู่ในจุดที่รู้สึกเคว้งคว้าง เพราะนั่นก็อยากทำ นี่ก็อยากทำ ไม่รู้จะเลือกอะไรดี แต่ความจริงแล้วเราอาจไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเลยก็ได้ เพราะยังมีอีกหลายอาชีพที่ประยุกต์หลายทักษะผสมกัน อย่างเช่นหลายคนอาจคิดว่าจบแฟชั่นก็ต้องดีไซเนอร์สิ แต่จริงๆ แฟชั่นไม่ได้มีแค่การออกแบบเสื้อผ้านะคะ วันนี้พี่เมนี่ลองรวมหลายๆ สาขาเรียนที่น่าสนใจในสายแฟชั่นมาให้น้องๆ ทำความรู้จักกัน จะมีสาขาอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลยย! 

#สายVisual

1. Fashion Styling & Production

เมเจอร์นี้ได้รับความนิยมพอๆ กับสาขาแฟชั่นดีไซน์เลยค่ะ เพราะต้องใช้ความครีเอทีฟสูงในการแมตซ์ชุดต่างๆ เพื่อการถ่ายทำ เป็นสายที่ทำให้องค์ประกอบทั้งชุดและโมเดลมารวมกันได้อย่างพอดี และสามารถสื่อสารสิ่งที่ต้องการออกไปได้ แต่สไตลิสต์ไม่ได้ทำงานแค่กับเสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทรงผม การแต่งหน้า และเครื่องประดับด้วย น้องๆ จะได้ฝึกตั้งแต่การสไตลิ่งบนนิตยสาร โฆษณา แฟชั่นโชว์ แฟชั่นในสื่อดิจิทัล รวมถึงการหาพร็อปส์ประกอบฉากเวลาถ่ายทำก็ด้วยค่ะ และด้วยความที่เรียนเกี่ยวกับ Production ทำให้เราเลือกต่อยอดไปเป็น Creative Producer ได้อีกด้วย

ที่น่าสนใจคือในต่างประเทศมีสไตลิสต์ฟรีแลนซ์ที่ถูกจ้างไปตามบ้าน เพื่อช่วยแต่งตัวและจับคู่ชุดให้กับลูกค้าเพื่อถ่ายลงโซเชียลมีเดีย เป็นอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของดิจิทัลมีเดียนั่นเองค่ะ

Photo Credit:  Unsplash (Flaunter)
Photo Credit:  Unsplash (Flaunter)

2. Fashion Imaging & Illustration

หลายคนที่จบ Fashion Design มา แล้วผันตัวไปเป็น Fashion Illustrator ก็มีให้เห็นอยู่เยอะค่ะ เพราะการวาดภาพนั้นสำคัญกับผลลัพธ์ของสินค้าที่จะออกมา การวาดภาพประกอบแฟชั่นในสมัยนี้เองก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การวาด Figure หรือการวาดลงบนกระดาษเท่านั้น แต่ยังได้ทำงานกับสื่อหลายๆ แบบทั้ง Graphic Design, Animation, Photography, 3D Design, Moving Image และ Computer-generated imaging

3. Fashion Photography

ถ้าพูดถึงแฟชั่นแล้ว เราอาจนึกไปถึงรูปสวยๆ ในนิตยสาร และรูปโปรโมตเสื้อผ้าที่เห็นได้ในแอ็กเคานต์ของแบรนด์ต่างๆ ถ้าอยากทำได้แบบนี้บ้าง ต้องไปเรียนอะไรนะ? ก็ต้องขอบอกว่า ‘Fashion Photography’ ตอบโจทย์สุดๆ เพราะไม่ได้เรียนแค่การถ่ายภาพนิ่งเท่านั้น แต่ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าแบบนี้ ยังได้เรียนเกี่ยวกับวิดีโอภาพเคลื่อนไหวและการถ่ายภาพเพื่อสื่อออนไลน์อีกด้วย 

น้องๆ คนไหนอยากเรียนแบบได้ออกกองถ่ายจริง บอกเลยว่าได้เข้าสตูและถ่ายนอกสถานที่อย่างแน่นอน เนื่องจากการทำงานสายนี้ต้องใช้สกิลการทำงานเป็นทีมสูงอยู่เหมือนกัน ทำให้มีการเรียนโดยการทำโปรเจกต์อยู่มาก โดยจะได้ทำงานกับเพื่อนในสายอื่นๆ เช่น สไตลิสต์ และนักวาดภาพประกอบ รวมทั้งจะได้ร่วมงานจริงๆ กับดีไซเนอร์หรือนิตยสารชื่อดัง เช่น ID Magazine

Photo Credit: Unsplash (Flaunter)
Photo Credit: Unsplash (Flaunter)

เมเจอร์นี้จะส่งเสริมให้เราได้คนหาสไตล์การถ่ายภาพที่ใช่ของตัวเอง และทดลองการถ่ายภาพแบบใหม่ๆ เนื่องจากแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็นแคมเปญโฆษณา แมกาซีน หรืออาร์ตแกลเลอรีต่างใช้ภาพในรูปแบบที่ต่างกัน นอกจากนี้การตัดต่อภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะได้เรียนควบคู่ไปด้วย แต่ภาพถ่ายมักมีการเล่าเรื่องราวอยู่เสมอ ทำให้คนที่จะเป็นช่างภาพแฟชั่นเองจะต้องพัฒนาความรู้ในเรื่องประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน

บริษัทสายแฟ หรือแม้แต่ร้านค้าออนไลน์ ขาดอาชีพ Fashion Photographer หรือช่างภาพแฟชั่น ไปไม่ได้เลย เพราะเป็นเหมือนคนกำกับดูแลหน้าตาของบริษัท มีหน้าที่ผลิต Visual ให้น่าดึงดูด ถ้าบริษัทแฟชั่นไม่มีช่างภาพ ธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้เหมือนกันนะคะ และยิ่งในปัจจุบันที่คนหันมาทำร้านค้าออนไลน์กันเยอะมากขึ้น ทำให้อาชีพนี้เป็นที่ต้องการ เพราะสามารถรับงานฟรีแลนซ์ไปด้วยได้

////

#สายธุรกิจและสายวิทย์

Fashion Business

ธุรกิจดำเนินไปไม่ได้ ถ้าไม่มีคนจัดการบริหาร ใช่แล้วค่ะ แบรนด์เสื้อผ้าจะมาขายเสื้อผ้าสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ เพราะนี่มันโลกยุคทุนนิยม เอกนี้เหมาะมากสำหรับใครที่ ธุรกิจก็อยากเรียน แฟชั่นก็อยากตาม! เมเจอร์ที่สามารถเรียนได้ ก็มี Fashion Management, Fashion Marketing, Fashion Buying and Merchandising, Psychology of Fashion และ Cosmetic Science

4. Fashion Management: เป็นเอกที่มีความธุรกิจจ้าที่สุดในทุกอัน เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำธุรกิจด้านแฟชั่น ต้องเรียนเกี่ยวกับการจัดการและเศรษฐศาสตร์ บัญชีและการเงิน การวิเคราะห์ธุรกิจ รวมทั้งข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค

5. Fashion Marketing: ใครที่ชอบคิด ชอบเรียนเรื่องคน ชอบขายของ Fashion Marketing หรือ การตลาดแฟชั่น ก็เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจค่ะ โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งยังต้องเรียนเกี่ยวกับการตลาดของแฟชั่นในด้านต่างๆ อย่างเช่น Sustainable Fashion Marketing และ International Fashion Marketing

6. Fashion Buying and Merchandising: ขั้นตอนการซื้อขายสินค้าก็สำคัญค่ะ โดย Buying and Merchandising จะเป็นสายที่ได้เรียนขั้นตอนทั้งหมด เพราะต้องรู้ตั้งแต่เรื่องการวิจัยเกี่ยวกับแฟชั่น พื้นฐานความรู้เรื่องสิ่งทอ ความต้องการของผู้ซื้อ การจัดทำ lookbooks จัดร้านและวินโดว์ดิสเพลย์ เอาเป็นว่าครบจบสูตรมากค่ะ ใครอยากเรียนกว้างๆ ก็แนะนำอันนี้เลยค่ะ

อ่านเพิ่มเติมอาชีพ Fashion Buyer

7. Cosmetic Science: เอ๊ะๆๆ อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงคาใจอยู่ว่า Cosmetic Science มาเกี่ยวอะไรกับธุรกิจแฟชั่นกันนะ? ต้องบอกว่าเกี่ยวแน่นอนค่ะ เพราะวงการแฟชั่นเองก็ต้องใช้เครื่องสำอางและสินค้าอื่นๆ เช่น น้ำหอม สกินแคร์และแฮร์แคร์อยู่ตลอด จนเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดสอนสาขานี้ค่ะ เอกนี้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์สำหรับผู้ที่สนใจเครื่องสำอางและการดูแลตัวเองโดยเฉพาะ ความพิเศษคือนักศึกษาจะเริ่มเรียนจากระดับปริญญาตรี แต่พอจบจะได้ใบปริญญาโทไปด้วย การเรียนในเอกนี้จะได้เข้าแลบทดลองจริง ทำโปรดักต์จริง วิชาเคมีชีวะมาหมดนะคะ!

Photo Credit: University of the Arts London
Photo Credit: University of the Arts London

8. Psychology of Fashion: อีกหนึ่งสายวิทย์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเป็นการนำเรื่องจิตวิทยามาผสมกับแฟชั่น โดยนักศึกษาจะได้เรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อคาดการณ์และแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในสังคมที่เกี่ยวข้องกับวงการแฟชั่นหรือธุรกิจแฟชั่น ตัวอย่างวิชาเรียน ได้แก่ Applications of Psychology in Fashion , Fashion: Culture & Identity, Fashion and Wellbeing และ Social Sustainability and Business Psychology

////

#สายคอนเทนต์

9. Fashion Journalism

มีแพสชันด้านแฟชั่น แต่ก็ชอบคิด ชอบเขียน ชอบฟัง ชอบอ่าน ชอบดู ขอนำเสนอเมเจอร์ 'Fashion Journalism' หรือวารสารศาสตร์ด้านแฟชั่น ในยุคดิจิทัลแบบนี้ การเล่าเรื่องให้ดีและน่าสนใจไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะข้อมูลเยอะแยะมากในอินเทอร์เน็ต นักศึกษาจะได้ฝึกตั้งแต่การเขียนข่าวไปถึงการทำนิตยสาร เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และโพรดักชันส์อื่นๆ เช่น พอตแคสต์ ของตนเอง

10. Fashion Communication and Promotion

มาถึงเมเจอร์สุดท้ายกันแล้วนะคะ 'Fashion Communication' จะคล้ายๆ กับ Journalism ตรงที่เกี่ยวกับการสร้างงานเขียน แต่จะเน้นไปที่ Cultural Studies (วัฒนธรรมศึกษา) การสื่อสารและความรู้ด้านประวัติศาสตร์มากกว่า ซึ่งนอกจากการสื่อสารแล้ว นักศึกษาจะได้เรียนรู้ถึงปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่ส่งผลต่ออาชีพต่างๆ ในวงการแฟชั่น

………….

วันนี้หวังว่าน้องๆ จะได้รู้จักกับสายการเรียนที่กว้างมากขึ้นจากบทความนี้นะคะ เพราะความจริงแล้วอาชีพในชีวิตจริงนั้นสามารถแตกแขนงออกไปได้อีกมาก ใครอยากเรียนทั้งสายวิทย์และศิลป์ ก็ยังมีหลายสาขาที่ผสมผสานทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกัน และหากมีแพสชันด้านแฟชั่น ชอบดู ชอบแต่งตัว ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องไปออกแบบเสื้อผ้าอย่างเดียว หรืออยากทำงานด้านภาษาก็ไม่จำเป็นต้องไปเป็นแอร์โฮสเตสหรือล่ามอย่างเดียวนะคะ อยากให้น้องๆ ลองหาข้อมูลดูก่อนที่จะตัดสินใจเรียนต่อค่ะ // พี่ขอให้ทุกคนได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบนะคะ
 

Sources:https://targetcareers.co.uk/uni/degree-subject-guides/386314-what-types-of-fashion-degrees-can-you-study-at-university https://www.arts.ac.uk/  Photos:Photo by Flaunter on Unsplashhttps://www.arts.ac.uk/subjects/business-and-management-and-science/postgraduate/msc-cosmetic-science-lcf#course-summary 

 

พี่เมนี่
พี่เมนี่ - Columnist ปัจจัย 3 ในการดำรงชีวิต: ดูซีรีส์ กิน ชอปปิง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น