Call Out ผ่านชุดประจำชาติ! ย้อนรอยเหตุการณ์ ‘Femicide Crisis’ ของเหยื่อเพศหญิงในเอลซัลวาดอร์

Hola! ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ เชื่อว่าน้องๆ หลายคนคงได้ติดตามการประกวด ‘Miss Universe 2021’ ที่เพิ่งผ่านไปใช่ไหมคะ และ 1 ในไฮไลต์สำคัญก็คือ ‘ชุดประจำชาติ’ เพราะนอกจากเสื้อผ้าที่พวกเธอสวมจะเผยถึงเอกลักษณ์หรือจุดเด่นของชาตินั้นๆ ได้อย่างงดงามแล้ว ยังเป็นตัวแทนที่ช่วยนำเสนอเหตุการณ์สำคัญ และ Call Out ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศได้ 

และหนึ่งในชุดที่ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงมากเป็นพิเศษในปีนี้ ต้องยกให้กับชุดประจำชาติของ Miss El Salvador ที่ได้แฝงประเด็นเรื่อง ‘Femicide Crisis’ ไว้ในชุดด้วย วันนี้พี่บีมบันก็จะพาน้องๆ ไปย้อนรอยถึงที่มาของเหตุการณ์นี้ พร้อมหาคำตอบว่าทำไมนางงามถึงต้องออกมาเรียกร้อง ถ้าพร้อมแล้วตามมาอ่านกันเลยค่า

*Content Warning! บทความนี้มีเนื้อหาค่อนข้างสะเทือนใจ 
กล่าวถึงการฆาตกรรมและความรุนแรงทางเพศ 

• • • • • • • • •  •

Femicide คืออะไร

Photo  Credit:  www.freepik.com
Photo  Credit:  www.freepik.com

Femicide คือคำศัพท์ที่ใช้เรียกเหตุการณ์ฆาตกรรมผู้หญิงและเด็กผู้หญิง โดยพจนานุกรม Merriam-Webster ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เป็นการฆ่าโดยเจตนาเพียงเพราะเพศสภาพนั้นเป็นเพศหญิงโดยผู้ชาย จากทั้งคนใกล้ตัวและไกลตัว ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าเพื่อเกียรติยศ เพราะความคิดที่ว่าผู้หญิงเป็นคนสร้างความอับอายให้กับครอบครัวหรือถูกฆ่าเพราะความเกลียดชัง

• • • • • • • • •  •

ไม่เป็นที่ยอมรับเพียงเพราะว่าเป็นผู้หญิง

Photo  Credit:  www.atlanticcouncil.org
Photo  Credit:  www.atlanticcouncil.org

ต้องเกริ่นกันก่อนว่าสังคมในประเทศเอลซัลวาดอร์นั้นค่อนข้างกดขี่ผู้หญิงมากๆ เลยค่ะ เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าการที่ผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรงภายในครอบครัวนั้นเป็นเรื่องปกติ ทำให้เด็กหญิงและสตรีเปรียบเสมือนพลเมืองชั้นสองในสังคม พวกเธอต้องยอมรับบทบาทหน้าที่ที่ต้องเป็นเครื่องมือรองรับความต้องการทางเพศและเป็นทรัพย์สินของผู้ชาย 

ผู้หญิงจึงกลายเป็นผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้ชาย หน้าที่หลักคือต้องอยู่แต่ในบ้าน รับใช้ญาติฝ่ายชายและต้องเสียสละตัวเองเพื่อลูกๆ อีกด้วย

Photo  Credit:  https://theglobepost.com/2020/02/06/femicides-el-salvador/
Photo  Credit:  https://theglobepost.com/2020/02/06/femicides-el-salvador/

แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองและกำหนดบทลงโทษที่หนักขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง แต่ด้วยสภาพสังคมที่ยังมีกรอบแนวคิดเดิมๆ ทำให้คนบางส่วนไม่เต็มใจที่จะปกป้องผู้หญิงเหล่านั้น และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ หากผู้หญิงคนไหนที่พยายามทำแท้ง จะต้องถูกลงโทษทางอาญาอย่างรุนแรงด้วยค่ะ // น่าหดหู่มากๆ เลย TT

• • • • • • • • •  •

คดีฆาตกรรมที่สร้างความสยองไปทั่วโลก

Photo  Credit:  www.theguardian.com
Photo  Credit:  www.theguardian.com

ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีคดีฆาตกรรมที่ดังมากในเอลซัลวาดอร์ชื่อ ‘House of Horror’ เป็นคดีของอดีตนายตำรวจ Hugo Ernesto Osorio Chávez วัย 51 ปีที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยหลักในคดีฆ่าหญิงวัย 57 ปีและลูกสาวของเธอ ต่อมาเมื่อทีมนิติเวชได้เข้าไปค้นบ้านของชายคนนี้ก็พบว่ามีหลุมศพอย่างน้อย 7 หลุมถูกฝังไว้บริเวณบ้านและบางหลุมอาจถูกฝังมานานกว่า 2 ปี!

ในหลุมศพดังกล่าว พบเหยื่อผู้เสียชีวิตกว่า 40 รายและส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก อีกทั้งยังมีศพของเด็กหญิงที่มีอายุเพียงแค่ 2 ขวบเท่านั้น และทางตำรวจเองก็เชื่อว่านายโอโซริโอได้ทำการฆ่าคนมานานกว่า 10 ปีแล้วค่ะ

Photo  Credit:  www.theguardian.com
Photo  Credit:  www.theguardian.com

Gustavo Villatoro รัฐมนตรียุติธรรมและความมั่นคงของเอลซัลวาดอร์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่าง DNA ของผู้สูญหายจากญาติที่อาศัยในพื้นที่นั้น เพื่อนำไปตรวจสอบว่าตรงกับศพหรือไม่ และเขาได้บ่งชี้ข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมจากความลึกของหลุมศพว่าอาจมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้มากกว่า 1 คน

ความน่ากลัวของ Femicide Crisis ยังไม่ได้หมดลงแค่นี้นะคะ จากการรายงานของ ORMUSA (องค์กรผู้หญิงเพื่อสันติภาพแห่งเอลซัลวาดอร์) กล่าวว่า ในปี 2020 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้หญิงที่หายสาบสูญไปกว่า 541 คน และยังไม่พบร่องรอยของผู้สูญหายด้วย!

• • • • • • • • •  •

จากปัญหาภายในประเทศ สู่การเรียกร้องผ่านชุดประจำชาติ

Photo  Credit:  Miss Universe 2021
Photo  Credit:  Miss Universe 2021

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นนะคะว่าชุดประจำชาติของประเทศเอลซัลวาดอร์ก็ได้เชื่อมโยงถึงประเด็น Femicide เช่นกัน โดยนางงาม Alenjandra Gavidia ได้อธิบายผ่าน Instagram เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เธอเป็นอนุสาวรีย์แห่งรัฐธรรมนูญ และชุดนี้เป็นการอุทิศและให้เกียรติแก่เหยื่อ 71 รายที่หายตัวไปจากการฆาตกรรมผู้หญิงภายในประเทศ ซึ่งแต่ละสัญลักษณ์มีความหมายดังนี้ค่ะ

  • เทียน - ที่ประดับตรงชายกระโปรงเป็นตัวแทนแห่งความหวังของสมาชิกในครอบครัวผู้สูญหายที่จะมองหาความยุติธรรมแทนคนที่พวกเขารัก
  • เทียนที่ไม่มีแสงไฟ - คือตัวแทนของคนที่รู้สึกหมดหวัง โดยเธอจะแบกรับภาระนั้นเอาไว้บนบ่า เพื่อช่วยพวกเขาแสวงหาความยุติธรรมต่อไปค่ะ
  • รอยมือ - เธอกล่าวว่ารอยมือบนชุดนั้นถูกประทับโดยครอบครัวที่ต้องสูญเสียคนอันเป็นที่รักจากการสูญหายและการฆาตกรรม
  • ลวดลายบนชุด - จะเห็นได้ว่าบนชุดมีรอยการถูกทำร้าย ทุบตีและร่องรอยกระสุน ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญและสังคมกำลังได้รับความเดือดร้อน
  • โซ่ตรวน - สื่อถึงแรงกดดันจากการเมืองและสังคมที่คอยขัดขวางความยุติธรรม
  • ผ้าปิดตาสีดำ - เป็นสัญลักษณ์ของการไว้ทุกข์ค่ะ

อีกจุดที่ถ่ายทอดเรื่องราวก็คือ บริเวณปลายผ้าปิดตาที่มีประโยคเขียนว่า “Ni una menos, ni un desaparecido más” ซึ่งแปลว่า “ไม่ควรมีผู้หญิงลดน้อยลง ไม่มีใครควรสูญหายไปอีก” (Not one (woman) less, not one more dissapeared.) และตัวเธอเองก็ออกมาเรียกร้องให้หยุดใช้ความรุนแรงกับเพศหญิงอีกด้วยค่ะ

ปล. ว่ากันว่าชุดของ Miss El Salvador นั้นอาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากเทพีเธมิส (Themis) ซึ่งเป็นเทพีแห่งความยุติธรรม (Lady of Justice) จะเห็นได้จากการถือดาบและตราชู รวมไปถึงการปิดตาด้วยผ้า เพื่อให้ปราศจากความอคติในการตัดสินคดี

Photo  Credit:  https://theconversation.com/mexicos-other-epidemic-murdered-women-132307
Photo  Credit:  https://theconversation.com/mexicos-other-epidemic-murdered-women-132307

นอกจากประเทศเอลซัลวาดอร์แล้ว ยังมีผู้หญิงอีกหลายประเทศในแถบละตินอเมริกาที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง มีรายงานว่าโดยเฉลี่ยจะมีผู้หญิงเสียชีวิตอย่างน้อย 12 คนต่อวัน ทำให้พวกเขาต้องออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเพศของตัวเองค่ะ (อ่านกรณีของประเทศเม็กซิโกได้ที่ จากปัญหาความรุนแรงทางเพศในเม็กซิโก สู่การเรียกร้อง "Día de Muertas" วันแห่งความตายของผู้หญิง!)

• • • • • • • • •  •

แม้ว่ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมจะตกเป็นของประเทศไนจีเรีย แต่ Alenjandra ก็ได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศของเธอให้ชาวโลกรับรู้ เป็นเรื่องที่กล้าหาญและน่าชื่นชมมากๆ ค่ะ สำหรับใครที่ดู Miss Universe 2021 ชอบชุดประจำชาติประเทศไหนกันบ้าง เอามาเล่าสู่กันฟังได้นะคะ ^^

Sources:http://yris.yira.org/essays/3794 https://www.merriam-webster.com/dictionary/femicide https://edition.cnn.com/2021/09/30/world/femicide-explainer-as-equals-intl-cmd/index.html https://us.as.com/us/2021/12/11/tikitakas/1639199188_017464.html https://www.theguardian.com/world/2021/may/25/el-salvador-house-of-horror-women-murders https://www.bbc.com/news/world-latin-america-57200081 https://www.dailymail.co.uk/news/article-9604107/Mass-grave-40-bodies-discovered-house-former-cop-El-Salvador.html https://www.usnews.com/news/world/articles/2021-11-03/rights-group-raises-alarm-over-threat-to-women-in-el-salvadorhttps://diario.elmundo.sv/salvadorena-alejandra-gavidia-sacude-miss-universo-con-mensaje-ni-una-menos-ni-un-desaparecido-mas/ https://www.icwa.org/gender-discrimination-el-salvador/ Photo Credits:https://theconversation.com/mexicos-other-epidemic-murdered-women-132307 https://www.freepik.com/free-photo/horizontal-shot-ypung-asian-woman-makes-stop-gesture-asks-stop-hurting-her-becomes-victim-sexual-assult-has-bruised-skin-dressed-casual-t-shirt_15223600.htm#page=1&query=violence&from_query=femicide&position=0&from_view=search https://theglobepost.com/2020/02/06/femicides-el-salvador/ https://www.atlanticcouncil.org/content-series/diversity-equity-inclusion/women-protest-for-their-lives-fighting-femicide-in-latin-america/

 

 

 

พี่บีมบัน
พี่บีมบัน - Columnist สาวใต้ผู้หลงรักเครื่องเขียน ศิลปะ และติดซีรีส์จนไม่ยอมนอน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น