Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

กลุ่มสัตว์ตัวอย่างที่ใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ผมเป็นตัวแทนกลุ่ม IS จาก โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ โดยจะขอเผยแพร่ความรู้จากการศึกษาวิชา IS หัวข้อ สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย โดยกลุ่มของเราได้เลือกมาเป็นตัวอย่าง 4 ตัว อันได้แก่ นกกระสาแดง นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ควายป่า และ ละอง ละมั่ง หากมีข้อมูลผิดพลาดประการใด ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
  1) นกกระสาแดง

 ลักษณะ : ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน เป็นนกยางที่มีขนาดใหญ่ ปากยาว คอยาว ขายาว สีตอนบนเป็นสีน้ำตาลดำ ตอนล่างเป็นสีน้ำตาลเหลือง มีลายดำจากมุมปากเป็นทางไปตลอดคอ และจากด้านข้างจนถึงอก ซึ่งมีทั้งสองข้าง ใต้คางค่อนข้างขาว มีขนประดับหรือขนสร้อย ซึ่งมีสีน้ำตาลดำและมีลักษณะเป็นเส้นเล็กยาวแหลมห้อยจากหน้าอกในฤดูผสมพันธุ์ 
ถิ่นที่อยู่อาศัย : พบในแอฟริกา ยุโรป อินเดีย จีน ไต้หวัน พม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศไทยพบทุกภาค เป็นทั้งนกประจำถิ่นและอพยพเข้ามา อาหารได้แก่ ปลา กุ้ง กบ เขียด หอย แมลง สัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ  
พฤติกรรม การขยายพันธุ์ : นกกระสาแดงเป็นนกที่ชอบหากินในเวลา เช้าและเย็น กลางวันชอบเกาะอยู่ตามต้นไม้ หรือกอหญ้าริมหนองบึง หากินตามแหล่งน้ำตื้น ๆ เช่น หนอง บึง นกกระสาแดงวางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง  
สภาพปัจจุบัน : เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 จากผลการประชุมของผู้เชี่ยวชาญ เรื่องนกในประเทศไทย จัดโดยสำนักนโยบาย และแผนสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์นก และธรรมชาติแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๙-๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ได้จัดให้เป็นนกที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ไปจากประเทศไทย เนื่องจากลดจำนวนลงไปอย่างรวดเร็ว จนเหลืออยู่ในธรรมชาติน้อยมาก
 
2)นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

ลักษณะ : นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร มีความยาวจากปากจดหาง ประมาณ 12 -13 ซม. ความยาวเฉพาะหาง มากกว่า 9 ซม. ชาวบ้านในบริเวณที่ค้นพบ เรียกนกชนิดนี้ว่า “นกตาพอง” เนื่องจากลักษณะของตาที่มีวงขาวล้อมรอบลักษณะโดยทั่วไป ลำตัวสีดำสนิท มีเหลือบสีน้ำเงินเข้ม บางส่วน บริเวณหน้าผาก มีกระจุกขนสีดำ คล้ายกำมะหยี่ ขอบตาขาวเด่นชัด นัยน์ตา และ ม่านตาสีขาวอมชมพูเรื่อๆ ขน บริเวณตะโพกสีขาว ตัดกับสีของลำตัว ขนหาง มนกลม แต่ขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมา เป็นเส้นเรียวยาวประมาณ 10 ซม. มองเห็นได้ชัดเจน บริเวณใต้คอสีน้ำตาลอมดำ แข้ง และ ขา สีชมพู
อุปนิสัย : อุปนิสัย แหล่งผสมพันธุ์วางไข่และที่อาศัยในฤดูร้อนยังไม่ทราบ ในบริเวณบึงบอระเพ็ด นกเจ้าฟ้าจะเกาะนอนอยู่ในฝูงนกนางแอ่นชนิดอื่นๆ ที่เกาะอยู่ตามใบอ้อ และใบสนุ่นภายในบึงบอระเพ็ดบางครั้งก็พบอยู่ในกลุ่มนกกระจาบและนกจาบปีกอ่อน กลุ่มนกเหล่านี้มีจำนวนนับพันตัว อาหารเชื่อว่าได้แก่แมลงที่โฉบจับได้ในอากาศ แหล่งที่อยู่อาศัยและการแพร่กระจายอาศัย อยู่ตามดงอ้อและพืชน้ำในบริเวณบึงบอระเพ็ด พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น พบในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว

สถานภาพปัจจุบัน : นกเจ้าฟ้าหญิงสิริธร เป็นนกเฉพาะถิ่น ที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลก คือที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์  นกโบราณที่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไปได้น้อย จึงมีเหลืออยู่ในธรรมชาติน้อยมากมี รายงานการค้นพบที่สามารถยืนยันได้เพียง 10 ตัวเท่านั้น จากรายงานการพบเห็นครั้งหลังสุด ในปี พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 20 ปีแล้ว ที่ไม่ได้เห็นนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอีกเลย และจากการจัด ให้มีการประชุมของสำนักนโยบาย และแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง สถานภาพทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย โดยกลุ่มนักชีววิทยาในประเทศไทย เมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2539 นั้น นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ได้ถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งปัจจุบัน IUCN และสำนักงานนโยบาย และแผนสิ่งแวดล้อม (2540) จัดนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง ซึ่งอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทยหรือจากโลก เพราะ หลายปีที่ผ่านมาไม่เคยมีรายงานการพบนกชนิดนี้อีกเลย นอกจากนี้พระราชบัญญัติ คุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้จัดให้เป็นสัตว์ป่าสงวนอีกด้วย 
สาเหตุการใกล้สูญพันธุ์ : นก เจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกที่สำคัญ ในด้านการศึกษาความสัมพันธ์ของนกนางแอ่น นกชนิดที่มีความสัมพันธ์กับนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรมากที่สุด คือนกนางแอ่นคองโก ซึ่งเป็นนกในสกุลเดียวกัน พบตามลำธารในประเทศซาเอียร์ ในตอนกลางของแอฟริกาตะวันตก แหล่งที่พบนกทั้ง 2 ชนิดนี้ห่างจากกันถึง 10,000 กิโลเมตร  ประชากรในธรรมชาติของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เชื่อว่ามีอยู่น้อยมาก เพราะเป็นนกชนิดโบราณที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน  แต่ ละปีในฤดูหนาวจะถูกจับไปพร้อมๆกับนกนางแอ่นชนิดอื่น นอกจากนี้ที่พักนอนในฤดูหนาว คือ ดงอ้อ และพืชน้ำอื่นๆ ที่ถูกทำลายไปโดยการทำการประมง การเปลี่ยนหนองบึงเป็นนาข้าว และการควบคุมระดับน้ำในบึงบรเพ็ดเพื่อการพัฒนาหลายรูปแบบ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดผลเสียต่อการคงอยู่ของพืชน้ำ และต่อระบบนิเวศการอยู่อาศัยของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นอย่างมาก 
3) ควายป่า

ลักษณะ : ควายป่า เป็นสัตว์ที่มีเท้าเป็นกีบคู่ เหมือนกับกระทิง วัวแดง และโค เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่กินหญ้าเป็นอาหารหลัก มีขนตามลำตัวเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลดำ ฟันกรามบนเป็นฟันตัดสำหรับกัดกินพืช มีความสูงลำตัวประมาณ 1.5-2 เมตร ยาวประมาณ 2.5-3 เมตร มีน้ำหนักตัวได้ถึง 900-1200 กิโลกรัม ตัวผู้ และตัวเมียมีเขาบนศีรษะ ด้านซ้าย-ขวา เขาตัวเมียใหญ่ยาวกว่าตัวผู้ ไม่แตกกิ่ง เขาทั้งสองเพศมีขนาดใหญ่ มีวงโค้งกว้างเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว ไม่มีการพลัดเขาใหม่เหมือนเขากวาง เขามีสีดำ ผิวเขาเป็นคลื่นตัดในแนวขวาง ปลายเขาเรียวแหลม เนื้อเขาแข็ง เชื่อมติดกับกะโหลกบนศีรษะด้านบน โคนเขากว้างประมาณ 20 ซม. ความยาวเขา 150-180 ซม.

แหล่งที่อยู่อาศัย : แหล่งอาศัยควายป่าที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันพบเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือ บริเวณทางตอนใต้ของลำห้วยขาแข้ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งแต่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันไดจนถึงบริเวณสบห้วยไอเย๊าะ ซึ่งรายงานล่าสุดพบเพียง 40 ตัวเท่านั้น ควายป่าไม่ชอบอยู่ป่าเขาสูง เนื่องจากเขาที่ยาวใหญ่ทำให้เกะกะเวลาเดินผ่านป่า จึงมักพบแหล่งอาศัย และหากินบริเวณป่าโปร่งที่ลุ่มใกล้กับแม่น้ำหรือลำห้วยที่มีลานหญ้าหรือเนินหญ้า รองลงมาจะเป็นป่าเบญจพรรณที่มีป่าไผ่ โดยจะออกกินหญ้าในเวลาเช้า-เย็น คล้ายกับควายบ้านทั่วไป และเข้านอนใต้ร่มไม้ในเวลากลางคืน

อาหารหลักของควายป่าจะเป็นหญ้า ใบไม้ และหน่อไม้ รวมถึงผลไม้ป่าชนิดต่างๆ เมื่อกินอาหารอิ่มแล้วมักจะเข้านอนเคี้ยวเอื้องตามร่มไม้หรือพุ่มไม้สูง และบางครั้งจะพบนอนแช่ปักโคลนเพื่อให้โคลนติดลำตัวสำหรับป้องกันแสงแดด และให้ร่างกายมีความเย็น
การผสมพันธุ์ : ควายป่าจะมีสายตาไม่ดีเหมือนกับควายบ้านทั่วไป แต่จะมีประสาทสัมผัสของจมูก และหูที่ไวกว่า มีนิสัยดุร้าย ไม่เกรงกลัวคน ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ส่วนตัวผู้ที่โตเต็มวัยมักจะอยู่เพียงลำพัง แต่จะกลับเข้าฝูงเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ในช่วงปลายฝนถึงฤดูหนาว (ตุลาคม-พฤศจิกายน)การผสมพันธุ์จะเกิดการแย่งชิงกันของผู้นำ หากมีตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้น ตัวที่ชนะจะเป็นผู้นำฝูง และเป็นตัวผสมพันธุ์ในฝูง ส่วนตัวที่แพ้จะหลบหนีห่างจากฝูงหรือไปหาฝูงตัวเมียใหม่ ตัวเมียที่ถึงวัยเจริญพันธุ์จะมีอายุประมาณ 16-18 เดือน ส่วนตัวผู้จะพร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 20-30 เดือน ตัวเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์จะตั้งท้องประมาณ 10 เดือน และออกลูกครั้งละ 1 ตัว ในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝนของปีถัดไป ตัวเมียที่คลอดลูกแล้วหลัง 40 วัน จึงจะสามารถผสมพันธุ์ใหม่ได้ อายุขัยความป่าประมาณ 20-25 ปี หรืออาจมากกว่าเล็กน้อย
สภาพปัจจุบัน : จัดเป็นสัตว์ป่าอนุรักษ์ที่ห้ามจับ ห้ามเลี้ยง ตาม พ.ร.บ. สงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES ในบัญชีที่
4) ละอง ละมั่ง

ลักษณะ : เป็นสัตว์ในตระกูลกวางที่มีขนาดเล็กกว่ากวางป่าเล็กน้อย บางครั้ง ละมั่งตัวผู้จะถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ละอง ละมั่งมีช่วงคอที่ยาวกว่ากวางชนิดอื่น สีของลำตัวออกสีเหลืองแก่และจางลงบริเวณส่วนท้อง ตามสันหลังจะมีจุดสีขาวจางๆเรียงเป็นแนว แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น จุดเหล่านี้จะซีดลง เขามีลักษณะยาวโค้งและแตกเป็นกิ่งที่ส่วนปลาย
ถิ่นที่อยู่อาศัย : พบในเอเชียตั้งแต่

ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

กระจายลงไปพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเกาะไหหลำของประเทศจีน ละมั่งพันธุ์ไทยพบการกระจายแถบเทือกเขาพนมดงรัก กัมพูชา ลาว และเกาะไหหลำ ในประเทศไทยพบทั้งพันธุ์ไทยและพันธุ์พม่า

อุปนิสัยและการสืบพันธุ์ :   ชอบอาศัยอยู่รวมเป็นฝูงใหญ่ ผิดกับกวางป่า ละมั่งมักจะหากินในทุ่งหญ้า เนื่องจากเขาที่แผ่วงกว้างของมัน เป็นอุปสรรคในการ หากินในป่าทึบ ละมั่งชอบออกหากินช่วงเช้า เย็น และเวลากลางคืน ส่วนตอนกลางวันพวกมันจะหลบนอนในบริเวณที่มีหญ้าขึ้นสูง ละมั่งชอบกินดินโป่งเหมือนสัตว์อื่น

   ละมั่งจะจับคู่ผสมพันธุ์ ระหว่าง เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนมกราคม ตกลูกครั้งละหนึ่งตัว
สภาพปัจจุบัน :  มีรายงานพบละมั่งในธรรมชาติเพียง 3 ตัวที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เมื่อปี 2539 แต่ปัจจุบันไม่มีรายงานการพบดังกล่าว และมีผู้กล่าวว่าละมั่งพันธุ์ไทยได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของไทยและเวียดนามแล้ว แต่ละมั่งในกรงเลี้ยงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยมีการเลี้ยงละมั่งในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของทางราชการหลายแห่ง และ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี มีจำนวนมากกว่า 150 ตัว ละมั่งพันธุ์ไทยมีเลี้ยงอยู่แห่งเดียว คือ สวนสัตว์ดุสิตกรุงเทพฯ

จากการจัดสถานภาพโดย IUCN (2004) ละมั่งมีสถานภาพเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์(Endangered) และจากการคุ้มครองโดยอนุสัญญา CITES (2005) ละมั่งจัดอยู่ในบัญชี1 (Appendix l)

จากการศึกษาแล้วสามารถสรุปสาเหตุการใกล้สูญพันธุ์ของสัตว์กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ ได้ดังนี้
นกกระสาแดง

          สาเหตุที่ใกล้สูญพันธุ์ : ถูกคุกคามแหล่งที่อยู่อาศัยทั้งจากมนุษย์และสัตว์

 

          นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

          สาเหตุที่ใกล้สูญพันธุ์ : ถูกจับไปในฤดูหนาว และดงอ้อยถูกทำลาย

 

          ควายป่า

          สาเหตุที่ใกล้สูญพันธุ์ : ถูกล่าเพื่อเอาเนื้อกับเขา

 

          ละองละมั่ง

          สาเหตุที่ใกล้สูญพันธุ์ : แหล่งที่อยู่ถูกทำลายกลายเป็นนาข้าว

ขอขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่าน ผู้จัดทำหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยแก่ผู้อ่าน หากมีข้อผิดพลาดประการใด สามารถติหรือชม คณะผู้จัดทำยินดีน้อมรับทุกคำติชม ขอขอบพระคุณอีกครั้ง 
 แหล่งอ้างอิง
http://www.chiangmaizoo.com/web25/en/encyclopedia-2/poultry-en/28-animal-wiki/animal-wing/177-lophura-nycthemera-17.html

https://sites.google.com/site/mahachat039/futbxl


http://www.brr3.net/stu2557/6101/index.php/2015-02-23-05-46-32

http://pasusat.com/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2/

http://www.komkid.com/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87-eld-deer/

http://tryanimal.blogspot.com/p/blog-page_35.html

 

แสดงความคิดเห็น

1 ความคิดเห็น