Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ตึกชิโน-โปรตุกีส ภูเก็ต หนึ่งเดียวมรดกโลก

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

"นครแห่งชิโน-ยูโรเปียน" เมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง
.
ผมเป็นแฟนตัวยงของตึกทรงชิโน-ยูโรเปียน (Sino-European) ชนิดเห็นเป็นไม่ได้ ต้องควักกล้องออกมาถ่ายตลอด พอมาเขียนนิยาย ก็ยังเคยแต่งให้พระเอกมีบ้านอยู่ในตึกแถวสไตล์นี้
.
ชื่อนี้อาจไม่คุ้นเท่าไหร่ เพราะในอดีตสถาปนิกไทยเคยเรียกสถาปัตยกรรมรูปแบบนี้ในย่านย่านเมืองเก่าภูเก็ตว่า ชิโน-โปรตุกีส (Sino-Portuguese) มาตั้งแต่ราว พ.ศ.2529 ก่อนจะมารณรงค์ให้เรียก "ยูโรเปียน" แทน "โปรตุกีส" เพื่อครอบคลุมยิ่งกว่า เนื่องจากว่าศิลปะที่ปรากฏอยู่บนตึกไม่ใช่ของโปรตุเกสชาติเดียว แต่เป็นของยุโรปหลาย ๆ ชาติปนกัน
.
ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด ก็คือตึกแถวแนวจีนผสมยุโรป องค์ประกอบทางศิลป์จะปะปนกัน เช่น ตึกทรงตะวันตก มีหัวเสา หน้าต่าง ลายปูนปั้นแบบยุโรป แต่กลับมีประตู ช่องแสง และปูกระเบื้องลายจีน

.
ตึกชิโน-ยูโรเปียนมีอยู่ทั่วไปตั้งแต่ภาคใต้ของไทย คาบสมุทรมลายู ช่องแคบมะละกา ไปไกลจนกระทั่งเวียดนาม มาเก๊า และเกาะไหหลำของจีน มีชื่อเสียงเป็นพิเศษในโลกมลายู ด้วยเป็นบ้านอยู่อาศัยของพวกเปอรานากัน หรือชาติพันธุ์ลูกผสมจีน-มลายู
.
นอกจาก 2 ชื่อที่กล่าวมา ชิโน-ยูโรเปียนจึงมีคำเรียกอื่น ๆ อีกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น บาโรคจีน (Chinese Baroque), สถาปัตยกรรมผสมผสานแถบช่องแคบ (Straits Eclectic architecture) หรือแม้แต่สถาปัตยกรรมเปอรานากัน (Peranakan architecture)
.
ส่วนใหญ่ตึกเหล่านี้จะสร้างโดยยึดแบบจากตึกแนวตะวันตก แต่สร้างโดยช่างชาวจีน เป็นที่อยู่ของคนเชื้อสายจีน จึงมีการผสมความเป็นจีนลงไปในตัวตึกด้วย
.
ในรอบ 6 ปีหลัง ผมได้ไปเที่ยวชมเมืองเก่าหลายแห่งที่มีสถาปัตยกรรมทรงนี้ ไล่มาตั้งแต่ มาเก๊า, มะละกา, กัวลาลัมเปอร์, ภูเก็ต, บูกิต เมอร์ตาจัม ยังไม่เคยพบเจอเมืองใดที่รุ่มรวยด้วยชิโน-ยูโรเปียนอย่างจอร์จทาวน์มาก่อน
.
ขณะที่ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองอื่น ๆ ที่กล่าวมา มักกระจุกตัวอยู่แค่ไม่กี่ช่วงถนน หรือเป็นย่านไม่ใหญ่นัก แต่ชิโน-ยูโรเปียนในเมืองหลวงของปีนังมีอยู่ทุกหนแห่ง ไปที่ไหนก็เจอแต่ตึกแถวแบบนี้ จะหาตึกแถวที่ไม่ใช่ชิโน-ยูโรเปียนยังยากเสียกว่า มีมากเสียจนคนที่ชอบอย่างผมเดินชมจนเอียน ไม่รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นอีกต่อไป
.
ซึ่งถ้าหากจะแบ่งยุคสมัยของชิโน-ยูโรเปียนด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรม จะแบ่งได้เป็น 3 ยุค ดูจากหน้าต่างชั้นบนเป็นสำคัญ
.
ยุคแรก - หน้าต่างมักทำเป็นไม้บานเกล็ดแบบจีน
ยุคกลาง - หน้าต่างมักทำเป็นยอดซุ้มโค้งแบบฝรั่งเศส
ยุคหลัง - หน้าต่างมักทำเป็นทรงเหลี่ยม มีลวดลายแบบอาร์ตเดโค
.
ตึกแถวชิโน-ยูโรเปียนหลาย ๆ เมืองแทบจะไม่เหลือตึกเก่ารุ่นหน้าต่างยุคแรกแล้ว แต่ของปีนังยังพบได้ประปราย มีทั้งที่อยู่ในสภาพดีและทรุดโทรมจนอยู่ไม่ได้
.
อนึ่ง หลายท่านอาจไม่เคยทราบว่าชิโน-ยูโรเปียนที่มีอยู่ดาษดื่นในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ตามถนนถลาง ถนนกระบี่ หรือถนนพังงานั้น แท้จริงก็ได้หยิบยืมรูปแบบมาจากตึกแถวในเมืองจอร์จทาวน์นี้เอง เพราะเมื่ออดีตกาล ภูเก็ตและปีนังต่างสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน มีบันทึกว่าชาวภูเก็ตผู้มั่งมีเริ่มนำรูปแบบตึกจากเกาะปีนังเข้ามาสร้างบนเกาะของพวกตนราวปี พ.ศ.2430
.
ใครที่หลงใหลในตึกแถวสไตล์ชิโน-ยูโรเปียนเช่นผม มาเที่ยวเกาะปีนังเถอะครับ แล้วจะรู้สึกเต็มอิ่มจุใจกับความงามของตึกเก่าที่ยังมีชีวิตอยู่


Cr.fb pattadon kij...

แสดงความคิดเห็น

>