Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

Review วิชาในการเรียนรัฐศาสตร์ ม.นเรศวร ฉบับเด็กปี 4 (Part 4)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
          ปี 3 เทอม 1

          วิชาระเบียบวิธีวิจัยทางรัฐศาสตร์
              วิชานี้ก็ตรงตามชื่อวิชาเลยครับ อาจารย์จะสอนให้เราสามารถเขียนงานวิจัยในเชิงวิชาการทางรัฐศาสตร์เป็น อาจกล่าวได้ว่าเป็นภาคต่อของวิชาการเขียน (Ver. Advance) ก็ว่าได้ครับ โดยวิชานี้จะมีการแบ่งเซคการเรียนในปีผมเป็น 2 เซค (แต่ปี 2566 มีการแบ่งเป็น 3 เซค) ในเซคผมก็จะแบ่งอาจารย์ผู้สอนออกเป็น 2 ท่าน ท่านละครึ่งเทอม อาจารย์ท่านแรกจะมาสอนเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยอาจารย์ท่านนี้ที่สอนผม ท่านก็จะให้เลือกเลยว่าอยากอ่านงานวิจัยเกี่ยวกับอะไร แล้วอาจารย์ก็จะหางานวิจัย (ภาษาอังกฤษหมด) มาให้เราอ่าน แล้วเอามาบรรยายในชั้นเรียนว่าในงานวิจัยชิ้นนั้นมีข้อเสนอหรือข้อถกเถียงอะไร มีโครงสร้างการเขียนงานวิจัยอะไรอย่างไรบ้าง ก็เสมือนว่าอาจารย์ชี้ให้เราเห็นจากงานวิจัยจริง ๆ เลยว่าถ้าเราต้องเขียนงานวิจัย เราต้องแบ่งโครงสร้างการเขียนอะไรยังไง นอกจากนั้น อาจารย์ก็จะให้เราได้เขียนโครงร่างงานวิจัยในหัวข้อที่เราเลือกเองทั้งหมด 3 บทด้วยเช่นกัน โดยสามารถนำหัวข้อไปเสนออาจารย์เพื่อขอคำแนะนำไปเลย ผมอยากจะบอกว่าโครงร่างนี้ค่อนข้างสำคัญนะครับ เนื่องจากหากโครงร่างนี้ของเรา เราสามารถนำไปปรับปรุงและต่อยอดในการทำวิทยานิพนธ์ตอนปี 4 ได้เลย ทำให้ประหยัดเวลาในการคิดหัวข้อและหาประเด็นการเขียนวิทยานิพนธ์ใหม่ อยากให้ทุกคนตั้งใจทำตรงนี้ให้เต็มที่ เพราะจะทำให้ตอนปี 4 เขียนวิทยานิพนธ์ได้สบายมากยิ่งขึ้นครับ ในส่วนครั้งเทอมหลัง อาจารย์อีกท่านก็จะมาสอนระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ โดยในพาร์ทนี้อาจารย์จะค่อนข้างสอนและบรรยายตามสไลด์เป็นหลัก โดยจะพาเราไปทำความรู้จักว่าวิจัยเชิงปริมาณคืออะไร มีโครงสร้างเนื้อหาอะไรอย่างไรบ้าง และความพิเศษของวิจัยเชิงปริมาณก็คือต้องใช้โปรแกรม SPSS ในการทำวิจัยครับ เพราะต้องมีการใช้ตัวเลข แบบสอบถาม และสถิติเข้ามาเกี่ยวข้อในการทำวิจัย ใครที่ไม่ค่อยตัวเลขอาจจะเบื่อก็เป็นได้ครับ ซึ่งอาจารย์ท่านนี้ก็จะมีให้เราเขียนงานวิจัยเชิงปริมาณเช่นกันครับ แต่ทำทั้งหมด 5 บท!! เสมือนว่าเราทำวิทยานิพนธ์เลย 5555 แต่ทำเป็นคู่นะครับ อาจจะแบ่งเบาภาระได้ และก็จะมีการสอบปลายภาคด้วย ก็เป็นการสอบโดยการใช้โปรแกรม SPSS เลย ต้องมีคอมนะครับ งั้นจะลำบาก โดยรวมวิชานี้ก็ค่อนข้างหนักพอสมควร เพราะต้องเขียนโครงร่างงานวิจัยถึง 2 เล่ม แต่ก็สนุกมาก ๆ เพราะทำให้เราได้ทักษะในการเขียนงานวิจัยในตอนปี 4 สุด ๆ เก็บทักษะอะไรได้เก็บให้มากที่สุดครับ

          วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์สำหรับนักรัฐศาสตร์
             วิชานี้ถือเป็นอีกวิชาที่เด็กรัฐศาสตร์จะต้องเรียนกับวิจารย์จากคณะนิติศาสตร์ โดยอาจารย์ก็จะสอนเกี่ยวความเบื้องต้นเลยว่ากฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีหลักการอะไร อย่างไรบ้าง ในแต่ละหมวดหมู่ อาทิเช่น สภาพบุคคล บุคคลในทางกฎหมาย ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ มรดก นิติกรรมสัญญา ฯลฯ การเรียนอาจารย์ก็สอนตามสไลด์ และที่แปลกใหม่เลยคือ อาจารย์จะให้เราทำรายงานกลุ่มเกี่ยวกับหัวข้อทางกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (อาจารย์เลือกให้) แล้วจะให้เรามานำเสนอหน้าชั้นเรียน โดยอาจารย์จะนำสไลด์ที่เรานำเสนอมาสอนควบคู่ไปกับตอนที่เรานำเสนอ พร้อมกับให้คำแนะนำว่าควรแก้ไขและปรับปรุงตรงไหนเพิ่มเติม เนื้อหาที่อาจารย์ส่วนตัวผมค่อนข้างง่วงเล็กน้อย เพราะเนื้อหากฎหมายค่อนข้างเยอะ ทำให้อาจเบื่อได้ง่าย ผมเลยเน้นไปอ่านเองเสียมากกว่า ในส่วนของการสอบก็จะมีทั้งสอบกลางภาคและปลายภาค โดยกลางภาคอาจารย์จะสอบเป็นข้อกา เน้นจำหลักกฎหมายแล้วนำมาประยุกต์กับสถานการณ์ที่อาจารย์ยกมาให้ในห้องสอบ ถ้าจำได้ ประยุกต์เป็นก็ได้คะแนนไม่ยากครับ ในส่วนข้อสอบปลายภาคปีผมอาจารย์ให้ทำเป็น Take home ประมาณ 2-3 ข้อ เป็นข้อเขียนนะครับ มีทั้งข้อสอบแบบเขียนบรรยายกับข้อสอบตุ๊กตาหรือข้อสอบอุทาหรณ์ หลักการเขียนก็ต้องเขียนตามหลักนิติศาสตร์นะครับจึงจะได้คะแนน อย่าเอาหลักการเขียนทางรัฐศาสตร์มาเขียนนะครับ งั้นตายย!

          วิชากฎหมายอาญาสำหรับนักรัฐศาสตร์
              วิชานี้ก็คล้าย ๆ กับวิชาแพ่งเลยครับ แต่จะมาโฟกัสกับหลักการทางอาญาทั้งในส่วนอาญาภาคทั่วไป และอาญาภาคความผิดครับ อาทิ กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ไม่มีกฎหมายไม่มีความผิด หลักผู้บริสุทธิ์หากยังไม่ถูกตัดสิน การกระทำผิดในและนอกราชอาญาจักร สภาพโทษทางอาญา โครงสร้างการรับผิดทางอาญา และในส่วนความผิดต่อเข้าหน้าที่ก็โฟกัสกฎหมายอาญาตั้งตามาตรา 136-166 เลยครับ ส่วนตัวอาจารย์ท่านนี้แม้จะสอนง่วงเล็กน้อย แต่สอนเข้าใจค่อนข้างมากเลยครับ เพราะอาจารย์จะยกข้อกฎหมาย พร้อมยกฎีกาหรือตัวอย่างประกอบข้อกฎหมายอยู่ตลอด ทำให้เข้าหลักการทางอาญาได้ไม่ยากนัก (อยากให้ตั้งใจในวิชานี้ เพราะจะเอาไปต่อยอดในวิชากฎหมายปกครองต่อไปได้ครับ) ในส่วนคะแนนก็จะแบ่งออกเป็นกลางภาคและปลายภาค สอบในห้องทั้งคู่และเป็นข้อเขียนทั้งหมด โดยในส่วนกลางภาคจะเป็นข้อสอบเขียนบรรยายเดียว แต่ในข้อสอบปลายภาคจะเป็นข้อสอบตุ๊กตา จะต้องจำหลักกฎหมายเข้าไปสอบ ไม่งั้นเขียนตอบไม่ได้น้า (อาจารย์ชอบเน้นพวกเรื่องดูหมิ่น กับหมิ่นประมาทครับ) และอาจารย์จะมีให้เราเขียน Paper เดี่ยว ประมาณ 5-8 หน้า เกี่ยวกับหัวข้อทางกฎหมายอาญาด้วย แล้วแต่เราจะเลือกสามารถเสนออาจารย์ได้เลย การเขียนก็สามารถนำหลักการเขียนทางรัฐศาสตร์มาประยุกต์ได้ เพียงแต่ต้องนำเสนอแง่มุมหรือหลักการทางกฎหมายประกอบด้วยครับ โดยรวมก็ประมาณ ถ้าตั้งใจทำข้อสอบก็เก็บ A ไม่ยากครับ (ปีผมอาจารย์ออกเกรดช้าหน่อย แต่ได้ A มาก็ชื่นใจครับ 5555)

        วิชาทฤษฎีการเมืองมาร์กซิสต์ (วิชาเอกเลือกปกครอง)
          วิชานี้เป็นวิชาเอกเลือกของเอกการเมืองการปกครองนะครับ โดยวิชานี้ถ้าได้เรียนวิชาสังคมวิทยากับวิชาทฤษฎีการเมืองมา ก็จะมีพื้นฐานเกี่ยวกับคาร์ล มาร์กซ์ระดับหนึ่งซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเรียนวิชานี้ได้ดีครับ โดยวิชานี้อาจารย์ผู้สอนก็จะพาเราไปเจาะลึกเกี่ยวกับความคิดทางการเมือง หรือกระทั่งเศรษฐกิจของมาร์กเลยว่าเขานำเสนออะไรหรือแง่มุมไหนไว้บ้าง อาทิเช่น สภาวะแปลกแยก วัตถุนิยมเชิงประวัติศาสตร์ ศาสนากับการเมือง วิถีการผลิต มูลค่าส่วนเกิน การต่อสู้ทางชนชั้น ฯลฯ เนื้อหาค่อนข้างสนุก ทำให้เราได้วิพากษ์สังคมทุนนิยมในปัจจุบันว่ามันมีปัญหาหรือสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งอาจารย์ผู้สอนใจดีมากครับ อาจารย์สอนเป็นกันเอง มีสไลด์ให้ มีเอกสารคำสอนที่อาจารย์เรียบเรียงขึ้นมาเองให้อ่านประกอบ วิชานี้มีแค่คะแนนการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน มีโปรเจกต์ท้ายเทอมทำเป็นกลุ่ม ให้ถ่ายวิดีโอสถานการณ์จำลองแล้ววิเคราะห์ผ่านทฤษฎีของมาร์ก และก็จะมีข้อสอบ Take home ให้ทำ ข้อสอบก็เกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนแล้วให้เราวิพากษ์กับนำมาประยุกต์หรืออธิบายกับเหตุการณ์ในความเป็นจริงเลยครับ อาจารย์ให้เวลาค่อนข้างมาก โดยรวมวิชานี้ถ้าตั้งใจเรียน บอกเลยครับว่าเก็บ A สบาย ๆ ครับ

          วิชากลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง (วิชาเอกเลือกปกครอง)
              วิชานี้ก็เสมือนเป็นวิชาที่อาจกล่าวได้ว่าต่อยอดมาจากวิชาการเมืองการปกครองเบื้องต้น และวิชาการเมืองเปรียบเทียบ แต่จะมาให้ความสำคัญเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง และการเลือกตั้งครับ โดยวิชานี้ก็เป็นอีก 1 วิชาเอกเลือกของเอกการเมืองการปกครอง มีการแบ่งอาจารย์ผู้สอนออกเป็น 3 ท่าน ซึ่งท่านแรกจะสอนครึ่งเทอมแรก อาจารย์ท่านจะสอนทฤษฎีเกี่ยวกับกลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง โดยอาจารย์จะชี้ให้เห็นเลยว่ากลุ่มผลประโยชน์คืออะไร พรรคการเมืองคืออะไร ทั้ง 2 กลุ่มนี้ต่างกันอย่างไร มีบทบาทหน้าที่เหมือนและต่างกันอย่างไร รวมไปถึงอาจารย์ก็จะพาเราไปทำความรู้จักและความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งในแต่ละประเภทว่ามีอะไรบ้าง ต่างกันอย่างไร ส่งผลต่อผลลัพธ์ทางการเมืองอย่างไร ความน่าสนใจคืออาจารย์จะสอนเราคำนวณสูตรการเลือกตั้งด้วยว่าจะต้องคำนวณอย่างไร ใครอยากทำงาน กกต. ถือว่าน่าสนใจเลยครับ โดยอาจารย์จะให้เราเสนอเลยว่าอยากออกแบบสัดส่วนคะแนนอะไรอย่างไร อาจารย์ค่อนข้างเปิดกว้าง และให้คะแนนง่ายมาก ขอแค่หมั่นตอบคำถามอาจารย์ในคาบกับตั้งใจทำข้อสอบ ในส่วนอาจารย์อีก 2 ท่านจะมาสอนคนละ 25 % อาจารย์ท่านจะพาเราไปทำความรู้จักกับกลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง และการเลือกตั้งในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบอาเซียน รวมไปถึงประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เหมือนพาเรามาเปิดโลกว่าหลังจารกที่เราเรียนเชิงทฤษฎีกับอาจารย์แรกไปแล้ว เราสามารถนำมาอธิบายในแต่ละประเทศได้อย่างไร วิชานี้ก็ถือเป็นอีก 1 วิชาที่เหมาะแก่การเก็บ A เนื่องจากเนื้อหาการเรียนไม่ได้หนักเกินไปครับ

        วิชาเอเชียตะวันออกร่วมสมัย
          วิชานี้เป็นวิชาเอกเลือกของเอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนะครับ แต่ผมสนใจอยากลงเรียนเป็นวิชาเลือกเสรี เลยยื่นใบคำร้อง (NU 6) มาเรียน วิชานี้ก็จะเรียนเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ รวมไปถึงไต้หวัน เลยครับ โดยอาจารย์ผู้สอนท่านเปิดโอกาสให้เราสามารถเสนอได้เลยว่าเราอยากเรียนอะไรเกี่ยวกับประเทศในเอเชียตะวันออก อาจารย์ก็จะไปออกแบบแผนการเรียนและหางานมาให้เราได้อ่านก่อนเรียนเช่นเคย (งานภาษาอังกฤษ 70-80%) ตอนที่เรียนก็เสนอไป อาทิ ประชาสังคมในเอเชียตะวันออก Soft power ในเอเชียตะวันออก ประชานิยมในเอเชียตะวันออก ประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออก ชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออก ฯลฯ อาจารย์จะชวนเราตั้งคำถามและแสดงความเห็นตลอดการเรียนเลยครับ ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อเลย โดยรวมวิชานี้คือไม่ได้เป็นวิชาที่ยากหรือง่ายเกินไป ถ้าใครชอบหรือสนใจในประเทศเหล่านี้แนะนำให้ลงเรียนเลยครับ ค่อนข้างเปิดโลกเลย ผมก็มาเรียนด้วย Passion ล้วน ๆ ก็เก็บ A มาได้ครับ
        
#รัฐศาสตร์มน  #รัฐศาสตร์  #สิงห์ม่วง  #สิงห์นเรศวร  #มอนเรศวร

แสดงความคิดเห็น

>