Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

นักเขียนแนวแฟนตาซีแต่ละท่าน มีวิธีสร้างตัวละครอย่างไรบ้างครับ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
เนื่องจากพิมพ์ตอบกระทู้หนึ่งแล้วรู้สึกว่ายาวเกินไป จนเกิดสงสัยขึ้นมาว่า วิธีที่ผมเรียนรู้มามันถูกต้องหรือเปล่า หรือมันอาจจะมีวิธีที่ดีกว่าที่ผมใช้ ก็เลยขอ โพสถามว่า ตัวละครหลักในนิยายของท่าน ไม่ว่าจะประวัติความเป็นมา ความสามารถ  มีวิธีคิดจากอะไร หากเริ่มจากกระดาษเปล่า ๆ มีขั้นตอนอย่างไรถึงจะสร้างตัวละครออกมา "ให้พอเห็นเป็นรูปเป็นร่าง" ขอบคุณครับ

แสดงความคิดเห็น

>

14 ความคิดเห็น

Louis Forest 27 ธ.ค. 61 เวลา 12:40 น. 1

ผมใช้สูตรของ เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) คนเขียน The Great Gatsby (ชื่อไทย รักเธอสุดที่รัก) ครับ... แต่ใช้กับแฟนตาซีนะ คือตัวละครทุกตัวต้องจบเรื่องราวของเขามาแล้ว ก่อนจะเข้าเรื่องที่เราจะเขียนครับ เพราะจุดนี้ควรเป็นจุดพีคที่สุดของเรื่อง เวลาเท้าความจะได้ไม่ยาวมาก (ไม่ยัดข้อมูลใด ๆ เลย) ฟิตซ์เจอรัลด์คนเขียนเขาเข้าใจตัวละครเพราะจบแล้วทุกตัว ก็หยิบสิ่งที่ชัดที่สุดมาให้คนอ่านได้ครับ เล่มก็บาง ๆ ครับแต่เป็นสุดยอดงานวรรณกรรมเลยครับ สรุปคือ ประวัติความเป็นมา ความสามารถ นิสัยใจคอ ตัวละครทุกตัวก่อนที่จะมาถึงเรื่องของเราจะต้องจบมาก่อนแล้วครับ อย่าสร้างตัวละครและสร้างพล็อตพร้อมกัน อย่างใดอย่างหนึ่งควรจบแล้วถึงจะสร้างอีกอย่างได้ครับ

2
yurinohanakotoba 27 ธ.ค. 61 เวลา 12:44 น. 1-1

ไอเดียนี้จัดว่าเด็ด เผ็ดในตัวเองมาก ขอจดไปใช้นะครับ

0
jesjournal90 27 ธ.ค. 61 เวลา 21:08 น. 1-2

เราทำคล้าย ๆ กับคุณ Louis แต่จะร่างพล็อตในหัวก่อน แล้วเขียนประวัติตัวละครแบบละเอียดตามนั้นเลย จากนั้นค่อยสลับมาแก้พล็อตที่ร่างคร่าว ๆ ให้สมบูรณ์ค่ะ เอาเข้าจริง พล็อตดำเนินเพราะตัวละครเลย ยืนยันว่าวิธีนี้ช่วยให้เขียนง่ายขึ้น ยิ่งมองผ่านมุมมองตัวละครก็จะเข้าหัวเขาได้ขึ้นด้วยค่ะ

+ ทำไฟล์ไว้ เปิดข้างกันเวลาเขียน

0
- Alice - 27 ธ.ค. 61 เวลา 13:05 น. 2

เนื้อเรื่องหลักเป็นอย่างไร...? ต้องการตัวละครแบบไหน? หาตัวละครที่เราอยากวางใส่พล็อตเรื่อง...


> บุคคลิก > ปม, ปัญหาชีวิต > รูปลักษณ์ > รายละเอียดเพิ่มเติม


คร่าวๆ ก็ประมาณนี้ เลือกบุคคลิกที่ต้องการเสร็จแล้ว ก็ใส่สาเหตุว่าทำไมเขากลายเป็นคนแบบนี้ พบเจออะไรมาก่อนในอดีตบ้าง


บางทีก็ใช้เรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาใส่ลงไป อย่างเช่น... คนที่ร่าเริงเข้าขั้นบ้า เฮฮา มีแต่เสียงหัวเราะ นั่นอาจเพราะเขาแค่ต้องการกลบแผลใจ เขาไม่ได้มีชีวิตสุขสบายอย่างที่คิด... อะไรทำนองนี้...


#ขั้นตอนค่อนข้างเรียบ


2
yurinohanakotoba 27 ธ.ค. 61 เวลา 13:52 น. 2-1

เริ่มโดยมองจากเนื้อเรื่อง แล้วให้เนื้อเรื่องสร้างเซ็ตติ้งให้กับตัวละครใช่ไหมครับ ขอถามเพิ่มอีกหน่อย คุณว่าสำคัญไหมที่ตัวละครหลักต้องมีความ unique ที่ชัดเจน เช่นเป็นเด็กคนเดียวที่รอดชีวิตจากจอมมาร มีเพียงบาดแผลรูปสายฟ้าที่หน้าผาก และ ควรสร้างเซ็ทติ้งให้ตัวเอกเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเรื่องราวหรือเปล่า เช่นต้องการล้างแค้น ขอบคุณครับ

0
- Alice - 27 ธ.ค. 61 เวลา 15:29 น. 2-2

เอกลักษณ์คือสิ่งที่จำเป็นค่ะ อย่างน้อยต้องมี 1 อย่างที่ตัวละครโดดเด่นออกมา ไม่งั้นจะกลายเป็นจืด


"ตัวเอก" ควรเป็นจุดกลางของเรื่องราวและควรมีความสำคัญต่อเนื้อเรื่อง อย่างน้อยๆ 50-60% (กรณี 80-100% ต้องเรียกว่า "โลกหมุนรอบตัวเขา") แต่ควรมีขอบเขตสักนิด อย่าให้เขามีความสำคัญเกินไป เขียนให้สมเหตุสมผลกับตัวตนของเขาที่ตั้งใจไว้... ถ้าจะให้เขารับบทบาทสำคัญในภายหลัง ก็ต้องเขียนให้เห็นถึงการพัฒนาให้ได้


0
A.p.Alis 27 ธ.ค. 61 เวลา 13:06 น. 3

ทุกครั้งเราจะเริ่มจากการสร้างคาแรคเตอร์ตัวละครขึ้นในหัว จินตนาการเอาว่าหน้าตานิสัยความชอบความเกลียดต่าง ๆ ของตัวละครนั้นเป็นอย่างไร และพยายามทำความเข้าใจกับลักษณะของตัวละครนั้น ๆ ให้ได้มากที่สุด จากนั้นถึงจะเริ่มเขียนมันออกมาเป็นตัวอักษร


นิยายส่วนใหญ่ของเราจะใช้ตัวละครที่เราสร้างทิ้งเอาไว้ ไม่ใช่วางพล็อตแล้วถึงค่อยมาสร้างตัวละครที่หลัง แต่เป็นสร้างตัวละครสต็อกเอาไว้ก่อน เมื่อเขียนพล็อตเสร็จก็ค่อยมาเลือกตัวละครที่เหมาะกับบทนั้น ๆ ออกมาใช้ค่ะ

2
yurinohanakotoba 27 ธ.ค. 61 เวลา 13:58 น. 3-1

อันนี้คือหยิบจากสต็อกตัวละคร แล้วเวลาเราดำเนินเรื่องไปเรื่อย ๆ มีปัญหาเรื่องตัวละครเปลี่ยนจากตอนเริ่มต้นจนกลายเป็นคนละคนหรือเปล่าครับ ขอบคุณครับ

0
A.p.Alis 27 ธ.ค. 61 เวลา 14:25 น. 3-2

ไม่เคยมีปัญหาแบบนั้นนะคะเพราะเราวางคาแรคเตอร์เอาไว้ค่อนข้างละเอียด

0
Alexandar 27 ธ.ค. 61 เวลา 13:14 น. 4

เริ่มจากชื่อ เรามักชอบใช้ความหมายของชื่อเป็นตัวเริ่มต้น

อ้างอิงจากเรื่องที่แต่งอยู่ แนวเกมออนไลน์

นางเอกชื่อ เฟิงหลง แน่นอนความหมายคือมังกรสายลม ความหมายโดยนัยคือ สายลมที่หมายถึงอิสระ และมังกรที่เป็นตัวแทนของอำนาจบารมี ทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่ตัวละครตัวนี้กำลังโหยหาอยู่


การสร้างประวัติ เรายึดหลักการที่เคยมีใครคนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า 'โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ'

ดังนั้นตัวละครที่สร้างมาแม้จะฉลาดเป็นกรด ความจำดี เก่งไปทุกอย่าง แต่ก็มีปมด้อยในใจลึกๆ บางทีก็ใส่สิ่งที่เรื่องจริงเราไม่มีหรือทำไม่ได้ลงไป แล้วใช้การเดินเรื่องแบบflashbackเป็นครั้งคราวเพื่อในนักอ่านค่อยซึมซับปมด้อยต่างๆอย่างช้าๆ


ได้โครงคร่าวๆก็เริ่มสวมบทตัวละครนั้นแล้วเอาไปตอบคำถามในมุมมองของตัวละครนั้นๆอีก 10-20 ข้อ

เอาจากในลิงค์นี้เลยค่ะ ของพี่น้ำผึ้ง

https://www.dek-d.com/writer/47947/


4
yurinohanakotoba 27 ธ.ค. 61 เวลา 14:25 น. 4-1

อันนี้คือมีโลกตั้งอยู่แล้ว สร้างตัวละครเข้าไปโลดแล่นในเรื่อง โดยมีเป้าหมายของตัวละครเป็นตัวกำหนดพล็อตแบบยืดหยุ่น เน้นลักษณะนิสัยของตัวละครต่อคนอ่านให้ชัดเจน ผมเข้าใจแบบนี้ถูกไหมครับ เห็นคนใช้วิธีนี้กันมาก ปัญหาที่ผมพบกับตัวเองเวลาวางตัวละครแบบนี้คือ พอจบเนื้อเรื่องช่วงหนึ่งแล้วจะคิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไรต่อ

0
พลทวนไร้พันธะ 27 ธ.ค. 61 เวลา 22:03 น. 4-3

ถ้าไปต่อไม่ได้แสดงว่าตัวละครนั้นเขาเล่นบทบาทบนเวทีนั้นจนหมดแล้ว ก็ควรให้จบตรงนั้นครับ

แล้วถ้าอยากเขียนเรื่องเดิมต่อก็ให้เปลี่ยนภาค แล้วให้ตัวละครอื่นเป็นมุมมองหลักแทน แล้วตัวเอกเดิมค่อยโผล่มาเสริมน่าจะดีครับ

ตัวอย่างเช่น Half A King ภาค1 2 3 ตัวเอกเปลี่ยนตัว ซึ่งทำให้แต่ละภาคสมบูรณ์แบบมาก

โดยที่ตัวเอกเดิมมีบทบาทเยอะแต่ไม่ใช่มุมมองหลัก

เพราะจุดศูนย์กลางของเหตุการณ์มันเปลี่ยนจุดไปที่ตัวเอกประจำภาคแล้ว

0
Alexandar 28 ธ.ค. 61 เวลา 10:20 น. 4-4

ลืมบอกไป ก่อนหน้านั้นเรามีวางพล็อตเอาไว้ด้วย อย่างเปิดเรื่องยังไง และจะจบยังไง ส่วนตรงกลางปล่อยฟรี แล้วหาทางพายเรือไปยังปลายทางโดยไม่ไหลลงทะเล หนทางอาจจะยากลำบาก แต่ถ้าบริหารความคิดได้ดี ทุกอย่างก็จะเรียบร้อยไปได้


ยังไงก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน บางคนอาจจะรุ่งด้วยวิธีแบบนี้ บางคนอาจจะร่วง ไม่มีใครที่รู้ถ้าไม่ได้ลองทำ

0
Somaki@ 27 ธ.ค. 61 เวลา 13:51 น. 5

เราเริ่มจากกำหนดสถานการณ์หรือเหตุการณ์นั้นๆเอาไว้แล้วจดเป็นข้อมูลออกมาก่อนค่ะ พอได้ข้อมูลมาแล้วลองใส่ตัวละครที่เหมาะสมกับสถานะการณ์หรือเส้นเรื่องที่เราวางไว้เข้าไป เพิ่มบทที่เหมาะสม สร้างรายละเอียดลงbgให้ตัวละคร ความเห็นส่วนตัวนะคะเราว่าตัวละครที่มีบุคลิกชัดเจนจะเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้นค่ะ

2
yurinohanakotoba 27 ธ.ค. 61 เวลา 14:34 น. 5-1

เป็นคนที่เริ่มสร้างตัวละครจากพล็อตสินะครับ ในกรณีของคุณ ตัวเอกจะเพิ่มความยุ่งยากให้กับสถานการณ์ หรือ คลีคลายสถานการณ์ครับ

0
Somaki@ 27 ธ.ค. 61 เวลา 15:12 น. 5-2

มีทั้งสองค่ะ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีทั้งป่วนให้วุ่นวายมากขึ้นกับเป็นตัวที่คลี่คลายปมหรือปัญหาของตัวละครอื่นค่ะ

0
Miran/Licht 27 ธ.ค. 61 เวลา 13:58 น. 6

อืม...ต้องดูก่อนว่าเรื่องที่เขียนเป็น Character base หรือ Plot base ถ้าอย่างแรกจะพยายามเขียนออกมาให้ละเอียดที่สุด ตาม sheet ที่เราเคยนำมาลงบ่อยๆ แหละค่ะ


เวลาเราสร้างตัวละครมาสักตัวเราจะกำหนด concept มาก่อนค่ะ เช่นว่า ตัวนั้นตัวนี้เป็นอย่างไร บางตัวกำหนดคู่หรือโยงกับอีกตัว ว่าคู่นี้กำหนดให้เป็น ก้อนหินกับดอกไม้ คู่นี้เป็นเลือดและเนื้อที่เข้ากันไม่ได้ AKA: คู่รักระทมประจำเรื่อง


บางทีเราก็จะนึกมาจากตัวละครแบล็คกราวน์ในเรื่องที่เคยอ่านมา เช่น มีตัวหนึ่งเอา concept มาจากพระรองที่นกไปในเรื่องเจ้าจันท์ผมหอม 'เจ้าหล้าอินทะ' ในเรื่องเล่าถึงว่าเป็นผช.ที่เจ้าจันท์รัก ขับกลอนร้องเพลงเพราะแต่พ่อแม่เจ้าจันท์กลับเห็นว่าไม่เหมาะกับลูก เพราะหล่ออย่างเดียวมาช่วยดูแลบ้านเมืองไม่ได้เลยให้แต่งกับพ่อเลี้ยงที่เป็นเศรษฐีชาวปะหล่องต่องสู่แทน


แล้วเราก็เลยเอา concept 'หล่ออย่างเดียว เคี้ยวไม่ได้' นั่นแหละมาวางคาร์แรกเตอร์ เป็นตัวเอกนิยายเราพอเติมกะปิน้ำปลาออกมาก็ครบเครื่องดีค่ะ


1
yurinohanakotoba 27 ธ.ค. 61 เวลา 21:01 น. 6-1

ใช้คอนเซ็ปแบบนี้ไม่เคยสังเกตุ จะรู้จักแต่การใช้กิมมิคกำหนดภาพจำของตัวละคร เป็นไอเดียที่น่าสนใจดีครับเดี๋ยวไปลองอ่านจากเรื่องต่าง ๆ ดู

0
theBEREZANT 27 ธ.ค. 61 เวลา 14:45 น. 7

ตอบยากเลยค่ะ เพราะการสร้างตัวละครของเราไม่ได้มีหลักการ/แบบแผนที่ชัดเจน


แต่โดยมากแล้วสิ่งที่ตัวเอกทั้งหมดจะมีคือบางสิ่งที่ช่วยให้เรื่องดำเนินต่อ ไม่ว่าจะด้านนิสัย หรือเป้าหมายอะไรก็ตาม เราเขียนแบบที่นางเอกเดินเรื่องโดยส่วนใหญ่ หลายเรื่องของเราเรื่องดำเนินไปเพราะความขี้สงสัย หรือถ้าไม่ใช่ความขี้สงสัย ก็เป้าหมายบางอย่างของตัวละคร เช่น จะตามหาพ่อ อะไรงี้


เราไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะสร้างตัวละครก่อนหรือพล็อตก่อน และโดยมากจะเริ่มขึ้นมาแค่ว่า อยากได้พล็อตแนวไหน ตัวละครแนวไหน ได้แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาทั้งคู่พร้อมๆ กันให้ไปทางเดียวกัน แต่ละตัวจะมีประวัติพื้นหลังบางอย่างที่เข้ากันกับพล็อต และอยู่ในเซ็ตติ้งเงื่อนไขที่ถูกกำหนดขึ้นมาเองอีกที นิยายเราค่อนข้างมีเซตติ้ง เงื่อนไขต่างๆ ละเอียดค่ะ


เราไม่สามารถสร้างอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาก่อนได้อย่างชัดเจน เพราะตัวละครบางแบบเราไม่สามารถทนเขียนได้ ถ้าให้แต่งน่ะแต่งได้ แต่จะไม่รอดเพราะเซ็งตัวเอก เบื่อตัวเดินเรื่อง เราเลยเลือกจะทำพร้อมๆ กันมากกว่าค่ะ


และเรื่องการวางนิสัยอะไรต่างๆ เราจะเจาะลึกยันวิธีการพูด บางคนพูดสุภาพ บางคนห้วน บางคนมีวิธีการเรียงประโยคแบบนึง บางคนเรียงอีกแบบเพราะให้ความสนใจหรือ priority ต่างกัน หลายตัวละครเป็น เหตุผล vs ความรู้สึก หน้าที่ vs ความต้องการ


ปมหลังของตัวละครที่เป็นตัวเดินเรื่องเราไม่ค่อยเล่นให้หวือหวา หลายเรื่องเหมือนเป็นเด็กที่เกิดมาในครอบครัวปกติ เราไม่ค่อยมีฐานะครอบครัวที่แปลกให้ตัวละครเท่าไหร่ สถานะการเงินตัวละครจะกลางๆ ไปทางดีส่วนใหญ่ แต่ในความปกติเราจะหาเรื่องบางอย่างเพื่อบิดให้แปลกไป ส่วนใหญ่จะเล่นความสัมพันธ์ของนางเอกกับใครสักคนในบ้าน มีเรื่องนึงของเรานางมีปมกับย่า อีกเรื่องมีปมกับอา อีกเรื่องมีปมกับแม่ตัวเอง (แต่เรื่องนั้นเจ้าตัวไม่มีพ่อ) ส่วนใหญ่ที่ไม่หวือหวาเพราะตัวเอกเราโดยมากก็เป็นคนธรรมดา มีโลภโกรธหลงปกติ 5555 เราอยากสร้างบนพื้นของความธรรมดามากกว่าค่ะ

2
yurinohanakotoba 27 ธ.ค. 61 เวลา 21:26 น. 7-1

เขียนตัวละครเรียบ ๆ แล้วมี Unique ที่ทำให้เขาเป็นตัวเอกของเรื่องหรือเปล่าครับ แล้วใช้ไอเดียยังไงในการขับเคลื่อนเรื่องเหรอครับ ให้มีตัวละครอื่นพาลากไป หรือผลักดันจากตัวเอกเอง

0
theBEREZANT 27 ธ.ค. 61 เวลา 21:46 น. 7-2

พิมพ์ยาวๆ แล้วดันขึ้นเออเร่อต้องพิมพ์ใหม่หมดเลยค่ะ T__T


มีค่ะ ทุกเรื่องเราจะมีจุดเด่นบางอย่าง ถ้ายกแบบง่ายๆ ที่สุดก็เช่นพลังของตัวเอกอะไรแบบนั้น บางเรื่องของเราจะใช้จุดเด่นที่นิสัย หรือทัศนคติ มีเรื่องนึงที่นางเอกเราทำตัวลีบเหมือนขี้กลัวตลอดเวลาและยอมคนหนักมาก คนนั้นเป็นเด็กในสลัมที่กำพร้าพ่อแม่แต่เด็ก จู่ๆ ก็ต้องมาเข้าสังคมชั้นสูงกะทันหัน วิธีคิดต่างๆ ก็จะต่างออกไปจากตัวละครส่วนใหญ่ที่โดยมากเป็นคนชั้นสูง หรือไม่ก็คนที่เกิดมาแบบไม่ได้มีความขัดสนอะไรมากมาย


ส่วนการขับเคลื่อนที่แล้วแต่เนื้อหาพล็อตที่วางไว้ บางเรื่องตัวเอกเป็นคนขับเคลื่อนด้วยตัวเอง บางเรื่องไม่ใช่ตัวเอกแต่เป็นตัวละครอื่นที่ผลักตัวเอกให้เดินค่ะ (ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นตัวร้ายอะไรแบบนี้)

0
ELVHA 27 ธ.ค. 61 เวลา 16:11 น. 8

ผมเป็นสาย "เริ่มจากตัวละคร"


ทุกวันนี้มีตัวละครในจักรวาลอยู่ราว ๆ 500 - 600 ตัว


แล้วแทบไม่มีตัวไหนที่คิดขึ้นมาแบบส่ง ๆ


ทุกตัวมีประวัติ มีเรื่องราวความเป็นมาแบบละเอียดมากบ้างน้อยบ้าง


แต่ไม่มีแบบไม่กี่บรรทัดจบหรือไม่กี่ย่อหน้าจบ


เฉลี่ยจะอยู่ราว 20-30 หน้า (A4 word) (ต่อตัว)


ตัวที่มากสุดในตอนนี้คือเกือบ 70 หน้า


แล้วเกือบ 70 หน้านี่คือยังไม่จบดีด้วย ยังมีส่วนที่ต้องเสริมเสริมเติมแต่งอีก



ส่วนจะมีวิธีในการออกแบบตัวละครยังไง...


เอาไว้ก่อนครับ สักดึก ๆ หน่อยจะมาตอบเพิ่ม


นี่อยู่ข้างนอก ใช้มือถืออยู่ จิ้มไม่ถนัด


คิดว่าถ้าบอกคงยาวกว่านี้มากแน่ ๆ

1
yurinohanakotoba 27 ธ.ค. 61 เวลา 21:34 น. 8-1

เป็นอีกคนที่ใช้วิธีเขียนเรื่องของตัวละครให้จบก่อนค่อยเอามาใช้ คิดว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจ

0
Kwynn 27 ธ.ค. 61 เวลา 17:28 น. 9

สำหรับผมนะครับ

1. คิดรูปลักษณ์

2. กำหนดลักษณะนิสัย

3. แต่งภูมิหลังที่ส่งผลต่อลักษณะนิสัย

4. สร้างโลกที่ภูมิหลังเหล่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้

5. โยงองค์ประกอบบางส่วนในภูมิหลังเข้ากับพล็อตหลัก (เช่น เจอคนที่เคยรู้จัก ครบรอบวันเหตุการณ์สำคัญ)

ที่เหลือค่อยๆปรับแต่งไปครับ


2
yurinohanakotoba 27 ธ.ค. 61 เวลา 21:37 น. 9-1

ตัวละครใช้อะไรเป็นแรงขับเคลื่อนเรื่องไปข้างหน้าครับ แล้วมีความ Unique ประมาณไหนครับ หรือว่าไม่จำเป็นสำหรับการสร้างตัวละคร

0
Kwynn 28 ธ.ค. 61 เวลา 23:55 น. 9-2

บทสรุปของภูมิหลังแต่ละตัวจะกำหนดเป้าหมายของตัวละครที่จะนำมาใช้ในพล็อตหลักครับ

ผมไม่ทราบว่าคำว่า Unique ของจขกท. ต้องพิเศษหรือเฉพาะเจาะจงขนาดไหน

แต่ของผมก็เป็นเป้าหมายทั่ว ๆ ไป เช่น อยากเด่นอยากดัง อยากรวย ฯลฯ ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรมากมาย

ดังนั้นช่วงแรกของเรื่องเลยใช้ตัวละครอื่นมาดำเนินเรื่อง สร้างอุปสรรคให้ตัวเอก แล้วค่อยผลักให้พวกมันมาดำเนินเรื่องเองในช่วงหลังครับ


ซึ่งตัวละครอื่นที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวร้ายเสมอไป


0
พลทวนไร้พันธะ 27 ธ.ค. 61 เวลา 20:32 น. 10

ทั่วไปก็แบ่งเป็น2วิธีครับ

1.คิดเรื่องก่อนค่อยหาตัวละครใส่ให้เรื่องสนุก

2.คิดตัวละครก่อน แล้วเรื่องดำเนินไปตามจุดประสงค์ของตัวละคร


ผมเคยทำทั้ง2แบบครับ ตอนคิดเรื่องก่อน เรารู้ว่าจะเกิดเหตุการณือะไร

มีเวทีเตรียมพร้อมแล้ว ที่เหลือก็มองหาหรือสร้างตัวละครที่เหมาะสมกับเวทีนั้น

มันทำให้เรื่องลงตัวดีนะ คือวางบทมาแล้วอะ ยังไงมันก็เกิดเหตุการณ์นี้ จบแบบนี้ แล้วตัวละครควรเป็นคนแบบไหนล่ะถึงจะทำให้มันเกิดขึ้นได้

Plotเราก็จะคงที่มั่นคงไม่มีหลุด


ส่วนตอนที่คิดตัวละครก่อน มันโดดเด่นขึ้นมาเลย คนๆนี้ชัดเจนมาก แล้วค่อยคิดตอ่ไปว่าเขาจะเจอเรื่องอะไร เมื่อเจอเหตุการณ์นี้แล้วเขาจะทำตัวยังไง

บางทีตัวละครเป็นคนสร้างเรื่องเอง เราไม่ใช่คนคุม เขาเดินลุยไปเลยให้เราวิ่งตาม เพราะเขาชัดเจนกับตัวเองแล้ว เราไม่ต้องคิดและคิดยัดให้ไม่ได้ด้วย ยังไงเขาก็จะทำแบบนั้น เหตุการณ์มันก็ดำเนินไปตามเขา

แบบนี้สนุกนะครับ มีหลายครั้งที่ตัวละครทำเราทึ่ง เราไม่ได้คิดเหตุการณ์เลยแต่เขาพาเราไปเอง


มันก็ได้ทั้ง2แบบแหละ ลองให้หมดค่อยหาว่าแบบไหนที่เราชอบดีกว่า


2
yurinohanakotoba 27 ธ.ค. 61 เวลา 21:44 น. 10-1

การเขียนแบบนี้คุณพบว่าตัวละครคนละเรื่อง ตัดสินใจเหมือน ๆ กันในสถานการณ์ที่เหมือนกันหรือเปล่าครับ ตัวละครคนละเรื่องแต่กลับมีนิสัยแบบเดียวกันหรือเปล่าครับ

0
พลทวนไร้พันธะ 27 ธ.ค. 61 เวลา 21:49 น. 10-2

ไม่นะครับ แต่ละตัวค่อนข้างชัด

เคยนึกฉากเดียวกันแล้วลองเอาตัวละครหลายๆตัวมาใส่ดูก็ได้ปฏกิริยาต่างกันไป


บางเหตุการณ์ตัวละครอาจตอบสนองคล้ายกันแต่คำพูดหรือท่าทางก็จะแตกต่างไปตามบุคลิกเฉพาะตัว

เช่น ไม่ยอมแพ้เหมือนกัน

แต่ตัวนึงลุกขึ้นเงียบๆ พุ่งเข้าใส่เลย อีกตัวพูดประโยคเท่ๆค่อยสู้ อีกตัวดูน่าสมเพซแต่ยืนหยัดทั้งที่กลัว อีกตัวยกคำพูดเปรียบเปรยเป็นเหตุเป็นผลแล้วจึงสู้ อีกตัวทำท่าทางล้อเล่นแต่ดวงตาคมกล้า ฯลฯ


ของผมมีนางเอก2-3เรื่องนิสัยคล้ายๆกัน แต่พอลงรายละเอียด เจอเหตุการณ์จริงกลับปฏิกิริยาไม่เหมือนกันเปี๊ยบสักคน

ก็ไม่รู้ว่าทำไม แต่มันทำไปตามธรรมชาติของเขาเอง คือเห็นแล้วเรารู้สึกว่าใช่ ตัวนี้จะทำแบบนี้

0
ชนุ่น 27 ธ.ค. 61 เวลา 20:49 น. 11

แนะนำวิธีการวางประวัติตัวละครและใส่ความเป็นมนุษย์ไปเรื่อย ๆ ครับ ถึงผมจะเรียนมาแบบครูพักลักจำก็เถอะ 555


วิธีแรกที่ผมทำคือออกแบบนิสัยตัวละครด้านเดียวมาก่อน แล้วจึงค่อยใส่เหตุผลรองรับ ภูมิหลังว่าทำไมเขาจึงเป้นคนนิสัยแบบนั้น แล้วมันจะไปสัมพันธ์กับการกระทำทั้งหมดของตัวละครในเรื่องทันที อย่างนี้แล้วเราจะรู้เลยว่าตัวละครนิสัยนี้จะต้องตอบโต้กับสถานการณ์นั้นอย่างไร จัดการกับเรื่องราวอย่างไร นอกจากนี้ก็เน้นความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ (ซึ่งอาจจะใส่บทพรรณนาเวิ่นเว้อไปบ้างถ้าเกิดอยากให้มันเหนือความจริงไปอีกขั้น) จากบทสนทนา การกระทำ ความคิด เพื่อให้คนอ่านรู้สึกหลงรักตัวละครของเรามากขึ้นครับ


สุดท้ายนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ

0
WonderTales 27 ธ.ค. 61 เวลา 22:05 น. 12

เริ่มจาก


อยากเล่าเกี่ยวกับอะไร อยากเล่าในเหตุการณ์ไหน ตัวละครอะไรที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้ นั่นล่ะครับคือการสร้างตัวละครของผม


ตัวละครมีใคร เป็นอะไร ยังไง มีปมอะไรเป็นแรงผลักดัน ใส่บุคคลิกและนิสัยเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมครับ

0
27 ธ.ค. 61 เวลา 23:22 น. 13

ทางนี้สร้างตัวละครที่ผ่านการฝึกฝนมาเเล้วค่ะ เป็นตัวละครที่ผ่านเหตุการณ์จนเป็นเขาในปัจจุบัน เช่นเป็นอัศวิน เขาก็จะได้รับการฝึกฝนมาตั้งเเต่เด็ก ถูกฝึกถูกสอนด้วยอาจารย์ที่เคร่งครัด นิสัยเลยเอาจริงเอาจัง พอโตมาก็ได้เป็นถึงรองหัวหน้า จากนั้นก็เอาเขามาผ่านสถานการณ์ต่างๆ การเเสดงออกเเต่ละครั้งก็ยึดสิ่งที่เป็นตัวเขา สิ่งที่เขาน่าจะทำโดยไม่ให้หลุดกรอบมาก เเละบางครั้งอาจทำให้พลิกเปลี่ยน หรือตัวละครพัฒนาขึ้นโดยใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ต่างๆที่เราคิดขึ้น

เช่นจากคนดีก็กลายเป็นคนเลวได้ เเม้ตอนที่เป็นคนเลว ก็ยังมีความดีอยู่ ยังจดจำอุดมคติเเละรู้ตัวว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ดี เเต่เพราะเหตุการณ์การบางอย่างมันพลิกให้เขากู่ไม่กลับ

0
peiNing Zheng 28 ธ.ค. 61 เวลา 10:56 น. 14

ไม่ได้ขาแฟนตาซีจ๋า เคยแต่งอยู่เรื่องเดียว ขอแจมด้วยแล้วกันนะคะ


เราสร้างจากสารพัดต้นตอเลยค่ะ อาจจะเกิดแนวคิดของเรื่องก่อน ค่อยหาตัวละครที่เหมาะสมมาเป็นตัวแสดง อาจจะเกิดจากอยากได้นิสัยอะไรบางอย่างของตัวละครที่อยากหยิบขึ้นมา อาจจะเกิดจากอยากเขียนสัตว์ตัวหนึ่งเลยสร้างตัวละครที่เหมาะจะมาเป็นเจ้าของสัตว์ตัวนั้น อาจจะอยากสร้างอุปกรณ์อะไรขึ้นมา แล้วหาตัวละครสักตัวที่เหมาะจะใช้ของสิ่งนั้น ฯลฯ


ข้างบนนั่นเป็นจุดเริ่ม จึงเป็นนิสัยหลักที่ตัวละครนั้นๆ พึงมี จากนั้นค่อยย่อยลงไป คราวนี้คำนึงถึงปมขัดแย้งเป็นหลักแล้ว ส่วนมากเราจะชอบให้ตัวละครมีการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง เพราะงั้นต้องสร้างสิ่งที่เบื้องต้นตัวละครเป็น และเมื่อผ่านจุดขัดแย้งนี้ไปได้และเติบโตขึ้น คนเขียนอยากให้เป็นไปในแนวทางไหน ก็ค่อยสร้างขึ้นมา


มาถึงตรงนี้ บุคลิกใหญ่ๆ ได้มาแล้ว ค่อยสร้างให้ภูมิหลังเข้ากับบุคลิกพวกนั้น (รวมทั้งความชอบไร้สาระของตัวละครด้วยค่ะ อันนี้คนเขียนชอบเอง เช่น มีงานอดิเรกสนเข็ม ชอบตัดเล็บน้องหมา หรือชอบกินปลาทอดน้ำปลา อะไรเทือกๆ นี้ 555) แต่ถ้าตัวละครไหนที่ไม่ได้มีปมขัดแย้งที่ต้องเรียนรู้หรือข้ามผ่าน ก็ให้เป็นตัวประกอบที่ส่งเสริมเนื้อเรื่องให้เป็นไปในแนวทางที่ต้องการ


ไม่ว่าจุดใหญ่ที่กำเนิดตัวละครคืออะไร แต่เมื่อได้มาแล้ว เรามักจะสร้างพร้อมกับองค์ประกอบอื่นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นปมขัดแย้ง ฉาก ให้ไปในทางเดียวกันหมด (ยกเว้นแต่ว่า เรื่องนั้นๆ เขียนขึ้นโดยอยากเขียนฉากเป็นหลัก ก็จะเขียนฉากขึ้นมาก่อน แล้วค่อยหาตัวละครที่เหมาะสมยัดเข้าไป)


เอาเข้าจริงก็พูดยากว่าสร้างแบบไหน เราทำทุกอย่างเกือบจะพร้อมกัน แต่ละเรื่องก็ไม่เหมือนกันเลย เขียนมาหลายเรื่อง แต่ละเรื่องก็กำเนิดต่างกันไปน่ะค่ะ

1