Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ทำไมถึงอยากเป็นหมอ/ม.6 แล้วเปลี่ยนเป้าหมายดีหรือไม่

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
มีหลายคนถาม ทำไมถึงอยากเป็นหมอ / ม.6 แล้วเปลี่ยนเป้าหมายดีหรือไม่
ที่มา https://www.dek-d.com/board/view/3864624/

คำถาม
ตอนนี้ผู้ถามอยู่ม.6 ตั้งเป้าเป็นหมอมาตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งอยู่ดีๆ ก็มานั่งคิดว่า ทำไมถึงอยากเป็นหมอ แต่ทางบ้านก็เคยปลูกฝังตอนเด็กๆว่าให้เรียนสิ่งที่เป็นวิชาชีพติดตัว และมั่นคงเลย แบบพวก หมอ กับ บัญชี ผู้ถามก็ไม่ชอบบัญชี เลยคิดว่าเป็นสาเหตุที่เลือกหมอใช่หรือไม่ หลายๆครั้ง ที่คนถามว่า ทำไมอยากเป็นหมอ ผู้ถามก็ตอบไม่ได้
เมื่อก่อนที่บ้านไม่อยากให้เรียนอักษร สถาปัตย์ นิเทศ ดนตรี หรือ บริหารเลย เพราะมองว่า ไม่ใช่วิชาเฉพาะ และเงินน้อย ไม่มั่นคง
พอมาวันนี้ ผู้ถามเริ่มบ่นว่าเหนื่อย ยาก สอบไม่ติดแน่เลย แล้วอยู่ๆ ผู้ปกครอง พ่อแม่ก็พูดมาว่า ถ้าอย่างนั้นเรียนคณะอื่นๆ ดีกว่าหรือไม่ เช่น บัญชี นิเทศ ดนตรี แล้วผู้ถามถึงกับงงเลย เพราะปกติ ผู้ใหญ่ทางบ้านไม่เคยสนับสนุนให้เรียน
แต่คือส่วนตัวผู้ถามก็ชอบชีวะกับเลข แล้วก็ภาษา ชีวะก็ไม่อยากทิ้ง เพราะสนุกกับมัน แต่ก็เหนื่อยกับวิชาอื่นๆ เพราะมันยากมาก เพื่อนๆก็ไปกันไกลแล้ว

คำตอบ
ทำไมถึงอยากเรียนหมอ ทันตะ? ความเห็นส่วนตัว ถ้าตอบแบบฟันธง ขอตอบว่า ที่เด็กส่วนมากอยากเรียนหมอ/ทันตะ เพราะเมื่อเรียนจบแพทย์/ทันตะแล้วมีงานทำแน่นอน ไม่ตกงาน

เรียนอื่นๆ เมื่อเรียนจบแล้ว ต้องเดินสายสมัครสอบแข่งขันเข้าทำงาน ถ้าเลือกทำงานให้ตรงกับสายที่เรียนมา
ก็อาจจะตกงานหลายปี ต้องใช้ทุน พ.ก.(พ่อกู) ให้พ่อแม่เลี้ยงดูอีกนานจนกว่าจะได้งานทำ

ในต่างจังหวัด อาชีพที่มีหน้ามีตาในสังคมชนบทที่เห็นๆ เช่น แพทย์ ทันตะ พยาบาล ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ตำรวจ ทหาร ครู ข้าราชการหน่วยงานต่างๆ ค้าขาย แต่คนส่วนใหญ่ คนส่วนมากจะมีอาชีพทำการเกษตร เป็นเกษตรกร

ถ้าเป็นเด็กเก่งมาก ก็สามารถเลือกอาชีพได้ตั้งแต่จบ ม.6 คือ แพทย์ ทันตะ พยาบาล ส่วนอาชีพอื่นๆ เมื่อเรียนจบปริญญาตรีแล้ว อาจจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้งานทำ บางคนอาจจะเปลี่ยนเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ได้ เพราะเมื่อตกงานนานๆ บางคนอาจจะเบนเข็มไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่ไม่ตรงกับสายที่เรียนมา เช่น ขายข้าวแกง ขายน้ำเต้าหู้ ฯลฯ

แสดงความคิดเห็น

>

9 ความคิดเห็น

กัลย์ 19 ม.ค. 63 เวลา 21:36 น. 1

อีก 2 อาชีพ ที่มีเกียรติ และมีรายได้ดี เดือนละ 1 แสนกว่าบาท คือ ผู้พิพากษา อัยการ

-อาชีพแพทย์/ทันตะ กำลังเรียน ม.6 สอบติดแพทย์/ทันตะ รู้เลยว่าอีก 6 ปีข้างหน้า จะต้องทำงานเป็นแพทย์/ทันตะ ตามสัญญาใช้ทุนที่ทำไว้(รู้อนาคต)


-อาชีพผู้พิพากษา/อัยการ จบ ม.6 สอบติดนิติศาสตร์ อีก 6 ปียังไม่รู้เลยว่า จะได้ทำงานเป็นผู้พิพากษา/อัยการ หรือไม่(ไม่รู้อนาคต)


เส้นทางเดินก่อนเป็นผู้พิพากษา

-ผู้ที่มีสิทธิสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาต้องอายุ 25 – 60 ปี(อาจจะมีการแก้ไขเพิ่มอายุจาก 25 ปีเป็น 35 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในอนาคต)

-จะต้องเรียนจบปริญญาตรีกฎหมาย นิติศาสตร์บัณฑิต และจบเนติบัณฑิตด้วย นอกจากนี้ ยังต้องมีประสบการณ์ทำงาน รับราชการที่เกี่ยวกับกฎหมาย ไม่ต่ำกว่า 2 ปี

หรือไม่ก็ต้องมีอายุงานเก็บคดีทางกฎหมาย เช่น ทนายความ ไม่ต่ำกว่า 2 ปี เก็บคดีได้ 20 คดี(คดีแพ่ง 5 คดี) เป็นต้น

จึงเห็นได้ว่า กว่าที่จะผ่านด่านต่างๆมาได้ จนมีคุณสมบัติครบมีสิทธิเข้าสอบผู้ช่วยผู้พิพากษานั้น ก็ไม่ใช่ได้ง่ายๆเลย และแม้ว่าโอกาสสมหวัง อาจมีไม่ถึง 1% (0.25%) แต่ก็ยังมีคนสนใจเข้าสอบกันมากมายทุกปี บางคนสอบครั้งเดียวติด(ส่วนใหญ่พวกปริญญาตรีเกียรตินิยม) น้อยคนสอบครั้งเดียวติด บางคนต้องสอบหลายครั้ง มีบางคนอดทน รอสอบทุกปีไม่ไหว ต้องเบนเข็มไปทำอาชีพอื่น ไม่เอาแล้วผู้พิพากษา อัยการ อุตส่าห์เรียนปริญญาตรี 4 ปีจบ เรียนเนติฯ ไม่รู้ 1 ปีหรือกี่ปีจบ และต้องมีประสบการณ์งานกฎหมาย 2 ปี


สรุปจบปริญญาตรีมาแล้ว 4-5 ปี ยังไม่รู้จะสอบติดผู้ช่วยผู้พิพากษา อัยการหรือไม่

หรือจบ ม.6 มาแล้ว 8-9 ปี ยังไม่รู้จะสอบติดเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาหรือไม่


คุณสมบัติ คุณวุฒิ เงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพ สำหรับผู้สมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา

๑) สนามใหญ่ อายุ ๒๕ ปีขึ้นไป+ เนติบัณฑิต + อายุงาน ๒ ปี + หากเป็นทนาย อายุตั๋ว ๒ ปี + ๒๐ คดี

๒) สนามเล็ก อายุ ๒๕ ปีขึ้นไป + เนติบัณฑิต + ปริญญาโทในประเทศหรือต่างประเทศ + อายุงาน ๑ ปี + หากเป็นทนาย อายุตั๋ว ๑ ปี + ๑๐ คดี

๓) สนามจิ๋ว อายุ ๒๕ ปีขึ้นไป+ เนติบัณฑิต + ปริญญาตรีกฎหมาย ๓ ปี จากต่างประเทศ หรือปริญญาเอกกฎหมายในประเทศ (ไม่ต้องใช้อายุงาน) หากเป็นปริญญาตรีกฎหมาย ๒ ปี หรือ ปริญญาโทกฎหมาย ๒ ปีจากต่างประเทศ ต้องใช้อายุงาน ๑ ปี + ๒๐ คดี

ส่วนสนามเล็กสำหรับผู้ที่เป็นอาชีพพิเศษ

๑) แพทย์ เภสัช ฯลฯ + เนติบัณฑิต + จบโทหรือเอกสาขาแพทย์ (ในหรือต่างประเทศก็ได้) + ประกอบวิชาชีพในสาขาที่เรียนมา ๓ ปี หรือ ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ๓ ปี (อย่างหนึ่งอย่างใด) + หากประกอบวิชาชีพกฎหมายประเภททนายความ ฯลฯ ต้องเก็บคดี ๓๐ คดี

๒) แพทย์ เภสัช ฯลฯ + เนติบัณฑิต + ประกอบวิชาชีพในสาขาที่เรียนมา ๑๐ ปี (ไม่ต้องเก็บคดีหรือมีอายุงานกฎหมาย)

อาชีพพิเศษได้แก่

แพทย์ ทันตะ เภสัช สัตวแพทย์ เทคนิคการแพทย์ พยาบาล วิศวะ สถาปัตย์ หรือการบัญชีและได้

ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม การสัตวแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ การพยาบาล

วิศวกรรม สถาปัตยกรรม หรือเป็นผู้สอบบัญชี รับอนุญาต แล้วแต่กรณี

ส่วนใหญ่พ่อแม่ที่เป็นผู้พิพากษาที่มีฐานะดี หรือเป็นผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ จะใช้ช่องทางพิเศษ ส่งลูกไปเรียนที่ต่างประเทศ เมื่อจบกลับมาไทย ก็จะสอบสนามเล็ก สนามจิ๋ว ซึ่งมีโอกาสติดง่ายกว่าสนามใหญ่มาก

อยากรู้รายละเอียดลองอ่านบทความตามลิงค์นี้ http://prachatai.com/journal/2012/08/41970

บทความนี้ลงเมื่อปี 55 ปัจจุบันนี้การแข่งขันยิ่งเข้มข้นสูงมากกว่าเดิม ติดยากกว่าเดิม

0
กัลย์ 20 ม.ค. 63 เวลา 09:09 น. 2

คนรุ่นใหม่ทำไมถึงอยากเรียน/เป็นแพทย์ ??

ที่มา https://www.dek-d.com/board/view/3778065/

คำถาม

-จะมีใครชอบโดนปลุกกลางคันระหว่างนอนหลับ คือเรานอนน้อยได้ แต่ให้โดนปลุกถี่ๆ นี่ทำใจยากจริงๆ

-จะมีใครชอบโดนกระแสสังคมกดดันตลอดเวลา มีคำว่าจริยธรรมค้ำคออยู่ กระดิกนู่นนิดนี่หน่อยเป็นอันมาม่า ทั้งที่บางทีสิ่งที่เราทำมันก็ไม่ผิด หมอก็เป็นคนๆนึงเหมือนกัน

-จะมีใครอยากประกอบอาชีพที่เสี่ยงถูกฟ้องร้องตลอดเวลา คนสมัยใหม่กล้าคิดกล้าทำ ไม่ค่อยยอมๆหยวนๆกันเหมือนแต่ก่อนแล้ว

-จะมีใครอยากเรียนหนัก จนไม่ได้กลับบ้าน เรียนวนไปอยู่อย่างนั้น จบแล้วก็ต้องต่อเฉพาะทางไปเรื่อยๆ(แน่นอนเค้าไม่ได้อ้าแขนรอรับพวกเราหรอก แข่งขันกันไม่น้อยไปกว่าตอนสอบเข้า) หนทางแสนยาวไกลไม่เห็นปลายทาง เราคิดถึงที่บ้านมาก ที่บ้านก็คิดถึงเราไม่แพ้กัน เมื่อไรความสำเร็จของเราจะประจักษ์โชดช่วงซะที เมื่อไหร่จะได้ดูแล ได้อยู่กับคนที่เรารักได้อย่างเต็มที่เต็มเวลา กว่าจะตั้งตัว อยู่ตัวได้ รู้ตัวอีกทีตีนกา ถุงใต้ตามาเยือนถาวรแล้ว

-ทุกข์กายจากภาระหน้าที่แล้วยังต้องมาเผชิญความทุกข์ใจอีก ทั้งสถานที่ทำงาน เพื่อนร่วมงาน คนไข้ ญาติคนไข้ ระบบสาธารณะสุขไทย ระบบเส้นสาย การแข่งขัน การเอารัดเอาเปรียบต่างๆมากมายที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

-ในรพ.รัฐ ปัญหาทั้งหมดรับไปเต็มๆ จะหนีไปคลินิกความงามหรือ รพ.เอกชน ก็หนีเสือปะจรเข้ รายรับมากขึ้น การอยู่เวรลดลง แต่ความมั่นคงหล่นฮวบ ความเป็นพาณิชย์ต่างๆมากมายให้ต้องปรับตัว


คำตอบ ตามความเห็นส่วนตัว

-ถ้าไม่ได้อยู่เวร จะไม่ถูกปลุกหรอก เว้นแต่อยู่เวร แล้วหลับเวร ก็ต้องถูกปลุกมาปฏิบัติหน้าที่แน่นอน เพราะอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

-ทำงานราชการ เช่น อัยการ ผู้พิพากษา หรือตำแหน่งราชการอื่นๆ ก็ต้องมีกรอบจริยธรรมกำหนดไว้อยู่แล้ว ถ้าไม่ทำเลว ก็จะไม่มีปัญหาอะไร ถ้าทำดี มีแต่คนยกย่อง แต่ถ้าทำเลว แล้วกระทบถึงคนอื่นๆ ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เสียหาย เช่น อัยการมีอำนาจเหนือตำรวจจนเคยตัว สั่งให้ตำรวจไปส่งร้านลาบ ตำรวจไม่ยอมไปส่ง ก็จะไปเอาเรื่องตำรวจ อย่างนี้ก็สมควรโดนกระแสสังคมกดดัน เพราะทำตัวเลว ผู้พิพากษาอย่าไปทำเรื่องดังออกสื่อ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ทุกวงการมีคนดี คนเลวทั้งนั้น ถ้าไม่มีกรอบจริยธรรมกำหนดไว้ จะยิ่งไปกันใหญ่

-ทุกอาชีพมีความเสี่ยงถูกฟ้องร้องทั้งนั้น ถ้าทำดีแล้ว ตั้งใจทำเต็มที่แล้ว ทุกคนจะเห็นใจ ไม่เอาเรื่อง ยกเว้นทำงานบกพร่อง วิเคราะห์ผิดพลาดอยู่เสมอ ลืมอะไรในท้องคนไข้ ไม่มีความรับผิดชอบหน้าที่ คนสมัยใหม่ฉลาดขึ้นกว่าแต่ก่อน ย่อมถูกฟ้องร้องแน่นอน ลองคิดดู ถ้าพ่อแม่เราเป็นคนไข้ แล้วถูกระทำแบบนี้ จะยอมหรือไม่

-ถ้าเราไม่หวังความก้าวหน้าในชีวิต ไม่หวังเงินเดือนสูงๆกว่าเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนเฉพาะทางก็ได้ จบแพทย์ปี 6 ออกไปทำงานต่างจังหวัด หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีเงินเหลือเฟือแล้ว

คนส่วนมากไม่กลัว ต้องเรียนแพทย์หนักหรอก แต่กลัวตกงานมากกว่า ถ้าเรียนคณะอื่น จบมาแล้ว จะมีงานทำหรือไม่ ยังไม่รู้ แต่เรียนหมอ รู้ตั้งแต่ จบ ม.6 แล้วว่า ถ้าจบแพทย์ออกมา มีงานทำแน่นอน เพราะทำสัญญาไว้แล้ว ขอยกตัวอย่างเรียนนิติศาสตร์จบมาแล้ว ยังไม่รู้จะเป็นอะไร ส่วนมากตกงาน ถ้าไม่จบเกียรตินิยม หรือจบเนติบัณฑิต ไม่อยู่ในลำดับที่ 1-500 จะสอบติดผู้พิพากษา อัยการหรือไม่ ยังไม่รู้ คนส่วนมากจบปริญญาตรีนิติศาสตร์แล้ว 5 ปี ยังสอบไม่ติดผู้พิพากษา อัยการเยอะแยะไป ไม่มีงานทำ ต้องไปขายเต้าฮวย

-ถ้าเรียนจบ ออกไปทำงานแล้ว ทุกคนก็จะเจอปัญหากันทั้งนั้น ทั้งเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง คนติตต่องาน การแข่งขัน การชิงดีชิงเด่น มีทั้งนั้น มันอยู่ที่มนุษยสัมพันธ์ของเรา การเข้ากับคน ถ้าเป็นคนที่ไม่มีปัญหาอะไรมาก ไม่เอาแต่ใจตัวเอง ก็สามารถผ่านปัญหาทุกอย่างไปได้อย่างสบายๆแน่นอน วิชานี้สอนกันไม่ได้ อยู่การปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆของแต่ละครอบครัว สังเกตได้ คนที่มีปัญหา ไปทำงานที่ไหน ก็มีแต่จะสร้างปัญหา

-คนที่หนีไปคลินิกความงาม หรือรพ.เอกชน อาจจะเพราะหวังรายได้สูงๆ งานสบายๆ อยู่ในเมือง ไม่ได้ดูผลในระยะยาวๆ มีประสบการณ์น้อย ไม่ได้หวังประสบการณ์ในโรงพยาบาลรัฐ ไม่ยอมลำบาก อนาคตจะดีได้อย่างไร คนทำงานมากกว่า เหนื่อยมากกว่า มีเคสให้ปฏิบัติมากกว่า ย่อมเก่งกว่า และจะประสบความสำเร็จมากกว่าแน่นอน บางคนทำงานใช้ทุนในโรงพยาบาลต่างจังหวัด งานมากจนไม่มีเวลาโทรศัพท์กลับบ้าน ไม่รับโทรศัพท์บ้าน อาจจะกลับบ้านกรุงเทพฯปีละหน ก็ต้องเก่งกว่าคนที่อยู่สบายๆ ทำงานสบายๆแน่นอน

สรุป มีงานทำ ดีกว่าตกงาน(ไม่มีงานทำ)

ดีกว่าใช้เงินบ้านเรียนปริญญาโท ปริญญาเอกต่อไปเรื่อยๆ(ไม่ยอมทำงาน)

3
ผ่านมา 21 ม.ค. 63 เวลา 12:34 น. 2-1

ตอบครับ


--- ถ้าไม่ได้อยู่เวร จะไม่ถูกปลุกหรอก เว้นแต่อยู่เวร แล้วหลับเวร ก็ต้องถูกปลุกมาปฏิบัติหน้าที่แน่นอน เพราะอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่


*** ขึ้นอยู่กับอยู่เวรหนักแต่ไหน ได้พักเพียงพอหรือไม่ แพทย์จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ ที่ต้องอยู่เวร 2-3 วันติดกัน โดยไม่เต็มใจ แต่เพราะไม่มีใครอยุ่แล้ว หลายๆโรงพยาบาลในประเทศไทย มีหมอแค่ 1-2 คน สถิติส่วนตัวที่ไม่น่าภูมิใจคือเป็นหมอคนเดียวในโรงพยาบาล 21 วันติดต่อกัน = โดนปลุกทุกคืน // กม แรงงานเขียนไว้ชัดเจนว่า กฎหมายกำหนดให้ทำงานทั่วไปทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนงานที่เป็นอันตราย กำหนดให้ทำงานไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์


--- ทำงานราชการ เช่น อัยการ ผู้พิพากษา หรือตำแหน่งราชการอื่นๆ ก็ต้องมีกรอบจริยธรรมกำหนดไว้อยู่แล้ว ถ้าไม่ทำเลว ก็จะไม่มีปัญหาอะไร...


*** ประโยคนี้ไม่จริง หลายครั้งที่ทำตามมาตรฐานวิชาชีพแล้ว ก็ยังตกเป็นข่าวในสังคมอยู่ เช่นคดีการวินิจฉัยวัณโรคในเด็ก หรือแม้แต่คดีการผ่าตัดไส้ติ่งที่ร่อนพิบูลย์ ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ถึงปัจจุบัน เนื่องจากส่งผลให้ ห้องผ่าตัดหลายร้อยห้องในโรงพยาบาลชุมชนถูกปิดตาย โดยแพทย์ปฏิเสธการผ่าตัดทุกชนิดที่ต้องให้ยาระงับความรู้สึก เหตุเพราะคำพิพากษาของศาลที่กล่าวในลักษณะว่าหากทำการผ่าตัดและให้ยาระงับความรู้สึกโดยที่โรงพยาบาลไม่พร้อมเต็มที่ ก็อาจต้องคดีอาญาเช่นเดียวกัน ทำให้ทุกโรงพยาบาลเลือกที่จะทำ Defensive medicine โดยการส่งต่อคนไข้เกือบทั้งหมด และในความเป็นจริง มนุษย์ก็หนีกฏธรรมชาติไม่พ้น ยังไงเสียคนเราก็ต้องตาย แต่จะไปตายที่หมอคนใดก็เท่านั้นเอง


--- ทุกอาชีพมีความเสี่ยงถูกฟ้องร้องทั้งนั้น ถ้าทำดีแล้ว ตั้งใจทำเต็มที่แล้ว ทุกคนจะเห็นใจ ไม่เอาเรื่อง ....


*** ไม่เป็นความจริงเช่นกัน อ่านด้านบนครับ


--- ถ้าเราไม่หวังความก้าวหน้าในชีวิต ไม่หวังเงินเดือนสูงๆกว่าเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนเฉพาะทางก็ได้


*** การเรียนแพทย์เฉพาะทางไม่ได้มีประโยชน์เพียงเท่านั้น ยังลดโอกาสการฟ้องร้องได้อีกด้วย เนื่องจากทำให้แพทย์ไม่ต้องไปตรวจคนไข้ในโรคที่ตนไม่ถนัด การรู้อะไรละเอียดๆในกลุ่มโรคแคบๆ บ่อมมีความเสี่ยงน้อยกว่าการต้องดูคนไข้ทุกกลุ่มตั้งแต่เกิด - วัยรุ่น - ผู้ใหญ่ - ตั้งครรภ์ - ชราภาพแน่นอน นอกจากนั้น การเรียนเฉพาะทางแล้วทำงานในโรงพยาบาลรัฐ ก็ไม่ได้เงินเดิิอนเพิ่มจากเดิมมากมายอะไรนัก เรียกได้ว่าไม่ใช่สาเหตุอะไรเลย ที่ทำให้แพทย์นิยมไปเรียนต่อเฉพาะทางก็ว่าได้ และการที่คนๆหนึ่ง จะหวังความก้าวหน้าในชีวิต ก็ไม่ใช่ความผิดอะไรเช่นกัน


--- คนที่หนีไปคลินิกความงาม หรือรพ.เอกชน อาจจะเพราะหวังรายได้สูงๆ งานสบายๆ อยู่ในเมือง ไม่ได้ดูผลในระยะยาวๆ มีประสบการณ์น้อย ไม่ได้หวังประสบการณ์ในโรงพยาบาลรัฐ... บางคนทำงานใช้ทุนในโรงพยาบาลต่างจังหวัด งานมากจนไม่มีเวลาโทรศัพท์กลับบ้าน ไม่รับโทรศัพท์บ้าน อาจจะกลับบ้านกรุงเทพฯปีละหน ก็ต้องเก่งกว่าคนที่อยู่สบายๆ ทำงานสบายๆแน่นอน


*** ประสบการณ์ในโรงพยาบาลรัฐ นำมาใช้ในคลินิกความงามได้น้อยมากหรือเรียกว่าไม่ได้เลย เนื่องจากในโรงพยาบาลรัฐไม่มีการผ่าตัดหรือการให้ยาเพื่อความงาม ขยันผิดที่ผิดเวลา หาเจริญได้ยากครับ




0
กัลย์ 21 ม.ค. 63 เวลา 21:03 น. 2-2

1.กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ใช้บังคับกับข้าราชการ

แพทย์โรงพยาบาลรัฐเป็นข้าราชการ รายได้อาจจะน้อยกว่าลูกจ้างเอกชน

แต่มีสวัสดิการที่ดีกว่าลูกจ้างเอกชน งานมึความมั่นคงมากกว่า


2.คดีการวินิจฉัยวัณโรคในเด็ก หรือ คดีการผ่าตัดไส้ติ่งที่ร่อนพิบูลย์ ควรศึกษารายละเอียดในคำพิพากษาให้ดีก่อน เช่น ถ้าทำการผ่าตัด และให้ยาระงับความรู้สึก โดยที่โรงพยาบาลไม่พร้อมเต็มที่ ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความสามารถ จะให้คนเป็นหนูทดลองได้หรือ?

ขอบอกตามตรง โดยปกติหน่วยงานราชการด้วย จะช่วยเหลือกันอยู่แล้ว

ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรง

ประชาชนเสียอีก ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีใครคอยช่วยเหลือ


3.เรียนเฉพาะทาง เพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทางเหนือแพทย์ทั่วไป


4.ประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาลรัฐ เพื่อใช้เป็นคุณสมบัติในการสมัครเรียนแพทย์เฉพาะทาง ไม่มีใครที่มีประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาลรัฐ ออกไปทำงานคลีนิกเสริมความงามแน่นอน

0
ผ่านมา 22 ม.ค. 63 เวลา 02:17 น. 2-3

ตอบครับ


1. คุณยังไม่ได้ defend เรื่องการทำงานติดต่อกันนะครับ เป็นที่ทราบกันดีว่า การทำงานต่อเนื่องโดยไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ ประสิทธิภาพของการทำงานย่อมตกลงแน่นอน แล้วแพทย์ที่ทำงานต่อเนื่องมา 2-3 วัน จะสามารถตรวจหรือทำการผ่าตัดได้ดีอย่างนั้นหรือ ไม่ว่าจะเป้นแพทย์ ข้าราขการหรือแรงงาน ก้ต้องการการพักผ่อนก่อนที่จะไปทำงานทั้งสิ้น


2. คดีที่ร่อนพิบูลย์นั้น หมอไม่ผิดนะครับ คดีเค้าอุทธรณ์กันแล้ว ยกฟ้องกันแล้ว ไม่ทราบได้อ่านหรือยังครับ อย่างไรก็ตาม ความเสียหายได้เกิดไปแล้ว โรงพยาบาลชุมชนก็ได้ปิดตายห้องผ่าตัดไปแล้ว และคนไทยก็มีอัตราไส้ติ่งแตกสูงขึ้นแล้วด้วย โรงเรียนแพทย์สมัยนี้ไม่บังคับให้นักศึกษาแพทย์ต้องผ่าไส้ติ่งเป็นแล้วด้วยซ้ำ และขอถามกลัยด้วยว่า แพทย์ที่อดนอนจากข้อ 1 จะสามารถผ่าตัดได้ดีเช่นนั้นหรือ ต่างอะไรกับการเป็นหนูลองยาอย่างที่คุณได้กล่าวมา ส่วนเรื่องคดีการวินิจฉัยวัณโรคในเด็กนั้น เนื่องจากคุณไม่ได้พิมพ์มา ผมขออนุญาตไม่พิมพ์ด้วยเช่นกันนะครับ https://thaipublica.org/2016/04/medical-malpractice-cases-3/


3. ไม่เข้าใจว่าคุณต้องการสื่ออะไร เท่าที่พยายามพิจารณา พบว่าไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นของผมโดยสิ้นเชิง การเรียนเฉพาะทางนั้น บ่อยครั้งไม่ได้เป็นเพราะต้องการเงินเดือนมากขึ้นครับ


4. ไม่มีใครที่มีประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาลรัฐ ออกไปทำงานคลีนิกเสริมความงามแน่นอน -- ไม่นะครับ เข้าใจผิดอย่างมากแล้วครับ ทำความเข้าใจเสียใหม่นะครับ แพทย์ที่ทำคลีนิกเสริมความงามเกินครึ่งก็เคยทำงานในโรงพยาบาลรัฐมาก่อนครับ

0
กัลย์ 20 ม.ค. 63 เวลา 09:24 น. 3

ลองอ่านความเห็นนี้ อาจจะมีบางคนถอดใจ ไม่เรียนหมอก็ได้

ที่มา https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=705040683015508&id=495293923990186


รู้ว่าเป็นหมอแล้วเหนื่อย แล้วมาเรียนหมอทำไม???

ทุกครั้งที่มีข่าวแพทย์ลาออก โดยเฉพาะแพทย์ที่จบใหม่ ก็จะมีคำถามเกิดขึ้นเสมอว่า

"รู้ว่าเป็นหมอแล้วเหนื่อย แล้วมาเรียนทำไม"

"ทำไมแค่นี้ทนไม่ได้ อาชีพอื่นเหนื่อยกว่าตั้งเยอะเขายังทนกันได้"

"ลาออกทำไม"

และคำถามอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งจากคนรอบข้างและจากสังคม

รู้ว่าเป็นหมอแล้วเหนื่อย แล้วมาเรียนหมอทำไม


คำตอบ คือ ไม่รู้ครับ

ไม่มีใครรู้ตั้งแต่แรกหรอกครับว่าการเรียนหมอ จบแล้วจะมีชีวิตอย่างไร

ผมเองก็ยอมรับว่าก่อนมาเรียนก็ไม่รู้หรอกว่า หลังจากเรียนจบแล้วจะทำงานยังไง ได้เงินเท่าไหร่ มีเวลาหรือไม่มีเวลายังไง ภาวะกดดันยังไง

และผมก็มั่นใจว่า เด็ก ๆ ส่วนมากก็ไม่มีวันรู้หรอกครับ เพราะตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนมากอายุประมาณ 17-18 ปี อย่าว่าแต่อาชีพหมอเลย แม้กระทั่งคณะอื่น ๆ อาชีพอื่น ๆ ที่เลือกเข้าไป ก็รู้แค่ผิวเผินเท่านั้นแหละครับ ไม่มีใครรู้รายละเอียดข้างในลึก ๆ หรอก

ก่อนมาเรียน

- ไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าเป็นหมอต้องทำงานติดกัน เกิน 24 ชั่วโมงอยู่บ่อยๆ ครั้ง

- ไม่มีใครรู้หรอครับ ว่าจะต้องมีวันทำงานรวมทั้งวันที่อยู่เวรมากกว่าวันหยุด ในปีแรกวันหยุดจะน้อยมาก เดือนนึงที่ได้หยุดจริงๆ ไม่ถึง 10 วันเสียด้วยซ้ำ และวันนักขัตฤกษ์หรือหยุดยาวนี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยครับว่าจะได้หยุดหรือไม่ บ้านช่องแทบจะไม่ได้กลับ บางทีไม่เห็นหน้าพ่อแม่เป็นเดือนก็มีบ่อย ไปครับ

- ไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าเวลามาทำงานจริงๆ มันลาแทบจะไม่ได้เลย เพราะเราลาหนึ่งคน ก็ส่งผลกระทบต่องานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นต่อเพื่อนร่วมงาน หรือต่อคนไข้ เช่นอยู่โรงพยาบาลอำเภอมีหมอ 3 คน คนที่ 1 เป็น ผอ คนที่ 2 และ 3 เป็นหมอ คนหนึ่งตรวจคนไข้ประมาณร้อยคน ถ้าเราลาสักวัน เพื่อนก็ต้องทำงานเป็นสองเท่า เป็นต้น

- ไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าต้องทำงานที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งสารคัดหลั่ง หรือโรคติดเชื้อต่าง ๆ

- ไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าต้องทำงานภายใต้สภาวะกดดันมากมาย บางครั้งต้องตัดสินใจให้เร็ว เพื่อแข่งกับเวลา และมีโอกาสผิดพลาดได้ทุกนาที

- ไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าใช้เวลาในการเรียน 6 ปี เรียนรู้โรคเป็นร้อยเป็นพันโรค เรียนรู้ยาเป็นร้อยเป็นพันตัว แต่เวลาเอามาใช้งานจริง ๆ จำมาได้แค่ 20% ของที่เรียนก็เก่งมากแล้ว มิหนำซ้าเวลาตรวจคนไข้เจอโรคที่คาดไม่ถึงอีก ก็เกิดความผิดพลาดได้อีก พอผิดพลาดก็เกิดผลกระทบต่างๆ นา ๆ ตามมา

- ไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าตอนที่เรียนนอก ไม่ใช่แค่นั่งเรียนหนังสืออย่างเดียว ยังมีการทำหัตถการพื้นฐานอีกมากมาย เวลาไปผ่านแต่ละแผนก ก็ได้ทำนิด ๆ หน่อย ๆ บางครั้งแทบไม่ได้เห็น เคยเห็นแต่ในตำรา แต่พอมาทำงานจริง กลับต้องทำโดยที่ไม่มีความถนัด ก็เสี่ยงต่อความผิดพลาด และการถูกฟ้องร้อง

- ไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าการทำงานแต่ละนาที เสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน หรือถูกฟ้องร้อง ขาข้างหนึ่งแทบจะก้าวเข้าไปอยู่ในตะรางตลอดเวลา

- ไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าเงินเดือนจริง ๆ ไม่กี่หมื่นบาท เวลาอยู่เวร ถ้าจบใหม่ ๆ บางที่ 8 ชั่วโมงก็ 400 - 800 บาท แต่แทบไม่ได้นั่งเลยก็มีนะครับ บางคนเปรียบเทียบว่าเป็นแรงงานชั้นดีค่าตอบแทนถูกนั่นเอง

- ไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่ารายได้มันไม่ได้มากอย่างที่คิด รายได้รัฐบาลบางทีทำแทบตาย ต่อให้ทำทั้งวันทั้งคืนติดกันทั้งเดือน รายได้ก็หลักหมื่น รายได้จะมากหน่อยก็ตอนใช้ทุนปี 2 -3 พอมาเรียนเฉพาะทางแทบไม่มีรายได้เลยอีก 3 - 5 ปี (รับแต่เงินเดือนกับค่าเวร หมื่นสองหมื่นต่อเดือน) บางสาขาจบมา รายได้กลับน้อยกว่าตอนใช้ทุนเสียอีก

- ไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าจะต้องมาเจออะไรในระบบราชการบ้าง ปัญหาร้อยแปด เช่น เอาหมอไปทำงานเอกสาร งานบริหารบ้าง เป็นต้น หรือปัญหาพื้นฐานเช่นเงินเดือนออกไม่ตรงเวลา 6 เดือนแรกไม่มีเงินเดือนให้ ค่าตอบแทนบางอย่างค้างเป็นปี ๆ ก็ยังไม่ออก

- ไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าเวลาเข้ามาเรียนแล้ว จะต้องเรียนต่อยอดไปเรื่อยๆ สามปี ห้าปี และมากกว่านั้นอีก กว่าจะจบและเริ่มเก็บเงินจริงๆ ก็เกือบจะสามสิบห้าแล้ว มีเวลาในการเก็บออมอีกไม่กี่ปี ก็หมดแรงทำงานแล้ว กว่าชีวิตจะสบาย เอาเข้าจริง ๆ ก็วัยห้าสิบกว่า ๆ หรือหลังเกษียณนะครับ

แล้วจะรู้เมื่อไหร่ ว่าการเป็นหมอลำบากขนาดไหน ต้องเจอกับอะไรบ้าง

- สามปีแรกยิ่งไม่ได้แตะตัวคนไข้ นั่งเรียนในห้องสี่เหลี่ยม ๆ กับเรียนแล็บต่าง ๆ

รวมทั้งผ่าอาจารย์ใหญ่ ยิ่งแทบไม่มีโอกาสได้สัมผัสชีวิตจริงของหมอเลยครับ

- ปีสี่ ปีห้า เริ่มเข้ามาสัมผัสกับงานมากขึ้น เริ่มอยู่เวรแต่การอยู่เวรก็แค่เที่ยงคืน และยังมีชั่วโมงเรียนปนกับชั่วโมงฝึกงาน ก็ยังแทบจะไม่รู้อะไร

- ปีสุดท้าย ใกล้ชิดกับความเป็นหมอมากที่สุด แต่ก็ยังไม่ได้ดูคนไข้ทั้งตัวตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการสักเท่าไหร่ การรักษาส่วนมากยังอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์รุ่นพี่อยู่

- กว่าจะรู้จริงๆ ก็ตอนมาเป็นแพทย์ใช้ทุนแล้ว โดยเฉพาะแพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ที่ต้องออกไปทำงานเอง รับผิดชอบเองทุกอย่าง

ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจเลยครับ ว่าทำไมหมอถึงลาออกในช่วงนี้

ถ้าใครชอบชีวิตที่เล่ามา ก็ดีไป ทำงานต่อไปได้

ถ้าใครไม่ชอบ ก็จะพบสภาวะกดดันต่าง ๆ นา ๆ ทั้งจากสังคมและคนรอบข้าง


ดังนั้น ถ้าหมอสักคนจะลาออก ไม่ผิดหรอกครับ

สังคมไม่ควรตั้งคำถาม หรือควรประณามใด ๆ เพราะอย่างน้อยเขาก็รู้ตัวเองว่าไม่เหมาะกับงานนี้ ให้คนที่เหมาะสมทำจะดีกว่า

ถ้ารู้ตัวเร็วว่าไม่ถนัดกับงานสายนี้ ดีกว่าดันทุรังทำไปด้วยใจไม่รักอีกหลายสิบปี

การเป็นหมอนั้นถ้าเป็นด้วยใจรักก็จะอยู่ได้ถึงวัยเกษียณ แต่ถ้าใจไม่รักก็จะรู้สึกเหน็ดเหนือย และท้อในแทบจะทุกวัน

การเป็นหมอนั้นไม่ได้สบายอย่างที่หลายต่อหลายคนคิด ในส่วนของรายได้ จริงอยู่ว่าไม่ได้อดตาย แต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยอย่างที่หลายคนคิด

ลูกเพจของผมหลายๆ ท่านที่ถามมา รวมถึงผู้ปกครอง

นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง จากประสบการณ์ตรง

ที่อยากเล่าสู่กันฟัง

ว่าการเป็นหมอ ไม่ได้เดินบนกลีบกุหลาบ และชีวิตไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดนะครับ

แต่ถ้าใครคิดว่าใจรักจริง ๆ หากมีญาติพี่น้องทำงานในโรงพยาบาล ก็ไปตามดูชีวิตของหมอก่อนได้ก็จะดีครับ

และที่สำคัญ พ่อ แม่ ที่มีความคาดหวังกับลูกมาก ๆ ว่าลูกเรียนเก่ง อยากให้เรียนหมอ จบหมอแล้วจะสบาย รายได้ดี ความคิดแบบนั้น ผมยืนยันว่า "ผิด" อย่างสิ้นเชิงครับ

0
กัลย์ 20 ม.ค. 63 เวลา 09:28 น. 4

ได้ให้ความเห็นส่วนตัวในแง่ดี ของการสอบติดหมอไปแล้ว เลยเอาอีกความเห็นหนึ่งในแง่ลบ ของการสอบติดหมอมาให้อ่าน เพื่อให้พิจารณาด้วยตนเองว่า อยากเรียนหมอจริงๆหรือไม่

อยากจะให้เด็กเก่งๆ และมีเป้าหมาย อุดมการณ์ที่แน่วแน่ อยากเป็นหมอจริงๆ สอบติดหมอได้ตามความตั้งใจ ประเทศไทยจะได้มีหมอที่เก่งๆ และอยากทำงานหมอจริงๆ ได้มารักษาคนไข้ตามความรู้ที่เรียนมาด้วยความเต็มใจ


สรุปความเห็นในแง่ลบ

-เรียนหมอเหนื่อยมาก จบมาทำงานไม่มีเวลาพัก บางวันอาจจะทำงานติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง

-วันทำงานรวมทั้งวันที่อยู่เวรมากกว่าวันหยุด ใน 1 เดือนจะได้หยุดจริงๆ ไม่ถึง 10 วัน วันหยุดยาว ก็ไม่ได้หยุด ลาหยุดก็ไม่ได้ คนอื่นต้องทำงานหนักมากขึ้น

-มีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆมาก

-มีความกดดันสภาวะจิดใจมาก

-นำความรู้ที่เรียนมาใช้ได้เพียง 20% ทำให้เกิดความผิดพลาดได้

-ตอนเรียนคลีนิค มีเคสปฏิบัติน้อย พอมาทำงานจริงๆ ก็ไม่มีความถนัด อาจจะผิดพลาด ถูกฟ้องร้องให้ติดคุกได้

-งานหนัก เงินเดือนน้อย เงินออกไม่ตรงเวลา

-ต้องทำงานอื่นๆ เช่น งานบริหาร งานเอกสาร

-จบมาทำงานแล้ว ก็ต้องเรียนต่อยอดไปอีก กว่าจะเก็บเงินได้ ก็แก่แล้ว

-การเรียนหมอลำบากมากๆ พอไปทำงานใช้ทุนยิ่งยากเข้าไปอีก เจอความกดดันต่างๆ ต้องรับผิดชอบเอง บางคนถึงได้ลาออก

-คนที่จะเป็นหมอที่ดีได้ ใจต้องรักจริงๆ

-ทำงานหมอไม่ได้ร่ำรวย งานไม่สบาย

เท่าที่อ่านความเห็นนี้ เหมือนอยากจะ เรียกร้องให้หมอ มีสวัสดิการ สวัสดิภาพที่ดีขึ้นมากกว่าเดิม

ขอให้ผู้ที่มีความตั้งใจอยากเป็นหมอจริงๆ อย่าเขว อย่าถอดใจ พยายามสอบติดหมอให้ได้

แต่ถ้าใครไม่มีเป้าหมาย คือ เรียนคณะใด อะไรก็ได้ ให้เปลี่ยนไปเรียนคณะอื่นดีกว่า เพราะถ้าไม่ชอบเรียนหมอจริงๆ อาจจะหนักมาก

0
กัลย์ 20 ม.ค. 63 เวลา 10:14 น. 5

ลองอ่านบทความดี ๆ จากแพทยศาสตร์ มศว รุ่นที่ 27

รีวิว ชีวิตนิสิตแพทย์ Version เด็กเกรดเฉลี่ย 3.05 [ถีบขึ้นมาได้ตอนปีสุดท้ายจาก 2.78]

(ฉบับย่อมากๆ ถ้าเอาเต็มๆ คงต้องเขียนเป็นหนังสือ)

*คำเตือน หากคุณกำลังมองหาคำตอบของคำถามว่า

“เรียนยังไงให้เก่ง” หรือ “อ่านหนังสือยังไงให้ได้คะแนนดี”

ขอให้ข้ามโพสนี้ไป เพราะไม่ได้คำตอบอย่างแน่นอน

แต่ถ้าเป็นคำถามว่า

“เรียนหมออย่างไรให้มีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น”

ก็ขอให้ stay tuned และ scroll down ค่ะ ยาวมากๆ พยายามย่อแล้วจริงๆ

ต้องออกตัวไว้ก่อนเลยว่าที่บ้าน พ่อแม่ไม่ได้เป็นหมอ ไม่ได้ทำงานสายอาชีพที่ใกล้เคียงกับวิชาชีพนี้เลยแม้แต่นิดเดียว พี่สาวก็ยิ่งแล้วใหญ่ คนละสายคนละทางที่แท้ทรูมากๆ


จริงๆ ตั้งใจเป็นหมอมานานละ ตั้งแต่เด็กๆ ที่เคยไป รพ.จุฬาบ่อยๆ

ก็มีไขว้เขวมาบ้างตอน ม.6 ไปสอบวิศวะบ้าง สอบบัญชีบ้าง สอบสถาปัตย์ จนได้เข้าไปจ่ายค่าเทอมแล้วด้วย แต่สุดท้ายก็กลับมาความตั้งใจเดิมอยู่ดี

แต่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า เรียนหมอมันเรียนยังไง

รู้แค่ว่า “เรียน 6 ปี 3 ปีแรกเรียกว่าพรีคลินิก อีก 3 ปีหลังเรียกว่าคลินิก จบ 6 ปี เท่ากับเป็นหมอ”

ไม่เคยรู้เลยว่า พรีคลินิกจะสอบทุกสองอาทิตย์ ผ่ากรอสทุกวัน ทำแลปทุกวัน

ไม่เคยรู้เลยว่าขึ้นคลินิกมาจะต้องตื่นมาราวน์กี่โมง จะต้องเขียนรายงานกี่ฉบับ จะต้องสอบปากเปล่า สอบช้อยส์ สอบข้อเขียนแบบนี้

ไม่เคยรู้อีกเช่นกันว่า จบ 6 ปี ไม่ได้เป็นหมอ แต่คุณต้องสอบ License ให้ผ่านทั้ง 3 รอบด้วย

ชอบมีคนมาถามว่า เรียนหมอยากไหม เรียนหมอเหนื่อยไหม งานหนักหรือเปล่า

ก็ต้องบอกเลยว่า ยากมากๆ และเหนื่อยที่สุดในชีวิต 23 ปีที่ผ่านมา

มันไม่ได้ยากที่ตัววิชา เพราะเรารู้สึกว่า แต่ละคณะ แต่ละอาชีพ ก็มีความยากในแบบของมัน

จะให้เราไปนั่งเทียนเขียนสูตรฟิสิกส์ หรือให้เราไปนั่งศึกษาศิลปะยุคเมดิเตอเรเนียน ก็คงทำไม่ได้เหมือนกัน

มันยากที่ว่า เราจะมีวิธีจัดการยังไง ให้เราเรียนแล้วรู้สึกว่าเรามีความสุข กับสิ่งที่ทำอยู่มากกว่า

และมันยากที่สุดว่า เราจะทำยังไงให้ตลอด 6 ปีที่เรียนไปล้มไป เราไม่ลืมว่า นี่คือความฝัน ความตั้งใจของเราที่เราตั้งใจอยากจะเป็นมาตลอด และเรากำลังทำมันอยู่ อีกไม่นานมันจะเป็นจริง


ตอนปี 1 ก็คงจะเป็นปีที่สบายที่สุดแล้วแหละ สบายกว่าตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีก

วันๆ ตื่นนอน ไปเรียน ทันบ้าง สายบ้าง เคยสายจนอาจารย์ล็อกห้องมาแล้ว เรียนเสร็จก็กลับมาทำกิจกรรม ทำแสตน ซ้อมสัน ประชุม ใกล้ๆ 4 ทุ่มก็ต้องรีบแยกย้ายก่อนเค้าปิดประตูหอ


 ดึกๆ ลงมามินิมาร์ท ซื้อไข่ ซื้อมาม่าขึ้นไปผัดกินบนห้อง วันรุ่งขึ้นก็กลับมาวงจรเดิม เป็นแบบนี้มาตลอด

สำหรับเรา ชีวิตปี 1 มันเต็มที่มากๆ เราได้ทำทุกอย่างในสิ่งที่เราอยากทำ ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน รวมแล้วเป็นปีที่มีความสุขมากๆ ถ้าจะมีเรื่องให้ทุกข์ซักเรื่องนึง ก็คงเป็นเรื่องที่เพื่อนมาซ้อมสันสาย ไม่มาซ้อม ดีลกับเพื่อนไม่ได้ อะไรประมาณนี้มากกว่า มันเป็นปีที่ทำให้เราทำงานเป็นมากขึ้นมากๆ

ถ้าในมุมมองของเด็กกิจกรรม ก็เหมือนเป็นปีฝึกงาน ที่เราได้ลองเป็นหลายๆ บทบาท ได้เป็นทั้งผู้นำ ที่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นผู้ตามที่ดีไปพร้อมๆ กันด้วยเหมือนกัน ได้เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังเงียบๆ ได้ใช้ความสามารถที่มีอยู่บ้างมาช่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะช่วยได้

ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้ ก็ขอเก็บสิทธินั้นไว้ก่อนแล้วกัน

เพราะตลอด 1 ปีนั้นมันเป็นส่วนสำคัญ พาร์ทใหญ่มากๆ ที่ทำให้เรากลายมาเป็นคนอย่างทุกวันนี้จริงๆ

ชีวิตพรีคลินิก ที่ใครๆ ก็บอกว่าเป็นชีวิตดีๆ เพราะได้อยู่ในเมืองหลวง เรียนที่อโศก เดินไปไม่กี่ก้าวก็ถึงใต้ดิน หันหลังกลับมาขึ้นเรือคลองแสนแสบไปเซ็นทรัลเวิลด์ได้ใน 10 นาที

แต่สำหรับเรา มันเป็นปีที่เหนื่อยมากๆ เป็นปีที่ท้อมากๆ

เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกจริงๆ ว่าตัวเองโง่

เดิมที ตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยม ก็ไม่ใช่คนที่เรียนเก่งมาก มาสายตลก มักได้เกรดจะอยู่ที่ประมาณ 3.6-3.7 แถวๆ นี้ตลอด ไม่ใช่เด็กเนิร์ด ไม่เคยมาสายโอลิมปิกเลย แต่ก็คิดว่าเป็นคนหัวดีพอสมควร หลับในห้องแค่ไหน ทำข้อสอบได้ตลอด มั่วไปแค่ไหน ก็ผ่านครึ่งมาได้ตลอด เป็นที่พึ่งของเพื่อนๆ ได้ตลอดเวลา

จนพอได้มาเรียนพรีคลินิก มันเป็นชีวิตที่ตื่นเช้ามา ก็นั่งเรียน เรียน เรียน เรียน เรียน เรียนเลคเชอร์ ทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่ 9.00-16.00 น. มีพักเที่ยงให้ได้หายใจหายคอกับเค้าบ้าง มีตลาดนัดให้เดินเจอโลกอื่นบ้างนอกจากโลก 4 ช่องสไลด์ ยังดีที่เลิก 4 โมงให้ได้ออกไปหาอะไรอร่อยๆ กิน

พูดตรงๆ ว่าตอนที่ขึ้นปี 2 มาช่วงแรกๆ ไม่ชอบเลย ไม่ชอบมากๆ จนถึงจุดที่คิดว่า ถ้าป่านนี้ไปเรียนสถาปัตย์ เราจะมีความสุขมากกว่านี้รึเปล่านะ

การเรียนพรีคลินิกทำให้ได้รู้เลยว่า เราไม่ชอบการนั่งเรียนเลคเชอร์มากขนาดไหน

และการสอบทุก 2 สัปดาห์ คือจุดเริ่มต้นของความพินาศทางการศึกษาของเนปจูนที่แท้จริง

เราเป็นคนที่เรียนในห้องก็ ทันบ้างไม่ทันบ้าง จดบ้าง ไม่จดบ้าง แถมกลับมายังไม่ฟังเลคเชอร์อีก

พอตอนสอบ (ที่ถี่มากๆ) ก็กลายเป็นว่า อ่านชีทเปล่า มีแต่เนื้อหาที่เป็น bullet ที่อาจารย์ใส่ไว้ให้แค่นั้น

พอสอบมา ก็ตามนั้นนั่นแหละ

แต่ช่วงหลังๆ มาเริ่มมีทำแลปมากขึ้น เราก็มีความสุขมากขึ้นนะ พอได้ลงมือทำ ชอบแลปที่ได้ส่องกล้องมาก ทั้งแลป infect ส่องขี้ ส่องแมลงนู่นนั่นนี่ ตอนสอบหาพยาธิในขี้นี่สนุกมากๆ

ยิ่งพอได้มาผ่ากรอส ใครจะชอบไม่ชอบยังไงไม่รู้หรอก แต่สำหรับเรามันเป็นช่วงเวลาที่ดีมากๆ ของการเรียนพรีคลินิกเลย เราเฝ้ารอวันที่จะได้ผ่ากรอส เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าเราจะได้หลุดไปจากโลก 4 ช่องสไลด์ซักที บวกกับเพื่อนในโต๊ะกรอสที่ดีมากๆ ช่วยสอนตลอด ทวนให้ทุกครั้งที่ผ่าเสร็จ

แต่ก็ถึงจะชอบทำแลปมากแค่ไหน ถ้าเลคเชอร์ไม่ได้ พื้นฐานความรู้ไม่ได้ ก็คือไม่ได้อยู่ดี

ทำให้เราไม่เคยผ่านมีนเลยซักครั้งเดียว ตั้งแต่ขึ้นปี 2 จนจบบล็อกสุดท้ายของปี 3

เกรดตอนปี 2 ไม่เคยได้สูงกว่า C+ มี B หลุดมาบ้างจากวิชาเช่นภาษาอังกฤษ หรือมี A ช่วยดึงเกรดจากวิชา SWU

ซึ่งเอาจริงๆ มันก็คือเป็นผลจากการไม่ตั้งใจเรียนนั่นแหละ

จุดเปลี่ยนในชีวิต คือสอบตก MPL ตอนบล็อก endocrine ที่เป็นบล็อกสุดท้ายของปี 2

ตอนนั้นช็อกไปเลย เพราะที่ผ่านมารู้สึกแค่ว่า ทำยังไงก็ได้ให้มันผ่านไป ไม่คิดเลยว่าจะทำตัวแย่มากขนาดปล่อยให้สอบตกมาขนาดนี้ กลายเป็นช่วงที่ down ไปเลย

บอกแล้ว ว่าเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าตัวเองโง่จริงๆ

เสียใจกับทุกๆ อย่าง ว่าทำไมตอนนั้นเราไม่ตั้งใจเรียน เราไม่อ่านหนังสือ เราไม่ขยันให้มากกว่านี้

แต่ก็คงจะเป็นเพราะแต้มบุญ เพราะความโชคดีอะไรก็แล้วแต่ เรามีเพื่อนรอบตัวที่ดีมากๆ ในวันที่เราอยู่ในจุดที่ down ที่สุดของชีวิตทั้งเรื่องเรียน และเรื่องส่วนตัวตอนนั้น ทำให้เราเห็นเลยว่าใครทีหวังดีกับเราจริงๆ ใครที่คอยยื่นมือมาช่วยในวันที่เราลงไปถึงจุดต่ำสุด

ขอบคุณจูน ที่ให้ยืมชีท endocrine ทั้งหมดแบกไปที่คอมเมด และขอบคุณอีแจ๊ค กับอีกหลายๆ คนมากๆ ที่มารุมติวให้ตอนกลางคืนที่วัดอำภา เป็นการติวที่จะไม่ลืมเลย

ตั้งแต่นั้นมาก็เลยตั้งปณิธานกับตัวเองอย่างแน่วแน่ว่า ทำยังไงก็ได้ แต่จะไม่กลับไปอยู่ในจุดนั้นอีกแล้ว

พอขึ้นมาปี 3 ก็เลยตั้งใจเรียนมากขึ้น (นิดนึง) ปรับตัวได้มากขึ้น รู้วิธีเรียนที่เหมาะสมกับตัวเองมากขึ้น คะแนนออกมาก็ดีขึ้นจริงๆ ยังไม่ผ่านมีนเหมือนเดิม

แต่ที่เพิ่มเติมคือความสุขในการเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ปี 3 เป็นปีแรกที่เราขยับจากเกรด C กับ C+ มาเป็น B บ้าง แต่ก็ยังมีแนวมาเรื่อยๆ เหมือนเดิม

และเป็นครั้งแรกที่ได้ A ในวิชาอื่นที่ไม่ใช่รหัส SWU

A ตัวแรกที่ได้จากการเรียนวิชาคณะ คือวิชา PC 301 จิตเวชคลินิก เป็นวิชาที่เรียนเลคเชอร์แรกแล้วรู้สึกเลยว่า เฮ้ย สนุก มันไม่เหมือนกับวิชาคณะเดิมแต่ละบล็อกที่ผ่านๆ มา อาจจะเป็นเพราะมันมีความ clinical correlation มากขึ้น ต่างจากวิชา basic sci บล็อกอื่นๆด้วย เลยเป็นวิชาคณะตัวแรกที่รู้สึกว่าจับต้องได้ กลายเป็นวิชาที่ตั้งใจเรียนมาก สั่งหนังสือจากเว็บศูนย์หนังสือจุฬามาอ่านคู่กับเลคเชอร์อาจารย์ นั่งพิมพ์สรุปในคอม เป็นที่มาของสรุปจิตเวชที่ตอนนี้ไม่รู้ว่ายังวนเวียนอยู่กับน้องรึเปล่า แต่มันเป็นครั้งแรกที่กลับมารู้สึกว่า “เฮ้ย เราก็ทำได้ว่ะ” จากเดิมที่มีแต่ความรู้สึก down มาตลอดการเรียน 2 ปีที่นี่

ขอบคุณ A ตัวนั้น ที่เวลาท้อทีไร จะกลับไปนึกถึงความรู้สึกที่เห็นเกรดตัวนี้ ว่าถ้าเราตั้งใจ มันทำได้จริงๆนะ


ช่วงที่สอบ NL 1 ตอนจบปี 3 ก็เป็นช่วงที่พีคพอสมควรเหมือนกัน ด้วยความที่พื้นฐานไม่แน่นเลยมาตั้งแต่แรก ทำข้อสอบครั้งแรก บล็อกที่เรียนตอนปี 2 นี่ทำแทบไม่ได้เลย จำอะไรไม่ได้ blank ไปหมด เหมือนไม่เคยเห็นสิ่งนี้มาก่อนในชีวิต เท่ากับว่าตอนนั้นเรากลับไปเริ่มต้นใหม่หมดเลย อ่านหนังสือใหม่ ตั้งแต่บล็อกแรกของปี 2 จนถึง endocrine อ่านใหม่เหมือนจะไปสอบปิดบล็อกอีกรอบ ไปสรรหาสรุปของทุกที่ ที่หาได้มาอ่าน จนพออ่านของปี 2 ที่ไม่เคยเรียนมาก่อนจนพอจำได้บ้าง กลายเป็นว่าถ้ามาอ่านของปี 3 แบบนี้ ไม่ทันแน่นอน ก็เลยเปลี่ยนวิธีใหม่ เป็นการนั่งทำข้อสอบทีละบล็อก ย้อนไปทุกปี ประมาณ 7-8 ปีถ้าจำไม่ผิด ซื้อกระดาษคำตอบของศึกษาภัณฑ์มานั่งทำจะได้ไม่ต้องเขียนลงข้อสอบ ไว้กลับมาทำใหม่ได้ ทำเสร็จก็จะตรวจเองจากเฉลยของรุ่นพี่ ถ้าทำได้เกิน 70% ก็จะอ่านเฉพาะเฉลยข้อที่ผิด แล้วก็จะผ่านบล็อกนั้นไป แต่ถ้าไม่ถึง 70% ก็จะกลับไปอ่านเนื้อหาใหม่อีกรอบ แล้วกลับมาทำใหม่ เป็นอย่างงี้ไปจนครบทุกบล็อก พอทำแบบแยกบล็อกครบแล้ว ก็ถึงจะไปทำแบบรวมทุกบล็อกเหมือนข้อสอบจริง 300 ข้อ จนครบทุกปี ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนก่อนสอบ (เริ่มทำหลังปีใหม่ สอบเดือนมีนา)

เดือนสุดท้ายก่อนสอบเป็นเดือนที่เหนื่อย มากกกกกกกกกก (ก.ไก่ อีกห้าล้านตัว) ตื่น 7 โมงเช้า นอนตี 1 ตี 2 ทุกวัน เหนื่อยจนร้องไห้ไป ทำข้อสอบไป เพราะรู้สึกว่าเราต้องพยายามกว่าคนอื่นหลายเท่ามากๆ ด้วยต้นทุนที่ไม่ดี พื้นฐานไม่ดีมาตั้งแต่แรก เหมือนกลับไปเริ่มที่ศูนย์ ในขณะที่คนอื่นเริ่มที่ครึ่งทาง หรือบางคนเริ่มที่เดินอีกก้าวเดียวก็ถึจุดหมายด้วยซ้ำ

สิ่งสำคัญที่สุดตอนนั้นคือกำลังใจ เรามีแต้มบุญมากพอจากตอนที่ตก MPL เผื่อแผ่มาจนถึงตอนนี้ กำลังใจสำคัญที่สุดคือ ครอบครัว พ่อกับแม่ไม่เคยกดดันเราเลย ไม่เคยกดดันว่าเราจะต้องเก่ง เราจะต้องสอบได้คะแนนดี (แต่ต้องผ่าน) เป็นเหตุผลนึงที่ไม่ว่าจะ down แค่ไหน เราไม่เคยคิดจะลาออกเลย

อีกกำลังใจสำคัญมากๆ ตอนนั้น คืออาจารย์พรีคลินิก โดยเฉพาะอาจารย์อัมพร และอาจารย์โชติ อาจารย์อัมพรคือสายซัพพอร์ตที่แท้ทรู อาจารย์จะคอยมาถามตลอด โดยเฉพาะพอเป็นเราที่เป็น 30 คนรั้งท้ายของรุ่น “วันนี้เป็นยังไงบ้าง” “อ่านหนังสือด้วยนะเนปจูน” “สู้ๆ” เป็นคำถามสั้นๆ ที่อาจารย์อาจจะถามกับทุกๆ คน แต่สำหรับเรา คำพูดของอาจารย์เป็นแหล่งพลังงานชั้นดี ที่ไว้เติมพลังตอนที่หมดแรงจนอยากจะเลิกอ่าน

ในวันที่ประกาศผล NL ก็เป็นอีกวันนึงที่ได้บอกกับตัวเองอีกครั้งว่า

“ถ้าเราตั้งใจ เราทำได้จริงๆนะ”


ถ้าพูดถึงชีวิตคลินิกตอนปี 4-5

ก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่า ตื่นแต่เช้าตรู่ ไปทำแผล ไปลอกแลป ไปดูคนไข้ในความรับผิดชอบตัวเอง และไปราวน์กับพี่และอาจารย์ บ่ายๆ ไปเรียนเลคเชอร์บ้าง วันละ 1-2 ชั่วโมงไม่เกินนี้ แล้วกลับมาราวน์รอบเย็นต่อ ถึงกี่โมงก็สุดแท้แต่ละวอร์ดจะนำพา บางวันก็ 4 โมง บางวันก็ 2 ทุ่ม วันไหนอยู่เวรก็อยู่ไป จนถึง 4-5 ทุ่ม ลงเวรค่อยเดินกลับหอ กลับมาเขียนรายงาน อ่านหนังสือ และนอน วนเวียนไปอย่างงี้ทุกวัน

บ้าน ก็ได้กลับบ้าง ถ้าไม่มีเวรในอาทิตย์นั้น

ส่วนใหญ่พ่อกับแม่จะมาหาที่องครักษ์มากกว่า ไปกินข้าวกลางวันด้วยกัน เอาให้ไม่ลืมหน้ากันก็ยังดี

สำหรับเรา เราชอบการเรียนคลินิก มากกว่าพรีคลินิกนะ

เพราะอย่างที่บอกไปว่าเราเป็นคนที่ไม่ชอบเรียนเลคเชอร์เอามากๆ ดูได้จากเกรดตอนปี 2-3

พอได้มาเรียนคลินิก เป็นการเรียนที่เกิดจากการลงมือทำ ได้เห็นคนไข้จริงๆ เห็น progression จริงๆ

และที่สำคัญคือ ทำให้เราได้เห็นการทำงานของหมอจริงๆ ว่ามันเป็นยังไง

ตอบคำถามตัวเองว่า ในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้าที่เราจะต้องไปทำ เราจะทำได้ไหม

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราเคยเป็นทั้งน้องเล็กสุดในวงราวน์ มีหน้าที่วิ่งหยิบชาร์ต วิ่งไปเอาซาว ไปลอกแลป ไปขอสไลด์ ไปย้อม sputum ทำแผล หยิบเอกสาร งานแรงงานทั้งหมดที่ทำ

ไปจนถึงเป็น extern ที่ต้องมาราวน์ก่อน เขียนออเดอร์ก่อน ไปคอนเช้า ไปเขียนใบต่างๆ แทนพี่ รับโทรศัพท์ก่อนเป็นคนแรก โดนปลุกมาเป็นคนแรกของคืนที่อยู่เวร

ก็มีบ้าง ความรู้สึกที่ว่า ไม่อยากทำ ขี้เกียจ

แต่ในเมื่อมันเป็นหน้าที่

once ที่เราทำแล้ว เราตั้งใจ ในทุกงานที่ทำ

เพราะตอนปี 4 เราเชื่อว่า ถ้าเราวิ่งไปหยิบชาร์ต หยิบเอกสาร หยิบใบต่างๆ เร็ว พี่จะราวน์ได้เร็วขึ้น

ถ้าเราลอกแลปทุกวัน เราจะไม่ต้องวิ่งไปดูแลประหว่างราวน์ และพี่จะได้ไม่ต้องรอ

ถ้าเราไปทำแผล เราจะเป็นคนถ่ายรูปแผลให้พี่ดู และบอก progression แผลได้ด้วยตัวเอง

พอมาเป็น extern เราก็คิดแค่ว่า ทำยังไงก็ได้ ให้ราวน์เสร็จเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่น เช่น ขอรีวิวฟิล์ม คอนเซ้า ตามแลป ไปเข้า OR หรือไปออก OPD

ก็คือเราต้องมาช่วยพี่ทำในสิ่งที่เราทำได้ และในหน้าที่ที่เราต้องทำก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุดเหมือนกัน

สิ่งที่ได้เรียนรู้มากที่สุดจากชั้นคลินิก คือเรียนรู้ตัวอย่างของหมอที่ดี จากการดูคนไข้ ความรู้ การรักษา

เรียนรู้ในแง่ของการทำงาน โดยเฉพาะตอนช่วงที่เป็น extern

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้เรียนรู้ตัวอย่างของ “พี่” ที่ดีด้วย

การเรียนแพทย์ โดยเฉพาะในการเรียนชั้นคลินิก คือการเรียนแบบ “พี่สอนน้อง” ที่แท้จริง

พี่ เป็นคนที่เราเจอหน้าทุกวัน เช้าถึงเย็น ในวงราวน์ ในห้อง conference ในโรงอาหาร ในทุกที่ที่เดินไป

ที่ผ่านมาเจอพี่มาหลายคนมากๆ และด้วยแต้มบุญที่ยังไม่หมด ส่วนใหญ่เรามักจะโคจรไปเจอแต่พี่ดีๆ

แต่คนเรามีบุคลิกหลายอย่าง และคนเราทุกคนก็มีทั้งด้านที่ดี และด้านที่ไม่ดี

เราก็มีหน้าที่แค่ว่า

อะไรที่ดี อะไรที่เป็นสิ่งที่เราได้รับมาแล้วรู้สึกดี ก็จงจำไว้ และเป็นแบบนั้นให้ได้

พี่ที่ดีในความคิดของเราเป็นยังไง ก็จงเป็นพี่แบบนั้นให้กับน้องรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต

อะไรที่ไม่ดี อะไรที่ไม่ชอบ ก็อย่าไปทำกับคนอื่นให้เขารู้สึกแย่เหมือนที่เราเคยโดน

ชีวิตคลินิก มันก็มีแค่นี้แหละ

อาจจะมีการสอบ NL 2, 3 มาแย็บบ้างพอให้มีสีสันในชีวิต หรืออาจจะทะลาะกับเพื่อนในสายบ้างพอเป็นพิธี

แต่เชื่อเถอะ ว่าสิ่งที่จะบอกว่าเราจะเป็นหมอที่ดี หรือเป็นคนที่ดี ไม่ใช่ผลสอบหรอก

สอบตกก็สอบใหม่ได้


แต่เป็นหมอที่ดี เป็นพี่ที่ดี มันขึ้นกับการกระทำของเรา การเรียนรู้ของเราต่างหาก

ถ้าเราเป็นน้องที่ดีไม่ได้ ในวันที่เราขึ้นไปเป็นพี่ จะไม่มีทางเป็นพี่ที่ดีได้เลย

และถ้าเราเป็นลูกศิษย์ที่ดีของอาจารย์ไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่เราจะไปสอนคนอื่นได้เหมือนกัน

การเรียนแพทย์ของเรา 6 ปี ไม่มีช่วงไหนเลยที่โรยด้วยด้วยกลีบกุหลาบ

แต่ก็ไม่มีช่วงไหนเลย ที่มีแต่ดินโคลนเฉอะแฉะเหมือนกัน

ตอนปี 2 เราหลับตาเดิน เดินไปเจอแต่ดินเฉอะแฉะ ไปทางไหนก็ช้าไปหมด ติดไปหมด

ตอนนั้นก็ดูเหมือนว่าตลอดทางมันจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

พอถึงจุดนึงที่เป็นจุดเปลี่ยน ลืมตาเดินมากขึ้น มองดูทางรอบตัว

มีคนพาเลี้ยวซ้ายไปนิด อาจจะมีต้นไม้ขวาง แต่ถ้าข้ามไปได้ อาจจะเจอฟุตบาทก็ได้

เดินเลี้ยวขวาไปหน่อย อาจจะมีทางแห้งๆ ไม่เรียบมาก มีกุหลาบบ้างประปราย แต่ก็เดินได้ไม่ติดจนเกินไป

จะเดินไปทางไหน ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย นั่นคือสิ่งที่เราทุกคนต้องการไม่ใช่หรือ ?

และสำคัญที่สุดก็คงจะเป็นคนที่เดินไปด้วยกัน และคนที่คอยหนุนหลังเราเดิน

ถ้าหาคนสองคนนั้นเจอแล้ว รักษาเขาไว้ดีๆ

เพราะเขาสองคนนี้แหละ ที่จะพาเราเดินไปจนสุดทาง


.....นสพ.ชญามณฑน์ สุวรรณสัมฤทธิ์ แพทยศาสตร์ มศว รุ่นที่ 27


เห็นเป็นบทความที่ดี เขียนได้ดีมาก เหมือนเป็นการเขียนสรุปชีิวิตการเรียนแพทย์

เลยเอามาฝาก คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆที่กำลังเตรียมตัวสอบอย่างมาก

ผู้เขียนไม่ได้เป็นเด็กที่เรียนเก่งมาก แต่ก็ประสบความสำเร็จเป็นแพทย์ได้


0
ผปค. 20 ม.ค. 63 เวลา 18:24 น. 6

เป็นประโยชน์มากจริง ๆ ครับ อยากให้น้อง ๆ หลายคน ที่จะเลือกเรียนแพทย์

ตามความรู้สึก ทัศนะ ของ ผู้ปกครอง และสังคม ได้เข้ามาดูกันให้มาก ๆ

ขอบคุณที่ได้ช่วยเรียบเรียง ทั้งข้อดี และ ข้อเสีย ปัญหา ต่าง ในการเป็นแพทย์

โดยผู้ที่รู้จริง ๆ รู้ด้วยความรู้สึก และได้ประสบมาจริง ๆ กับตนเอง ขอบคุณครับ

0
กัลย์ 21 ม.ค. 63 เวลา 08:49 น. 7

มีบางคนถามว่า แพทย์/ทันตะ เรียนอะไรดีกว่ากัน

ความเห็นส่วนตัวเห็นว่า ถ้าสอบติดได้เรียนทันตแพทย์ หรือสอบติดได้เรียนแพทย์ ดีทั้งนั้น เพราะจบออกมาแล้ว มีงานทำแน่นอน ไม่ต้องไปลำบาก สอบแข่งขันเข้าทำงานอีก


ทันตะ

-โดยปกติคะแนนต่ำสุด ทันตะ ม.รัฐ จะน้อยกว่าแพทย์ ม.รัฐ (ยกเว้นบางสถาบัน)

-บางคนเลือกทันตะปิดท้ายกันพลาด(อาจจะชอบน้อยกว่าแพทย์)

-หลายคนอยู่ปี 1 ทันตะ ซิ่ว กสพท.ไปแพทย์ ม.รัฐ ถ้าไม่ติด ก็เรียนที่เดิม

-ถ้าคนที่ชอบงานประดิษฐ์ งานศิลปะ ประดิดประดอย ก็จะแต่งฟันได้สวย ไม่แก้แล้วแก้อีก

-ถ้ามหาลัยอยู่นอกเมือง อาจจะมีเคสปฏิบัติไม่ครบ เรียนไม่จบใน 6 ปี

-เรียนเฉพาะด้าน ไม่กว้างมาก เฉพาะในช่องปากและฟัน

-ทำงานรับผิดชอบเฉพาะในช่องปากและฟัน งานไม่หนักมาก

-ไม่ต้องเป็น ผู้อำนวยการโรงพยาบาล

- อื่นๆ

แพทย์

-โดยปกติคะแนนต่ำสุด แพทย์ ม.รัฐ จะมากกว่า ทันตะ ม.รัฐ(ยกเว้นบางสถาบัน)

-ส่วนมากจะไม่เลือกทันตะปิดท้ายกันพลาด(ถ้าชอบแพทย์มากกว่า จะไม่ชอบทันตะ)

-ยังไม่เคยได้ยินแพทย์ ม.รัฐ ปี 1 ซิ่ว กสพท.ไปทันตะ ม.รัฐ (อาจจะมีก็ได้)

-ส่วนมากเรียนจบใน 6 ปี

-เรียนกว้างมากกว่าทันตะ ทั้งในทุกส่วนของร่างกาย และนอกร่างกาย(โรค ยา)

-ทำงานรับผิดชอบ มีบทบาทในโรงพยาบาลมากกว่า งานหนักมากกว่า อยู่เวรมากกว่า

-ทำงานกับคนไข้ นางพยาบาล เภสัชกร หรือตำแหน่งอื่นๆ ทั้งใน และนอกโรงพยาบาล

หรือช่วยงานด้านบริหารแทนผู้อำนวยการ หรือเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล

-อื่นๆ

0
กัลย์ 21 ม.ค. 63 เวลา 20:09 น. 8

เคยเป็นข่าวดัง

ร.พ.ต่างจังหวัด เคสฉุกเฉิน เด็กรอตรวจ จนเสียชีวิต

การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลใหญ่มักที่จะประสบปัญหาการรอคิวที่นาน

ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งผู้ป่วยฉุกเฉินก็ต้องรอการรักษาจนอาการทรุดหลายๆครั้ง เราก็ได้เห็น แต่ไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสียเหมือนอย่างเคสนี้ ที่ต้องการให้เป็นอุทธาหรณ์ในระบบสาธารณสุขไทย


โดยเจ้าของเฟซบุ๊คอย่าง Nu-sajee Kornrawee ได้ออกมาโพสต์เรื่องราวสุดเศร้าที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของตัวเอง หลังจากที่น้องชายถูกส่งต่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ในเคสฉุกเฉิน แต่ทาง ER ได้แต่ให้รอๆๆๆ จนในที่สุดผลจากการรอ โดยไม่ได้เข้ารับการรักษาที่รวดเร็ว น้องต้องจบชีวิตในที่สุด


ฝากไว้เป็นอุทธาหรณ์ อย่าให้ 1 ชีวิต ต้องเสียไป กับคำว่า “รอ”

*บันทึกความทรงจำ ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น*…. น้องปวดท้องมาก มากจนต้องส่งตัวฉุกเฉินจาก รพ.ชะอำ ไป รพ.พระจอมเกล้า เพชรบุรี ตั้งแต่เช้า ไปถึง พยาบาลบอกให้ *รอ* รอ รอ รอ รอ ทั้งๆ ที่น้อง ปวดมาก จนนั่งไม่ติดเก้าอี้ ปวดทรมานมาก อีกทั้ง หน้าก็บวมจากเดิมมากๆ ก็ยังบอก รอ รอ รอ รอ รอ นานมากๆ จนน้องช๊อค ล้มลงไป ช็อค น๊อค แล้วทำ CPR จนรู้สึกตัว ถึงได้เข้าตรวจ เข้าเอ็กซเรย์ ได้เข้าฉีดสี เข้าเครื่องคอม จนรู้ว่า เส้นเลือดใหญ่ในกระเพราะแตก …. แล้วออกมา ได้ภาพถ่าย 2 นิ้ว เป็นรูปสุดท้าย หลังจากนั้น น็อค อีก 1 ครั้ง และได้ปั้มหัวใจ แต่ครั้งนี้ น้องไม่กลับมาแล้ว ….. เพราะคำว่า “รอ” คำเดียวเท่านั้น……

ลองนึกดูนะ ถ้าน้องได้ตรวจได้เช็คตั้งแต่น้องมาถึง รพ. ก็อาจจะช่วยชีวิตน้องไว้ได้ ….


*** ขอฝากถึง หมอ พยาบาล และ โรงพยาบาล…. คุณเห็นอาการน้องแบบนี้แล้ว คุณน่าจะเห็นถึงความผิดปกติแล้วนะ อย่าคิดว่าน้องยังเด็ก น้องเป็นเด็ก อาจจะปวดไปเอง อดทนไม่ไหว…. ปวดท้องธรรมดารึป่าว ที่น้องปวด น้องทรมานมากจริงๆ และส่งตัวไปแบบฉุกเฉิน แต่ทำไมถึงยังต้องรอ …. ขอไว้เป็นอุทธาหรณ์ สำหรับใครหลายๆคนด้วยค่ะ อย่าให้ใครต้องมาเสียชีวิต กับคำว่า “รอ”


นายแพทย์สาธิต รัตนศรีทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ได้แถลงข่าว

สรุปลำดับเหตุการณ์ว่า เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก แพทย์วินิจฉัยดูแลอาการอย่างใกล้ชิด

เวลา 13.30 น. เข้ามาถึง รพ. ในแพทย์ก็ตรวจวินิจฉัยเด็กชายทันที

เวลา 14.00 น. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์

เวลา 15.00 น. เป็นลมหมดสติ เข้าห้องฉุกเฉิน

เวลา 15.30 น. ได้ผลคอมพิวเตอร์ ประสานกับทางโรงพยาบาลราชบุรี

เวลา 16.30 น. เสียชีวิต

“เราใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ ถึงได้รู้ว่า เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกของเด็กชายแตก

ก็ถือว่าเร็วแล้วนะครับ ไม่ได้ล่าช้าอะไรครับ

ตอนที่เด็กชายเสียชีวิต ทางแพทย์ได้เรียนให้ทางญาติ 2 ท่านที่มาเฝ้าดูอาการทราบถึงสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กชายเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า เด็กชายเสียชีวิตจาก เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก ซึ่งโรคดังกล่าว เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก และเป็นโรคที่มีความรุนแรงอย่างมาก

" โดยญาติของเด็กชายทั้งสองท่าน ไม่ได้ติดใจอะไร "

อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/1012694


เรื่องนี้ ถ้าไม่เกิดขึ้นกับครอบครัวตัวเอง ก็ไม่รู้ซึ้ง และเข้าใจหรอก คนจนก็ต้องเป็นแบบนี้เอง ถ้ามีเงิน รอดแน่นอน


เอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ อย่าเพิ่งเชื่อ !!! หลายสิบปีมาแล้ว ปรียา รุ่งเรือง ดารานักแสดงสาว

เรื่อง แม่นาคพระโขนงรุ่นแรกๆ ของเสน่ห์ โกมารชุน เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ถนนเพชรเกษม แถวอำเภอเขาย้อย เข้า ร.พ.ประจำจังหวัดเพชรบุรี ตอนแรกดาราสาวก็ยังพูดคุยกับนางพยาบาลได้เหมือนคนปกติ พยาบาลโทรฯตามหมอหลายครั้ง หมอก็ยังไม่มา ผลสุดท้ายปรียา รุ่งเรืองก็ตาย ไม่ขอเล่ารายละเอียด เพราะเคยฟังจากเพื่อนพยาบาลแล้ว ก็รู้ความจริงเป็นอย่างไร สมัยนั้นคนเพชรบุรีบอกกันว่า เป็นโรงพยาบาลฆ่าสัตว์ คนเพชรบุรีจะไม่เข้าไปรักษา จะเข้าราชบุรี หรือ กทม.เลย ฉะนั้น รู้เรื่องจริง ก็อย่าพูด เดี๋ยวเดือดร้อน ปัจจุบันอาจจะมีการพัฒนา ปรับปรุง ดีขึ้นกว่าสมัยก่อนแล้วก็ได้

0
Mum51 22 ม.ค. 63 เวลา 18:45 น. 9

เป็นแม่ของลูกที่เรียนทันตแพทย์ค่ะ เด็กรุ่นใหม่อยากเรียนแพทย์หรือทันตแพทย์ เพราะอยากเรียนเองมากกว่าฟังผู้ใหญ่ ลูกชายติดแพทย์รับตรง(เพราะแม่แอบเอาคะแนนไปยื่นผ่านเวป)พอรู้ว่าติดร้องไห้ น้ำตาไหลพรากๆ คุยกัน 2 ชม.จนแม่ใจอ่อน รอบกสพท.คะแนนสูงพอสมควร แม่พยายามอีกครั้งให้ลูกเปลี่ยนใจ ลูกก็ยังหนักแน่นเลือกทันตแพทย์ 4 อันดับในกสพท.อย่างเดียวและติดอันดับ 1 ตอนสัมภาษณ์อ.ถามคะแนนสูงทำไมไม่เลือกแพทย์ ลูกตอบอย่างมั่นใจว่า ผมชอบนอนครับ ถ้าต้องลุกกลางดึกไปตรวจคนไข้คงไม่พร้อม อ.ขำแล้วบอกคิดถูก ทันตแพทย์ถ้าไม่ฉุกเฉินจริงๆนอนยาว ปัจจุบันลูกเรียนปี 2 เกรดดูหย่อนๆไปบ้าง (เทอม 1 ปี 2 เหลือ 3.57) มีบ่นๆบ้างเพราะไม่ชอบเรียน Gross Anatomy ถึงจะเรียนแต่ครึ่งตัว(แพทย์เรียนเต็มตัว) แต่เมื่อเลือกเรียนที่ตัวเองชอบก็ไม่บ่นเยอะ ชีวิต happy แม่ก็ดีใจที่ตัดสินใจถูกไม่หักหาญน้ำใจ บังคับลูกให้เรียนแพทย์ ถามลูกว่าชอบมั๊ยที่เลือกทันตแพทย์ลูกบอกเฉยๆ รู้แค่ไม่อยากเรียนแพทย์ เด็กรุ่นใหม่ คิดเองตัดสินใจอนาคตและมั่นใจในตัวเอง ต่างจากรุ่นเราที่ต้องฟังพ่อแม่

0