Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เกี่ยวกับคำทับศัพท์ สำคัญแค่ไหนสำหรับคุณ?

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ตามหัวข้อค่ะ อยากทราบว่ามันสำคัญมากแค่ไหน เต็ม 100 สำหรับคุณให้เท่าไหร่?

(สำหรับนักเขียน) คุณซีเรียสมากน้อยแค่ไหนและพยายามจะเขียนให้มันถูกต้องตลอดเวลาไหม

(สำหรับคนอ่าน) ถ้าอ่านเจอนักเขียนที่เขียนไม่ถูกต้อง คุณจะเลิกอ่านไปเลยไหมคะ

คือปกติก็ไม่เคยซีเรียส แต่พอจะลองทำหนังสือสักเล่ม แล้วลองเช็กคำถูก-ผิดด้วยตัวเองก็พบว่ามันผิดเยอะมาก
(ขนาดภาษาไทยยังผิดเพราะเคยใช้มาจนชิน)
รู้ว่าสามารถจะจ้างเขาพิสูจน์อักษรได้ แต่ถ้าไม่เคยลองด้วยตัวเอง เราจะไม่รู้ถึงความผิดพลาดเหล่านี้เลยค่ะ 

ถ้าตั้งผิดหมวดก็ต้องขอโทษเอาไว้ ณ ที่นี้นะคะ คือไม่เคยเล่นบอร์ดค่ะ

แสดงความคิดเห็น

8 ความคิดเห็น

Vor@vit Jessica 13 พ.ย. 59 เวลา 21:19 น. 1

ถ้าเป็นไปได้ก็จะเขียนให้ถูกต้องนะคะ แบบลองเสิร์ชหาคำนั้นที่เขียนถูกต้อง ในฐานะนักอ่านถ้าไปเจอคนเขียนผิดเยอะๆ ก็หมดอารมณ์เหมือนกันนะคะ แบบเห็นเขียนคำผิดแล้วรำคาญยังไงไม่รู้ค่ะ555 แต่ก็ไม่เลิกอ่านไปเลยหรอกค่ะถ้าเรื่องนั้นสนุกและน่าติดตาม

0
ATAY 13 พ.ย. 59 เวลา 21:39 น. 2

เอาให้ถูกต้องที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะเป็นการดีนะครับ ... อย่างน้อยก็เป็นการแสดงให้เห็นถึง "ความตั้งใจ" และ "ความใส่ใจ" ของนักเขียน 

ในฐานะนักอ่าน การตัดสินใจติดตามอ่านผลงานของนักเขียนสักคนหนึ่ง ผมจะต้องไม่รู้สึก "รำคาญใจ" มากนักกับ "คำผิด" ... โดยเฉพาะคำที่ไม่น่าจะผิดได้ ถ้ามี "ความใส่ใจ" 

ยุคสมัยนี้ มี Google ให้ใช้ประโยชน์ การมีคำผิดในนิยายบนเว็บ มันเป็นเรื่องปกติ แค่อย่าให้มากเกินไปก็พอ

กรณีเดียวที่ผมจะไม่กด เข้าไปอ่านเลยแน่ๆ ก็คือ ... การตั้งชื่อเรื่องเป็นภาษาไทย แต่กลับเป็นการใช้คำที่เขียนผิด โดยเฉพาะคำที่ง่ายโคตรๆ อย่าง "ภัยพิบัติ", "วิกฤตการณ์", "หายนะ" รวมถึงคำอื่นๆ อีกมากมาย ... ถ้าแค่ตั้งชื่อเรื่องยังมี "คำผิด" ผมคงไม่ต้องไปคาดหวังอะไรกับเนื้อหาหรอกมั้งครับ   

0
นักอ่านมืออาชีพ 13 พ.ย. 59 เวลา 21:45 น. 3

"ถ้าเจอนักเขียนเขียนไม่ถูกต้องจะเลิกอ่านไหม?"
ตอบว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะทนอ่านต่อไปครับ
เป็นนักเขียนแล้วไม่รักภาษา ไม่เห็นความสวยงามของภาษา
เขียนย่ำยีภาษาต่อหน้าต่อตา เป็นการทำร้ายคนอ่านมากไปครับ

1
มหันตภัยจากอวกาศ 13 พ.ย. 59 เวลา 22:52 น. 4

มีบางครั้งผมแต่งๆ แล้วเข้าใจมาตลอดว่าคำนั้นใช้ถูกเลยไม่ได้เช็ค แต่เอาจริงๆใช้ผิดน่ะครับ

เพราะงั้นในฐานะคนอ่านเลยไม่ค่อยซีเรียส พื้นฐานมันต่างกันอยู่แล้ว (นอกจากว่าจะผิดคำที่ง่ายๆหรือคำที่คนเขาไม่ผิดกัน แบบนั้นก็อาจจะขัดๆหน่อย แต่ถ้าเรื่องสนุกก็ตามต่อนั่นแหละ คำพวกนี้มีผลไม่มากหรอกสำหรับผม)

0
คุณพีทคุง พิธันดร 14 พ.ย. 59 เวลา 04:35 น. 5

เวลาเขียน ผมจะให้ความสำคัญกับตัวสะกดมากครับ ไม่ว่าจะทับศัพท์หรือเปล่า ให้ 100 ไปเลย

แต่วิธีทับศัพท์ของผมจะมีทั้งคำที่ตรงกับเกณฑ์ของราชบัณฑิตบ้าง และมีที่ไม่ตรงบ้าง เพราะธรรมชาติของคำทับศัพท์เป็นแบบนั้นเอง ตัวอักษรภาษาเขากับเราไม่ได้ตรงกันเป๊ะทุกตัว มันมีวิธีถ่ายทอดตัวอักษรได้หลายวิธี เกณฑ์ของราชบัณฑิตบัญญัติไว้เป็นเพียงแนวทาง (นี่คือความแตกต่างของการ "ทับศัพท์" กับ "ศัพท์บัญญัติ" ครับ) เกณฑ์บางข้อผมเห็นต่าง ผมก็ใช้ต่าง แต่ยังอยู่ในกรอบที่ถือว่าเป็นการถ่ายตัวอักษรมาอย่างเหมาะสมครับ 

(ตัวอย่างที่ผมใช้ต่างเช่น "ล็อคประตู" ถ้าตามเกณฑ์ราชบัณฑิตจะสะกดว่า "ล็อกประตู" ซึ่งผมดูแล้วขัดตา ล็อค ชวนให้นึกถึง lock ในขณะที่ ล็อก ชวนให้นึกถึง log แต่สะกดสองแบบนี้ถือว่าอยู่ในข่ายที่ถ่ายตัวอักษรได้เหมาะสม ไม่น่าเกลียดทั้งคู่ครับ)

ตอนเป็นคนอ่าน ผมก็ให้ความสำคัญใกล้เคียงกับการสะกดคำไทยที่ไม่ใช่ทับศัพท์ครับ ก็เข้าใจนะครับ ว่าหลักเกณฑ์การสะกดคำทับศัพท์ หลายคนก็ไม่รู้ (เมื่อก่อนผมก็ไม่รู้เหมือนกัน) และหลายคำ หลายคนก็ไม่รู้ว่าต้นตอภาษาอังกฤษมันสะกดยังไง ก็เลยถ่ายตัวอักษรไม่ถูก อาศัยแต่เห็นคนอื่นเขาเขียนกันมา ก็เข้าใจว่าแบบนั้นคงจะถูก บางทีก็ผิดตามกันเป็นพรวน

โดยรวมผมก็เลยอนุโลมให้ระดับนึงว่า ถ้าเขียนพออ่านได้รู้เรื่อง ไม่ขัดตามาก ดูแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่เพราะไม่ใส่ใจ แต่ไม่รู้จริงๆ อันนี้ก็ไม่ว่ากันครับ (แต่คงไม่เตือนถ้าไม่คุ้นเคยกันจริงๆ)

ตัวอย่างที่เห็นชัดเช่น โพสต์รูป มี ต์ การันต์ เพราะมาจากคำว่า post แต่ โพสท่าถ่ายรูป อันนี้ไม่มีการันต์ เพราะมาจาก pose หลายคนไม่รู้จริงๆ นึกว่าเป็นคำเดียวกัน ก็เอาล่ะ ไม่ว่ากัน เข้าใจคลาดเคลื่อนกันได้

อีกตัวอย่างที่เห็นแบบกระหึ่มมาก มอเตอร์ไซค์ ต้องใช้ ค ควาย การันต์ เพราะมาจาก motorcycle ถอดเป็นไทยว่า มอเตอร์ไซเคิ่ล แล้วย่อเอา คำนี้คนไทยสะกดเป็น ด การันต์ เยอะมากๆ เพราะไม่ได้นึกว่าคำเดิมมาจากไหน และชินกับ ไซด์ มากกว่า (แถม ค กับ ด ก็คล้ายกันอีก บางทีอ่านที่คนเขียนถูก แต่ดูผิด คิดว่าเป็น ด ก็มี)

อารมณ์เดียวกับ เว็บไซต์ ไซต์งาน ต้องเป็น ต การันต์ จะเห็นโผล่มาแบบ ด การันต์ อยู่เรื่อยๆ เชียว

พวกนี้อนุโลมอ่านได้ครับ ขัดตานะ แต่พอมองข้ามได้ และถ้าเขียนเหมือนเดิมทุกครั้งก็พอไหวอยู่

ที่รู้สึกไม่ไหวมากๆ จะเป็นพวกเขียนชุ่ยๆ ครับ คือไม่ได้มีความคล้ายกับที่คนอื่นเขาเขียนกันเลย และบางทีเขียนสามครั้งก็สะกดสามแบบ และสังเกตได้อีกอย่างคือไม่ใช่ผิดแค่ทับศัพท์หรอก คำไทยง่ายๆ พื้นๆ ก็เละไปหมด อันนี้ปิดเลยครับ อ่านแล้วเปลืองยาแก้ปวด ^^


0
stima 14 พ.ย. 59 เวลา 08:58 น. 6

สำหรับคำทับศัพท์ หรือการสะกดคำใดๆ ก็ตาม เดี๋ยวนี้มีที่อ้างอิงมาตรฐานให้ตรวจสอบง่ายๆ เพียงใช้ปลายนิ้วค่ะ ง่ายๆ เหมือนเวลาที่เราท่องอินเทอร์เน็ตนั่นแหละค่ะ เพราะฉะนั้น เห็นว่าจำเป็นนะคะที่จะต้องใช้ให้ถูกต้อง ยกเว้นกรณีพลาดพลั้งในบางคราว ซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์



0
Octory 14 พ.ย. 59 เวลา 11:37 น. 7

ไม่ได้รู้สึกขัดตามาก แต่ในฐานะที่ผมเป็นคนที่ค่อนข้างเข้มเรื่องการใช้คำทับศัพท์ เวลาเห็นใครใช้ได้ถูกต้อง จะรู้สึกว่าเขา "เท่จัง"

มันบ่งบอกว่าเขาพยายามใส่ใจ คนที่ใส่ใจเขียนให้ถูกต้อง มันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง

หลายคนคิดว่าการทับศัพท์นั้นยาก แท้จริงแล้วง่ายกว่าที่คิด เพราะบางคนเลือกที่จะ จำเป็นคำ ๆ ไป 
แต่เอาเข้าจริง ศัพท์มันมีเป็นหมื่นเป็นแสนคำ จำให้หมดคงไม่ได้ ดังนั้นควรจำแต่คำที่บัญญัติแล้วเท่านั้น (หมายถึงคำที่ถูกบันทึกไว้ในพจนานุกรมเล่มต่าง ๆ จนกลายเป็นคำไทยแล้ว)

ส่วนคำที่เหลือก็ไปเข้าหลักการทับศัพท์เอาโดยมีข้อแม้ว่า คำต่าง ๆ เหล่านั้น มีคำไทยที่เหมาะสมแล้วหรือยัง ถ้ามีแล้วก็ใช้คำไทยดีกว่า

ทริกก็มีอยู่แค่นี้ล่ะครับ ^^

0