Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

แนะนำเกล็ดสำหรับการออกแบบโลกนิยาย - โลกยุคกลางแบบยุโรปตะวันตก

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

ผมเขียนนิยายมานานพอสมควรละ และในระหว่างการเขียนนิยาย ผมก็มักจะเก็บข้อมูลเพื่อเอาไปใส่ในโลกนิยาย เพื่อเป็นเกล็ด เป็นบรรยากาศหรือเป็นตัวแปรสำหรับการดำเนินเรื่อง และมีหลายครั้งที่ผมอยากจะแชร์สิ่งที่ผมไปศึกษามา เพื่อให้คนอื่นได้รับผลประโยชน์ไปด้วย

โลกหนึ่งที่นิยายแฟนตาซีชอบเอาไปเป็นแบบก็คือ ยุโรปตะวันตก .... ในที่นี้คือยุโรปตะวันตกสมัยยุคกลาง แถบๆ ฝรั่งเศสหรืออังกฤษเป็นหลัก ... มันคือ Setting ที่เราเห็นบ่อยมากนัก เห็นจนแทบชินแล้ว ... คำถามคือ พอท่านอยากจะลองเขียน Setting แบบนี้ดู ท่านสงสัยไหมว่าโลกแบบนั้นมีหน้าตาอย่างไร? มีผู้คนหรือแนวคิดแบบไหน? … วันนี้ ผมจะเอาโลกนั้นมาแบ่งปันดูนะครับ

-

ความเป็นตะวันตก-ตะวันออกในสมัยยุคกลาง


อย่างแรกเลย ... สงสัยไหมว่าอะไรกันที่แบ่งความเป็นตะวันตกและตะวันออกในสายตาของคนยุโรปสมัยยุคกลาง ... คำตอบก็คือ ศาสนา ... จริงอยู่ที่ศาสนาหลักของยุโรปคือศาสนาคริสต์ แต่ศาสนานี้ในช่วงยุคกลางมีความแตกแยกหลักจนแบ่งออกเป็นสองซีก คือซีกตะวันตกและตะวันออก ซึ่งเห็นชัดเจนสุดในมหาศาสนเพท ค.ศ. 1054 ... ตะวันตกภายใต้พระสันตะปาปาที่กรุงโรม ตะวันออกภายใต้อัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิล ... มันเป็นความแตกแยกในหลายเรื่อง หลักๆ ก็คือเรื่องคำสอนที่เป็นประเด็นศาสนา และประเด็นการเมืองอย่างข้อถกเถียงที่ว่า ใครคือจักรพรรดิโรมันที่แท้จริง (จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในเยอรมนี vs จักรพรรดิตะวันออกที่คอนสแตนติโนเปิล) ... ด้วยความแตกแยกทางศาสนา และการเลือกนับถือ ยุโรปมันเลยโดนแบ่งออกเป็นซีกตะวันตก-ตะวันออกตั้งแต่สมัยยุคกลางแล้ว
ตะวันตกและตะวันออกมีความแตกต่างกันมาก
ตะวันตกได้รับมรดกจากจักรวรรดิพระเจ้าชาร์เลอมาญ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจด้วยระบบศักดินาฟิวดัล ... มรดกของจักรวรรดิโรมันเดิมและศาสนจักรโรมันคาทอลิกอย่างการใช้ภาษาละตินที่แพร่หลาย การแบ่งอำนาจ การที่เจ้าผู้ปกครองมีอำนาจจำกัด
ตะวันออกได้รับมรดกจากจักรวรรดิโรมันตะวันออกมาเต็มๆ ทั้งศาสนาแบบออร์โธด็อกซ์ อิทธิพลภาษากรีกต่อวรรณกรรม ภาษา ตัวอักษร การที่เจ้าผู้ปกครองมีอำนาจเหนือประมุขศาสนา การที่เจ้าผู้ปกครองอาณาจักรมีอำนาจเกือบเบ็ดเสร็จ การรวมศูนย์อำนาจที่มากกว่า ทำให้อำนาจการเมืองมักกระจุกอยู่กับเจ้าผู้ปกครอง
นี่คือความแตกต่าง ซึ่งส่งผลเรื่อยมาถึงปัจจุบัน


-


ลักษณะเด่นของยุคกลางในยุโรปตะวันตก

ระบบศักดินาฟิวดัล


ในแบบเรียน เราจะเห็นแค่ว่าฟิวดัลคือระบบลำดับชนชั้น ความสัมพันธ์แบบลำดับขั้น การสวามิภักดิ์อะไรทำนองนี้ ... ใช่ มันเป็นแบบนั้น ... แต่มันยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีก
อธิบายแบบง่ายๆ เลย ... ระบบฟิวดัลคือความสัมพันธ์แบบเกื้อหนุนสองทางระหว่างสองฝ่าย ... ฝ่ายเจ้านาย-ฝ่ายบริวาร ... โดยมีตัวกลางคือ ศักดินา หมายถึงที่ดินหรือตำแหน่ง หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ... เจ้านายจะมอบศักดินาให้และมอบการคุ้มครองให้ ฝ่ายบริวารจะต้องตอบแทนด้วยการทำหน้าที่ต่างๆ โดยหน้าที่นี้มีหลายแบบ ทั้งการตอบรับการเรียกระดมพลเมื่อเกิดสงคราม การให้แรงสนับสนุนต่อเจ้านาย เช่นการออกติดตามไปในงานต่างๆ การให้เสียงสนับสนุนเมื่ออยู่ในที่ชุมนุม (เหมือนไปชูป้ายไฟให้ไอดอล :v )
ทำไมระบบฟิวดัลถึงเกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกและเป็นที่นิยม? … เรื่องมันเป็นแบบนี้ ... สมัยก่อน ยุโรปเกือบทั้งหมดเคยอยู่ใต้อำนาจศูนย์กลางขนาดใหญ่ เรียกว่า จักรวรรดิโรมัน ... พอเวลาผ่านไป ทั้งโรคระบาดและการรุกรานต่างๆ ปรากฎว่าอำนาจโรมันฝั่งตะวันตกต่างเสื่อมสลายไป พวกคนเถื่อนก็เข้ามาปกครองดินแดนซีกตะวันตก ตั้งอาณาจักรและแว่นแคว้นต่างๆ ซึ่งสภาพก็ไม่ต่างจากก๊กขุนศึกเท่าไหร่นัก ดังนั้น ชาวบ้านชาวเมืองตลอดจนผู้ปกครองท้องถิ่นที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจส่วนกลาง ตอนนี้ก็พบว่าตัวเองไม่มีผู้คุ้มครอง จักรวรรดิที่เคยคุ้มครองตนบัดนี้ล่มสลาย ราชสำนักก็อยู่ฝั่งตะวันออกโน่นคือคอนสแตนติโนเปิล ... ใครล่ะ? จะมาคุ้มครองตน? ใครล่ะ จะมาคุ้มกะลาหัว? คำตอบก็คือบรรดาขุนศึกที่ปกครองพื้นที่นั้นๆ

เมื่อผู้น้อยต้องการการคุ้มครอง พวกเขาก็ต้องไปหาผู้หลักผู้ใหญ่ ... ผู้ใหญ่ก็จะให้การคุ้มครอง เพราะเขามีอำนาจมากพอ ... เพราะเรามีอำนาจไม่ใช่หรือ เจ้าเลยมาขอการคุ้มครองจากเรา? ... นี่คือหลักแบบ Basic ที่สุด
ในส่วนของผู้หลักผู้ใหญ่ เขาก็ไม่ได้ถืออำนาจแค่คนเดียว เขาไม่ได้แบบอยู่ตัวคนเดียวและจัดการได้ทุกอย่าง เขามีลูกน้องคอยช่วยเหลือด้วย ... พอมีลูกน้องช่วยเหลือ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะตอบแทนการช่วยเหลือนี้ด้วยศักดินา เช่นมอบที่ดิน แรงงาน การเก็บภาษีในพื้นที่ ให้ลูกน้องไปคุม
เมื่อเจ้านายให้การคุ้มครองและมอบศักดินะ ... เมื่อเจ้านายมอบประโยชน์อะไรก็ตาม ... บริวารก็จะให้การตอบแทน ที่แน่นอนที่สุดก็คือการประกาศความจงรักภักดีว่าเจ้านายผู้นี้คือนายของตน
หลักๆ ก็มีแบบนี้ ... เจ้านายกับบริวาร ... เจ้านายมอบการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ ... บริวารให้การตอบแทนด้วยการประกาศสวามิภักดิ์ และจะช่วยเหลือนายเมื่อนายต้องการ
แต่ความสัมพันธ์แบบนี้ มันก็ไม่ได้มีชั้นเดียว ... มันมีการลดหลั่นไปเรื่อยๆ
เจ้านายใหญ่สุด อาจจะเป็นคิงหรือจักรพรรดิ ไม่ได้คุมทั้งหมด เพราะคนคนเดียวไม่สามารถ Micromanagement ได้เองหมด หนึ่งวันมีเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ถ้าครองดินแดนใหญ่และครองไว้คนเดียว คิดดูสิว่าจะมีคำร้องเท่าไหร่? ... ดังนั้น พระองค์จะมอบศักดินาให้กับขุนนางระดับสูง ... คิงหรือจักรพรรดิคือเจ้าสูงสุดของดินแดน โดยมีขุนนางระดับสูงเป็นบริวาร
ขุนนางระดับสูง พอได้ศักดินามา ก็จะไม่ถือไว้เองหมด ก็จะแบ่งให้กับขุนนางเล็กๆ ที่มียศต่ำลงไป
ขุนนางระดับเล็กๆ ก็จะเอาศักดินาพวกนี้ไปให้อัศวินช่วยดูแล
พวกอัศวินก็จะคุ้มครองชาวบ้านในเขตที่นายมอบหมาย ขณะที่ชาวบ้านให้การตอบแทนด้วยการรายงานตัวต่ออัศวิน จ่ายทรัพยากรให้อัศวิน และอัศวินก็จะเอาทรัพยากรพวกนี้ไปส่งให้ขุนนางที่ตนสังกัด
ระดับเหล่านี้มีความสำคัญ เพราะว่า บริวารจะขึ้นตรงกับเจ้านายโดยตรง ... เช่น ชาวบ้านที่ขึ้นตรงกับอัศวิน จะฟังอัศวินอย่างเดียว ไม่ไปขึ้นกับคิงหรือเจ้านายที่สูงกว่า ส่วนอัศวินก็จะคุ้มครองชาวบ้านในปกครองของตน ไม่สามารถไปคุ้มครองข้ามเขตกันได้ ... อัศวินเองก็จะฟังขุนนางที่ปกครองตนโดยตรง จะไม่ฟังขุนนางอีกองค์หรือคิงที่อยู่สูงกว่า เพราะมันจะข้ามหัวกัน ส่วนขุนนางก็จะสั่งอัศวินในเครือตัวเองได้เท่านั้น ไม่สามารถไปสั่งอัศวินของคนอื่นได้ เพราะมันก้าวก่ายกัน ... พูดง่ายๆ ก็คือ ขึ้นกับใครก็ขึ้นกับคนนั้น คุ้มครองใครก็คุ้มครองคนนั้น





ลำดับการลดหลั่นพวกนี้ ถ้าท่านจะเอาไปลงในนิยาย ผมจะขอบอกไว้ก่อนว่า มันไม่ตายตัวเสมอไป ... บางเขต อาจเป็นเขตขึ้นตรง แบบว่าชาวบ้านหรืออัศวินรายงานตัวกับคิงเลย ... บางที่ ขุนนางระดับสูงดูแลโดยตรง ชาวบ้านก็ทำนาส่งอาหารให้ตรงๆ แบบไม่ต้องผ่านขุนนางล่างๆ ... บางเขต ขุนนางระดับล่างก็รายงานตัวกับคิงก็มี .... เพราะระบบศักดินามันขึ้นกับสัญญา และสัญญามันก็กระทำแบบแล้วแต่บุคคล เปลี่ยนได้ ปรับได้ บางทีก็ปรับโครงสร้างได้
ถ้าหากมีการทำผิดสัญญาในระบบศักดินา มันจะมีการถอดถอนได้ ... เช่นเจ้านายไม่ให้การคุ้มครองบริวาร หรือไปข่มเหง เช่นรังแก หรือไปฉุดลูกสาวบริวารไปทำมิดีมิร้าย บริวารสามารถประกาศแยกตัวและไปหาเจ้านายใหม่ได้ ... ถ้าบริวารผิดสัญญา เช่นไม่ยอมจ่ายภาษี ไม่ยอมส่งกองทหารมาช่วยตอนระดมพล เจ้านายก็มีสิทธิ์ริบศักดินาคืนได้
 

การแบ่งอำนาจ


ยุโรปตะวันตกคือดินแดนที่ชนเผ่าป่าเถื่อนเข้ามาปกครอง พอเวลาผ่านไป แม้ว่าชนเผ่านี้จะพัฒนาตัวเองให้มีอารยะ แม้จะเลียนแบบตัวเองให้คล้ายโรมันเพียงใด มันก็ยังมีลักษณะยุคคนเถื่อนบางอย่างตกค้างอยู่ ... อันนึงก็ระบบฟิวดัล อีกอันก็คือการแบ่งอำนาจ
ในคติยุโรปตะวันตก ขุนนางกับคิงจะมีสถานะที่เกือบเท่าเทียมกัน ขุนนางถือว่าเป็น “สหาย” ของคิง มีความเท่าเทียมกับคิง ติงคือประมุขสูงสุดที่มีสถานะเหมือนพี่ใหญ่ ไม่ได้มีอำนาจล้นพ้นขนาดนั้น ดังนั้น พอคิงจะทำอะไร คิงก็ควรจะเรียกประชุมสภาเพื่อขอความคิดเห็นหรือความเห็นชอบจากบรรดา “สหาย” ซึ่งก็คือพวกขุนนาง ... นี่คือธรรมเนียมของชนเผ่าเยอรมัน ... และในระบบศักดินา หนึ่งในหน้าที่ที่บริวารต้องมอบให้เจ้านายคือ หน้าที่การให้คำแนะนำ (อีกหน้าที่คือหน้าที่การออกรบ การส่งทรัพยากร เป็นต้น) ดังนั้น ระบบสภาจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบศักดินาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเรียกประชุมสภา หลักๆ ก็เพื่อเหตุผลนี้ ... ตัวคิงเอง ไม่ได้ถืออำนาจหรือทรัพยากรไว้เองหมด ดังนั้น พอคิงจะทำการใหญ่ คิงก็ต้องขอแรงสนับสนุนจากพวกขุนนางที่ถือทรัพยากรและกำลังพลอีกส่วน ... พอขุนนางให้การสนับสนุน ขุนนางก็สามารถเรียกร้องการตอบแทนจากคิง เช่นการขอศักดินาเพิ่ม หรือการลดหรือเว้นภาษี หรือขออภิสิทธิ์บางอย่าง ซึ่งคิงก็มักจะยอมมอบ เพราะถ้าคิงไม่ให้ ขุนนางก็จะไม่ยอมช่วย ... นี่ก็คือหลักความสัมพันธ์แบบหนุนกันสองฝ่าย ตามที่เคยกล่าวไป
นี่คือต้นแบบของระบบรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งการเรียกประชุมและข้อตกลงต่างๆ บางครั้งก็ถูกบัญญัติกลายเป็นสัญญา และต่อมาก็กลายเป็นกฎหมาย ... Magna Carta ก็เป็นอันนึง ที่กำหนดสิทธิ์ของขุนนาง โดยเฉพาะเรื่องภาษี



ถ้าคิงอยากทำการใหญ่แต่ไม่เรียกประชุมสภา ทำได้ไหม? … คำตอบคือทำได้ ... แต่คิงต้องลุยเดี่ยวนะ ด้วยทรัพยากรและกำลังพลของคิงเองนะ … ขุนนางคนไหนอยากจะมาช่วยก็แล้วแต่ศรัทธาละนะ
และบางอาณาจักร ถ้าหากอำนาจขุนนางมากหน่อย มันก็อาจมีกฎหมายอื่นๆ เช่นขุนนางสามารถเรียกประชุมสภารายปีได้เอง  อะไรพวกนี้
หรือบางอาณาจักร อาจมีการจัดตั้งสภาเป็นเรื่องเป็นราวอยู่แล้ว เช่นสภาที่ปรึกษาอย่างที่เห็นใน Game of Throne
ประเด็นเรื่องการแบ่งอำนาจ ถ้าท่านจะเอาไปเขียนในนิยาย ผมคิดว่าดี มันจะเพิ่ม Layer ให้การเมืองในนิยายด้วย ทำให้มันน่าสนใจขึ้นมาด้วย ทั้งเป็นตัวช่วยหรืออุปสรรคให้ตัวเอก ... สมมุตินะ แบบว่า พระเอกอยากจะออกไปจัดการกับจอมมาร เลยมาที่อาณาจักรนึงเพื่อขอความช่วยเหลือ ... คิงของอาณาจักรนั้นก็อยากช่วย แต่ไม่อยากไปเองคนเดียว ก็เลยต้องเรียกประชุมสภาเพื่อขอแรงสนับสนุนเพิ่ม พวกขุนนางก็เลยเถียงกันว่า พวกเราจะได้อะไรจากการปราบจอมมาร? นี่แหละ หาเรื่องให้ตัวเอกปวดหัวได้ละ ... ที่เหลือก็แล้วแต่ท่านเลย


 

อำนาจศาสนจักร


นี่คือลักษณะเด่นของฝั่งยุโรปตะวันตก คือการที่ศาสนจักรเป็นผู้เล่นหลักอีกตัว และเป็นผู้เล่นที่มีอำนาจมากพอสมควรด้วย
ทำไมศาสนจักรถึงกลายเป็นอำนาจหลักในยุโรปตะวันตกได้ ... คำตอบนี้ ต้องอธิบายย้อนกลับไปในสมัยโรมัน ... ในสมัยโรมัน จักรพรรดิจะถืออำนาจสองอย่างคืออำนาจการเมืองและอำนาจศาสนา ... จักรพรรดิมีอำนาจการเมืองเพราะเป็นผู้บัญชาการกองทัพอยู่แล้ว ส่วนอำนาจศาสนา พระองค์คืออุปราชของพระเจ้า ได้รับอำนาจจากพระเจ้า โดยคนที่ Confirm การถ่ายโอนอำนาจจากพระเจ้ามายังจักรพรรดิก็คือประมุขศาสนา คือพระสันตะปาปาหรืออัครบิดร ... แต่ทว่า จักรวรรดิโรมันซีกตะวันตกมันแตกไปก่อน กรุงโรมไม่มีจักรพรรดิปกครองเป็นเวลานาน แต่คนที่ยังอยู่คือพระสันตะปาปา ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ตะวันตกไร้จักรพรรดิ พระสันตะปาปาก็ไม่โดนจักรพรรดิกด อำนาจของพระสันตะปาปามันเลยค่อยๆ เพิ่ม ส่วนอำนาจการ Confirm เรื่องการถ่ายโอนอำนาจจากพระเจ้ามาอยู่ที่เจ้าผู้ปกครอง ก็ยังอยู่
ดังนั้น พระสันตะปาปาจึงมอบอำนาจพระเจ้าให้กับเจ้าผู้ปกครองคนใดก็ตาม ที่มีอำนาจการเมืองและการทหารมากพอที่จะปกป้องศาสนจักรได้ ... เห็นได้ชัดสุดคือการมอบตำแหน่งจักรพรรดิโรมันให้พระเจ้าชาร์เลอมาญ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ในประวัติศาสตร์ ในยุคชาร์เลอมาญ ยังไม่ได้ใช้คำนี้นะครับ คำนี้กว่าจะโผล่คือปี 1254 แต่นักประวัติศาสตร์บางสายก็ถือว่าชาร์เลอมาญคือบิดา HRE) ... มันเลยเกิดความสัมพันธ์แบบเกื้อนหนุนสองทาง จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์จะใช้อำนาจการทหารคุ้มครองพระสันตะปาปา ส่วนพระสันตะปาปาจะ Confirm อำนาจพระเจ้า เพื่อสร้างความชอบธรรมให้จักรพรรดิ ... และระบบนี้ก็ยังเกิดขึ้นกับเจ้าผู้ปกครององค์อื่นๆ ดังนั้น เราจะเห็นพระสันตะปาปาหรือบิช็อปทำพิธีสวมมงกุฎให้คิงองค์ต่างๆ ... พิธีสวมมงกุฏนี้คือการ Confirm ว่า คิงองค์นี้คือคิงที่ชอบธรรม ใครก็ตามที่จะใช้ตำแหน่งคิงแต่ไม่ผ่านการเห็นชอบ มันคือกบฏ ทั้งในสายตาของราชอาณาจักรและสายตาพระเจ้า



ความเป็นอิสระของศาสนจักร ทำให้มันกลายเป็นขั้วอำนาจหนึ่งที่อาณาจักรต่างๆ ต้องเกรงใจ ผู้ปกครองอาณาจักรต่างๆ ไม่สามารถทำตัวโฉดชั่วผิดศีลธรรมหรือกระทำเลวทรามได้ เพราะวันดีคืนดีอาจจะโดนพระสันตะปาปาขับไล่ออกจากศาสนา ... คิงของอาณาจักรต่างๆ ต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์กับศาสนจักรและโบสถ์อารามในอาณาจักรของตัวเอง จะลงไม้ลงมือไม่ได้ เพราะจะโดนขับไล่ออกจากศาสนา ... การขับไล่ออกจากศาสนามันร้ายแรงยังไง? มันหมายความว่า ท่านไม่ได้อยู่ในศาสนาคริสต์อีกแล้ว ท่านจะโดนคนตบหัวฆ่าแกงยังไงก็ได้ และพอท่านตายไป ท่านจะมีแต่ตกนรกหมกไหม้สถานเดียว ซึ่งคนยุคกลางที่เคร่งศาสนาก็มองว่า นี่คือชะตากรรมที่เลวร้ายที่สุด
ในนิยายแฟนตาซี บางทีเราก็อาจจะเห็นศาสนจักรเป็นผู้เล่นหนึ่งในนิยาย มันก็มาจากหลักนี้แหละ ... ท่านสามารถเอาไปปรับได้ตามสะดวกเลย หลักการก็คือ การที่ศาสนาเป็นผู้เล่นอิสระ ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของผู้ปกครององค์ใดองค์หนึ่งจริงๆ จังๆ
อันที่จริง มันจะมีรายละเอียดอื่นด้วย เช่นอิทธิพลของบางอาณาจักรที่พยายามครอบงำศาสนจักร ผ่านพระหรือพระสันตะปาปาที่เป็นคนจากอาณาจักรตัวเอง แต่มันก็แล้วแต่สถานการณ์ ... Point หลักก็คือ ศาสนจักรเป็นผู้เล่นอีกตัวตน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรใด

-

อธิบายมาซะยาวเลย เอาล่ะ ผมขอสรุปแล้วกัน ลักษณะยุคกลางของโลกตะวันตกก็คือ การที่อำนาจหรือผู้เล่นต่างๆ มีความเป็นเอกเทศพอสมควร มีความหลวมพอสมควร ด้วยความที่อำนาจส่วนกลางหลังจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลาย มีความอ่อนแออยู่แล้ว ดังนั้น ยุคกลางในโลกตะวันตกมันจึงมีลักษณะแบบนี้ ... การที่ฝ่ายต่างๆ ต้องเกื้อกูลให้กัน ไม่ว่าจะเจ้านายหรือบริวาร ศาสนจักรหรืออาณาจักร
อย่างไรก็ตาม ลักษณะเหล่านี้ เป็นแค่ลักษณะโดยรวม มันยังมีลักษณะเฉพาะของดินแดนต่างๆ ด้วย ไม่มีอะไรตายตัวเสมอไป

ที่อธิบายมา บางทีก็ขาดตกบกพร่องไปก็ขออภัยด้วย ถ้ามีคำถามอะไรเพิ่มเติม ก็สอบถามมาได้เลยนะครับ


สุดท้ายขอฝากหน่อยแล้วกันนะครับ

แสดงความคิดเห็น

>

3 ความคิดเห็น

บุคคลทั่วไป 30 เม.ย. 66 เวลา 01:47 น. 1

เอ่อ... แต่ "โฮลี่โรมันเอ็มไพร์" มันไม่ได้มาจากสมัยชาร์เลอมาญนะ ถ้าจะพูดให้ถูกคือไม่มีหลักฐานจากสมัยคาโรลินเจี้ยนที่ใช้คำว่าโฮลี่โรมันเอ็มไพร์เลย

อยากบอกว่าเขียนบทความแบบนี้ แนะนำให้ลองตรวจสอบข้อมูลกับหนังสือหรือเปเป้อจากต่างประเทศบ้างก็ดียิ่งพวกคำศัพท์เฉพาะหรือเรื่องที่มันละเอียดอ่อน อะไรพวกฟิวดัล หรือ คนเถื่อน หรือการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันเนี่ย

5
CometSighted 30 เม.ย. 66 เวลา 04:59 น. 1-1

ชื่อ Holy Roman Empire มันเป็นชื่อที่นักประวัติศาสตร์เอาไว้เรียกจักรวรรดิโรมันในตะวันตกสมัยยุคกลางอีกที ซึ่งแน่นอนครับว่า สมัยชาร์เลอมาญมันไม่เรียกแบบนี้ เพราะสมัยชาร์เลอมาญ มันเรียกว่า จักรวรรดิโรมัน / Imperium Romanum, จักรวรรดิชาวคริสต์ / Imperium Christianum หรือไม่ก็ "จักรวรรดิ" / Imperium โดดๆ ไปเลย ... ชาร์เลอมาญถูกสวมมงกุฎว่าเป็นแค่จักรพรรดิโรมัน (และในประวัติศาสตร์ ไม่มีตำแหน่ง Holy Roman Emperor เพราะตำแหน่งนี้เขาเรียกกันแค่ว่า จักรพรรดิโรมัน / จักรพรรดิ) ดังนั้น บางสายเลยนับว่าพระองค์เป็นคนริเริ่ม Holy Roman Empire ในฐานะจักรวรรดิโรมันฝั่งตะวันตกที่พระสันตะปาปามอบตำแหน่งให้ ... คำว่า Holy / Sacrum เพิ่งเติมมาในสมัยจักรพรรดิบาร์บารอสซ่าเอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าจักรวรรดิมีอำนาจเหนือศาสนจักร กว่าจะใช้ทางการจริงๆ คือปี 1254


บางที มันก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ชาร์เลอมาญเป็นจักรพรรดิองค์แรกของ HRE หรือเปล่า (นักประวัติศาสตร์เลยเสนอคำว่า Frankish Empire - หรือจักรวรรดิแฟรงค์ เอามาแยกยุคสมัยให้มันชัด) เพราะมันมีอีกสายนึงที่เสนอว่า จักรพรรดิอ็อตโตมหาราช คือจักรพรรดิองค์แรกของ HRE ในฐานะจักรวรรดิโรมันที่มีดินแดนหลักคือเยอรมัน


แต่ที่แน่ๆ ... อย่างที่คุณบอก ... สมัยชาร์เลอมาญ จักรวรรดิยังไม่ได้เรียกว่า Holy Roman Empire แน่นอน ... Holy Roman Empire เป็นคำสมัยศตวรรษที่ 13 ... แต่มันเชื่อมกัน โดยเฉพาะหลักการพระสันตะปาปาสวมมงกุฎจักรพรรดิและ Confirm ว่านี่คือจักรพรรดิโรมันองค์เดียวในมุมมองของคาทอลิก ... และสำคัญที่สุด มันคือคำที่ชาวบ้านเรียกกันติดปาก ผมก็เลยใช้คำนี้ไปก่อน เพราะผมเขียนบทความให้ชาวบ้านอ่านเป็นหลัก แต่ก็นะ ผมแก้ไขด้วยการใส่คำอธิบายเพิ่มไปละ ว่าสมัยคาโรลิงเจียน ยังไม่มีคำว่า HRE


ปล. ผมอ่านมาแล้วเน้อ https://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/bb-01.png อ่านของสองอาจารย์ด้าน HRE และประวัติศาสตร์เยอรมัน คนนึงจาก Cambridge อีกคนจาก Oxford

Joachim Whaley. Germany and the Holy Roman Empire, Volume I: Maximilian I to the Peace of Westphalia, 1493–1648 (Oxford University Press, 2012)

Peter Wilson. The Holy Roman Empire 1495-1806 (Bloomsbury Publishing, 1999)

0
บาบาเรี่ยน 1 พ.ค. 66 เวลา 08:53 น. 1-2

คุณพี่เขียนเกี่ยวกับชาร์เลอมาญ แต่อ่านหนังสือประวัติศาสตร์โฮลี่โรมันเอ็มไพร์ :/

0
CometSighted 1 พ.ค. 66 เวลา 10:13 น. 1-3

บทแรกๆ ... มันมีเขียนถึงชาร์เลอมาญและประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่า HRE ใครเป็นคนริเริ่ม

ของชาร์เลอมาญที่เคยอ่านก็มี Roger Collins. Charlemagne (MacMillan Press, 1998)

0
CometSighted 1 พ.ค. 66 เวลา 10:21 น. 1-4

Peter Wilson. The Holy Roman Empire 1495-1806 (Bloomsbury Publishing, 1999)


The Holy Roman Empire owed its foundation to the pope’s decision to dignify this expansion by conferring an imperial title on Charlemagne. The reasons for this step remain obscure, but can be reconstructed with reasonable certainty. It seems likely that the pope initially regarded Charlemagne as a second Theodoric, the fifth-century Ostrogothic chieftain who acted as Byzantine governor of Italy: a useful, domesticated barbarian king, rather than a substitute for the Byzantine emperor. However, the failure of a Byzantine expedition in 788 to eject the Franks from Benevento, which they had just conquered, seemed to confirm the new balance of power. In December 795 Leo III notified Charlemagne of his election as pope, a favour normally reserved for the Byzantine emperor. Nonetheless, contingency rather than systematic planning characterized the next five years leading to Charlemagne’s coronation


https://image.dek-d.com/27/0070/4062/133571970

0
CometSighted 1 พ.ค. 66 เวลา 10:25 น. 1-5

Joachim Whaley. Germany and the Holy Roman Empire, Volume I: Maximilian I to the Peace of Westphalia, 1493–1648 (Oxford University Press, 2012)


Indeed, neither the Reich nor the ‘German nation’ can be easily defined at this time. The Reich’s origins lay in the translation of the inheritance of the Roman Empire northwards by Charlemagne and the gradual assumption of the imperial title by the German kings after Otto I (912–973), who succeeded as king of Germany in 936, subjugated Italy, and became king of the Lombards in 951–2, and was crowned emperor in 962.

https://image.dek-d.com/27/0070/4062/133571974

0
กขคง 30 เม.ย. 66 เวลา 23:40 น. 2

กำลังมีไฟอยากลองเขียนแนวการเมืองหลังอ่านเรื่องของคุณนักเขียนไปพอดีเลยครับ อะไรจะพอดิบพอดีขนาดนี้ อธิบายเข้าใจง่ายดีครับ ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ให้กันฟรีๆ นะครับ

4
โจไทย 1 พ.ค. 66 เวลา 12:22 น. 2-3

แต่ละบทความที่คุณเขียนมานี่ขึ้นต้นด้วย แนะนำเกล็ด หมดเลยหรือเปล่าครับ อยากจะไล่ดูให้หมดเลยน่ะครับ ถ้ามีอีก จะได้เซิสเจอ

0
CometSighted 1 พ.ค. 66 เวลา 12:26 น. 2-4

ใช่ครับผม ซึ่งแน่นอนว่า ตอนนี้มีแค่สองบทความครับ

0
CometSighted 5 พ.ค. 66 เวลา 14:10 น. 3-1

ขอบคุณครับ ตอนนี้ก็กำลังคิดอยู่ว่าจะเขียนอะไรต่อดี https://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/bb-06.png

0