"อิงค์" ค้นพบฝันจากค่าย สอวน. จนได้เป็นผู้แทนไปแข่งดาราศาสตร์โลก (เล่าประสบการณ์+เทคนิคเรียน)

              พี่เกียรติได้รับอีเมลส่งตรงจากสหรัฐอเมริกา เป็นอีเมลจากรุ่นพี่ค่ายโอลิมปิกวิชาการ วิชาดาราศาสตร์ ที่มาแบ่งปันประสบการณ์การสอบเข้าค่าย สอวน. และการเป็นผู้แทนประเทศไปแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับโลกจ้า บอกเลยว่าอีเมลนี้มีคุณค่ามาก ๆ ไม่ต่อเฉพาะน้อง ๆ ที่สนใจดาราศาสตร์นะจ๊ะ แต่เป็นเคล็ดลับเป็นแรงใจดี ๆ สำหรับน้อง ๆ ชาวเด็กดีทุกคนเลยค่ะ
 
มาเลยจ้า ตามมาอ่านอีเมลตามหาดวงดาว...ในใจทุกคนกันเถอะ !




          สวัสดีค่ะ ชื่อ ชนิตา ทับทอง (อิงค์) ค่ะ ตอนม.ปลายเรียนที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เมื่อปี 2557 ได้เป็นผู้แทนประเทศของวิชาดาราศาสตร์ ม.ปลาย ไปแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Olympiad on Astronomy and Astrophysics: IOAA) ที่โรมาเนีย ได้รางวัลเหรียญเงิน และปี 2558 ได้เป็นผู้แทนไปแข่ง IOAA ที่อินโดนีเซีย ได้รางวัลเหรียญทองอันดับ 3 ของโลกค่ะ ^o^   

พี่อิงค์ ชนิตา ทับทอง 

          ปัจจุบันรับทุนโอลิมปิกวิชาการ เพื่อศึกษาวิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เรียนอยู่ปริญญาตรี สาขาฟิสิกส์ที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ค่ะ

 
  • ทำไมถึงสมัคร สอวน. ดาราศาสตร์ มีแรงบันดาลใจอะไร
       จริง ๆ ชอบดาราศาสตร์ตั้งแต่เด็กแล้วค่ะ (แต่ตอนแรกคิดว่าดาราศาสตร์มีแต่ดูดาว ฮ่า ๆ ) พอมีรุ่นพี่ชวนไปสอบ และประกอบกับตอนนั้นที่โรงเรียนก็มีเทรนด์ว่าใครติด สอวน. จะดูเท่ เลยลองสอบดู แล้วบังเอิญติดค่ะ และพอเข้าไปเรียนในค่าย คือ รู้สึกติดใจค่ะ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกว่ามันใช่อ่ะค่ะ มันใช่จนทิ้งความอยากเป็นหมอเป็นวิศวะมาเลือกเรียนดาราศาสตร์เลยค่ะ

กิจกรรมกล้องดูดาว Image credit: ศูนย์สอวน.ดาราศาสตร์ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
 
  • การเตรียมตัวสอบเข้าโครงการ สอวน.
        คิดว่าข้อสอบแต่ละศูนย์น่าจะไม่เหมือนกัน ของอิงค์เป็นศูนย์สามเสน ข้อสอบเน้นเลขกับฟิสิกส์รุนแรงมากค่ะ คือพอสอบปีแรกแล้ว ปีต่อไปเลิกอ่านดาราศาสตร์เลยค่ะ ไปอ่านเลขกับฟิสิกส์แทน ข้อสอบดาราศาสตร์ม.ต้น เน้นพีชคณิตกับตรีโกณค่ะ ส่วนพาร์ทฟิสิกส์นี่ออกครอบจักรวาลเลยค่ะ ตั้งแต่ไฟฟ้า แสง กลศาสตร์ วงโคจร ของผสม น่าจะยากกว่าฟิสิกส์ ม.3 เล็กน้อยค่ะ ส่วนของ ม.ปลาย พาร์ทฟิสิกส์จะออกหัวข้อคล้าย ๆ ของ ม.ต้น แต่ต้องใช้คณิตศาสตร์เยอะกว่าค่ะ ต้องหัดทำลอการิทึม ฟังก์ชั่น และแคลคูลัสไปด้วยค่ะ
 
       ส่วนพาร์ทดาราศาสตร์จะมีพวกทรงกลมท้องฟ้าเบื้องต้น ระบบสุริยะ จักรราศี กลุ่มดาว และดาวเด่น ๆ ค่ะ แนะนำให้น้อง ๆ ที่จะสอบลองหาข้อสอบเก่า ๆ ดูค่ะ อย่างของศูนย์อิงค์จะมีข้อสอบเก่าอยู่ในเพจ Astro Samsen Club บนเฟซบุ๊ก ทำข้อสอบเก่า ๆ เป็นการลองข้อสอบจริงแล้วยังไอเดียว่าข้อสอบที่จะเจอระดับประมาณไหนด้วยค่ะ โดยส่วนตัวเวลาเตรียมตัวแข่งจะชอบทำโจทย์มากกว่าอ่านอยู่แล้วค่ะ เพราะเชื่อว่าพยายามทำเอง ต่อให้ทำไม่ได้ก็ยังได้ลองทำค่ะ บางทีทำโจทย์ไม่ได้ก็นั่งจ้องโจทย์ข้อเดิมเป็นชั่วโมง จ้องจนเก็บไปฝันเลยค่ะ เดี๋ยวมันก็ออกค่ะ 555

กิจกรรมแผนที่ดาว mage credit: ศูนย์สอวน.ดาราศาสตร์ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

 
  • ประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นเป็นเด็กค่าย สอวน.
        อย่างแรกเลยคือได้เปิดหูเปิดตาให้เห็นอะไรใหม่ ๆ โดยเฉพาะวิชาดาราศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีสอนในโรงเรียนเท่าไหร่ พวก textbook ก็ไม่ค่อยมีเป็นภาษาไทย ถ้าไม่เข้าค่ายจะไม่รู้เลยว่าจริง ๆ ดาราศาสตร์มีอะไรน่าสนใจบ้าง และนักดาราศาสตร์จริง ๆ เขาทำอะไรกัน วิชาอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกันค่ะ ยิ่งถ้าโชคดีไปเจอวิชาที่เราชอบจริง ๆ ก็จะเป็นค้นพบตัวเองด้วยค่ะ อีกอย่างหนึ่งคืออาจจะมองว่าการไปเข้าค่ายเป็นการไปเรียนพิเศษ (แต่ฟรี) ก็ได้ค่ะ ได้เรียนเนื้อหายาก ๆ ก็เหมือนกับการเตรียมสอบไปในตัว แถมความรู้และประสบการณ์บางอย่างยังหาจากที่เรียนพิเศษไม่ได้ด้วย เช่น การใช้กล้องโทรทรรศน์
 
        นอกจากนี้ การเข้าค่ายก็จะได้เจอเพื่อนใหม่ที่สนใจด้านเดียวกันค่ะ อย่างอิงค์เองเพื่อนในโรงเรียนแทบไม่มีคนสนใจดาราศาสตร์เลยค่ะ (เศร้า T^T) พอพูดดาราศาสตร์ให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็หาว่าพูดภาษาเอเลี่ยน ฮ่า ๆ แต่กับเพื่อนในค่าย พูดอะไรก็เข้าใจกันหมดค่ะ แถมถ้าเรียนด้านนี้ต่อ อาจจะได้ทำงานร่วมกับเพื่อนกลุ่มนี้ในอนาคตก็ได้นะคะ >.< ที่สำคัญค่ายดาราศาสตร์เขาพาไปดูดาวด้วยแหละ นั่งดูดาวกับเพื่อนเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำดีนะคะ 


พี่อิงค์และเพื่อน ๆ ตอนไปอินโดนีเซีย
 
  • ประสบการณ์สนุก ๆ ตอนไปแข่งโอลิมปิกนานาชาติ
        ขอเล่าเรื่องประสบการณ์การสอบละกันนะคะ คือเวลาแข่งค่อนข้างยาวเพราะมีการสอบ 4 พาร์ทด้วยกัน คือ ทฤษฎี วิเคราะห์ข้อมูล สังเกตการณ์ (อาจจะแบ่งอีกเป็นกลางวัน - กลางคืน) และแข่งประเภททีมค่ะ ข้อสอบนี่ยากมาก ๆ เทียบกับรอบระดับชาติ (ก็ระดับโลกนี่เนอะ)
     
        พาร์ททฤษฎีจะให้เวลาสอบยาว 5 ชั่วโมง สอบเสร็จถึงกับคลานออกจากห้องสอบกันทีเดียว T^T พาร์ทวิเคราะห์ข้อมูลนี่จะเป็นข้อสอบข้อเขียนเหมือนภาคทฤษฎีค่ะ แต่เพิ่มเติม คือ เป็นข้อสอบที่มาพร้อมกับตารางข้อมูลอะไรไม่รู้เยอะแยะมากมาย ข้อสอบจะค่อนข้างเป็นปลายเปิดค่ะ คือ ใช้ข้อมูลที่เขาให้มาหาคำตอบ บางครั้งเขาให้รูปมาคือต้องเอาไม้บรรทัดมานั่งวัดเอง สอบเสร็จก็คลานออกจากห้องสอบเหมือนเดิม T^T

ดูกล้องดูดาวก่อนสอบที่โรมาเนีย  Image credit: FB Page 8th IOAA
 
         ส่วนสอบพาร์ทสังเกตการณ์ภาคกลางคืนนี่ก่อนสอบลุ้นมากค่ะ ลุ้นว่าจะได้สอบมั้ย เพราะถ้ามีเมฆก็สอบไม่ได้ ปีที่ไปโรมาเนียทางเจ้าภาพจัดสอบที่ลานหน้าโบสถ์เก่าค่ะ ข้าง ๆ มีสุสานด้วย นั่งรอสอบไปก็ขนลุกไปค่ะ ฮาา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้สอบเพราะฟ้าไม่เปิดพอ เขาเลยให้ข้อสอบกลับไปทำเล่นค่ะ ตอนแรกก็เสียใจที่ไม่ได้สอบ แต่พอเห็นข้อสอบแล้วยิ้มเลยค่ะ (ข้อสอบยากมากกกก)
         
         ส่วนพาร์ทที่สนุกที่สุดน่าจะเป็นข้อสอบทีมค่ะ นึกสภาพห้าคนช่วยกันแก้โจทย์ เถียงกันสนุกเลยค่ะ ข้อสอบปีนั้นเป็นสถานการณ์สมมติว่าถ้ามีดาวเคราะห์น้อยมาชนโลก ต้องยิงขีปนาวุธไปทำลายยังไงให้โดน แล้วก็ให้สร้างโมเดลวงโคจรจากดินน้ำมันค่ะ ^-^ พอสอบเสร็จก็แอบหยิบดินน้ำมันที่เหลือและโปสเตอร์การแข่งขันติดไม้ติดมือออกมาด้วยค่ะ คุ้มมาก~


การแข่งประเภททีม  Image credit: Jitrapon Lertprasertpong

 
  • โจทย์ดาราศาสตร์ตลก ๆ หรือแปลกมากที่อยากเล่าให้ฟัง
        ตอนเข้าค่าย มีโจทย์อยู่ประเภทหนึ่งค่ะที่จำขึ้นใจเลย: “นักดาราศาสตร์คนหนึ่งไปติดอยู่บนเกาะร้าง แต่โชคดีที่มีเครื่องคิดเลขติดไปด้วย ตอนที่นาฬิกาข้อมือของเขาถูกตั้งไว้ที่ไทม์โซน XX บอกเวลา XX เขาเห็นดาว XX ที่มุมทิศ XX มุมเงย XX เขาจำได้ว่าวันที่ 1 มกราคมของปีนี้ 0h0m0h UTC ตรงเวลาดาราคติ XX ถามว่าเกาะนี้อยู่ละติจูดและลองจิจูดอะไร” เราเห็นโจทย์แล้วก็แบบ ทำไมคนติดเกาะถึงมีเครื่องคิดเลขคะ ? แถมจำค่าอะไรแปลก ๆ ได้อีก ฮ่าๆ ตั้งแต่นั้นมาก็เลยพกเครื่องคิดเลขติดตัวเลยค่ะ เผื่อไปติดเกาะจะได้บอกได้ว่าอยู่ส่วนไหนของโลก...

 
  • วิชาดาราศาสตร์/ดาราฟิสิกส์ เป็นความรู้ที่นำไปใช้ในชีวิตประจำได้อย่างไร ?
        วิชาดาราศาสตร์อาจจะดูไกลตัวนะคะ แต่จริง ๆ ก็เป็นทักษะการเอาตัวรอดที่สำคัญมากกกก อิงค์เคยไปหลงทางในต่างประเทศคนเดียวค่ะ จีพีเอสในโทรศัพท์ก็เข็มทิศเสียค่ะ ตอนนั้นรู้เลยว่าต้องดูดวงอาทิตย์หาทิศเอาค่ะ ^o^ รู้สึกโชคดีมากที่รู้เรื่องทรงกลมท้องฟ้า ส่วนเวลาเดินข้างนอกตอนกลางคืน ก็ไม่เคยกลัวหลงทิศเลยค่ะ ต้องขอบคุณค่ายดาราศาสตร์ที่สอนเราดูดาวค่ะ 555

 
  • เทคนิคการเรียนเก่ง ฝากน้อง ๆ เด็กดีทุกคน 
        ส่วนตัวไม่ใช่คนชอบจดตามที่ครูสอนค่ะ เพราะคิดว่าจดไปก็ไม่น่าได้อ่าน เลยต้องตั้งใจเรียนในห้องค่ะ ถ้าครูอธิบายไม่เข้าใจก็ต้องกล้ายกมือถามค่ะ ไม่ต้องกลัวว่าจะดูเป็นตัวตลกนะคะ ถ้าครูอธิบายไม่เข้าใจ คนอื่น ๆ ก็น่าจะงงด้วยเหมือนกัน แค่รอใครซักคนถามขึ้นมา แล้วทำไมเราจะไม่เป็นคนๆนั้นคะ :) อีกอย่างหนึ่ง คือ ต้องไม่หวงความรู้ค่ะ ยิ่งเราไปติวเพื่อนมาเท่าไหร่ก็จะได้ความรู้เยอะขึ้นเท่านั้นค่ะ แบ่งปันความรู้กัน ได้ทั้งเพื่อนทั้งความรู้ ยิ่งทำให้การอ่านหนังสือสนุกขึ้นด้วยเนอะ >.<

        สุดท้ายนี้ อยากฝากถึงน้อง ๆ ชาว Dek-D ว่าทุกคนมีฝันของตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าน้องเองจะเริ่มลงมือทำมั้ย ถ้าน้อง ๆ เริ่มไล่ตามความฝันของตัวเองและไม่ยอมแพ้ สักวันหนึ่งมันจะเป็นของเราค่ะ
 

อย่าลืมเงยหน้ามองฟ้าแล้วไล่ตามดาวของตัวเองนะคะ ^.^





              การสอบเข้าโครงการ สอวน. มีทุกปีและมีหลายวิชาให้เลือกสอบตามความถนัดของเราค่ะ ที่สำคัญมีศูนย์สอบอยู่ทั่วประเทศด้วย น้อง ๆ ต่างจังหวัดไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีโอกาสเทียบเท่าเด็กกรุงเทพฯ โครงการนี้เน้นสนับสนุนความตั้งใจและความสามารถของน้อง ๆ ทุกคนอยู่แล้วจ้า เพียงเราต้องติดตามช่วงการสมัคร และเตรียมตัวให้พร้อม พี่เกียรติเชื่อว่าแม้ว่าเราไปสอบแล้วอาจจะยังไม่ติดค่ายก็ตาม แต่แค่เราเตรียมตัวไปสอบ เราก็ได้ความรู้เพิ่มเติมมาใช้ในการเรียนในโรงเรียนแล้วค่ะ แล้วยิ่งถ้าได้ไปต่อ...เรื่อย ๆ ประสบการณ์จะมากเพียงไร ประตูแห่งอนาคตสดใสของเราจะเปิดกว้างแค่ไหน ลองคิดดู !
พี่เกียรติ
พี่เกียรติ - Community Master ถนัดแฝงตัวตามกระทู้เด็กดี มีความสนใจเป็นล้านเรื่องขึ้นอยู่กับดราม่าขณะนั้น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากเว็บไซต์ Dek-D.com ขอสงวนสิทธิ์ในการงด โพสต์ข้อความซื้อ/ขาย/แลกเปลี่ยน/โฆษณา สินค้าทุกชนิดในเว็บบอร์ด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้งานท่านอื่น

กำลังโหลด
กำลังโหลด