'ไตเติ้ล The Whitest Crow' กับตัวตนที่ไม่มีใครเหมือนและไม่อยากเหมือนใคร

Spoil

  • เรื่องไม่ลับในวัยเด็กของ  'ไตเติ้ล The Whitest Crow'
  • แนวเพลงที่รวบรวมความเป็นตัวตนของสมาชิกในวงเข้าไว้ด้วยกัน
  • วิธีแก้โมเมนต์ Burnout ที่ทำให้ศิลปินอย่าง  'ไตเติ้ล' คิดเพลงไม่ออก
  • ผลงานการออกแบบปกอัลบั้มในฐานะ  'Art Director'
  • 'บ่อน้ำตา' ผลงานเพลงใหม่ ในสไตล์ที่ต่างไปจากเดิม

    ใครที่ชอบฟังเพลงแนวร็อก หรืออยู่ในแวดวงเพลงแนวนี้ คงได้รู้จักกับผลงานเพลงของวง ‘The Whitest Crow’ มาบ้างแล้ว วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับนักร้องนำของวงอย่าง ‘ไตเติ้ล The Whitest Crow’ กับตัวตนที่ไม่มีใครเหมือนและไม่อยากเหมือนใครของเขาให้มากขึ้นกัน!

1. ตอนอยู่วัยเรียน ไตเติ้ลเป็นคนไม่เคยอยู่นิ่ง ชอบหากิจกรรมอะไรทำที่โรงเรียนเสมอ และลองทำทุกอย่างที่อยากทำ กิจกรรมที่รู้สึกชอบเป็นพิเศษคือ การเขียนโปรแกรม แถมเขายังบอกว่าตัวเองเป็น ‘คนไฮเปอร์’ อีกด้วย

2. ไตเติ้ลเริ่มรู้ว่าตัวเองมีความหลงใหลในดนตรีตอนมัธยมปลาย จากคนที่ไม่เคยฟังเพลงอะไรมาก่อน นอกจากเพลง ‘ช่อง 9 การ์ตูน’ แต่พอเริ่มได้ยินเพลงสากล เช่น เพลงของ Linkin Park ที่คุณพ่อคุณแม่เปิด ก็เริ่มชอบและเริ่มฝึกเล่นกีต้าร์มาตั้งแต่ตอนนั้น

3. การเดินทางสายดนตรีของไตเติ้ลเริ่มขึ้นตอนเรียนอยู่ระดับชั้นปริญญาตรี และกำลังขึ้นชั้นปีที่ 2 ซึ่งวงดนตรีวงแรกที่ไตเติ้ลร่วมตั้งกับเพื่อน ๆ ก็คือวง ‘The Whitest Crow’ นั่นเอง แต่ด้วยความที่ในยุคนั้น แนวเพลงที่ไตเติ้ลฟังยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมมาก อุปสรรคของการฟอร์มวงตอนนั้นก็คือ การหาสมาชิกที่ฟังเพลงแนวเดียวกันให้เจอ

4. โมเมนต์ที่จำไม่ลืม ก็คงเป็นตอนที่วงได้ขึ้นเล่นงานนอกมหาวิทยาลัยด้วยกันเป็นครั้งแรก ในงาน ‘The Last FatFEST’ ซึ่งเป็นงานใหญ่งานแรกของวง ไตเติ้ลจึงรู้สึกประทับใจโมเมนต์นี้เป็นอย่างมาก

5. ไตเติ้ลเป็นคนตั้งชื่อวง ‘The Whitest Crow’ เอง ด้วยความที่ไตเติ้ลเป็นคนชอบอะไรดาร์ก ๆ เลยคิดว่า อีกาน่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายได้ดี บวกกับความไม่อยากเหมือนคนอื่น เลยใช้สีขาวมาเป็นจุดตัด เพื่อบ่งบอกความเป็นตัวของตัวเองที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เปรียบเสมือนเป็นอีกาที่ไม่ได้อยู่ในฝูงนั่นเอง

6. ‘The Whitest Crow’ เป็นวงร็อก ที่ผสมผสานแต่ละแนวเพลงที่สมาชิกทุกคนชอบเข้าไว้ด้วยกัน เพราะถึงแม้จะยืนพื้นด้วยความเป็นร็อก แต่ก็ยังมีแนวเพลงอื่น เช่น ดิสโก อิเล็กทรอนิกส์ หรือไซคีเดลิกอยู่ในเพลงด้วย แต่ละเพลงของวงจึงมีความหลากหลายมากและไม่ซ้ำกันเลย

7. ไตเติ้ลเริ่มเขียนเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษก่อน เพราะยึดความชื่นชอบในเพลงที่ฟังเป็นหลัก จึงไม่ได้รู้สึกกังวลว่าเนื้อเพลงภาษาอังกฤษอาจจะไม่เป็นที่นิยมหรืออาจเข้าถึงคนส่วนใหญ่ไม่ได้ แถมไตเติ้ลยังบอกอีกว่า รู้สึกดีมากที่ตอนนี้ตลาดเพลงไทยเปิดกว้างและมีคนเริ่มฟังเพลงภาษาอังกฤษจากศิลปินไทยมากขึ้น

8. สาเหตุที่เมื่อก่อนไตเติ้ลเขียนเนื้อเพลงภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เพราะคิดว่าเนื้อเพลงภาษาไทยนั้นแต่งยากกว่า โดยเฉพาะเรื่องการออกเสียงวรรณยุกต์ พอตอนนี้ได้กลับมาแต่งเพลงเป็นภาษาไทย ก็รู้สึกว่าเป็นความท้าทายและเป็นโอกาสที่วงจะได้ลองอะไรใหม่ ๆ ด้วย

9. ถ้าวัดจากความยากง่ายในการแต่ง ไตเติ้ลคิดว่าเนื้อเพลงภาษาอังกฤษแต่งง่ายกว่า แต่กลับรู้สึกว่าเนื้อเพลงภาษาไทยมีความท้าท้าย และรู้สึกสนุกกับการแต่งเนื้อเพลงภาษาไทยมากกว่า

10. ทุกเพลงที่แต่งเอง ไตเติ้ลแต่งมาจากสิ่งที่เจอมาในชีวิต จึงรู้สึกชอบและภูมิใจกับทุกเพลงที่ตัวเองแต่ง แต่อยากแนะนำให้น้อง ๆ ไปลองฟังเพลง ‘บ่อน้ำตา’ เพราะเพลงนี้เป็นเพลงที่ไตเติ้ลรู้สึกสนุกและสะใจมาก ที่ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ จนมันสำเร็จออกมาเป็นเพลงนี้ได้

11. ถึงแม้จะย้อนเวลาได้ ไตเติ้ลก็ไม่ได้อยากกลับไปแก้ไขเพลงที่เคยแต่งไว้สักเพลง เพราะไตเติ้ลเป็นคนทำอะไรแล้วไปสุดทางตลอด โมเมนต์ตอนที่แต่งเพลงก็มาจากความรู้สึกจริง ๆ ของตัวเองตอนนั้น เพลงทุกเพลงไตเติ้ลทำมันด้วยความภูมิใจและไม่เคยรู้สึกเสียดาย หรือพอกลับมาฟังแล้วรู้สึกไม่ชอบเลย

12. ไตเติ้ลมีโมเมนต์ Burnout หรือคิดเพลงไม่ออกบ่อยมาก! ด้วยความที่ไตเติ้ลเขียนเพลงมาจากประสบการณ์ของตัวเองมากกว่าการเอาเรื่องของคนอื่นมาแต่ง พอเจอเหตุการณ์ล็อกดาวน์ที่ทำให้ออกไปไหนไม่ได้ ก็เลยไม่รู้ว่าจะเอาเรื่องอะไรมาใส่ในเพลงดี แต่ข้อดีของล็อกดาวน์ก็ทำให้ไตเติ้ลเขียนเพลงออกมาได้สองเพลงเลยนะ นั่นคือเพลง ‘Give up on Love’ และ ‘ไม่เป็นไร’ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้กำลังใจตัวเอง ในยามที่เกิดปัญหาชีวิตต่าง ๆ นั่นเอง

13. วิธีแก้อาการ Burnout ของไตเติ้ลคือ หยุดแต่งเพลงไปเลย! เพราะไตเติ้ลคิดว่า ถ้าหากพยายามฝืนให้ตัวเองแต่งต่อไป เพลงที่ออกมามันคือ ‘ผลลัพธ์จากการถูกบังคับ’ ไม่ใช่เพลงที่ใช้เวลากล่อมเกลาอย่างเต็มที่ เลยเลือกที่จะหยุดคิด และรอให้ตัวเองรู้สึกพร้อมค่อยกลับมาแต่งต่อดีกว่า

14. ไตเติ้ลชอบวงดนตรีร็อกเก่า ๆ อย่าง ‘Led Zeppelin’ มาก! เพราะเอกลักษณ์ของวงนี้ค่อนข้างฉูดฉาด และแปลกไปจากวงอื่นในยุคเดียวกัน ส่วนศิลปินไทยนั้น ไตเติ้ลบอกว่าตัวเองโตมากับเพลงของวง ‘อพาร์ทเม้นท์คุณป้า’ เลยนะ เพราะรู้สึกว่าเนื้อเพลงถูกจริตตัวเองมากและชื่นชมเพลงของวงนี้สุด ๆ ขนาดที่ว่าพยายามตามไปดูทุกคอนเสิร์ต สะสมแผ่นเพลงทุกอัลบั้มเลยแหละ

15. จริง ๆ แล้วไตเติ้ลเคยอยากเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากเหตุผลที่ว่า เพราะอยากเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจไปเรียนด้านดีไซน์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคอินเตอร์แทน โดยให้เหตุผลว่า ‘ศิลปะให้ความจรรโลงใจได้มากกว่า’

16. ‘เรียนออกแบบจบมาแล้วทำอะไร?’ เป็นคำถามที่ไตเติ้ลโดนถามบ่อยมาก ด้วยความที่ในยุคนั้นอุตสาหกรรมของการออกแบบยังไม่เป็นที่นิยมเท่าตอนนี้ ไตเติ้ลจึงต้องพยายามตั้งใจเรียนให้คนรอบข้างเห็นว่า ‘เขาทำได้’ และพยายามทำให้ตัวเองพบเจอกับความสำเร็จให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ที่บ้านเห็นว่า ‘การซัพพอร์ตของพวกเขามันไม่เสียเปล่าเลย’

17. ไตเติ้ลเริ่มออกแบบโปสเตอร์ให้งานกิจกรรมของชมรมดนตรีก่อน จากนั้นจึงมีโอกาสได้ออกแบบโปสเตอร์ให้วงดนตรีของมหาวิทยาลัยไปเรื่อย ๆ จนผลงานไปเข้าตาผู้ใหญ่ในวงการเพลง และนี่คือจุดเริ่มต้นของไตเติ้ล ในฐานะ ‘Art Director’ แบบจริงจัง

18. ผลงานที่ไตเติ้ลเคยออกแบบไว้มีมากมาย อย่างเช่น 

  • ปกอัลบั้ม ARAGOCHINA - เป้ อารักษ์
  • ปกอัลบั้ม It's Gonna Be OK - Tilly Birds
  • ปกอัลบั้ม WHEN YOU HAVE NOTHING TO DO JUST GO TO SLEEP - TELExTELEXs
  • ปกเพลง ชีวิตหลังเอ่ยคำลา - Sweet Mullet
  • ปกเพลง เสแสร้ง - Paper Planes

19. ‘ดีด แปลก สุด’ เป็น 3 คำ ที่ไตเติ้ลบอกว่าสามารถอธิบายตัวตนของศิลปินที่ชื่อว่า ‘ไตเติ้ล The Whitest Crow’ ได้ดีที่สุด เพราะคนภายนอกมักเห็นว่าเขาเป็นคนไม่เคยอยู่นิ่ง แถมยังแอบแซวตัวเองเล็ก ๆ ว่าเป็น ‘ขวัญใจด่านตรวจ’ อีกต่างหาก

20. 1 เรื่องลับนอกเหนือจากเรื่องดนตรี ที่หลายคนอาจไม่รู้เกี่ยวกับไตเติ้ลคือ ไตเติ้ลเคยเป็นนักกีฬาแบดมินตันของโรงเรียนด้วย! แต่เพราะความที่ตอนนั้นเป็นเด็กอารมณ์ร้อนและหงุดหงิดเสียงก่อสร้างหลังบ้าน ไตเติ้ลเลยหันไประบายอารมณ์ด้วยการปิดประตูอย่างแรง จนประตูกระแทกโดนเข่าตัวเองแตก! หลังจากนั้นมา ไตเติ้ลก็ไม่ค่อยได้เล่นแบดมินตันอีกเลย

21. และไตเติ้ลยังได้ฝากบอกน้อง ๆ ที่กำลังเดินตามความฝันเหมือนกับเขาอยู่อีกว่า “อยากให้อยู่กับสิ่งที่ทำ งานที่ทำอย่างมีความสุข อย่าคิดว่ามันเป็นงาน เมื่อใดที่เรารู้สึกไม่มีความสุขกับมัน นั่นแสดงว่าสิ่งนั้นมันไม่ตอบโจทย์เราแล้ว ถึงแม้สภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน อาจจะไม่เอื้อให้คนสามารถเดินตามความฝันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ารักอะไรแล้วก็อยากให้ลองอยู่กับมันทุกวัน ใช้เวลากับมันเยอะ ๆ เพื่อหาคำตอบว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ใช่สำหรับเราไหม”

22. สุดท้ายนี้ ไตเติ้ลอยากให้น้อง ๆ ไปลองฟังเพลงใหม่ของ The Whitest Crow ที่ชื่อว่า ‘บ่อน้ำตา’ กันด้วย เพราะเพลงนี้มีสไตล์แบบใหม่ที่วงไม่เคยทำมาก่อน ด้วยความตั้งใจเดิมที่อยากสร้างความแตกต่าง และอยากลองอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ

About   ไตเติ้ล The Whitest Crow

ไตเติ้ล The Whitest Crow หรือ “ปฏิภาณ สุวรรณสิงห์” นักร้องนำวง The  Whitest Crow

ความสามารถ นักร้อง นักแต่งเพลง  Art Director ฯลฯ 

ผลงานล่าสุด 

  • ผลงานเพลง  ‘บ่อน้ำตา’

ติดตามผลงานของไตเติ้ลได้ที่

 

พี่พิ้งค์
พี่พิ้งค์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น