หลักจิตวิทยา 5 ข้อที่ช่วยอธิบายพฤติกรรม "ตรรกะเพี้ยน"

        พี่น้องเชื่อว่าในฐานะที่เราทุกคนเล่นโซเชียล มีเดียกัน เราล้วนต้องเคยเจอคนประเภทหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อ เช่น คนที่เชื่อว่ากินยาเฉยๆ แล้วไขมันจะสลายไปเอง คนที่มั่นใจว่าไม่ต้องเรียนให้จบก็รวยได้แบบมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก หรือคนที่แชร์ข่าวผิดๆ และทั้งๆ ที่เราเอาข้อมูลถูกไปประเคนให้ถึงที่เขากลับไม่สนใจ
        ความดราม่ามากมายทั้งหมดนี้ เราทุกคนต้องเคยเจอกับตัว เผลอๆ เราเองก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้นด้วย
        คำถามคือ "ทำไมเราถึงทำอะไรแบบนี้?" ทำไมเราถึงเชื่อเรื่องไม่เป็นเรื่อง ทำไมเราถึงยึดมั่นในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทำไมเราถึงไม่ยอมรับว่าสิ่งที่เราเชื่อมันผิด
        บางคนบอกว่านี่เป็นเรื่องของการศึกษา คนที่รู้น้อยก็อาจจะหลงเชื่ออะไรง่าย
        ก็อาจมีส่วนค่ะ แต่บางครั้งแม้แต่คนมีการศึกษาก็เป็นแบบนี้ได้เหมือนกัน เพราะอีกปัจจัยที่มีผลทำให้ระบบความคิดของเราผิดพลาด หรือที่เรียกว่า
"ตรรกะเพี้ยน" มันเกิดจากจิตใจของเรานี่เอง
 

1. อคติผู้รอดชีวิต

       เริ่มกันที่คำพูดประเภท "บิล เกตส์เอย มาร์ค ซักเกอร์เบิร์กเอย ไม่เห็นต้องเรียนจบปริญญาก็เป็นนักธุรกิจพันล้านได้"
        บางคนอาจใช้คำพูดนี้ปลอบตัวเองที่ไม่ประสบความสำเร็จด้านวิชาการ ไม่เห็นต้องเรียนให้สูงเลย บางคนไม่ต้องเรียนจบสูงๆ ก็เป็นเจ้าคนนายคนได้ บางคนเรียนจบซะสูงกลับมาเป็นลูกน้องคนอื่น สู้ไม่เรียนแล้วมาทำงานค้าขายเป็นเจ้านายตัวเอง passive income สบายๆ ดีกว่า
        นี่เป็นหลักจิตวิทยาง่ายๆ ที่เรียกว่า "อคติผู้รอดชีวิต" คือเราเลือกมองแต่คนที่รอดชีวิตมาเล่าความสำเร็จ คนนี้เรียนไม่จบ แต่ได้เป็นเจ้าของบริษัทใหญ่ โรอัล ดาห์ลตอนเด็กๆ อังกฤษห่วยแตกมาก โตขึ้นมาเป็นนักเขียนระดับโลก โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์เคยมีชีวิตที่เหลวแหลกมาก แต่กลับตัวกลับใจเดินบนเส้นทางใหม่ได้เป็นดาราค่าตัวแพงอันดับต้นๆ
        เป็นเรื่องปกติที่คนเคยล้ม มักจะกลับมาเล่าความสำเร็จของตัวเอง และเราก็มักจะชอบเสพเรื่องราวประเภท "จากสาวรับใช้เป็นเจ้าหญิงผู้เลอค่า" แต่เราลืมนึกไปว่ายังมีคนอีกมากที่เดินบนเส้นทางเดียวกับคนดังเหล่านี้ แล้ว "ไม่ประสบความสำเร็จ"
        แถมมีเยอะด้วย
        คนดังที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้เป็นแค่ส่วนน้อยมากๆ เท่านั้นค่ะ และสิ่งที่เรามองข้ามอีกอย่างคือ "ปัจจัยที่ทำให้คนๆ นั้นประสบความสำเร็จ"
        อ่ะ บิล เกตส์กับมาร์ค ซักเกอร์เบิร์กหยุดเรียนเพราะอะไรรู้มั้ยคะ? เพราะเขามีความรู้มากพอแล้ว และเขาเอาความรู้นั้นไปใช้จริงได้แล้ว เขาจึงลาออกเพื่อทุ่มเททำสิ่งที่ตัวเองเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่า
        กว่าโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์จะกลับมาเป็นนักแสดงค่าตัวแพงมหาศาลแบบนั้น คิดว่าเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง
        เมื่อเรามองข้ามความจริงเหล่านี้ แล้วพุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จปลายทางเลย สุดท้ายแล้วเราอาจจะตัดสินใจพลาด ทำตามคนเหล่านี้ทั้งๆ ที่เราไม่ได้มีพื้นเพเหมือนพวกเขาเลย
        สำหรับคนที่ไม่เก่งเรื่องในตำราจริงๆ พี่น้องคิดว่ากรณีตัวอย่างแบบนี้ก็ยังใช้เป็นแรงบันดาลใจให้เราได้อยู่นะ แต่ขอให้เรามองใหม่ว่า คนพวกนั้นเขาก็ทำสำเร็จในแบบของเขา ส่วนเราก็จะทำให้สำเร็จในแบบของเรา ไม่จำเป็นต้องเรียนไม่จบเหมือนเขา
        ถ้าคิดแบบนี้จะดีต่อตัวเราเองมากกว่าค่ะ
 

2. ได้มาแค่ดีใจ เสียไปนี่รับไม่ได้

        ไหนใครเป็นท็อปของห้องบ้าง สอบกี่ที สอบกี่วิชาก็ได้คะแนนมากกว่าเพื่อนตลอด เคยรู้สึกอะไรแบบนี้มั้ยคะ?
        ได้คะแนนชนะเพื่อนในห้องมาแทบทุกวิชา จนมาเจอวิชานึงที่เพื่อนได้คะแนนชนะเรา ความดีใจที่ได้คะแนนท็อปมาหลายวิชากลับพังทลายเพราะแพ้วิชานี้วิชาเดียว แทนที่จะดีใจยิ้มแก้มปริ กลับตำหนิตัวเองว่าพลาดได้ไง
        ถ้าใครไม่เคยมีโมเมนต์นั้น งั้นลองนี่ เคยตัดสินใจทิ้งของไม่ลง ให้ขายต่อก็ทำใจไม่ได้หรือเปล่าคะ?
        พฤติกรรมประหลาดแบบนี้เกิดจากการที่คนเรามักรู้สึกแย่ที่จะเสียอะไรสักอย่างไป มากกว่าความรู้สึกดีใจที่ได้มันมาเสียอีก
        ความยึดติดกับสิ่งที่เรามีนี้ ทำให้เราหลอกตัวเองว่า สิ่งที่เรามีอยู่นั้น "มันมีค่ามากกว่าค่าจริงๆ ที่มันมี" พอเราต้องสูญเสียมันไป ทำให้เรารู้สึกแย่ยิ่งกว่าความดีใจตอนที่ได้มันมาอีก
        พี่น้องเองก็เป็นค่ะ พี่ชอบสะสมถุงพลาสติกสวยๆ เวลาซื้อเสื้อผ้าหรือเสื้อของมาแล้วเจอถุงสวยก็จะเก็บถุงไว้ พับอย่างดีใส่รวมๆ กัน แล้วก็บอกตัวเองว่า เดี๋ยวเอาถุงพวกนี้มาใช้ใส่ของ ใส่ขยะไรงี้
        สุดท้ายเป็นไงคะ?
        พับไว้จนล้นตู้เสื้อผ้าค่ะ
        คนที่มีอาการนี้หนักๆ จะถึงขั้นเก็บทุกอย่างไว้ ไม่กล้าทิ้ง เสียดายไปหมด กลายเป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ที่อเมริกาถึงกับมีเรียลลิตี้โชว์ชื่อ Hoarders ที่นำเสนอคนที่มีปัญหาแบบนี้ เก็บทุกอย่างไว้ในบ้านจนบ้านกลายเป็นกองขยะ แล้วก็เชิญนักจิตบำบัดมาทำให้พวกเขาตัดใจจากของที่เก็บสะสมไว้
 

3. โลกนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน

        เรารู้สึกกันมั้ยคะว่าโลกเราทุกวันนี้มันโหดร้ายเหลือเกิน ทั้งๆ ที่โลกเราเจริญแล้ว แต่ทำไมถึงยังมีข่าวคนฆ่ากันตาย ข่มขืน ครูทำร้ายนักเรียน พระไม่อยู่ในศีลในธรรม ไกลออกไปหน่อยก็มีก่อการร้ายไม่เว้นแต่ละวัน นั่งๆ อยู่ดีๆ ระเบิดลงหัวซะงั้น
        หลายคนถึงกับนั่งยันนอนยันว่า โลกเรากำลังเข้าสู่กลียุคเข้าไปทุกทีแล้ว
        แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งหดหู่กันไป เพราะจริงๆ แล้ว นี่ก็เป็นผลจากการทำงานของสมองเรานี่แหละค่ะ
        ที่เรารู้สึกว่าความรุนแรงทั้งหลายมันถี่ขึ้นเรื่อยๆ ก็เพราะเราได้รับข่าวสารเพียงด้านเดียวอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เมื่อเทียบกับอัตราส่วนประชากรในประเทศไทยเราเองหรือทั้งโลกแล้วถือว่าน้อยมากๆ แต่เราคิดว่าเยอะ เพราะมันไม่มีตัวเทียบไงคะ
        ตัวเทียบคืออะไรล่ะ? ก็คือความสงบสุขที่เกิดขึ้นตามที่ต่างๆ หรือความดีงามที่เกิดขึ้นตรงนั้นตรงนี้ สื่อไม่ค่อยชอบเล่นข่าวแบบนี้หรอกค่ะ นานๆ ทีถึงจะเล่นข่าวพลเมืองดีเก็บกระเป๋าตังค์ได้ และอย่าว่าแต่สื่อเลย ไปดูจำนวนแชร์ข่าวดราม่าคนตีกันในตลาด ยังมากกว่าข่าวแท็กซี่มีน้ำใจเก็บกระเป๋าตังค์คืนผู้โดยสาร แม้แต่คนเสพสื่ออย่างพวกเรายังสนใจข่าวด้านลบมากกว่าข่าวด้านบวกเลย
        หลักจิตวิทยานี้พี่น้องเคยพูดถึงแล้วในบทความ "ทำไมเราจึงคิดว่าช่วงนี้เครื่องบินตกบ่อย" เพราะเรารับข้อมูลเพียง "บางส่วน" ทำให้เราเข้าใจว่าข้อมูลนั้นคือ "ทั้งหมด" จึงไม่แปลกที่เราจะคิดว่าข้อมูลนั้นมีปริมาณมากจนน่าตกใจ
        ยิ่งเดี๋ยวนี้ข่าวมาไวมาก หลักฐานพร้อม ปล่อยลงเฟซบุ๊กแป๊บเดียว ไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ไปอยู่ในเว็บข่าวทั้งหลายแหล่แล้ว จะข่าวใหญ่ระดับโลกหรือข่าวเล็กระดับตำบล ทำให้ปริมาณข้อมูลข่าวที่นำเสนอมากกว่าสมัยก่อนเข้าไปอีก
        ดังนั้นคำถามที่ว่า "ทำไมช่วงนี้มีข่าวครูทำร้ายนักเรียนบ่อยจังเลย" ทุกคนคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้วใช่มั้ยคะ?
 

4. ข้อจำกัดลวงตา

        ข้อนี้เป็นหลักการตลาดอย่างหนึ่งที่ทำให้ความคิดของเราทำงานผิดพลาดโดยไม่รู้ตัวค่ะ
        ใครชอบไปช้อปปิ้งกับคุณพ่อคุณแม่ที่ห้างสรรพสินค้าบ้าง? เวลาเราซื้อของเข้าบ้าน ถ้าเราเจอของลดราคาอยู่เราก็จะรีบหยิบเลยใช่มั้ยคะ แต่เราจะหยิบเท่าไรล่ะ? หนึ่ง? สอง? สักสามอันละกัน เดี๋ยวใช้ไม่หมด
        แต่เมื่อไรก็ตามที่เราเจอป้าย "จำกัดจำนวนครอบครัวละไม่เกิน 10 ชิ้น" ปุ๊บ เท่านั้นแหละจ้า มีสิบหยิบสิบเลยทีเดียว
        โดยปกติแล้ว เวลาเจออะไรแบบนี้ เรามักจะคะเน "ปริมาณที่เหมาะสม" ด้วยตัวเราเอง ถ้าเจอน้ำยาซักผ้าซื้อ 3 แถม 1 เราคงซื้อสัก 6 ถุง คิดเอาเองว่าแค่นี้แหละ พอใช้สักเดือน ไม่มีใครเหมาซื้อหมดทั้งชั้น กะใช้ได้ทั้งปี
        แต่พอเราเจอคนอื่นบอก "ปริมาณที่เหมาะสม" มาให้แทน ทำให้เราเขว และเลือกซื้อตามปริมาณที่คนอื่นกำหนดมาค่ะ
        หลักจิตวิทยานี้ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มแบรนด์ระดับสูง ที่เราเคยสงสัยว่า "ป๊าด! ขายราคานี้ ใครจะบ้าซื้อ"
        ของบางอย่างไม่ได้ผลิตมาเพื่อขายค่ะ แต่ผลิตมาเพื่อ "ให้สินค้าอื่นขายได้"
        ยกตัวอย่าง แบรนด์ A ผลิตกระเป๋าหนังอย่างดี ติดป้ายราคาไว้ที่สามล้าน เอาไปวางขายตามห้างฯ คนมองตาปริบๆ แล้วก็วางสินค้าอื่นๆ ไว้ใกล้กันที่ราคาต่ำลงมาหน่อย พอคนเดินมาเจอเจ้ากระเป๋าหนังสามล้านต้องเกิดความสงสัยว่าสินค้าชิ้นอื่นมันแพงแบบนี้เลยหรือเปล่า
        พอไปดูกระเป๋าหนังใกล้ๆ กันอีกใบเจอป้ายราคาสามพัน อ้าว กระเป๋าดูราคาพอรับได้ขึ้นมาทันทีจริงมั้ยคะ?
        นั่นเพราะเจ้าของแบรนด์เขากำหนด "เรตราคาที่รับได้" มาให้เราแทนแล้ว ถึงแม้เราจะมีเรตราคาในใจของเราว่ากระเป๋าไม่ควรเกิน 1,000 บาท แต่ถ้ามาเจอกลยุทธิ์แบบนี้ ระดับเรตราคาของเราจะเปลี่ยนไปตามเจ้าของแบรนด์ทันที
 

5. ฉันเชื่อของฉันอย่างนี้

        มาถึงจิตวิทยาข้อสุดท้ายที่ทำให้ชาว "นักเลงคีย์บอร์ด" ตรรกะเพี้ยนกันมานักต่อนัก
        เคยเถียงกับใครในอินเทอร์เน็ตมั้ยคะ? ทั้งๆ ที่เรามีข้อมูลหลักฐานมาพร้อมทุกอย่าง แทบจะพิมพ์เป็นรายงาน ทำ infographic ส่งไปให้ดูถึงบ้าน แต่อีกฝ่ายกลับปิดหูปิดตาไม่ยอมรับรู้อะไรทั้งนั้น
        เถียงไปก็เหมือนเถียงกับกำแพง
        กลไกนี้เกิดจากการที่คนเรายึดมั่นใน "ความเชื่อ" บางอย่างมากๆ จน "เลือกรับข้อมูล" ที่มาสนับสนุนความเชื่อของตัวเองเท่านั้น
        เป็นธรรมชาติที่คนเราทุกคนมีความเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เชื่อในดวงชะตา เชื่อในวิทยาศาสตร์ เชื่อในครูอาจารย์ เชื่อในการแต่งชุดนักศึกษาไปเรียนหนังสือ ฯลฯ และเป็นธรรมชาติอีกเช่นกันที่ถ้าหากมีสิ่งใดมากระทบความเชื่อของเรา ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ปฏิกิริยาแรกของเราคือ "ไม่เชื่อในข้อมูลนั้น"
        คนส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ค่ะ คือพอมีอะไรมากระทบความเชื่อปุ๊บ จะไม่ค่อยอยากรับรู้ข้อมูลใหม่นั้นเท่าไร และจะพยายามหาหลักฐานมาสนับสนุน "ความเชื่อของตนเอง" ไม่ได้หาข้อมูลจากทั้ง 2 ด้าน
        ตัวอย่างมีให้เห็นเยอะเลยค่ะ เช่น
        "ยาลดความอ้วน" ถ้าเราคิดตามหลักเหตุและผลจริงๆ การกินยาเฉยๆ มันไม่น่าจะทำให้เราผอมลงได้ (ยกเว้นว่าเรากินยาเม็ดเดียวแล้วไม่กินอะไรอีกเลยตลอดวัน)
        แต่ก็ยังมีคนเชื่อ ยังซื้อยาพวกนี้มากิน เพราะพวกเขาเสพข้อมูลที่ว่า "ยานี้ได้ผล" มามากจนเกิดเป็นความเชื่อว่ามันได้ผลจริง พวกเขาจะวนเวียนอยู่กับบอร์ดต่างๆ ที่คนมาแชร์เรื่องยาลดความอ้วนยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ ไม่ได้เป็นแฟนเพจหมอแล็บแพนด้า เป็นต้น
        "ข่าวนี้จริงๆ แล้วเป็นแบบนี้นะ" นี่ก็อีกตัวอย่างหนึ่งค่ะ เวลาแชร์ข่าวที่เป็นข้อมูลผิดๆ ออกไป แล้วมีคนมาท้วงว่ามันผิดนะ ของจริงคือนี่ต่างหาก คนที่แชร์ข่าวผิดอาจจะทำหูทวนลมไปก่อน แกล้งทำเป็นไม่สนใจข้อมูลนั้น เกิดกลไกการป้องกันตัวด้วยการทำเป็นลืมไปชั่วขณะว่าเคยแชร์อะไรผิดๆ ไป หรือแม้แต่เถียงกลับด้วยเหตุผลแปลกๆ แทน
        "แฟนแกนอกใจนะ" แหม่...เรื่องรักหนักอก พี่น้องเชื่อว่าหลายคนเคยเจอค่ะ มีคนมาบอกเราเองว่าแฟนเรานอกใจ แต่เรากลับไม่เชื่อ เพราะเรายึดมั่นในความเชื่อของตัวเองว่าแฟนไม่เคยนอกใจเรา ไม่เคยมีพิรุธ แม้ในใจลึกๆ เราเริ่มรู้สึกแล้วว่ามีกลิ่นแปลกๆ
        ความเชื่อคนเรามันเปลี่ยนกันยากค่ะ ยิ่งความเชื่อที่ฝังรากลึกมานานยิ่งต้องใช้เวลา จะให้ยอมรับว่าตัวเองเชื่อผิดมาตลอดในวินาทีนั้นเลย ก็ดูจะโหดร้ายไป
        เหมือนอยู่ดีๆ ก็บอกว่าจริงๆ แล้วเธอไม่ใช่ลูกของบ้านนี้ จะให้ยอมรับ โบกมือลา เก็บของย้ายไปอยู่กับพ่อแม่จริงๆ เลย ก็ทำไม่ได้ใช่มั้ยล่ะคะ ต้องให้เวลาเขาได้ปรับตัว เปลี่ยนความเชื่อเสียก่อน
 
        ทั้งหมดนี้ก็เป็นการอธิบายด้วยหลักจิตวิทยาง่ายๆ ว่าทำไมบางทีคนเราก็ช่าง "ไร้เหตุผล" หรือที่เรียกกันด้วยภาษาอินเทอร์เน็ตว่า "ตรรกะเพี้ยน"
        อ่านไว้รับมือเวลาเจอคนแบบนี้ตามอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่เอาไว้เตือนตัวเองเวลาเข็มทิศสมองของเราเพี้ยนไปก็ได้นะคะ ^^

       
ขอบคุณข้อมูลจาก
jamesclear.com
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

martinezsmiler Member 10 ต.ค. 59 12:00 น. 2

เราไม่ชอบตรรกะนี้ด้วยค่ะ 

'อันที่บอกว่าคนแรงๆมักเป็นคนตรงๆ' โดยส่วนตัวคิดว่ามันใช้ไม่ได้กับบางคนนะ คือบางคนไม่ใช่..เหมือนเอาอันนี้มาอ้างเพื่อกลบความปากผล่อยอ่ะ 

0
กำลังโหลด
Lutécia Member 12 ต.ค. 59 20:02 น. 3

อีกเรื่องหนึ่งที่เจอมากับตัว

คือเราอ่ะ ทำดีกับเพื่อนๆมาตลอดนะ

เพื่อนเดือดร้อนอะไรเราก็ช่วย

แต่ครั้งหนึ่งตอนไปทัศนะศึกษา

เพื่อน A ฝากงานให้เราเพราะนางลืมเอากระเป๋าลงจากรถ

เราก็รับฝากไว้ แต่เราไม่ทันสังเกต

ว่าฝาขวดน้ำในกระเป๋าเรามันปิดไม่สนิท

ผลก็คือ น้ำหกใส่งานของ A ค่ะ

เราพยายามขอโทษ A แล้ว

เราบอกด้วยซ้ำว่าจะทำงานให้ A ใหม่ จะได้ไม่เดือดร้อน

แต่นางไม่ฟัง ไม่พอใจ ไม่เอาอะไรเลยอ่ะ

หลังจากวันทัศนศึกษาเพื่อนมีท่าทีแปลกๆกับเรา

เหมือนไม่พอใจอะไรสักอย่าง เวลาเราชวนคุย

เพื่อนก็ถามคำตอบคำเหมือนไม่อยากคุยอ่ะ

เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจนกระทั่งครูประจำชั้นมาบอก

"รู้ตัวไหมว่าก่อเรื่องอะไรไว้

เพื่อนเขาพูดถึงเธอในทางแย่ๆเยอะมากเลยนะตอนนี้"

เราได้ยินครูบอกแบบนี้ก็ช็อคอ่ะ...เห้ย ตูทำอะไรผิดวะคะ

ข่าวลือแย่ๆเกี่ยวกับเรามันระบาดเยอะมาก

ขนาดเพื่อนต่างห้องยังรู้อ่ะ

แล้วแอบได้ยินรุ่นน้องพูดถึงเราว่า

ตอนนี้เราเสแสร้งแกล้งทำตัวเป็นคนดี แต่จริงๆแล้วเรานิสัยแย่มาก

มีการใส่เรื่องโกหกเพิ่มเข้ามาแบบ...

ตอนเด็กๆเคยอยู่บ้านใกล้เรา

เคยเห็นเราชอบทำร้ายกระต่ายจนตายด้วย

(ตอนเด็กเราเลี้ยงกระต่ายก็จริงนะ

แต่ที่มันต่ายคือมันโดนแมวของเพื่อนบ้านกัดค่ะ)

คือ...เราทำผิดแค่เรื่องเดียว แถมเป็นเรื่องที่เราไม่ได้ตั้งใจด้วย

ทำไมต้องมาพูดเหมือนเราเลวแต่กำเนิดด้วยวะคะ!!

ตรรกะพวกเธอมันเป็นยังไงกัน ตอบ!!

0
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

มัณทนา Member 6 ต.ค. 59 16:15 น. 1

ข้อ 3 เราไม่ได้บ้าและไม่ได้เพี้ยน มันเป็นเรื่องจริง

ภูตผีปีศาจผีที่ว่าน่ากลัวๆยังต้องหลีกทางให้กับพวกคนเป็น

สมัยนี้คนเป็นน่ากลัวยิ่งกว่าพวกภูตผีปีศาจซะอีก

2
กำลังโหลด
martinezsmiler Member 10 ต.ค. 59 12:00 น. 2

เราไม่ชอบตรรกะนี้ด้วยค่ะ 

'อันที่บอกว่าคนแรงๆมักเป็นคนตรงๆ' โดยส่วนตัวคิดว่ามันใช้ไม่ได้กับบางคนนะ คือบางคนไม่ใช่..เหมือนเอาอันนี้มาอ้างเพื่อกลบความปากผล่อยอ่ะ 

0
กำลังโหลด
Lutécia Member 12 ต.ค. 59 20:02 น. 3

อีกเรื่องหนึ่งที่เจอมากับตัว

คือเราอ่ะ ทำดีกับเพื่อนๆมาตลอดนะ

เพื่อนเดือดร้อนอะไรเราก็ช่วย

แต่ครั้งหนึ่งตอนไปทัศนะศึกษา

เพื่อน A ฝากงานให้เราเพราะนางลืมเอากระเป๋าลงจากรถ

เราก็รับฝากไว้ แต่เราไม่ทันสังเกต

ว่าฝาขวดน้ำในกระเป๋าเรามันปิดไม่สนิท

ผลก็คือ น้ำหกใส่งานของ A ค่ะ

เราพยายามขอโทษ A แล้ว

เราบอกด้วยซ้ำว่าจะทำงานให้ A ใหม่ จะได้ไม่เดือดร้อน

แต่นางไม่ฟัง ไม่พอใจ ไม่เอาอะไรเลยอ่ะ

หลังจากวันทัศนศึกษาเพื่อนมีท่าทีแปลกๆกับเรา

เหมือนไม่พอใจอะไรสักอย่าง เวลาเราชวนคุย

เพื่อนก็ถามคำตอบคำเหมือนไม่อยากคุยอ่ะ

เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจนกระทั่งครูประจำชั้นมาบอก

"รู้ตัวไหมว่าก่อเรื่องอะไรไว้

เพื่อนเขาพูดถึงเธอในทางแย่ๆเยอะมากเลยนะตอนนี้"

เราได้ยินครูบอกแบบนี้ก็ช็อคอ่ะ...เห้ย ตูทำอะไรผิดวะคะ

ข่าวลือแย่ๆเกี่ยวกับเรามันระบาดเยอะมาก

ขนาดเพื่อนต่างห้องยังรู้อ่ะ

แล้วแอบได้ยินรุ่นน้องพูดถึงเราว่า

ตอนนี้เราเสแสร้งแกล้งทำตัวเป็นคนดี แต่จริงๆแล้วเรานิสัยแย่มาก

มีการใส่เรื่องโกหกเพิ่มเข้ามาแบบ...

ตอนเด็กๆเคยอยู่บ้านใกล้เรา

เคยเห็นเราชอบทำร้ายกระต่ายจนตายด้วย

(ตอนเด็กเราเลี้ยงกระต่ายก็จริงนะ

แต่ที่มันต่ายคือมันโดนแมวของเพื่อนบ้านกัดค่ะ)

คือ...เราทำผิดแค่เรื่องเดียว แถมเป็นเรื่องที่เราไม่ได้ตั้งใจด้วย

ทำไมต้องมาพูดเหมือนเราเลวแต่กำเนิดด้วยวะคะ!!

ตรรกะพวกเธอมันเป็นยังไงกัน ตอบ!!

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด