เล่าชีวิต "นักวาดฉาก" ในญี่ปุ่น ... จากวันที่เข้าเรียน สมัครงาน จนได้ทำงานจริง!

    สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ถ้าพูดถึงแอนิเมชัน พี่เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะนึกถึงการ์ตูนแอนิเมชันน่ารักๆ จากค่ายยักษ์ใหญ่อย่างดิสนีย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมัยเราเด็กๆ อย่าง Lion King, Pochahontas หรืออาจจะเป็น Frozen ที่มีอันนาและเอลซ่าเป็นขวัญใจ ใครที่ชอบแนวๆ เอเชียหน่อยก็อาจจะมาทางฝั่งญี่ปุ่นของค่าย Studio Ghibli ที่มีเรื่องเด่นดังอย่าง My Neighbor Totoro, Grave of the Fireflies, Spirited Away และเรื่องอื่นๆ มากมายรวมทั้งจากค่ายอื่นที่ไม่ได้พูดถึงด้วย ซึ่งถ้าจะเอามาพูดในนี้คงไม่หมดแน่ๆ เพราะมีเรื่องที่ครองใจคนอีกเยอะเลย

    วันนี้ พี่นิทาน มีเรื่องราวน่าสนใจของ "พี่เหรียญ" ภัครดา บวรธีรภัค จะมาเล่าให้น้องๆ ฟังกันค่ะ พี่เหรียญเดินตามความฝันตั้งแต่เด็กจนมาถึงเป้าหมายแรกที่ประเทศญี่ปุ่น นั่นก็คืออาชีพ "นักวาดฉาก" ในหนังแอนิเมชัน ที่ฟังดูแล้วไม่ง่ายอย่างที่คิดนะคะ ใครชอบดูแอนิเมชันอยู่แล้วน่าจะพอนึกออกกันว่ารายละเอียดในหนังแอนิเมชันแต่ละเรื่องนี่มันเยอะมากจริงๆ และมีส่วนประกอบมากมาย ทั้งฉาก ตัวละคร วัตถุต่างๆ ไหนจะเนื้อเรื่องที่เราต้องตามให้ทันอีก เอาล่ะ ยิ่งเกริ่นไปอาจจะยิ่งกระตุกต่อมสงสัยของน้องๆ มากขึ้น ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกันเลยว่าที่มาที่ไปของการจะมาเป็นนักวาดฉากเนี่ย มันเป็นยังไงกันแน่

 
พี่เหรียญ - ภัครดา บวรธีรภัค

ตอนเด็กชื่นชอบแอนิเมชัน โตมาเลยอยากเป็นส่วนหนึ่งในทีม "สร้าง" 

    พี่เหรียญจบการศึกษาป.ตรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร (ICT) เอกภาพยนตร์ และเริ่มรู้สึกว่าอยากลองทำแอนิเมชันดู จากนั้นเลยเลือกเรียนวิทยาลัยวิชาชีพ หรือที่เรียกว่าเซมมงในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 2 ปี 

    "เริ่มแรกคือเราเรียนภาพยนตร์มาจากไทยแล้วรู้สึกอยากลองทำหนังแอนิเมชันดูเพราะสนใจในแอนิเมชันมานานแล้ว แต่ตอนนั้นไม่มีคนช่วยทำและยังไม่มีโอกาสได้ลอง พอเรียนจบก็รู้สึกสับสนในชีวิตเพราะใจอยากเรียนด้านแอนิเมชัน แต่ก็เลือกไม่ถูกว่าจะไปเรียนที่อังกฤษหรือว่าญี่ปุ่นดี สุดท้ายก็เลือกที่ญี่ปุ่นเพราะเราชอบงานแนวญี่ปุ่นและสไตล์ความเป็นเอเชียมากกว่า อย่างเช่นการ์ตูนแอนิเมชันจากค่ายดัง Ghibli Studio ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราเยอะ แต่ละเรื่องของเขามีรายละเอียดให้ดูเยอะมาก ตอนนั้นเลยฝันอยากเป็นแอนิเมเตอร์ (Animator) 

    การทำแอนิเมชันนั้นจะคล้ายกับการสร้างหนังเรื่องนึงขึ้นมาเลย เพราะในทีมงานจะแบ่งออกเป็นหลายตำแหน่งมาก เช่น คนตัดต่อ, คนทำฉาก, ใส่เสียง แอนิเมเตอร์ และอื่นๆ ซึ่งตำแหน่งแอนิเมเตอร์ก็คือคนวาดตัวละครและวัตถุต่างๆ ที่ขยับอยู่ในเฟรมภาพ พอเรามีเป้าหมายเราก็ตั้งใจจะมาเรียนด้านแอนิเมชันที่ญี่ปุ่น เริ่มแรกก็หาโรงเรียนวิชาชีพเหล่านี้มาจากไทยก่อน ซึ่งโรงเรียนที่ว่านี้เค้าจะเรียกกันว่า "เซมมง" คือหลักสูตรของญี่ปุ่นที่ให้เด็กม.ปลายมาเรียนต่อเพื่อฝึกอาชีพ จากนั้นแล้วแต่ว่าจะต่อมหาวิทยาลัยหรือจะทำงานเลยก็ได้ โดยบางที่จะสามารถโอนหน่วยกิตไปเรียนต่อปี 2-3 ในมหาวิทยาลัยได้ และสำหรับคนที่ไม่เรียนมหาวิทยาลัยต่อก็สามารถนำวิชาชีพไปทำงานได้เลย สังคมญี่ปุ่นจะไม่ได้มองคนที่วุฒิการศึกษา แต่จะมองที่ฝีมือและความสามารถค่ะ" 

 
ตัวอย่างงานที่พี่เหรียญเคยวาดสมัยเรียนเซมมง
(ไม่สามารถนำภาพงานจริงมาลงได้เนื่องจากเรื่องลิขสิทธิ์ของบริษัทค่ะ)

    "พอเราสอบเข้าในเซมมงได้ ก็ต้องมาเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นก่อน จนได้เข้าเรียนเซมมงจริงๆ ก็รู้สึกเปิดโลกกว้างมาก เราเรียนสายแอนิเมชันก็เพิ่งรู้ว่าการทำแอนิเมชันแต่ละเรื่องนี่ใช้คนเยอะมากเหมือนสร้างหนัง แต่การสร้างหนังเขาจะออกกองไปถ่ายหนังกัน ส่วนแอนิเมชันจะใช้การวาดในการสร้างแทน

     ตอนเรียนที่โรงเรียนเขาก็มีให้ทดลองทุกแบบ เช่น ตัดต่อ วาดตัวละคร วาดฉาก ซึ่งพอเราได้ลองก็ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเราชอบฉากมาก อยากวาดฉาก ฉากก็คือโลกที่สร้างมาอยู่ในแอนิเมชันเรื่องนั้น โชคดีที่อยู่ญี่ปุ่นเราเลยมีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการของ Studio Ghibli มาเยอะ ในนิทรรศการเขาก็จะมีฉากให้ดูเยอะมาก เราเลยรู้สึกหลงใหลกับมันและอยากเป็นคนสร้างฉากสร้างโลกในแอนิเมชันบ้าง

    พอเรามาเรียนก็ทำให้เรารู้ว่าอาชีพวาดฉากเนี่ย บางภาพใช้เวลาวาด 6-7 ชั่วโมงหรือเป็นวันๆ แต่เอาไปใช้จริงๆ ก็แค่ 2 วินาที ซึ่ง 2 วินาทีนี่ถือว่าเยอะแล้วด้วย แถมคนอาจไม่ได้สนใจด้วย เพราะเขาจะสนใจตัวละครและเนื้อเรื่องมากกว่า แต่การทำฉากและสร้างแอนิเมชันสักเรื่องใช้รายละเอียดสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น "เซเลอร์มูน" หรือ "ซากุระมือปราบไพ่ทาโรต์" ที่พวกเราเคยดูตอนเด็กๆ เนี่ยเค้าใช้มือวาดกันทั้งเรื่องและใช้สีโปสเตอร์ระบาย แล้วแอนิเมชันของญี่ปุ่น 1 วินาทีจะมี 24 เฟรม คิดดูว่าจะต้องวาดเยอะขนาดไหน ส่วนสมัยนี้มีเครื่องมือและคอมพิวเตอร์ก็จริง บางบริษัทที่สร้างแอนิเมชันก็อาจใช้คอมวาดบ้าง ผสมวาดมือ หรือ Studio Ghibli เองก็จะใช้วาดมือล้วนๆ เลย แต่ต่อให้เป็นคอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้ทำงานง่ายขึ้น เพราะโปรแกรมเหล่านั้นมันก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ท้ายที่สุดงานแบบนี้ก็ต้องอาศัยฝีมืออยู่ดี"  

 
ตัวอย่างงานที่พี่เหรียญเคยวาดสมัยเรียนเซมมง

ขึ้นชื่อว่าญี่ปุ่น ทุกอย่างต้องเป๊ะ ต้องตามระเบียบแบบแผน 

    หลังเรียนจบเซมมงก็ถึงช่วงเวลาแห่งการหางาน แต่ขอบอกว่าการหางานที่ญี่ปุ่นไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะทุกอย่างมีระเบียบแบบแผน มีกฎ มีคู่มือที่ต้องนั่งท่องและฝึกซ้อมกันเป็นอาทิตย์กว่าจะได้ลงสนามจริง 

    "วัฒนธรรมการหางานที่ญี่ปุ่นจะต่างจากไทยมาก เพราะถ้าเป็นในไทยสมมุติเราจะเปลี่ยนงานหรือตกงานงานอยู่เราจะสามารถหางานได้เรื่อยๆ เข้า-ออกได้ง่ายกว่า แต่ที่ญี่ปุ่นจะมีช่วงเวลาในการหางาน คือเด็กจะเรียนจบในช่วงเดือน 2-3 ของปี เพราะฉะนั้นเดือน 4 ต้องเป็นพนักงานเงินเดือนแล้ว และช่วงเดือน 2-3 ที่เค้าหางานกันเราจะเห็นชาวญี่ปุ่นใส่สูทหางานกันเยอะมาก ตอนเราเรียนที่เซมมงก็เรียนคอร์ส 2 ปี พอขึ้นปี 2 มาเรารู้สึกว่ายังไม่ทันได้สกิลอะไรมากเลย แต่เดือน 4 เราก็ต้องเร่งทำพอร์ตโฟลิโอเพื่อสมัครงานแล้ว 

    การจะสมัครงานที่ญี่ปุ่นนั้นต้องเตรียมตัวอย่างมาก นอกจากจะมีพอร์ตโฟลิโอและความรู้ความสามารถที่พร้อมแล้ว เราต้องมีทักษะในการตอบคำถามให้ดี เวลาสมัครงานเค้าจะมีรายละเอียดให้เรากรอกเยอะและละเอียดกว่าไทยมาก เช่น ต้องเขียนแรงบันดาลใจของตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือข้อดี-ข้อเสียของกิจกรรมที่เราเคยทำในมหา'ลัยมา จะต้องเขียนให้ดี และถ้าเยินยอบริษัทมากไปก็ไม่ได้ ต้องเขียนให้เขารู้ว่าเรามีประโยชน์อะไรที่บริษัทจะได้รับจากเราบ้าง "

    "โชคดีที่สายอาชีพที่เราทำไม่ต้องมีการสัมภาษณ์หลายรอบเหมือนบางอาชีพ การสอบสัมภาษณ์ที่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เช่นกัน ถ้าเป็นในไทยบริษัทส่วนมากจะมีความเป็นพี่เป็นน้อง มีความผ่อนคลายกว่า แต่วัฒนธรรมการสัมภาษณ์งานที่นี่ญี่ปุ่นจะเป็นเรื่องจริงจังมาก เราจะต้องใส่สูทตามระเบียบ เรียบๆ สีดำ (ไม่ก็เทา) จะดูเชยๆ นิดนึง รองเท้าก็ต้องตามระเบียบ ใส่ถุงน่อง ผมดำเก็บเรียบร้อย กระเป๋าถือก็ต้องเรียบร้อยเช่นกัน นี่ขนาดเราไปสัมภาษณ์งานสายครีเอทีฟก็ยังมีกฎระเบียบเคร่งครัด ซึ่งอาจารย์เคยบอกว่าเราควรแต่งไปตามระเบียบเพราะบริษัทส่วนมากเค้าก็จะสังเกตหรือลองใจเรา" 

ชุดสมัครงานที่ญี่ปุ่นจะเป็นแบบนี้แหละค่ะ

    "ขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์ก็จะมีแบบแผนของมัน คือเราถึงขนาดซื้อคู่มือมาอ่านเลย เพราะเค้าจะมีกฎ เช่น ตอนเดินเข้าบริษัทมาเราจะต้องถือกระเป๋ายังไง ต้องคล้องไว้ที่แขนเท่านั้น ต้องทำความเคารพ ถ้าเห็นคนอื่นที่มาสัมภาษณ์ด้วยก็ห้ามคุยด้วย (เดี๋ยวเค้าหาว่าเราไม่จริงจัง) ห้ามเล่นมือถือ ถ้าถูกเรียกชื่อเราต้องเคาะประตู 3 ทีก่อนเข้าห้อง พอเข้าไปก็ต้องนั่งให้เรียบร้อย เท้าชิด มือวางที่หัวเข่า ฯลฯ ถ้าเค้าถามว่าอยากดื่มน้ำอะไรก็ห้ามตอบอย่างอื่นนอกจากกาแฟ (เพราะกาแฟถูกสุด 555) ถ้ากาแฟมาเราก็ยังดื่มไม่ได้ ต้องรอให้เค้าบอกก่อน แต่การสัมภาษณ์ก็จะแตกต่างไปตามบริษัท จริงๆ แล้วก็มีบางบริษัทที่อาจจะผ่อนคลายกว่านี้ เครียดน้อยกว่านี้เหมือนกัน แต่มาตรฐานเค้าก็จะซีเรียสนิดนึง" 


ก้าวแรกในโลกแอนิเมชันในฐานะผู้สร้าง "ฉาก" 

    หลังผ่านด่านการเตรียมตัวสมัครงานและสัมภาษณ์สุดโหดแล้ว เมื่อได้รับเข้าทำงานก็เหมือนกับเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ จากที่เคยเป็นแค่คนดู มาวันนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกแอนิเมชันแล้ว 

 
ตัวอย่างงานที่พี่เหรียญเคยวาดสมัยเรียนเซมมง

    "บริษัทที่เราเข้ามาทำคือบริษัทวาดฉากของแอนิเมชัน ทั้งบริษัทคือทำฉากอย่างเดียวเลย ไม่ได้ทำทั้งเรื่อง ซึ่งอย่างที่เราบอกไปตอนแรกว่าวงการแอนิเมชันเนี่ยมันจะเหมือนกับวงการหนังเลย เวลาเค้าถ่ายทำหนังหรือละครเรื่องนึงก็จะมีการไปจ้างบริษัททำฉากบ้าง หรือส่วนประกอบอื่นๆ แอนิเมชันก็เช่นกัน การทำแอนิเมชันแต่ละเรื่องเค้าก็จะไปจ้างบริษัททำฉากเพื่อให้ทำฉากให้เรื่องนั้นๆ และเราก็คือหนึ่งในบริษัทฉากค่ะ 

    สาเหตุที่มาสมัครบริษัทที่ทำอยู่ตอนนี้ เพราะเราได้ยินมาว่าเค้ามีสาขาที่ประเทศไทย เลยลองส่งใบสมัครและพอร์ตฯดู เผื่อเค้าจะรับเรา แต่ตอนแรกส่งไปผิดที่อยู่เพราะมีคนส่งกลับคืนมาหาเรา เราเลยส่งอีเมลล์ไปถามบริษัท เค้าก็บอกให้ถือเอกสารกับพอร์ตฯเข้ามาเองเลย พอไปถึงเค้าก็พาทัวร์บริษัท เราก็ได้เห็นว่าที่นั่นมีแผนกฉาก, แผนกทำภาพ 3 มิติ, แผนกวาดเส้น, ออกแบบ และอื่นๆ

     หลังจากนั้นเราก็ไปนั่งคุยสัมภาษณ์ เค้าก็จะถามหลายๆ คำถาม เช่น เราชอบแอนิเมชันเรื่องอะไร ทำไมถึงอยากมาทำงานที่นี่ หลังจากนั้นเค้าก็บอกเราว่าให้ลองกลับไปคิดดูว่าอยากทำงานที่นี่มั้ย ถ้าอยากก็ให้โทรมาบอก และจะต้องทำการสอบเป็นขั้นตอนต่อไป การสอบก็จะมีหลายวันและค่อนข้างหนัก และจะแตกต่างไปตามบริษัท อย่างเช่นเค้าอาจจะให้โจทย์มาว่าให้วาดต้นไม้ ก้อนเมฆ แอ่งน้ำ ก็วาดไป บางที่จะให้ภาพตัวอย่างมาให้เราวาดตามภายในเวลาที่กำหนด

ตัวอย่างงานที่พี่เหรียญเคยวาดสมัยเรียนเซมมง

    "พอได้รับเข้าทำงานเราจะต้องฝึกงานก่อน เพราะจะเป็นธรรมเนียมของญี่ปุ่นว่าพนักงานใหม่จะต้องฝึกงานประมาณ 3 เดือน หรือบางที่อาจจะนานถึง 6 เดือนก็มี ช่วง 3 เดือนของการฝึกงานนี้งานก็ไม่หนักมาก แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวอยู่ในสังคมพอสมควร เพราะคนที่นี่เค้าจะมีกำแพงกั้นระหว่างพนักงานและเด็กฝึกงาน ตอนนั้นไม่มีใครคุยด้วยเลย รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากกลับบ้านมาซึมทุกวัน แต่พอผ่านช่วงฝึกงานมาแล้วหลายๆ อย่างก็เข้าที่เข้าทางมากขึ้น 
 
    ดีที่ในการทำงานทุกๆ วันเราก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เช่น แสงเงาที่เราจะมาใช้ในรูปวาดมันไม่ได้มีแค่สีเทาเท่านั้น มันจะมีสีอื่นตามวัตถุนั้นๆ ด้วย เช่น สีเขียว ม่วง และการที่วัตถุนั้นๆ จะมีแสงเงา เราต้องมานั่งคิดวิเคราะห์เยอะมากว่าพระอาทิตย์มันอยู่ตำแหน่งไหนถึงจะได้เงาออกมาในแบบนั้น รายละเอียดจะเยอะมากๆ หรืออย่างการวาดตึก เราก็ต้องรู้ส่วนประกอบของมัน ต้องวาดให้ธรรมชาติมากที่สุด เราต้องสังเกตว่าการป้ายปูนของตึกเนี่ยมันเป็นยังไง แถมการป้ายปูนสร้างตึกในแบบยุโรปกับเอเชียก็ต่างกันอีก 

ตัวอย่างงานที่พี่เหรียญเคยวาดสมัยเรียนเซมมง

 
อันนี้เป็นภาพวิวจริงๆ ที่พี่เหรียญมักถ่ายเก็บไว้เป็นตัวอย่างวาดฉาก   


แต่ทุกเส้นทางไม่ได้เรียบง่ายเสมอไป ปัญหาอาจมีเกิดขึ้นบ้าง

    แน่นอนว่าไม่มีอาชีพไหนที่ง่ายไปซะทุกอย่าง ยังดีที่พี่เหรียญโฟกัสที่ตัวเองเป็นหลักว่าเราจะพัฒนาตัวเองให้มากกว่านี้ได้ยังไง ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องเล็กน้อยและเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับทุกสายอาชีพอยู่แล้ว

ตัวอย่างงานที่พี่เหรียญเคยวาดสมัยเรียนเซมมง (วาดมือ)
    
    "ส่วนมากไม่ค่อยมีปัญหาอะไรเท่าไหร่ แต่ ณ ตอนนี้เรายังเป็นเด็กใหม่อยู่ บางครั้งเลยจะรู้สึกว่าเรายังเก่งไม่พอ โดนแก้งานเยอะ บางรูปวาดหลายวันมากแต่ก็ไม่ได้ใช้งานจริง แรกๆ ก็จะรู้สึกเฟลๆ บ้าง หลังๆ ก็ทำใจได้แล้ว นอกจากนั้นก็อาจมีเรื่องการสื่อสารบ้างเล็กน้อย เพราะภาษาญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา ถึงแม้ว่าเราจะเรียนภาษาญี่ปุ่นมาและพูดมา 3 ปีแล้วก็ตาม บางครั้งเราจะเรียบเรียงประโยคไม่ทัน หรือบางทีต้องพูดกับคนที่อายุมากกว่าที่อาจต้องใช้ศัพท์สุภาพขึ้น ยังดีที่บริษัทเราไม่ได้เข้มงวดมากเรื่องการพูดจา และการสื่อสารเราก็ไม่ได้แย่จนเป็นปัญหาใหญ่ๆ ซะทีเดียว " 


หมั่นฝึกฝน สังเกต และพัฒนาตัวเองเพื่อเป้าหมายของเรา

    ทุกๆ วันในการทำงานคือการเรียนรู้ ให้คิดไว้ว่าเรายังไม่เก่ง เราต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ และยิ่งไปกว่านั้นถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน เราจะมีแรงฮึดสู้ทำสิ่งเหล่านั้นได้ดีขึ้น 

 
ตัวอย่างงานที่พี่เหรียญเคยวาดสมัยเรียนเซมมง

    "การทำงานในวงการนี้อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปีกว่าจะเก่งและวาดได้ทุกอย่าง ตอนนี้เลยมีเป้าหมายอยากพัฒนาให้ได้ถึงขั้นนั้น และอยากทำงานที่นี่ไปนานๆ เก็บประสบการณ์ไปก่อน เรารู้สึกมีความสุขที่ได้ทำงานที่นี่ ได้วาดรูปให้คนอื่นและเพื่อตัวเอง ได้รับความรู้ใหม่ๆ และเรียนรู้อะไรเพิ่มเยอะมากที่นอกเหนือจากในห้องเรียน เช่น เทคนิคการวาด, วิธีการมองรูป และรุ่นพี่ที่ทำงานก็ใจดี เต็มใจที่จะสละเวลามาช่วยเหลือเด็กใหม่อย่างเรา ช่วยสอนในสิ่งที่เราไม่รู้ในการทำงาน การใช้ภาษา ณ ตอนนี้เราเป็นเด็กใหม่เลยอาจได้รับหน้าที่อื่นเพิ่มเติมเล็กๆ น้อยๆ ในบริษัทด้วย เช่น ยกชา, ติดต่อโทรศัพท์ ซึ่งการได้ทำเรื่องพวกนี้เราก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะขึ้น เช่น ได้คอนเนคชัน ได้รู้ว่าบริษัทเราติดต่ออยู่กับบริษัทไหนอยู่บ้าง นอกจากนั้นเราก็ตั้งเป้าหมายที่ไกลกว่า 3 ปีคือเราอยากเป็นผู้กำกับศิลป์ ซึ่งสำหรับชาวต่างชาติอย่างเราแล้วอาจจะยาก แต่ก็จะลองทำตามความฝันดู" 


หาคำตอบให้ได้ว่าตัวเองชอบอะไร และมุ่งมั่นไปที่สิ่งนั้น 

    เป็นเพราะพี่เหรียญค้นพบตัวเองมาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็เลยเลือกสิ่งที่อยากเรียนได้ตรงตามความสามารถและความชอบส่วนตัว เมื่อจบมาก็มุ่งมั่นสมัครเข้าทำงานในสายอาชีพที่ต้องการ ความฝันไม่ได้ยากอย่างที่คิดถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจน 

 
รูปตอนพี่เหรียญเรียนจบเซมมง

    "เราคิดว่าเด็กเดี๋ยวนี้ใช้ชีวิตไปกับการเรียนพิเศษเยอะมาก และบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองถนัดอะไรหรืออยากเรียนอะไร เลยอยากแนะนำให้น้องๆ ที่ยังไม่รู้เป้าหมายชีวิตตัวเองให้ลองลิสต์สิ่งที่เราชอบลงมาว่ามีอะไรบ้าง เราต้องรู้จักสังเกตตัวเองว่าอะไรที่ทำให้เรามีความสุข สิ่งที่เขียนไม่ต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ก็ได้ จะเป็นอะไรก็ได้ เช่น ชอบเล่นเกม ชอบอ่านการ์ตูน พอเขียนลงมาแล้วจะเห็นภาพรวมคร่าวๆ ทำให้เราพอรู้แล้วว่าจริงๆ แล้วเราชอบอะไร มันอยู่ในหมวดหมู่ไหน

      นอกจากนั้นก็ลองมองภาพรวมว่าในครึ่งปีหน้าอยากเห็นตัวเองเป็นแบบไหน ทำอะไร และจะทำยังไงให้ไปถึงตรงนั้นได้ (แต่ต้องเป็นสิ่งที่จับต้องได้นะ) เช่น อยากเข้ามหา'ลัยนี้ คณะนี้ให้ได้ หรืออยากทำอาชีพอะไร ที่บริษัทไหนภายในปีไหน จากนั้นค่อยมาโฟกัสว่าเราจะพยายามแบบไหนดี อีกอย่างคือคนเรามีวิธีฝึกที่ต่างกัน สมมุติว่าเราชอบวาดรูป เราอาจได้รับคำแนะนำจากคนที่เก่งๆ ว่าต้องวาดรูปทุกวัน วาดเยอะๆ แต่บางคนก็บอกว่าวาดเฉพาะตอนอยากวาดก็พอ เราต้องหาวิธีที่เราโอเคกับมันและสบายใจที่สุดให้ได้ ที่สำคัญคือหมั่นสังเกตตัวเองและฝึกฝนไปเรื่อยๆ ค่ะ แล้วเราจะถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก" 

 

      แน่นอนค่ะว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ แต่อย่างที่พี่เหรียญบอกนะคะว่าถ้าเรารู้ว่าเราชอบอะไรและหาเป้าหมายเจอ เราจะมีแรงอยากทำให้ไปถึงจุดนั้นได้ ถึงแม้ว่าทุกเส้นทางจะไม่ได้สวยหรูเสมอไป แต่ระหว่างทางก็คือประสบการณ์และการเรียนรู้ น้องๆ คนไหนที่อ่านเรื่องราวของพี่เหรียญแล้วรู้สึกว่าได้รับพลังและแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้น พี่ก็ขอเป็นอีกคนที่เชียร์ให้น้องๆ ไปสู่จุดหมายให้ได้เร็วๆ นะคะ ^^
พี่นิทาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
tingtongjane Member 29 ก.ค. 60 22:47 น. 2

เราเป็นคนนึงอะ ที่เวลาดูการ์ตูนจะมองฉากตลอดเลย ชอบดูวิถีชีวิตของเขา ลักษณะตึกรามบ้านช่อง อากาศ ก็ไม่เข้าใจว่าจะมองอะไรเยอะแยะ แต่ชอบมองฉากในการ์ตูนมากๆอะ

0
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
tingtongjane Member 29 ก.ค. 60 22:47 น. 2

เราเป็นคนนึงอะ ที่เวลาดูการ์ตูนจะมองฉากตลอดเลย ชอบดูวิถีชีวิตของเขา ลักษณะตึกรามบ้านช่อง อากาศ ก็ไม่เข้าใจว่าจะมองอะไรเยอะแยะ แต่ชอบมองฉากในการ์ตูนมากๆอะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด