10 อาชีพที่กำลังจะหายไปภายในปี พ.ศ. 2575 (แล้วเราจะทำงานอะไรกันดี)

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com อาชีพในฝันของน้องๆ คืออะไรกันบ้างคะ อาชีพในฝันของ พี่พิซซ่า ตอนเด็กๆ ห่างไกลกับตอนนี้มากเลยค่ะ 5555 ยิ่งเราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปเร็วมากๆ แบบนี้ อาชีพที่เคยคิดไว้ตอนเด็กๆ อาจจะหายไปก่อนเราจะโตด้วยซ้ำ จริงๆ พี่เคยเขียนบทความเรื่องอาชีพที่กำลังจะหายไปเมื่อสองปีก่อนค่ะ แต่ตอนนี้ต้องขออัปเดตใหม่อีกที เพราะโลกเราไปเร็วจริงๆ มาดูกันค่ะว่ามีอาชีพใดบ้าง


1. แคชเชียร์



     ตอนนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งเริ่มมีระบบ "คิดเงินอัตโนมัติ" แล้วค่ะ ซึ่งก็คือลูกค้าสามารถใช้เครื่องแคชเชียร์ได้ด้วยตัวเอง อย่างล่าสุดที่จีนก็กำลังจะมีร้านแบบนี้เป็นร้อยๆ แห่งเลยค่ะ เพราะบริษัทธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่อันดับ 2 ของจีนอย่าง JD.com กำลังวางแผนจะเปิดซูเปอร์อัตโนมัติแบบนี้ทั่วจีนค่ะ

     แต่ใช่ว่าจะไม่ต้องการแรงงานคนในซูเปอร์เลยนะคะ เพราะยังไงก็ต้องมีคนสต็อกสินค้าค่ะ หรืออย่างน้อยก็ต้องมีพนักงานบริการ 1 คน ไว้คอยให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ไม่ถนัดใช้เครื่องมือเทคโนโลยีค่ะ อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตไร้แคชเชียร์ในสวีเดน ก็มีพนักงานประจำ 1 คนต่อสาขา เพื่อดูแลในเรื่องนี้


2. พนักงานธนาคารที่ดูแลการฝาก-ถอน-โอน



     เวลาไปทำธุรกรรมที่ธนาคาร ก็จะมีพนักงานธนาคารที่รับผิดชอบแต่ละส่วนต่างกันไปค่ะ แต่ปกติที่เจอบ่อยและใช้บริการกันบ่อยก็คือฝาก-ถอน-โอน กับจ่ายบิลนี่แหละ ซึ่งตอนนี้สามารถทำธุรกรรมพวกนี้ได้ทางแอปพลิเคชั่นแล้ว ยิ่งเป็นประเทศที่สนับสนุนให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านบัตรหรือวิธีออนไลน์เพื่อลดการใช้เงินจริงๆ ก็ยิ่งลดจำนวนพนักงานในส่วนนี้ลงไปค่ะ

     ในอนาคตที่ธุรกรรมออนไลน์เป็นเรื่องง่ายขึ้น และทุกคนสามารถใช้ได้คล่องแคล่ว จำนวนพนักงานธนาคารที่ดูแลด้านนี้ก็จะลดลงตามไปด้วยค่ะ ส่วนเจ้าหน้าบริการลูกค้า เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาการลงทุน หรือเจ้าหน้าที่สินเชื่อ อะไรแบบนี้ยังไม่มีผลกระทบที่เห็นได้ชัดนะคะ เพราะลูกค้ายังต้องการคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ด้านนี้อยู่ และงานเหล่านี้ก็ต้องใช้ทักษะของเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยด้วยค่ะ


3. พนักงานโรงงานโลหะหรือพลาสติก



     ตอนนี้หลายโรงงานในต่างประเทศเป็นระบบอัตโนมัติกันเยอะแล้วนะคะ โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตโลหะหรือพลาสติก อย่างโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์ หรือโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่เห็นได้ชัดเลยก็เช่นโรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้าที่ประเทศญี่ปุ่นที่แทบจะใช้ระบบอัตโนมัติทำ 100% ค่ะ

     ในอนาคตก็จะต้องมีโรงงานอัตโนมัติเหล่านี้เพิ่มขึ้นแน่ๆ เพราะเจ้าของจะมองว่าระบบอัตโนมัติสามารถทำงานได้ตลอดเวลาแถมไม่ต้องการสวัสดิการใดๆ อีก ฉะนั้นแรงงานในโรงงานก็จะค่อยๆ ถูกแทนที่ไปเรื่อยๆ ค่ะ (แต่ในประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่ค่อยมีเทคโนโลยีก็จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า) ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ นั้น การแทนที่โดยเทคโนโลยียังไม่ชัดมากเท่าสองอุตสาหกรรมนี้ค่ะ ยังมีหลายส่วนในกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ฝีมือคนช่วยอยู่


4. พนักงานไปรษณีย์



     ปัจจุบันมีบริการขนส่งเอกชนหลายรายเลยค่ะที่เข้ามาทำตลาด ผู้บริโภคหลายรายก็หันมาเลือกส่งพัสดุผ่านบริษัทเอกชนแล้วด้วย ไหนจะมีระบบติดตามออนไลน์ที่ชัดเจน ใช้ง่าย นัดวันรับพัสดุได้ เลือกเวลาได้ บางทีก็มีโปรโมชั่นกับร้านค้าออนไลน์เก๋ๆ ด้วย จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้บริโภคจะหันมาเลือกใช้บริการ

     ส่วนการส่งจดหมายก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ ค่ะ ตอนนี้เรามีวิธีติดต่อสื่อสารกันที่ง่ายขึ้นมากมายแล้ว แค่มีโทรศัพท์ก็ทำได้ทุกอย่างแล้วจริงๆ บิลค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็มีโปรโมชั่นส่งทางอีเมลแล้วได้ส่วนลดค่าบริการอีก ในหลายประเทศก็ทยอยลดจำนวนพนักงานไปรษณีย์ลงอยู่ค่ะ แต่ถ้าเป็นประเทศที่เทคโนโลยียังไม่ค่อยเข้าถึงเยอะ ไปรษณีย์ก็ยังเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ของประเทศอยู่นะคะ


5. พนักงานบริษัททัวร์



     ยุคนี้ใครๆ ก็สามารถสืบค้นข้อมูลและวางแผนการท่องเที่ยวได้เองง่ายๆ แล้วค่ะ เข้าเว็บไซต์ดังทีนึงก็เจอรีวิวท่องเที่ยวเป็นล้านเลย เพจพาเที่ยวก็เยอะ จะเทียบราคาที่พักและตั๋วต่างๆ ก็ทำได้ไม่ยาก ซื้อตั๋วเครื่องบินก็ง่าย บางทีเว็บของสายการบินเองมีโปรเยอะกว่าซื้อกับเอเจนซี่ด้วยซ้ำ ฉะนั้นความต้องการใช้บริการเจ้าหน้าที่มาจัดทัวร์ให้ก็ค่อยๆ น้อยลงไปค่ะ

     แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอาชีพนี้จะหายวับไปเลยนะคะ เพราะยังไงก็มีหลายสถานที่ท่องเที่ยวที่ไปเองลำบากมากอยู่ค่ะ หรือถ้าจะจัดกรุ๊ปใหญ่ไปเที่ยว หรือมีเด็กกับผู้สูงอายุเดินทางไปด้วย การให้บริการของบริษัททัวร์ก็ยังเป็นที่ต้องการอยู่ค่ะ เพราะเขาสามารถมอบความสะดวกสบายให้ได้เยอะเลย


6. พนักงานขายทางโทรศัพท์



     พออ่านชื่ออาชีพนี้เชื่อว่าต้องมีหลายคนร้องดีใจอยู่เบาๆ ค่ะ เพราะหลายคนมักจะรู้สึกรำคาญพนักงานที่โทรมาเสนอขายอะไรทางโทรศัพท์อยู่แล้ว ยิ่งเดี๋ยวนี้มีหลายธุรกิจไม่อบรมเจ้าหน้าที่ให้มีคุณภาพมากพอด้วย ทำให้ผู้บริโภคที่รับสายรู้สึกไม่พอใจอย่างรวดเร็วเลยค่ะ

     การที่จำนวนคนตอบตกลงซื้อสินค้าหรือบริการทางโทรศัพท์ลดลง ส่งผลให้นายจ้างค่อยๆ ลดพนักงานฝ่ายนี้ลงด้วย หรือไม่ก็ให้พนักงานขายผ่านหลายช่องทาง ไม่ใช่แค่ใครดูแลเรื่องโทรศัพท์ก็โทรอย่างเดียวแบบสมัยก่อนค่ะ นอกจากนี้ยุคนี้ยังมีช่องทางการโฆษณาที่หลากหลายมากขึ้นด้วย อย่างการจ้างคนมารีวิวถึงเยอะๆ ก็เป็นวิธีโฆษณาที่มาแรงในยุคนี้เลยค่ะ


7. กรรมการหรือผู้ตัดสินกีฬา



     กีฬาหลายชนิดที่มีกฎตายตัวและตัดสินได้ด้วยภาพ อย่างกีฬาที่แข่งกันว่าใครถึงเส้นชัยก่อนนั้น ต่อไปอาจจะไม่ต้องใช้กรรมการหรือผู้ตัดสินที่เป็นมนุษย์แล้วค่ะ เพราะจะใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยแทน โดยติดกล้องไว้เยอะๆ และมีระบบแจ้งเตือนทันทีที่พบการทำผิดกฎ แถมไม่ต้องกังวลเรื่องการติดสินบนกรรมการด้วย

     แต่กีฬาที่ต้องใช้วิจารณญาณของกรรมการและผู้ตัดสิน ก็ยังมีอีกหลายชนิดนะคะ ซึ่งจะใช้หุ่นยนต์มาตัดสินแทนเลยก็ไม่ได้ค่ะ นอกจากนี้ก็ยังมีกระแสคัดค้านอยู่บ้างค่ะที่จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตัดสินให้เยอะขึ้น เพราะหลายคนบอกว่าจุดขายของกีฬายุคนี้คือขายดราม่า ฉะนั้นบางครั้งความผิดพลาดของผู้ตัดสินจะช่วยกระตุ้นดราม่าได้ดี (เอ๊ะ ฟังดูไม่น่าจะดีเลยนะคะ)


8. ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์



     ข้อนี้เหมารวมตั้งแต่พนักงานโรงพิมพ์ไปจนถึงเจ้าของหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารเลยค่ะ ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้ใครๆ ก็เข้าถึงข่าวสารได้ง่ายๆ เพียงแค่ออนไลน์เท่านั้น แถมรสนิยมผู้อ่านยุคนี้จะชอบอ่านอะไรที่เป็นคนที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้นๆ มาเขียนเองโดยตรง มากกว่าอ่านจากสื่อใหญ่ที่อาจจะโดนใครซื้อไปแล้วก็ได้ สังเกตจากการแชร์เฟซบุ๊กคนทั่วไปที่ให้ข้อมูลบางเรื่องแบบเชี่ยวชาญมากๆ มีคนอ่านเยอะกว่าข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ จนหนังสือพิมพ์ออนไลน์ยังต้องเอาเรื่องของคนนั้นมาทำข่าวอีกที

     ที่เห็นชัดเจนเลยคือการทยอยปิดตัวของสื่อใหญ่หลายแห่งค่ะ บางแห่งปิดส่วนปกติแล้วหันมาทำเวอร์ชันออนไลน์เต็มตัวก็มี แต่ก็ใช่ว่าโรงพิมพ์จะเจ๊งหมดนะคะ เพราะมีหลายอย่างที่คนยังนิยมอ่านจากหน้ากระดาษอยู่ค่ะ เช่นวรรณกรรมเรื่องดัง หนังสือที่ระลึก และหนังสือเรียนมากมาย


9. บรรณารักษ์



     แม้กระแสห้องสมุดจะกำลังมาแรงอยู่ หลายประเทศข่มกันโดยแข่งกันที่จำนวนห้องสมุดที่ประชาชนเข้าถึงได้ เพื่อแสดงออกถึงความเจริญของประเทศ แต่สำหรับห้องสมุดขนาดเล็กหลายแห่ง ตอนนี้เริ่มปิดตัวกันแล้วค่ะ บ้างก็เปิดอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคและการทำงานของอาสาสมัครที่ช่วยมาเป็นบรรณารักษ์ให้ เพราะห้องสมุดขนาดเล็กก็มักมีหนังสือที่ไม่มากและหลากหลายพอจะตอบโจทย์ผู้อ่านในท้องถิ่นได้ บางคนอาจจะอ่านหมดห้องสมุดนั้นแล้วด้วยก็ได้ เมื่อรู้สึกว่าไปแล้วก็ไม่มีอะไรให้อ่าน ผู้อ่านก็เลือกอ่านออนไลน์เอา หรือสั่งซื้อหนังสือมาเองเลยเพราะสมัยนี้ไม่ได้หาซื้อหนังสือยากแล้ว

     เมื่อจำนวนห้องสมุดลดลง ความต้องการบรรณารักษ์ก็ลดลงด้วยค่ะ บางที่แค่จ้างคนมาเฝ้าห้องสมุดเฉยๆ แต่ไม่ต้องมีความรู้เฉพาะทางก็ได้ เพราะผู้ใช้บริการก็ไม่ค่อยจะถามอะไรจากบรรณารักษ์แล้ว จึงลดรายจ่ายโดยไม่จ้างบรรณารักษ์ตัวจริงมาค่ะ บรรณารักษ์ตัวจริงเองก็ต้องหันไปทำอาชีพอื่น เพราะค่าจ้างจากห้องสมุดก็ไม่สูงเท่าไหร่แล้วด้วย

     อีกสาเหตุนึงคือเรื่องของเทคโนโลยีค่ะ เรื่องแรกคือมีห้องสมุดออนไลน์หลายแห่งแล้วทั่วโลก อีกเรื่องคือมีห้องสมุดหลายแห่งที่ใช้ระบบยืม-คืนหนังสืออัตโนมัติ และอีกไม่นานก็น่าจะมีระบบจัดเก็บหนังสืออัตโนมัติกันโดยทั่วไป ทำให้ความต้องการบรรณารักษ์ลดลงไปด้วยค่ะ


10. ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย



     เดี๋ยวค่ะ! อย่าเพิ่งค้าน ฟังพี่ก่อน จริงอยู่ค่ะว่าตอนนี้โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว หลายคนก็คลิกอ่านบทความนี้มาจากโซเชียลมีเดียใช่มั้ยล่ะ ตอนนี้ก็มีกูรูเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียมากมาย ไหนจะสอนขายของผ่านเฟซบุ๊ก สอนทำเพจ สอนเทคนิคทำโฆษณาลงโซเชียลมีเดีย และกูรูอีกมากมายหลายด้านค่ะ

     แต่ถ้ามองดีๆ ก็จะเห็นว่า อีกไม่นานทักษะด้านโซเชียลมีเดียก็จะกลายเป็นอะไรที่ใครๆ ก็ทำได้ ไม่ใช่ทักษะเฉพาะทางที่บริษัทต้องจ้างมาเป็นตำแหน่งพิเศษอีกแล้วค่ะ เพราะผู้ใช้อายุน้อยในตอนนี้ก็น่าจะค่อยๆ สังเกตแนวทางต่างๆ เก็บข้อมูลเอาไว้ และสั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ พอถึงเวลาที่ต้องทำงานในอนาคต ไม่ว่าจะทำงานอะไรตำแหน่งไหน ก็จะกลายเป็นว่ามีทักษะการใช้โซเชียลมีเดียแบบให้เกิดประโยชน์กันทุกคนเลยค่ะ ทำให้ไม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอีกแล้ว


แล้วเหลืองานอะไรให้ทำบ้าง


     จริงๆ มีอีกหลายงานเลยนะคะที่กำลังค่อยๆ หายไปค่ะ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดพบว่าในอีก 25 ปีข้างหน้านั้น อาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันจะลดลง 47% ในประเทศพัฒนาแล้วค่ะ อันนี้รวมทั้งกลุ่มอาชีพผู้ใช้แรงงานและพนักงานเงินเดือนเลยค่ะ ซึ่งตัวการหลักที่ทำให้อัตราการจ้างงานลดลงก็คือเทคโนโลยีนี่แหละ

     แต่ก็ไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีมันตัดทางทำมาหากินนะคะ สมัยก่อนโน้นนนนนที่ยังไม่มีเทคโนโลยีอะไร ก็มีอาชีพมนุษย์นาฬิกาปลุกที่เดินเคาะหน้าต่างแต่ละบ้านตามเวลาที่ถูกจ้างมาเพื่อปลุกให้ไปทำงาน มีอาชีพพนักงานสลับสายโทรศัพท์ประจำแต่ละชุมทาง หรืออาชีพจัดเรียงหน้าหนังสือเพื่อพิมพ์โดยต้องวางบล็อกทีละตัวอักษร แต่แล้วอาชีพเหล่านี้ก็หายไปเพราะเรามีเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนค่ะ ซึ่งในขณะเดียวกันมันก็ก่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ด้วย เช่นช่างซ่อมนาฬิกา พนักงานในบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือพนักงานบริษัทเครื่องพรินต์เทอร์

     มีรายงานวิจัยจากบริษัท Dell ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่รายหนึ่ง ระบุว่า 85% ของอาชีพที่จะสามารถทำได้ในปี พ.ศ. 2573 เป็นอาชีพที่ยังไม่มีตอนนี้ด้วยซ้ำ ฉะนั้นเทคโนโลยีก็น่าจะสร้างงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกค่ะ แต่คุณสมบัติหลักๆ ที่ทุกงานในอนาคตน่าจะต้องการก็คือความยืดหยุ่นและความพร้อมจะเปลี่ยนหน้าที่ในงานได้เรื่อยๆ ค่ะ

     ส่วนใครที่สงสัยว่าแล้วจะเหลืองานอะไรให้ทำบ้าง ถ้าบอกเป็นอาชีพๆ ไปเลยก็ยากค่ะ เอาเป็นภาพรวมดีกว่าเนอะ


     กลุ่มแรกคืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ส่วนบุคคลค่ะ เพราะเป็นสิ่งที่คอมพิวเตอร์สู้ไม่ได้ เช่น ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่นักวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ ล้วนเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ บวกกับทักษะการพลิกแพลงสิ่งต่างๆ ค่ะ เพราะมนุษย์ด้วยกันเองยังไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้เลย

     กลุ่มที่สองคืองานที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันของคนค่ะ เพราะการมีปฏิสัมพันธ์หรือสร้างความเข้าอกเข้าใจกัน ยังเป็นอะไรที่คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้ค่ะ เช่น หมอ พยาบาล หรืออาชีพสายธุรกิจที่ต้องใช้การสื่อสารกับลูกค้าเป็นหลัก

     กลุ่มสุดท้ายคืองานที่เกี่ยวกับสิ่งไม่คาดฝันค่ะ ประมาณว่าเหตุจะเกิดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ต้องใช้คนช่วยตัดสินใจแบบปุบปับ เช่น บริการแพทย์ฉุกเฉิน ช่างประปา หรือช่างไฟฟ้า เพราะเป็นงานที่คาดเดาเวลางานล่วงหน้าไม่ได้ และหน้างานจริงอาจมีอะไรที่ไม่ได้โปรแกรมมาก่อนเกิดขึ้นได้มากมายเลยด้วย


     ถ้ารู้เทรนด์อาชีพในอนาคตก่อน ก็น่าจะช่วยให้เลือกเรียนได้ตรงกับสายงานที่เป็นที่ต้องการนะคะ เพราะจากผลการศึกษาขององค์กรเพื่อเยาวชนออสเตรเลียในปี พ.ศ. 2558 พบว่า 60% ของเยาวชนในออสเตรเลียกำลังเรียนรู้เพื่อไปทำงานที่อีก 10-15 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นงานที่ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติทำล้วนๆ ค่ะ ก็เหมือนกับฝึกฝีมือไปเสียเปล่าเลย ฉะนั้นอย่าลืมมองการณ์ไกลกันไว้ด้วยนะคะ

อ้างอิง
bigthink.com
www.careeraddict.com
www.independent.co.uk
www.cheatsheet.com
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
Akitan~ Member 5 ม.ค. 61 10:11 น. 2

ไม่คิดว่ามันจะหายไปหรอกนะคะ ถ้าหายคงเป็นเฉพาะในเมืองที่เจริญมากๆในบางประเทศแค่นั้น ซึ่งในไทยคงเป็นไปไม่ได้555 อย่างไปรษณีย์นี่ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่เลย เพราะไม่ใช่แค่ส่งจม.หรือพัสดุให้เรานะ แต่พวกธุรกิจธนาคารหรือบริษัทอื่นๆที่เค้าจะส่งใบแจ้ง ใบโปรแบบเหมาด้วย ยังไม่เคยเห็นบริษัทขนส่งเอกชนไหนที่รับทำนะ เพราะมันอยู่ที่ความน่าเชื่อถือของขนส่งด้วย แล้วสมมติบ้านอยู่ในหลืบในป่าในเขา เอดชนเขาไม่ส่งให้หรอก มีแต่รัฐนั่นแกละที่จะยอมไปส่งให้นะจ๊ะ ถูกกว่าด้วย555

0
กำลังโหลด
Miran/Licht Member 11 ม.ค. 61 09:20 น. 3

ขอแย้งเรื่องไปรษณีย์ค่ะ


ถ้าเฉพาะเรื่องจดหมายน้อยลง ใช่ค่ะ แต่ปัจจุบันการขายของทางออนไลน์ทำให้ธุรกิจขนส่งทางไปรษณีย์เฟื่องฟูนะคะ ไปรษณีย์เอกชนถึงได้เพิ่มขึ้นในบ้านเราเยอะ ขนาดไปรษณีย์แมวดำ (จากญี่ปุ่น) ยังร่วมกับ SCG เปิดบริการทางนี้เลยค่ะ นิ่มชี่เส็งที่โด่งดังจากภาคเหนือยังขยายบริการทั่วไทย มีกระทั่งรถห้องเย็น สามารถส่งผักปลอดภัยถึงบ้านลูกค้าได้โดยยังคงความสดของผัก


และการไปรษณีย์ไทยบ้านเราคงไม่ตายง่ายๆ แม้เราจะบ่นเรื่องการบริการก็ตาม เพราะสินค้าบางตัวที่ไม่ต้องการความระมัดระวังในการส่งยังมีอีกมากมาย แถมรายต่อสาขาต่อวันยังสูงจนน่าตกใจเลยเชียวล่ะค่ะ ทั้งบริการเหมาจ่ายเป็นรายเดือน ซึ่งหลายๆ ส่วนไปรฯไทยยังกินขาดด้านบริการที่น้ำท่วมก็ยังไปส่งได้อยู่นะคะ ถ้าไปรฯเอกชนคงไม่รับ แต่ตจว.หลายๆ ที่ไปรฯไทย ก็น่าเตะมากส่งกล่องใบใหญ่ไปให้มารับเอง (บ้านที่เชียงใหม่) ตอนแรกไม่รู้นะจนลูกพี่ลูกน้องบอกมาว่าเห็นกล่องใหญ่มันไม่มาส่ง ให้ไปรับเอง แต่ตอนนี้คงเปลี่ยนแล้วมั้ง

0
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Akitan~ Member 5 ม.ค. 61 10:11 น. 2

ไม่คิดว่ามันจะหายไปหรอกนะคะ ถ้าหายคงเป็นเฉพาะในเมืองที่เจริญมากๆในบางประเทศแค่นั้น ซึ่งในไทยคงเป็นไปไม่ได้555 อย่างไปรษณีย์นี่ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่เลย เพราะไม่ใช่แค่ส่งจม.หรือพัสดุให้เรานะ แต่พวกธุรกิจธนาคารหรือบริษัทอื่นๆที่เค้าจะส่งใบแจ้ง ใบโปรแบบเหมาด้วย ยังไม่เคยเห็นบริษัทขนส่งเอกชนไหนที่รับทำนะ เพราะมันอยู่ที่ความน่าเชื่อถือของขนส่งด้วย แล้วสมมติบ้านอยู่ในหลืบในป่าในเขา เอดชนเขาไม่ส่งให้หรอก มีแต่รัฐนั่นแกละที่จะยอมไปส่งให้นะจ๊ะ ถูกกว่าด้วย555

0
กำลังโหลด
Miran/Licht Member 11 ม.ค. 61 09:20 น. 3

ขอแย้งเรื่องไปรษณีย์ค่ะ


ถ้าเฉพาะเรื่องจดหมายน้อยลง ใช่ค่ะ แต่ปัจจุบันการขายของทางออนไลน์ทำให้ธุรกิจขนส่งทางไปรษณีย์เฟื่องฟูนะคะ ไปรษณีย์เอกชนถึงได้เพิ่มขึ้นในบ้านเราเยอะ ขนาดไปรษณีย์แมวดำ (จากญี่ปุ่น) ยังร่วมกับ SCG เปิดบริการทางนี้เลยค่ะ นิ่มชี่เส็งที่โด่งดังจากภาคเหนือยังขยายบริการทั่วไทย มีกระทั่งรถห้องเย็น สามารถส่งผักปลอดภัยถึงบ้านลูกค้าได้โดยยังคงความสดของผัก


และการไปรษณีย์ไทยบ้านเราคงไม่ตายง่ายๆ แม้เราจะบ่นเรื่องการบริการก็ตาม เพราะสินค้าบางตัวที่ไม่ต้องการความระมัดระวังในการส่งยังมีอีกมากมาย แถมรายต่อสาขาต่อวันยังสูงจนน่าตกใจเลยเชียวล่ะค่ะ ทั้งบริการเหมาจ่ายเป็นรายเดือน ซึ่งหลายๆ ส่วนไปรฯไทยยังกินขาดด้านบริการที่น้ำท่วมก็ยังไปส่งได้อยู่นะคะ ถ้าไปรฯเอกชนคงไม่รับ แต่ตจว.หลายๆ ที่ไปรฯไทย ก็น่าเตะมากส่งกล่องใบใหญ่ไปให้มารับเอง (บ้านที่เชียงใหม่) ตอนแรกไม่รู้นะจนลูกพี่ลูกน้องบอกมาว่าเห็นกล่องใหญ่มันไม่มาส่ง ให้ไปรับเอง แต่ตอนนี้คงเปลี่ยนแล้วมั้ง

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด