"โรคคาโรชิ" ปัญหาเรื้อรังของสังคมญี่ปุ่นเมื่อคนทำงานหนักจนตาย!

      สวัสดีค่ะชาว Dek-D … หลายๆ คนคงเห็นแล้วว่าปัจจุบันนี้คนทำงานส่วนใหญ่หันมาตระหนักถึงความสำคัญของ Work-Life Balance กันมากขึ้น ซึ่งหากจะพูดกันตามตรง จุดสมดุลระหว่างหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวของแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกันออกไป แต่ถึงอย่างนั้นประเทศญี่ปุ่นกลับมีปัญหาคนเสียชีวิตเพราะทำงานหนักเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “โรคคาโรชิ” เลยค่ะ เพราะฉะนั้นวันนี้ พี่เยลลี่ จะพาน้องๆ ไปดูว่าเจ้าโรคที่ว่านี้เป็นยังไงกันแน่ และคนญี่ปุ่นเค้าทำงานกันหนักขนาดไหนถึงขั้นเสียชีวิตปีละเป็นพันรายแบบนี้ พร้อมแล้วไปหาคำตอบด้วยกันดีกว่าค่ะ!  

 
       หากพูดถึงประเทศที่คนทำงานหนักแล้วล่ะก็ เชื่อว่าหลายๆ คนต้องนึกถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับแรกๆ อย่างแน่นอน แม้ในความเป็นจริงอัตราค่าเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานต่อปีของคนญี่ปุ่นจะน้อยกว่าคนเม็กซิโกถึง 500 ชั่วโมง แต่ในภาษาญี่ปุ่นกลับมีคำว่า “คาโรชิ” (過労死) ที่หมายถึงการเสียชีวิตจากการทำงานหนักโดยเฉพาะเลยล่ะค่ะ ที่น่าตกใจคือจำนวนคนที่เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวมีมากกว่าที่คิด อย่างในปีงบประมาณ 2015-2016 มีสถิติผู้เสียชีวิตถึง 1,456 รายเลยด้วยซ้ำ!
 

Photo Credit: https://pixabay.com/
 
       โรคคาโรชิไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังมานี้อย่างที่หลายคนเข้าใจ ศัพท์คำนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1978 แล้วค่ะ ก่อนที่จะถูกนำมาใช้เรียกอย่างแพร่หลายในปี 1982 เพราะมีผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 1988 ได้มีการสำรวจการทำงานในบริษัทญี่ปุ่น พบว่าเกือบ 1 ใน 4 ของพนักงานชายทำงานมากถึง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง) ในขณะที่เวลาทำงานปกติกำหนดไว้แค่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น เท่ากับว่าถ้าต้องทำแบบนี้ทุกอาทิตย์เป็นเวลาตลอดทั้งเดือน จะต้องทำงานเพิ่มขึ้นถึง 80 ชั่วโมงเลยค่ะ ที่สำคัญบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่จ่ายค่าทำงานล่วงเวลาให้ด้วย ถือว่าโหดมากๆ T _ T
 
       โดยทั่วไปคนที่เสียชีวิตด้วยโรคคาโรชิจะมีสาเหตุมาจากอาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือหัวใจวายเฉียบพลัน โดยไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้ามาก่อน ดูเหมือนจะเป็นอาการที่น่าจะเกิดกับผู้สูงอายุใช่มั้ยล่ะคะ แต่ความจริงแล้วมีหลายเคสเลยที่ผู้เสียชีวิตอายุยังไม่ถึง 30 เลยด้วยซ้ำ อย่างเคสที่เป็นข่าวดังมากๆ เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2013 หลังจากที่ “มิวะ ซาโดะ” ผู้ประกาศข่าวอายุ 31 ปี จากช่อง NHK ของญี่ปุ่น ถูกพบว่าเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย โดยที่ในมือของเธอยังคงกำโทรศัพท์มือถือเอาไว้ด้วยซ้ำค่ะ เมื่อมีการตรวจสอบก็พบว่าในเดือนนั้นทั้งเดือนเธอทำงานล่วงเวลาไปถึง 159 ชั่วโมง และได้หยุดพักเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น 
 

คนญี่ปุ่นออกมาประท้วงเรื่องการทำงานล่วงเวลา
Photo Credit: http://fortune.com/

 
      ที่สำคัญคือไม่ใช่เพียงแค่อาการทางร่างกายเท่านั้นนะคะ แต่โรคคาโรชิยังนับรวมไปถึงความเครียดและความกดดันทางจิตใจที่เกิดจากการทำงาน จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด ซึ่งกรณีแบบนี้ก็มีมากอีกเช่นกัน อย่างเคสของ "มัตสึริ ทาคาฮาชิ" วัย 24 ปี ที่ฆ่าตัวตายในเดือนเมษายน ปี 2015 ข่าวนี้ถือเป็นอีกข่าวดังมากๆ ในญี่ปุ่นเลยค่ะ เพราะเธอเป็นพนักงานของบริษัทเดนสึ เอเจนซี่โฆษณาขนาดใหญ่ของประเทศ หลังจากที่มีการตรวจสอบก็พบว่าเธอถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลากว่า 100 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งไม่ใช่เวลาแค่เดือนสองเดือนเท่านั้นนะคะที่เธอต้องทนในสภาพนี้ ก่อนหน้านั้นประมาณเดือนธันวาคม เธอได้โพสต์ลงโซเชียลมีเดียว่า “ชั้นอยากตาย” พร้อมกับอีกข้อความที่ระบุว่า “ทั้งร่างกายและจิตใจชั้นแตกเป็นเสี่ยงๆ” ก่อนที่จะฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา 

 

“Black Company” บริษัทมืดที่บังคับให้พนักงานทำงานทั้งวันทั้งคืน

       ความจริงแล้วอาจพูดได้ว่าอุปนิสัยของญี่ปุ่นเองก็เป็นปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้เกิดโรคคาโรชิเช่นกัน เพราะคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังให้เห็นถึงประโยชน์ส่วนรวมก่อนประโยชน์ส่วนตัว แถมยังให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสในบริษัทสุดๆ ยิ่งบริษัทไหนที่มีความเป็นญี่ปุ่นจ๋ามากๆ ผู้บริหารระดับสูงแทบจะขึ้นหิ้งเป็นพระเจ้าเลยค่ะ ส่วนคนเป็นลูกน้องก็ต้องก้มหน้าก้มตาเชื่อฟังโดยไม่สามารถมีปากมีเสียงได้ ซึ่งจุดอ่อนตรงนี้เองที่ทำให้เกิด “Black Company” เป็นจำนวนมาก อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือบรรดาบริษัทมืดที่ใช้งานลูกน้องอย่างหนักโดยให้ค่าตอบแทนที่ไม่สมเหตุสมผลนั่นเอง
 
       ส่วนใหญ่แล้วกว่าที่พนักงานจะรู้ว่าบริษัทเป็น Black Company ก็คือตอนที่หลวมตัวเข้าไปทำงานแล้วนั่นแหละค่ะ แถมการจะลาออกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเจ้าของบริษัทมืดเหล่านี้มักหยิบยกข้อผูกมัดต่างๆ มาใช้ข่มขู่พนักงานให้อยู่ต่อ หลายๆ คนจึงต้องอดทนทำงานต่อไปในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ซึ่งสุดท้ายแล้วก็มีหลายเคสเลยค่ะที่เลือกจบปัญหานี้ด้วยการฆ่าตัวตายแทน
 

Photo Credit: https://medium.com/
 
       แต่ไม่ได้หมายความว่าบริษัทที่พนักงานต้องทำงานหนักหรือทำงานล่วงเวลาจะเป็นบริษัทมืดไปหมดนะคะ เพราะมันมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก เราไปดูดีกว่าว่าการกระทำแบบไหนที่เข้าข่ายพวก Black Company 
 
       - ไม่จ่ายเงินค่าทำงานล่วงเวลาให้: ปกติแล้วถ้าพนักงานทำงานล่วงเวลาจะต้องได้รับเงินค่า OT แต่ในกรณีของ Black Company จะไม่มีการจ่ายเงินให้ แม้ว่าจะบังคับให้พนักงานทำงานล่วงเวลาไป 80 ชั่วโมงก็ตามค่ะ  
 
       - เงินเดือนไม่สมเหตุสมผล: Black Company จะให้เงินเดือนแบบที่ไม่สมเหตุสมผลกับตัวงานที่ต้องทำ เช่น จ่ายเงินเดือนเท่าค่าแรงขั้นต่ำแต่ต้องทำตั้งแต่ไม่จิ้มฟันยันเรือรบ
 
       - ใช้อำนาจข่มขู่: ในกรณีนี้อาจเป็นการไม่ให้เกียรติพนักงานและใช้คำพูดรุนแรง รวมไปถึงพูดจาข่มขู่ เช่น ทำไม่ไหวเหรอ ไปตายซะสิ
 
       - ตั้งเป้าหมายเกินจริง: โดยทั่วไปแต่ละบริษัทจะต้องตั้งเป้าหมายในการทำงานเอาไว้เสมอ แต่บริษัทมืดจะตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ยากหรือเกินจริง ทำให้พนักงานต้องทำงานหนักเพื่อให้บรรลุผล
 
       - ล้างสมอง: เหล่าหัวหน้าจะคอยกรอกหูพนักงานว่ากฎเกณฑ์ของบริษัทนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมอยู่แล้ว หรือบางครั้งก็ให้ความหวังลมๆ แล้งๆ กับพนักงานว่าถ้าทำงานหนักจะได้เลื่อนตำแหน่งหรือได้เงินเดือนมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วก็โกหกทั้งเพ
 

Black Company ในประเทศญี่ปุ่น
Photo Credit: www.blackcorpmap.com 

 
       และเพื่อป้องกันไม่ให้คนเผลอสมัครงานหรือถูกหลอกเข้าไปทำงานในบริษัทแบบนี้ จึงมีการสร้างเว็บไซต์ระบุว่าบริษัทไหนเป็น Black Company โดยเฉพาะ ใครที่กำลังหางานที่ญี่ปุ่นก็สามารถเปิด www.blackcorpmap.com เพื่อเช็กก่อนได้เลย สัญลักษณ์หัวกะโหลกที่เห็นนั้นคือที่ตั้งของ Black Company นั่นเอง เยอะมากๆ เลยค่ะ T _ T

 
       แม้การทุ่มเทให้กับงานจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ควรจะมีลิมิตที่เหมาะสมนะคะ เพราะท้ายที่สุดแล้วก็มีแค่เราที่ต้องรับผลจากการที่สุขภาพกายหรือสุขภาพใจพังไปกับงาน ไม่ใช่แค่เรื่องงานเท่านั้น แต่น้องๆ ชาว Dek-D ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนก็เช่นกัน อย่าหักโหมกับการเรียนมากจนเกินพอดีนะคะ ถ้าหากรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว การปรึกษานักจิตวิทยาก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน เป็นกำลังใจให้ค่ะ ^^ 

 
Sources:
พี่เยลลี่
พี่เยลลี่ - Columnist อักษรศาสตร์ เอกมโน โทติ่ง หิวชานมตลอดเวลาและเป็นทาสลูกน้องแมว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

6 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ณรรรรรรนาาาาส้เเ 20 ต.ค. 62 09:36 น. 4

วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่น ไม่ได้ดีอย่างที่เราคิิดฝันกันหรอก ญี่ปุ่นเพิ่มหลุดรอดจากสงคามโลกครั้งที่2มา ดังนั้นการพัฒนาหลายอย่างที่เห็นจึงมาแบบฉาบฉวย คนที่ไม่รู้ก็คิดว่าดี จริงๆแล้วบริหารงานเหมือนเด็กเล่นขายของก็เยอะ นิสัยส่วนตัวแย่ๆก็มาก เคารพในความอาวุโส ตำแหน่งมากเสียจนคิดอ่านไม่เป็น ไม่กล้าคิดนอกกรอบ ไม่กล้านำเสนอ จนเห็นผิดเป็นถูก หาความคิดใหม่ๆไม่มีได้แค่สำเนาของเดิมที่เคยทำมาใช้ ประยุกต์อะไรไม่เป็น ดังนั้นจึงหาความสามารถได้ยากในคนญี่ปุ่นรุ่นเก่า ดีขึ้นมาบ้างสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไปเรียนมาจากฝั่งตะวันตก คนไทยที่ไม่เก่ง ไม่เคยคิดอ่าน ก็มักจะมองว่าญี่ปุ่นเก่ง ดี... บอกเลยคุณคิดผิด

0
กำลังโหลด
Ddd 20 ต.ค. 62 09:42 น. 5

นิสัยเบื้องลึกของคนญี่ปุ่นไม่ใช่คนดีนัก มันจึงกดดัน โกหก หลอกลวงกันเองจนตาย

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

เคยฆ่าเขาไว้เยอะตอนสงครามโลกครั้งที่2 ตอนนี้มันก็ฆ่ากันเองด้วยงาน มากรายที่ตายด้วยภัยพิบัด... เคยทำอะไรกับประชากรโลกไว้ก็ได้รับกรรมกันไป

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด