เปิดปมข่าวสลด 'นักเรียนอินเดียฆ่าตัวตาย' ระบบการศึกษาหรือครอบครัวกดดัน?

        สวัสดีครับน้องๆ ชาว Dek-D … ช่วงนี้อาจจะมีน้องๆ หลายคนที่กำลังรอยื่น TCAS เพื่อสมัครเข้ามหาวิทยาลัยกันอยู่ไม่น้อย ต้องบอกว่าแต่ละรอบก็มีการแข่งขันกันไม่เบาเลยทีเดียว ยิ่งนับวันการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้นยิ่งมีการแข่งขันสูง ถ้าใครอยากได้ที่เรียนดีๆ หรือคณะที่มีคนสอบเข้าเยอะ ก็อาจจะต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อให้ได้เรียนในคณะที่ฝัน 
 
       และไม่ใช่แค่ที่ประเทศไทยที่เดียว ในหลายๆ ประเทศก็มีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างดุเดือดไม่แพ้กัน คราวก่อน พี่วุฒิ เคยเล่าเรื่องการสอบเข้าของ 4 ประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดในโลกไปแล้ว แต่นอกจากประเทศเหล่านั้น น้องๆ รู้มั้ยครับว่าประเทศอินเดียก็มีระบบการศึกษาดีไม่แพ้ใครเลยล่ะ เรียกว่ามีระบบการศึกษาใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐฯ เลยทีเดียว และด้วยความที่เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรเยอะ แน่นอนว่าการแข่งขันก็ยิ่งสูง และถึงแม้ว่าจะเลื่องลือในเรื่องการศึกษา แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าความจริงแล้วมันยังมีปัญหาใหญ่ๆ ที่ชาวอินเดียนั้นเผชิญมาหลายต่อหลายปี....

 
         ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการประกาศผลสอบวัดมาตรฐานระดับรัฐเตลังคานา ของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นการสอบใหญ่ที่นักเรียนนำผลสอบเพื่อไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัยที่ตัวเองใฝ่ฝัน นักเรียนอินเดียหลายคนทุ่มเทกับการสอบครั้งนี้มาก ก็แน่ล่ะ เพราะคะแนนที่ได้มันอาจเป็นตัวชี้อนาคตของพวกเค้า ใครๆ ก็คงอยากได้คะแนนดีๆ กันทั้งนั้น ในช่วงที่ผ่านมาเด็กหลายคนต่างใช้เวลาเพื่ออ่านหนังสือกันอย่างหนักหน่วง บางคนก็เลือกที่จะเรียนพิเศษกวดวิชา แต่ต้องบอกว่าเด็กที่อินเดียส่วนใหญ่นั้นมักจะเรียนที่ Junior College เพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยกันอยู่แล้ว ทางสถาบันหลายแห่งก็จะมีระเบียบวิธีการสอนที่เข้มข้น เพื่อเคี่ยวเข็ญเพื่อส่งนักเรียนของสถาบันตัวเองนั้นไปถึงฝั่งฝัน 
 

Photo Credit: Express News Service / Vinay Madapu
 
          แต่หลังจากการประกาศผลสอบในครั้งนี้กลับมีเรื่องราวน่าสลดใจเกิดขึ้น เพราะว่าภายใน 1 สัปดาห์หลังจากที่เด็กนักเรียนรู้ผลสอบของตัวเอง หลายคนผิดหวังในคะแนนที่ได้รับ จนนำไปสู่เหตุฆ่าตัวตายนับ 20 รายภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เรียกว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจอย่างมากจนหลายภาคส่วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่อย่างไรก็ตามเด็กนักเรียนและผู้ปกครองหลายคนก็พบว่าผลคะแนนสอบในครั้งนี้มันมีความผิดปกติ เพราะว่าเด็กบางคนกลับไม่ได้คะแนนสักคะแนน มิหนำซ้ำบางคนยังถูกลิสต์รายชื่อว่าขาดสอบทั้งที่ตัวเองก็เข้าสอบ และจากความผิดปกติครั้งนี้ก็ได้รับการตรวจสอบอีกครั้ง และพบว่าระบบซอฟต์แวร์ในการตรวจคะแนนนั้นทำงานผิด รวมถึงมีการระบุตัวตนของนักเรียนก็ไม่ถูกต้องอีกด้วย จึงทำให้คะแนนที่ได้นั้นไม่เป็นธรรมอย่างที่เห็น แต่นั่นก็เหมือนจะสายไปสำหรับนักเรียนหลายคน เพราะพวกเค้าได้จากโลกนี้ไปแล้ว 
 
        อย่างไรก็ตามจากการฆ่าตัวตายของนักเรียนอินเดีย ถึงแม้ว่าการคำนวณคะแนนที่มีความผิดพลาดอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุสลดครั้งนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยตัววัฒนธรรมและระบบการศึกษาของอินเดียนั้นก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้หลายคนเลือกจบชีวิตตัวเอง เพราะว่าทั้งตัวระบบรวมถึงตัวครอบครัวของนักเรียนนั้นก็ได้สร้างความกดดันไม่น้อยกับเด็กๆ จะเห็นได้ว่าหลายคนนั้นมีความเครียดสะสมจากการแบกรับความกดดันจนมากเกินไป รวมถึงความคาดหวังจากบุคคลรอบข้างที่ต่างหวังว่าพวกเค้าจะสอบเข้าเรียนได้อันดับดีๆ 
 

Photo Credit: Pixabay
 
         ถ้าหากมองย้อนไปแล้ว การฆ่าตัวตายของนักเรียนนั้นไม่ได้เพิ่งมีปีนี้ปีแรก แต่มันมีมาตลอดตั้งแต่ปี 2001 ที่พบปัญหาคล้ายๆ กัน และเคยมีสถิติจากทางภาครัฐอินเดียที่รวบรวมเอาไว้ ซึ่งพบว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักเรียนตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เป็นเพราะว่าได้รับความกดดันจากครอบครัว 
 
        ศาสตราจารย์ Neerada Reddy อดีตรองประธานสภารัฐกิจรัฐอานธรประเทศ ระดับอุดมศึกษา ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ พร้อมบอกว่าปัญหาที่เคยเจอเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ตอนนี้มันก็ยังคงเหมือนเดิม เธอบอกว่ามีครั้งหนึ่งที่เธอและคณะกรรมการทีมงานของเธอได้ออกไปสำรวจทั่วไฮเดอราบัด เมืองหลวงของรัฐอานธรประเทศ รวมถึงรัฐเตลังคานาและพื้นที่ใกล้เคียง เธอพบว่าเด็กนักเรียนในสถาบัน Junior college หลายแห่งในเมืองนี้มีการเรียนกันอย่างหนักหน่วง ส่วนใหญ่แล้วเรียนตั้งแต่รุ่งเช้ายันค่ำ บางคนเรียนจนถึงดึกก็มี 
 
         "พวกเราเจอเด็กนักเรียนนอนอยู่ในโฮสเทล สภาพเหนื่อยล้าหลังจากเรียนตั้งแต่เช้ายันดึกดื่น พร้อมกับกระบอกน้ำวางไว้ข้างกาย พวกเค้าไม่มีเวลาได้ทำกิจกรรมบันเทิงเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หรือแม้แต่ตอนกินข้าว จะเห็นว่าในโรงอาหารของสถาบันมักมีป้ายหรือทีวีเปิดไว้ พร้อมมีข้อความติดเตือนไว้ตลอดเวลาว่าพวกเค้าต้องเรียนให้หนักมากขึ้น"
 

Photo Credit: Unsplash
 
        นอกจากนี้แล้ว junior college เอกชนในหลายๆ แห่ง มีการเรียนการสอนแบบสถาบันกวดวิชาที่โฟกัสแค่เรื่องการทำคะแนนเท่านั้น และสร้างความกดดันให้กับเด็กให้นึกถึงแต่เรื่องอันดับดีเยี่ยม รวมถึงปลูกฝังว่าต้องสอบติดในมหาวิทยาลัยดีๆ แทนที่จะเป็นสถานศึกษาให้ความรู้ แต่กลับกลายเป็นค่ายที่สร้างความกดดันเรื่องคะแนนสอบซะมากกว่า 
 
       “แทนที่จะให้เด็กๆ ได้มีเวลาเป็นของตัวเอง ได้ไปทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แต่พวกเค้ากลับต้องมานั่งติวหนังสือหามรุ่งหามค่ำ ไม่มีการสอบแอดมิชชั่นที่ไหนในโลกเหมือนที่อินเดียอีกแล้ว การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ไม่มีที่ไหนบ้าคลั่งเหมือนกับที่พวกเราทำกับเด็กๆ”
 
       นอกจากนี้แล้วเธอยังพบอีกว่าหลายสถาบันนั้นมีค่าเรียนที่สูงมากกก สูงเกินเรื่องเกินราว อีกทั้งยังมีระบบลงโทษนักเรียนที่โหดและทำร้ายจิตใจเด็กสุดๆ คือ ถ้านักเรียนคนไหนที่มีผลการเรียนต่ำลง ทางสถาบันจะจัดให้ไปเรียนในคลาสที่ต่ำกว่า (คล้ายๆ ซ้ำชั้น) ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ได้สนจิตใจของเด็กแม้แต่น้อย เพียงแค่คิดว่าการกดดันนี้จะทำให้เด็กฮึดสู้มากขึ้น แต่ถ้ามองดีๆ แล้ว วิธีนี้มันก็เหมือนเป็นการกระทำที่บอกว่า พวกเค้าเห็นเด็กเหล่านี้เป็นเพียงแค่ของเล่นเท่านั้น  
 

Photo Credit: Unsplash
 
        ข้ามมาที่ฝั่งผู้ปกครองหรือครอบครัวของนักเรียน แน่นอนว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความกดดันนี้ Neerada Reddy พบว่านักเรียนหลายคนรู้สึกเครียดที่ต้องแบกรับความกดดันอย่างมาก โดยเฉพาะตอนที่ต้องมาติวหนังสือที่สถาบัน อีกทั้งหลายคนมักโดนคำตำหนิสารพัดจากครอบครัวหากทำไม่ได้ดั่งที่หวัง 
 
        "ทั้งสถาบันและครอบครัวของเด็กๆ ต่างกดดันและใช้คำพูดตำหนิพวกเค้าอยู่เสมอ ทางสถาบันก็เห็นแก่เงินอยู่แล้ว ส่วนทางครอบครัวก็กดดันอยากให้เด็กๆ มีอันดับและสอบติดที่ดีๆ แต่ก็ปล่อยให้เด็กอยู่กับคำด่าและความกดดันเหล่านั้นเพียงลำพัง มันไม่ใช่เรื่องผิดหรอกที่พ่อแม่จะอยากให้ลูกมีการศึกษาที่ดี แต่เด็กส่วนใหญ่ถูกบังคับให้เข้าเรียนในสถาบันตามที่พ่อแม่ต้องการซะมากกว่า"
 
        เธอยังกล่าวเพิ่มอีกว่า ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่นั้นรู้อยู่แก่ใจว่าปัญหาคืออะไร แต่ก็กลับทำเพิกเฉยเหมือนมันเป็นเรื่องปกติ แทนที่จะเร่งแก้ไขปัญหาและจัดการระบบการศึกษาให้ดีขึ้น แต่ทางรัฐบาลกลับไปปล่อยปละละเลย อีกทั้งมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ และเพิกเฉยต่อข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เธอเคยร่างเสนอเมื่อครั้งยังมีบทบาทในระบบการศึกษาของอินเดีย หลังจากที่เคยมีเหตุการณ์นักเรียนฆ่าตัวตายเมื่อปี 2001 และจนถึงทุกวันนี้ ปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่ได้ระบการแก้ไขให้ดีขึ้น ในขณะที่ยอดนักเรียนที่เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี 


 
          นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สร้างความสลดใจอย่างมากและเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่จะว่าไปแล้วไม่ใช่แค่อินเดียหรอกนะครับที่มีปัญหาเหล่านี้ ยังมีอีกหลายประเทศเลยล่ะ ซึ่งอาจจะรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย อย่างไรก็ตาม พี่เองก็หวังว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นในสักวัน สุดท้ายนี้ขอแสดงความเสียใจกับน้องๆ และครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วยนะครับ  

 
Source:
https://www.thenewsminute.com/article/2001-she-called-junior-colleges-concentration-camps-prof-neerada-says-not-much-has-changed
 https://www.thenewsminute.com/article/telangana-inter-results-fiasco-tragedy-could-have-been-avoided-100942
http://www.newindianexpress.com/states/telangana/2019/apr/30/student-who-attempted-suicide-dies-1970759.html
พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น