ตีแผ่มุมมืด 'แบรนด์เสื้อผ้าดัง' ทั้งค่าแรงต่ำ ทำร้ายร่างกาย และล่วงละเมิดทางเพศพนักงาน!

        สวัสดีค่า ชาว Dek-D … ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะพอรู้เบื้องหลังของแบรนด์แฟชั่นหลายๆ ยี่ห้อที่มักจะมีเรื่องที่พอรู้แล้ว เชื่อว่าหลายคนก็อาจจะไม่ชอบใจนัก เช่น การทารุณกรรมสัตว์ หรือว่าการทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวทำนองนี้อีกแล้วค่ะ ซึ่งเป็นข่าวแบรนด์เสื้อผ้าบางแบรนด์มีการทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศแรงงานท้องถิ่นด้วย (แบรนด์แฟชั่นหลายๆ แบรนด์มักจะตั้งโรงงานในประเทศที่ค่าแรงถูกมากๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต) วันนี้พี่ไอซ์เลยขออาสาเล่าตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ทุกๆ คนได้อ่านกัน ตามพี่มาเลยจ้าาา


1. ใช้งานมากเกินไป แทบไม่ได้พัก!



Photo Credit: Pixabay

       เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมปี 2015 มีการตรวจพบว่าใน 17 โรงงานของแบรนด์หนึ่งที่มีการตรวจสอบ ซึ่งมีแรงงานเป็นชาวอินเดีย 50 คน และชาวกัมพูชา 201 คน มีการใช้งานแรงงานที่หนักเกินไป น้องๆ รู้มั้ยคะว่า แรงงานชาวกัมพูชาถูกบังคับให้ทำงานเกินเวลาเป็นเวลา 2 ชั่วโมงทุกวัน ในขณะที่แรงงานชาวอินเดียก็ต้องทำงานอย่างน้อย 9-17 ชั่วโมงต่อวัน อีกทั้งในหลายๆ ที่ก็ใช้งานพนักงานอย่าหนักหน่วงขนาดที่ว่าไม่ให้ได้หยุดพักเบรกหายใจหายคอกันเลยทีเดียว

       แรงงานอินเดียยังบอกอีกนะคะว่า พวกเขาจำเป็นต้องทำงานจนกระทั่งตี 2 ทุกวันและมาทำงานในวันถัดไปตอน 9 โมงเช้าเพื่อให้โรงงานบรรลุเป้าหมายการผลิต พูดง่ายๆ ก็คือ การทำงานเกินเวลาเหมือนเป็นเรื่องที่พวกเขาต้องทำเป็นปกติไปแล้ว ไม่ว่าพวกเขาจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม เพราะว่าสถานการณ์ทางการเงินที่เป็นอยู่บีบบังคับให้พวกเขาต้องทำ ค่าแรงที่พวกเขาได้นั้นไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละวันด้วยซ้ำ

       นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกว่า โรงงานของบางแบรนด์ได้ไล่แรงงานผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ออกอีกด้วย ซึ่งการกระทำแบบนี้ถูกพบในโรงงานทั้งอินเดียและกัมพูชามากกว่า 12 แห่งเลยทีเดียวค่ะ ที่น่าตกใจกว่านั้นคือคนงานเหล่านั้นที่ถูกไล่ออกไม่ได้รับค่าชดเชยอีกด้วยนะคะ (พี่คิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากการที่ทางโรงงานคิดว่าแรงงานที่ตั้งครรภ์จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเหมือนแต่ก่อนจึงไล่ออก แต่ก็โหดร้ายไปมั้ยเนี่ย?)


2. ค่าแรงที่ต่ำมาก



Photo Credit: Pixabay

       ในช่วงปลายปี 2018 นั้นมีข่าวออกมาว่าแบรนด์ดังแบรนด์หนึ่งไม่สามารถทำตามคำสัญญาที่จะเร่งแก้ไขเรื่องการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมซึ่งเคยให้ไว้ได้ อีกทั้งยังมีการบังคับให้แรงงานทำงานเกินเวลาและไม่มีค่าตอบแทนใดๆ เหมือนเดิม ซึ่งจากการสัมภาษณ์แรงงานจำนวน 62 คนในโรงงานที่บัลแกเรีย ตุรกี อินเดียและกัมพูชา พบว่าไม่มีแรงงานคนไหนเลยที่ได้รับค่าแรงในจำนวนที่จะช่วยให้พวกเขามีเงินเพียงพอในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แรงงานชาวกัมพูชาได้รับเงินค่าจ้างน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าครองชีพด้วยซ้ำ :( 

       อย่างไรก็ตามแบรนด์ดังกล่าวออกมาชี้แจงว่ามีโรงงานอย่างน้อย 600 แห่งและแรงงานตัดเย็บกว่า 930,000 คนแล้วที่ได้รับค่าจ้างอย่างเหมาะสมแล้ว และยังบอกอีกว่าในความเป็นจริงนั้นจำนวนค่าจ้างควรถูกกำหนดด้วยการเจรจาที่ยุติธรรมระหว่างนายจ้างและตัวแทนแรงงาน ไม่ใช่แบรนด์ตะวันตกด้วยกันเอง

       ในปี 2019 นี้ ประเทศเอธิโอเปียซึ่งมุ่งมั่นที่จะทำให้ตัวเองเป็นแหล่งการผลิตเครื่องแต่งกายชั้นนำของโลกเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างโอกาสการจ้างงานให้กับคนในประเทศ ก็ประสบปัญหานี้เช่นกันค่ะ แทนที่ความตั้งใจนี้จะส่งผลดีต่อประชาชนในประเทศ แต่การเข้ามาของแบรนด์นี้กลับทำให้ผู้คนในเอธิโอเปียได้รับผลเสียมากกว่าซะงั้น

       อีกทั้งยังมีผลสำรวจออกมาว่าแรงงานในอุตสาหกรรมเย็บผ้าเหล่านี้ได้รับเงินค่าจ้างน้อยที่สุดในโลก (26 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 800 บาทต่อเดือน) อีกผลสำรวจก็บอกว่า 65% ของแรงงานกว่า 1,000 คนได้รับเงินเพียง 70 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 2,100 บาทต่อเดือนเท่านั้น นอกจากค่าแรงที่น้อยมากๆ แล้ว สภาพการทำงานก็ไม่เป็นมิตร ตัวอย่างที่เห็นบ่อยๆ คือ แรงงานท้องถิ่นถูกผู้จัดการชาวต่างชาติตะโกนด่าอย่างไร้เยื่อใย เพียงเพราะไม่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเพียงพอ (โหดจังค่ะ)


3. การทำร้ายร่างกายและละเมิดทางเพศแรงงาน



Photo Credit: Pixabay

       ในกลางปี 2018 ทาง Global Labour Justice หรือ องค์กรที่ดูแลเรื่องความเป็นธรรมของแรงงานทั่วโลกได้ออกมาพูดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาว่า มีแรงงานตัดเย็บหญิงจากโรงงานหลายแห่งในเอเชียที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งมีจำนวนกว่า 540 คน ผู้อำนวยการขององค์กรนี้ยังเล่าอีกว่า แบรนด์ดังตั้งเป้าหมายการผลิตที่ไม่สมเหตุสมผล จนส่งผลให้แรงงานหญิงเหล่านี้ต้องทำงานภายใต้แรงกดดันอย่างสูง อีกทั้งยังทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ อีกด้วย (นอกจากทำงานหนักแล้วยังไม่ได้รับเงินด้วย ไม่โอเคเลยนะคะเนี่ย)

       ยิ่งไปกว่านั้นแรงงานหญิงหลายคนยังถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น แรงงานหญิงในอินเดียคนหนึ่งบอกว่าเธอถูกหัวหน้าของเธอทำร้ายร่างกายขณะที่กำลังนั่งทำงานอยู่ เพราะว่าเธอไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตในส่วนของเธอได้ เธอจึงร้องเรียนเรื่องนี้กับฝ่ายบุคคลของโรงงาน ซึ่งทางนั้นก็ทำเพียงแค่บอกให้หัวหน้างานของเธอหยุดทำร้ายเธอก็แค่นั้น แต่นั่นก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอยู่ดี เพราะเธอยังคงทำถูกทำร้ายอยู่ เธอบอกว่าถึงแม้ว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่จะทุกข์ทรมานแค่ไหนเธอก็ไม่สามารถลาออกได้ เพราะเธอต้องดูแลลูกสาวที่พิการเพียงคนเดียวหลังจากที่สามีของเธอเสียชีวิต (น่าเห็นใจมากๆ เลยนะคะ สถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็ลำบากมากพอแล้ว ยังต้องมาโดนแบบนี้อีกTT)

       สำหรับตัวพี่นั้นพี่คิดว่าแรงงานในประเทศต่างๆ ควรที่จะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมและอยากให้องค์กรต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือแรงงานที่ถูกทำร้ายและล่วงละเมิดทางเพศอย่างเด็ดขาดด้วยค่ะ!! แล้วน้องๆ Dek-D ล่ะคะ มีความคิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้บ้าง มาคอมเมนต์ให้พี่อ่านได้นะ พี่รออยู่^^






Source:
http://www.thefashionlaw.com/home/hm-claims-its-working-to-improve-conditions-in-india-cambodia-factories
https://www.globalcitizen.org/en/content/hm-gap-factory-abuse-fast-fashion-workers/
https://www.reuters.com/article/us-workers-garment-abuse/hm-accused-of-failing-to-ensure-fair-wages-for-global-factory-workers-idUSKCN1M41GR
https://qz.com/africa/1614752/ethiopia-garment-workers-for-gap-hm-lowest-paid-in-world/
พี่ไอซ์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

เหมียว เหมียว 26 ก.ค. 62 14:31 น. 1

แรงงานที่ถูกกดขี่เพราะเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศนั้นละเลยที่จะดูแล ทุกๆที่ที่มีแรงงานต้องมีกฎหมายแรงงานบังคับได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว นายจ้างต้องมีระบบทุนสำรองต่างๆที่เหมาะสมอาจจะไม่มากแต่ก็ต้องบังคับให้มีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างโดยสิ่งเหล่านี้องค์ต่างๆที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแล แรงงานเป็นเหมือนเส้นเลือดของร่างกายที่เปรียบเสมือนประเทศถ้าเส้นเลือดใช้งานไม่ได้ก็จะไม่มีเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายนั่นก็คือหายนะของประเทศ


0
กำลังโหลด
กำลังโหลด