How to จำไว: 7 ทริคเด็ด! จำได้ง่ายในระยะเวลาสั้นๆ แถมแม่นเวอร์ (อ่านหนังสือสอบ, เรียนออนไลน์ ฯลฯ)

              สวัสดีค่ะ ชาว Dek-D  เชื่อว่าสิ่งที่หลายคนต้องเจอในชีวิตการเรียนก็คือ อ่านหนังสือแล้วจำไม่ได้ เรียนอะไรไปก็ไม่เข้าหัว ข้ามวันก็ลืมซะแล้ว! (โดยเฉพาะเรียนออนไลน์) หรือช่วงใกล้สอบต้องอดตาหลับขับตานอนติวหนังสือกันแบบโต้รุ่ง TT ใครที่เจอกับปัญหาเหล่านี้ก็อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะวันนี้พี่มีเคล็ดลับที่ช่วยให้ความจำของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นมาฝากกันค่ะ รับรองว่าไม่ยากอย่างที่คิด แค่ต้องทำให้สม่ำเสมอและเป็นระบบเท่านั้น ใครพร้อมแล้วไปดูกัน
 
1.ออกเสียงดังๆ จำได้ดีกว่าอ่านเงียบๆ
 
              น้องๆ เคยเป็นไหมคะ เวลาจะออกจากบ้านแต่ดันลืมของ! เพิ่งจะล็อกรถไปเมื่อกี้แต่จำไม่ได้ว่าทำไปตอนไหน? ถ้าเคยก็ไม่ต้องตกใจ สาเหตุเป็นเพราะว่ามนุษย์เรามีความทรงจำอยู่ 2 แบบคือ 1) ความจำแบบปริยาย (implicit memory) เป็นความจำที่เกิดขึ้นอัตโนมัติโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น เราไม่หวนนึกถึงการทานอาหารเช้าหรือการแปรงฟัน เพราะเป็นกิจวัตรประจำวันที่เราทำซ้ำๆ ไม่ต้องใช้ความคิด 2) ความจำแบบชัดแจ้ง (explicit memory) เป็นความจำที่เกิดขึ้นอย่างตั้งใจ เช่น การอ่านหนังสือเตรียมสอบ การท่องบทอาขยาน เป็นการสร้างความจำอย่างมีสติและเอาใจใส่ สมองเราเลยนึกถึงข้อมูลส่วนนั้นได้ง่ายกว่า 
 
              กิจวัตรประจำวันที่ทำบ่อยๆ อย่างเช่น การล็อกรถไปแหม็บๆ แต่ดันจำไม่ได้นั้น ถือเป็นความจำแบบปริยาย (implicit memory) และสาเหตุที่เรามักขี้หลงขี้ลืมกับเรื่องแบบนี้อยู่บ่อยครั้งก็เป็นเพราะเราทำมันไปด้วยความเคยชินนั่นเอง หลายคนคงตั้งคำถามว่าแล้วจะทำยังไงให้จำได้ล่ะ? ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของเทคนิคการจำที่เรียกว่า “production effectหรือการสร้างความจำด้วยการออกเสียง อธิบายง่ายๆ คือ สมองของเราจะเปลี่ยนความจำแบบปริยายไปเป็นความจำแบบชัดแจ้งได้ก็ต่อเมื่อเราสั่งให้สมองใส่ใจกับสิ่งที่ทำอยู่ วิธีการก็ไม่ยาก แค่พูดสิ่งที่ทำอยู่ออกมาดังๆ เพื่อกระตุ้นให้เราโฟกัสกับกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นพิเศษ และหากย้อนไปในปี 2010 นักวิจัยได้ทำการทดสอบว่า การอ่านแบบไหนช่วยให้จำได้มากกว่ากัน? โดยได้แบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้อ่านในใจเงียบๆ ส่วนอีกกลุ่มให้อ่านออกเสียงดังๆ ผลที่ได้คือ กลุ่มที่เปล่งเสียงจำเนื้อหาได้มากกว่าเพื่อนกลุ่มแรกค่ะ (แต่ควรทำตอนอยู่คนเดียวนะคะ ><)
 
2.เชื่อในพลังของการจดโน้ต (ด้วยลายมือตัวเอง)
              ในยุคที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้น หลายคนหันมาใช้แล็บท็อปเพื่อให้จดโน้ตได้เร็วทันใจ จะได้เก็บข้อมูลครบถ้วนทุกรายละเอียด แล้วยังไม่ต้องเสียเวลาเขียนให้เมื่อยมือ แต่น้องๆ เชื่อไหมว่า การจดบันทึกด้วยการเขียนนั้นกลับทำให้มีผลการเรียนที่ดีกว่า...
 
              จากผลการศึกษาพบว่า การจดโน้ตด้วยลายมือของเราจะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์กับสมองได้ น้องๆ สามารถพิมพ์ได้ไวเท่าที่อาจารย์พูด แต่นั่นเป็นเพียงการถ่ายทอดตัวอักษรตามคำบอก ซึ่งไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นจริง  ถึงแม้วิธีสุดคลาสสิกอย่างการจดด้วยมือนั้นทำได้ช้ากว่า แต่สมองจะกลั่นกรองและเรียบเรียงข้อมูลในหัวออกมาใหม่ เราก็จะเข้าใจเรื่องนั้นได้ถ่องแท้มากขึ้น 
 
              นอกจากนี้ การเขียนด้วยลายมือยังไม่มีปุ่ม “Delete” เหมือนในแล็ปท็อปที่เวลาพิมพ์ผิดก็แค่ลบทิ้งไป การเขียนผิดจึงมีเรื่องทางกายภาพมาเกี่ยวข้อง เพราะเราต้องใช้ยางลบบรรจงลบข้อความที่ผิด และสิ่งนี้เองที่นำไปสู่การทบทวนและพยายามทำความเข้าใจเพื่อหาสาเหตุของข้อผิดนั้น
 
3.สภาพแวดล้อมก็มีผลนะ
 
              สภาพแวดล้อมช่วยทำให้เราจำได้ดีขึ้น! เพราะสมองจะบันทึกข้อมูลที่เราต้องการจำไปพร้อมกับบรรยากาศรอบๆ ตัว สมมติว่าเราต้องนำเสนองาน เราก็เตรียมตัวซ้อมพูดเนื้อหาส่วนที่เข้าใจยากๆ ขณะนั้นก็เอื้อมมือไปหยิบแอปเปิลมากิน ช่วงเวลานี้เองที่สมองจะจับคู่แอปเปิลกับข้อมูลที่เราต้องการจำ แล้วมันจะไปบรรจุอยู่ในความทรงจำของเราโดยอัตโนมัติ  แอปเปิลจึงกลายเป็นสิ่งเตือนความจำ (Cues) ที่ช่วยให้เราระลึกนึกถึงข้อมูลนั้นออกมาได้  ส่วนใหญ่แล้วสิ่งเตือนความจำมักอยู่ในรูปแบบของภาพ สถานที่ รวมถึงสภาพแวดล้อมด้วยค่ะ
 
4.แบ่งเวลาพักเล็กๆ เว้นวรรคการอ่านบ้าง
 
              ใครเคยเป็นอัจฉริยะข้ามคืนบ้างยกมือขึ้น เชื่อว่าใครหลายคนอาจชอบอ่านหนังสือแบบหามรุ่งหามค่ำตอนใกล้สอบ แต่น้องๆ รู้ไหมว่า การพยายามทำความเข้าใจเนื้อหาที่เรียนมาทั้งเทอมในเวลาเพียงไม่กี่วันจะทำให้สมองล้า แถมจำเนื้อหาได้แค่บางส่วนเท่านั้น 
 
              ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฌอน คัง จากวิทยาลัยดาร์ตมัธ (Dartmouth College) ได้ออกมาให้คำแนะนำว่า เราสามารถจำข้อมูลมากมายมหาศาลได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่ถ้าอยากให้ความทรงจำนั้นอยู่กับเราตราบนานเท่านานก็ต้องใช้ระยะเวลาสักหน่อย โดยต้องฝึกฝนสิ่งนั้นซ้ำๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้เรียกวิธีนี้ว่า ทฤษฎีการเว้นระยะ (spacing effect) นั่นคือ การอ่านแบบเว้นระยะเพื่อให้สมองได้จดจำและพักบ้าง พูดง่ายๆ คือ เราควรแบ่งเวลาทบทวนบทเรียนออกเป็นช่วงสั้นๆ แล้วค่อยมาทวนเนื้อหาซ้ำอีกที พอทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ สมองจะซึมซับข้อมูลเก็บไว้เป็นอย่างดี คราวนี้เราจะนึกถึงเรื่องนั้นขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ  
 
              หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมวิธีนี้ถึงได้ผล?  นั่นเป็นเพราะว่าปกติแล้วเราอาจลืมเนื้อหาบางส่วนที่เรียนไปก่อนหน้านี้ แต่พอเว้นระยะแล้วกลับมาทบทวนใหม่สมองจะเรียกคืนความทรงจำส่วนที่เคยบันทึกไว้ออกมา เมื่อค้นคืนบ่อยๆ ก็จะจำเรื่องนั้นได้ฝังแน่นไม่ลืมเลือน
 
5. ออกกำลังสมองก็สำคัญ
 
              เราทราบกันดีว่า นักกีฬาต้องวอร์มอัปร่างกาย ยืดเส้นยืดสาย คลายกล้ามเนื้อก่อนออกกำลัง สมองของเราก็เช่นกันค่ะ มันไม่สามารถเริ่มทำงานจากเลเวล 0 แล้วก็กระโดดไป 100 ได้ทันที อย่างเช่นถ้าเราดู netflix แล้วเปลี่ยนโหมดไปเรียนเรื่องยากๆ เดี๋ยวนั้นเลย ผลที่ได้คือ สมองไม่แล่นแถมฟังอะไรก็ไม่เข้าหัว แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะเรามีเคล็ดลับที่ช่วยให้สมองจำสิ่งต่างๆ ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นคือ การเล่นเกมบริหารสมองเบาๆ เพื่อกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว แต่น้องๆ ต้องระวังด้วยว่า หากเล่นเกมที่เครียดมากเกินไป ผลที่ได้จะกลายเป็นทำให้สมองล้าง่ายกว่าปกติ ดังนั้นพี่จึงอยากแนะนำให้เลือกเกมฝึกสมองที่เล่นได้สบายๆ แล้วรอดูผลลัพธ์ได้เลยว่าสมองจะทำงานเฉียบขึ้น  
 
6.อ่านสลับวิชาดีกว่าอัดความรู้เข้าไปวิชาเดียว
 
              อีกหนึ่งเคล็ดลับจะที่ช่วยกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวได้ก็คือ การสลับวิชาเรียน หรือที่เรียกว่า “Interleaving” นั่นเอง วิธีดังกล่าวเป็นกระบวนการเรียนหรืออ่านหนังสือหลายๆ วิชาสลับกันไปมา เพื่อเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ เช่น เราอาจเริ่มอ่านวิชาภาษาอังกฤษก่อน แล้วสลับไปทำโจทย์เลข จากนั้นก็ปิดท้ายด้วยวิชาประวัติศาสตร์ต่อการอ่านหนึ่งรอบ
 
              หลายๆ คนอาจเชื่อว่า การเลือกอ่านวิชาใดวิชาหนึ่งแบบรวดเดียวจบเป็นวิธีที่เวิร์กกว่า แต่นั่นไม่จริงเสมอไป เพราะถ้าเราเรียนเรื่องเดียวซ้ำๆ สมองจะเริ่มเฉื่อยชากับการทำความเข้าใจเรื่องเดิมๆ ซึ่งจะส่งผลให้สมองไม่กระฉับกระเฉง  ในทางตรงกันข้าม การอ่านหนังสือแบบคละวิชาช่วยให้สมองไม่ตื้อตัน  อีกทั้งยังทำให้เข้าใจภาพรวมของเนื้อหาได้มากขึ้น ไม่เสียเวลากับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากจนเกินไป 
 
7.ลองทดสอบตัวเองกันหน่อยมั้ย?
 
              เทคนิคสุดท้ายที่จะช่วยบูสต์ความจำให้แม่นยำขึ้นก็คือ การทดสอบตัวเอง (self-testing) ไม่ต้องรอให้ผลสอบเป็นตัวบอกว่าเราเข้าใจเนื้อหาดีพอรึเปล่า แต่ให้เริ่มลงมือทบทวนเนื้อหาและทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ ก่อนสอบ เราจะได้รู้ตัวเองว่ามีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง และเนื้อหาส่วนไหนยังไม่แม่น เพื่อเป็นการเตรียมตัวสแตนด์บายให้พร้อมอยู่เสมอค่ะ
 
              เป็นอย่างไรบ้างคะกับเคล็ดลับที่นำมาฝากกันในวันนี้ ถึงแม้เราจะขี้หลงขี้ลืมกันไปบ้าง แถมยังมีหนังสือกับแบบฝึกหัดหลายเล่มที่ดองไว้ยังไม่ได้อ่านไม่ได้ทำ คอร์สออนไลน์ที่ลงทะเบียนไว้แต่ยังไม่มีเวลาเรียน แต่ไม่ต้องหวั่นใจไป เพราะของแบบนี้ฝึกกันได้ เพียงแค่ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้นั่นเอง ทั้งนี้ เราอาจเริ่มจากการค่อยๆ หาวิธีที่เหมาะกับตัวเราก่อนก็ได้ค่ะ และหากน้องๆ ลองวิธีไหนแล้วเวิร์กก็อย่าลืมแวะมาคอมเมนต์รีวิวกันนะคะ :)

 
Source:
พี่ไก่กุ๊ก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น