เปิดโลก 6 โซเชียลมีเดียใหม่ๆ ที่ฮิตในต่างประเทศ แถมฟังก์ชันเก๋ใช้งานง่ายเวอร์

          สวัสดีค่ะชาว Dek-D ในยุคนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “โซเชียลมีเดีย” เข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันไปกับสื่อฮิตอย่าง Facebook, Twitter, Instagram และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่ออัปเดตข่าวสาร แสดงความคิดเห็น แชร์สิ่งน่าสนใจ หรือแม้กระทั่งฝึกภาษา
 
           แต่น้องๆ รู้ไหมว่า บางประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ เค้าก็มีแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลของตัวเองเหมือนกัน ในยุคที่เราสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ บนโลกใบนี้ได้แค่ปลายนิ้ว วันนี้พี่จึงอยากแนะนำสื่อโซเชียลของคนแต่ละประเทศให้น้องๆ รู้จักเพิ่ม     เผื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับใครหลายๆ คนที่อยากรู้ว่าคนชาติอื่นเค้าคุยอะไรกัน งั้นอย่ารอช้า เราไปส่องช่องทางโซเชียลของประเทศอื่นกันว่าจะมีแพลตฟอร์มอะไรน่าสนใจบ้าง!
 

1. Qzone
 

          เริ่มกันที่ Qzone (คิวโซน) สื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมจากประเทศจีนที่มีผู้ใช้งานกว่า 600 ล้านรายในแต่ละเดือน ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ถูกพัฒนาขึ้นในปี 2015 โดยบริษัทไอทีชื่อดังอย่าง Tencent เจ้าของเดียวกับแอป WeChat นั่นเองค่ะ สำหรับแอป Qzone จะให้ฟีลคล้ายๆ Facebook ไม่ว่าจะเป็น “Happening” ที่เหมือนกับหน้า Timeline และ “Speak Speak” ที่เหมือนกับหน้า Wall สำหรับแชร์โพสต์ ข้อความ และภาพถ่าย 
 
          และจุดเด่นของ Qzone ก็คือเป็นพื้นที่เขียนบล็อก ไดอารี ดูคลิป หรือฟังเพลง สามารถแจก Gift ให้เพื่อนๆ ปรับแต่งธีม และใส่เพลงประกอบในพื้นที่ตัวเองได้ตามต้องการ ซึ่งลูกเล่นก็จะมีทั้งแบบฟรีและไม่ฟรีค่ะ
 

2. V Kontakte
 

          มาต่อกันที่  V Kontakte (VK) สื่อโซเชียลสุดฮิตจากรัสเซีย และกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตที่มีบัญชีผู้ใช้งานกว่า 500 ล้านบัญชี ซึ่งผู้ใช้งานกว่า 80 % เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน ผู้ก่อตั้งคือ Pavel Durov หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็น “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” แห่งรัสเซีย 
 
          VK ก็เป็นแพลตฟอร์มที่คล้ายคลึง Facebook อีกเช่นกัน โดยสามารถใช้ส่งข้อความทางแช็ต แชร์โพสต์ ติดตามเพจ เข้าร่วมกลุ่ม เล่นเกม รวมทั้งค้นหาและจัดการอีเวนต์ได้ แต่ฟีเจอร์ที่เด็ดก็คือมีบริการ Streaming Music ที่ผู้ใช้งานสามารถแชร์ไฟล์ต่างๆ และ Playlist ที่ชื่นชอบได้ แถมยังมีบริการ VK Pay ที่ผู้ใช้งานสามารถโอนเงินให้กันได้ผ่านแช็ตโดยใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตได้ด้วยค่ะ (ครบวงจรไปอีกก)
 

3. Odnoklassniki
 

          Odnoklassniki หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า OK.ru เป็นอีกสื่อโซเชียลฮิตของคนรัสเซียที่มีผู้ใช้งานจริงกว่า 200 ล้านรายเลยค่ะ โดยคำว่า Odnoklassniki ในที่นี้หมายถึง “เพื่อนร่วมชั้น” สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ “การรียูเนียนเพื่อนเก่า” ที่เป็นจุดขายของแพลตฟอร์มนี้ เพราะผู้ใช้งานสามารถค้นหาเพื่อนจากชื่อโรงเรียน และเชื่อมโยงผู้คนที่อาจจะรู้จักกันจากข้อมูลส่วนตัว
 
          แม้การใช้งานจะไม่ค่อยต่างกับสื่อโซเชียลอื่นๆ มากนัก แต่สิ่งที่ไม่เหมือนใครคือ เพื่อนคนอื่นสามารถโหวตให้คะแนนรูปถ่ายที่เราแชร์ได้ แถมยังมีฟังก์ชัน OK Music & OK Videos ไว้เอาใจคนชอบฟังเพลงและดูคลิปด้วยค่ะ
 

4.Reddit
 

          ถ้าใครชอบสิงเว็บบอร์ดน่าจะต้องถูกใจ Reddit ค่ะ เพราะนี่คือเว็บบอร์ดชื่อดังของอเมริกา ไว้ตั้งกระทู้ ถามคำถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากถึง 330 ล้านคน
 
          จุดเด่นของ Reddit คือผู้ใช้งานสามารถกดโหวตชอบ/ไม่ชอบกระทู้หรือความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิกคนอื่นได้ แล้วยังมี Subreddits ที่แบ่งย่อยหมวดเนื้อหา เช่น ข่าวน่าสนใจ หนัง เกม เพลง การออกกำลังกาย การทำอาหาร และอีกมากมายถึง 1.2 ล้านหัวข้อ! (เยอะมากก เรียกว่าครอบคลุมทุกความสนใจบนโลกเลยค่ะ) ถ้าเกิดกระทู้ไหนได้คะแนนโหวตสูง ก็จะได้ขึ้นเป็นกระทู้แนะนำของ Subreddits นั้นๆ หรือถ้ามีคนกดโหวตแบบปังสุดจนฉุดไม่อยู่ กระทู้นั้นก็จะไปอยู่ในหน้าแรกของเว็บเลยค่ะ
 

5. Minds
 

          มาถึงคิวสื่อโซเชียลน้องใหม่อย่าง Minds ก่อตั้งเมื่อปี 2015 โดย Bill Ottoman จุดเด่นคือความชัดเจนในจุดยืนของการสนับสนุนให้ผู้ใช้งานมี “เสรีภาพบนโลกอินเทอร์เน็ต” เน้นดูแลความเป็นส่วนตัวและปกป้องการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานเป็นหลักเพื่อคุ้มครองไม่ให้ข้อมูลเราถูกผู้อื่นนำไปใช้ประโยชน์ แม้แต่ระบบการส่งข้อความทางแช็ตที่ผู้ใช้งานต้องมีรหัสเฉพาะของตนเองกับคู่สนทนาก่อนถึงจะใช้งานได้
 
          อีกความเก๋นึงคือ Minds มีระบบให้สะสม Points จากการใช้งานแต่ละวัน ทั้งจากการล็อกอิน โหวต คอมเมนต์ ติดตาม ฯลฯ และสามารถนำพอยต์เหล่านั้นมาบูสต์ สิ่งที่เราโพสต์ได้ พูดง่ายๆ คือนำแต้มมาแลกยอดวิว เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เห็นโพสต์ของเรานั่นเองค่ะ
 

6.Mastodon

          ปิดท้ายกันที่ Mastodon สื่อโซเชียลรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้มีบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นเจ้าของ ถ้ามองแวบแรกหน้าตาจะดูไม่ค่อยต่างจาก Twitter เท่าไหร่ แต่ถ้าลองใช้งานจะพบว่าใน 1 โพสต์ เราสามารถ “toot” ข้อความได้มากถึง 500 ตัวอักษร ส่วนการเริ่มใช้งาน Mastodon เราสามารถเลือกสมัครบัญชีผู้ใช้ตาม Host Server ที่สนใจ โดยแต่ละเซิร์ฟเวอร์จะถูกเรียกว่า “instances”
 
          ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ   ถ้าใครชอบเทคโนโลยี ก็ไปที่ mastodon.technology หรือหากใครเป็นแฟนคลับไอดอลเกาหลี ก็สมัคร kpop.social ได้เลย ดังนั้น username ของเราก็จะมีหน้าตาแบบนี้ @[Username]@[MastodonInstance.Domain] ซึ่งเราก็สามารถติดตามคนใน instances เดียวกัน หรือแสดงความคิดเห็นข้าม instances ก็ได้ค่ะ    เจ๋งมาก!
 
           เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับสื่อโซเชียลใหม่ๆ ที่นำมาฝากกันในวันนี้ ต้องบอกว่าทั้งหมดนี้เป็นแค่ตัวอย่างนะคะ พอแอบส่องก็รู้สึกเปิดโลกมาก เพราะมีฟังก์ชันเก๋ๆ แปลกๆ เต็มไปหมด และบางสื่อโซเชียลก็ดูใกล้เคียงกับช่องทางที่เราใช้กันอยู่เป็นประจำ หากใครเคยไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศแล้วมีแอปฯ เด็ดๆ ของประเทศนั้นที่อยากแนะนำก็มาคอมเมนต์กันได้นะคะ
Sources:
พี่ไก่กุ๊ก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น