ส่องหลักสูตร ‘Economics’ แห่ง MIT คณะในฝันที่คนรักเศรษฐศาสตร์อยากเรียนต่อมากที่สุด!

            มีน้องๆ ชาว  Dek-D คนไหนอยากเรียนต่อด้าน  'เศรษฐศาสตร์'  กันบ้างมั้ยคะ?  ถ้าใครสนใจ ตามพี่ปุณมาเลย! เพราะวันนี้พี่จะพาทุกคนไปทัวร์คณะเศรษฐศาสตร์ของสถาบัน Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ที่ถูกจัดให้เป็นคณะเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลกตามการจัดอันดับของ QS Top Universities นั่นเองค่า
 
Photo credit: https://economics.mit.edu
 
            พี่เชื่อว่าอาจจะมีน้องๆ หลายคนสงสัยว่าเศรษฐศาสตร์นั้นเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง? 
 
            ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนเลยว่าเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่วิชาเรียน แต่ยังเป็นเรื่องที่เราพบเจอได้ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน และยังเกี่ยวโยงกับปัญหาต่างๆ ในสังคมอีกด้วย แต่หากจะมองให้ลึกลงไปอีกการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์คงเป็นเหมือนการเรียนรู้การใช้เหตุผลภายใต้สมมติฐานต่างๆ เพื่อหาคำตอบและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์ ดังนั้นเศรษฐศาสตร์จึงเป็นอีกหนึ่งสาขาวิชาที่คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจนั่นเองค่ะ
 
            และสำหรับสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ของสถาบันที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกอย่าง   MIT    นั้นได้เปิดสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีไปถึงปริญญาเอกเลยค่ะ ส่วนวันนี้พี่จะขอโฟกัสในส่วนของป.ตรี ก่อนนะคะ เรามาดูกันว่าหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะนี้เป็นอย่างไร ขั้นตอนการสมัครเรียนยากง่ายแค่ไหน และค่าเทอมจะสูงลิ่วกว่ามหาวิทยาลัยแห่งอื่นหรือไม่ ถ้าพร้อมแล้ว เราไปหาคำตอบกันเลยค่า!
 

Undergraduate Study การศึกษาในระดับปริญญาตรี


Photo credit: https://mitadmissions.org/blogs/landing/
 
            สำหรับปริญญาตรี ผู้เรียนสามารถเลือกให้เศรษฐศาสตร์เป็นได้ทั้งวิชาเอกและวิชาโทเลยค่ะ วิชาเอกจะถูกแบ่งออกเป็น 3 หลักสูตรหลัก ได้แก่ 
 
1. Bachelor of Science in Economics
 
            หลักสูตรแรกนี้จะเป็นการเรียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐาน เศรษฐศาสตร์ในยุคโลกาภิวัตน์ และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์โลก โดยจะเน้นไปที่การวิเคราะห์สถิติและทฤษฎีทางต่างๆ ซึ่งในหลักสูตรนี้น้องๆ จะต้องเก็บวิชา   Principles of Microeconomics หรือเศรษฐศาสตร์จุลภาคและ  Principles of Macroeconomics หรือเศรษฐศาสตร์มหภาคภายใน  2  ปีแรก เพื่อใช้เป็นพื้นฐานความรู้และใช้ต่อยอดไปเรียนในวิชาที่ลึกและยากขึ้นในปี  3    และปี  4  นอกจากนี้น้องๆ ยังสามารถเลือกลงวิชาจากสาขาอื่น ไม่ว่าจะเป็นวิชาจากสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาประวัติศาสตร์ หรือสาขามนุษย์ศาสตร์ตามความชอบและความสนใจได้เลยค่า
 
            เรียกได้ว่าเป็นหลักสูตรที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้ที่ต้องการเรียนต่อสาขาเศรษฐศาสตร์ในระดับที่สูงขึ้นไป อีกทั้งผู้เรียนยังสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน ทั้งในด้านการบริหาร การเงิน กฎหมาย และด้านอื่นๆ อีกมากมาย
 
2. Bachelor of Science in Mathematical Economics
 
            หลักสูตรที่สองนี้เหมาะกับผู้ที่หลงใหลและมีใจรักใน   ‘ตัวเลข’ เป็นอย่างมาก เพราะเนื้อหาการเรียนการสอนจะเจาะลึกไปทางด้านคณิตศาสตร์ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค ทฤษฎีเกม และเศรษฐมิติ (การประยุกต์วิธีทางสถิติเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐศาสตร์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์) แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นแอดวานซ์ น้องๆ ก็ต้องผ่านวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นเช่นเดียวกับหลักสูตรแรกไปให้ได้ก่อนนะคะ สู้!
 
3. Bachelor of Science in Computer Science, Economics, and Data Science
 
            หลักสูตรที่ 3 จะเป็นการเรียนเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนและการจัดการตลาด รวมไปถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตัดสินใจที่ซับซ้อนของมนุษย์ ซึ่งเนื้อหาของการเรียนจะเกี่ยวโยงกับเศรษฐศาสตร์ในโลกปัจจุบัน อย่างเช่น ตลาดออนไลน์ Blockchain หรือ Cryptocurrency (สินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกออกแบบให้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน) เป็นต้น นอกจากนี้ผู้เรียนยังจะได้ทำความรู้จักกับเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ๆ ผ่านการคำนวนและการวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์อีกด้วย
 
            และสำหรับใครที่สนใจเรียนเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาโทก็จะมีให้เรียนทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก โดยวิชาต่างๆ จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
 
            กลุ่มแรก เป็นวิชาพื้นฐานที่ทุกคนต้องเรียน ซึ่งจะประกอบไปด้วยเศรษฐศาสตร์มหภาพเบื้องต้นเศรษฐศาสตร์จุลภาคเบื้องต้น และวิชาสถิติ กลุ่มที่สอง ผู้เรียนต้องเลือกเรียน 1 จาก 3 วิชาต่อไปนี้ นั่นก็คือ Microeconomic Theory and Public Policy, Intermediate Microeconomic Theory, หรือ Intermediate Macroeconomics และสำหรับกลุ่มสุดท้าย กลุ่มที่สาม ผู้เรียนจะสามารถเลือกเรียนวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ตัวใดก็ได้ตามใจชอบเลยค่า
 

วิธีการสมัครเรียน

 
Photo credit: https://mitadmissions.org/apply/
 
            การรับสมัครจะแบ่งออกเป็น 2 รอบคือ   Early Action (EA)    ซึ่งเปิดรับสมัครในเดือนตุลาคมและ    Regular Action (RA) ที่จะเปิดรับสมัครในเดือนมกราคม การรับสมัครทั้ง 2 รอบไม่แตกต่างกันค่ะ แล้วแต่ความพร้อมของผู้สมัครแต่ละคนเลย น้องๆ ที่ได้รับคัดเลือกจะต้องตอบรับกับทางสถาบันในเดือนพฤษภาคม จากนั้นก็เตรียมตัวเข้าเรียนเทอมถัดไปในช่วงเดือนสิงหาคมได้เลยค่า
 
            โดยก่อนอื่นน้องๆ จะต้องสมัครสมาชิก  MyMIT   ซึ่งเป็นระบบการรับสมัครของทางสถาบันที่จะช่วยให้เราได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการสมัครเรียนอย่างครบถ้วน และยังเป็นช่องทางให้เราสามารถกรอกข้อมูลเพิ่มเติม อย่างเช่น ผลการเรียนของเราตามไปทีหลังได้ด้วยค่ะ
 

เอกสารที่ใช้ในการสมัครเรียน


1. ประวัติส่วนตัว ประสบการณ์ และกิจกรรมที่เคยทำ
2. จดหมายหรือเอกสารรับรองจากอาจารย์
3. เอกสาร Transcript ระดับชั้นมัธยมปลาย
4. ผลสอบ SAT ACT  หรือ  TOEFL
5. เรียงความสั้นหรือเรียงความยาวตามหัวข้อที่กำหนด
 
note:    หัวข้อเรียงความที่เขาให้มาในแต่ละปีก็จะต่างกันออกไปค่ะ ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการให้เล่าเรื่องหรือเล่าประสบการณ์ของตนเอง เพื่อให้สถาบันได้ทำความรู้จักน้องๆ มากขึ้น อย่างเช่น หัวข้อเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว โรงเรียน ชุมชน หรือสังคมที่เราอาศัยอยู่ หรืออย่างในปีล่าสุดก็มีหัวข้อที่ให้เขียนเกี่ยวกับเรื่องท้าทายหรือเรื่องไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เพื่อที่จะทดสอบว่าเรามีวิธีเอาตัวรอดหรือวิธีแก้ปัญหาอย่างไรที่ทำให้เราสามารถผ่านพ้นเรื่องเหล่านั้นมาได้

            ส่วนทริคเล็กๆ ที่จะช่วยให้งานเขียนของน้องๆ ชนะใจกรรมการก็คือ  ‘Be yourself’    ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปให้มากที่สุดค่ะ เพราะพาร์ตนี้เป็นพาร์ตที่เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ทัศนคติและความคิดความอ่านของเรามากที่สุด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องใช้ความรู้ความสามารถและความเป็นตัวของตัวเองดึงความสนใจของเขามาให้ได้ค่ะ!
 

How much it costs?

Photo credit: https://mitadmissions.org/afford/
 
            แน่นอนว่าการไปเรียนต่อต่างประเทศจะต้องใช้เงินจำนวนมากมหาศาล ทั้งค่าเทอม ค่ากินอยู่ ไหนจะค่าหอพัก หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจเพิ่มเข้ามาระหว่างการใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ทั้งนี้ทั้งนั้นอัตราค่าเล่าเรียนคงเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ก้อนแรกที่มีผลต่อการตัดสินใจของน้องๆ หลายคนอยู่มาก และค่าเทอมของ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ในปีการศึกษา 2563 – 2564  นี้ก็จะตกอยู่ที่ประมาณ  76,000  ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ  2,400,000 บาท ค่ะ แต่อย่าพึ่งตกใจไปค่ะ! สำหรับใครที่สอบเข้าได้แล้วแต่เงินไม่พอจริงๆ ทางมหาวิทยาลัยก็มีทุนสนับสนุนแบบให้เปล่ากันไปเลยค่ะ และถึงแม้ทุนก้อนนี้จะไม่ใช่ทุนเต็มจำนวนแต่ก็คงจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของน้องๆ ไปได้ไม่น้อยเลยยย
 

3 ศิษย์เก่าคนดังจากสถาบัน MIT
 

Photo credit: (ซ้าย) https://www.wsb.com
(กลาง) https://fen.uchile.cl
(ขวา) http://www.globalinfluence.world

 
            หลังจากที่พี่ได้พาน้องๆ ไปเห็นหลักสูตร วิธีการรับสมัคร และค่าเล่าเรียนกันไปแล้ว เรามาดูกันดีกว่าว่ามีศิษย์คนดังคนไหนจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ของสถาบันชั้นนำแห่งนี้กันบ้าง

            มาเริ่มกันที่คนซ้ายสุด Ben Bernanke นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้สนับสนุนการใช้งาน Blockchain และอดีตประธานธนาคารกลางของสหรัฐหรือ Fed

            ถัดมาก็คือ José De Gregorio นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ นักวิจัย นักกฎหมาย และนักการเมืองชาวชิลี เขาเคยเป็นถึงผู้ว่าการธนาคารกลางชิลีและรัฐมนตรี ส่วนปัจจุบันก็ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยชิลี

            และทางด้านขวาสุด Christina Romer ศาสตราจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ และที่สำคัญคือเธอเคยเป็นประธานสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจในการบริหารของบารัค โอบามาอีกด้วย
 
            เป็นยังไงกันบ้างคะ เริ่มสนใจสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์กันบ้างแล้วหรือยัง สำหรับใครที่อยากจะเรียนต่อต่างประเทศแต่ยังลังเลว่าจะเข้าคณะไหน มหาวิทยาลัยอะไร ก็ลองเปิดใจให้คณะเศรษฐศาสตร์ของสถาบัน MIT แห่งนี้กันได้น้า หวังว่าข้อมูลข่าวสารที่พี่นำมาฝากในวันนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ทุกคนนะคะ :D
 
Sources:
https://mitadmissions.org
https://economics.mit.edu
http://www.globalinfluence.world
https://www.wsb.com
พี่ปุณ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด