เทียบกันชัดๆ! ส่อง รร.มัธยม 4 แบบในเกาหลีใต้ ทั้งการเรียน กฎระเบียบ และอัตราการแข่งขัน

            สวัสดีค่ะ ชาว Dek-D  เมื่อวันก่อนพี่ไปเจอคลิปน่าสนใจคลิปนึงใน YouTube ที่เขาเปรียบเทียบให้ฟังว่าโรงเรียนแต่ละรูปแบบใน “เกาหลีใต้” เหมือนหรือต่างกันตรงไหนบ้าง ทั้งชีวิตในรั้วโรงเรียน กฎระเบียบ ขั้นตอนการสอบเข้าเรียน ฯลฯ  พอดูจบแล้วรู้สึกน่าสนใจและมีประโยชน์มากๆ ค่ะ วันนี้เลยอยากมาสรุปให้น้องๆ ฟังเผื่อว่าใครสนใจอยากไปเรียน หรือไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เกาหลีใต้  จะได้มีเวลาวางแผนเตรียมตัวทัน ถ้าพร้อมแล้ว ตามมาดูกันได้เลย :)
 
Note: โรงเรียนมัธยมที่ประเทศเกาหลีใต้แบ่งออกเป็น 4 แบบหลักๆ ดังนี้
 
                        1. โรงเรียนรัฐบาลทั่วไป
                        2. โรงเรียนรัฐบาลสายอาชีพ
                        3. โรงเรียนเอกชนสายอาชีพเฉพาะทาง
                        4.โรงเรียนความสามารถเฉพาะทาง (เช่น สายศิลปะ, นิเทศศาสตร์, ศิลกรรมศาสตร์ ฯลฯ)
 
             ก่อนอื่นมารู้จักกันก่อนว่า รุ่นพี่ที่ผ่านช่วง ม.ปลายปีแรกมาแล้ว และจะมาแชร์ชีวิตการเรียนให้เราฟังในวันนี้ พวกเธอเรียนที่ไหนกันบ้างนะ?
 

Kim Simon นักเรียนจากโรงเรียนศิลปะเกาหลี (School of Performing Arts Seoul : SOPA)
 

Anidaski นักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาล Siji High School
 

Yeboring (ซ้าย) นักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสายอาชีพเฉพาะทาง Korea Digital Media และ Chaekyeong (ขวา) นักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาลสายอาชีพ 

 
1. ชีวิตในรั้วโรงเรียน
 

 
            มาเริ่มกันที่ชีวิตการเรียนในโรงเรียนกันค่ะ Kim Simon จาก SOPA ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ไอดอล K-POP เรียนเยอะมากกกก เล่าว่า เธอเรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกับนักเรียนโรงเรียนอื่น แต่ที่พิเศษคือ มีคลาสเรียนเต้นนั่นเองค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่หลังเลิกเรียนเพื่อนๆ จะไปเรียนพิเศษข้างนอกเพิ่มเติม แต่ Simon กลับชอบซ้อมเต้นเองในโรงเรียนมากกว่า พอฝึกเสร็จก็ค่อยกลับห้องพัก และหาอะไรอร่อยๆ ทาน
 
            ส่วน Chaekyeong นักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาลสายอาชีพก็บอกว่า ปกติจะตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า เข้าเรียน 8.20 น. (คาบละ 50 นาที) เลิกเรียนประมาณบ่าย 4 โมง จากนั้นต้องไปเรียนพิเศษเย็นต่อ แถมเพื่อนบางคนยังติวช่วงค่ำต่อด้วย แต่ Chaekyeong ไม่ได้ลงเรียน เลยใช้ช่วงเวลานี้ไปพักผ่อน เที่ยวเล่นกับเพื่อน หรือไม่ก็ออกกำลังกายค่ะ
 

 
            ทางด้าน Anidaski นักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาล ได้เล่าว่า ความฝันของนักเรียนที่มาเรียนที่นี่คือ การเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน ดังนั้นวิชาการจึงต้องเข้มข้นมากหน่อย โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่ได้ไปเรียน เธอจะตื่น 6 โมงเช้า มาทำกิจวัตรประจำวันให้เรียบร้อย จากนั้นก็เริ่มอ่านหนังสือที่ห้องสมุดตั้งแต่เช้า ยิงยาวไปถึงเที่ยงคืน (ระหว่างวันจะมีพักทานข้าวกลางวันและเย็นตามปกติ) แล้วค่อยกลับบ้าน พอมาถึงตรงนี้  Simon ถึงกับตกใจกับตารางเรียนของ Anidaski ที่แน่นสุดๆ ไปเลย
 

 
            ส่วน Yeboring จาก Korea Digital Media ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสายอาชีพเฉพาะทาง ก็เล่าว่า การเรียนอย่างหนักทำให้เธอตาคล้ำเป็นหมีแพนด้าเลยทีเดียว เพราะโรงเรียนที่เรียนอยู่เป็นโรงเรียนประจำ (เรียน เล่น กินนอนที่โรงเรียน 24 ชั่วโมง) เธอต้องตื่นนอนตามตารางเวลามาเช็กชื่อและออกกำลังกาย จากนั้นทานข้าวเช้าตอน 9.40 น. แล้วเริ่มเรียนคาบแรกตามลำดับ ส่วนเวลาเลิกเรียนก็ประมาณ 5 โมงเย็นค่ะ  
 
            แต่วันหนึ่งวันยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ เพราะ Yeboring ต้องไปเรียนพิเศษต่อทันที แล้วค่อยทานมื้อเย็น จากนั้นตามด้วยคาบเรียนทบทวนด้วยตัวเองอีก 2 คาบ รวมๆ แล้วห้าทุ่มถึงได้กลับหอพัก อาบน้ำ และเข้านอนตอนเที่ยงคืน ทั้งนี้ เธอยังแอบกระซิบบอกอีกว่า ทางโรงเรียนมีจัดคลาสเรียนช่วงเช้ามืดเวลาตี 5-6 โมงเช้าด้วย (แต่ไม่ค่อยมีคนเรียน) ยิ่งช่วงใกล้สอบจะเหนื่อยมากเป็นพิเศษ เพราะเรียนหนักแถมมีเวลานอนไม่กี่ชั่วโมงด้วย TT
 
            หากลองเทียบกันแล้วดูเหมือนว่า ตารางเรียนของ Simon จะชิลล์กว่าเพื่อนๆ มากทีเดียว เพราะหนึ่งวันมีเรียนประมาณ 7 คาบ แถมยังเป็นวิชาเรียนเต้นที่เธอชอบถึง 11 ชัวโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ หลังเลิกเรียนยังไม่มีคาบทบทวนตัวเองช่วงเย็น ช่วงค่ำ และช่วงเช้ามืดเหมือนเพื่อนๆ คนอื่นด้วยค่ะ  

 
2. ความต่างของกฎของโรงเรียน
 

 
            เริ่มจากฝั่งที่ทางโรงเรียนไม่ค่อยเคร่งเรื่องกฎระเบียบกันก่อนดีกว่า หลักๆ แล้วโรงเรียนรัฐบาลจะอนุญาตให้นักเรียนทำผม ทำเล็บ แต่งหน้าไปเรียนได้ แต่ห้ามทำสี บางโรงเรียนจะเข้มงวดมากๆ ตอนช่วงมัธยมต้น อย่างเช่น Anidaski เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนครูจะห้ามไม่ให้ใส่กระโปรงสั้นเหนือเข่า แต่พอเข้ามัธยมปลายก็เริ่มให้อิสระมากขึ้น เพราะอยากให้มุ่งมั่นรับผิดชอบเรื่องเรียนมากกว่าค่ะ
 

 
            ส่วนทางด้าน Yeboring ที่เป็นเด็กโรงเรียนประจำ ก็เล่าว่า กฎของโรงเรียนเธอนั้นเข้มงวดมากๆ จนถึงขั้นแอบบ่นว่า “อะไรที่เพื่อนโรงเรียนอื่นทำได้ แต่โรงเรียนฉันจะห้ามเกือบทั้งหมดเลยค่ะ!”ช่น ห้ามแต่งหน้าเด็ดขาด  ส่วนใครใส่กระโปรงสั้นก็เคยถูกให้ออกจากโรงเรียนมาแล้ว แถมตอนกินข้าวเช้าก็ต้องมาเช็กชื่ออีกด้วยค่ะ  (เข้มงวดสุดๆ)
 

 
            ทางด้านสายอาร์ตอย่าง Simon ก็เล่าว่า ที่ SOPA ไม่เคร่งครัดกับเรื่องชุดนักเรียนเลย เพราะค่อนข้างพอดีตัวอยู่แล้ว เลยไม่มีใครอยากทำให้กระโปรงสั้นหรือรัดมากไปกว่านี้  ทั้งนี้ เมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา โรงเรียนอนุญาตนักเรียนทำสีผม ดัดผม แต่งหน้ามาเรียนได้ แต่ปีนี้กลับออกกฏใหม่ ซึ่งแม้แต่ครีมกันแดดก็ยังทาไม่ได้เลย TT และกฎระเบียบที่เข้มงวดนี้เองก็ทำให้นักเรียนหลายๆ คนอึดอัด และออกมาเรียกร้องให้ผ่อนคลายความเข้มงวดลงบ้าง ท้ายที่สุด ทางโรงเรียนจึงยอมอนุโลมให้นักเรียนย้อมผมสีน้ำตาลอ่อนได้ และไม่เข้มงวดกับเรื่องแต่งหน้าทำผมแล้ว แต่ก็ยังห้ามทำเล็บอยู่ค่ะ

 
3. ความแตกต่างของวิธีสมัครเรียน
 

 
            ในส่วนของการสมัครเข้าเรียนโรงเรียนมัธยมปลายของรัฐบาลนั้น นักเรียนต้องเลือกอันดับโรงเรียนที่อยากเรียน ซึ่งเป็นอะไรที่ต้องลุ้นมาก เพราะถ้าโชคดีก็จะได้เรียนโรงเรียนที่เราเลือกไว้อันดับแรก แต่ในความเป็นจริง หลายคนก็ไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่หวัง ทำให้ต้องไปเรียนโรงเรียนอื่นแทน
 
            สำหรับโรงเรียน SOPA นั้นเข้าเรียนยากมาก เพราะต้องออดิชันและสอบสัมภาษณ์ก่อนเข้าเรียน ซึ่งอัตราการแข่งขันเข้าเรียนก็อยู่ที่ราวๆ 16 ต่อ 1 คน โดยทางโรงเรียนจะประกาศผลหลังออดิชันประมาณ 2 สัปดาห์ และหากสอบผ่านก็จะได้เรียนกับเพื่อนร่วมชั้นห้องเดิมไปตลอด 3 ปีด้วยค่ะ
 
            ส่วนทางด้านโรงเรียนเอกชนสายอาชีพจะมีกระบวนการรับสมัครเข้าเรียน 2 รูปแบบด้วยกันคือ 1) รูปแบบปกติ และ 2) รูปแบบพิเศษ โดยแบบปกติจะพิจารณาจากเกรดเฉลี่ยอย่างเดียว ส่วนแบบพิเศษจะพิจารณาจากเกรดเฉลี่ย เรียงความแนะนำตัว รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เคยทำก่อนหน้านี้  ถ้าผ่านเกณฑ์ในด่านแรกถึงจะมีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ในขั้นต่อไป ซึ่งการรับสมัครเรียนรูปแบบพิเศษนี้จะรับนักเรียนน้อยมากๆ อัตราการแข่งขันเลยสูงตามไปด้วย ทั้งนี้ เกณฑ์การรับเข้าเรียนยังแตกต่างกันไปในแต่ละปีด้วย ถ้าน้องๆ คนไหนสนใจสมัครเรียนก็อย่าลืมแวะเข้าไปเช็กข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของทางโรงเรียนกันนะคะ

 
4. เกณฑ์การเลือกโรงเรียนที่อยากเข้าเรียน
 

 
            มาต่อกันที่เรื่องเกณฑ์การเลือกโรงเรียนกันบ้าง Chaekyeong บอกว่า ขอเลือกเรียนโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านเป็นอันดับแรก ส่วน Anidaski ขอเลือกโรงเรียนที่นักเรียนไม่แข่งกันเรียนมาก จะได้เก็บเกรดสวยๆ ไว้ยื่นตอนเข้ามหาวิทยาลัยค่ะ 
 
            Simon แนะนำว่าให้เลือกจากสิ่งที่เราชอบเป็นหลัก อย่างตัวเธอเองชอบการเต้นมากกว่าด้านวิชาการ เลยตัดสินใจมาเรียนที่นี่ เพราะคิดว่าจะได้รู้จักเพื่อนที่ชอบอะไรเหมือนกันนั่นเอง ทางด้าน Yeboring ก็คิดไว้แต่แรกแล้วว่าอยากเรียนสายอาชีพ เพราะให้ความสำคัญกับสายงานในอนาคต ดังนั้นเลยศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนมัธยมเฉพาะทางที่สอนด้านดิจิทัลมีเดีย จนมาเจอโรงเรียนนี้และรู้สึกสนใจจึงสมัครเข้าเรียนค่ะ 

 
5. ความแตกต่างระหว่าง
อยู่คนเดียว / อยู่หอ / เดินทางไปกลับ

 

 
            ชีวิตนักเรียนของ Simon นั้นอาจแตกต่างกับใครหลายคน เพราะโรงเรียนอยู่ไกลบ้านมาก เลยต้องมาใช้ชีวิตอยู่หอคนเดียว  ช่วงแรกที่จากบ้านมาใช้ชีวิตในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย และยังไม่ค่อยมีเพื่อน ก็ทำให้รู้สึกเหงามากอยู่เหมือนกัน แต่พอผ่านไปสักพักเริ่มปรับตัวได้ มีเพื่อนเยอะขึ้น การอยู่ไกลบ้านเลยกลายเป็นเรื่องสนุกเหมือนได้ใช้ชีวิตแบบเด็กมหาวิทยาลัย ส่วนข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายค่อยข้างสูงกว่าอยู่บ้านค่ะ  
 

 
            Yeboring แบ่งปันประสบการณ์การอยู่โรงเรียนประจำให้ฟังว่า แม้ได้เจอเพื่อนทั้งวันก็จริง แต่บางทีก็ไม่อยากเห็น มุมดาร์กๆ ของเพื่อนคนอื่นสักเท่าไหร่ นอกจากนี้ เวลาอารมณ์ไม่ดีก็อยากมีใครสักคนให้คุยด้วยก่อนเข้านอน บางทีเลยต้องแอบไปหาเพื่อนที่ห้อง หากครูจับได้ก็โดนดุ แต่การถูกดุพร้อมเพื่อนนี่แหละที่ทำให้สนิทและผูกพันกันมากขึ้น
 

 
            ปิดท้ายที่ Anidaski ซึ่งเล่าว่า ตอนมัธยมต้นเคยเรียนโรงเรียนไกลบ้าน ทำให้ใช้เวลานานกว่าจะนั่งรถเมล์ไปถึงโรงเรียน เธอเลยแนะนำว่า สำหรับคนที่ไปกลับโรงเรียนเอง การเรียนใกล้บ้านช่วยประหยัดเวลาได้มาก อีกทั้งยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับเเรกอีกด้วยค่ะ
 
            หลังจากดูคลิปจบแล้ว ต้องบอกว่านักเรียนมัธยมเกาหลีนั้นทุ่มเทและจริงจังกับการเรียนมากเลยค่ะ ซึ่งพี่ก็หวังว่าข้อมูลที่นำมาฝากกันในวันนี้ จะช่วยให้น้องๆ เห็นอีกมุมหนึ่งของชีวิตนักเรียนเกาหลี ถ้าใครสนใจอยากสมัครเรียนโรงเรียนไหนก็อาจลองหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติมกันดูอีกทีก็ได้ค่ะ สุดท้ายนี้ พี่ขอให้น้องๆ ได้เรียนในสถาบันที่หวังไว้กันนะคะ :)
 
Source:
พี่ไก่กุ๊ก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

oh ma ma mY Member 21 มิ.ย. 63 13:25 น. 1

กฎโรงเรียนเขาทำให้เห็นได้ชัดว่าโรงเรียนบ้านเรานั้นเข้มงวดกว่าจริงๆเด็กม.ปลายบ้านเราแต่งหน้าไม่ได้แถมเรียกร้องก็ไม่ได้อีก เรียกร้องได้ก็ไม่อนุโลมให้=-=

0
กำลังโหลด
rimnioonni Member 22 มิ.ย. 63 20:29 น. 2

อย่างน้อยบ้างเขามีอิสระพวกพวก เล็บมากกว่า เด็กไทยก็เรียนหนักไม่ต่างจากเกาหลี แต่เกาหลีส่วนตัวเราคิดว่าประชากรหนาแน่นต้องทำเร็วๆตลอดเวลาชักช้าไม่ได้ ตรงนี้แหละที่บ้านเขาไปเร็วกว่าเราตรงนี้

#ย้ำนะคะว่าความคิดเห็นส่วนตัว

0
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

oh ma ma mY Member 21 มิ.ย. 63 13:25 น. 1

กฎโรงเรียนเขาทำให้เห็นได้ชัดว่าโรงเรียนบ้านเรานั้นเข้มงวดกว่าจริงๆเด็กม.ปลายบ้านเราแต่งหน้าไม่ได้แถมเรียกร้องก็ไม่ได้อีก เรียกร้องได้ก็ไม่อนุโลมให้=-=

0
กำลังโหลด
rimnioonni Member 22 มิ.ย. 63 20:29 น. 2

อย่างน้อยบ้างเขามีอิสระพวกพวก เล็บมากกว่า เด็กไทยก็เรียนหนักไม่ต่างจากเกาหลี แต่เกาหลีส่วนตัวเราคิดว่าประชากรหนาแน่นต้องทำเร็วๆตลอดเวลาชักช้าไม่ได้ ตรงนี้แหละที่บ้านเขาไปเร็วกว่าเราตรงนี้

#ย้ำนะคะว่าความคิดเห็นส่วนตัว

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด